ตามรอยคานธี กับการต่อสู้แบบอหิงสา

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีโอกาสมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์คานธี  ที่เมืองมธุรัย ทางตอนใต้ของอินเดีย

ผมเคยอ่านหนังสือ เคยดูหนังเกี่ยวกับคานธีมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ดูจะได้เข้าใกล้และรู้จักชีวิตของท่านมากที่สุด

ภายหลังการลอบสังหาร บิดาแห่งชาติ  มหาตมา คานธีในปี พ.ศ. ๒๔๙๑  ชาวอินเดียได้ทำการรณรงค์และรับบริจาคเงินจากคนทั่วไปเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานคานธีเจ็ดแห่งทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นคือเมืองมธุรัยที่ คานธีได้เริ่มเปลี่ยนเสื้อผ้าจากเนื้อผ้าราคาแพงมานุ่งผ้าฝ้ายทอมือของชนชั้นต่ำไปตลอดชีวิต

คานธีได้ประกาศกับชาวมธุรัยว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถใส่เสื้อผ้าชุดเดิมได้อีกต่อไป ตราบใดที่ประชาชนยังยากจนอยู่”

ด้านหน้าของอาคารพิพิธภัณฑ์มีรูปปั้นโลหะสีดำขนาดเท่าตัวจริงของท่านมหาตมา คานธียืนถือไม้เท้ากำลังย่างเท้าก้าวเดินนำชาวบ้านไปที่ทะเลเพื่อทำเกลือกินเอง เป็นการประท้วงรัฐบาลอังกฤษที่ผูกขาดการทำเกลือ และสั่งห้ามคนอินเดียทำเกลือ

ตอนนั้นคานธีอายุได้ ๖๒ ปีแล้ว ได้นำสาวกเกือบร้อยคนเดินทางออกจากบ้าน เป็นระยะทาง ๒๔๐ ไมล์ ระหว่างทางมีผู้ร่วมเดินทางมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นฝูงชนนับแสนคน  ตรงไปฝั่งทะเลอาหรับเพื่อไปทำเกลือที่นั้น  คานธีก้มลงหยิบเกลือขึ้นแล้วพูดว่า “ด้วยเกลือหยิบมือนี้ ข้าพเจ้าขอต่อต้านการบังคับของจักรวรรดิอังกฤษ ขอเราจงร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเรากันเถิด”  แต่แล้วตำรวจได้เข้ามาสลายการชุมนุม ใช้ไม้ไล่ตีอย่างเหี้ยมโหด โดยไม่ได้รับการต่อต้านจากฝูงชนที่ยึดแนวทางอหิงสา  มีคนบาดเจ็บจำนวนมาก คนหลายพันคนถูกจับรวมทั้งคานธีด้วย  คานธีรู้ดีว่าการใช้วิธีต่อต้านแบบอหิงสา ต้องแสดงความกล้าหาญออกมาให้เห็น เขาสอนให้ชาวอินเดียรู้จักต่อต้านผู้กดขี่ และต่อสู้กับตัวเองด้วย แต่สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษก็ไม่สามารถต้านทานการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชนได้ ต้องปล่อยผู้ถูกจับกุม รวมถึงคานธีด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของแนวทางอหิงสา

ตลอดระยะเวลาห้าสิบกว่าปีในการต่อสู้  ท่านถูกจับกุมคุมขัง เดินเข้าออกจากเรือนจำนับครั้งไม่ถ้วน

และหลายครั้งที่คานธีนำฝูงชนประท้วงอย่างสงบ หากมีข่าวว่าจะเกิดความรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ ท่านกล้าประกาศให้ยกเลิกการชุมนุม เพื่อรักษาชีวิตของมวลชน

ผมเดินดูนิทรรศการแสดงประวัติของคานธี เล่าเรื่องของท่านตั้งแต่วัยเด็ก รูปถ่ายของท่านตอนแต่งงานเมื่ออายุ ๑๓ ปี ภาพตอนท่านไปศึกษากฎหมายที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภาพตอนที่ท่านเป็นทนายหนุ่มไปทำงานในแอฟริกาใต้ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเช่นเดียวกับอินเดียในตอนนั้น

ในคำบรรยายบอกว่าในประเทศแอฟริกาใต้นี่เอง ท่านได้สนใจปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ในปีพ.ศ.๒๔๔๙  กฎหมายใหม่ได้บังคับให้ชาวอินเดียทุกคนที่อยู่ในแอฟริกาใต้ต้องเข้ารับการจดทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ และต้องเปลื้องผ้าเพื่อบันทึกตำหนิรูปพรรณ ไม่เว้นหญิงชาวอินเดีย สร้างความโกรธแค้นให้กับ ชาวอินเดียหลายพันรวมทั้งคานธี ได้มารวมตัวประท้วงรัฐบาลอังกฤษ  คานธีได้ลุกขึ้นกล่าวว่า

“เราจะสวดขอต่อพระเป็นเจ้าว่า เราจะเข้าคุก และเราจะอยู่ในนั้นจนกว่ากฎหมายนี้จะถูกเพิกถอน และเราจะยอม” คำพูดของเขาจุดประกายให้เกิดการต่อต้านครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศนี้ เป็นการประกาศแนวทางการต่อสู้แบบอหิงสาเป็นครั้งแรก ผู้ประท้วงกระทำตามอย่างคานธี พวกเขาอดทนต่อการทุบตีของตำรวจ ยอมรับความเจ็บปวดอย่างกล้าหาญโดยไม่ตอบโต้ และชื่อเสียงของคานธีในฐานะผู้นำการต่อสู้ทางการเมืองได้เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้น

ภาพถัดมาเป็นภาพคานธีกลับอินเดีย หลังจากหายหน้าไปยี่สิบกว่าปี เขาได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชื่อเสียงการต่อสู้กับอังกฤษ  เราเห็นภาพคานธีเดินทางไปทั่วอินเดีย เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตความยากจนของชาวอินเดีย และเห็นภาพคานธีพูดคุยกับชาวอินเดียทุกชั้นวรรณะ และคานธีใช้เวลาไม่กี่ปีกลายเป็นผู้นำการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย เขาชนะใจอินเดียมากกว่านักการเมืองในเวลานั้น ด้วยการทำตัวเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง สวมเสื้อผ้าง่ายๆ แบบเดียวกัน อดมื้อกินมื้อ ละทิ้งความสะดวกสบาย เฉกเช่นเดียวกับผู้ยากจนที่สุด

ภาพที่สะเทือนใจของผู้มาเยี่ยมชมในนิทรรศการ คงจะหนีไม่พ้นภาพของคานธีกำลังนอนอดอาหารที่เมืองปูนา รูปนั้นเห็นได้ชัดว่าท่านผ่ายผอมลงมาก แม้รูปนั้นจะถ่ายตอนท่านอดอาหารได้ ๒๑ วันแล้ว  แต่ท่านยังยิ้มสู้ แววตายังใสเป็นประกาย ตลอดชีวิตของท่านที่ต่อสู้ด้วยอหิงสา อาวุธสำคัญของท่านคือ การอดอาหารเพื่อประท้วงรัฐบาลอังกฤษ

ในปั้นปลายชีวิตของท่าน ได้อดอาหารประท้วงการเข่นฆ่ากันระหว่างพวกมุสลิมกับฮินดู ภายหลังประเทศอินเดียได้เอกราช แต่บรรดาแกนนำกู้ชาติที่เป็นมุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในอินเดีย ไม่ยอมอยู่ร่วมกับชาวฮินดู จึงได้ประกาศแยกประเทศออกมาเป็นปากีสถาน สร้างความสะเทือนใจกับคานธีมาก แต่ที่ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือ ได้เกิดสงครามศาสนาไปทั่วประเทศ คนมุสลิมกับฮินดูที่เคยอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างสันติ กลับมาเข่นฆ่ากัน จนคานธีทนไม่ได้ ประกาศอดอาหารจนตาย หากการเข่นฆ่ากันยังไม่ยุติ ห้าวันผ่านไป พอข่าวแพร่ออกไปว่าคานธีกำลังจะตาย ผู้นำหัวรุนแรงทั้งสองฝ่ายในกรุงเดลีประกาศวางอาวุธ แต่ความสงบสุขทั้งประเทศยังไม่กลับคืนมา

ผมเดินมาจนถึงเกือบมุมสุดท้าย เป็นภาพฝูงชนนับล้านคนที่มาร่วมงานเผาศพคานธี ผู้ถูกยิงเสียชีวิตจากฝีมือของฮินดูหัวรุนแรงเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ในวันนั้นคานธีวัย ๗๘ ปี กำลังเดินไปที่สวดมนต์ประจำวัน ในกรุงเดลี ทันใดนั้นชายคนหนึ่งชื่อ นาฮูราน กอสซี่’ วัย ๓๖ ปี ได้แหวกฝูงชนมาอยู่ต่อหน้าคานธี

ก้มลงกราบและชักปืนพกยิงคานธีสามนัด คานธีกล่าวคำสุดท้ายว่า ‘ราม’ พระเจ้าของชาวฮินดู ก่อนจะล้มลงเสียชีวิต พอข่าวแพร่กระจายไปทั่วประเทศ คนอินเดียทั้งฮินดูและมุสลิมต่างช็อกกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้ การเข่นฆ่า สงครามกลางเมืองทั่วประเทศยุติลงทันที มีแต่เสียงร้องไห้อาลัยบิดาของชาติผู้นี้ ผู้คนหลายล้านหลั่งไหลไปกรุงเดลีเพื่อคารวะท่านเป็นครั้งสุดท้ายที่ลานเผาศพ

ข้อความอีกแผ่นเขียนว่า คานธีตายในวันศุกร์ วันเดียวกับการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูเมื่อ ๑,๙๑๕ ปีก่อน  ถือเป็นการตรึงกางเขนครั้งที่สองในประวัติศาสตร์  การตรึงกางเขนของพระเยซูถือเป็นการไถ่บาปหรือ รับบาปแทนมวลมนุษย์ เช่นเดียวกับการตายของคานธีผู้หยุดสงครามกลางเมืองระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิมได้

ด้านบนของนิทรรศการนี้ มีคำพูดของคานธีเขียนไว้ว่า “ความตายคือเพื่อนแท้  แต่ความไม่รู้ต่างหากทำให้เราเศร้าโศกไปเอง  ”

ห้องสุดท้ายที่จัดแสดง ได้รวบรวมเครื่องใช้ประจำตัวของคานธี อาทิ รองเท้าไม้ หนังสือ แว่นตาทรงกลม กระโถน ขันน้ำ นาฬิกาพก ปากกา ทั้งหมดคือสมบัติที่ท่านเหลืออยู่พร้อมกับเงิน ๓ ดอลล่าร์ บุคคลเรียบง่ายผู้ไม่เคยมีตำแหน่งทางการเมือง ไม่เคยสั่งสมทรัพย์สินเงินทองใด ๆ แต่สามารถชนะใจคนอินเดียและคนทั้งโลกหลายพันล้านคน

มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของคนผิวดำด้วยวิธีการแบบอหิงสา   เคยกล่าวว่า “พระเยซูเจ้ามอบคำสอนแก่ข้าพเจ้า แต่คานธีมอบวิธีการแก่ข้าพเจ้า”

เรียนรู้จากคานธี แล้วจะทราบว่า การต่อสู้แบบสงบ สันติ และอหิงสา แท้จริงเป็นเช่นไร

คติชน  9 พค. 2553

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention ตามรอยคานธี กับการต่อสู้แบบอหิงสา แล้วจะทราบว่า การต่อสู้แบบสงบ สันติ และอหิงสา แท

  2. คนคู่

    ท่านคานธี ต่อสู้มาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายแล้วความสันติก็ยังต้องการความตายเป็นเครื่องบูชายัญก่อนเสมอ

  3. ป๋อง โป๊ยเชียน

    ความรุนแรงแก้ปัญหาแค่ระยะสั้นเท่านั้น
    การต่อสู้แบบสงบ สันติ และอหิงสา ที่แท้จริงจีงจะแก้ปัญหาระยะยาวได้

  4. เฟรม

    งงมากเลยอยากรู้ว่าอหิงสาเป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วงที่มีลักาณะอย่างไร
    ใครรู้ช่วยบอกหน่อย
    ➡ ขอบคุณค่ะ 😀

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.