สิบกว่าปีก่อนมีโฆษณาเครื่องถ่ายเอกสารยี่ห้อ “ มิต้า” จนดังติดปากคนทั้งประเทศ ด้วยประโยคที่ว่า “เล็กๆมิต้าไม่ ใหญ่ๆมิต้าทำ”
ผู้มีอำนาจบ้านเราส่วนใหญ่มักจะทำแบบมิต้า คือมีโครงการจะสร้างอะไรต้องให้ยิ่งใหญ่ไว้ก่อน โครงการใหญ่ ๆ มีแรงดึงดูดมหาศาลหลายประการที่ผู้มีอำนาจมักตาลุกวาว ไม่ว่าเรื่องของงบประมาณมหาศาล ชื่อเสียง และการเป็นอนุสาวรีย์ส่วนตัวให้กับตัวเอง
ล่าสุด มติชนออนไลน์ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ได้รายงานว่า
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) มอบนโยบายให้ กทม. จัดสร้างหอคอยชมเมืองให้เป็นแลนด์มาร์ค หรือเป็นสัญลักษณ์สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น
“เบื้องต้น กทม.จะจัดสร้างหอคอย Bangkok Eye ให้มีลักษณะเหมือน London Eye คือมีลักษณะเป็นชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ มีกระเช้าให้ประชาชนเข้าไปนั่งชมทิวทัศน์เมือง โดยรูปแบบการดำเนินการจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หรือหาผู้ร่วมทุน ส่วน กทม.จะจัดหาสถานที่ ซึ่ง กทม.จะสร้างให้สูงที่สุดในโลก ขนาด 176 เมตร ขณะที่ London Eye สูง 150 กว่าเมตรเท่านั้น”
นายพรเทพ กล่าวต่อว่า “สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้าง เบื้องต้น กทม.กำลังประสานพื้นที่ว่างบริเวณถนนเจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นที่ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอความเห็นให้ใช้ที่ภายในศูนย์สิริกิติ์ เนื่องจากมีเนื้อที่หลายร้อยไร่ แต่เจ้าหน้าที่จากลอนดอนมาดูและเห็นว่า กทม.ควรสร้างบริเวณริมแม่น้ำมากกว่า ทำให้ กทม. ได้เล็งพื้นที่บริเวณท่าช้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของราชนาวีสโมสร กองทัพเรือ อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเป็นพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่พื้นที่ดังกล่าวติดปัญหาที่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ ดังนั้น กทม.จะต้องมาพิจารณาจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณดำเนินการคาดว่าจะต้องสูงถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.อาจจะเสนอของบอุดหนุนจากรัฐบาล หรือจัดหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน”
อันที่จริง เบื้องหลังของอภิมหาโครงการนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแลนด์มาร์คหรือสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ แต่อย่างไรเลย เป็นเรื่องของการทำมาหากินของบริษัท เมอร์ลิน เอนเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจด้านสวนสนุกยักษ์ใหญ่อันดับสองของโลกรองจาก ดีสนีย์แลนด์
เมื่อสิบปีมาแล้ว ชิงช้าสวรรค์ยักษ์ London Eye ได้เกิดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ โดย กลุ่มบริษัทพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซต์ที่โด่งดังมาช้านานเป็นเจ้าของ ต่อมาไม่นาน เมอร์ลิน เอนเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป ได้เข้ามากว้านซื้อกิจการของกลุ่มมาดามทุซโซต์ทั้งหมด และได้ครอบครองเป็นเจ้าของ London Eye ด้วย
ตามประสากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ต้องการแผ่ขยายการลงทุนของตัวเองออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะในมหานครที่มีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครก็อยู่ในเป้าหมายนี้ด้วย ในฐานะมหานครที่มีนักท่องเที่ยวติดอันดับโลกมากที่สุดแห่งหนึ่ง นักลงทุนจากบริษัทเมอร์ลินฯจึงได้เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ผ่านสองกิจการใหญ่คือ
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซต์ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ นับเป็นพิพิธภัณฑ์ในเครือแห่งที่สิบของโลก โดยจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งฝีมือช่างปั้นจากสาขาใหญ่ลอนดอน ประกอบด้วย ห้องพระบรมราชวงศ์ไทย ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ปั้นพระรูปหุ่นขี้ผึ้ง สมเด็จพระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากนี้ ยังมีหุ่นขี้ผึ้งบุคคลสำคัญทั้งไทยและต่างประเทศประมาณ 70 หุ่นโดยจะเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 2553
เมื่อโครงการแรกประสบความสำเร็จ อภิมหาโครงการยักษ์อันดับต่อมาคือ การร่วมลงทุนกับทางกทม. เพื่อสร้างชิงช้าสวรรค์ Bangkok Eye แน่นอนว่าต้องสร้างติดกับแม่น้ำและอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวด้วย เวลานักท่องเที่ยวเสียเงินเกือบพันบาทขึ้นไปบนชิงช้าสวรรค์มองลงมาแล้วได้เห็นความงดงามของพระบรมมหาราชวัง วัดอรุณฯ ฯลฯ ซึ่งเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน
คงไม่มีนักลงทุนรายใดลงทุนสร้างชิงช้าสวรรค์ยักษ์มูลค่าหลายพันล้านให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวชมวิว และมองลงมาเห็นแต่ถนนรถติดคับคั่ง หรือตึกแถวเก่า ๆ หรอก
ตรงนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางบริษัทฝรั่ง ต้องหาผู้ร่วมลงทุนในเมืองไทย เพื่อจัดหาสถานที่กลางเกาะรัตนโกสินทร์ตรงที่มีวิวสวยที่สุดและราคาแพงมหาศาล ซึ่งจะเป็นใครไม่ได้นอกจากทางกทม. หรือรัฐบาลไทยที่มีศักยภาพในการหาที่ดินแปลงสวย ๆของหลวงมาสนับสนุนโครงการนี้ได้ โดยอ้างกับสาธารณชนว่าเป็นการสร้างแลนด์มาร์กหรือ สัญลักษณ์ของกรุงเทพ
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเมอร์ลิน คงต้องดีดลูกคิดเคาะตัวเลขออกมาแล้วว่าโครงการนี้น่าจะคุ้มค่าการลงทุนระดับ 30,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ทราบเลยว่า ใครควักกระเป๋าเท่าไหร่ แบ่งผลประโยชน์กันอย่างไร เพราะ London Eye ใช้เงินเพียง 8,200 ล้านบาท และของสิงคโปร์ใช้เงินแค่ 6,000 ล้านบาท
เพราะสุดท้าย ชิงช้าสวรรค์ Bangkok Eye ก็เป็นแค่การทำมาค้าขายของนักธุรกิจข้ามชาติ
ดังนั้นกทม. จึงไม่ควรมาแอบอ้างเรื่องแลนด์มาร์กหรือ สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ เพราะในฐานะคนที่เกิดบนถนนสีลม บ้านอยู่สุขุมวิท มีที่ทำงานอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ก็นึกไม่ออกว่า ชิงช้าสวรรค์ที่มีหน้าตาคล้ายกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์ จีน อังกฤษฯลฯ จะเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่เราควรภูมิใจได้อย่างไร
โครงเหล็กยักษ์อย่างหอไอเฟิล สัญลักษณ์ของกรุงปารีส เป็นสิ่งที่คนฝรั่งเศสสมควรภูมิใจมาก เพราะออกแบบและก่อสร้างด้วยฝีมือนายกุสตาฟ ไอเฟล สถาปนิกและวิศวกรชั้นนำของฝรั่งเศส ขณะที่ Bankok Eye เป็นเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่นำเข้าจากฝรั่งล้วน ๆ ไม่มีฝีมือของคนไทยแต่อย่างใดนอกจากแรงงานราคาถูก
อีกประการหนึ่ง บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า กรุงเทพมหานครเองได้ออกข้อบัญญัติห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 16 เมตร เราจึงยังได้เห็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าวสวยงามไม่มีสิ่งบดบัง และวันดีคืนดี Bangkok Eye ของนักลงทุนต่างชาติสูง 176 เมตรโผล่ขึ้นมาติดกับวัดพระแก้ว จนกลายเป็นทัศนอุจาด และนึกขำ ๆว่า กทม.จะอธิบายกับนักลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงบริเวณนี้ว่าอย่างไร
ล่าสุดพอเป็นข่าวกันครึกโครม มีคนคัดค้านมากมาย ทางกทม.ก็ได้มีการออกมาปฏิเสธโครงการว่า
“ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยกรณีที่ กทม.มีโครงการจะจัดสร้างหอคอยชมเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok Eye) ที่เป็นสัญญลักษณ์ให้กรุงเทพฯ ซึ่งคาดว่างบในการก่อสร้างจะสูงถึง 30,000 ล้านบาท ว่า โครงการนี้จะเป็นการลงทุนของเอกชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ กทม . เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องของต่างชาติอย่างเดียว
ส่วนสถานที่ที่จะให้เอกชนต่างชาติก่อสร้างนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนต้องดำเนินการหาเอง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการสร้างในพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์แน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งกทม. จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนโดยต่างชาติให้เท่านั้น” (จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า 16 ตุลาคม 2553)
อันที่จริงหากเป็นโครงการที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนร้อยเปอร์เซนต์ ไม่ต้องอ้างว่าเป็นสัญลักษณ์ของกทม. ไม่ใช้ที่ตั้งบนเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่แรก คงไม่มีใครสนใจจะออกมาแสดงความคิดเห็นกันหรอก
แต่อ่านคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ระดับ รองผู้ว่ากับผู้ว่ากทม. ห่างกันแค่สามวัน เนื้อหาโครงการระดับหมื่นล้านต่างกันโดยสิ้นเชิง จนไม่รู้ว่าใครพูดเรื่องจริงกันแน่ หรือนี่เป็นวิธีการเดิม ๆของบรรดานักการเมือง คือ โยนก้อนหินถามทาง เพื่อตรวจดูกระแสสังคมก่อน หากเห็นท่าไม่ดี ก็ออกมาปฏิเสธลอยตัวเอาไว้ก่อน
หรือว่าสิ่งนี้ สะท้อนความไม่โปร่งใสของโครงการ Bangkok Eye มาตั้งแต่แรกเริ่มกันแล้ว
มติชน 24 ตค. 53
Comments
Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » Bangkok Eye กับวิธีคิดของนักการเมือง -- Topsy.com
โครงการนี้คงจะเป็นสุสานของพรรคการเมืองใหญ่เช่นกัน เอาน่ามันก็ แลนด์มาร์ค เหมือนกัน เป๊ะ