หากใครมีโอกาสเข้าไปคลิกในเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพบว่าวิสัยทัศน์ของกระทรวงแห่งนี้คือ
“เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีอาหารบริโภคที่ปลอดภัย และต้องสร้างรายได้ให้กับแผ่นดิน”
แต่หลายวันที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า ทางกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียูสั่งระงับพืชผักส่งออกจากเมืองไทย คือ กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง มะระ มะเขือเปราะ พริกหยวก ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553
สาเหตุที่ทางอียูไม่ยอมซื้อผักจากเมืองไทย เนื่องจากปัญหาการตรวจพบสารตกค้าง ศัตรูพืชปนเปื้อน และยังมีปัญหาด้านฟู้ดเซฟตี้ คือมียาฆ่าแมลงและเชื้อจุลินทรีย์ตกค้าง
ก่อนหน้านี้ทางอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้บินไปเจรจากับนายอีริค พูเดเลต ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อขอให้ทบทวนมาตรการนี้ แต่ก็ล้มเหลว
นอกจากนั้นพืชผักจากเมืองไทยที่ส่งเข้ามาในกลุ่มประเทศอียูจะได้รับการตรวจสอบแบบเข้มข้นกว่าจะหลุดเข้าไปจำหน่ายได้ เนื่องจากตรวจพบสารตกค้างสินค้าบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ ถั่วฝักยาว มะเขือม่วง และผักตระกูลกะหล่ำ ต้องผ่านการสุ่มตรวจสารตกค้าง ณ ด่านนำเข้าถึงร้อยละ 50 ของปริมาณการนำเข้าแต่ละล็อต
คือหากส่งกะหล่ำไป 100 กิโลกรัม ก็ต้องถูกตรวจถึง 50 กิโลกรัม อันแสดงถึงความไม่น่าเชื่อถือพืชผักจากเมืองไทยอย่างชัดเจน
เรื่องนี้ได้ทำให้บรรดารัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ฯ เกิดอาการวัวหายล้อมคอกทันที มีการให้ข่าวว่า จากนี้เป็นต้นไป จะทำการตรวจสอบบรรดาผู้ส่งออกสินค้าทางการเกษตรอย่างจริงจัง หากบริษัทใดไม่มีคุณภาพ สอดใส่สินค้ามีตำหนิ ก็จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ มีโทษทั้งปรับทั้งจำ มาบังคับใช้อย่างเด็ดขาด
ขอประทานโทษครับ แล้วที่ผ่านมา ฯพณฯ ไปอยู่ที่ไหนกันมา ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ต้องรอให้ฝรั่งออกมาตรการเด็ดขาด จึงจะเพิ่งตาสว่างกัน
อันที่จริงคนไทยต้องขอบคุณฝรั่งอียู ที่สอนให้พวกเรารู้ว่า รัฐบาลและข้าราชการของประเทศเหล่านั้นสนใจคุณภาพชีวิตของคนในประเทศมากเพียงใด จึงมีการตรวจสอบพืชผักที่คนบ้านเขาจะกินว่ามีอันตรายหรือไม่
ข่าวนี้ได้ทำให้เราตาสว่างขึ้นว่า ขนาดผู้ส่งออกพืชผัก รู้ทั้งรู้ว่าการส่งสินค้าไปประเทศทางอียู ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น คัดเลือกสินค้าแล้ว ก็ยังมีปัญหาถึงเพียงนี้
ขณะที่พืชผักที่จำหน่ายในตลาดสดบ้านเรา ไม่เคยมีหน่วยงานใดออกมาควบคุมตรวจสอบอย่างจริงจัง ว่าพืชผักเหล่านี้ที่นำมาขาย มีการปนเปื้อนสารเคมีตกค้าง ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืชมากเกินขีดอันตรายหรือไม่ นอกจากว่า นาน ๆจะมีเจ้าหน้าที่กรมอนามัย หรือทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาสุ่มตรวจ แต่ก็ไม่เคยมีการสั่งห้าม หรือบทลงโทษอย่างจริงจัง
มั่นใจได้เลยว่า พืชผักในท้องตลาดส่วนใหญ่อุดมไปด้วยสารเคมีเกินขนาดกันทั้งนั้น ผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ จึงสูงขึ้น และที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยออกมาตรการเด็ดขาดในการปกป้องผู้บริโภคให้ห่างจากสารเคมีแบบรัฐบาลของกลุ่มประเทศอียูเลย
อ่านถึงตรงนี้แล้วลองกลับไปอ่าน ข้อความแรกที่เขียนถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพบว่า นอกจากประชาชนไม่สามารถบริโภคอาหารปลอดภัยได้แล้ว เกษตรกรล้วนแต่มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าผู้บริโภคเสียอีก
หลายปีมาแล้ว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผลการตรวจเลือดของเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเกิดพิษอันเนื่องมาจาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 21 ของเกษตรกรทั้งหมด และผลการตรวจเกษตรกรเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีเกษตรกรและแม่บ้านที่มีสารเคมีตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงจำนวนรวมกันมากถึงร้อยละ 75
พิษภัยจากสารเคมีการเกษตรนี้เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาที่เป็นผลระยะยาว เช่น ปัญหาโรคมะเร็ง โรคเบาหวานและ โรคต่อมไร้ท่อ
บ้านเราใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรสูงมากอันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆปีละเกือบ 140 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 17,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน
นอกจากนั้นแล้ว รัฐบาลไทยยังใจกว้างเป็นแม่น้ำ อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากที่สุดในโลกถึง 25,000 ชื่อ ในขณะที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนพันกว่าชื่อเท่านั้น
การขึ้นทะเบียนสารเคมีมากมาย ถือว่าเป็นเทคนิคของบรรดาบริษัทผู้ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อจะนำสารเคมีต่าง ๆเป็นวัตถุดิบ มาปรุงเป็นหลายสูตร หลายยี่ห้อ ผสมกับวัตถุดิบในประเทศ สร้างรายได้ให้กับบริษัทเพิ่มขึ้น จนทำให้ยอดขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงถึงปีละ เกือบ 5 หมื่นล้านบาท โดยมีเกษตรกรทั่วประเทศเป็นลูกค้ารายสำคัญ
สารเคมีบางตัว อาทิ คาร์โบฟูแรน ซึ่งเป็นสารเคมีหลักของบ้านเรา ปรากฏว่า ทางประเทศผู้ผลิตคือสหรัฐอเมริกาได้สั่งเลิกใช้แล้ว และทางกลุ่มประเทศอียู ได้ห้ามใช้และนำเข้าอย่างเด็ดขาด ห้ามมีสารนี้ตกค้างในสินค้าเกษตรที่นำเข้า แต่สารเคมีชนิดนี้สามารถนำมาขายในประเทศไทยได้อย่างเสรี จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พืชผักจากเมืองไทยถูกสั่งแบนในกลุ่มประเทศอียู
บริษัทผู้ขายสารเคมีเหล่านี้ มักจะอาศัยช่องโหว่ที่ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่ชัดเจน มาส่งเสริมการเพิ่มยอดขายด้วยการใช้กลยุทธ์การตลาด อาทิ การจับรางวัลชิงโชค การจัดเลี้ยงโต๊ะจีน การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์ การจัดแปลงสาธิตในพื้นที่เพาะปลูก การจัดอบรมเกษตรกร การทำยอดสะสมการใช้สารเคมีเพื่อแลกของรางวัลต่างๆ การโฆษณาผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งวิทยุ นิตยสารทางการเกษตร แผ่นพับ ใบปลิว
ในขณะที่สินค้าที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น บุหรี่ และสุรา ล้วนแล้วแต่มีมาตรการเกี่ยวกับฉลาก และการควบคุมการโฆษณาอย่างเข้มงวด แต่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการใดๆสำหรับดำเนินการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
หลายครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปดูแปลงปลูกพืชผัก ไม่ว่าจะเป็นภาคกลาง ภาคเหนือ ได้ความรู้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกมักจะไม่กินผักที่ตัวเองปลูกส่งขายตามท้องตลาด ด้วยเหตุผลเดียวกันทั่วประเทศคือ ใส่ยาฆ่าแมลงกันมั่ก ๆ ส่วนผักที่เกษตรกรกินเองก็ปลูกกันเล็ก ๆ ใช้สารเคมีเพียงเล็กน้อย
รัฐบาลที่ผ่านมา ฝันหวานเสมอว่า ไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางเกษตรเป็นสำคัญ เป็นครัวของโลกมั่ง เป็นอาหารเลี้ยงโลกมั่ง แต่ไม่เคยเตรียมการใด ๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายเลย พืชผักที่ปลูกกันทั้งประเทศ นอกจากจะมีปัญหาการส่งออกแล้ว ยังเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยโดยถ้วนหน้า
และสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์สูงสุดก็เห็นจะไม่พ้น บรรดาบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตสารเคมี
จากมติชน 16 มค. 54
Comments
Pingback: Tweets that mention วันชัย ตัน » Blog Archive » เมื่อฝรั่งห้ามนำเข้ากะเพรา มะเขือเปราะ พริกหยวก ตบหน้ารัฐบาลไทย --
ไม่ว่ารัฐบาลสมัยไหยก็พึ่งไม่ได้เลยครับ เศร้า…
สารเคมีในอาหารเป็นสิ่งที่อยากจะหลีกเลี่ยงที่สุด
แต่ข้อมูลบนฉลากสินค้าในเมืองไทยก็อาจจะเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมดว่าเป็นข้อความจริง
ชีวิตแขวนอยู่บนความแข็งแรงของใครของมันจริงๆ
มีข้อมูลอ้างอิงมั๊ยคะ อยากเข้าไปค้นต่อ