|
|
คุณเคยเจอเหตุการณ์ต่อไปนี้บ้างหรือไม่ ?
|
|
|
เสียค่ารักษาไข้หวัดครั้งละหลายพันบาท
ถูกนำไปตรวจวินิจฉัยโรค
ด้วยเครื่องมือแพทย์ราคาแพง
ทั้งที่ปวดศีรษะเพียงเล็กน้อย
ถูกหมอกำหนดให้ผ่าตัดคลอด
โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
หรือมีญาติซึ่งบาดเจ็บจากการถูกรถชนเสียชีวิต
เนื่องจากรถหน่วยกู้ภัย
ไม่ยอมนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยพบเหตุการณ์เหล่านี้
แสดงว่าคุณได้ตกเป็นเหยื่อของ
การแพทย์พาณิชย์- อาชญากรที่มองไม่เห็น เข้าแล้ว
"การแพทย์พาณิชย์
หมายถึงการที่แพทย์หาประโยชน์จากคนไข้
โดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
จริยธรรมทางการแพทย์
เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แพทย์พาณิชย์จึงไม่ได้หมายถึงแพทย์เอกชนเพียงอย่างเดียว
แต่หมายถึงแพทย์
ทั้งโรงพยาบาลรัฐ
และเอกชนที่ทำผิดจริยธรรม"
|
|
|
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
โฆษกแพทย์สภาให้คำจำกัดความแพทย์พาณิชย์
และกล่าวถึง
รูปแบบของการแพทย์พาณิชย์
ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันว่ามีอยู่ ๖ ประเภทด้วยกัน
"ประเภทแรก
เริ่มต้นตั้งแต่คนไข้ยังเดินทางไม่ถึงโรงพยาบาล มักพบมากตามสื่อต่าง ๆ เช่น
แพทย์บางคนไปออกรายการโทรทัศน์
แล้วโอ้อวดความสามารถของตัวเองต่างๆ นาๆ หลังจากนั้นก็บอกว่าตนอยู่โรงพยาบาลอะไร ซึ่งในกรณีนี้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่เป็นไร
เพราะตรวจคนไข้กี่ร้อยคน
ก็ได้ค่าจ้างเท่าเก่า แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ยิ่งตรวจมากยิ่งได้เงินมาก
หรือกรณีที่หมอบางท่านรับจ้างบริษัทยา
หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ไปบรรยายทางวิชาการให้คนทั่วไปฟัง
บางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
อาจไม่จำเป็นหรือไม่มีประโยชน์"
|
|
|
รูปแบบดังกล่าวอาจทำให้คนไข้เสียเงินโดยไม่จำเป็น
และได้ผลการรักษาไม่คุ้มค่า แต่กรณีนี้ ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยหาข้อมูลอื่น ๆ มาพิจารณาประกอบ
ผิดกับรูปแบบแพทย์พาณิชย์
ที่จะกำลังจะกล่าวถึงต่อไป
ผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยง
หรือมีโอกาสหลีกเลี่ยงน้อยมาก
"ประเภทที่สอง เกิดขึ้นหลังจากคนไข้มาถึงโรงพยาบาลแล้ว คือ
การที่หมอส่งคนไข้วินิจฉัยโรค
ด้วยเครื่องมือราคาแพงโดยไม่จำเป็น
โดยแพทย์จะได้เปอร์เซ็นต์
จากการใช้เครื่องมือดังกล่าว เช่น
สั่งให้คนไข้ที่มีอาการปวดหัวนิดหน่อย
ไปเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ เสียค่าตรวจครั้งละ ๕ พันบาท หมอคนนั้นจะได้ค่าส่งคนไข้ไปตรวจครั้งละ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณคนละ ๗๕๐ บาท ถ้าวันหนึ่งส่งคนไข้ไปตรวจ ๑๐ คน หมอก็จะได้เปอร์เซ็นต์ถึง ๗,๕๐๐ บาทต่อวัน
ซึ่งกรณีนี้คนไข้แทบไม่มีโอกาสได้เลือกเลยว่า
จะตรวจหรือไม่
เพราะทุกคนจะเชื่อหมออยู่แล้ว
และทางแพทยสภาก็ตรวจสอบยากมาก เพราะหมออาจชี้แจงกลับมาว่า
คนไข้ปวดหัวโดยไม่รู้สาเหตุ
เลยต้องใช้เครื่องมือชนิดนั้น"
|
|
|
ปัจจุบันเครื่องมือวินิจฉัยโรค
ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับแพทย์
และโรงพยาบาลมีสองชนิด คือ เครื่อง CT แสกน (Computer tomogram) และเครื่อง MRI (Magnatic resonance image)
เครื่องมือทั้งสองชนิด
เป็นเครื่องมือตรวจอวัยวะภายใน
ของร่างกายแบบใหม่
ซึ่งมีความสามารถในการประมวลภาพ
ออกมาเป็นภาพสามมิติ
การตรวจด้วยเครื่องมือทั้งสองชนิด
สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำกว่าเครื่องเอกซเรย์
ซึ่งแสดงผลออกมาได้เพียงสองมิติ การตรวจด้วยเครื่อง CT แสกนเสียค่าตรวจครั้งละประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ส่วนเครื่อง MRI
ค่าตรวจแพงกว่า
ครั้งละประมาณ ๓ พันบาท เนื่องจากมีความสามารถในการประมวลผลดีกว่า ประมาณกันว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่อง CT แสกนมากถึง ๒๐๐ - ๓๐๐ เครื่อง
และเปอร์เซ็นต์ที่แพทย์ได้รับในแต่ละปี
เฉลี่ยเครื่องละ ๒ ล้านบาท
แม้ว่าเครื่องมือดังกล่าว
จะช่วยให้ผลการวินิจฉัยโรคแม่นยำมากขึ้น
และหลายโรงพยาบาล
ก็พยายามโปรโมทเครื่องมือชนิดนี้
ในการชักจูงคนให้เข้ารับบริการตรวจสุขภาพประจำปี
ของโรงพยาบาล ทว่า เครื่องมือชนิดนี้ก็ยังมีปัญหาที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการตรวจด้วยเครื่อง CT แสกนต้องใช้รังสีเอกซ์
(ชนิดเดียวกับเครื่องเอกซเรย์)
ฉายลงบนอวัยวะที่ต้องการตรวจหลายครั้ง
เพื่อให้ได้คอมพิวเตอร์ประมวลผล
ออกมาเป็นภาพสามมิติ
แพทย์บางท่านจึงเป็นห่วงผลกระทบ
จากการได้รับรังสีเอกซ์มากเกินไป แม้ว่ารังสีเอกซ์จากเครื่อง CT แสกนจะมีความแรงน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ แต่หากตรวจด้วยเครื่องมือชนิดนี้บ่อย ๆ ร่างกายอาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว
|
|
|
"ประเภทที่สามคือแพทย์สั่งการรักษาโดยไม่จำเป็น เช่น
สั่งให้คนไข้ผ่าตัดคลอด
โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ว่าไม่สามารถคลอดได้ตามธรรมชาติ หรือให้ยารักษาบางตัวที่ไม่จำเป็น
โดยบริษัทยาเสนอผลประโยชน์
ให้กับแพทย์ที่สั่งใช้ยา เช่น ให้เงิน ของกำนัล หรือพาไปเที่ยวต่างประเทศเป็นการตอบแทน"
ที่ผ่านมา
การหาประโยชน์จากคนไข้
โดยสั่งวินิจฉัยด้วยเครื่องมือราคาแพง
และสั่งการรักษาโดยไม่มีความจำเป็น
เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลหลายแห่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีทางรู้ว่า
อาการของตน
จำเป็นต้องใช้เครื่องมือราคาแพงมากขนาดนั้น
วินิจฉัยโรคหรือไม่ การตัดสินใจต่าง ๆ จึงอยู่ภายใต้การตัดสินใจของแพทย์ ซึ่งหากแพทย์ขาดจริยธรรม
ผู้ป่วยก็จะต้องเผชิญกับ
ค่ารักษาพยาบาลราคาที่สูงลิบลิ่ว
สำหรับการแพทย์พาณิชย์ประเภทต่อไป ไม่ได้เกิดกับคนไข้โดยตรง
แต่เกิดกับบุคคลที่สาม
ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของคนไข้ คุณหมอสุวิทย์
กล่าวถึงการแพทย์พาณิชย์ประเภทนี้
พร้อมกับถ่ายทอดประสบการณ์
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเหรัญญิกให้ฟังว่า
|
|
|
"ประเภทที่สี่ คือการหาประโยชน์จากบุคคลที่สาม หรือการหาประโยชน์จากการประกันสุขภาพ
ทั้งสวัสดิการข้าราชการ
และประกันสุขภาพเอกชน
ถ้าคนที่มีประกันสุขภาพเหล่านี้
เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะชาร์ตเงินค่ารักษาเต็มที่ เพราะคนไข้ไม่ได้เป็นคนจ่ายเอง เลยไม่ได้สนใจว่าเสียค่ารักษาเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น สมัยที่ผมทำงานเป็นเหรัญญิกแพทย์สภา
ผมเคยตรวจพบค่ารักษาพยาบาล
จากอาการไข้หวัด
ที่ราคาสูงผิดปรกติคือ ๙ พันบาท
พอลองตรวจสอบในใบเสร็จ
ดูว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ก็พบว่า มีค่าห้องสำหรับนอนโรงพยาบาลสองวัน ค่าน้ำเกลือ ๖ ขวด ค่าชุดสารละลายอาหารทางเส้นเลือด
ผมสงสัยว่า
ทำไมต้องมีการใช้ชุดสารละลายอาหารทางเส้นเลือด
เพราะการให้อาหารทางเส้นเลือด
ต้องใช้สายพิเศษ
สำหรับให้อาหารทางเส้นเลือด
เส้นละหลายร้อยบาท แต่ถ้าให้น้ำเกลือเฉย ๆ ค่าสายน้ำเกลือเส้นละไม่ถึง ๑๐ บาท ผมเลยทำหนังสือขอดูประวัติของคนไข้ทั้งหมด
แต่ทางโรงพยาบาลทำหนังสือตอบกลับมาว่า
ราคาเก้าพันบาทเป็นราคาไม่ถูกต้อง ที่จริงเป็นราคานี้
แต่ที่ผิดพลาดไป
เพราะเจ้าหน้าที่การเงินทำผิด จะเห็นว่า ถ้าเราไม่ตรวจสอบกลับไป เขาก็โกงเอาดื้อ ๆ
โรงพยาบาลบางแห่ง
ไม่ได้ให้บริการกับคนไข้
แต่ส่งใบเรียกเก็บเงิน
ไปให้บริษัทประกันก็มี"
|
|
|
"ประเภทที่ห้าคือ
การหาประโยชน์จากคนไข้
ที่ประสบอุบัติเหตุรถชน
เพราะทุกวันนี้คนที่เกิดอุบัติเหตจากถูกรถชน
จะมีประกันบุคคลที่สาม
จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้คนละหลายหมื่นบาท
โรงพยาบาลบางแห่ง
จะตกลงกับมูลนิธิ
ที่คอยช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ
ให้นำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลของตน โดยทางโรงพยาบาลจะให้เงินประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ บาทต่อหัว ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ บางครั้งมีโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุมากกว่า แต่เขาก็ไม่ไปส่งเพราะไม่ได้ค่าหัว
ทำให้คนไข้อาการทรุดหนักลง
เพราะแทนที่จะส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด"
|
|
|
"การแพทย์พาณิชย์ประเภทสุดท้าย
ซึ่งผมรู้สึกว่าร้ายมากที่สุด คือ การลงุทนสร้างโรงพยาบาลพร่ำเพรื่อ เพราะมันส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ตัวอย่างเช่น ผมเป็นหมอที่ชอบลงทุนธุรกิจมาก ผมก็เลยหาเพื่อนมาลงทุนทำโรงพยาบาล สมมุติ สร้างโรงพยาบาล ๑๐๐ เตียง ใช้เงินทั้งหมด ๒๐๐ ล้าน ผมก็หาเพื่อนมาร่วมหุ้นสัก ๑๐๐ ล้าน อีก ๑๐๐ ล้านกู้ธนาคาร โดยผมลงหุ้นใหญ่ที่สุด ๑๐ ล้าน
ที่เหลือหาเพื่อนมาลงเงิน
คนละล้านสองล้าน รวมกันให้ครบ ๙๐ ล้าน
เสร็จแล้วผมก็เป็นโต้โผ
ไปวิ่งเต้นกู้เงินธนาคารอีก ๑๐๐ ล้าน
โดยธนาคารก็จะให้ค่านายหน้า
สำหรับการหาคนมากู้เงิน หลังจากนั้นผมก็ไปหาซื้อที่ดิน ซึ่งผมก็จะได้ค่านายหน้าอีก เพียงแค่สองราย ผมก็เกือบจะได้ทุนคืนแล้ว ทีนี้พอจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หรือซื้อของเข้าโรงพยาบาลผมก็ได้ค่านายหน้าอีก หลังจากโรงพยาบาลสร้างเสร็จ
ผมก็นั่งเป็นผู้บริหาร
เพราะผมมีหุ้นมากที่สุด ถ้าโรงพยาบาลไปไม่รอด ก็ไม่เป็นไร
เพราะผมได้เงินคืน
ตั้งแตก่อนโรงพยาบาลจะสร้างเสร็จแล้ว ส่วนคนอื่นก็ไม่กล้าต่อว่าผม เพราะผมมีหุ้นใหญ่ที่สุด ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ
ช่วงเศรษฐกิจบูมที่ผ่านมา
มีโรงพยาบาลเอกชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่ทุกวันนี้ เจ๊งกันเป็นแถว หรือถ้าไม่เจ๊งก็ต้องขูดรีดเอาจากคนไข้
เก็บค่ารักษาราคาแพง
เพื่อทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้"
|
|
|
ที่ผ่านมา
มาตรการควบคุม
และจัดการแพทย์ผู้กระทำผิดจริยธรรม
ที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะวิ่งตามปัญหา และเชื่องช้าไม่ทันการณ์
เพราะผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้ร้องเรียนมาทางแพทยสภา
ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับวินัยการแพทย์
โดยต้องรอการพิจารณา
จากการอนุกรรมการถึง ๒ ชุด คือ
อนุกรรมการจริยธรรม
เพื่อพิจารณาว่ามูลคดีมีมูลหรือไม่
หากคดีมีมูลจึงส่งต่อไปให้
อนุกรรมการสอบสวนความผิด
โดยสรุปแล้วแต่ละกรณี
กว่าจะลงโทษได้มักใช้เวลากว่า ๑๒ เดือน
และมีจำนวนไม่น้อย
ที่ใช้เวลาเกินกว่า ๒ ปี ส่วนกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องฟ้องร้องทางแพ่งเอาเอง
ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีศักยภาพ
ในการดำเนินคดี จึงไม่อยากฟ้องร้อง
ปัจจุบันผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายมักนิยมฟ้องสื่อมวลชน
เพราะโรงพยาบาลหรือแพทย์จะรีบจ่ายค่าชดเชย
เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียง
ภายในเวลาอันรวดเร็ว
|
|
|
คุณหมอสุวิทย์
กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา
การแพทย์พาณิชย์ในสังคมไทยว่า
"ทางแก้ที่เราพยายามดำเนินการอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง คือ
พัฒนาบุคคลากร
ให้มีศาสตร์และศิลป์
ในการดูแลผู้ป่วย และที่พยายามจะทำต่อไปคือ
พัฒนาศักยภาพการกำกับดูแล
สถานบริการธุรกิจเอกชน
ที่เป็นธุรกิจมุ่งแสวงหากำไรอย่างเข้มงวด
และมีประสิทธิภาพ เช่น ควบคุมการใช้เทคโนโลยีราคาแพง
ตั้งกองทุนชดเชยค่าเสียหาย
จากการได้รับบริการสุขภาพ
ที่มีการบริหารแบบคล่องตัว พัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการ
และเพิ่มการมีส่วนร่วม
ของประชาชนในการเข้ารับบริการ เช่น
การให้ประชาชน
เป็นกรรมการของสถานพยาบาล
และเข้าเป็นส่วนหนึ่ง
ของกระบวนการตรวจสอบ
ขององค์กรวิชาชีพ"
ปัจจุบัน
แนวทางดังกล่าว
ยังดำเนินไปได้ไม่ไกลนัก
เนื่องจากการแพทย์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ
ซึ่งมีผลประโยชน์มากมายมหาศาล การดำเนินการใด ๆ
ที่กระทบกระเทือนต่อกระเป๋าเงินของผู้เกี่ยวข้อง
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ คอยดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อใคร
|
|
|
|