สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านเมืองขณะนี้ หลายคนกำลังนึกถึงเพลง Imagine ของจอห์น เลนอน
Imagine there’s no countries
It isn’t hard to do
Nothing to kill or die for
And no religion too
Imagine all the people
Living life in peace…
ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเมืองเล็ก ๆในอุดมคติแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอินเดีย ที่มีโอกาสไปเยือนไม่นานมานี้ ชื่อว่าออโรวิลล์
ออโรวิลล์เป็นชุมชนที่มีคนจากทั่วโลกประมาณสองพันกว่าคนผู้ใฝ่หาสันติและหาความหมายของชีวิตมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน โดยมาจากแนวความคิดอุดมคติของของ ศรีอรบินโด (พ.ศ.๒๔๑๕-๒๔๙๓ ) ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย ท่านเป็นกวี ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอินเดียจากการยึดครองของอังกฤษ ก่อนจะหันมาใช้ชีวิตเป็นฤาษีและแสวงหาความสงบทางจิตวิญญาณ
ศรีอรบินโด มีความเชื่อว่า มนุษย์บนโลกนี้ไม่ใช่จุดจบ ร่างของมนุษย์ทุกวันนี้เป็นเพียงทางผ่านที่จะก้าวไปสู่ความหลุดพ้นและจิตวิญญาณอันสูงส่ง
ต่อมามิรา อัลฟาซ่า (๒๔๒๑-๒๕๑๖) ลูกครึ่งอียิปต์ ชาวฝรั่งเศส หรือมีชื่อเรียกกันว่า The Mother หรือคุณแม่ สหายทางจิตวิญญาณและศิษย์เอกของศรีอรบินโด ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการก่อตั้งเมืองอุดมคติแห่งนี้ขึ้นในภาคใต้ของอินเดีย โดยเมื่อ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ ประชาชน ๕,๐๐๐ คน และตัวแทนจาก ๑๒๔ ชาติได้มารวมตัวกันใกล้ต้นโพบริเวณสถานที่ก่อสร้างชุมชนแห่งใหม่ และทำพิธีประกาศให้กำเนิดเมืองออโรวิลล์ เป็นเมืองในอนาคตที่ทั้งหญิงชายจากทุกประเทศ สามารถมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างสันติและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยอยู่นอกเหนือความคิดทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนา เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม และตัวแทนจากชาติต่าง ๆ ได้นำเอาดินติดตัวมาจากประเทศของตัวเองมาผสมกับดินหิน ที่จะใช้ในการก่อสร้างเมืองใหม่ด้วย
เมืองออโรวิลล์ได้รับการรับรองจากรัฐบาลอินเดียและยูเนสโก และเมืองแห่งนี้ดำเนินงานโดยมูลนิธิออโรวิลล์ ภายใต้การดูแลของรัฐบาลอินเดียที่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และยูเนสโกก็ประกาศว่าเป็นโครงการที่มีผลต่ออนาคตของมนุษยชาติ และให้การสนับสนุนเต็มที่ด้วย
ภายในเมืองที่มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ คุณแม่มีความฝันในการสร้างเมืองใหม่เพื่ออนาคตและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้คนจากทั่วโลก เป็นเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนช่วยกันสร้างกันขึ้นมา กะว่าเมืองในอุดมคติน่าจะมีประชากรประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนมาใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นที่ทดลองงานวิจัยใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การใช้พลังงานสะอาด การเกษตรธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้มีคนอยู่ประมาณสองพันคน จาก ๔๔ ชาติ ตั้งแต่เด็กทารกถึงคนชราวัยแปดสิบ แต่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาววัยสามสิบ พลเมืองหนึ่งในสามเป็นคนอินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย ทมิฬ เพื่อสนทนาในเมืองนี้
เมืองออโรวิลล์แบ่งพื้นที่ออกเป็นสี่โซน คือ โซนที่อยู่อาศัย โซนนานาชาติ เป็นที่ให้คนจากหลายชาติมาลองใช้ชีวิตสร้างกิจกรรมแลกเปลี่ยนด้วยกัน โซนอุตสาหกรรม เพื่อผลิตเครื่องมือพึ่งตัวเอง การสร้างพลังงานสีเขียว และเป็นศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอันเหมาะสมต่าง ๆ และโซนวัฒนธรรม เป็นที่แลกเปลี่ยนงานศิลปะ กีฬาและวัฒนธรรม และถัดออกไปจะเป็นพื้นที่ป่าสีเขียว มีการฟื้นฟูป่า ทำการเกษตรธรรมชาติ และงานวิจัยสมุนไพรต่าง ๆ ไม่รวมโรงเรียนหลายแห่งที่มีหลักสูตรของตัวเองสำหรับลูกหลานของชาวออโรวิลล์
ออโรวิลล์ถือเป็นชุมชนพึ่งตัวเองจากพลังงานบริสุทธิ์ อาทิพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานชีวภาพที่ก้าวหน้าที่สุดในอินเดีย พยายามผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองให้มากที่สุด อาทิบนดาดฟ้าของห้องครัวรวม มีการติดตั้งจานรับความร้อนแสงแดดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๕ เมตร สามารถปรุงอาหารได้ถึงวันละ ๑,๐๐๐ มื้อ
คนที่อยากเข้ามาเป็นสมาชิกของชาวเมืองออโรวิลล์ จะต้องพิสูจน์ตนเองก่อนว่าพอใจที่จะอาศัยและยอมรับกฎเกณฑ์ได้ และต้องผ่านการยอมรับจากคณะกรรมการเมืองก่อนซึ่งมีขั้นตอนเข้มงวดมาก แน่นอนว่าคนเหล่านี้ต้องเสียสละเวลาช่วยกันทำงานให้กับเมืองออโรวิลล์ ตั้งแต่งานหัตถกรรม ออกแบบเสื้อผ้า ไปจนถึงการพัฒนาเวบไซต์บนโลกอินเตอร์เน็ต
ตรงอาคารใกล้ปากทางออกเห็นรูปคุณแม่ขนาดใหญ่ติดอยู่ และภาพอาสาสมัครจากชาติต่าง ๆ ขณะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเมืองออโรวิลล์ขึ้นเมื่อสี่สิบปีก่อน ฟื้นฟูที่ดินอันแห้งแล้ง จนกลายเป็นป่าและพื้นที่สีเขียว น่ายกย่องความฝันของสุภาพสตรีเล็ก ๆ คนหนึ่งที่สามารถทำให้คนต่างชาติ ต่างศาสนาหลายพันคน มาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สงบ ปราศจากความขัดแย้งทางการเมืองและไม่ทำร้ายโลกอีกต่อไป
เมื่อไรคนร่วมชาติเดียวกัน จะสร้างชุมชนอุดมคติที่หลุดพ้นความขัดแย้งทางการเมืองเสียที
จาก กรุงเทพธุรกิจ 20 พค. 53
Comments
imagine… เมืองในอุดมคติ
…ชุมชนอุดมคติที่หลุดพ้นความขัดแย้งทางการเมือง…imagine
เริ่มจากประเด็นว่าเมือง เกิดขึ้นได้อย่างไร จากอะไรบ้าง
ขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร การใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน กฏหมาย สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาการต่างๆ อำนาจหรือองค์การแห่งเทพรวมทั้งแรงบันดาลใจ ( เช่นเมืองออโรวิลล์ )
แล้วสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า คน (ซีไรต์ ปี2542) จะสร้างชุมชนอุดมคติที่หลุดพ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร
ด้วย พรบ.การชุมนุมในที่สาธารณะที่ถูกเสนอเมื่อ 4 พ.ค. 2553 ที่วิ่งราวสิทธิ์อันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญของประชาชนไปให้รัฐเป็นผู้อนุมัติ เช่นนั้นหรือ
ฤา เมืองในอุดมคติของท่านผู้ทรง…ทั้งหลายก็คือเมืองต้องห้าม ประมาณว่า”เมืองข้าใครอย่าแตะ”
Pingback: Tweets that mention ออโรวิลล์ เมืองในอุดมคติ | -- Topsy.com
😳 แล้วในที่สุดเมื่อเมืองเกิดขึ้นแล้ว มีคนเข้าไปอยู่แล้ว ก็ต้องมีระบบการอยู่ร่วมกัน การเมืองก็น่าจะเกิดขึ้นในที่สุดนะคะ ไม่อย่างนั้นจะพัฒนาการอยู่ร่วมกันไปในทิศทางไหนหนูก็คิดไม่ออกค่ะ 🙄