เมื่อตึกแถวใกล้สูญพันธุ์

ที่ผ่านมาคนไทยหลายสิบล้านคนเติบโตมาจากตึกแถว โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยตามหัวเมือง

หากใครมีที่ดินงาม ๆ สักแปลงหนึ่งติดกับถนน หรือตามตรอกซอกซอย  ตึกแถวคือการลงทุนก่อสร้างที่ได้ผลคุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่มีทำเลดี ๆ ผู้รับเหมารายใดลงทุนปลูกตึกแถวหรือใช้ภาษาหรู ๆ ว่า อาคารพาณิชย์ให้เช่าหรือปล่อยขาย  เพียงไม่นานก็มีคนมาจับจองกันเรียบร้อยโรงเรียนจีน

การลงทุนสร้างตึกแถว ได้สร้างเศรษฐีจำนวนมากให้กับสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว


อันที่จริง ตึกแถวถือได้ว่า เป็นวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของคนจีน  ตึกแถวรุ่นแรก ๆของเมืองไทย น่าจะเกิดขึ้นมาร่วมร้อยปี พร้อมกับการตัดถนนสายแรก ๆในกรุงเทพมหานคร คือถนนเจริญกรุง

คนจีนนิยมปลูกตึกแถวริมถนน เพื่อทำการค้าขายในชั้นล่าง และชั้นบนเป็นที่หลับนอน เรียกได้ว่า ใช้ประโยชน์จากบ้านอย่างคุ้มค่า ตั้งแต่หารายได้จนเป็นที่ซุกหัวนอน และถือเป็นบ้านราคาถูก เป็นทางเลือกของคนมีรายได้ไม่มาก เพราะใช้พื้นที่ไม่มาก

คนจีนค้าขายเก่ง จึงเปิดร้านขายของชำ ร้านอาหาร ร้านขายข้าวสาร ร้านขายยา  โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตลาดของชุมชนนั้น ๆ เพราะมีลูกค้าไปมาหาสู่มากมาย จนต่อมาวัฒนธรรมการสร้างตึกแถวก็เริ่มแผ่กระจาย เกาะไปตามถนนหลักๆ ในหัวเมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน และที่ดินมีราคาแพง

จนกระทั่งหลายสิบก่อน ตึกแถวที่มีพื้นที่เปิดโล่งที่เรียกว่าทาวน์เฮ้าส์ และได้รับการออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น ได้กลายเป็นทางเลือกของคนที่ไม่มีเงินมากพอจะซื้อบ้านเดี่ยวกลางเมือง  บ้านแบบทาวน์เฮ้าส์ทำให้คนอยู่อาศัยรู้สึกเป็นบ้านมากกว่าอยู่ตึกแถว แต่มักจะปลูกตามตรอก ซอกซอย ขณะที่ถนนสายหลักยังถูกครอบครองด้วยวัฒนธรรมตึกแถว เพราะสามารถเปิดเป็นร้านขายของ หารายได้ หรือหากไม่ทำเอง ก็ยังสามารถปล่อยชั้นล่างให้คนเช่าทำกิจการ ตัวเองก็อาศัยอยู่ชั้นบน

แม้เมื่อสามสิบปีก่อน จะมีการก่อสร้างคอนโดมีเนียมขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พักอาศัยมากขึ้น  แต่การสร้างตึกแถวก็ยังได้รับความนิยม จากราคาที่ถูกกว่า

แต่สองสามปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเริ่มสังเกตเห็น ตึกแถวสร้างใหม่ริมถนนถูกปล่อยทิ้งร้างไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหลวง หรือตามต่างจังหวัด ไม่เว้นแม้แต่บริเวณที่ดินราคาแพงอย่างหัวหิน หรือชะอำ

บางโครงการมีหลายสิบยูนิต สร้างเสร็จแต่ไม่มีคนเข้าไปอยู่  สร้างเสร็จแต่ขายไม่ออก กลายเป็นที่ลองฝีมือของพวกศิลปินที่ชอบใช้สีสเปรย์พ่นตามกำแพงหรือที่เรียกว่ากราฟิตตี้

ถนนสายหลักในกรุงเทพมหานครหลายสาย หากลองสังเกตดูก็จะเห็นตึกแถวสร้างใหม่ถูกทิ้งร้างไว้มากมาย ขณะที่ตึกแถวบนถนนอย่างสุขุมวิท หรือเพชรบุรี ก็ถูกทุบทิ้งไปเรื่อย ๆ และแทนที่ด้วยอาคารสำนักงาน หรือคอนโดมีเดียม  และอีกไม่กี่ปี ถนนเหล่านี้ก็จะไม่ต่างจากถนนในสิงคโปร์ ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้  ฯลฯ คือสองข้างริมถนนหนาแน่นไปด้วยหมู่อาคารสูง ไม่มีตึกแถวปรากฏให้เห็นอีกต่อไป  ยกเว้นตึกแถวเก่า ที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงามโดดเด่น จนต้องอนุรักษ์ไว้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ หรือกลายเป็นตึกแถวคลาสิกหายากซื้อขายด้วยราคาแพง

ในฐานะคนสุขุมวิท ผมเฝ้าดูตึกแถวค่อย ๆ หายไป สิ่งก่อสร้างที่มาแทนที่ หากไม่ใช่คอนโดมีเนียม อาคารสำนักงานหรูหรา ก็เป็นตึกอพาตเม้นท์ ที่ปล่อยให้คนเช่า

ร้านขายก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด ร้านโชห่วยที่เหลืออยู่  ก็แทบจะไม่มีลูกหลานอยากรับกิจการต่อจากรุ่นพ่อ  คนรุ่นใหม่ไม่มีใครอยากมีชีวิตอยู่ตึกแถวอีกต่อไป  และร้านขายของนานาชนิดก็อพยพตัวเองขึ้นไปเซ็งร้านอยู่ในศูนย์การค้าแทน

คอนโดมีเนียม  คอมมิวนิตี้มอลล์ หรือ บ้านเดี่ยวชานเมืองที่มีรูปร่างหน้าตาทันสมัย ไม่เชย ๆ แบบตึกแถว และมีที่จอดรถสะดวกสบาย กลายเป็นที่หมายปองของคนรุ่นใหม่แทนการอาศัยตามตึกแถว และร้านขายของชำก็ล้มหายไป  เมื่อผู้คนนิยมเข้าร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่ทุกซอกซอยแทน

บ้านอยู่คอนโดดีไซน์เก๋ ๆ  กับ บ้านอยู่ตึกแถวเชย ๆ  ความรู้สึกมันเท่ห์ผิดกัน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบใหม่  รสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การสร้างตึกแถวในปัจจุบันแทบจะหาดูไม่ได้อีกต่อไป

ปีที่ผ่านมา สถิติการสร้างอาคารที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร  ปรากฏว่า มีการสร้างตึกแถวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นการสร้างคอนโดมีเนียม  ตามมาด้วยทาวเฮ้าส์ และบ้านเดี่ยว

เรียกว่าตึกแถวใกล้สูญพันธุ์กันเต็มที  แต่อาจจะยังพอมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนได้ในต่างจังหวัด หรือบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น อาทิหน้าโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เพื่อนในวงการอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งให้ความรู้ว่า คอนโดมีเนียมที่ขายห้องพักได้เต็ม  โดยปรกติจะมีผู้ซื้อเพื่อเข้าอยู่อาศัยประมาณครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคนซื้อไว้เก็งกำไร แต่ปัจจุบัน ไม่มีใครซื้อตึกแถวไว้เก็งกำไร หรือขายต่อเหมือนในอดีต เพราะความนิยมลดลงไปมาก ส่วนหนึ่งจากการที่ไม่ได้มีการพัฒนารูปทรงของตึกแถวให้มีดีไซน์ใหม่ ๆ  ขณะที่คอนโดมิเนียมจะมีการแข่งขันพัฒนาด้านการออกแบบเพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่ตลอดเวลา

ผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมติดดินแนวราบ ก็อพยพขึ้นไปสู่ห้องสี่เหลี่ยมแนวสูงมากขึ้นเรื่อย ๆตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่แข่งกันสร้างคอนโดมีเนียมตามริมถนนสายหลัก

ชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่พากันอยู่บนตึกสูง ๆ ห่างไกลจากผืนดินมากขึ้น ขณะที่ความไม่นิ่งของเปลือกโลกก็เริ่มมีสถิติบ่อยครั้งขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอันคาดการณ์ไม่ได้ ที่เป็นข่าวให้รับรู้ว่า มีเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก

สถานการณ์ขณะนี้ ทำให้บางคนเริ่มรู้สึกว่า ยิ่งสูงยิ่งหนาว มันเป็นเช่นไร

มติชน 31 กค. 54

Comments

  1. มานะ วิวัตพงษ์

    เรียนคุณวันชัย
    ผมได้อ่านบทความของคุณวันชัยแล้ว อยากแสดงความคิดเห็นบ้างครับ
    ปกติวันเสาร์ ผมจะนั่งรถเมล์สาย 1 ผ่านย่านบางรัก เยาวราช วังบูรพา จะเห็นอาคารตึกแถวซึ่งส่วนใหญ่จะดูทรุดโทรมเรียงรายตามเส้นทาง
    แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าล้วนเป็นตึกแถวที่แฝงด้วยรูปทรงและลวยลายสวยงามจำนวนมาก
    ทำให้หวนคิดถึงเมื่อตอนได้มีโอกาสไปเที่ยวยังต่างประเทศ เช่น เมืองเวียนนา เมืองปูดาเบสต์ หรือแม้กระทั่งย่านไชน่าทาวน์ เมืองสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ล้วนมีการอนุรักษ์ตึกอาคารให้มีสภาพที่ดีสวยงาม
    ทำให้นึกเสียดาย เพราะผมคิดว่า เมื่องไทยเราก็มีตึกอาคารสวยๆ เหล่านี้ไม่แพ้กัน เพียงแต่ไม่ได้รับการดูแล โดยเฉพาะตอนนี้ที่แถวคลองถมปัจจุบันมีการรื้อตึกอาคารเก่า สร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบบใหม่ดูขัดกับบรรยากาศเมืองเก่าเป็นอย่างยิ่ง
    ทำอย่างไร เมืองกรุงเทพของเราถึงจะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์อาคารเหล่านี้ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างอาคารห้องแถว เช่น ที่เมืองเซี่ยงไฮ้จะมีการติดป้ายบอกอายุอาคาร สร้างเมื่อปีใดไว้ หากอาคารที่สวยๆ ที่เยาวราชหลายอาคารได้รับการดูแล ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความงดงามของกรุงเทพได้ เพื่อแทนที่ความรกรุงรังของบ้านเมือง ดั่งเช่นอาคารเก่าฝั่งข้างหน้าหัวลำโพงมีการติดป้ายโฆษณาบังตัวอาคารอย่างไร้สำนึก ซึ่งบางครั้งก็เหมือนจะสะท้อนความคิดของคนในสังคมว่าเป็นอย่างไร
    ผมอยากเสนอให้หนังสือสารคดี ได้จัดทำเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมาของตึกแถวอาคารเก่า แต่ละยุคสมัยของไทย การทำลายและ การอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางให้บ้านเมืองเราได้รักษาอาคารเก่าเหล่านี้ต่อไป
    ขอบคุณครับ
    มานะ

  2. ผู้แย๊วโตหลิง

    ภาพประกอบเป็นตึกแถวริมถนนพุทธมณฑลสาย3ใช่หรือเปล่าคะ อยากบอกผู้เขียนว่ายังมีโครงการตึกเดี่ยวสวยๆ ทรงตึกแถว สร้างใหม่อยู่ตรงตลาดกรีนวิลล์ ถนนพุทธมณฑลสาย2 ปากซอยสวนผัก ทำดีไซน์โมเดิร์นขายอยู่ราวๆสิบล้าน มีคนซื้อมาทำร้านอาหาร น่าสนใจนะคะ ขับรถผ่านชอบแอบมองอยู่บ่อยๆ เพราะคิดถึงบ้านตึกแถวย่านเพชรบุรีซอย5ที่เกิดและโตมา หนีออกมาปลูกบ้านหลังเล็กๆบนที่ดินเปล่าอยู่ชานเมืองได้ 6ปีแล้ว เพราะอึดอัดกับอพาร์ตเม้นท์และคอนโดที่บุกมาถึงข้างบ้าน แต่ไม่ได้ขายทิ้งนะคะ พ่อยังอยู่ที่นั่น กลับไปในเมืองตอนนี้เห็นเหมือนกับบทความที่ว่าตึกแถวริมถนนถูกทุบทิ้งไปหมดเพื่อสร้างตึกใหญ่ๆ.. ใจหาย คิดถึงบ้าน คิดถึงความสะดวกสบายและรถไฟฟ้า มองย้อนกลับไปแล้วพื้นที่ในตึกแถวบริหารฟังชั่นข้างในได้มากกว่าเยอะจริงๆ ตกแต่งได้ตามใจชอบ แต่คนยู่ตึกแถวส่วนใหญ่กลับเป็นกลุ่มคนที่ไม่แต่งบ้าน น่าเสียดาย อยากกลับไปอยู่บ้านเก่าอีกครั้ง
    อ่านแล้วโดนใจเหมือนมีคนเข้าใจความรู้สึก ชอบค่ะ 🙂

  3. เดชา ปัทมสิริวัฒน์

    ผมคิดว่าการทำตึกแถวสองฝั่งถนนมีผล “ปิดกั้น” ที่ดินด้านหลังของทั้งสองฝั่งของถนนให้ “ลด” คุณค่าลง……….นักผังเมืองกรุณาหาวิธีการที่ดีกว่านี้ในการใช้ประโยชน์จากที่ดินทั้งประเทศ
    ผมไม่มีความรู้มากนักแต่อยากให้รัฐบาลศึกษาการใช้ประโยชน์จากผืนดินในการสร้างที่อยู่อาศัย เลิกแนวคิดเดิม ๆ เสีย ใช้ผืนแผ่นดินทุก ๆ ตารางนิ้วให้คุ้มค่า

    เดชา ปัทมสิริวัฒน์
    โทร. 081 – 887 – 7980

  4. ชัยชนะ

    อยากให้ผู้รู้ช่วยนำเสนอกระบวนการรีโนเวตตึกแถวให้น่าอยู่ครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.