กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คืนที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกมาเยือนโลก ผมไปนอนตากน้ำค้างตรงลานหน้าบ้านของพรรคพวกแถวอำเภอปากช่อง
ใกล้อาทิตย์จะลับแสง เราขับรถออกจากกรุงเทพฯหนีฝนห่าใหญ่ ภาวนาว่าพอไปถึงที่หมาย เมฆแถวนั้นน่าจะเบาบางลงบ้าง แต่พอไปถึงแหงนหน้ามองท้องฟ้า เห็นแต่เมฆขาวโพลนปกคลุมฟากฟ้า หามีดาวระยิบระยับสักดวง
พวกเราไม่ละความพยายาม เอาเสื่อมาปูนอนรอกลางสนามหญ้า อากาศใกล้ป่าเขาใหญ่หนาวจับใจ จนผ่านไปเกือบเที่ยงคืน ลมเริ่มพัดพาเมฆลอยไป ท้องฟ้าเริ่มเปิด เราเห็นดาวนายพราน หรือดาวโอไรออน เป็นดาวสี่ดวงเรียงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางมีดาวสามดวงเรียงติดกัน หรือที่เรียกว่าเข็มขัดนายพราน เป็นกลุ่มดาวที่สังเกตง่ายช่วงหน้าหนาว ลอยเด่นอยู่กลางฟ้า
ใกล้ ๆ กันเห็นกลุ่มดาวหน้าวัว หรือทอรัส และดาวลูกไก่ได้ชัดเจน พอฟ้าเปิดมากขึ้น หมู่ดาวเริ่มพราวฟ้า เราหันไปด้านทิศตะวันออก เพื่อสังเกตฝนดาวตกที่มาจากกลุ่มดาวสิงโต หรือ “ลีโอนิดส์” สักพักเมฆฝนสีขาวโพลนก็เริ่มปกคลุมฟ้าบางส่วน ทันใดนั้นดาวตกลูกใหญ่ก็พุ่งเป็นทางยาวสีขาวพาดผ่าน ทิ้งควันจาง ๆ เป็นรอยกลางท้องฟ้า เราตื่นเต้นกันยกใหญ่ อีกไม่นานก็เห็นดาวตกลูกเล็ก ๆ สองสามลูกพุ่งเป็นสาย
ตอนนั้นประมาณตีสอง เมฆขาวเริ่มปกคลุมฟ้าจนมองไม่เห็นดาวสักดวง พวกเราจึงถือโอกาสงีบหลับเก็บแรงเอาไว้ กะว่าตอนตีสี่ที่คาดว่าเป็นช่วงเวลาฝนดาวตกมากที่สุด จะลุกขึ้นมาดูอีกครั้ง แต่พอตื่นขึ้นมากลางดึก ท้องฟ้าปิด เมฆยิ่งหนาแน่นกว่าเดิม
ครั้งนี้อากาศไม่เป็นใจ รอจนเกือบรุ่งสาง เรากินแห้ว ไปตามระเบียบ
ผมเองไม่ได้ผิดหวังอะไรจากการอดนอนมาดูดาว เพราะทุกครั้งที่แหงนหน้าดูดาว เป็นความสุขใจอย่างยิ่งยวด เห็นดาวระยับฟ้า เห็นการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ดาวบางดวงที่เห็นอยู่ห่างไกลของจักรวาล คงใช้เวลาหลายล้านปีแสงกว่าแสงของมันจะเดินทางมาให้เราเห็น และตอนนี้อาจจะดับสลายไปแล้วก็ได้
ดูดาวแล้วรู้สึกได้ว่า มนุษย์เราช่างกระจ้อยริดเหลือเกินเมื่อเทียบกับจักรวาล อายุก็แสนสั้น เมื่อเทียบกับอายุขัยของจักรวาล แต่อัตตาของมนุษย์ ตัวตนของคนบางคนกลับพองโตยิ่งใหญ่กว่าทางช้างเผือกเสียอีก
ในบรรดาศาสตร์ต่าง ๆของมนุษย์นั้น เราอาจจะมีความรู้ด้านดาราศาสตร์น้อยมาก เมื่อเทียบกับความลึกลับของจักรวาล ที่หาคำตอบไม่ได้อีกมากมาย และการค้นพบใหม่ ๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้มนุษย์รู้ว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็นความจริงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เมื่อสองพันปีก่อน อริสโตเติล นักปราชญ์ชาวกรีก เคยบอกว่าโลกเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และเป็นความจริงที่มนุษย์เชื่อกันมานานพันกว่าปี จนกระทั่ง นิโคลัส โคเปอร์นิคัส ได้พบว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลาง โดยมีโลกและดาวเคราะห์ต่างๆโคจรเป็นบริวารอยู่รอบดวงอาทิตย์
และเมื่อสี่ร้อยปีก่อน กาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเอง ส่องเห็นผิวขรุขระของดวงจันทร์ จุดดับบนดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี และดาวฤกษ์จำนวนมากมายในทางช้างเผือก เป็นการพิสูจน์ว่าระบบเอกภพของอริสโตเติล ที่มีโลกเป็นศูนย์กลางหาใช่ความจริงอีกต่อไป
ครั้งหนึ่งมนุษย์พบความจริงว่า แสงเดินทางเป็นเส้นตรง แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้ค้นพบใหม่ว่า แสงเดินทางเป็นเส้นโค้งตามแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงดาว
ดูเหมือนว่าความจริงจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และตามความรู้หรือการค้นพบใหม่ ๆของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น
นอนดูดาวแล้วเตือนสติผมเสมอว่า อย่าไปยึดมั่น ถือมั่นกับความจริง ข้อเท็จจริง หลักการ หลักยึด หรือความเชื่อจนถอนตัวไม่ขึ้น
อย่าคิดว่าสิ่งที่เราได้ยิน ได้เห็น หรือได้อ่านตามสื่อต่าง ๆ จะเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่เราต้องยึดมั่นถือมั่นไปโดยตลอด
เพื่อนหลายคนบอกผมว่า เราควรจะมีหลักยึดอะไรบางอย่างในการดำรงชีวิต
ผมไม่ปฏิเสธ แต่แลกเปลี่ยนไปว่ายึดได้ แต่อย่าไปจับแน่นโดยไม่ปล่อย เพราะมันจะเครียดโดยใช่เหตุ
ความแตกแยกในสังคมส่วนหนึ่งก็มาจาก แต่ละฝ่ายยึดมั่นถือมั่นในความจริง ความเชื่อของตัวเองมากเกินไป
ทุกอย่างล้วนมีเวลาของมัน ไม่ว่าจะเป็นหลักทฤษฎี หลักกฎหมาย หรือกฎทางฟิสิกส์
ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่มีอะไรอยู่คงทนถาวรเป็นนิรันดร์
นอนดูดาวระยับฟ้าทีไร มันช่วยเตือนสติได้ดีจริง ๆ ครับ
จาก นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 298 ธค.2552
Comments
Pingback: Tweets that mention ความจริงกับการเปลี่ยนแปลง | -- Topsy.com
ทำให้นึกถึงความจริง 3 ด้าน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา