อาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็ก ๆชิ้นหนึ่ง ที่ดูจะมีประโยชน์ต่อคนอ่านมากกว่าข่าวการทะเลาะกันของนักการเมือง แต่น่าเสียดายที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่มองข้ามไป
ข่าวที่ว่าคือ ทางมูลนิธิโลกสีเขียวได้เปิดเผย คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ผ่านสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า ไลเคน โดยทำเป็นแผนที่แสดงจุดต่าง ๆ ในเมืองหลวงว่า มีคุณภาพอากาศเสียมากน้อยเพียงใด
ที่ผ่านมาการตรวจสอบคุณภาพอากาศ มักจะเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการ คือกรมควบคุมมลพิษที่จะใช้เครื่องมือราคาแพงในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนสามารถสร้างเครื่องมือราคาถูกในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยสร้างแผนที่ “มองคุณภาพอากาศกรุงเทพฯ ผ่านไลเคน 2010” เป็นแผนที่แสดงข้อมูลคุณภาพอากาศ ฉบับประชาชนฉบับแรกในประเทศไทย สำรวจโดยกลุ่มเยาวชน “นักสืบสายลม” จากเครือข่ายโรงเรียนในกรุงเทพฯ ร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว โดยใช้ไลเคนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ
ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตกึ่งรากึ่งสาหร่ายมีขนาดเล็กมาก พบอาศัยขึ้นเกาะตามต้นไม้ ก้อนหิน และพื้นผิวต่างๆ ทั่วโลก
ลองสังเกตดูต้นไม้บางต้น จะเห็นมีแถบปื้น ๆ เกาะลำต้นไม้ มีทั้งสีเขียว สีขาว สีเทา นั่นแหละคือไลเคน
ไลเคนมีคุณสมบัติพิเศษ สามารถใช้บ่งชี้ระดับมลภาวะในอากาศได้ เนื่องจากไลเคนชนิดต่างๆ มีความทนทานต่อระดับมลภาวะไม่เท่ากัน การสำรวจสังคมไลเคนว่าพบกลุ่มใดมากน้อยแค่ไหน จึงบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศ ที่เราหายใจเข้าไปได้ว่าดีไม่ดีเพียงใด
คราวนื้ทางมูลนิธิโลกสีเขียวได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายโรงเรียนในกทม. ระดมอาสาสมัคร เด็กนักเรียนที่ผ่านการอบรมด้วยวิธีการง่าย ๆ ร่วมกันสำรวจไลเคนที่เกาะตามต้นไม้ทั่วกรุงเทพฯ
จากการสำรวจสังคมไลเคนในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด 214 จุด ในช่วงเวลา 9 เดือน จากกันยายน 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 พบว่าพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่ง
ของกรุงเทพฯ มีคุณภาพอากาศที่ “แย่” ถึง “แย่มาก” มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของประชาชน
คุณภาพอากาศ “แย่” ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง ทั้งทางฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี หรือบริเวณใกล้ถนนสายหลักที่มีการจราจรรถยนต์คับคั่ง และพื้นที่ชานเมืองที่มีโรงงานจำนวนมาก เช่น บริเวณเขตบางขุนเทียนและเขตบางนาทางด้านใต้ของกรุงเทพฯ ซึ่งติดกับเขตอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ จุดที่พบคุณภาพอากาศ “แย่” ยังกระจายประปรายเป็นหย่อมๆ ตามลักษณะกิจกรรมในท้องถิ่น เช่น บริเวณสนามบิน บริเวณที่เผาขยะและเผาศพกันมากๆ หรือพื้นที่ติดคลองน้ำเสีย ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซไข่เน่า หรือไฮโดรเจนซัลไฟด์
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศ “พอใช้” จนถึง “ดีพอใช้” มีอยู่ไม่น้อยในกรุงเทพฯ ตามพื้นที่เกษตรและสวนผลไม้ ชุมชนริมคลองที่ถนนเข้าไม่ถึง หรือมีการจราจรไม่หนาแน่นมาก เช่น ในเขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง และเขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา ไปจนถึงพื้นที่ติดกับพุทธมณฑลในจังหวัดนครปฐม
จุดที่พบคุณภาพอากาศ “พอใช้” ในบริเวณกลางกรุง ได้แก่ พื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี สวนสัตว์ดุสิต และสวนหลวง ร. 9 และมีข้อสังเกตว่าบริเวณบางกระเจ้าที่เป็นพื้นที่สีเขียวพบอากาศคุณภาพแค่ “พอใช้” ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจากบางกระเจ้าอยู่ติดกับเขตอุตสาหกรรมแถวสมุทรปราการ
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ด้วยตนเอง เพียงแต่ต้องผ่านการอบรม “นักสืบสายลม” จากมูลนิธิโลกสีเขียว ทุกคนก็สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศบริเวณบ้านได้เอง และช่วยกระตุ้นให้คนเมืองเกิดความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่เกิดขึ้น ผู้ใดสนใจโปรดติดต่อ มูลนิธิฯ 02 622 2250-2
หากมีโอกาสทางมูลนิธิฯ น่าจะทำ เครื่องมือตรวจสอบคุณภาพนักการเมือง รับรองได้อาสาสมัครช่วยตรวจสอบกันเต็มบ้านเต็มเมืองแน่
กรุงเทพธุรกิจ 17 มิย. 53
Comments
Pingback: Tweets that mention http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=653utm_sourcepingback -- Topsy.com
🙄 🙄 🙄 🙁