เมื่อเย็นวันที่ ๖ พฤษภาคมที่ผ่านมา สารคดี ได้รับเกียรติจากคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน นิทรรศการ “ภาพถ่ายสารคดี บันทึก ๒๕ ปีประเทศไทย” บริเวณระเบียงทางเดินชั้น ๓-๔ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เนื่องในโอกาส ๒๕ ปี สารคดี
ขอสารภาพว่าตั้งแต่ก่อตั้ง สารคดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวสารคดี ได้จัดงานใหญ่สู่สายตาสาธารณชนให้กับตัวเอง โดยมีนิทรรศการภาพถ่ายเป็นเนื้อหาหลักของการเฉลิมฉลอง ๒๕ ปี สารคดี
ต้องบอกก่อนว่า ภาพที่เรามาจัดแสดง ๑๑๗ ภาพนั้น เป็นภาพถ่ายสะท้อนสังคมไทยในมุมมองของคนทำสารคดี อาจจะแตกต่างจากมุมมองของสื่อกระแสหลักที่สนใจเรื่องราวด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่มุมมองของเรา อาจจะมีความหลากหลายมากกว่า อาทิภาพของคนตัวเล็ก ๆในสังคม ภาพการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ ภาพการบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่น ฯลฯ
เราเชื่อว่าความหลากหลายของสังคมเป็นพลังที่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปได้
ตอนแรกว่าจะจัดงานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม แต่ก็เจอโรคเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองไม่สงบ จนได้ฤกษ์งามยามดี เปิดนิทรรศการในเย็นวันนั้น ท่ามกลางเพื่อนพ้องน้องพี่ ท่านผู้อ่าน นักเขียน คนในวงการโฆษณา วงการพิมพ์ ที่สละเวลามาร่วมงานให้กำลังใจกันอย่างคึกคัก
คุณอานันท์ ได้กล่าวเริ่มพิธีเปิดว่า แกอ่านสารคดีมาสิบกว่าปีแล้ว อ่านเสร็จก็แจกจ่ายให้กับคนอื่น ๆ ได้อ่านต่อ แกรู้สึกทึ่งที่สังคมไทยมีหนังสือประเภทนี้ ที่ให้ข้อมูลและความรู้ทุกด้าน เป็นหนังสือที่เด็กอ่านก็ได้ ผู้ใหญ่อ่านก็ดี
ตอนหนึ่งแกพูดให้แง่คิดว่า
“ผมเปรียบนิตยสารสารคดีเป็นเสมือนสวนสาธารณะ ที่ทำให้ผู้คนที่มีความสับสน วุ่นวาย สามารถเข้าไปนั่งในสวน สูดอากาศบริสุทธิ์ เห็นสีเขียว ดูต้นไม้ เพลิดเพลินกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ทำให้ใจสบายขึ้นนอกจากการที่จะได้รับความรู้อยู่แล้วทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และความรับรู้สิ่งที่ดีงามในอดีตของสังคมไทย”
ไฮไลท์ของงานครั้งนี้คือการมอบรางวัล สารคดี เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ ให้กับคุณเอนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดี ผู้อุทิศตัวตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปี ตั้งแต่ท่านจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่ทางสารคดี ได้มอบรางวัล สารคดี ให้กับบุคคลที่เรายกย่องว่าเป็นตัวจริง เสียงจริง และทำงานหนักมาตลอดชีวิตให้กับการค้นคว้าเก็บข้อมูล
ผมรู้จักพี่เอนก มานานยี่สิบกว่าปี จุดเด่นของแกที่มาพร้อมกับงานเขียน คือ เวลาผ่านไปอย่างไร หน้าตายังละอ่อนเหมือนเดิม แกเดินทางเก็บข้อมูล ค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์ผู้คนทั่วประเทศ และยังเก็บสิ่งของเก่าใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ผู้คนหรือหน่วยงานรัฐไม่เห็นค่า ตามความเชื่อว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” พอแกสะสมมากขึ้น จนต้องหาที่อยู่ให้มัน และต้องเจียดเงินส่วนตัว วิ่งหาเงินมาสร้าง “บ้านพิพิธภัณฑ์”
คุณเอนกเป็นคนอารมณ์ดี ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุข จนไม่น่าเชื่อว่า คน ๆนี้ จะสามารถผลิตงานสารคดีอย่างมีคุณภาพได้กว่า ๑๔๐ เล่ม ไม่รวมการบันทึกข้อมูลด้วยรูปภาพ ที่แกมีรูปในคลังภาพหลายแสนภาพทีเดียวและที่สำคัญคือ เป็นงานที่มีการตรวจสอบข้อมูลตลอดเวลา ตามหลักการทำงานของแกคือ “นำเสนอข้อมูลใหม่ ตรวจสอบแก้ไขข้อมูลเก่า”
ผมคิดว่านี่คือหัวใจสำคัญในการทำงานสารคดี ที่อย่าเชื่อข้อมูลที่พบเห็นในปัจจุบันว่าเป็นความจริง หากเวลาเปลี่ยน ข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่เพิ่มขึ้นหรือมีการค้นพบใหม่
มีคนทำสารคดีจำนวนไม่น้อย ที่ติดกับดักตัวเอง พากันยึดติดกับข้อมูลหรือสิ่งที่ได้บันทึกไปแล้ว โดยไม่ใส่ใจที่จะตรวจสอบข้อมูลต่อไป เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป
คุณเอนกเป็นตัวอย่างของคนทำงานเก็บข้อมูลอย่างหนัก แต่ไม่เคยยึดมั่นกับข้อมูลที่ตัวเองได้ค้นพบมาว่าถูกต้องตลอดเวลา จำเป็นต้องตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ คุณเอนกจึงสมควรได้รับรางวัลสารคดี เกียรติยศ ครั้งที่ ๑ จากนิตยสาร สารคดี
เป็นแบบอย่างที่หายากมาก ในสังคมทุกวันนี้จริง ๆ
จาก สารคดี พค. 53
Comments
Pingback: Tweets that mention สารคดี บันทึก ๒๕ ปี ประเทศไทย | -- Topsy.com