กลับไปหน้า สารบัญ

 

ฝ้ายบีที เกษตรกร และ มอนซานโต้
กุลธิดา สามะพุทธิ : รายงาน / ฝ่ายภาพ สารคดี : ภาพ
ฝ้ายบีที เกษตรกร และ มอนซานโต้
    จอห์น ฟรานซิส ควีนนี ซึ่งศึกษาหาความรู้ในวิชาเคมีด้วยตัวเองมาโดยตลอดและเป็นผู้ก่อตั้ง "บริษัทมอนซานโต้" ขึ้นในอเมริกาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๑ คงคิดไม่ถึงว่า จากโรงงานผลิตกำมะถันเล็ก ๆ ที่มลรัฐอิลลินอยส์ มอนซานโต้จะกลายมาเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์พืช และสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรทั่วโลกอย่างทุกวันนี้
   สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มมอนซานโต้ ผลิตออกมา นอกจากจะมียาฆ่าแมลงศัตรูพืช ยาปราบวัชพืช และสารเร่งการเจริญเติบโตนานาชนิด เป็นตัวยืนพื้นแล้ว ในระยะหลัง พวกเขายังทุ่มเทให้แก่การวิจัย เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืช และเทคโนโลยีชีวภาพ จนเกิดเป็นพันธุ์พืชต้านทานแมลง พันธุ์พืชต้านทานไวรัส พันธุ์พืชที่ทนต่อสารกำจัดวัชพืชขึ้นอีกด้วย นิตยสาร ยูเนสโก คูริเย ให้ข้อมูลว่าในปี ๒๕๔๐ บริษัทมอนซานโต้ใช้จ่ายเงินถึง ๑๖๖ ล้านเหรียญ ในการวิจัยเรื่องพืชที่มีการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) เหล่านี้ 
   ใต้รูปเถาไม้สีเขียวมะกอก สัญลักษณ์ของมอนซานโต้ ปรากฏถ้อยคำ "อาหาร สุขภาพ ความหวัง" อยู่ด้วยเสมอ พวกเขาบอกว่าทั้งสามคำนี้หมายถึง "ภาระหน้าที่ของบริษัท ในการประกอบธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ของมนุษยชาติ ๖ พันล้านคน ที่อาศัยอยู่ในโลกคล้ายครอบครัวเดียวกัน"
      แต่ในประวัติศาสตร์ ๙๙ ปี คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่มอนซานโต้จะถูกโจมตี และตั้งคำถามจากนักวิทยาศาสตร์ / เกษตรกรบางกลุ่ม และองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มากเท่ากับในทศวรรษ ๑๙๙๐ อีกแล้ว เป็นต้นว่า ไม่เป็นการดีกว่าหรือ ที่จะให้พืชเหล่านี้ต่อสู้กับโรค และแมลงทำลายพืชต่าง ๆ ด้วยตัวของมันเอง ?, สารพิษต้านทานแมลง ที่ถูกใส่ลงไปในพืชโดยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม อาจทำให้เกิดแมลงชนิดใหม่ ที่ต้านทานต่อสารชนิดนั้นขึ้น, พืชที่มีการปรับแต่งสายพันธุ์ ให้ต้านทานต่อยากำจัดวัชพืช ทำให้มีการใช้ยากำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรรู้ว่า พืชของตนสามารถทนทานต่อยาได้, มีการค้นพบว่า ยีนจากพืชที่ผ่านการปรับแต่งสายพันธุ์ ให้ต้านทานยากำจัดวัชพืชนั้น สามารถแพร่กระจายไปสู่วัชพืชด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้าง "วัชพืชมหัศจรรย์ที่ไม่กลัวยาฆ่าหญ้า" ขึ้นได้, บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ อย่างมอนซานโต้จะได้รับผลประโยชน์มหาศาล เพราะเกษตรกรรายย่อย จะต้องซื้อเมล็ดพืชของบริษัททุกปี ซึ่งย่อมมีราคาแพงกว่าเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองทั่วไป ฯลฯ 
   สำหรับประเทศไทย ตลอดระยะเวลา ๓๒ ปีที่มาตั้งสำนักงานขึ้นที่นี่ ชื่อของบริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์) เพิ่งจะกลายมาเป็นจุดสนใจของผู้คนวงกว้าง พร้อม ๆ กับการมาถึงของ "ฝ้ายบีที" ซึ่งมอนซานโต้ขออนุญาตนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยนั่นเอง 
     เบซิลลัส ทูริงจิเอนซิส (บีที) คือโปรตีนของแบคทีเรียในดินที่ถูกนำมาใส่ในฝ้าย ทำให้กลายเป็นพันธุ์ต้านทานแมลง ที่เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของฝ้าย คือ หนอนเจาะสมอฝ้าย เมื่อหนอนมากัดกินส่วนต่าง ๆ ของฝ้ายบีที โปรตีนชนิดนี้จะเข้าไปเจาะกระเพาะของหนอนจนเป็นรู ทำลายกระบวนการย่อย หนอนจะหยุดกินอาหารและตายไป 
   ปี ๒๕๓๘ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุญาตให้ทำการทดลองปลูกฝ้ายชนิดนี้ โดยเริ่มจากปลูกในโรงเรือนที่ปิดมิดชิด ตามด้วยการทดสอบในสถานีทดลองของรัฐ เช่น ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยพืชไร่นครราชสีมา และสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จากนั้นจึงขยายไปปลูกในแปลงใหญ่ของเกษตรกร 
   ทั้งหมดนี้ดำเนินไปภายใต้การควบคุม ของคณะกรรมการบริหารโครงการทดสอบฝ้ายบีที เนื่องจากฝ้ายพันธุ์นี้ ยังจัดว่าเป็น "พืชต้องห้าม" ที่จะนำเข้ามาปลูกภายในประเทศตาม พ.ร.บ. กักกันพืช พ.ศ. ๒๕๐๗ (แก้ไขปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๗)
   ปรากฏว่าการทดลองปลูกฝ้ายบีที ของกรมวิชาการเกษตรถูกโจมตีอย่างหนัก จากนักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน 
     "ช่องทางเดียวที่บริษัทข้ามชาติ จะนำพันธุ์พืชเข้ามาปลูกภายในประเทศนี้ คือ การนำเข้ามา เพื่อทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ" เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทยกล่าว "กระบวนการอนุญาตให้นำพืชแปลงพันธุกรรม มาทดลองปลูกเป็นแค่เพียงช่องทางให้บริษัทข้ามชาติ นำพืชเหล่านี้มาปลูกภายในประเทศได้ง่ายขึ้น" 
   แถลงการณ์จากแปดองค์กรต่อต้านพืชแปลงพันธุกรรม ระบุว่า "เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติห้า แห่งเป็นผู้ผูกขาด ตลาดพันธุ์พืชแปลงพันธุกรรมของโลกเอาไว้ทั้งหมด ทำให้เกษตรกร ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพง ขณะนี้เมล็ดฝ้ายแปลงพันธุกรรม มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ ๖๐๐ บาท แพงกว่าเมล็ดฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองถึง ๑๗ เท่า, การนำพืชแปลงพันธุกรรม เข้ามาปลูกภายในประเทศ จะทำให้เกิดการผสมเกสรข้ามไปสู่พันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชที่บรรพบุรุษของเราอนุรักษ์ และพัฒนา จะถูกทำลายในระยะเวลาอันสั้น และสุดท้าย พืชแปลงพันธุกรรม จะทำลายแมลงที่มีประโยชน์ และจะทำให้เกิดการระบาด ของแมลงศัตรูพืชในระยะยาว"
     ปัญหาใหญ่ในมุมมองขององค์กรพัฒนาเอกชน อีกประการหนึ่งก็คือ การที่มีเมล็ดฝ้ายบีที หลุดลอดไปสู่พื้นที่เกษตรกรรม ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ความปลอดภัยทางชีวภาพ 
   แรงต่อต้านที่เกิดขึ้นทำให้นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัดสินใจตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาผลกระทบจากฝ้ายบีทีขึ้นอีกครั้ง และเมื่อถึงปี ๒๕๔๓ ก็อนุมัติให้กรมวิชาการเกษตร ทดลองปลูกฝ้ายบีทีอีกสองฤดู ในแปลงใหญ่ของศูนย์ และสถานีวิจัยสี่แห่ง (นครสวรรค์, เพชรบูรณ์, นครราชสีมาและเลย) 
   คำสั่งให้ "ทำการศึกษาเพิ่มเติม" ของนายเนวิน ซึ่งจะดำเนินไปจนถึงปี ๒๕๔๔ เพื่อหาข้อมูลประกอบการพิจารณา ว่าควรอนุญาตให้เกษตรกรปลูกหรือไม่ ดูเหมือนจะทำให้สงครามข้อมูล / ความเห็นระหว่างผลดีกับผลเสีย ของการปลูกฝ้ายบีที ทำท่าว่าจะสงบลง แต่ในระดับพื้นที่ กลับมีการเคลื่อนไหวบางอย่างที่น่าสนใจ
     ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ บริษัทมอนซานโต้ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร จัดแจงพาชาวไร่ฝ้ายกว่า ๒๐๐ คน จากนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย มาเยี่ยมชม และฟังการบรรยาย เกี่ยวกับฝ้ายบีที ภายในศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อ. ตากฟ้า จ. นครสวรรค์
   "เรากำลังทำการทดสอบเพื่อยืนยันว่าฝ้ายบีที มีความต้านทานต่อหนอนจริง และจะไม่เกิดผลเสีย / อันตรายต่อสภาพแวดล้อม และสุขอนามัยของผู้ปลูก ไม่ทำให้ระบบนิเวศวิทยาเสียไป" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชไร่กล่าวกับเกษตรกร 
   ปริญญา สีบุญเรือง นักวิชาการผู้ดูแลแปลงฝ้ายบีทีชี้แจงว่า การทดลองปลูกในครั้งนี้ บริษัทมอนซานโต้ ไม่ได้ให้การสนับสนุนอะไร แต่กรมวิชาการเกษตร ทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ และต้องการหาข้อมูลเสนอกับประชาชน ก่อนที่จะนำปลูกฝ้ายบีที ไปปลูกในเชิงพาณิชย์ โดยระหว่างนี้ศูนย์วิจัยฯ มั่นใจว่าไม่มีฝ้ายบีที "หลุด" ออกไปสู่แปลงของเกษตรกรอย่างแน่นอน และเมื่อฝ้ายในแปลงทดลองติดสมอแล้ว พวกเขาจะทำการเผาฝ้ายทิ้งทั้งหมด 
     แต่ชาวไร่ฝ้ายหลายคนที่มาร่วมดูงานในวันนั้น
   บอกกับสื่อมวลชนตรงกันว่า เกษตรปลูกฝ้ายพันธุ์ใหม่นี้ กันเป็นแสน ๆ ไร่แล้ว "ตอนนี้ชาวไร่ปลูกไร้หนอน (ฝ้ายบีที) กันไปเยอะแล้ว จะไปคอยหลวงอนุญาตก็ไม่ไหว" ราตรี มนตรี คนปลูกฝ้ายจากเพชรบูรณ์กล่าว
ชาวไร่ฝ้ายคนหนึ่งเล่าว่าเมื่อปีกลาย เขาซื้อเมล็ดฝ้ายไร้หนอนมา ในราคากิโลกรัมละ ๒๕๐ บาท ในขณะที่ฝ้ายพันธุ์ศรีสำโรง ราคากิโลกรัมละ ๕๐ บาท คนปลูกฝ้ายชอบฝ้ายบีที เพราะไม่ต้องฉีดยาฆ่าหนอนบ่อยเท่าฝ้ายศรีสำโรง และถึงเมล็ดพันธุ์จะแพงกว่า ก็ยอมจ่ายเพราะมันช่วยประหยัดค่ายาฆ่าหนอนได้ ทั้งชาวไร่ก็ไม่ต้องกลัวพิษจากยาฆ่าแมลงด้วย ส่งเดียวที่การปลูกฝ้ายบีที ทำให้พวกเขากลัว ไม่ใช่ผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือสุขภาพของตน หากแต่เป็นความหวาดกลัวว่า จะถูกจับเนื่องจากขณะนี้รัฐบาล ยังไม่อนุญาตให้ปลูก 
     ช่วงท้ายของวัน นักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร สรุปให้เกษตรกรฟังสั้น ๆ ว่า "ข้อมูลที่ได้จากการทดลองที่ผ่านมาพบว่า ฝ้ายบีทีค่อนข้างปลอดภัยต่อผู้ใช้ และแมลงศัตรูพืชที่มีประโยชน์ เพราะมันเฉพาะเจาะจง ในการฆ่าเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้ายเท่านั้น" ส่วนเจ้าหน้าที่จากบริษัทมอนซานโต้ บอกให้พี่น้องผู้ปลูกฝ้ายรอคอยอย่างใจเย็น "ต้องรอให้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทางวิทยาศาสตร์อีกสักพัก พวกเราถึงจะได้ปลูกฝ้ายบีทีกันอย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัททำก็คือ พยายามหาสิ่งที่จะทำให้ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราดีขึ้น"
   พร้อมกับการจัดอบรม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับฝ้ายบีทีในครั้งนี้ บริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์) ยังได้พาสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่ง ไปศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาด้วย
     ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งสัปดาห์ ระหว่างวันที่ ๖-๑๗ กันยายน ๒๕๔๓ เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย ก็ได้จัดกิจกรรม "Asian Long March For Biodiversity" หรือ การรณรงค์สัญจร ปกป้องพันธุกรรมพื้นเมืองขึ้น โดยตระเวนไปยังจังหวัดสงขลา เพชรบุรี เชียงใหม่ เลย และร้อยเอ็ด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากการปลูกพืชตัดต่อยีน โดยเฉพาะฝ้ายบีที
   การรณรงค์ในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติม จากคำบอกเล่าของเกษตรกรว่า ชาวไร่ฝ้ายหลายคน มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนตามมือ และมีอาการมึนหัว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดหลายสิบปีที่ปลูกฝ้าย เมื่อนำมาพูดคุยกัน จึงได้รู้ว่าคนที่ปลูกฝ้ายบีที มีอาการคล้าย ๆ กันหมด พวกเขาจึงเริ่มเชื่อว่า สารบีทีที่ถูกปลูกถ่ายลงไปในฝ้ายนั้นมีพิษภัย
     ความเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์เรื่องฝ้ายบีที รุนแรงกว่าที่คิดมากนัก 
   จึงอาจเป็นการง่ายเกินไป ที่จะมองว่า กรณีการปลูกฝ้ายบีทีนั้น ยังอยู่ระหว่างการทดลอง เพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ตามคำสั่งสุดท้าย ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์