การแข่งขันฟุตบอลโลกในประเทศแอฟริกาใต้ที่เพิ่งจบไปไม่นาน ชวนให้นึกถึงครั้งหนึ่งในชีวิต ผมเคยไปดูฟุตบอลโลกในสนามแข่งขันจริงเมื่อ ๑๖ ปีก่อน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ
ตอนนั้นไปเมืองซานฟรานซิสโกนานนับเดือน และเป็นช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกพอดี เลยตั้งใจว่าชาตินี้ขอดูฟุตบอลโลกในสนามแข่งขันเป็นขวัญตาสักครั้ง ว่าแล้วก็ถามเพื่อน ราคาค่าตั๋วบอลโลกรอบแรกใบละเท่าไหร่ เพราะหากคิดจะดูบอลโลกรอบลึก ๆ แล้วราคาคงแพงกว่ามาก
เพื่อนไปสอบถามมาให้เสร็จว่า ราคาหน้าตั๋วใบละประมาณ ๕๐ ดอลล่าร์ ตอนนั้นอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์ละ ๒๕ บาท คิดเป็นเงินไทยประมาณพันเศษ ๆ ผมบอกกับเพื่อนว่า จัดมาให้เลยหนึ่งใบ
เพื่อนโทรไปสั่งซื้อตั๋วที่ร้านเอเย่นต์ขายตั๋ว บอกว่าเอาคู่ทีมฟุตบอลรอบแรกคู่สหรัฐ-บราซิลที่จะเตะกันที่เมืองซานโจเซ่ไม่ไกลจากซานฟรานฯ ทางคนขายตั๋วบอกว่าราคาถูกสุดคิดเป็นเงินไทยใบละเกือบห้าพันบาท เพราะในสหรัฐอเมริกา บริษัทเอเย่นต์เป็นผู้รับเหมาตั๋วจากผู้จัดการแข่งขันมาขายต่อให้กับคนทั่วไป เป็นการค้าเสรี จะตั้งราคาตั๋วแพงมหาโหดกว่าราคาหน้าตั๋วเท่าไรก็ไม่ว่ากัน เพราะถือว่าเอเย่นต์เป็นผู้รับความเสี่ยงจากการไปกว้านซื้อตั๋วมาแล้ว หากขายไม่หมดก็ต้องรับผิดชอบ
ผมกัดฟันจ่ายเงินสองร้อยดอลล่าร์ซื้อตั๋วฟุตบอลราคาแพงที่สุดในชีวิต สองวันต่อมา ผมนั่งรถไฟไปเมืองซานโจเซ่ห่างออกไปชั่วโมงกว่า เพื่อรอเข้าสนามแข่งขันที่จะเตะกันรอบบ่าย ได้เห็นบรรยากาศกองเชียร์ในชุดสีเหลืองเขียว สาว ๆหลายคนแต่งหน้าทาแก้มและย้อมผมเป็นสีธงชาติออกมาวาดลวดลายเต้นจังหวะแซมบ้ากันกลางถนน
ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น บรรดาเอเย่นต์ที่เอาตั๋วมาขายหน้างาน ต่างพร้อมใจกันฉีกตั๋วทำลายทิ้งหมด ไม่ยอมตัดราคากันเอง หรือขายตั๋วลดราคาให้กับคนดูด้วยความเสียดายตั๋ว เหมือนอย่างที่บ้านเรานิยมทำกัน สอบถามได้ความว่า เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานราคาตั๋ว มิฉะนั้นคนดูก็จะมารอซื้อตั๋วราคาถูกตอนการแข่งขันจะเริ่มต้น
พอการแข่งขันเริ่มต้น ได้เห็นสุดยอดฝีมือของมิดฟิลด์ระดับตำนาน คาร์ลอส ดุงก้า กัปตันทีมนำทัพบราซิลพับสนามบุกฝ่ายตรงข้ามด้วยลีลาการต่อบอลอันเหลือเชื่อ ทำได้แค่เสมอกับเจ้าภาพที่เพิ่งเข้ารอบบอลโลกเป็นหนแรก แต่สุดท้ายดุงก้าก็พาบราซิลชนะอิตาลี ครองแชมป์ฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่สี่ กลายเป็นวีรบุรุษของคนทั้งชาติ
สิบหกปีต่อมาดุงก้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดที่ประเทศแอฟริกาใต้ หมายมั่นว่าจะทำให้บราซิลครองถ้วยเป็นสมัยที่หก แต่ก็นำทีมเข้ามาได้แค่รอบแปดทีมสุดท้าย ก่อนจะพ่ายแก่ฮอลแลนด์ และเมื่อเดินทางกลับบ้าน ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งโค้ชทันที ต่างจากเมื่อสิบหกปีก่อนโดยสิ้นเชิง
ระดับมืออาชีพจะเก่งอย่างไร แต่เมื่อผิดพลาดขึ้นมาก็ต้องรับผิดชอบกับผลงานของตัวเอง นี่คือบทเรียนสำคัญที่เห็นได้จากการแข่งขันฟุตบอลโลกทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา เมื่อโค้ชหลายคนไม่สามารถนำทีมไปสู่ชัยชนะหรือเป้าหมายได้ ก็มักแสดงความรับผิดชอบ อาทินายทาเคชิ โอกาดะ กุนซือทีม “ซามูไรสีน้ำเงิน” ญี่ปุ่น ประกาศอำลาวงการลูกหนังหลังทำทีมตกรอบฟุตบอลโลกรอบ ๑๖ ทีมสุดท้าย ด้วยการพ่ายจุดโทษ ปารากวัย ๓-๕
นายโอกาดะกล่าวว่า
“การเล่นของเราในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ทำให้ผมมีความสุขมาก มันทำให้ชาวญี่ปุ่นและทวีปเอเชียต่างภูมิใจในตัวเรา ส่วนความพ่ายแพ้ในวันนี้ ผมจะขอรับผิดชอบไว้ทั้งหมดเอง ”
นี่คือสปิริตของโค้ชอาชีพ หรือผู้รับผิดชอบการทำทีมแม้ว่าจะมีความมุ่งมั่น หรือเตรียมการมาดีพร้อมแค่ไหน แต่เมื่อไม่สามารถนำพาลูกทีมไปสู่ความสำเร็จได้ และกระทบต่อความรู้สึกของคนหมู่มาก หนทางอย่างเดียวในการรักษาเกียรติยศของตัวเองและครอบครัวก็คือ การลาออก และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาทำหน้าที่สำคัญนี้แทน
ไม่มีข้อแก้ตัวหรือข้ออ้างใด ๆอีกต่อไปที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป
นี่หากเป็นสมัยก่อน โค้ชชาวญี่ปุ่นผู้นี้อาจจะต้องทำ ฮาราคีรี
สปิริตเหล่านี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของฟุตบอลโลก นอกเหนือจากการเห็นลีลาการเตะของนักบอลระดับสุดยอดฝีมือในสนาม ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งมั่นเอาชนะกันอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎ กติกา เดียวกันจากเสียงนกหวีดของผู้ตัดสิน ในฐานะผู้คุมกฎ ที่ทำให้เกมกีฬานี้สามารถหยุดคนดูทั้งโลกได้เกือบเดือน
แต่น่าแปลกใจที่เรามักจะไม่ค่อยเห็นสปิริตแบบนี้ในผู้นำของสังคมไทยแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการกีฬา ไปจนถึงวงการเมือง
วงการกีฬาในบ้านเราที่ไม่ค่อยเจริญก้าวหน้า เพราะมีผู้นำสมาคมกีฬาหลายแห่งที่ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง ยึดอำนาจอย่างยาวนาน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในการทำทีม ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ มาทำหน้าที่แทน ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจและผลประโยชน์ในสมาคมเป็นที่ตั้ง
ยิ่งนักการเมืองซึ่งเป็นตำแหน่งสุดยอดแห่งผลประโยชน์และอำนาจ เรามักแทบจะไม่ได้ยินคำว่า สปิริต หรือการแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออก เมื่อนักการเมืองไทยตัดสินใจผิดพลาด หรือทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบ้านเมือง
เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราเห็นความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้นจากชีวิตของผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย และความเสียหายหลายแสนล้านบาท อันปฏิเสธไม่ได้ว่า นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านพร้อมแนวร่วมและกองเชียร์ที่ตั้งป้อมต่อสู้กันมาตลอด มีส่วนในการทำลายประเทศให้ย่อยยับไปต่อหน้า จากการดำเนินการทางการเมืองที่ล้มเหลว และจากความไร้เดียงสาทางการเมือง
ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะยึดอำนาจรัฐ โดยไม่สนใจกฎ กติกา และมารยาททางการเมืองอีกต่อไป
นักการเมืองฝ่ายหนึ่ง อาจจะพ่ายแพ้กลับไป แต่ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบกับการมีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สิน กับข้อหาก่อการร้าย และเผาบ้านเผาเมือง
นักการเมืองอีกฝ่าย อาจจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ไม่ต้องแสดงสปิริตที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย และฝีมือการบริหารบ้านเมืองที่สร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน
หลังเหตุการณ์สงบลง ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันตลอด แต่ไม่มีผู้นำฝ่ายใดแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเป็นแบบอย่างนักการเมืองที่มีคุณภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่การเมืองไทยน่าเบื่อหน่าย ขาดเสน่ห์โดยสิ้นเชิง
แตกต่างจากสปิริตของนักการเมืองประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีข่าวแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นในทางการเมือง สปิริตเหล่านี้แหละสร้างชาติให้เจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทิ้งห่างประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ทั้ง ๆที่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไทยยังต้องช่วยเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์ให้เกาหลีใต้ ขณะที่พวกเขาสามารถเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อแปดปีก่อนได้ และสามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลโลกได้อย่างต่อเนื่อง
สปิริตของนักการเมืองสร้างชาติและทำลายชาติได้จริง ๆ
จากบท บก.สารคดี ฉบับที่ 305
Comments
Pingback: Tweets that mention บอลโลก และเหตุการณ์เดือนพฤษภา | -- Topsy.com
ภาวะผู้นำตกต่ำเข้าขั้นวิกฤตแล้ว