ความโลภไม่เคยปรานีใคร เบื้องหลังแท่นเจาะน้ำมันบีพีระเบิด

ปี 2009  บีพี หรือ British Petroleum บริษัทน้ำมันสัญชาติอังกฤษ เพิ่งทำพิธีฉลองอายุครบร้อยปี  ปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกันถึง 246,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีกำไรทั้งปีประมาณ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นกลุ่มบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับสามของโลก มีกิจการการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ และการผลิตพลังงานทางเลือกกระจายอยู่ทั่วโลกพร้อมพนักงานถึง 80,000 คน

เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน บริษัทบีพีภายใต้การบริหารงานของซีอีโอคนก่อน คือ จอห์น บราวน์ ได้ปฏิวัติบริษัทน้ำมันอันเก่าแก่ ให้กลายเป็นองค์กรทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ามากในเวลานั้น เปลี่ยนบีพีกลายเป็นบริษัทพลังงานสีเขียว จอห์น บราวน์เล็งเห็นว่าในอนาคตธุรกิจของบีพีจะไม่ใช่มาจากน้ำมันดิบ ที่นับวันจะหมดไปและยังสร้างมลภาวะให้กับโลก แต่ภารกิจของบีพีคือการมุ่งพัฒนาพลังงานทางเลือกและยั่งยืน ที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมให้กับชาวโลก และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทจาก British Petroleum เป็น Beyond  Petroleum  เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทในอนาคต

ไม่นานนักบีพีได้กลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลก กลายเป็นบริษัทสีเขียวตัวอย่างของโลก แต่ภายหลังการเกษียณอายุของจอห์น บราวน์ไม่กี่ปี ชื่อเสียงของบีพีก็แทบจะป่นปี้ ในฐานะผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆของโลก  จนบีพีได้ฉายาใหม่ว่า British Polluter

เริ่มต้นปี 2010 ได้ไม่กี่เดือน ไม่มีใครคิดว่า บริษัทที่มีทรัพย์สินใหญ่ที่สุดของอังกฤษแทบจะล้มละัลายในข้ามคืน เมื่อแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ในอ่าวเม็กซิโกของบริษัทบีพีได้เกิดระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มีคนงานของบริษัทบีพีเสียชีวิต 11 ราย และทำให้น้ำมันไหลทะลักลงสู่ท้องทะเลเป็นปริมาณมหาศาล สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวอเมริกันจำนวนมาก

น้ำมันดิบที่อยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินได้ทะลักออกมาปนเปื้อนบนผิวทะเลประมาณวันละ 35,000-60,000 บาร์เรล นอกจากการประมงบริเวณอ่าวเม็กซิโกที่ย่อยยับลงเพราะจับปลาไม่ได้แล้ว ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลในบริเวณนั้นก็ต้องปิดตัวเองลง มีรายงานข่าวว่าเจ้าของกิจการให้เช่าเรือยอร์ชฆ่าตัวตายเพราะกิจการล้มละลาย

สามเดือนผ่านไป ความพยายามในการสกัดกั้นการรั่วไหลของน้ำมันยังทำได้แค่เล็กน้อย บีพีหมดเงินในการควบคุมการรั่วไหลของน้ำมัน การทำความสะอาดคราบน้ำมันที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทั่วบริเวณ และการจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้ถึง 3.12 พันล้านดอลลาร์แล้ว

นายโทนี เฮย์เวิร์ด ประธานบริหารของบีพีได้ประกาศจะจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.48 แสนล้านบาท และบีพีจะงดจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในปีนี้

เรียกได้ว่ากำไรที่สะสมมาหมดไปกับอุบัติเหตุครั้งนี้เพียงครั้งเดียว แถมราคาหุ้นบีพีในตลาดหุ้นดาวโจนส์ได้ลดลงกว่าครึ่ง จากหุ้นละ 60 กว่าเหรียญเหลือไม่ถึง 30 เหรียญ และทางบริษัทประกาศว่า กำลังจะขายกิจการในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อถือเป็นเงินสดมาสำรองความเสียหายที่ยังไม่มีทีว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด

ตอนแรกการระเบิดครั้งนี้ใคร ๆ ก็สันนิษฐานว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่เมื่อมีการสืบสวนในทางลึกแล้ว พบว่าสาเหตุสำคัญไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นความโลภของผู้บริหารที่ต้องการขุดน้ำมันขึ้นมาอย่างเร่งด่วน โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากวิศวกรว่า หากเร่งดูดน้ำมัน อาจจะเกิดความเสียหายที่คาดไม่ถึงได้

ดูเหมือนเวลานั้นผู้บริหารบีพี จะเลือกให้น้ำหนักกับฝ่ายตลาดที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย และเห็นราคาน้ำมันขึ้นทุกวัน มากกว่าวิศวกรในแท่นเจาะน้ำมัน เมื่อมีการเปิดเผยคำให้การของหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน

“ผู้บริหารบีพีบินมาที่แท่น แล้วก็สั่งให้เราเร่งเจาะให้เสร็จเร็วที่สุด” เสียงสัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวของไมค์ วิลเลียมส์ หัวหน้าฝ่ายไฟฟ้าบนแท่นขุดเจาะน้ำมันและหนึ่งในผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายที่หนีออกมาได้ทัน

ไมค์ ทำงานบนแท่นได้ราว 7 เดือน พร้อมกับวิศวกรและช่างเทคนิคชายและหญิงอีก 125 ชีวิต แต่สี่อาทิตย์ก่อนจะเกิดเหตุ ได้มีผู้บริหารบีพีบินตรงมาที่แท่นขุดเจาะน้ำมันเพื่อมาประชุมอย่างรีบด่วน

ในคืนวันเกิดเหตุ ไมค์อยู่ในห้องทำงานไม่ไกลจากเครื่องปั่นไฟฟ้าดีเซลตัวเขื่องที่ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับเครื่องขุดเจาะที่จะต้องขุดลึกผ่านชั้นหินต่าง  ๆ ลงไปราว 3 กิโลเมตรใต้พื้นดิน เพื่อถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ผืนดิน เขาได้ยินเสียงก๊าซรั่วดังอยู่ใกล้ ๆ ก่อนที่ก๊าซเหล่านั้นจะเป็นตัวจุดประกายให้เครื่องปั่นไฟดังกล่าวระเบิด มีคนตาย 11 คน และทำให้แท่นขุดเจาะอันทันสมัยที่สุดในโลกพังลงมา

ทีมงานที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะมากว่า 7 ปี ไม่เคยประสบอุบัติเหตุหรือเกิดความผิดพลาดของเครื่องมือ ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำหน้าและปลอดภัยเทียบเท่ากับเทคโนโลยีในยานอวกาศ ไมค์เชื่อว่าเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เกิดจากการตัดสินใจผิดพลาดของผู้บริหาร เค้าลางของเหตุการณ์ที่ทุกคนภาวนาไม่ให้เกิดขึ้นจริง ก็เริ่มให้เห็นมาสักระยะหนึ่งแล้ว

โดยปกติ หัวขุดเจาะน้ำมันคล้ายหัวสว่านจะทะลวงชั้นหินต่าง ๆ ลึกลงไปใต้พื้นสมุทรจนถึงชั้นหินที่เป็นแหล่งเก็บน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ วิศวกรจะบังคับหัวสว่านให้หมุนลงไปอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการแตกของชั้นหินที่เจาะผ่าน และบอกผู้บริหารว่าการขุดเจาะต้องใช้เวลาครั้งละ 6 สัปดาห์ ไม่ใช่ 3 สัปดาห์ที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เพราะพื้นที่หน้างานทำงานยากกว่าที่คิดมาก

“เรามีทางเลือกอยู่สองวิธี วิธีหนึ่ง ขุดให้ปลอดภัยไม่เป็นอันตราย อีกแบบหนึ่งคือขุดให้เร็ว” ไมค์ยอมรับว่า หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ได้รับแรงกดดันมหาศาลจากผู้บริหารบีพีที่บินมาดูงานอย่างสม่ำเสมอให้เร่งการขุดให้เร็วที่สุด เพราะบีพีจะต้องจ่ายเงินวันละ 1 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้จ่ายการขุด และต้องการสูบน้ำมันขึ้นมาขายให้เร็ว แต่บรรดาวิศวกรบนแท่นเชื่อว่าต้องขุดช้า ๆ ให้ปลอดภัยน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แต่ผู้บริหารบีพีไม่ฟัง กลับมีคำสั่งเร่งให้ขุดให้เร็วที่สุด หัวสว่านหมุนเร็วกว่าเดิม พร้อมกับแรงกดที่มีมากกว่าเดิมหลายเท่า เครื่องขุดเจาะทั้งระบบเดินเครื่องเต็มอัตราอย่างรีบร้อน ชั้นหินที่เจาะผ่านก็แตกร้าวและพังครืนอยู่ใต้ดิน ทำให้หัวเจาะไม่สามารถทำงานได้ต้องเสียเวลาเปิดหลุมใหม่ และต่อมาอุปกรณ์สำคัญบางอย่างชำรุดแต่ผู้บริหารบีพีไม่ยอมให้แก้ไข จนเกิดความผิดพลาดหลายครั้ง ในที่สุดแท่นขุดเจาะน้ำมันและแก๊ซธรรมชาติมูลค่ากว่า 350 ล้านดอลลาร์ ทันสมัยที่สุดในโลกก็ระเบิดไปในพริบตา

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนสุดคลาสสิกที่ไม่มีในห้องเรียน เมื่อผู้บริหารขององค์กรฟังข้อมูลจากฝ่ายตลาดและฝ่ายวิศวกรรม สุดท้ายก็ให้น้ำหนักกับฝ่ายตลาดมากกว่า

ผู้บริหารบีพีตัดสินใจผิดครั้งเดียว โดนกินเรียบทั้งกระดาน ทำเอาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความมั่นคงมานานนับร้อยปีแทบจะล้มละลาย

ความโลภไม่เคยปรานีใครจริง ๆ

หมายเหตุ ชมคำให้การของไมค์ วิลเลียมส์ ในรายการโทรทัศน์ 60 minutes” ค้นคำว่า “deep water horizon 60 minutes” ใน youtube.com

จากมติชน  11 กค. 2553

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention ความโลภไม่เคยปรานีใคร เบื้องหลังแท่นเจาะน้ำมันบีพีระเบิด | -- Topsy.com

  2. nae

    ขอบคุณที่มีเรื่องราวน่าสนใจมาให้อ่านครับ สงสารธรรมชาติจริงๆ

  3. Pingback: Small Oasis 2010 « Eco Question – Green Space for Thinking

  4. Pingback: Small Oasis 2010 « Eco Question – Green Space for Thinking

  5. คนคู่

    ต้นเหตุของเรื่องนี้ก็หนีไม่พ้น ความหลงอำนาจ การจัดการ ในฐานะสูงสุด หาได้ฟังคำทักท้วงใดๆ ดูๆไปเหมือนใครกันนะ…V11

  6. ป๋อง โป๊ยเซียน

    อ่านแล้วได้ความรู้เรื่องการขุดเจาะน้ำมัน
    แต่ไม่อยากให้ความเสียหายต่อโลกเป็นตอนจบของเรื่องเลยครับ

  7. โซเรียล

    ที่แท่นระเบิดนี้เกิดจากเครื่องจักรทำงานหนักรึว่าโคลนกะนำ้มันพุ่งขึ้นมากันแน่ครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.