รางวัลซีไรท์ประเภท สารคดี

ปีพ.ศ. ๒๕๕๒ ที่จะถึง รางวัลซีไรท์เดินทางมาครบ ๓๐ ปีแล้ว

ฝันของคนเขียนงานสารคดี อาจจะเป็นจริงก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังย่อ ๆว่า รางวัลนี้ ย่อมาจากคำว่า S.E.A. Write ซึ่งย่อมาจาก Southeast Asian Writers’ Award หมายถึง รางวัลวรรณกรรมที่มอบ ให้แก่ นักเขียน ๑๐ ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ชื่อเต็มในภาษาไทย คือ “รางวัลวรรณกรรมดีเด่นอาเซียน”

รางวัลซีไรท์ เริ่มต้นในปีพ.ศ. ๒๕๒๒ โดยฝ่ายบริหารของโรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นผู้ริเริ่มรางวัลนี้ อันเนื่องมาจากโรงแรมมีประวัติเกี่ยวข้องกับนักเขียนระดับโลกหลายคนที่เดินทางมาพักโรงแรมแห่งนี้ อาทิโจเซฟ คอนราด เกรแฮม กรีน ฯลฯ จึงมีแนวคิดที่จะให้รางวัลกับนักเขียน โดยได้ความร่วมมือจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดการประกวดรางวัลซีไรท์มาทุกปี

ที่ผ่านมา คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรท์ จะประกาศให้รางวัลชนะเลิศงานเขียนประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น และบทกวี ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี

มีข่าวแว่วมาว่าการประกวดรางวัลซีไรท์ปีหน้า คณะกรรมการตัดสินอาจจะพิจารณาเพิ่มงานเขียนประเภทสารคดี

หากเป็นเรื่องจริง ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งในวงการนักเขียนบ้านเรา ที่รางวัลซีไรท์ได้เปิดประตูต้อนรับงานเขียนประเภทนี้

ต้องยอมรับว่าในวงการหนังสือบ้านเรา รางวัลซีไรท์ถือว่าเป็นรางวัลใหญ่ที่สุด ใครได้รางวัลนี้ รับประกันว่าได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง เพราะนอกจากชื่อเสียงแล้ว รางวัลซีไรท์เป็นเหมือนตราประทับลงบนหนังสือเล่มนั้นว่า มีคุณภาพจริง ผู้คนแห่ซื้อ สำนักพิมพ์เพิ่มยอดแทบไม่ทัน

แต่น่าเสียดายที่ผ่านมาร่วมสามสิบปี กรรมการรางวัลซีไรท์ ไม่เคยเห็นงานเขียนสารคดี อยู่ในความสนใจ ด้วยเหตุผลหลักของผู้ใหญ่บางท่านที่ว่า “งานเขียนสารคดี ไม่ใช่งานสร้างสรรค์ ต่างจากงานนวนิยาย เรื่องสั้นและบทกวีที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์”

ผมเองเพิ่งได้ยินเหตุผลนี้เมื่อไม่นานนี้ จนต้องย้อนกลับมามองว่า งานสารคดีในนิตยสารฉบับนี้ที่ทำมายี่สิบกว่าปี ล้วนแต่ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เลยหรือ

อันที่จริง หากทางคณะกรรมการ ฯ จะสงวนสิทธิ์ไม่ให้รางวัลประเภทสารคดี ก็คงจะไม่มีใครทักท้วง แต่เหตุผลที่บอกว่างานสารคดี ไม่ใช่งานสร้างสรรค์นั้น คงเป็นความเข้าใจผิดบางอย่าง

งานสร้างสรรค์ไม่น่าจะจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะการคิดโครงเรื่อง การผูกเรื่องของตัวละคร หรือการใช้ภาษาที่มีวรรณศิลป์เท่านั้น แต่น่าจะรวมไปถึง การเดินทางลงพื้นที่ วิธีการได้มาซึ่งข้อมูล วิธีการสัมภาษณ์ผู้คน ศิลปะการเลือกใช้ข้อมูล ไปจนถึงการใช้กลวิธีอธิบายเรื่องยาก ๆ มาเขียนให้อ่านเข้าใจง่าย

ในชีวิตของคุณปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพและนักเขียนสารคดีชื่อดัง ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในป่ามากกว่าในเมือง เพื่อศึกษาชีวิตสัตว์ป่าตลอดทั้งชีวิตและถ่ายทอดเป็นงานเขียน น่าจะพอมีความคิดสร้างสรรค์อยู่บ้างมิใช่หรือ

หรือคนอย่างอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เดินเท้าเปล่าจาริกแสวงบุญจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุย จนเขียนหนังสือ “เดินสู่…อิสรภาพ” เล่าเรื่องการเดินทางครั้งนี้ ก็คงพอจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการอยู่บ้าง

งานเขียนประวัติศาสตร์หลายเล่มของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลเป็นเวลานาน และหากลวิธีเขียนออกมาให้อ่านง่าย ก็น่าจะมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ไม่มากก็น้อย

ที่ผ่านมา กรรมการซีไรท์ประเมินค่างานเขียนสารคดีด้อยกว่างานเขียนประเภทอื่น ทั้งๆที่หนังสือแนวสารคดี เป็นตลาดหนังสือใหญ่ที่สุด

สามสิบปีผ่านไป กรรมการซีไรท์หลายท่านเริ่มยอมรับว่างานเขียน สารคดี มีคุณค่าพอที่จะให้เป็นประเภทหนึ่งของการประกวดหนังสือ

แต่จะเป็นมติเอกฉันท์ของกรรมการซีไรท์หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

Comments

  1. คนคู่

    หลังจากที่ความฝันเดินทางออกไป ความจริงก็เดินทางกลับมา

  2. สูญ

    อาจารย์ประมวล นามสกุล เพ็งจันทร์ ง..งู ไม่ใช่ ญ..หญิง ค่ะ

  3. yuttipung

    จากบทความบอกแล้วครับ


    ที่ผ่านมา คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรท์ จะประกาศให้รางวัลชนะเลิศงานเขียนประเภทนวนิยาย เรื่องสั้น และบทกวี ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี

  4. เกื้อ

    อยากรู้ว่า รางวัลซีไรต์ ประเภทเรื่องสั้นมีกี่เล่ม แล้วอะไรบ้าง ค๊
    แต่ไม่เป็นรัยเพราะแบบนี้ก้อไห้ความรู้เหมือนกัน ค๊ 😛 😀 😎 🙂 😉 :mrgreen: 💡

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.