ตามหารากเหง้าของตัวเอง

ปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา ผมพาพ่อแม่กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้านเกิดในประเทศจีน โดยสายการบิน China Eastern ใช้เวลา ๓ ชั่วโมงบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่เมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง

ทั้งคู่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วแห่งเมืองซัวเถา บ้านเกิดของแม่อยู่อำเภอโผวเล้ง บ้านเกิดของพ่ออยู่อำเภอเถ่งไฮ่

คำว่า ซัวเถา ในความรู้สึกของคนไทย ชวนให้นึกถึงพวกหลังเขาห่างไกลความเจริญ แต่ปัจจุบันซัวเถากลายเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง มีอาคารทันสมัยผุดขึ้นมากหลายตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

แม่เล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน อาม่าหรือคุณยายอุ้มแม่ที่ยังแบเบาะล่องเรือออกจากเมืองซัวเถามาขึ้นฝั่งที่เมืองไทย

ส่วนพ่ออพยพมาเมืองไทยเมื่ออายุได้ราว ๒๓ ปี ตอนนั้นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลก๊กมินตั๋งของประธานาธิบดีเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์ของประธานเหมาเจ๋อตงกำลังงวดเข้ามาทุกทีแล้ว ความอดอยากแผ่ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า  พ่อซึ่งมีพี่น้องถึง ๑๐ คนเห็นว่าหากอยู่เมืองจีนคงต้องอดตายแน่นอน จึงตัดสินใจหนีอากงหรือปู่ออกทะเลล่องเรือมาขึ้นที่ท่าเรือแถวตลาดน้อยและแอบเข้ามาทำงานในสยาม

เมืองไทยมีชาวจีนแต้จิ๋วมากที่สุดเมื่อเทียบกับชาวจีนกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนไหหลำ จีนแคะ จีนฮกเกี้ยน ฯลฯ เนื่องจากมีหลักฐานว่าชาวจีนแต้จิ๋วข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกรากอยู่แถบดินแดนสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ในขณะที่ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศจีนมีจำนวนเพียง ๑๖ ล้านคนเมื่อเทียบกับประชากรจีนกว่าพันล้านคน

พ่อแม่พบกันย่านเยาวราช ก่อนที่ทั้งคู่จะแต่งงานและมีลูก  แม้จะปักหลักทำมาหากินในกรุงเทพฯ หากในใจพวกท่านก็ยังคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ตลอดเวลา  พ่อไม่เพียงส่งจดหมายไปมาหาสู่ญาติพี่น้องเป็นระยะ ยังส่งเงินไปให้ใช้อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด และเฝ้าฝันว่าสักวันหนึ่งหากมีโอกาสจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้ง

๕๐ ปีผ่านไป ความฝันก็เป็นจริง  เมื่อลูกๆ โตแล้วจึงมีโอกาสพาพ่อแม่กลับไปเยี่ยมบ้านหลายครั้ง

พอลงจากเครื่องบิน เกาเจ็ก (คุณอาคนที่ ๙) น้องชายของพ่อมารอรับที่สนามบิน ทั้งคู่ทักทายถามไถ่ทุกข์สุข และพากันขึ้นรถมุ่งหน้าไปอำเภอเถ่งไฮ่

เถ่งไฮ่มีประชากร ๗ แสนกว่าคน เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งโรงงานผลิตตุ๊กตา บริษัทผลิตของเล่นชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาบาร์บี้หรือตุ๊กตาของวอลต์ดิสนีย์ที่ส่งไปขายทั่วโลก ล้วนผลิตมาจากโรงงานในอำเภอเถ่งไฮ่แทบทั้งสิ้น

เถ่งไฮ่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว คล้ายจังหวัดสมุทรปราการบ้านเรา คือเต็มไปด้วยโรงงาน ถนนหนทางคลุ้งไปด้วยฝุ่นและควันพิษจากรถบรรทุกจำนวนมาก สภาพการจราจรก็ติดขัด รถทุกคันบีบแตรเกือบตลอดเวลาเพื่อขอทาง เป็นสภาพที่พบเห็นได้ในประเทศที่เริ่มมีรถยนต์หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม อียิปต์ ฯลฯ

จำได้ว่าเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน ตามท้องถนนในเมืองจีนเต็มไปด้วยรถจักรยานนับหมื่นคัน พาหนะสำคัญของชาวจีนยุคนั้น ปัจจุบันก็ยังเห็นคนจีนถีบจักรยานแต่ลดน้อยลงมาก มอเตอร์ไซค์และรถยนต์เข้ายึดครองถนนเต็มไปหมดตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น  สวนทางกับหลายประเทศในยุโรป ที่จักรยานกำลังมาแทนรถยนต์

พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อออกจากบ้านไปหางานทำที่ฮ่องกง และหนีขึ้นเรือจะมาเมืองไทย  ระหว่างทางเรือต้องจอดแวะที่เมืองซัวเถาก่อน พ่อจึงส่งข่าวถึงอากง  อากงมาพบพ่อที่ท่าเรือขอร้องให้พ่อกลับบ้าน แต่พ่อตั้งใจแล้วว่าจะไปเผชิญโชค อากงจึงบอกให้ไปลาอาม่าที่บ้านก่อน  พ่อกลัวว่าหากไปลาอาม่าแล้วอาจใจอ่อนจึงไม่ยอมไป และคิดว่าอีกไม่นานจะกลับมาซบหน้าอากงอาม่า  พ่อไม่คิดเลยว่าครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นหน้าอากง

วันรุ่งขึ้น เกาเจ็กพาพ่อตระเวนไปตามซอกซอยที่เคยวิ่งเล่นกันสมัยเด็ก ชี้ให้ดูบ้านเกิดที่ถูกรื้อทิ้งกลายเป็นอาคารสูง  พ่อเหม่อมองซากบ้านแถวนั้นที่ยังพอเห็นความทรงจำในอดีต และดีใจมากที่ได้พบเพื่อนเก่าอายุ ๘๐ กว่าที่ไม่ได้เจอกันมา ๖๐ กว่าปีแล้ว

เกาเจ็กเล่าให้ฟังว่า หลังจากที่พ่อหนีมาเมืองไทยได้ ๒ ปี พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยึดประเทศจีนสำเร็จ  อากงเป็นข้าราชการฝ่ายก๊กมินตั๋งจึงถูกจับ  ตอนนั้นอากงเป็นกำนันตำบลเสี่ยงตงคู ดูแลหมู่บ้านกว่า ๒๐ แห่ง รวมทั้งหมู่บ้านแอ่ตั้งซึ่งเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์  อากงเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ เป็นที่รักของชาวบ้านมาก ทำให้ได้เป็นกำนันถึง ๗ สมัย  ตอนแรกทางพรรคคอมมิวนิสต์จะฆ่าท่านเพื่อล้างระบอบเก่าให้สิ้นซาก แต่ชาวบ้านแถวนั้นขอร้องให้ไว้ชีวิตเนื่องด้วยอากงทำงานรับใช้ประชาชนด้วยดีมาตลอด อากงจึงรอดตาย แต่ก็ถูกทุบตีจนขาเน่าและยังต้องติดคุกอยู่ปีกว่า พอออกจากคุกได้ไม่นานอากงก็ตรอมใจตาย

ส่วนเกาเจ็กก็ใช่ว่าจะพ้นเคราะห์กรรม ถูกเจ้าหน้าที่พรรคฯ จับกุมคุมขัง ทรมาน และถูกส่งไปใช้แรงงานไกลถึงมองโกเลียเป็นเวลาหลายปี  พอพ้นโทษออกมาก็อยู่ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการขี่จักรยานขนผักจากสวนไปขายในตลาด ไป-กลับวันละ ๑๐๐ กว่ากิโล

บ้านพักสมัยนั้นไม่ต่างจากสลัม เป็นห้องเล็กๆ แออัดด้วยพี่น้องหลายคน ต้องเบียดเสียดกันนอน ไม่มีห้องน้ำ ห้องส้วม แต่ละวันต้องเอากระโถนมาเทสิ่งปฏิกูลนอกบ้าน

ช่วงเวลานั้นแม้พ่อจะมีรายได้ไม่มากนัก แต่ทุกเดือนก็ยังเจียดเงินส่งมาให้ญาติพี่น้องในเมืองจีน เกาเจ็กบอกว่าหากไม่ได้เงินจากพ่อ พี่น้องหลายคนคงไม่มีชีวิตรอดจนถึงเดี๋ยวนี้

ผมพอเข้าใจได้ว่า เหตุใดพ่อถึงเกลียดเหมาเจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน  พ่อฝังใจมาตลอดว่าคอมมิวนิสต์พรากชีวิตอากง และทำให้พี่น้องบ้านแตกสาแหรกขาด  ขณะที่ลูกๆ ของพ่อตอนเป็นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเมื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน กลับชื่นชมอุดมการณ์ของเหมาเจ๋อตง

ชีวิตจริงของพ่อ กับอุดมการณ์ของเรา จึงเดินสวนทางกันในช่วงเวลาหนึ่ง

อีกวันหนึ่ง หลานของพ่อแห่กันมาเยี่ยม เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบลูกพี่ลูกน้องวัยไล่เลี่ยกันในต่างแดน เราจับมือและถามไถ่ทุกข์สุขกัน ผมรู้สึกดีใจบอกไม่ถูกเมื่อได้พบเจอญาติที่อยู่ห่างไกลหลายพันกิโลแต่ล้วนมีสายเลือดเดียวกัน

คงคล้ายความรู้สึกของตัวเอกในฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่อง The Joy Luck Club ตัวเอกเป็นลูกจีนในซานฟรานซิสโกเดินทางกลับไปตามหารากเหง้าของตัวเองที่เมืองจีน และต้องดีใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่เมื่อเห็นพี่น้องของตนยังมีชีวิตอยู่บนอีกฟากหนึ่งของโลก

วันต่อมาเราไปไหว้อากงอาม่าที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ตั้งโต๊ะวางอาหารเซ่นไหว้ จัดเก้าอี้ ๒ ตัวเพื่อให้ดวงวิญญาณอากงอาม่ามารับอาหารที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้

ลึกๆ พ่อเสียใจมาโดยตลอดตั้งแต่หนีอากงจากบ้านไปไกล พอกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้งก็ไม่ทันได้เห็นหน้าอากงอาม่าเป็นครั้งสุดท้าย

หากมีโอกาสได้รับใช้ดูแลพ่อแม่ ก็จงรีบทำอย่างดีในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง

ห่างจากศาลเจ้าออกไปนอกเมือง มีสุสานเล็กๆ แห่งหนึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (พ.ศ. ๒๒๗๘-๒๓๓๙) มีป้ายหินจารึกข้อความว่า “สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังฉลองพระองค์ของแต้อ๊วงที่นำมาจากเมืองไทย ห้ามผู้ใดทำลายเด็ดขาด”

คนเถ่งไฮ่เชื่อว่าหลังพระเจ้าตากสวรรคตได้ไม่นาน บรรดาญาติพี่น้องของพระองค์ได้แอบนำฉลองพระองค์กลับมายังบ้านเกิดและฝังไว้ที่สุสานแห่งนี้

แต้อ๊วง แปลว่าพระเจ้าแผ่นดินตระกูลแต้  พ่อบอกว่าคนเถ่งไฮ่รู้จักเรื่องราวของแต้อ๊วงหรือพระเจ้าตากเป็นอย่างดี ด้วยเป็นลูกหลานคนเถ่งไฮ่ที่มีวาสนาเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน  ตอนเด็กๆ พ่อเคยไปเที่ยวบ้านเก่าหลังหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นบ้านของแต้อ๊วง  พ่อได้ยินว่าเมื่อแต้อ๊วงเกิดในเมืองไทยได้ไม่นาน บิดาของท่านซึ่งเป็นคนเถ่งไฮ่ได้พากลับมาเรียนภาษาที่นี่ จนอายุได้ ๑๐ ขวบจึงส่งมาอยู่เมืองไทย และเติบใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

หลายวันในเมืองซัวเถา ผมเดินทางตามหาอดีตที่ขาดหายไป ค่อยๆ ปะติดปะต่อกัน  แวบหนึ่งตระหนักได้ว่า

เราทุกคนบนผืนโลกล้วนเป็นพี่น้องกัน ต่างถือกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกันทั้งนั้น

จาก สารคดี ฉบับที่ 309 พย. 53

Comments

  1. Junejung

    เขียนดีมากค่ะ เป็นลูกหลานคนโผวเล้งเหมือนกันค่ะ ขอบคุณที่แชร์เรื่องราวนะคะ

  2. เนตร์ชนก

    ปู่ มาจากจีน แต่เสียไปตอนเรา3 ขวบ มีแต่รูป ไม่รู้ประวัติ ไม่รู้จะไปคามหาญาติที่โน่นอย่างไรถามพ่อก็ไม่รู้เรื่อง รู้แต่แซ่ ลิ้ม

  3. ทิศารัตน์ วัฒนกิจสมบูรณ์

    อ่านแล้วคิดถึงเตี่ยที่จากไปแล้ว เตี่ยหนีมาเมืองไทยตอน 9 ขวบ มากับเรือสำเภา มาเป้นลูกจ้างร้านขายข้าว ได้วิชามาหลายอย่าง ได้เร่ิมทำมาหากินเป็นของตนเอง ด้วยกาหาบก๋วยเตี๋ยวไปขายทั้งในวัง และ ในโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มาร้านขายข้าวต้มในตลาด เตี่ยเป็นคนขยัน ทำมาหากินทั้งตอนเช้า – เย็น แม่เป็นคนเตรียมของให้เตี่ยกับพี่ชายไปขาย และเก็บเงินทองจนได้ซื้ออาคารพาณิชย์เป็นของตนเอง เตี่ยเคยกลับไปเยี่ยมบ้านเพียงครั้งเดียว ด้วยการที่พี่ชายลูกอาแปะที่เตีี่ยพามาจากเมืองจีนมาทำมาค้าขายเหมือนกัน พากลับไปเยี่ยมบ้าน
    ได้อ่านบทความที่เขียนในนี้ ทำให้คิดถึงเตี่ยและแม่มาก อยากไปเยี่ยมบ้านเกิดท่านเองสักครั้ง ต้องไปถามพี่ชายก่อนว่าบ้านของเตี่ย อยู่ตรงไหน ไปอย่างไร
    เท่าที่ทราบจากพี่ชาย ที่ดินส่วนของเตี่ยว น้องชายคือลูกอาแปะได้ครอบครองไปแล้ว
    อ่านแล้วน้ำตาไหลเลย
    ขอบคุณผู้เขียนบทความบรรยายนี้นะคะ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.