กลับไปหน้า สารบัญ
กั ม พู ช า ๒๐๐๐
และศิลปินไร้พรมแดน (ต่อ)
เรื่อง/ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
 

   ตัวเมืองเสียมเรียบยังคงอยู่ท่ามกลางต้นยางสูงใหญ่ เหมือนกับที่เราเคยมาเยือนเมื่อสิบปีก่อน
   ทว่าบรรยากาศดูคึกคักกว่าเดิม เพราะขณะนี้เสียมเรียบ เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา มีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่น ไทย และตะวันตก หลั่งไหลกันมาชมนครวัด นครธม ไม่ขาดสาย ประชากรในเมืองจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โรงแรมขนาดห้าดาวตามมาตรฐานตะวันตก อย่าง Sofitel Royal Ankor เพิ่งเปิดตัวไป ตึกแถวมากมายผุดขึ้นมาเป็นเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ที่ดินในเมืองราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันซื้อขายกันตารางเมตรละ ๒,๘๐๐ บาท หรือตารางวาละ ๑๑,๐๐๐ บาท อาคารบางแห่งรุกล้ำคูคลองสาธารณะ  บ้างก็ถึงกับถมคลองเพื่อปลูกอาคารร้านค้า เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ขณะที่ชาวเมืองยังไม่ตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม

(คลิกดูภาพใหญ่)    คณะของเราเดินทางออกจากเมืองเสียมเรียบ มุ่งหน้าสู่โบราณสถานอันเป็นที่ตั้งของนครธม เมืองหลวงเก่าของขอมโบราณ หรือที่เรียกว่า "พระนครหลวง" ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่นครวัด ปราสาทบายน ที่คนไทยรู้จักกันเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยปราสาทต่าง ๆ ถึง ๗๒ องค์ เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขรรค์ ประสาทกระวาน เป็นต้น ทั้งหมดสร้างขึ้นในระยะเวลา ๖๒๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๓๔๕ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ซึ่งเป็นปีแห่งการสถาปนาอาณาจักรขอม  มาจนถึงปีที่พระนครหลวง ถูกกองทัพพระเจ้าสามพระยาแห่งกรุงศรีอยุธยา ตีแตกในปี ๑๙๗๔ จนกษัตริย์ขอมต้องอพยพผู้คนมุ่งสู่ตะวันออก ไปสร้างเมืองใหม่ที่พนมเปญ
   ก่อนจะเข้าไปในอาณาเขตของพระนครหลวง ขนาดกว้าง ๘ กิโลเมตร ยาว ๒๔ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องซื้อตั๋วเข้าชมตามราคาดังนี้ เที่ยววันเดียว ๒๐ ดอลลาร์ เที่ยวสามวัน ๔๐ ดอลลาร์ เที่ยวหนึ่งสัปดาห์ ๖๐ ดอลลาร์ โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ได้รับสัมปทานจะเป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทาง และจ่ายผลประโยชน์จำนวนหนึ่งให้รัฐ 
   ครั้งที่มาเที่ยวนครวัดเมื่อสิบปีก่อน เราต้องเสียค่าผ่านทางหลายด่านเหมือนกัน แต่เป็นด่านเถื่อน จัดเก็บโดยทหารทุกฝ่ายที่ถืออาวุธสงคราม และสิ่งที่ใช้แทนค่าผ่านทางก็คือบุหรี่กรองทิพย์ !
(คลิกดูภาพใหญ่)    เย็นนั้นเราเดินไต่ขึ้นปราสาทพนมบาแค็ง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาระหว่างนครวัดกับนครธม เป็นปราสาทหินทราย สร้างขึ้นเพี่อบูชาพระศิวะ ในสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ มีอายุ ๘๐๐ กว่าปี 
   หลายคนในคณะถอดใจกับการปีนเนินเขา และขยาดกับบริการให้ขี่หลังช้าง ซึ่งคิดค่าบริการถึงหัวละ ๑๕ ดอลลาร์ แต่ผู้ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ชาวคณะ คือ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข วัย ๗๕ ปี ศิลปินอาวุโสที่สุดในคณะ ที่ค่อย ๆ เดินไต่ขึ้นเขาจนถึงตัวปราสาท และลงมือวาดภาพอย่างจริงจัง หลังจากเดินดูมุมอยู่พักหนึ่ง
   ศิลปินชั้นครูผู้นี้ร่างรูปด้วยดินสอและตวัดปลายพู่กันอย่างเฉียบขาดและรวดเร็วมาก
   "การวาดรูปที่ดีเราต้องเกิดอิมเพรสชั่นเสียก่อน เหมือนกับการถ่ายรูป เราต้องเห็นแสงสี เห็นความงาม ผมเดินขึ้นมา ผมเห็นว่าตรงนี้น่าประทับใจ ยิ่งพระอาทิตย์กำลังตกยิ่งขลัง ปราสาทจะย้อนแสงทะมึน เวลาวาดด้านบนของปราสาทผมจะลงสีเข้มตัดกับท้องฟ้า ส่วนด้านล่างจะลงสีให้โปร่งเบามากกว่า" อาจารย์สวัสดิ์อธิบายให้ฟัง ในขณะที่ปราสาทพนมบาแค็งบนกระดาษขาวเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง 
     หากมองจากบนปราสาทลงมา จะเห็นบริเวณโดยรอบเป็นป่าใหญ่แน่นขนัดไปหมด ด้านหนึ่งเห็นยอดนครวัด โผล่ขึ้นมาจากป่าทึบ ไกลออกไปจะเห็นพนมกุเลนทอดตัวเป็นแนวยาว พนมกุเลนเป็นเทือกเขาที่สูงที่สุดของเขมร คนสมัยโบราณสกัดหินจากภูเขานี้มาสร้างนครวัด 
   สน จันทร์ ไกด์หนุ่มวัย ๒๗ ปีที่มีรายได้วันละ ๒๐ ดอลลาร์ เล่าให้ฟังว่า ทุกเย็นนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จะขึ้นมาที่ปราสาทพนมบาแค็ง เพื่อรอดูพระอาทิตย์ตกดิน 
   "เมื่อสิบปีก่อน ทหารเวียดนามใช้ยอดปราสาทนี้ เป็นฐานเรดาร์ และฐานยิงปืนใหญ่ ทหารเวียดนามทุบเอาหินทรายจากปราสาทมาทำเป็นบังเกอร์ ปราสาทพนมบาแค็งจึงดูทรุดโทรมกว่าปราสาทองค์อื่น" สน จันทร์ กล่าว แล้วขอตัวไปรับโทรศัพท์มือถือที่ดังขึ้น 
 (คลิกดูภาพใหญ่)    เช้าวันต่อมา นครวัด สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ที่ทุกคนปรารถนาจะได้เห็น ก็ปรากฏต่อหน้า อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยเคยบันทึกไว้ว่า
   "เป็นการยากเหลือเกิน ที่จะบรรยายนครวัดออกมาเป็นคำพูด นครวัดเป็นที่สุดของที่สุด ในบรรดาปราสาทหินทั้งหลาย เทียบได้กับปราสาทต้นตระกูลที่อยู่ในอินเดีย หรือแม้จะแข่งรัศมีกับวิหารอียิปต์ที่คาร์นัค หรือลุกซอร์ (ธีบีส) เพียงแค่คูน้ำรอบปราสาท ก็กว้างเกือบเท่าแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าพระจันทร์เสียแล้ว กว้าง ๑๙๐ เมตร ฟอร์มเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านกว้าง ๑.๓ กิโลเมตร ด้านยาว ๑.๕ กิโลเมตร ถ้าจะเปรียบแล้วก็คือ ยาวกว่าคูเมืองที่ล้อมรอบเมืองสุโขทัย เมืองเชียงใหม่ ด้วยซ้ำไป"
   นครวัดสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๖๕๖-๑๖๙๓) ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง ๓๐ กว่าปี โดยแรงงานทาสนับแสนคน ใช้ช้าง ๔ หมื่นเชือกขนหินจากเขาพนมกุเลนที่ห่างออกไป ๕๐ กิโลเมตร มาตัดเป็นแท่ง ๆ เรียงขึ้นไปเป็นปราสาทหินสี่หลัง ล้อมรอบปราสาทหลังใหญ่ตรงกลาง เป็นประหนึ่งยอดเขาพระสุเมร ซึ่งตามคติฮินดูเชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล 
   นครวัดเป็นเทวสถานที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระวิษณุ ครั้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ เสด็จสวรรคต คติฮินดูถือว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้าที่อวตาร ลงมาบนโลกมนุษย์ตามหลักสมมุติเทพ เทวสถานแห่งนี้ จึงกลายเป็นที่กระทำพิธีศพของกษัตริย์ขอม และที่สิงสถิตดวงวิญญาณของพระองค์ ต่อมาไทยได้รับคติเรื่องนี้มาสร้างเป็น "พระเมรุมาศ" ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพกษัตริย์ และพระศพเจ้านายผู้ใหญ่
(คลิกดูภาพใหญ่)    อาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังใช้พู่กันตวัดสีลงบนเฟรมผ้าใบอย่างได้อารมณ์ ให้ความเห็นต่อการเขียนรูปนครวัดว่า
   "มหัศจรรย์มาก ดูแต่ละมุมแล้วผมจะบ้าตาย ทั้งคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรม มันครบถ้วนสมบูรณ์ไปหมด การจัดมุมแต่ละมุม ช่องแต่ละช่องเราทำงานได้หมด เขียนรูปก็ได้ ถ่ายภาพก็ดี ผมไม่รู้ว่าระบอบการปกครองหรือศรัทธาอะไรในสมัยนั้น ที่สร้างงานได้ขนาดนี้ แต่งานที่ออกมามีพลังมาก ไม่ได้ออกมาอย่างซังกะตายทำหรือถูกบังคับให้ทำ ผมเชื่อว่าคนที่สร้างงานต้องมีศรัทธาจริง ๆ เห็นได้จากความละเอียดของงาน และการวางจังหวะได้อย่างเหมาะเจาะ" 
   ขณะที่อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ผู้เดินทางมาเยือนนครวัดเป็นครั้งแรก เปรียบเทียบให้ฟังว่า
   "ไมเคิล แองเจลโล สร้างงานมาสเตอร์พีซให้แก่โลกตะวันตก นครวัดก็คืองานมาสเตอร์พีซของโลกตะวันออก"
   ตลอดวันนั้น ศิลปินทุกคนมีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเต็มที่ แต่ความที่ไม่คุ้นเคย ข้อจำกัดทางด้านภาษา และตัวตนของความเป็นศิลปิน ทำให้ทั้งสองฝ่ายทำได้อย่างมากคือ แวะเวียนมาดูภาพวาดของแต่ละคน ซึ่งสามารถถ่ายทอดความเข้าใจทางศิลปะ ได้โดยไม่ต้องสื่อสารด้วยคำพูด

 (คลิกดูภาพใหญ่)

   "นครวัดและนครธมให้แรงบันดาลใจในทางลึกลับ ผมจึงเลือกใช้สีดำเป็นสีหลัก เพราะสีดำลึกลับ ขลังและศักดิ์สิทธิ์ นครวัดเป็นงานศิลปะชั้นเยี่ยมของโลกทางสถาปัตยกรรม นครธมเป็นงานประติมากรรมอันงดงาม แม้ดูด้านนอกจะยิ่งใหญ่สู้นครวัดไม่ได้ แต่พอเข้ามาข้างในจะเห็นความละเอียด ความประณีตทางประติมากรรม เป็นผลงานศิลปะที่เป็นชิ้นมาสเตอร์พีชจริง ๆ หากเรากลับไปแล้วก็คงจะโหยหาอยากกลับมาอีก เพราะประทับใจ" อาจารย์ทวี รัชนีกร ศิลปินอาวุโสแห่งเมืองย่าโมให้ความเห็น พลางใช้แปรงระบายพื้นของภาพปราสาทบายนเป็นสีดำทั้งหมด
   ปราสาทบายนแห่งนครธม เป็นเป้าหมายในการวาดภาพของศิลปินในวันรุ่งขึ้น ปราสาทที่มีพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือบางคนสันนิษฐานว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ คอยจ้องมองอยู่ไม่ว่าจะยืนอยู่มุมใดของปราสาท ได้สะกดให้ศิลปินเกือบทุกคน ลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ปราสาทบายนมีเรื่องราว มีชีวิตและพลัง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้วาดภาพได้ดีกว่านครวัด

 (คลิกดูภาพใหญ่)    ธมในภาษาเขมรแปลว่าใหญ่ นครธมมีความหมายว่า เมืองใหญ่ หรือคนไทยเรียกว่า พระนครหลวง ในพระนครหลวงมีปราสาทมากมาย แต่ปราสาทที่โดดเด่นที่สุดในนครธม คือปราสาทบายน สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๔๔) เป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่ง ของขอมโบราณ ทรงกอบกู้เอกราชจากอาณาจักรจาม (เวียดนามตอนกลาง) ที่บุกเข้ามาทำลายพระนครหลวงใน พ.ศ. ๑๗๒๐ เมื่อปราบพวกจามได้หมดสิ้นแล้ว พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และทรงสร้างศาสนสถาน คือปราสาทบายน โดยการนำก้อนหินมาประกอบกันขึ้น เป็นยอดปราสาทกลางสูง ๔๕ เมตร ล้อมรอบด้วยปรางค์ใหญ่น้อย ๕๔ องค์ ซึ่งสลักเป็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รวมทั้งหมด ๒๑๖ พระพักตร์ ทอดพระเนตรโปรดสัตว์โลกไปทั่วทิศ หรือประหนึ่งเป็นองค์แทนพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่สอดส่องดูแลทุกข์สุขของพสกนิกร
   ครั้งแรกที่ทุกคนเห็นพระพักตร์ขนาดใหญ่ ที่จ้องมองมาแต่ไกล จะมีความรู้สึกกลัวและเกรงขาม แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ตามลานหินที่ซ้อนตัวขึ้นมาเป็นชั้น ๆ จะเห็นพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร แฝงไว้ด้วยรอยยิ้ม ดวงตาฉายแววแห่งความเมตตา สะกดให้เราเพ่งมองรูปสลักนั้น จนมิอาจถอนสายตาได้ง่าย ๆ 
   แทบไม่น่าเชื่อว่าก้อนหินขนาดใหญ่หลายร้อยก้อน ที่แกะสลักเป็นรูปใบหน้า และตากแดดตากฝนมาเกือบพันปี จะยังคงพระพักตร์อันงาม และเมตตาไว้ได้อย่างเต็มเปี่ยม
 (คลิกดูภาพใหญ่)    สมภพ บุตราช ศิลปินไทย ผู้เคยไปใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษเป็นเวลานาน ตั้งข้อสังเกตว่า 
   "ฟิลลิ่งของนครวัดมันยิ่งใหญ่ แต่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะสมบูรณ์ลงตัวทุกอย่าง ส่วนที่นครธมนั้นพอผมเห็นใบหน้าใหญ่ ๆ ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแล้ว ดูเป็นมิตรดี โดยปรกติไม่ค่อยมีการแกะหน้าขนาดใหญ่ ให้มีความรู้สึกที่ดูใจดี มีพลัง ใบหน้าเหล่านี้ดูเป็นคนมีความสุขนะ ผมมีจินตนาการในการวาดภาพที่นี่มากกว่า"
   วันนี้ศิลปินทั้งสองฝ่ายยังคงแยกกันทำงาน มีการแวะเวียนเข้ามาดูงานของแต่ละฝ่ายเป็นระยะ 
   "วิจิตรกรไทย (ศัพท์ล่ามเขมร) มีเทคนิคและฝีมือสูงมาก ผมดีใจที่ได้เห็นวิจิตรกรไทย และเขมรมาวาดภาพร่วมกัน แม้ว่าจะยังไม่ค่อยได้แลกเปลี่ยนกันมากนัก เพราะติดขัดด้านภาษา แต่ก็ยังพอทำมือทำไม้สื่อสารกันได้บ้าง และเข้าใจกันดี เพราะทำงานด้านศิลปะด้วยกัน" เป็ก สง วิจิตรกรชื่อดังของเขมรกล่าว เขาคุยว่าเคยขายภาพให้ฝรั่งได้ถึงภาพละ ๔,๐๐๐ ดอลลาร์ 
     "ทุกวันนี้ผมจะวาดภาพตามใบสั่งของคนที่รู้จักฝีมือผม ผมจะวาดภาพเหมือนจริง ตามความต้องการของลูกค้า ถ้าวาดภาพตามใจตัวเองไม่มีคนซื้อ  แต่หากเป็นภาพวาดที่ผมจะนำออกไปแสดงที่เมืองนอก ผมจะวาดจากความคิด และด้วยเทคนิคของผมเอง" เป็ก สง ยอมรับว่าภาพที่ศิลปินเขมรชอบวาด และขายดีที่สุด คือภาพทิวทัศน์ของนครวัด นครธม
   ก่อนกลับเราแวะชมภาพจำหลักนูนต่ำที่ระเบียงทั้งสี่ทิศ ภาพบอกเล่าเหตุการณ์ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยกทัพไปรบกับกองทัพจาม นอกจากนี้ยังมีภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าบรรทุกของใส่เกวียนมาขาย คนปิ้งปลา และภาพฝูงปลานานาชนิด สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบเขมร ดูเหมือนว่านี่จะเป็นภาพจำหลักนูนต่ำแห่งเดียวในโลก ที่แสดงเรื่องราวชีวิตของสามัญชนให้เห็น นอกเหนือจากเรื่องราวของเทพเจ้า กษัตริย์ และการทำสงคราม 
   ขนาดที่ไม่ใหญ่โตของนครธม พระพักตร์เปี่ยมเมตตาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และเรื่องราวของสามัญชน ทำให้ผู้มาเยือน สัมผัสได้ถึงความเป็นกษัตริย์ติดดิน ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ นอกจากจะทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ยังทรงสร้างอโรคยาศาล- -โรงพยาบาลสำหรับชาวบ้านไว้มากมาย 
   ปราสาทบายนที่ทรงสร้างไว้ บัดนี้กลายเป็นมรดกอันล้ำค่า ให้กัมพูชาใช้เก็บเกี่ยวเงินตราจากการท่องเที่ยว ในอีกด้านหนึ่ง คนในยุคปัจจุบันควรจะมีความรู้สึกเช่นไร เมื่อหวนคิดว่า การสร้างเทวสถานอันยิ่งใหญ่ ได้ทำให้ทาสผู้ใช้แรงงานล้มตายไปกี่พันกี่หมื่นคน

 (คลิกดูภาพใหญ่)

   วันต่อมาคณะศิลปินได้เดินทางมาวาดรูปที่ปราสาทตาพรหม 
   กล่าวกันว่าหากอยากดูอดีตของนครวัด และปราสาทบายนที่ถูกทิ้งร้างไว้ ๕๐๐ กว่าปีว่าเป็นเช่นไร ก่อนที่ อังรี มูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส จะมาค้นพบในปี ๒๔๐๑ ให้มาดูได้ที่ปราสาทองค์นี้ 
   ปราสาทตาพรหมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในปี ๑๗๒๙ เพื่อถวายแด่พระราชมารดา ถือเป็นวัดพุทธที่ใหญ่โตมาก
   รถมาหยุดส่งที่ปากทางเข้า เราต้องลงเดินไปตามทางเดิน ที่ตัดเข้าไปในแนวไม้ ครู่เดียวก็ถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่กลมกลืนกับธรรมชาติรอบข้างยิ่ง
   ปราสาทตาพรหมที่ปรากฏแก่สายตานั้น อยู่ในสภาพปรักหักพังตามกาลเวลา กำแพงบางช่วงมีรากของต้นไม้ขนาดใหญ่โอบรัด รากขนาดยักษ์ของต้นปอ และต้นไทรอายุนับร้อยป ีคร่อมอยู่บนระเบียงวิหาร รากของมันชอนไชเข้าไปภายใน และโผล่ออกมาอีกด้านหนึ่ง ประหนึ่งระเบียงนั้นอยู่ในอ้อมกอดของรากต้นไทร แต่ระเบียงหลายแห่งรับน้ำหนักของต้นไม้ใหญ่ไม่ไหวก็พังทลายลงมา ต้นไม้บางต้นโผล่ขึ้นมากลางวิหาร งอกรากไปตามทางเดิน งัดเอาก้อนหินยักษ์หลุดออกมาด้วย

 (คลิกดูภาพใหญ่)    หากนครวัด นครธม ที่ผ่านสายตาเรามาแล้ว สะท้อนถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองของมนุษย์ ปราสาทตาพรหมก็สะท้อนถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่ง ว่าไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่าธรรมชาติได้ ณ ที่แห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธรรมชาติกำลังกลืนกินศาสนสถาน ที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของมนุษย์ไปเรื่อย ๆ
   ที่บริเวณกลางปราสาท เราได้คุยกับลุงซเวย เคน ศิลปินเขมรวัย ๖๐ ปี ผู้เคยทำงานในโรงแรมกรุงพนมเปญมาร่วม ๒๐ ปี ลุงเคนเล่าให้ฟังว่า เรียนวาดรูปจากพ่อแม่ที่เคยเป็นจิตรกร วาดภาพฝาผนังในพระบรมมหาราชวัง แต่กระนั้นก็ไม่มีโอกาสวาดรูป ต้องไปประกอบอาชีพอื่น จนกระทั่งเมื่อหกปีก่อนจึงลาออกจากงาน หันมาวาดรูปขายเลี้ยงชีพ โดยสามารถขายรูปได้ในราคารูปละ ๕๐-๒๕๐ ดอลลาร์
   กรณีลุงเคนน่าสนใจตรงที่ว่า ลุงไม่ได้วาดรูปเหมือนจริง อย่างที่ศิลปินเขมรนิยมวาดกัน แต่วาดตามสไตล์ของตัวเอง ภาพที่ถนัดคือชีวิตคน ชีวิตชาวนา ชีวิตคนเขมรที่ทุกข์ยากจากสงคราม และมาครั้งนี้ ขณะที่ศิลปินส่วนใหญ่วาดภาพปราสาทในป่าใหญ่ เขากลับวาดภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในสามบุคลิกจากความรู้สึกของเขา 
   "ผมอยากถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของผม ที่เจ็บปวดมาตลอดชีวิต" ลุงเคนผู้เคยได้รับเชิญไปแสดงงานที่เมืองฟูโกโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวความในใจผ่านล่าม 
(คลิกดูภาพใหญ่)    คืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายสำหรับการทำงานร่วมกันของศิลปินทั้งสองฝ่าย มีการเลี้ยงสังสรรค์ด้วยอาหารเขมร ที่มีรสชาติค่อนข้างหวาน ไม่ว่าปลาทรงเครื่อง ผัดผักรวมมิตร หรือแม้ต้มยำกุ้ง ทำเอาศิลปินไทย ต้องเรียกหาน้ำปลาพริกขี้หนูกันทุกโต๊ะ จบรายการด้วยการเดินดูภาพวาดจำนวนร่วมร้อยภาพ จากการทำงานสามวันในเสียมเรียบ ศิลปินสองชาติแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ด้วยความคุ้นเคยกันมากขึ้น
   ภาพพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ของลุงซเวย เคน ภาพปราสาทบายนของเป๊ก สง ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษจากศิลปินฝ่ายไทย ในขณะที่ทุกคนชื่นชมผลงานภาพวาดสีน้ำนครวัด ของอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข และภาพนครวัด นครธม ฝีมืออาจารย์ทวี รัชนีกร ที่ลงสีด้วยสีดำอย่างน่าทึ่ง 
     "ศิลปินไทยแต่ละคนมีสไตล์ไม่เหมือนกัน และมีความเชื่อของตัวเองค่อนข้างมั่นคง อย่างงานของอาจารย์สวัสดิ์ และอาจารย์ทวี ไม่ได้เขียนรูปออกมาสวยงาม แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกเต็มอิ่ม ที่มีต่อนครวัด นครธม ส่วนศิลปินเขมรมีสไตล์การเขียนคล้าย ๆ กัน คือเขียนภาพทิวทัศน์สวยงามเพื่อขายในแกลอรี จนแทบจะไม่มีใครค้นหาสไตล์การเขียนของตัวเองเลย เพราะกลัวว่าจะขายงานไม่ได้ เราจึงไม่เห็นงานศิลปะร่วมสมัย หรืองานศิลปะสมัยใหม่ในเขมร แต่หลังจากงานนี้ผ่านไป ผมคิดว่าศิลปินเขมร ที่ได้เห็นตัวอย่างงานเขียนอันหลากหลายของศิลปินไทย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน จะกล้าค้นหาสไตล์การวาดภาพของตัวเองมากขึ้น และนั่นแหละคือสิ่งที่เราคาดหวังจากการจัดงานครั้งนี้ด้วย" อาจารย์วิโชค มุกดามณี กล่าวสรุป 
(คลิกดูภาพใหญ่)    ภาพวาดจากศิลปินทั้ง ๔๐ คนนำมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชมแล้วที่หอศิลป มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะจัดแสดงอีกครั้งที่กรุงพนมเปญ ในต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เพื่อจุดประกายให้ชาวเขมร ผู้ไม่มีโอกาสได้สัมผัสงานศิลปะร่วมสมัยเป็นเวลานาน นับแต่เกิดสงครามกลางเมือง ได้หันมาสนใจศิลปะอีกครั้งหนึ่ง
   เป็นก้าวแรกของศิลปินกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการใช้งานศิลปะจรรโลงสันติภาพในลุ่มน้ำโขง
   "กีฬาเป็นเครื่องเชื่อมสันติภาพ หรือความสามัคคีหรือเปล่า ผมไม่ค่อยแน่ใจ เพราะการแข่งขันกีฬานั้นก็มีการเอาชนะกัน แต่ศิลปะไม่มีการเอาชนะกัน ไม่เคยทำให้เกิดสงคราม ศิลปะเป็นเรื่องการสร้างสรรค์ เรื่องของความรัก"
   หนึ่งในศิลปินคนไทยกล่าวไว้เช่นนั้น

  ขอขอบคุณ
   บริษัทบางกอกแอร์เวย์ จำกัด 
   มูลนิธิศิลปินลุ่มน้ำโขง
   หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
   สุรพจน์ ศรีเมืองบูรณ์ 

(คลิกดูภาพใหญ่) ๕ นาทีกับผู้ว่าราชการกรุงพนมเปญ

ผู้ว่าราชการกรุงพนมเปญ เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด เป็นอันดับสองในกัมพูชา นายเจีย โสภรา วัย ๔๙ ปี อดีตนักศึกษาแพทย์ คือผู้นำเบอร์สองรองจากนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรี

สารคดี : ในช่วงเวลาที่เขมรแดงปกครองประเทศ ท่านมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร
นายเจีย : ยุคที่เขมรแดงครองอำนาจระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๗๕-๗๘ ผมถูกส่งไปใช้แรงงานนอกจังหวัดเขาพระวิหาร มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของผม และชาวเขมรส่วนใหญ่
สารคดี : ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร กับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่ผ่านมา
นายเจีย : ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีของชาวกรุงเทพฯ เป็นการเลือกตั้งที่ดี และชาวกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าฯ ที่มีประสบการณ์ทางการบริหารมานาน เคยเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง สำหรับกรุงพนมเปญ ตำแหน่งผู้ว่าราชการมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล แต่ในอนาคตผมปรารถนาให้ผู้ว่าฯ กรุงพนมเปญมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
สารคดี : สถานการณ์ทางการเมืองของกัมพูชา ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
นายเจีย : เวลานี้สถานการณ์ในกัมพูชามีความมั่นคงมาก ดีขึ้นเรื่อย ๆ แตกต่างจากอดีตมาก เราสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียน  และติดต่อกับสหประชาติตลอดเวลา ดังนั้นผมเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด
 (คลิกดูภาพใหญ่)
สารคดี : ทิศทางการพัฒนาของกรุงพนมเปญเป็นอย่างไร
นายเจีย : เรามีแผนพัฒนากรุงพนมเปญ โดยจะลงทุนทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานก่อน สร้างถนน น้ำประปา ไฟฟ้า เพราะที่ผ่านมาเสียหายมาก โดยเฉพาะถนนระหว่างเมืองต่าง ๆ เรายังให้ความสำคัญด้านการศึกษาด้วย สงครามที่ผ่านมา ประชาชนของเราสูญเสียไปมาก และทำอย่างไรถึงจะฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้คนให้กลับคืนมาด้วย ในขณะเดียวกันเราเรียนรู้บทเรียนจากประเทศไทย เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วย แหล่งเงินกู้ที่เราใช้มาจากยูเอ็นดีพี (UNDP - โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) รัฐบาลอังกฤษ ญี่ปุ่น และความช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศ
สารคดี : ที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศ ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศกัมพูชาเพียงใด
นายเจีย : พวกเขาช่วยรัฐบาลและประชาชนของเรามาก โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชน และการสาธารณสุข พวกเขาทำงานดีมาก
สารคดี : ท่านคิดอย่างไรกับรัฐบาลไทย ที่เคยเป็นพันธมิตรกับฝ่ายเขมรแดงเมื่อหลายปีก่อน
นายเจีย : เป็นความคิดเห็นที่เป็นอิสระของประชาชน และประเทศนั้น ๆ ซึ่งเป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย คุณมีสิทธิ์จะอยู่ฝ่ายใดก็ได้ อย่างไรก็ตามทั้งสองประเทศ มีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกัน ทุกวันนี้เรายังเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน ผมมีความเชื่อว่า ในฐานะสมาชิกของอาเซียน ไทย กัมพูชา เวียดนาม หรือประเทศอื่น ๆ เราจะต้องร่วมมือกันมากขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าด้านเกษตรกรรม การลงทุน ไปจนถึงศิลปะและวัฒนธรรม อย่างที่เห็นจากความร่วมมือระหว่างศิลปินของไทย กับกัมพูชาในการจัดงานศิลปะ และวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ ๒๐๐๐