ลอนดอนปลายฤดูหนาวของต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อากาศเกือบศูนย์องศาเซลเซียส
เราออกจากรถไฟฟ้าใต้ดินอายุเก่าแก่นับร้อยปี เดินขึ้นบนถนนกลางมหานครใหญ่ อากาศเป็นสีเทาครึ้มฟ้าครึ้มฝนเกือบทุกวัน วันไหนมีแสงแดด ชาวลอนดอนเนอร์จะดีใจออกมาเดินเล่นอาบแดดกันใหญ่ ต่างกับชีวิตคนเมืองแถบเส้นศูนย์สูตร เราก้มหน้าก้มตาเดินฝ่าลมหนาวผ่านผู้คนสวมโอเวอร์โค้ตสีดำ สียอดนิยมเป็นส่วนใหญ่ คลุมร่างกายให้อุ่นเข้าไว้ โดยเฉพาะบริเวณรอบคอ คนเมืองหนาวได้รับการสั่งสอนเสมอว่า เมื่อความหนาวเหน็บมาเยือน คอเป็นส่วนสำคัญที่ต้องทำให้อบอุ่นไว้ก่อนเสมอ
เราข้ามสี่แยกมุ่งหน้าไปอาคารเก่าแก่ของสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก คือ บีบีซี
ที่ผ่านมามีโอกาสสัมผัสบีบีซีจากรายการสารคดีสัตว์โลก รายการข่าวทางโทรทัศน์มาหลายสิบปี แต่ไม่เคยได้มาสัมผัสของจริงเลย รู้แต่ว่าเป็นสถานีโทรทัศน์วิทยุที่ผลิตรายการดี ๆ โดยไม่มีโฆษณา
บีบีซี (BBC) ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า British Broadcasting Corporation (บรรษัทกิจการการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศอังกฤษ) ถือได้ว่าเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่ได้มีเฉพาะทีวีและวิทยุเท่านั้น แต่ยังมีสื่อออนไลน์ มัลติมีเดียทุกชนิด ออกอากาศไปทั่วเกาะอังกฤษและทั่วโลก ภายในประเทศเองมีทีวีของตัวเอง ๘ ช่อง สถานีวิทยุอีก ๕๐ สถานี และมีบีบีซีออกอากาศเป็นภาษาต่างประเทศถึง ๓๒ ภาษา และน่าเสียดายที่บีบีซีภาคภาษาไทยได้ยุติการออกอากาศแล้ว เนื่องจากบีบีซีให้ความสนใจกับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น จึงทุ่มงบประมาณมาทางภูมิภาคนี้
บีบีซี ก่อตั้งมาเกือบเก้าสิบปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอังกฤษบริหารโดยคณะกรรมการที่เรียกว่า Board of Governors ซึ่งได้รับเลือกจากตัวแทนประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ผ่านความเห็นชอบจากสภา และแต่งตั้งโดยพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนด้วยการผลิตรายการที่น่าเชื่อถือทั้งความรู้และความบันเทิง และมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมโทรทัศน์ของคนอังกฤษ
หมายความว่าบ้านใครที่มีเครื่องรับโทรทัศน์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับบีบีซี ปีละ ๑๕๘ ปอนด์ หรือ(๗,๘๐๐ บาท) เพื่อแลกกับการดูรายการต่าง ๆของทางช่องนี้
บีบีซี เปรียบเทียบว่าเป็นการคิดค่าบริการเพียงวันละยี่สิบบาท ราคาพอกับซื้อหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับดูได้ไม่นาน แต่ราคานี้ บีบีซี มีรายการให้ดูเต็มอิ่มทางทีวีตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ตั้งแต่ละคร สารคดี เกมส์โชว์ ข่าว ฯลฯ
เงินทั้งหมดที่เก็บได้ปีละประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านปอนด์ หรือราว ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท บีบีซี นำเงินเหล่านี้มาทำรายการคุณภาพกลับคืนให้กับผู้ชม โดยมีเจ้าหน้าที่จากเริ่มต้นเพียง ๔ คน เพิ่มขึ้นมาเป็น ๒๓,๐๐๐ คน และนักข่าวอาชีพที่ประจำการอยู่ทั้งในและนอกประเทศประมาณ ๘,๐๐๐ คน
ในเมืองไทย ช่องโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือช่อง ๗ สี เช่นเดียวกันในประเทศอังกฤษ ช่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือช่อง บีบีซี แต่ละช่องก็แบ่งกลุ่มคนดูชัดเจน อาทิ ช่อง บีบีซี1 กลุ่มเป้าหมายเป็นคนทั่วๆไปเสนอรายการสาระบันเทิง สำหรับคนทั่วไป เช่น รายการเด็ก ข่าว กีฬา และภาพยนตร์
และช่อง บีบีซี2 กลุ่มเป้าหมายอาจจะเป็นคนมีการศึกษา หรือสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เช่น รายการของมหาวิทยาลัย รายการกีฬาที่เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม รายการเพลงคลาสสิค และรายการเพื่อการเกษตร หรือช่อง บีบีซี News ก็เป็นรายการข่าวตลอดทั้งวัน
แต่สำหรับคนทั่วโลกแล้ว รายการช่องบีบีซีเวิร์ดนิวส์ เป็นช่องรายการข่าวนานาชาติที่มีคนดูมากที่สุดช่องหนึ่งของโลก ไม่ต่างจากช่อง CNN ของสหรัฐอเมริกา
ภายในอาคารบีบีซี เราได้มีโอกาสสนทนากับมาร์ก ไบฟอร์ด รองผู้อำนวยการของบีบีซีวัยห้าสิบกว่า มาร์กเป็นนักข่าวเก่า เป็นลูกหม้อของที่นี่สามสิบกว่าปี เราถามเขาว่า อะไรที่ทำให้บีบีซีได้รับความนิยมจากคนดูมาโดยตลอด
“ความอิสระและความน่าเชื่อถือ”
เขาตอบสั้น ๆ ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า
“เรามีอิสระในการรายงานข่าวโดยสิ้นเชิง ตอนเกิดสงครามเกาะฟอร์คแลนด์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนติน่า นักข่าวภาคสนามรายงานข่าวการสูญเสียทหารและเครื่องบินรบแฮริเออร์ของอังกฤษที่รัฐบาลไม่ยอมเปิดเผย จนถูกนางมากาเร็ต แทตเชอร์นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง กล่าวหาว่าบีบีซีมีอคติกับรัฐบาลอังกฤษ หรือตอนที่บีบีซีไปสัมภาษณ์แกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนไออาร์เอในไอร์แลนด์เหนือ จนนำไปสู่การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับพวกไออาร์เอในที่สุด หรือล่าสุดเราเปิดเผยปัญหาการทุจริตรับเงินของกรรมการบริหารฟีฟ่าบางคน ทำให้คณะกรรมการฟีฟ่าไม่พอใจมาก และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อังกฤษไม่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ๒๐๑๘”
ข่าวของเราอาจจะช้ากว่าซีเอ็นเอ็นของอเมริกา แต่ที่เราให้ความสำคัญมากกว่าความเร็วของข่าวก็คือ ความน่าเชื่อถือของข่าว
เราถามต่อไปว่า อะไรทำให้บีบีซีเป็นสถานีทีวีที่คนอังกฤษนิยมดูมาก บีบีซีเวิร์ดนิวส์ก็กำลังหายใจรดต้นคอกับซีเอ็นเอ็น ขณะที่บีบีซีออนไลน์ก็เป็นเว็บไซต์ข่าวอันดับต้น ๆของโลก และล่าสุดบีบีซีเพิ่งไปซื้อกิจการโลกเหงา หรือ Lonely Planet หนังสือและรายการทีวีด้านการผจญภัยท่องเที่ยวชื่อดังมาต่อยอดการผลิตรายการของบีบีซี
ไบฟอร์ดหยุดคิดสักพักหนึ่ง ก่อนจะมีคำตอบว่า
“เป็นคำถามที่ดีมาก ผมคิดว่าเหตุผลที่ทีวีเก่าแก่ช่องนี้ยังได้รับความนิยมมาโดยตลอดนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมา คนดูยอมรับแล้วว่า บีบีซีผลิตของดี รายการมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับคนดูทุกระดับ เพราะเราตระหนักดีว่า เงินทั้งหมดมาจากคนดูทั้งสิ้น และการทำรายการหน้าจอให้มีคุณภาพต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ เพื่อทำให้รายการมีเสน่ห์”
เขาทิ้งท้ายว่า
“สำหรับลูกค้าแล้ว ไม่มีใครใหญ่กว่ากัน เราซื่อสัตย์ต่อพวกเขาอย่างเท่าเทียมกัน”
คำตอบของผู้บริหารอันดับสองของสื่อสาธารณะอันดับหนึ่งของโลก ว่าเหตุใดบีบีซีวัยเกือบศตวรรษจึงยังเป็นสื่อทันสมัยอยู่เสมอ
ในเมืองไทยเองก็มีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นสื่อสาธารณะเรียกว่า ช่องไทยพีบีเอสหรือช่องนก เพิ่งก่อตั้งมาได้สามปีเอง เป็นองค์กรอิสระเช่นกัน ผลิตรายการข่าวและรายการสาระบันเทิง สาระประโยชน์ต่าง ๆโดยไม่มีโฆษณา ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากภาษีเหล้าและบุหรี่หรือที่เรียกว่า ภาษีบาปปีละไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่ประมาณเก้าร้อยกว่าคน
ส่วนจะเป็นสื่ออิสระอย่างแท้จริง ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใด หรือได้รับความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนจากผู้ชม
เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์และผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
สารคดี มีนาคม 2554
Comments
อยากให้ TV ช่องนกเป็นอิสระปราศจากการแทรกแฃงเหมือนช่อง BBC และเสนอความจริงเสมอ สาระความบันเทิงดี ดี สู่ส้งคมไทย มืความเป้นกลาง สร้างสันติในสังคมไทย ภูมิภาคเอเชียและโลก 😉
ได้ฟัง BBC headline news ทาง FM 88 กระชับและได้ประเด็นดีครับ
นก ควรมีอิสระเสรี บินไปได้ไกลเท่าที่อยากไป สูงได้เท่าที่อยากสูง สร้างประโยชน์ให้กับโลกบ้างเท่าที่ทำได้ (ขี้นกก็ปลูกป่าได้)
ขอให้โชคดีมีอิสระตลอดไป แม้สังคมไทยไม่เหมือนสังคมผู้ดี..แต่เราก็ใฝ่ดีได้ เป็นกำลังใจให้ สู้..สู้..