กลับไปหน้า สารบัญ

 

จากบรรณาธิการ
    หลังจากที่มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่สหประชาชาติสามคน ถูกชาวติมอร์ที่นิยมอินโดนีเซียบุกฆ่าตายได้ไม่นาน ผมก็มีโอกาสติดตาม ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ ไปเยือนติมอร์ตะวันออก
    เรานั่งเครื่องบินมาลงที่เดนพาซาร์  เมืองหลวงของเกาะบาหลี จากที่นั่นเรานั่งเครื่องบินภายในประเทศของอินโดนีเซีย ต่อไปยังดิลี เมืองหลวงของติมอร์ตะวันออก
    ก่อนที่ติมอร์ตะวันออกจะแยกตัวเป็นประเทศเอกราช ผู้ที่เดินทางไปดิลี จะถูกทางการอินโดนีเซียสอบถามอย่างละเอียด  แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของอินโดฯ แทบจะไม่ใส่ใจเลย
   ที่น่าสนใจคือ โทรทัศน์แสดงตารางเวลาในอาคารสนามบิน ซึ่งปรกติจะให้ข้อมูลเวลาขึ้นลงของเครื่องบินแต่ละเที่ยว รวมทั้งชื่อเมืองปลายทาง เที่ยวบินที่เราจะไปดิลีคือ MZ 8480 กลับระบุเพียงเวลาเครื่องบินออก ส่วนช่องที่เป็นเมืองจุดหมายปลายทางกลับเว้นว่างไว้ ราวกับว่าไม่มีดิลีอยู่ในโลก
    เพื่อนร่วมเดินทางบางคนพูดติดตลกว่า สงสัยอินโดนีเซียยังทำใจไม่ได้กับการปล่อยให้ติมอร์ตะวันออกเป็นอิสระ
      ประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ เครื่องบินก็มาถึงเกาะติมอร์ที่มีรูปร่างเหมือนหัวจระเข้
    สิ่งแรกที่เราพบ คือ เจ้าหน้าที่พลเรือนของสหประชาชาติจำนวนมาก ที่ถูกส่งมาจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๒๐ ชาติ กำลังทำหน้าที่แทนข้าราชการของประเทศเกิดใหม่แห่งนี้ 
    เพราะข้าราชการชาวอินโดนีเซีย ที่เคยปกครองติมอร์ตะวันออก ได้กลับประเทศของตนจนหมดสิ้น รวมถึงข้าราชการชาวติมอร์ ที่ส่วนใหญ่ฝักใฝ่อินโดนีเซีย ก็อพยพไปอยู่ติมอร์ตะวันตก ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย ประมาณว่ามีเจ้าหน้าที่พลเรือน ของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นราว ๗,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน ไม่นับเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ อีกหลายพันคน กำลังช่วยชาวติมอร์สร้างประเทศอยู่ในขณะนี้ ด้วยการฝึกคนติมอร์ให้ไปประจำตามกรมกองต่าง ๆ
    ตอนที่เราผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง หนุ่มติมอร์วัย ๒๐ กำลังฝึกงาน ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอยู่อย่างขะมักเขม้น โดยมีคนยูเอ็นจากโปรตุเกสเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ 
    ทายได้เลยว่า อีกไม่ถึง ๑๐ ปี เด็กหนุ่มคนนั้นคงจะได้เป็นผู้อำนวยการกองตรวจคนเข้าเมือง
    ขณะนี้ติมอร์ตะวันออกอยู่ในสภาพที่กำลังสร้างบ้านแปงเมืองใหม่ เพราะก่อนที่กองกำลังติดอาวุธ ที่จัดตั้งโดยอินโดนีเซียจะถอนกำลังออกไป พวกเขาได้ฆ่าชาวติมอร์ตายไปหลายหมื่นคน และยังเผาเมืองจนเสียหายยับเยิน
    ในดิลีนั้นไม่ว่าสถานที่ราชการ หรือบ้านเรือนของคนรวย คนจน ถูกเผาโดยเท่าเทียมกัน ทรัพย์สมบัติทุกชิ้นถูกขโมยไม่เว้นแม้กระทั่งประตูหน้าต่าง กลายเป็นเมืองร้าง ผู้คนอพยพหนีการเข่นฆ่าไปอยู่ในป่า ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด
    เรียกได้ว่าสภาพไม่ต่างจากเมื่อไทยถูกพม่าเผาเมือง คราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ 
 ฉบับหน้า : ชีวิต เหม เวชกร จิตรกรไร้สำนัก (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
หัวเชือกวัวชน สังคมนักเลงโต ปักษ์ใต้
    แต่พอทหารของสหประชาชาติ ได้เข้ามาคุ้มครองชาวติมอร์ตะวันออกเมื่อปีที่ผ่านมา และผลักดันให้กองกำลังติดอาวุธทั้งหลายเข้ามอบตัว สภาพบ้านเมืองก็ดีขึ้น
    เวลานี้ไม่มีเสียงปืนอีกต่อไป นอกจากตามแนวชายแดนด้านตะวันตก ผู้คนเริ่มอพยพกลับเข้ามา ลงมือซ่อมแซมบ้านเรือน เปิดโรงแรม และร้านขายอาหาร เพื่อรองรับเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ตามถนนหนทางมีรถราที่ไม่มีทะเบียนวิ่งมากขึ้น จนต้องมีตำรวจจราจรยูเอ็น มาโบกรถตามสี่แยก ซึ่งสัญญาณไฟจราจรถูกเผาเสียหาย ยังไม่ได้ติดตั้งใหม่ มหาวิทยาลัยติมอร์ที่ถูกเผาจะเริ่มเปิดสอนใหม่ในเดือนหน้า แต่ยังต้องอาศัยอาจารย์จากโปรตุเกส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่า และจากออสเตรเลีย ที่อาสาสมัครมาช่วยสอน แทนอาจารย์ชาวอินโดนีเซีย ที่หนีกลับประเทศกันหมด
    ตามท้องถนน เราพบคนติมอร์นั่งเล่นเดินเล่นอยู่มากมาย เพราะว่างงาน แต่สีหน้าของคนเหล่านี้ ไม่ค่อยทุกข์ร้อน หรือเคร่งเครียดเท่าใดนัก ส่วนใหญ่มีรอยยิ้มแจ่มใส
    เพื่อนชาวติมอร์คนหนึ่งบอกว่า คนติมอร์ไม่ค่อยเดือดร้อนเรื่องอาหารการกินนัก หิวขึ้นมาก็ออกเรือไปหาปลาในทะเล ที่ยังอุดมสมบูรณ์มาก หรือปลูกผักปลูกข้าวกันกินตามอัตภาพ เพราะอดอยากกันจนชินแล้ว ตั้งแต่เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย 
    แต่วันนี้ เอกราช อิสรภาพ และเสรีภาพที่พวกเขาได้รับจากการต่อสู้มายาวนานถึง ๒๔ ปี ทำให้พวกเขายิ้มอย่างมีความสุข และหัวเราะได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทหารอินโดนีเซียเหมือนในอดีต
    มาเยือนติมอร์ตะวันออกครั้งนี้จึงเพิ่งเข้าใจว่า รสชาติของอิสรภาพ บางครั้งก็หอมหวานกว่าเรื่องปากท้องเป็นไหน ๆ

 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com