เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา และมีโอกาสขับรถในประเทศนี้เป็นครั้งแรกด้วยความตื่นเต้น
ปรกติการขับรถในบ้านเรา จะขับรถชิดเลนซ้าย พวงมาลัยรถอยู่ขวามือ แบบประเทศอังกฤษ ขณะที่ในประเทศอเมริกาจะขับรถชิดเลนขวา พวงมาลัยรถอยู่ซ้ายมือ
ตอนไปเช่ารถและขับมาตามท้องถนนในเมืองซีแอตเติ้ลนั้น ผู้เขียนต้องตั้งสมาธิดี ๆว่า ให้ขับรถชิดเลนขวาไว้ ยิ่งขับไปเจอสี่แยก เวลาจะเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวาห้ามสติแตกเด็ดขาด มิฉะนั้นอาจจะมีโอกาสเกิดรถแหกเลนได้
ช่วงที่ดูจะตั้งใจมากเป็นพิเศษ ก็คือตอนขับรถเข้าไปในวงเวียน นอกจากจะขับเลี้ยวไปทางขวาแล้ว ยังต้องดูรถที่สวนทางเข้ามาให้ดีด้วย โดยปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดว่า ให้รถที่อยู่ในวงเวียนไปก่อน พอขับรถมาได้สักพักหนึ่ง ก็พอจะคุ้นชิน โล่งอก โล่งใจ ขับไปได้เรื่อย ๆ และเมื่อขับได้ก็ติดนิสัยแบบคนไทย คือเร่งเครื่องให้รถเร็วขึ้น จนเพื่อนที่อยู่ในอเมริกามาก่อนต้องเตือนดัง ๆว่า นี่กำลังขับรถในประเทศ ที่เอาจริงเอาจังกับกฎจราจรมากที่สุด
เพื่อนบอกว่า การขับรถต้องคอยสังเกตป้ายบอกความเร็วข้างทางให้ดีและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นตำรวจตัวล่ำบึ๊กจะปรากฎตัวขึ้นพร้อมกับรถหวอที่ขับไล่หลังมา ป้ายข้างทางกำหนดความเร็วนั้น หากขับรถในเมืองจะมีป้ายเตือนให้ลดความเร็วลงเหลือประมาณ 25 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 40 กิโลเมตร 1 ไมล์เท่ากับ 1.6 กิโลเมตร) ยิ่งขับเข้าใกล้เขตชุมชนหรือใกล้โรงเรียน อาจจะเหลือ 15 ไมล์ ขณะที่ขับออกนอกเมือง หรือแล่นตามไฮเวย์ อาจจะเพิ่มความเร็วได้ถึง 70 ไมล์ในบางช่วง แต่เฉลี่ยแล้วขับบนทางหลวงจำกัดความเร็วไม่เกิน 50-60 ไมล์ต่อชั่วโมง
สังเกตว่าพอเราขับรถเข้ามาในเมือง รถข้างหน้าจะขับช้าลงโดยอัตโนมัติ ขบวนรถจะแล่นไปอย่างช้า ๆ ไม่มีใครกล้าแซงหรือเร่งเครื่องปาดหน้ารถข้างหน้าแบบในบ้านเรา เพราะกฎหมายลงโทษรุนแรงมาก แค่ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด คุณอาจมีสิทธิ์โดนใบสั่งคิดเป็นเงินไทยเกือบหมื่นบาท โดยเฉพาะในเขตชุมชน โรงเรียน ยิ่งบริเวณที่มีการซ่อมถนนจะโดนโทษมากกว่าปรกติถึงสองเท่า ใครไม่ยอมไปจ่ายเงินค่าปรับหลายครั้ง วันดีคืนดีก็อาจจะถูกตำรวจเอารถยกมายึดรถที่ทำผิดกฎจราจรไปเลย แต่โทษหนักสุดคงเป็นพวกเมาแล้วขับ อันนั้นไม่มีการต่อรองใด ๆ นอกจากโดนปรับแล้วยังต้องติดคุกสถานเดียว
มีข้อพิสูจน์มาหลายกรณีแล้วว่า การจำกัดความเร็วบนท้องถนน การปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัดจะสามารถลดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี ระหว่างทางที่ผู้เขียนขับรถอยู่บนไฮเวย์ ได้สังเกตเห็นรถหลายคันที่ขับเร็วอยู่ชิดฝั่งซ้าย (กลับกันกับบ้านเราที่รถเร็วชิดขวา) ถูกตำรวจเรียกจับ เพราะขับรถเร็วเกินกำหนด เพื่อนบอกว่า ตามถนนมีเรดาร์หรือกล้องวงจรปิดแอบซ่อนอยู่จำนวนมาก เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ตำรวจทราบได้ว่า รถคันใดทำผิดกฎจราจร
บางถนนมีสามเลน ในชั่วโมงเร่งด่วน เลนขวาสุดจะเป็นเลนคาร์พูล คืออนุญาตให้เฉพาะรถโดยสาร หรือรถที่มีผู้โดยสารสองสามคนขึ้นไป เพื่อให้อภิสิทธ์กับรถที่มีผู้โดยสารหลายคนไปก่อน ใครที่ขับรถมาคนเดียวและมั่วนิ่มเข้าไปขับเลนนี้ อาจจะโดนปรับมากกว่าสองร้อยดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อนบอกว่า รถบางคันเอาตุ๊กตาขนาดเท่าคนมาไว้ข้างคนขับ เพื่อตบตากล้องว่ามีคนในรถสองคนเพื่อขับในเลนคาร์พูล แต่ก็หลอกไม่สำเร็จ ถูกจับได้อยู่เนือง ๆ
แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดของการขับรถในอเมริกา เห็นจะเป็นค่านิยมที่ว่า คนเดินถนนคือผู้มีอำนาจมากกว่าคนขับรถ หรือเป็นเจ้าถนนตัวจริงเสียงจริง ทุกครั้งที่เห็นคนจะข้ามถนนไม่ว่าจะเป็นทางม้าลายหรือก้าวลงจากฟุตบาท คนขับรถทุกคนจะต้องหยุดทันที เพื่อให้คนข้ามไปให้เรียบร้อยก่อน รถคันไหนไม่หยุดให้คนข้ามถนน ถือเป็นเรื่องแปลก ขณะที่บ้านเรา รถใครหยุดให้คนข้ามถนน ถือเป็นเรื่องแปลก
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เรากำลังเดินไปที่จอดรถ และเห็นรถของฝรั่งคนหนึ่งกำลังถอยออกมาจากที่จอดรถห่างออกไปสี่ห้าเมตร เราก็หยุดเดินรอให้รถแล่นผ่านไปก่อน เท่านั้นเอง ฝรั่งคนนั้นพอเห็นเรา ก็ออกปากขอโทษเป็นการใหญ่ว่าไม่เห็นเรา มิฉะนั้นจะให้เราเดินไปก่อน การขับรถในประเทศนี้จึงต้องมีสติดูตลอดเวลาว่า มีคนเดินตามท้องถนนไหม หากมีคนเหล่านี้ต้องมีสิทธิ์ได้ใช้ถนนก่อน เพื่อนพูดติดตลกว่า บ้านนี้เมืองนี้ แค่เราคิดจะข้ามถนน แต่ยังไม่ข้าม รถมันก็หยุดให้แล้ว ช่างแตกต่างจากการข้ามถนนในประเทศไทย ที่พอคนจะก้าวลงจากฟุตบาทบนทางม้าลาย คนขับรถจะเร่งเครื่องให้พ้นทางม้าลาย เพื่อไม่ต้องเสียเวลากับการให้คนข้ามถนน
แค่การข้ามถนน คุณภาพชีวิตของสองประเทศนี้ก็ต่างกันลิบลับ
กรุงเทพธุรกิจ 19 สค. 53
- ภาพประกอบจาก StockSnap ใน Pixabay
Comments
Pingback: Tweets that mention บทเรียนการขับรถในอเมริกา | Oneton -- Topsy.com
การขับรถในประเทศไทย ตำรวจจราจรเป็นใหญ่ 😈
ขับรถในอเมริกามา ๑๐ กว่าปี
มีเหตุต้องมาขับรถที่เมืองไทยครั้งแรก
เรื่องคนละเลน ไม่ใช่หมูๆ จะให้สัญญานเปลี่ยนไฟเลี้ยว
ก็จะกลายเป็นไปเปิดที่ปัดน้ำฝนซะทุกที
ที่ดีมากๆ อีกอย่างบนท้องถนนอเมริกา
คือ ถ้าเราเห็นคันไหนทำผิดกฎจราจร
(ฝ่าไฟ ขับไว ไม่ให้สัญญาน ทิ้งขยะ ฯลฯ)
เราก็จดเลขทะเบียน สีรถ ยี่ห้อ วัน เวลา
แล้วโทรไปแจ้งตำรวจได้เลย (อย่างที่เราต้องบอกข้อมูลจริงของเรา ว่าเป็นใคร)
การที่คนใช้ถนน ช่วยควบคุมและเป็นหูเป็นตาให้กันอย่างนี้
ช่วยได้มากทีเดียว คนที่คิดจะทำผิด ก็จะ “ตระหนัก” มากขึ้น
และตำรวจทางหลวงที่อเมริกัน (ที่พบมา) ดีมาก
ให้เกียรติกับงานของตัวเองมาก มีท่าทีที่สุภาพมากๆ ด้วย
ป.ล.เราเคยขับรถที่เมืองไทยครั้งเดียว และขยาดมาจนบัดนี้ค่ะ
เคยไปซิดนีย์ ก็รู้สึกอย่างเดียวกัน เวลาข้ามถนนที่ทางม้าลาย คนที่พาไปบอกว่าข้ามไปเลย เพราะรถต้องจอดให้เราแน่ๆ รถทุกคนเมื่อเห็นทางม้าลายอย่างน้อยต้องชะลอดูก่อนว่ามีคนหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่คนข้ามถนนต้องยืนรอขอความเมตตาจากคนขับรถเหมือนเมืองไทย
ความเห็นของเราก็คือเราไม่ได้ปลูกฝังเรื่องวินัยเลย การขาดวินัยเป็นปัญหามากๆ ในขณะนี้ เราทำงานอยู่ในแวดวงของที่ปรึกษาเรื่องการบริหารจัดการองค์กร ความอ่อนแอในองค์กรอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการขาดวินัยนี่แหละ
เคยเดินข้ามถนนที่โคเปนฮาเกน รถเทรลเลอร์กำลังจะเลี้ยวเข้าซอยที่กำลังจะเดินข้าม เลยหยุดรอให้รถไปก่อน ปรากฎว่า คนขับโบกไม้โบกมือให้รีบข้ามไปก่อน เลยนึกขึ้นมาไดว่า นี่มันไม่ใช่เมืองไทยนี่หว่า ก้มห้วขอบคุณให้แบบคนไทยไม่รู้พี่โชเฟอร์จะเข้าใจรึเปล่า
ตัวเองขับรถมาประมาณสิบปีและคิดว่า ชำนาญพอสมควรในการบังคับรถเทียบกับคนทั่วไป ในรอบสิบปีรถที่ขับมีอุบัติเหตุเฉี่ยวชนบ้างแต่สาเหตุมาจากเราผิดไม่เกินสองครั้งและไม่มีเสียหายร้ายแรง แต่จะบอกว่าถ้าให้ไปลองขับพวงมาลัยซ้ายขับชิดซ้ายคงทำไม่ได้ ในเวลาอันสั้น มันฝืนความเคยชินและความชำนาญอย่างมาก จัดระบบสมองยาก แต่ถ้าเปลี่ยนแค่อย่างเดียวเช่น รถพวงมาลัยซ้ายแต่ขับถนนเมืองไทย หรือ รถพวงมาลัยขวาแต่ขับชิดขวาน่าจะพอทำได้เร็วกว่า และขับได้แบบปลอดภัยพอสมควร