หลายคนคงไม่ทราบว่า ปีนี้ทางองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศให้ปี ๒๐๑๐ เป็น “ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” (International Year of Biodiversity)
สาเหตุสำคัญที่ทางยูเอ็นต้องออกมาประกาศ ก็คงหนีไม่พ้นให้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะสายเกินไป
ผู้ที่ใช้ชื่อคำว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นคนแรก คือ ดร.เอดเวิร์ด วิลสัน นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ไม่ค่อยแพร่หลายมาก คำนี้มาดังระเบิดก็คราวที่มีการประชุมสุดยอดจากผู้แทนรัฐบาลนานาชาติ หรือที่เรียกว่า เอิร์ทซัมมิท ที่กรุงริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี ๑๙๙๒
ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกที่กำลังถูกภัยคุกคามอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตและกระทบต่อระบบนิเวศทั่วโลก บรรดาประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ๑๙๓ ประเทศจึงร่วมลงนามสัญญาว่า เมื่อกลับบ้านใครบ้านมันแล้ว จะออกกฎ กติกา ช่วยกันลดปัญหาการทำลายระบบนิเวศ และลดจำนวนการสูญพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ
แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว ไม่ต่างจากปัญหาการประชุมสุดยอดเรื่องโลกร้อน ตั้งแต่สมัยการประชุมโลกร้อนที่โตเกียว ที่ผู้นำทั่วโลกร่วมลงนามจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆนานา แต่ในที่สุดต่างฝ่ายต่างก็ยังเห็นประโยชน์ของฟากธุรกิจและอุตสาหกรรมมากกว่าประโยชน์โดยรวม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศยังอยู่ในระดับสูงจนน่าตกใจ
ทุกวันนี้อัตราการทำลายป่า อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกก็ยังหาได้ลดลงไม่
ประเทศไทยอยู่ในป่าเขตร้อน จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ประมาณว่ามีพืชอย่างน้อย ๑๒,๐๐๐ ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ๓๐๒ ชนิด นกเก้าร้อยกว่าชนิด ปลาน้ำจืดและปลาทะเลเกือบสามพันชนิด ซึ่งชนิดของนกและปลาคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของชนิดพันธุ์ของโลก แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่ถ้าเราเข้าใจในเรื่องความหลากหลายแล้ว เราจะพบว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมโลกแข็งแรงและอยู่รอดได้
หากคนในสังคมมีแต่คนเป็นวิศวกร หรือหมอ กันหมด ไม่มีชาวนาปลูกข้าว ไม่มีกรรมกรสร้างบ้าน ไม่มีความหลากหลายของอาชีพ สังคมนั้นก็จะอ่อนแอ เพราะสังคมต้องการคนหลากหลายอาชีพมาช่วยกันทำให้สังคมแข็งแรงและมั่นคง
หากโลกนี้มีแต่ชนิดพันธุ์ที่เรียกว่ามนุษย์เพียงอย่างเดียว ไม่มีพืช หรือสัตว์ชนิดอื่น ไม่มีแหล่งอาหาร ไม่มีพืชมาทำยารักษาโรค อีกไม่นานมนุษย์ก็คงสูญพันธุ์ไปเช่นกัน
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สาเหตุที่เรายังไม่มียารักษาโรคเอดส์ได้นั้น เป็นเพราะเชื้อไวรัสเอดส์แต่ละตัวมีเกลียวป้องกันตัวล้อมรอบตัวมากมาย แต่ละเกลียวก็มีคุณสมบัติหลากหลายไม่เหมือนกัน ตัวยาที่ค้นพบอาจสามารถเจาะทะลุเข้าไปในเกลียวบางแห่ง แต่ไม่สามารถทำลายทุกเกลียวได้ ไวรัสเอดส์จึงไม่ถูกทำลาย
ความหลากหลายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำรงอยู่ของสังคมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท
ในขณะเดียวกันความหลากหลายของเนื้อหาก็เป็นหัวใจสำคัญในการทำนิตยสารสารคดีที่ยืนหยัดอยู่ในสังคมไทยมาครบ ๒๕ ปีเช่นกัน
ตลอดเวลาที่ผ่านมาสารคดีนำเสนอ สกู๊ปพิเศษมากกว่า ๘๐๐ เรื่อง ไม่รวมงานเขียนจากคอลัมนิสต์ประจำอีกหลายพันเรื่อง พยายามปรุงให้นิตยสารเล่มนี้มีความหลากหลายของเรื่องราวน่ารู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตคน ชีวิตสัตว์ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนถึงการบันทึกปรากฎการณ์ในสังคมที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี ภารกิจของเราคือ “ทำความจริงให้ปรากฎ” ทีมงานสารคดีเดินทางไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศ ทั่วทุกอุทยาน จากเหนือจรดใต้ ตะวันออกจรดตะวันตก จากพื้นที่ทุรกันดารของประเทศอย่างทุ่งกุลาร้องไห้ ไปยังแหล่งต้นน้ำบนยอดเขาอย่างดอยเชียงดาว ติดตามชีวิตสัตว์และพรรณไม้นานาชนิดมาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นกวางผา เสือโคร่ง หรือบัวผุด
บางโอกาสก็ข้ามมหาสมุทรไปอีกซีกโลก เสนอชีวิตคนในบราซิล บุกป่าตามหานกฮัมมิงเบิร์ดในคอสตาริก้า หรือถ่ายทอดประสบการณ์คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเอเวอเรสต์
สารคดีนำเสนอชีวิตของเด็กเร่ร่อน คนไร้ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงชีวิตของนักท่องเที่ยวบนเรือสำราญขนาดยักษ์ นำเสนอชีวิตของนักขุดไดโนเสาร์ ไปจนถึงชีวิตพ่อค้านักดูดาว หรือคนบ้าปลูกต้นไม้
หลายเล่มอาจจะขาดรสชาติบางอย่างไป หลายเล่มอาจจะมีกลิ่นอายบางอย่างมากเกิน จนเคยถูกผู้อ่านแซวว่า หมู่นี้ สารคดีสีเขียวจัง
แต่โดยรวมแล้วเราพยายามตั้งใจผลิตให้เนื้อหามีความหลากหลาย เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เลือกเสพตามอัธยาศัย
การรู้จักโลก รู้จักสังคมผ่านตัวหนังสือที่มีความหลากหลายของเนื้อหา อาจช่วยทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจชีวิตต่าง ๆ บนโลกกลมใบนี้ที่มิได้มีเพียงมิติเดียว และ มองโลกได้กว้างขึ้นจากหลายมุมมอง
นี่คือภารกิจของสารคดี ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี
แน่นอนว่าเรื่องราวที่เรานำเสนอ หากกลับไปพลิกดู ต้องยอมรับว่าบางเรื่อง ข้อมูลเปลี่ยนหรือคลาดเคลื่อน บางเรื่องอาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะความรู้หลายอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปตามข้อเท็จจริงใหม่ที่ค้นพบ แต่เรายังเชื่อว่า เรื่องราวในสารคดีส่วนใหญ่น่าจะเป็นฐานความรู้ที่น่าเชื่อถือสำหรับสังคม หรือเป็นฐานข้อมูลให้คนอื่นได้ต่อยอดไปใช้กันต่อไป
มีคนถามว่าสารคดีหมดเรื่องที่จะเขียน หมดเรื่องที่จะนำเสนอหรือยัง อันที่จริง ขอสารภาพว่าตั้งแต่ปีแรก ๆที่หนังสือออกมาสู่สายตาคนอ่าน เราก็คิดตลอดว่าจะเอาเรื่องอะไรมาเขียน มาเล่าสู่กันฟัง แต่พอเวลาผ่านไป เรามีประสบการณ์มากขึ้น และได้เรียนรู้ว่า
หากโลกยังหมุนอยู่ หากสังคมต้องเดินหน้า มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ให้เราต้องเดินทางค้นหาต่อไป และยังสนุกกับการนำเรื่องราวการผจญภัยหลากหลายเนื้อหามาถ่ายทอดให้กับคนอ่านผ่านตัวหนังสือ และภาพถ่าย
การเดินทางของพวกเราไม่วันสิ้นสุด
จากสารคดี มีนาคม 2553
Comments
ชวนให้สงสัยว่า ที่เขาว่ากันว่า ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดความจริงมักตาย กับคำยืนยันที่ว่า ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี ภารกิจของเราคือ “ทำความจริงให้ปรากฎ” แท้ที่จริงมันคือมายาของความจริง หรือ ความหลากหลายกันแน่