ภารกิจของบรรณาธิการ

เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งเคยถามว่า อะไรคือการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในชีวิตที่ผมอาลัยอาวรณ์มากที่สุด

ผมนั่งนึกอยู่นาน ก่อนจะตอบไปว่า ตอนใกล้จะหมดสภาพการเป็นนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ชั้นมศ. ๕ (หรือม.๖ ในปัจจุบัน)

ผมเข้าเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ อายุ ๖ ขวบ  และไม่เคยย้ายโรงเรียนอีกเลย จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ระยะเวลา ๑๒ ปีในโรงเรียนชายแห่งนี้ ผมซึมซับกับบรรยากาศแอบกินขนมในห้องเรียน การใช้ปากกาคอแร้งจุ่มลงขวดน้ำหมึกเขียนบนกระดาษตอนชั้นประถม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นปากกาหมึกซึมตอนชั้นมัธยม   นึกถึงครูประจำชั้นที่ถูกพวกเราตั้งฉายาต่าง ๆ  เสียงไม้เรียวแหวกอากาศก่อนจะฟาดลงบนก้นเวลาถูกทำโทษ จนเราเรียนรู้ในการเด้งก้นขึ้นมาเพื่อลดการปะทะกับไม้เรียว   การตามพรรคพวกไปแอบสูบบุหรี่ในห้องส้วมเวลาพักสิบนาที หรือหัวใจพองโตทุกครั้งในวิชาที่มีครูผู้หญิงเพิ่งจบใหม่นุ่งกระโปรงสั้นมาสอน

พอเดือนสุดท้ายของชีวิตนักเรียน ผมและเพื่อนหลายคนพากันไปนั่งเล่นตามมุมโปรด เดินหลับตาไปตามซอกตึกต่าง ๆอย่างช่ำชอง  แอบไปตีระฆังบอกเวลาที่ได้ยินเกือบทุกวัน  ไปปีนรั้วหนีโรงเรียนเที่ยวดูหนังโป๊กัน และพอสอบไล่เทอมสุดท้ายเสร็จ ก็พากันนั่งน้ำตาซึมหลังจากพากันตะเบ็งเสียงร้องเพลงประจำโรงเรียน ไม่คิดไม่ฝันว่าจะเป็นวันสุดท้ายในห้องเรียน บรรยากาศที่เคยชินมาตลอดสิบกว่าปี

จำได้ว่า อารมณ์ตอนนั้นแม้ตัวเองจะห้าวหาญ เป็นหัวโจกในรุ่น  ถูกผู้บริหารของโรงเรียนตราหน้าว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ลึก ๆ ก็ไม่กล้าก้าวออกจากโรงเรียนที่รัก ไม่กล้าเดินออกจากบ้านหลังที่สอง ความเคยชินเก่า ๆอันอบอุ่นและปลอดภัย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย

ความรู้สึกนั้นได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเกือบสามสิบปี กับวันที่จะต้องออกจากบ้านหลังที่สองอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อจบการศึกษาใหม่ ๆ ผมเริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นฝ่ายศิลป์ของวารสารเมืองโบราณ มีหน้าที่ทำอาร์ตเวิร์ค ตรวจเพลตในโรงพิมพ์  ก่อนจะมาร่วมกับพวกพี่ ๆ ก่อตั้งนิตยสารฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาความรู้หลากหลาย มีความงามทั้งภาพถ่าย เนื้อหา และการจัดวางรูปเล่ม  จำได้ว่าตอนช่วยกันเลือกชื่อหัวหนังสือนั้น  ผมคิดชื่อ IMAGE  เข้าประกวด ตอนนั้นไม่มีชื่อนิตยสารเล่มนี้ในท้องตลาด แต่สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ลงมติให้เป็นชื่อ สารคดี

ผมรับหน้าที่นักเขียน ตั้งแต่สกู๊ปปกสารคดีฉบับแรก เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ เรื่องพลุไทยกับพลุญี่ปุ่น เขียนทุกเรื่องที่ได้รับมอบหมาย หัดถ่ายรูปเองด้วยความจำเป็น ก่อนเลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ และห้าปีผ่านไป จึงได้ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารตั้งแต่ฉบับที่ ๖๒ เดือนเมษายน ๒๕๓๓

เวลานั้นที่อายุยังไม่ถึงสามสิบ ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ตำแหน่งบรรณาธิการต้องมีภารกิจอะไรบ้าง รู้อย่างเดียวว่า ต้องทำให้หนังสือไม่ตกเดือน ทำอย่างไรให้นิตยสารอันอัดแน่นด้วยสาระจะสามารถอยู่รอดได้ทางธุรกิจ มีคนอ่านมาก ๆและ มีโฆษณาเข้าเยอะ ๆ

แน่นอนว่าอาชีพบรรณาธิการ ไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดในเมืองไทยเปิดสอน  ไม่มีสูตรสำเร็จ  ผมเริ่มจากการศึกษาดูแม็กกาซีนทั้งในและต่างประเทศชื่อดังมากขึ้น ดูวิธีเลือกเรื่อง ดูวิธีเลย์เอ้าท์  วิเคราะห์ว่าทำไมเอารูปนี้ขึ้นปก ทำไมเอาเรื่องนี้เป็นสกู๊ปใหญ่ เอาเรื่องนี้เป็นสกู๊ปรอง ดูวิธีโปรยชื่อเรื่องบนหน้าปก  ดูกลวิธีการเล่าเรื่อง  กลวิธีการนำเสนอ ไปจนถึงสไตล์การถ่ายภาพของช่างภาพสารคดีชื่อดังหลายท่าน

ผมสังเกตว่า นิตยสารหลายเล่มที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีตัวตนของบก.หรือคนทำหนังสือมากเกินไปจนบดบังเนื้อหาที่ต้องการเสนอ

ผมสังเกตว่า นิตยสารหลายเล่มที่ประสบความสำเร็จ มักจะพยายามรักษาความสมดุลระหว่างเรื่องราวที่เป็นความสนใจของคนอ่าน กับเรื่องราวที่เป็นความสนใจของคนทำหนังสือได้อย่างพอเหมาะพอควร

ภาษาฝ่ายซ้ายเขาเรียกว่า อย่าล้ำหน้ามวลชน และอย่าล้าหลังมวลชน

อีกด้านหนึ่งก็พยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับบรรดาบริษัทโฆษณา ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาจุดยืนของนิตยสารฉบับนี้ ที่จะไม่ให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาชี้นำเนื้อหามากเกินไป

ในช่วงที่สังคมไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก  หรือเศรษฐกิจตกต่ำหลายครั้ง  เราทุกคนต้องช่วยกันประคองเรือสารคดีลำนี้ให้ฝ่ามรสุมคลื่นลมแรง  และภูมิใจมาถึงทุกวันนี้ว่า ในช่วงวิกฤติเรือลำนี้ ไม่เคยไล่ลูกเรือออกสักคนเดียว

ผมเฝ้ามอง นักเขียนหลายรุ่นในกองบรรณาธิการ หลายคนจบใหม่ก็มาสมัครงานที่นี่เป็นแห่งแรก ฝึก ทำงานจนเชี่ยวชาญ และก็ลาจากไปเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครูอาจารย์ชื่อดังหลายสิบคน จนที่นี่ได้กลายเป็นโรงเรียนนอกตำราปั้นนักเขียนชื่อดังไปแล้ว

ขณะเดียวกันก็เห็นตัวเองเที่ยวตะลอนไปทุกจังหวัด จากเมืองขึ้นป่าเขา  หรือนัดสัมภาษณ์ผู้คนหลากอาชีพหลายชีวิต  เพื่อหาวัตถุดิบนำมาปรุงอาหารให้กับลูกค้า

ในฐานะบรรณาธิการ อาจเปรียบได้กับพ่อครัว ที่คอยปรุงอาหารรสอร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการเสริฟให้กับผู้อ่านมาโดยตลอด  บางมื้อรสชาติอาจจะกลมกล่อม กำลังพอดี บางมื้ออาจจะเลี่ยนเกินไป หวานมัน หรือเผ็ดร้อนเกินไป แต่โดยรวมแล้วก็ถือว่า อาหารส่วนใหญ่น่าจะสอบผ่าน

ลูกค้าส่วนหนึ่งอาจจะเบื่อร้าน สารคดี แวะเวียนไปทานอาหารร้านอื่น แต่สุดท้ายหลายคนก็ตัดไม่ขาด หวนกลับมาทานอาหารร้านนี้ที่มีอยู่ไม่กี่ร้านในเมืองไทย  เช่นเดียวกับมีลูกค้าใหม่ ๆ เดินเข้ามาร้าน สารคดี อย่างไม่ขาดสาย

สารคดีอาจจะไม่ใช่ร้านอาหารใหญ่โต เป็นร้านขนาดกลาง ลูกค้าเข้ามาจะรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง และมั่นใจได้ว่า พ่อครัวร้านนี้ปรุงอาหารอร่อยและมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน  แม้พนักงานในร้านจะค่อนข้างขี้อาย

ผมพยายามบอกเพื่อนร่วมงานเสมอว่า  หัวใจสำคัญของนิตยสารเล่มนี้คือ อ่านแล้วต้องรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีความหวัง ยังสดใส ยังหัวเราะและสนุกกับมันได้เสมอ

เดือนมกราคม ๒๕๕๔ สารคดีฉบับที่ ๓๑๑ ผมทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสารเล่มนี้มา ๒๕๐ เล่มและเป็นพ่อครัวร้านอาหารสารคดี มาได้ ๒๐ ปี ๑๐ เดือนพอดี

ตอนนี้ถึงเวลาส่งมอบตำแหน่งให้กับพ่อครัวคนใหม่ ผู้เป็นคนเก่าแก่ของร้าน แต่ก็อดใจหายไม่ได้ ที่ต้องเก็บข้าวของเดินออกจากบ้านที่เคยชินอยู่มานานกว่าเก้าพันวัน  แสนอบอุ่นจากผู้คนรอบข้าง มั่นคงปลอดภัย เพื่อเดินทางไปสานต่อภารกิจสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า

ผมจำได้ว่า ในบทบรรณาธิการฉบับแรกของผม ตอนหนึ่งมีใจความว่า

“มีเรื่องราวมากมายในโลกนี้และในสังคมไทย ที่สารคดีพยายามค้นหามากำนัลแด่ท่านผู้อ่าน

โลกไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงเสมอ ด้านหนึ่งของโลกอาจดูโหดร้าย แต่อีกด้านหนึ่งของโลกยังงดงามอยู่

มาช่วยกันสร้างด้านที่โหดร้ายให้สวยงาม  มาช่วยกันสร้างโลกนี้ให้น่าอยู่และมีความหวังมากขึ้น

นี่คือภารกิจของ “สารคดี

ภารกิจที่มั่นใจได้ว่า กำลังได้รับการสานต่อจากบรรณาธิการคนใหม่

จากสารคดีฉบับที่ 311

Comments

  1. วิสุทธิ์ สายเสรีภาพ

    ยินดีด้วยกับผลงานนะ อยากอาสาพูดว่า ที่ทำมายืนหหยัดได้ก็หลายประเด็นนะ แต่ที่ผมเห็นมาตลอด คือความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ที่ไม่หวั่นไหวกับอานุภาพฝุ่นลมที่ปนเปื้อนรอบตัว ทั้งลมดีและลมมารร้าย และสองความกตัญญุต่อผู้อ่าน ทั้งนี้ความมีจิตกตัญญุของ บก.เองก็เป็นส่วนกำหนดแนวทางหนังสือ ที่ตั้งมั่นในการทดแทนคุณผู้อ่านผู้สนับสนุนทั้งหลาย ไม่ยัดเยียดอัตตาส่วนตนให้ผู้อื่น ไม่สร้างข้อมูลเท็จทำลายคน
    อันนี้แหละ”คุณธรรมสารคดี”
    ไม่ต้องป่าวประกาศ ไม่ต้องกู่ร้อง ความดีทนได้ คุณธรรมทนได้ ทำอะไรเราย่อมรู้ และฟ้ามีตา ฟ้าเที่ยงธรรมเสมอ ขอใหเป็นแบบอย่างเล็กแต่ยิ่งใหญ่ในสัจจธรรมไปเท่าที่กำลังสติปัญญานะครับ

  2. Pingback: Tweets that mention ภารกิจของบรรณาธิการ | -- Topsy.com

  3. คุณนายน้ำตาล

    ซึ้งขนาดว่าไม่เคยเขียนอะไรในนี้ ก็ต้องขอเขียนสักหน่อย จะบอกว่า แม้ไม่เคยรู้จักพี่จอบเป็นการส่วนตัว แต่ระยะหลังสองปีมานี้ตามงานพี่จอบที่มีออนไลน์แทบทุกหัวเรื่องที่พี่จอบเขียน ศรัทธาในสิ่งที่พี่จอบทำค่ะ และขอเป็นกำลังใจให้ทำงานอย่างสนุกและมีความสุขกับบ้านหลังใหม่นะคะ เห็นเมืองไทยมีหนังสือดีๆอย่างสารคดี(คุ้นเคยกับสารคดีตั้งแต่ยังขลุกอยู่ในห้องสมุดชั้นประถมในโรงเรียนไกลปืนเที่ยงแน่ะค่ะ) ก็หวังสุดใจว่าบ้านเราจะมีรายการทีวีมีสาระให้เลือกชมมากกว่าที่เป็นอยู่บ้าง

  4. ป๋อง โป๊ยเซียน

    ค้างคาวเขาช่องพราน ฉบับที่ ๖๒ เดือนเมษายน ๒๕๓๓

    “…สารคดี….สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตั้งแต่สัตว์ป่า ต้นไม้ ป่าเขา ทรัพยากรในทะเล ไปจนถึงการเสนอปัญหาทางด้านนิเวศน์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย……”

    อำลาพ่อครัวคนเก่าและยินดีต้อนรับ “คนเก่าแก่ของร้าน ผู้เป็นบรรณาธิการคนใหม่” ด้วยครับ

  5. santiparp thaiyakul

    จะเปลี่ยนอีกกี่พ่อครัวก็จะกินไปเรื่อยๆ ขออย่างเดียวอย่าปิดร้านก็แล้วกัน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.