เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่อง วิกฤติวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยในโลกปัจจุบันที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงก่อนจะเริ่มงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติไม่กี่วัน
ผมตั้งคำถามในใจว่า จริงหรือไม่ที่การอ่านเป็นวัฒนธรรมของคนไทยมาตั้งแต่อดีต และผมได้ตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้
ในอดีตการอ่านของคนไทยถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะชนชั้นสูง หรือพระภิกษุ ผ่านทางสมุดข่อยใบลาน คนไทยทั่วไปได้รับความรู้หรือความบันเทิงจากการฟังพระเทศน์ หรือชนชั้นสูงสั่งสอน เล่าให้ฟัง มากกว่าการอ่าน
สมัยก่อนหนังสือแต่ละเล่มต้องค่อย ๆ คัดลอกกันด้วยลายมือ กว่าจะได้แต่ละเล่มใช้เวลานาน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการอ่าน
การอ่านในโลกนี้น่าจะเริ่มแพร่หลายออกไปพร้อมกับการพิมพ์หนังสือ
ในโลกตะวันตก แท่นพิมพ์หนังสือแท่นแรกของโลกเกิดโดย กูเทนแบร์ก ชาวเยอรมนี เมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อน การผลิตซ้ำอย่างรวดเร็วจากการพิมพ์ได้ทำให้การอ่านหนังสือและความรู้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว (นักประวัติศาสตร์บางคนพบว่ามีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า คนจีนสามารถคิดแท่นพิมพ์เป็นชาติแรกในโลก แต่การพิมพ์หนังสือก็ไม่ได้แพร่หลายเท่าโลกตะวันตก)
การพิมพ์หนังสือของฝรั่งได้ทำให้วัฒนธรรมการอ่านของโลกตะวันตกแข็งแรงและยืนยาวนาน ตัวชี้วัดที่สำคัญคือยอดพิมพ์หนังสือของฝรั่งสูงกว่าหนังสือไทยหลายสิบเท่ามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่โรงพิมพ์แห่งแรกของสยามเริ่มขึ้นใน โดยหมอแบรดลีย์ ในปีพ.ศ. ๒๓๘๒ สมัยรัชกาลที่สาม
วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยเริ่มขึ้นร้อยกว่าปี ยังไม่แข็งแรง และตอนแรกยังจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นสูง คนไทยทั่วไปได้อ่านหนังสือน้อยมาก ความรู้ ความคิด ความอ่านจึงมาจากฟังพระเทศน์เป็นสำคัญ ขณะที่ความบันเทิงมาจากการดูมหรสพ ลิเก มากกว่าการอ่านนิยาย
หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของสยามประเทศ การศึกษาขยายตัวออกไปและมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง หนังสือจึงได้แพร่กระจายออกไปสู่คนไทยมากขึ้น มีการพิมพ์หนังสือออกมาเพื่อการศึกษาและการแสวงหาความรู้ด้านต่าง ๆ พอ ๆกับเรื่องบันเทิงเริงรมย์
จากการฟังในอดีต คนไทยเริ่มสนใจการอ่านมากขึ้น วัฒนธรรมการอ่านของคนไทยถือว่ายังเริ่มตั้งไข่ไม่แข็งแรงมาก แต่แล้วก็เกิดอุปสรรคสำคัญมาแย่งการอ่านไปจากคนไทย
การเข้ามาของโทรทัศน์ ได้ทำให้คนไทยก้าวจากการฟัง ไปสู่การอ่านได้ไม่นาน และกระโดดไปให้ดูทีวีมากที่สุด
น่าสนใจว่าในเมืองนอกที่มีวัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงและยืนนาน การเข้ามาของโทรทัศน์ได้แย่งชิงคนอ่านให้กลายเป็นคนดูพอสมควร แต่ไม่รุนแรงเท่ากับบ้านเราที่วัฒนธรรมการอ่านยังไม่แข็งแรง
นานมาแล้วพี่สุชาติ สวัสดิศรีเคยพูดกับผมไว้ว่า ทุกวันตอนหัวค่ำ คนไทยต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าองค์ใหม่
พระเจ้าที่ว่าคือทีวี ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าเฝ้าด้วยความเต็มใจวันละหลายชั่วโมง
เชื่อไหมว่าคนไทยติดอันดับการดูโทรทัศน์ของโลก นิตยสาร First Glimpse รายงานว่า คนไทยดูโทรทัศน์เฉลี่ยอาทิตย์ละ ๒๒-๒๔ ชั่วโมง หรือวันละ ๓ ชั่วโมง
วันหนึ่งมีแค่ ๒๔ ชั่วโมง แต่คนไทยให้เวลากับการดูโทรทัศน์มากอย่างน่าตกใจ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยเฝ้าหน้าจอ หรือเข้าเฝ้าพระเจ้าองค์ใหม่ มากกว่าการอ่านหนังสืออย่างแน่นอนในแต่ละวัน
ยังไม่รวมเวลาที่เสียไปให้กับการใช้อินเตอร์เน็ต ที่มาเบียดบังเวลาของการอ่านเข้าไปอีกมาก
นอกจากจะดูทีวีแล้ว เดี๋ยวนี้ คนไทยยัง ดู หนังสือ มากกว่าการ อ่าน หนังสือ
ไม่เชื่อลองหยิบนิตยสารส่วนใหญ่ในท้องตลาดขึ้นมา จะเห็นว่าได้รับการออกแบบให้กับการอ่าน มากกว่าการดู เปิดพลิกไม่นานก็ดูหมดฉบับแล้ว
พฤติกรรมการอ่านของคนในปัจจุบัน จึงโน้มเอียงไปทางการดูโทรทัศน์หรือการดูอินเตอร์เน็ต
มาลองดูสถิติการอ่านของคนไทยกันมั่งครับ
สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่า ในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ประชากรไทย ๖๐ ล้านคน
อ่านหนังสือ ๔๑ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๗๐
อ่านหนังสือได้แต่ไม่ยอมชอบอ่าน ๑๘ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๓๐
อ่านหนังสือไม่ออก ๓.๓ ล้านคน
มีการสำรวจว่า สาเหตุที่คนไทยผู้อ่านหนังสือได้แต่ไม่ยอมอ่าน เป็นเพราะส่วนใหญ่ ใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์
แต่เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยอยากอ่านหนังสือนั้น อาจจะสะท้อนมาจากอุปนิสัยของคนไทยตั้งแต่อดีต กล่าวคือ คนไทยมีนิสัยสบาย ๆ ไม่เคร่งเครียด ลักษณะนิสัยนี้ส่วนหนึ่งอาจจะถูกกำหนดมาจากสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศ
เคยได้ยินใช่ไหมว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ในเขตอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีแร่ธาตุ น้ำ อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย จะหว่านเมล็ดพืชไปตรงไหน ก็เจริญงอกงาม คนในภูมิภาคนี้จึงไม่ค่อยเดือดร้อนในการหาเลี้ยงชีพ และยังไม่ต้องผจญกับภัยจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด หรือหิมะถล่ม จึงอยู่กันอย่างสบาย ๆ ไม่มีแรงบีบบังคับให้ต้องแสวงหาความรู้ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อการอยู่รอด
ขณะที่ผู้คนทางซีกโลกตะวันตก หรือแม้กระทั่งชาวญี่ปุ่น มักจะประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติเป็นประจำ มิหนำซ้ำบางพื้นที่มีปัญหาการเพาะปลูก ทำให้คนเหล่านี้ต้องพยายามดิ้นรนค้นคว้า หาความรู้เพื่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ไม่ว่าการสร้างบ้านให้มั่นคงเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว หรือการออกแบบหลังคาให้ทนต่อหิมะถล่ม ฯลฯ
การหาความรู้ที่ดีคือการอ่านจากหนังสือ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้มีนิสัยการอ่านมานานมาก ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นคนญี่ปุ่น หรือฝรั่งเวลาว่าง มักจะหยิบหนังสือมาอ่านกันเป็นเรื่องปรกติ ลองสังเกตคนเหล่านี้เวลาขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดิน ในร้านอาหารหรือไปเที่ยวตามชายหาดมักจะหนีบหนังสือ หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารไปอ่านกันแทบทุกคน
ส่วนคนไทยเวลาไปเที่ยวชายหาด เที่ยวทะเลก็หนีบเหมือนกัน ส่วนใหญ่ไม่ได้หนีบหนังสือ แต่หนีบขวดเหล้าไปตั้งวงมากกว่า (ฮา)
การที่คนไทยเป็นคนไม่ค่อยซีเรียส ไม่ค่อยสนใจจะหาความรู้ สามารถสะท้อนออกมาจากอาชีพที่คนไทยประสบความสำเร็จได้
ทราบไหมครับอาชีพที่คนไทยประสบความสำเร็จมากที่สุดคืออะไร…อาชีพด้านบริการครับ
อาชีพเหล่านี้ประกอบด้วย การทำร้านอาหาร โรงแรม แอร์โฮสเตส การท่องเที่ยว ธุรกิจกลางคืน ซึ่งไม่ต้องใช้ความรู้อย่างลึกซึ้ง แต่ใช้ความชำนาญ เส้นสายและประสบการณ์มากกว่า
แต่อาชีพที่ต้องใช้ความรู้และความพยายามในการเรียนมาก ๆ ไม่ว่านักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หมอ ในบ้านเราจึงยังขาดแคลนกันอีกมาก
ไม่แปลกใจที่ประเทศไทยอาจจะมีโรงแรมหรูระดับโลก แต่โอกาสน้อยที่เราจะมีนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยระดับโลก
ปีหนึ่งบ้านเราผลิตหนังสือออกมาหมื่นกว่าปก หนังสือขายดีส่วนใหญ่เป็นหนังสือแนวโรมานซ์
ขณะที่ในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น หนังสือขายดีสิบอันดับแรกมีทั้งหนังสือแนวบันเทิงและแนวสารคดี
เหลียวมามองประเทศเพื่อนบ้าน
ชาวสิงคโปร์อ่านหนังสือกันเฉลี่ยปีละ ๔๐-๕๐ เล่ม
ชาวเวียดนามอ่านหนังสือกันปีละ ๖๐ เล่ม
สิงคโปร์เจริญกว่าไทยไปนานแล้ว และเวียดนามที่เคยล้าหลังเราจากพิษสงครามเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน กำลังจะแซงหน้าเราภายในไม่กี่ปีจนได้ฉายาว่า ญี่ปุ่นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะทุกวันนี้คนไทยอ่านหนังสือกันปีละไม่เกิน ๒ เล่ม จึงอยู่กันไปเรื่อย ๆ แบบไทย ๆ สบาย ๆ
นอกจากคนไทยจะอ่านหนังสือกันน้อย ยังใช้ความรู้สึกกันมาก
เวลาเกิดปัญหาขัดแย้งกัน แทนที่จะแสวงหาความรู้ แสวงหาเหตุและผล เพื่อหาสิ่งที่ถูกต้องในการหาทางออกร่วมกัน กลับใช้ความรู้สึกตอบโต้กันไปมาจนความขัดแย้งลุกลามออกไป
Comments
ข้อสังเกตในเรื่อง การใช้เหตุผล กับการใช้ความรู้สึก นี่น่าสนใจนะมันเกี่ยวกับการอ่านมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยไปอ่านหนังสือให้เด็กตาบอดฟัง เตรียมหนังสือที่คิดว่าดี และได้ความรู้ไป ซึ่งพอเด็กๆรู้ว่าจะมีคนมาอ่านหนังสือให้ฟัง พวกเขาดีใจกันมาก ถามว่าจะอ่านเรื่องอะไรก่อนขอตัวไปเตรียมของ ซึ่งของที่ว่านั้นก็คือหนังสือนั่นเอง เชื่อไหมหนังสือที่พวกเขาอยากให้เราอ่านในวันนั้น ครึ่งหนึ่งคือ เรื่องย่อละคร อีกครึ่งคือ Pocket Book ของเหล่าดารานักร้องคนดัง ทีมีทั้งน่าอ่าน และไม่น่าอ่านเอาเลย แต่จำต้องอ่านจนจบ แน่นอนความรู้สึกของเด็กๆ คือ มีความสุขที่ได้รับรู้เรื่องราวของศิลปินในดวงใจ ขณะที่ความคิดอันเกิดจากอ่านในวันนั้นของตัวเองคือ เหตุผลที่มีต่อคุณค่าของการเขียน
วัฒนธรรมการอ่านของไทย ถ้าวิเคราะห์จากประวัติศาสตร์แล้ว ก็น่าที่จะมีจุดเริ่มต้นมาจากความบันเทิง มากกว่าการหาความรู้ จนกระทั่งในสมัยของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงให้จารึกตำรับตำราต่างๆใว้ที่วัดพระเชตุพนฯ เพื่อให้ประชาชนได้สามารถอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ต่างๆได้ (แต่เดิมการศึกษาของชาวไทยจำกัดอยู่ในวงแคบ คือ ผู้ใกล้ชิดกับราชสำนัก และการเผยแพร่ด้วยสมุดไทยหรือใบลานเป็นวิธีที่จำกัดการ อีกทั้งคนไทยโบราณมักหวงแหนความรู้ เพราะถือว่าเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ) การอ่านเพื่อหาความรู้จึงเริ่มขึ้น
ในฐานะที่เคยทำงานกับคนตาบอดมา่ช่วงหนึ่งขอแสดงความคิดต่อท้ายคุณคนคู่นะครับ
ต้องยอมรับครับว่าสังคมคนตาบอดเอง ทำให้เขาปิดกั้นบางอย่างไปด้วยความพิการอยู่แล้ว บางคนเหนื่อยจากการทำงานหาเลี้ยงชีพ หรือการเรียนเองก็ต้องใช้ความตั้งใจมากกว่าคนธรรมดา การอ่านจึงเน้นความบันเทิงเป็นหลักครับ มีคนตาบอดกลุ่มหนึ่งครับที่ต้องการอ่านหนังสือเพื่อความรู้ บ้างก็เพื่อการเรียน และจะยิ่งน้อยไปอีกถ้าเน้นว่าต้องการหาความรู้โดยตรง
อีกส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ืคือวัฒนธรรมการอ่าน กับ วัฒนธรรมการเขียน มีความสัมพันธ์กัน เพราะยิ่งเราอ่านน้อย การเขียนก็ยิ่งน้อย ประวัติศาสตร์ของไทยจึงมักบอกผ่านการเล่าอยู่ไม่น้อย
😳 😳 😮
ความรู้ของคนหาได้หลายทาง ไม่สำคัญที่ต้องรู้มาก แต่สำคัญที่ว่าสิ่งที่รู้นั้นจริงหรือไม่ต่างหาก เพราะเราถูกสอนให้เชื่อในสิ่งที่รู้แต่ไม่เคยให้คิดในสิ่งที่รู้ต่างหาก สิ่งนี้ต่างหากที่สร้างให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมาครับ