ค่าหัวคิวและฝายแม้วลดโลกร้อน

 

 หลายเดือนที่ผ่านมา มีโอกาสไปเที่ยวในชนบท เดินป่าหลายแห่งโดยเฉพาะทางภาคเหนือ แวะคุยกับชาวบ้านที่ช่วยกันดูแลป่าชุมชน ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้น

โครงการสร้างฝายแม้วจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นในผืนป่า ชุกชุมราวดอกเห็ดในหน้าฝน

หลายคนทราบดีว่า ฝายแม้วเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่คิดกันมานานแล้ว เป็นฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นกิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อชะลอการไหลของน้ำในลำธาร ห้วยหรือทางน้ำเล็กๆ ที่มีความลาดชัน ให้ไหลช้าลง และขังอยู่ในพื้นที่นานพอที่จะพื้นที่รอบๆจะได้ดูดซึมไปใช้ เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้เกิดความชุ่มชื้นมากพอที่จะพัฒนาการเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้นได้ และยังช่วยกักตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่างได้
ฝายจึงถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการเก็บกักน้ำและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า (แต่ป่าบางแห่งหากมีการสร้างฝายมากเกินไป และอยู่ในภูมิประเทศที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ก่อให้เกิดภาวะน้ำนิ่ง ออกซิเจนในน้ำไม่พอเพียง ดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในฝายหลายแห่งที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)

ทุกวันนี้ไปเดินป่า ก็จะพบเห็นฝายชะลอน้ำ และชาวบ้านรอบ ๆป่าบอกว่าโครงการของภาครัฐและเอกชน ก็แห่กันมาทำฝายกันหนาตา

เมื่อก่อนทางการหรืออบต.ก็อาจจะหางบประมาณมาสร้างสระน้ำ สร้างถังเก็บน้ำ

แต่ปัจจุบันต้องเป็นโครงการสร้าง ฝายแม้ว หรือฝายชะลอน้ำ เพียงอย่างเดียว

การสร้างฝายมาแรงจริง ๆ แต่จะให้ดี ให้ดูเก๋ ต้องเพิ่มคำว่า ฝายแม้ว ลดภาวะโลกร้อน แถมยังได้ค่าหัวคิวอีกต่างหาก

เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีรัฐมนตรีหญิงผู้โลกลืม คือเจ๊เป้า หรือคุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน เป็นเจ้ากระทรวง ได้นำเสนอโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤติโลกร้อน เพื่อดำเนินกิจกรรมสร้างฝายต้นน้ำ

โครงการนี้อยู่ดี ๆกลายเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยใช้วิธีทั้งดึงทั้งโยกเงินงบประมาณประจำปี 2551 ของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่จัดสรรไปเรียบร้อยแล้ว เอามาใช้ทำโครงการสร้างฝาย โดยมีพื้นที่เป้าหมายเฉพาะป่าในภาคเหนือเท่านั้น ราวกับว่าพื้นที่ภาคอื่นไม่มีความสำคัญ

พื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีตัวจริง และสส.ของพรรคพลังประชาชนก๊วนหนึ่ง

โครงการนี้จะสร้างฝายแม้วทางภาคเหนือมากถึง 160,000 แห่ง อาทิอุทยานแห่งชาติลานสาง จ.ตาก ต้องสร้างประมาณ 3,000 ฝาย อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จำนวน 2,400 แห่ง อุทยานแห่งชาติดอยหลวง 1,100 แห่งมากเกินความจำเป็นต่อระบบนิเวศอย่างแน่นอนมีรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสของการจ้างดำเนินโครงการนี้ ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากฝายให้กับนักการเมือง 20% และอีก 10% ให้กับหัวคิวในพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่บางแห่งไม่กล้าทำตามแนวนโยบายและร้องเรียนผ่านมายังสื่อ

นอกจากนี้ยังมีการโยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่เป็นคนใกล้ชิดของฝ่ายการเมืองมาดูแลโครงการนี้ และหากข้าราชการคนใดทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง ไม่ยอมทำตามนโยบายของนักการเมือง ก็จะถูกเชือดให้ลิงดู อาทิ รัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายแบบฟ้าผ่า นายสามารถ สุมโนจิตราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า และ นายเฉลิมศักดิ์ อธิบดีกรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้ง ๆที่กำลังจะเกษียณราชการในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งถือเป็นการไม่ให้เกียรติข้าราชการระดับสูงอย่างรุนแรง

นางอนงค์วรรณ ยอมรับกับนักข่าวว่าเป็นอธิบดีคนแรกที่ถูกสั่งย้าย

“การโยกย้ายไม่ได้กลั่นแกล้ง หรือเป็นการวางคนเพื่อหวังผลทางการเมือง แต่เป็นเหตุผลที่ไม่สมควรจะนำมาพูดต่อสาธารณะ”เหตุผลที่ไม่สมควรนำมาพูดต่อสาธารณะ ชวนให้นึกถึงเรื่องเล่าของนักการเมืองจำนวนมากที่เมื่อย่างกรายเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแล้ว ภารกิจแรกที่ประพฤติเหมือนกันก็คือ การสั่งอธิบดีกรมกองต่าง ๆ มาเข้าพบเป็นรายบุคคล เพื่อขอรื้อดูโครงการต่าง ๆว่ามีงบประมาณอะไร จะโยก จะย้าย ได้อย่างไร

พอหลังเข้าพบแล้ว อีกไม่นานก็จะรู้กันในกระทรวงว่า ระหว่างการโยกเงิน หรือการย้ายอธิบดี อะไรจะเกิดขึ้นก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

Comments

  1. คนคู่

    โครงการผันเงินที่เกาะกระแสโลกร้อนแบบนี้ เขาเรียกว่าบูรณาการการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  2. Tawan

    ต่อไปเงินภาษีที่ได้มาจากภาคอื่นๆ คงเอามาช่วยไม่ไหวแล้ว
    มีหวังจบลงด้วยการไปกู้ต่างชาติมาจนเหมือน Argentina

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.