กลับไปหน้า สารบัญ

 

บทสรุปเขื่อนปากมูล "ข อ ง แ ท้"
จากคณะกรรมการเขื่อนโลก
วันดี สันติวุฒิเมธี : รายงาน
บทสรุปเขื่อนปากมูล (คลิกดูภาพใหญ่)
    หลังจากถกเถียงกันอยู่นานว่า รายงานสรุปของคณะกรรมการเขื่อนโลก กรณีเขื่อนปากมูล ที่ทั้งฝ่ายสมัชชาคนจน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่างหยิบยกมาอ้างถึงเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนแก่ฝ่ายตนนั้น ฉบับไหนเป็นฉบับจริง ฉบับไหนเป็นฉบับร่าง ล่าสุด ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากคณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams-WCD) ได้ออกมาสรุปรายงานดังกล่าวด้วยตนเองแล้วว่า เขื่อนปากมูลประสบความล้มเหลวในแทบทุกด้าน ด้วยเหตุนี้ข้อมูลของสมัชชาคนจน ซึ่งเคยเปิดเผยทางสื่อมวลชนมาก่อนหน้านี้ จึงได้รับการยอมรับว่าสอดคล้องกับข้อมูลฉบับจริง ของคณะกรรมการเขื่อนโลก
   นายเจมส์ เวิร์กแมน โฆษกคณะกรรมการเขื่อนโลก กล่าวถึงความน่าเชื่อถือของรายงานฉบับนี้ว่า 
   "เขื่อนปากมูลเป็นหนึ่งในเจ็ดเขื่อนทั่วโลก ที่คณะกรรมการฯ ทำการศึกษา โดยมีการประเมินตรวจสอบผลกระทบ ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคม กระบวนการการตัดสินใจ และโครงสร้างอำนาจที่ผลักดันโครงการ ถือเป็นความพยายามที่จะหาข้อสรุปร่วม ในสนามรบของการพัฒนาทรัพยากร ที่ดำเนินไปอย่างดุเดือด" 
   ความล้มเหลวของเขื่อนปากมูลในด้านต่าง ๆ ปรากฏชัดอยู่ในรายงานฉบับดังกล่าว โดยในแง่ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ในรายงานระบุว่า กำลังไฟฟ้าที่เขื่อนปากมูลผลิตได้จริงน้อยกว่าที่ทาง กฟผ. คาดการณ์ไว้ตอนแรกหลายเท่า คือ จาก ๑๕๐ เมกกะวัตต์ เหลือเพียง ๒๐.๘๑ เมกะวัตต์ (คำนวณจากกระแสไฟที่จ่ายออกมารายวัน ระหว่างระหว่างปี ๒๕๓๘ - ๒๕๔๑) เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนสร้างเขื่อน ที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ตอนแรกกว่าหนึ่งเท่าตัว คือ จาก ๓,๘๘๐ เป็นกว่า ๘ พันล้านบาท (รวมต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเกือบ ๓ พันล้านบาท และต้นทุนทางสังคมอีกกว่า ๑ พันล้านบาท) เขื่อนแห่งนี้จึงไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ดังที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก
      ประเด็นต่อมาคือผลกระทบด้านอาชีพประมง ทางคณะกรรมการเขื่อนโลกสรุปว่า การสร้างเขื่อนทำให้จำนวนพันธุ์ปลาในเขตต้นน้ำมูล-ชี ซึ่งเคยสำรวจก่อน ๒๕๓๗ จำนวน ๒๖๕ ชนิดลดลงเหลือเพียง ๙๖ ชนิด ทำให้ปริมาณปลาที่ชาวบ้านจับได้ลดลงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ สำหรับบันไดปลาโจนมูลค่า ๒ ล้านบาทที่กฟผ. พยายามสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านอาชีพประมง คณะกรรมการฯ สรุปว่า ประสบล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถช่วยให้ปลาขึ้นไปวางไข่เหนือน้ำได้เหมือนเดิม
   เห็นได้จากปริมาณปลาในอ่างเก็บน้ำ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า กล่าวคือ กฟผ.คาดการณ์ว่า หากไม่มีการเพาะพันธุ์ปลา ภายในอ่างเก็บน้ำซึ่งมีพื้นที่ ๖๐ ตารางกิโลเมตร จะมีปลาจำนวน ๑๐๐ กิโลกรัม/ ๑ หมื่นตารางเมตร/ ปี และหากมีการเพาะพันธุ์ปลา ปริมาณปลาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น ๒๒๐ กิโลกรัม/๑หมื่นตารางกิโลเมตร/ปี แต่จากการสำรวจพบว่า มีปลาในอ่างเก็บน้ำเพียง ๑๐ กิโลกรัม/ ๑ หมื่นตารางเมตร/ ปี เท่านั้น 
   และถึงแม้ว่ากฟผ.จะพยายามเพาะพันธุ์กุ้งลงแม่น้ำมูล เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน การเพาะพันธุ์กุ้ง ก็ยังไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวประมงอย่างถาวร เนื่องจากกุ้งพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ในน้ำจืด หากไม่มีการเพาะพันธุ์กุ้งลงแม่น้ำ ปริมาณกุ้งก็จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ และรัฐบาลจะต้องเสียงบประมาณซื้อพันธุ์กุ้ง ปีละหลายล้านบาท
     ในประเด็นสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสรุปว่า โครงการนี้ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ธนาคารโลกกำหนดให้ มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และหามาตรการแก้ไขผลกระทบอย่างเหมาะสมก่อนดำเนินโครงการ อาทิเช่น โครงการนี้ก่อให้เกิด แก่งธรรมชาติ ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลายชนิดกว่า ๕๐ แก่ง จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำอย่างถาวร แต่ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลับไม่เคยประเมินความสูญเสียดังกล่าวเลย 
   นอกจากนี้ รายงานฉบับเดียวกันยังตำหนิการดำเนินการของโครงการเขื่อนปากมูลว่า ไม่เคยมีการหารือกับชาวบ้าน ผู้ได้รับผลกระทบก่อนสร้างเขื่อน และไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ในกระบวนการตัดสินใจ และกระบวนการแก้ไขผลกระทบ เขื่อนปากมูลจึงเป็นเขื่อนที่ประสบปัญหามากมาย 
   หลังจากข้อมูลดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อมวลชล ผู้บริหารของกฟผ. หลายท่านได้ออกมาแสดงความไม่พอใจรายงานฉบับนี้ว่า มีความลำเอียง เนื่องจากคณะกรรมการฯ ไม่ได้นำข้อมูลของฝ่ายกฟผ.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย แต่กลับนำไปไว้ในภาคผนวกของรายงานเท่านั้น
   นายเจมส์ เวิร์คแมน โฆษกคณะกรรมการเขื่อนโลก จึงออกมาชี้แจงกับสาธารณชนอีกครั้งว่า "รายงานฉบับนี้ผ่านการประมวลผลอย่างรอบด้าน และได้เชิญกฟผ. เข้าร่วมให้ความเห็นก่อนนี้แล้ว เช่นเดียวกับทุกๆ ฝ่าย เราได้รวบรวมความเห็น ที่เราเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริง และมีความชัดเจนแม่นยำ ที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้อย่างเป็นอิสระ และเป็นกลาง ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ผลของรายงานอิสระเช่นนี้ จะไม่ได้ทำให้ทุกฝ่ายชอบใจ แต่เราก็ยังเชื่อมั่นในรายงานฉบับนี้