กลับไปหน้า สารบัญ

 

หั ว อ ก น้ อ ง "อ้ ว น"
    นับวัน "ความอ้วน" ดูจะกลายเป็นนิยามของคนมีปัญหา เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ดูจะเชื่อว่า คนสวย คนงาม รวมถึงคนสุขภาพดี จะต้องหุ่นเพรียวลม คล่องตัวเหมือนนางแบบ
หัวอกน้อง "อ้วน"
   ทำให้คน (รักที่จะ) อ้วนหลายคน พลอยเดือดร้อนไปกับค่านิยมนี้ 
   มาริลีน วานน์ สาวตุ้ยนุ้ยนางหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แทบเป็นลมเมื่อบริษัทประกันสุขภาพ ส่งจดหมายตอบปฏิเสธการประกัน โดยให้เหตุผลว่าเธออ้วนจนผิดปรกติ
   เท่านั้นยังไม่พอ  แฟนหนุ่มของเธอยังไม่ยอมพาเธอไปงานปาร์ตี้ เพราะอายที่จะแนะนำแฟนจ้ำม่ำ ให้เพื่อน ๆ รู้จัก
   แต่แทนที่น้องวานน์ จะหันมาลดความอ้วนแบบที่สาวคนอื่นนิยมกัน น้องวานน์กลับลงมือทำนิตยสารเล่มหนึ่ง ชื่อ อ้วนแล้วเป็นไง เป็นนิตยสารสำหรับผู้ที่มีรสนิยมในการกิน มากกว่าที่จะสนใจความงาม เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างคนอ้วนด้วยกัน
   นับแต่นั้นมา น้องวานน์ผู้มีน้ำหนัก ๒๕๐ ปอนด์ โกรกผมสีชมพูแปร๊ดคนนี้ ก็กลายเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคนอ้วน เธอประกาศว่าการต่อสู้เพื่อให้คนอ้วนเป็นที่ยอมรับ และกำจัดอคติ ตลอดจนความรังเกียจเดียดฉันท์คนอ้วนนั้น เป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ว่าด้วย "สิทธิที่จะอ้วน โดยไม่ได้รับการดูถูกจากสังคม"
      วานน์ยังมีแนวคิดถึงขั้นจะให้คนอ้วนฟ้องบริษัท หรือเจ้าของธุรกิจการบริการต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์ สายการบิน ที่กีดกัน หรือไม่อำนวยความสะดวกให้คนอ้วน เพราะในโรงภาพยนตร์ และบนเครื่องบินมีแต่ที่นั่งแคบ ๆ ไว้บริการ
    "พูดตรง ๆ นะคะ ความอ้วนไม่ใช่โรคร้ายสักหน่อย เรากำลังพูดถึงเรื่องสิทธิ ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ" วานน์ชี้แจง
    วานน์ไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยว มีองค์กรอีกมากมายที่คิดแบบเดียวกับเธอ 
    "ทุกวันนี้เราต่างถูกครอบงำ โดยธุรกิจลดความอ้วน ซึ่งเอาแต่ตำหนิคนที่น้ำหนักเพิ่ม" แมรีแอนน์ โบโดเลย์ แห่งสมาคมเพื่อคนอ้วน กล่าว เธอยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมด้วยว่า สถาบันลดน้ำหนัก มีส่วนทำให้คนที่อ้วนอยู่แล้ว มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
    "วิธีการขุนให้สัตว์อ้วน ก็คือ ปล่อยให้มันหิวโซ แล้วค่อยให้อาหารมัน เพราะมันจะสวาปามเข้าไปได้มาก เช่นเดียวกัน คนอ้วนที่เข้าคอร์สลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร พอออกมาก็กินกันเต็มที่เหมือนเดิม" 
     สมาคมเพื่อคนอ้วนมีสมาชิกถึง ๕,๐๐๐ คนกับเครือข่ายอีก ๔๘ แห่ง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มคนอ้วนกลุ่มเล็ก ๆ ในบราซิล อิตาลี นิวซีแลนด์ อังกฤษ และออสเตรเลีย ทั้งยังมีนิตยสารกว่า ๓๐ ฉบับกับเว็บไซต์อีกนับไม่ถ้วน ที่เสนอตัวเป็นแนวร่วม 
    ลินน์ แม็กอาฟี ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ เพื่อการควบคุมรูปร่าง กล่าวว่า ปัจจัยสามอย่าง ที่ทำให้คนอ้วนกันมากขึ้น ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ ออกกำลังกายน้อยลง กินอาหารขยะกันมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ ความนิยมในการลดความอ้วน
   ในขณะที่ เจน แคปแลน นักจิตวิทยา ซึ่งทำงานกับผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการผิดปรกติมากว่า ๒๐ ปี ก็ยอมรับว่า 
   "การรักษาพยาบาลของเราที่ผ่านมานั้น มีอคติกับความอ้วนมากเกินไป เพราะอันตรายที่รุนแรงกว่าความอ้วนคือ ความเครียดจากการจำกัดอาหาร และเครียดจากการเกลียดตัวเองที่อ้วนเอาๆ"