“แอร์พอร์ตลิงก์ห่วยแตก” มาตรฐานเดียวกันระหว่างทักษิณกับอภิสิทธิ์

การสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริตคือภัยร้ายแรงที่สุดของการทุจริต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน  หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวว่า

“แอร์พอร์ตลิงก์ ห่วยแตก!  โวยไม่มีบันไดเลื่อนที่นั่งแคบ-สถานีเตาอบ

สุพจน์ เต้นสั่งแก้ด่วน หลังเจอผู้โดยสารฟ้องสุดทนบริการ แอร์พอร์ตลิงก์ ห่วยแตก! ต้องกระเตงกระเป๋าลงสถานี เบาะนั่งแสนแคบ  แถมรอนานเป็นชาติกว่าขบวนรถไฟจะมา”

สุพจน์ในที่นี่ คือนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ผู้รับผิดชอบโดยตรง โครงการระบบขนส่ง ทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือ แอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทาง 28 กิโลเมตร

อันที่จริงแอร์พอร์ตลิงก์ ได้เปิดบริการให้กับผู้โดยสารมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว และถูกผู้ใช้บริการร้องเรียนมาโดยตลอด ว่าโครงการรถไฟฟ้าที่ใหม่ถอดด้าม ทำไมห่วยแตกได้เพียงนี้

สาเหตุที่ห่วยแตกได้อย่างรวดเร็วเพียงนี้ ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า ผลของการคอรัปชั่นอย่างมโหฬารต่อโครงการแอร์พอร์ทลิงก์ มูลค่า 26,000 ล้านบาท ที่ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ใน ร.ฟ.ท.ไปเซ็นรับมอบมาได้อย่างไร

ผู้เขียนเคยใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์มาหลายครั้ง มีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับความห่วยแตก ดังนี้คือ

โครงสร้างสถานีรถไฟที่เพิ่งเปิดไม่นาน แต่ดูเก่าได้ทันใจจากความหมองของสีปูน บันไดสูงชัน วัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นกำแพง พื้นผิว ราวบันได ที่กั้นต่าง ๆ  สัมผัสแรกก็บอกได้ว่าน่าจะใช้วัสดุคุณภาพเกรดต่ำถึงต่ำที่สุด  ไม่ทนทาน และไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ราวบันไดกรุตาข่ายเหล็กแบบโบราณย้อนยุค ทางเดินขึ้นลงไม่ได้มีความสะดวกเลย คงออกแบบแบบบ้าน ๆ ตามมีตามเกิด

เพื่อนที่ไปด้วยบอกว่า เวลาจับราวบันไดอันแสนบอบบาง ให้จับค่อย ๆด้วยความเกรงใจ เพราะไม่รู้ว่ามันจะหลุดออกมาเมื่อใด

บันไดเลื่อนมีแต่ทางขึ้น แต่ไม่มีทางลง ลิฟท์ขนผู้โดยสารก็เล็กและแอบไว้ราวกับไม่อยากให้ใครเห็น ทั้ง ๆที่ประกาศว่าเป็นสถานีรับส่งผู้โดยสารจากสนามบินนานาชาติที่ต้องมีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ๆ

ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการแบกกระเป๋าหนักหลายสิบกิโลลงบันไดมาสามชั้น เช่นเดียวกับผู้โดยสารจำนวนมากจากเมืองนอกอย่างทุลักทุเล

บนสถานีร้อนอับ โดยเฉพาะเวลาที่มีผู้โดยสารจำนวนมากยืนรอรถไฟ ที่ยังรักษาเอกลักษณ์การไม่ตรงเวลาของรฟท.ได้ จากที่เคยคุยว่ามีรถไฟออกทุก 15 นาที แต่เอาเข้าจริงต้องรอถึงครึ่งชั่วโมง

แต่ที่น่าตกใจมากก็คือ เมื่อรถไฟมาเทียบชานชาลาแล้วจะพบว่า ระหว่างพื้นชานชาลาและรถไฟที่ปรกติต้องชิดกันมากเพื่อความปลอดภัย แต่ที่นี่กลับห่างกันอย่างผิดสังเกต ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก หากมีผู้โดยสารแน่นมากเวลาออกจากรถ หรือคนชรา อาจเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารถูกผลักจนขาหล่นลงไปตรงช่องว่างได้

มีพรรคพวกเคยเล่าให้ฟังมาหลายปีแล้วว่า โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ มีการเปลี่ยนสเป็กรถไฟอย่างน่าเกลียด จนอาจทำให้ชานชาลากับรถไฟไม่สัมพันธ์กัน แต่ตอนนั้นผู้เขียนยังไม่เห็นของจริง เพิ่งมาประจักษ์สายตาเมื่อเร็ว ๆนี้เอง

และเมื่อผู้เขียนเข้าไปในตัวรถไฟที่หน้าตาล้าสมัย ตกรุ่นที่ผลิต แล้วเหมามาขายต่อบ้านเรา  สัมผัสแรกก็เหมือนเดิมคือ รู้สึกได้ทันทีว่าเป็นตู้รถไฟคุณภาพต่ำ ไม่ว่าที่นั่ง ราวจับอันแสนบอบบางและดำสกปรก มีฝุ่นจับมากเหมือนกับไม่เคยทำความสะอาด  ขนาดของตู้โดยสารอันคับแคบ  ไม่มีช่องเก็บกระเป๋าโดยสารเป็นสัดส่วนแยกจากที่นั่ง เหมือนกับแอร์พอร์ตลิงก์ในประเทศอื่น  จนน่าสงสัยว่า จะรองรับผู้โดยสารที่มากับกระเป๋าขนาดใหญ่ได้อย่างไร

ที่น่าประทับใจคือเสียงปิดประตูดังสนั่นทุกครั้ง ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรฟท.ได้แก้ตัวว่า สาเหตุของการปิดประตูเสียงดัง เพื่อความปลอดภัยของรถไฟที่มีความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แต่รถไฟหัวจรวดในนครเซี่ยงไฮ้ ความเร็ว 400กิโลเมตรต่อชั่วโมงกลับมีเสียงเงียบกริบ  คงมีเพียงรถไฟคุณภาพต่ำที่มีเสียงดังแบบนี้มากกว่า

หลายสถานีเมื่อเดินลงมาด้านล่างในยามวิกาลแล้ว เปลี่ยวแน่นอน ทางเข้าออกไม่สะดวก หากไม่ใช่สถานีพญาไทที่สามารถลากกระเป๋ามาต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสได้แล้ว  ก็ไม่รู้จะไปต่อรถโดยสารอะไร นอกจากรถแท็กซี่ที่มีผู้โดยสารต่างชาติหลายคนถูกเก็บราคาค่าโดยสารมหาโหด

สถานีมักกระสันอันเป็นสถานีใหญ่ที่สุดของแอร์พอร์ตลิงก์  พอเดินลงมาก็ไม่รู้จะไปลิงก์ หรือไปต่อกับอะไรที่ไหน ไม่มีทางเชื่อมระบบขนส่งสาธารณะใด ๆ   นอกจากรถไฟหวานเย็นถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ไปภาคตะวันออก

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัญหาการไม่สะดวกในการเข้าออกสถานีแอร์พอร์ตลิ้งก์ เนื่องจากไม่มีการออกแบบไว้ตั้งแต่แรก ทำให้ไม่มีการตั้งงบสำรองเผื่อไว้ เมื่อก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการ จึงมีปัญหาค่อนข้างมาก

ที่กล่าวมาทั้งหมดคือแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีรถไฟฟ้าล่าสุดประตูสู่ประเทศไทยใช้เงินภาษีของคนไทยถึง  26,000 ล้านบาท  ซึ่งหากใครได้มีโอกาสไปใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ในฮ่องกงหรือที่อื่น ๆ  คงบอกได้คำเดียวว่า  มันแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ไม่ว่าความทันสมัย ความสะดวกสบาย

เบื้องหลังโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เริ่มต้นในกลางปี 2547 สมัยรัฐบาลทักษิณ  มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรมว.คมนาคม  เป็นสุดยอดเมกกะโปรเจกต์สุดอื้อฉาวโครงการหนึ่ง ตั้งแต่การเร่งรัดประกวดราคาโครงการ ทั้งที่แบบก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และกลุ่มผู้รับเหมาที่ประมูลงานได้สำเร็จก็คือ กลุ่มซิโน-ไทย บริษัทของรัฐมนตรีคนกันเองในรัฐบาลทักษิณ  ท่ามกลางคำครหาว่าการประมูลไม่โปร่งใส

ฉาวครั้งแรกยังไม่พอ ทาง ร.ฟ.ท. เจ้าของโครงการยังใจกว้างเป็นแม่น้ำ ยอมจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการกู้เงินประมาณ 1,600 ล้านบาทแทนผู้รับเหมา หรือ กลุ่มซิโน-ไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะสัญญาว่าจ้างก่อสร้างเป็นระบบเทิร์นคีย์ หรือการรับเหมาก่อสร้างโครงการแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งก่อสร้างพร้อมจัดหาแหล่งเงินกู้เอง

ที่น่าเจ็บใจก็คือ ผลสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ได้พบความผิดปกติในเรื่องที่ ร.ฟ.ท.ไปทำสัญญาเสียเปรียบให้ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าธรรมเนียมทางการเงินจำนวน 1.6 พันล้านบาทแทนบริษัท ชิโน-ไทย เอง

ฉาวครั้งต่อมาในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เมื่อทางผู้รับเหมาส่งมอบงานไม่ทัน แทนที่จะถูกปรับวันละ 12 ล้านบาท  ทาง รฟม.ก็ใจดีอุตส่าห์ขยายเวลาการก่อสร้างให้รวม 730 วัน โดยที่บริษัทผู้รับเหมาไม่ต้องเสียค่าปรับแม้แต่บาทเดียว

นายอภิสิทธ์ก็ได้แต่ทำตาปริบ ๆ ไม่กล้าทำอะไร กฎเหล็กของคุณอภิสิทธิ์เป็นเพียงคำพูดอันสวยหรู ถูกเก็บไว้ในลิ้นชักอีกครั้ง  เพราะหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทผู้รับเหมาแห่งนี้ล้วนนามสกุล ชาญวีรกูล  นามสกุลเดียวกับแกนนำของพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีคนสำคัญในรัฐบาลชุดนี้

ไม่น่าเชื่อว่า แอร์พอร์ตลิงก์ห่วยแตกนี้เอาเงินภาษีคนไทยไปถลุงถึง 26,000 ล้านบาท เป็นเหมือนการประจานความเน่าเฟะในการรถไฟแห่งประเทศไทย แดนสนธยาที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะ

ความห่วยแตกจากการคอรัปชั่นระหว่างรัฐบาลสมัยทักษิณกับอภิสิทธิ์ มีอะไรแตกต่างกันมั่ง

การสมรู้ร่วมคิดกับการทุจริตคือภัยร้ายแรงที่สุดของการทุจริต” ไม่ทราบว่าคุณอภิสิทธิ์ยังจำคำพูดตัวเองได้หรือไม่

มติชน  14  พย. 53

Comments

  1. Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » “แอร์พอร์ตลิงก์ห่วยแตก” มาตรฐานเดียวกันระหว่างทักษิณกับอภิสิทธิ

  2. Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » “แอร์พอร์ตลิงก์ห่วยแตก” มาตรฐานเดียวกันระหว่างทักษิณกับอภิสิทธิ

  3. คนคู่

    ขณะที่จุดเริ่มต้นของการทุจริตแบบครบวงจรหรือจะเรียกเท่ๆว่าระบบเทิร์นคีย์ ก็คือ การอุปถัมภ์

  4. กะลาครอบ

    1. มีบางเวลาที่รถไฟล่าช้าก็จริงครับ แต่ก็มันมาทุกๆ 15 นาทีโดยเฉลี่ยนะครับ ต้องเป็นโอกาสที่คุณโชคร้ายจริงๆถึงจะเจอว่า 30 นาทีมาคัน

    2. รถรุ่นนี้ทางอังกฤษเองก็ใช้กับสนามบินฮีทโลว์ เข้าประจำการเมื่อช่วงต้นๆยุค 2000 นี่เอง ใครว่าเก่าต้องไปคิดใหม่แล้ว

    3. เรื่องรถไฟที่นั่งแคบ+ไม่มีที่วางกระเป๋า ก็เพราะมันเป็นรถสาย Cityline ครับ ทำมาเพื่อให้ผู้โดยสารที่เดินทางไป-มา ในช่วงระหว่าง ลาดกระบัง-พญาไท เดินทางกันมาทำงานตามปกติ ร่วมกับคนที่ใช้เดินทางไปสนามบิน
    มันจะมีขบวนรถ Express line อีกสาย ซึ่งที่นั่งเป็นเบาะแยกของแต่ละคน และมีที่วางกระเป๋า อันนี้คนเขียนบทความไม่ทราบหรือกะไร

    4. ระบบปิดประตู มันไม่ได้มีแบบเดียวกันทั่วโลก บางระบบออกแบบมาดัง บางระบบออกแบบมาค่อย ไม่อย่างนั้นทำไมเครื่องยนต์รถ บางยี่ห้อเสียงดัง บางยี่ห้อเสียงเบาหล่ะครับ

    5. เรื่องบันไดเลื่อนมีแต่ขึ้นไม่มีลงนี่จริงครับ และลิฟต์มีน้อยก็จริง อันนี้ต้องแก้ไขกันไป

    6. ระบบขนส่งมวลชนที่มารองรับ จะไปด่าการรถไฟก็ไม่ถูก เพราะการรถไฟไม่ใช่กระทรวงคมนาคม ไม่มีอำนาจไปออกกฎหมายบังคับเปลี่ยนเส้นทางหรือให้สัมปทานการเดินรถโดยสารบนท้องถนนกับใคร ถ้าอยากให้มีระบบขนส่่งมวลชนมารองรับ ก็ไปร้องเขียน ขสมก หรือ กรมขนส่งทางบกให้ออกพระราชกฤษฏีกาสัมปทานการเดินรถโดยสารเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าเอาสิครับท่าน

    7. สถานีราชปรารภ รามคำแหง หัวหมาก และลาดกระบัง ก็มีรถประจำทางวิ่งผ่านทั้งสิ้น ใครบอกว่าไม่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับนี่ ท่านเคยโดยสารรถประจำทางหรือไม่ หรือเคยแต่ขับรถส่วนตัว เลยบอกว่าไม่มี

    สถานีราชปรารภ รถประจำทางสายที่ผ่านใต้สถานีก็เช่น สาย 13, 14, 17, 38, 54, 72, 73, 73ก, 74, 76, 140, 139, 204, 514, 504, 547, 164, 107

    สถานีรามคำแหง รถประจำทางสายที่ผ่านใต้สถานีก็เช่น 93, 60, 113, 58, 71, 109, 99 เป็นต้น

    สถานีหัวหมาก สายที่ผ่านก็เช่น 145, 207, 206, 11

    แม้แต่สถานีลาดกระบัีงก็มีรถสองแถวสายหัวตะเข้-มีนบุรี และลาดกระบัง-เคะหร่มเกล้า ผ่าน แถมตอนนี้มีพวกสองแถวไปกิ่งแก้วเข้าไปจอดกันอีกตั้งเยอะ

    สถานีมักกะสัน แค่ท่านเดินออกมาริมถนนรัชดาภิเษก ที่ห่างออกไป 400 เมตร ก็จะมีรถประจำทางวิ่งผ่านตั้งหลายสาย

    ไอ้ที่ลำบากจริงๆ มีแค่สถานีรถไฟบ้านทับช้างเท่านั้น

    จากคุณ : อุ้ย (digimontamer)

    จะให้ดีคราวหน้าก่อนเขียนอะไรศึกษาข้อมูลให้ถ้วนถี่ก่อนนะครับ อย่าเอาแต่อคติอย่างเดียว มันไม่ดีก็จริงแต่บางข้อคุณคิดเองเออเองมากไปนะ

    ถ้าว่างอีกนิดรบกวนไปอ่านข้อมูลและความเห็นด้านต่างๆได้ที่ http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X9909848/X9909848.html

  5. oneton

    ประเด็นของเรื่องนี้ที่เป็นหัวใจสำคัญคือ หากมูลค่าแอร์พอร์ตลิงก์ราคาไม่กี่พันล้านบาท คงไม่มีใครออกมาโวยวายขนาดนี้ แต่เนื่ื่องจากค่าก่อสร้างแพงเกือบ 30,000 ล้านบาท แล้วได้ของห่วยแตกแค่นี้ มันไม่ยุติธรรมกับภาษีของประชาชนทั้งประเทศครับ
    หากได้รถไฟปิดประตูเสียงดัง หรือเดินลงมาจากแอร์พอร์ตลิงก์แล้วไม่ต้องทำที่เชื่อมรถต่าง ๆ หรือจะมีที่เก็บของหรือไม่มี หรือไม่มีบันไดเลื่อน ในงบประมาณที่สมเหตุผลคงไม่มีใครโวยหรอกครับ
    ประเด็นของเรื่องนี้คือ การทุจริตครับ เมื่อเกิดการทุจริตก็ได้ของไมีมีคุณภาพ คนเสียภาษีอย่างพวกเราก็ต้องออกมาโวยครับ

  6. แค่ทางผ่าน

    ขอบคุณที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน ที่ได้แต่ทนๆกันไป

  7. พิม

    ดิฉันเป็นผู้ใช้แอร์พอร์ตลิงค์หัวหมาก-มักกะสัน
    อยากให้ข้อมูลว่า มันแย่จริงๆอย่างที่คุณวันชัยว่า เนื่องจาก

    1. การเข้าถึงโดยการเดินยากลำบาก
    ถึงแม้จะมีรถเมล์ผ่าน แต่ก็ไม่ได้มีบ่อยและครอบคลุม
    สาย 11 ไม่ได้วิ่งเข้ามาในจุดขึ้น-ลงสถานีแต่ต้องเดินออกไปอีกไกล
    โดยทางที่เดินไปนั้นไม่มีเสาไฟฟ้า มืดมาก
    และที่สำคัญทางเท้าก็ไม่มี เดินลำบากโดยเฉพาะในฤดูฝน
    2. ที่จอดรถไม่เพียงพอ ทำให้มีการจอดในทางเดินรถ ซึ่งมีแค่ 2 เลน
    รถสวนกันไม่ได้ เกิดจราจรติดขัด
    3. ดิฉันอาจไม่เคยเจอเหตุการณ์รถไฟล่าช้าถึง 30 นาที
    แต่ไม่เห็นด้วยที่คุณกะลาครอบมีความคิดเห็นว่าเป็นความโชคร้ายของ
    คุณวันชัย มันเป็นความผิดพลาดของระบบ ซึ่งไม่ควรเป็นอย่างนั้น
    ไม่ใ่ช่หรือคะ หากเป็นคุณบ้าง และคุณเกิดรีบมากในตอนนั้น
    คุณอาจมีทัศนคติกับเรื่องนี้เปลี่ยนไปนะคะ
    4. โครงการระดับชาติเช่นนี้ ควรที่จะมีการบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วย
    งานต่างๆเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวมให้มากที่สุด
    หากยังทำงานแยกส่วน คนยังมองแยกส่วน ความเจริญคงไม่เกิด

    เรื่องประโยชน์ส่วนรวมของสังคมที่ใช้ภาษีจากประชาชนที่ทำงานอย่าง
    สุจริตมาใช้แล้วไม่คุ้มค่า รวมทั้งถูกยักยอก โกงกินมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถ
    ปล่อยเลยตามเลยได้

  8. กระซวก

    มาเกือบถูกทางแล้ว อยู่ที่ว่าทำยังไงจะช่วยกันกดดันให้แก้ไขให้มันดีขึ้น อย่าด่าอย่างเดียว แล้วไม่ทำอะไรมันก็ได้ด่าอย่าอย่างนั้นแหละทั้งชาติ
    จะด่าใครก็ไม่ว่าถ้ามันเลวจริงแต่อย่าด่าแค่ บนสื่อออนไลน์ มันไม่สนใจ แน่จริงนายจอบด่าลงสารคดีไปเลย มีกระตุกกันบ้างแน่นอน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.