การประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก (UNFCCC) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกโฆษณาล่วงหน้าว่าจะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำทั่วโลกที่จะนำไปสู่ข้อตกลงอันสำคัญ ในการจัดการกับสภาวะโลกร้อนก็ได้สิ้นสุดลง ท่ามกลางความผิดหวังของคนทั่วโลก เพราะดูเหมือนต่างฝ่ายจะมาเถียงกันมากกว่ามาเจรจา
บรรดาตัวการสำคัญอย่างจีน อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา แค่สัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่รับปากว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ และประชุมกันใหม่ปีหน้าค่อยมาต่อรองกันใหม่
นี่ขนาดประชุมไปท่ามกลางอากาศวิปริตครั้งใหญ่จากปัญหาโลกร้อน อาทิ หิมะตกหนักทางซีกโลกเหนือ ส่วนซีกโลกใต้ก้อนน้ำแข็งใหญ่ขนาดเกือบเท่าเกาะภูเก็ตที่แตกมาจากแอนตาร์ติกากำลังลอยมาใกล้ทวีปออสเตรเลียทุกขณะ มนุษย์แต่ละชาติยังคงต่อรองให้ชาติตัวเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด
แต่ในท่ามกลางความล้มเหลวของการเจรจา สื่อมวลชนทั่วโลกได้พร้อมใจกันรายงานเรื่องเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน นั่นคือ ตัวอย่างการใช้จักรยานในกรุงโคเปนเฮเกน
เมืองหลวงของประเทศเดนมาร์กแห่งนี้กลายเป็นเมืองที่มีผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก กล่าวคือทุก ๆวันประชากรของกรุงโคเปนเฮเกนราว 40 % หรือประมาณ 4 แสนกว่าคน ขี่จักรยานไปทำงาน เรียนหนังสือ จ่ายกับข้าว ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ฯลฯ
พวกเขาขี่จักรยานเพื่อใช้ในชีวิตจริง ไม่ใช่ขี่เที่ยวเล่นแบบชิว ๆ ขี่กันจนกลายเป็นชีวิตประจำวันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนทำงาน แม่บ้าน
หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดนมาร์กได้สร้างแรงจูงใจให้คนเมืองหันมาใช้รถจักรยานและการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว โดยการเก็บภาษีรถยนต์ในราคามหาโหด รวมถึงค่าจอดรถก็แพงไม่แพ้กัน ทำให้คนเดนมาร์กไม่มีกำลังซื้อรถส่วนตัวในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกในการสร้างระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า และทางจักรยานมากมาย
ความกว้างของถนนบางสายอาจจะแคบกว่าทางจักรยานหรือฟุตบาทด้วยซ้ำ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับทางจักรยานและการเดินเท้ามากกว่าทางรถยนต์
สองสามปีที่ผ่านมา เทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนทุ่มเงินเกือบสองพันล้านบาท สร้างทางจักรยานและทำให้การจราจรปลอดภัยมากขึ้นสำหรับคนขี่จักรยาน ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้คนเมืองทิ้งรถเก๋งออกมาขี่จักรยานกันมากขึ้น และบรรดาพนักงานเทศบาลรู้ดีว่า หากวันไหนหิมะตกหนัก ให้เก็บกวาดหิมะบนทางจักรยานก่อนถนน
ทุกวันนี้จึงมีชาวโคเปนเฮเกนเพียงร้อยละ 30 ที่ใช้รถส่วนตัว ที่เหลือใช้ระบบขนส่งมวลชนและจักรยาน และทางเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนอีกห้าปีข้างหน้าจำนวนคนขี่จักรยานจะพุ่งไปร้อยละ 50
เมื่อปริมาณรถบนถนนน้อยลง การใช้น้ำมันก็ลดลง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่มีปัญหาหงุดหงิดจากรถติด คุณภาพอากาศดีขึ้นทันตา และอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ลดลง คุณภาพชีวิตก็ตามมา
ลองหลับตานึกภาพกรุงเทพมหานครที่มีประชากร 10 ล้านคน รถยนต์ 6 ล้านคัน หากรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะให้คนกรุงประมาณ 10 % หันมาขี่จักรยาน โดยการสร้างทางจักรยาน สร้างระบบการจราจรที่ปลอดภัยสำหรับจักรยาน รับรองว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างแน่นอน
สองสามปีที่ผ่านมา หลังจากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากลองสังเกตดู จะเห็นปริมาณคนใช้จักรยานในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทันตาเห็น หากลองไปสำรวจร้านขายรถจักรยานมือสองนำเข้าจากญี่ปุ่นที่เคยมีสองสามแห่ง ตอนนี้ผุดกันขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ยอดจำหน่ายรถจักรยานทั้งของในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่า
นี่ขนาดกทม. ยังไม่ได้มีมาตรการเรื่องทางจักรยานอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา ดูเหมือนนโยบายเรื่องทางจักรยานของกทม. จะทำเป็น “ของเล่น” หรือ “สร้างภาพ”มากกว่าจะเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาการจราจร
ผู้เขียนเชื่อว่า คนเมืองจำนวนมากอยากขี่จักรยานไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ หากได้หลักประกันว่า ทางจักรยานจะปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
แต่ดูเหมือนรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยสนใจ ทางจักรยาน อย่างจริงจัง ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือนักการเมืองอาจจะไม่มีวิสัยทัศน์พอ จักรยานในสายตาของผู้มีอำนาจจึงยังเป็นเพียงการ ขี่เล่น ๆ ขี่ออกกำลังกาย ขี่รณรงค์ลดโลกร้อน มากกว่าการขี่ใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ทางจักรยานในกทม. จึงดูจะเป็นทางพิการ มากกว่าทางที่ใช้งานได้
ทุกวันนี้จักรยานในชีวิตจริงจึงเป็นที่น่ารังเกียจจากทุกฝ่าย จะขี่บนถนน ก็กลัวโดนรถเมล์ไล่บี้ แถมทางจักรยานแถวเกาะรัตนโกสินทร์ก็กลายเป็นที่จอดรถทัวร์ ครั้นจะขี่บนทางเท้า ก็โดนแม่ค้าหาบเร่ยึดครอง แถมที่จอดรถจักรยานหลายแห่ง ก็ถูกรื้อทิ้งเป็นที่ขายของ ครั้นจะหลบไปขี่ในสวนสาธารณะก็ถูกรปภ.ไล่ออกมา
อย่างไรก็ตาม ทางจักรยานกำลังเป็นเทรนด์ หรือกระแสที่มาแรงมากในเมืองหลวงเกือบทุกแห่งในยุโรปและอเมริกา ตั้งแต่นิวยอร์ก ซีแอตเติล ซานฟรานซิสโก ลอนดอน สต็อกโฮล์ม ออสโล เมลเบิร์น ซิดนีย์ และโตเกียว เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดปัญหาโลกร้อน ลดการขาดดุลจากการนำเข้าน้ำมัน แก้ปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดด้วย
ล่าสุดชาวนิวยอร์คใช้จักรยานเพิ่มสูงขึ้นถึง 26 % เทศบาลกรุงนิวยอร์คสร้างช่องทางจักรยานเพิ่มขึ้นอีก 300 กว่ากิโลเมตร และได้เปลี่ยนอาคารที่จอดรถให้เป็นสวนสาธารณะ ขณะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจำนวนจักรยานพอ ๆกับจำนวนประชากร และได้รับการยกย่องว่ามีทางจักรยานสวยและปลอดภัยที่สุด
ทางจักรยานจึงเป็นเสมือน Creative Economy แนวใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของผู้บริหารประเทศ กล้าผลักดันความคิดใหม่ ๆ ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ และคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวม
เพียงแต่ว่าบ้านเราคงต้องอาศัยกึ๋นและความกล้าของนักการเมืองด้วย ที่ต้องทำให้ ทางจักรยาน เป็นวาระของชาติ มีนโยบายและงบประมาณชัดเจน โดยไม่ต้องเกรงใจบรรดาอุตสาหกรรมรถยนต์และผู้ผลิตน้ำมันให้มาก ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างแน่นอน
ทางจักรยาน จึงถือเป็นการ CHANGE ครั้งสำคัญของสังคมไทย เพราะเชื่อขนมกินได้ว่าจะได้รับการต่อต้านจากหลายฝ่ายทำนองว่า ทำไม่สำเร็จหรอก วุ่นวาย มันยากเกินไป
โอบามาร์ก ผู้เพิ่งไปร่วมงานมอเตอร์โชว์เมื่อเร็ว ๆนี้ กล้า ไหมครับ
มติชน 3 มกราคม 2553
Comments
รู้สึกว่า เห้นด้วยมากคับ ผมก้อเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ปั่นจักรยานคับ
กลัวมากเวลาปั่นถนนใหญ่กลัวรถเมล์มาไล่บี้
กลัวแท็กซี่ด้วยคับ ชอบขับปานหน้าไม่รุ้เป็นอะไร *-*
เคยขี่จักรยานบนถนนบางนาตราดเพื่อไปทำงานอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
หวาดเสียวมากครับและก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความเป็นห่วงเป็นใยจากคนในครอบครัว
ทุกวันนี้เวลาผมขับรถแล้วเจอคนขี่จักรยาน จะเบี่ยงรถตัวเองหลบให้คนขี่จักรยานมีพื้นที่ในการขี่บนถนนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
อยากได้ตัวอย่างหรือต้นแบบเมืองที่มีทางจักรยานเพื่อทำสารคดีนะครับแนะนำได้ไหมครับ
เห็นด้วยจริงๆ ครับ แต่เมืองไทยเราไม่เห็นทำไรกันจริงจังเลยครับ ขี่จักรยานไปรถยนต์ก็ใจร้อน กดแตรใส่เราอีก ทุกวันนี้ขึ้นรถไฟฟ้า มาต่อรถเมล์ถ้ามาต่อจักรยานที่จอดไว้ได้จะดีมาก เอาจักรยานขึ้นรถไฟฟ้า ด้วยจะดีมาก จัดเป็นขบวนพิเศษเฉพาะเลย จักรยานอย่างเดียว กำหนดเวลาแน่นอน เช้าสองครั้ง เย็นสองครั้ง กลางวันหนึ่งครั้ง กำหนดเวลาเข้าสถานี่ได้นี่ครับ จักรยานกินที่มากก็คิดค่าโดยสารให้จักรยานด้วยก็ได้ หรือว่า รัฐจะอุดหนุนเงินส่วนนี้ให้กับ BTS MRT ก็จะยิ่งได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากอีกนะ มาถึงที่ทำงานมีทีให้อาบน้ำแต่งตัว ส่วนราชการน่าจะเริ่มก่อนนะครับ แล้วที่สถานีรถไฟฟ้า น่าจะมีที่จอดจักรยานให้ด้วย เอาแบบจอดแล้วไม่หายนะครับ ไม่ใช่แต่จัดส่งๆไปเอาไปแอบทีมืดๆ ออกกฎหมายคุ้มครองคนขี่จักรยาน จักรยานได้ทางก่อน ฯลฯ
ประเทศไทยรณรงค์ให้ใช้รถจักรยานยนต์กันทุกวี่ทุกวัน รถจักรยานยนต์บ้านเราเยอะกว่าประเทศผู้ผลิตเสียอีก ไม่รู้จะว่าอย่างไร จักรยานเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะว่าผุ้บริหารบ้านเราไม่ปั่นจักรยาน ผมเป็นคนชอบปั่น ฉะนั้น เราจึงไม่ต้องง้อนำมัน ภาษีรถ อื่นๆอีกมากมาย
ถ้าอยากให้เกิดการทำช่องทางจักรยานที่จิงจัง วันที่ 3 เมษายน เวลา 06.00 น. เชิญชวนผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือต้องการเห็นคนเมืองมีช่องทางจักรยานใช้ได้จริงและครอบคลุม
เข้าร่วมปันจักรยานเพื่อให้มีการผลักดันให้เกิดการทำช่องทางจักรยานและส่งเสริมให้คนใน กทม.มาใช้จักรยานกัน