กลับไปหน้า สารบัญ
Pecker ความถ่อยกับความเท่
    มีความเชื่ออันหนึ่งว่าศิลปะมีไว้ "ช็อก" คน ตามความเชื่อนี้ ภารกิจที่แท้จริงของงานศิลปะ ไม่ใช่ปรนเปรอผู้ชมด้วยเรื่องน่าอภิรมย์ แต่คือชี้ให้เห็นด้านที่อัปลักษณ์ของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น หน้าที่ของมันไม่ใช่ปลอบประโลมสังคมด้วยแนวคิดที่สวยหรู แต่คือสร้างความตระหนกตกใจ ให้แก่คนดูด้วยสิ่งที่แปลกใหม่เกินความคาดหมาย และสั่นคลอนสถานะ หรือความยิ่งใหญ่ของตัวเอง
 จอห์น วอเตอรส์ (คลิกดูภาพใหญ่)     ดังนั้น ถึงจะมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสูงส่ง และจรรโลงจิตใจ เช่นเดียวกับศิลปะในยุคก่อน ๆ แต่ศิลปะแบบใหม่ อาจจะไม่เน้นความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง แต่หันไปค้นหาความหมายของชีวิต ในความเป็นจริงดิบ ๆ หรือกองอาจม และสิ่งปฏิกูลของอารยธรรม มองในแง่นี้ ความดิบถ่อยของผลงาน จึงเป็นเป้าหมายของศิลปิน ยิ่งสามารถทำสิ่งที่รุนแรง ไร้รสนิยม หรือขาดความรับผิดชอบต่อสังคมได้มากเท่าไร เขาก็ยิ่งบรรลุความเป็นศิลปินได้มากเท่านั้น 
    ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ จอห์น วอเตอรส์ ผู้กำกับหนังชาวอเมริกัน ได้กลายเป็นศิลปินที่โด่งดังที่สุดในวงการภาพยนตร์ เมื่อเขานำเอากิจวัตรประจำวัน ของผู้คนในละแวกบัลติมอร์ ออกมาถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกใน Pink Flamingos
    ความสำเร็จของวอเตอรส์เป็นเรื่องอื้อฉาว เพราะหนังของเขาเต็มไปด้วย เรื่องราวการ "กินขี้ปี้นอน" พฤติกรรมทางเพศอันอุจาดลามก และไลฟ์สไตล์อันพิลึกพิลั่น ของชาวบ้าน ส่วนรูปแบบการนำเสนอ ก็มีแต่ความหยาบกระด้าง ตรงไปตรงมา ไร้ทั้งการปรุงแต่ง และรสนิยมอย่างสิ้นเชิง
    เมื่อคำนึงถึงว่า นั่นเป็นยุคเดียวกับที่หนังศิลปะ กำลังเป็นที่นิยมในสังคมอเมริกัน และเป็นยุคที่คนยังเชื่อกันว่า หนังแบบนี้จะต้องมีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง และทรงไว้ซึ่งภูมิปัญญา อีกทั้งเป็นความหวังของชนชั้นกลางว่า จะมีบทบาทในการยกระดับภาพยนตร์ตลาด ให้กลายเป็นศิลปะที่สูงส่งได้ในอนาคต "ความถ่อย" ของ Pink Flamingos จึงเป็นอะไรที่ "ทะลุกลางปล้อง" ขึ้นมาอย่างรุนแรง
     หนังของเขาไม่มีช่องว่างให้เราสามารถถอยห่าง และวิจารณ์ด้วยปัญญา ยกตัวอย่างเช่น การเอารูทวารมาขยายใหญ่เต็มจอ และขมิบไปมาต่อหน้าคนดู (ใน Pink Flamingos) บังคับให้เรามีปฏิกิริยาได้เพียงสองอย่าง ไม่ชอบก็เกลียด ไม่หัวเราะจนตกเก้าอี้ ก็รีบเดินหนีออกไปจากโรงหนังเลย มุขต่าง ๆ ในหนังเรื่องนี้ ถ้าเอามาเทียบกับหนังในยุคปัจจุบัน ก็ยังต้องนับว่าเหนือกว่าตลกอสุจิใน Something about Mary และมุขกำขี้กำตดใน Dumb and Dumber หลายเท่า
    ที่น่าฉงนยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หนังของเขาไม่ใช่หนังเอ็กซ์  ไม่ได้ยั่วยุกามารมณ์ แถมยังค่อนไปทาง กระตุ้นปมอยากอ้วกของเราเสียมากกว่า กิจกามอันวิปริต ไม่ว่าจะเป็นระหว่างคนกับคน คนกับสัตว์ และคนกับสิ่งของ ไม่ได้สะท้อนแง่มุมของชีวิตที่น่าใคร่ครวญ ความรุนแรงไม่ได้มีไว้วิพากษ์วิจารณ์สังคม ส่วนภาพลักษณ์ของวอเตอรส์ ก็ไม่ใช่ภาพของปัญญาชนผู้กำลังโกรธแค้นสังคม แต่เป็นเพียงคนไร้รสนิยม ที่แสนจะภูมิใจในตัวเอง
    Pink Flamingos สร้างความตระหนกตกใจแก่วงการภาพยนตร์ และถูกยกขึ้นทำเนียบหนังคลาสสิก ในเวลาเกือบจะทันที อาจกล่าวได้ว่านับแต่นั้นมา อเมริกาก็ยอมรับว่า ความถ่อยเป็นส่วนหนึ่งของพลังทางปัญญา และจิตวิญญาณ และเป็นแนวทางที่น่าเชิดชู ไม่น้อยไปกว่าสุนทรียะในแบบดั้งเดิม หนังซึ่งเต็มไปด้วยความอุจาดลามก และเรื่องอัปรีย์สีกระบาลเรื่องนี้ กลับถูกหยิบยกขึ้นมาเทียบขั้นกับหนังชั้นสูงของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ได้อย่างหน้าตาเฉย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความละเมียดละไม หรือเต็มไปด้วยรสนิยมเช่นหนังศิลปะ และไม่มีปมประเด็นทางปัญญา ที่น่าขบคิดเช่นหนังทดลอง 
Pecker ความถ่อยกับความเท่ (คลิกดูภาพใหญ่)    ส่วน จอห์น วอเตอรส์ ก็ถูกยกย่องให้เป็น "อธิการบดีแห่งความถ่อย" หรือ "ราชาแห่งรสนิยมอันเลวทราม" (King of Kitsch) กลายเป็นที่ยอมรับ และยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน
    เป็นที่รู้กันว่า กระแสนิยมความถ่อย ความเชย ความไร้รสนิยม กำลังหวนคืนกลับมาอีกครั้งในยุค ๙๐ หรือรอบสิบปีที่ผ่านมา เราจะพบสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะในศิลปะชั้นสูง หรือสิ่งบันเทิงของคนชั้นกลาง ในการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมร่วมสมัย เสน่ห์ของความถ่อย ยังคงเป็นปริศนาอย่างหนึ่ง ซึ่งหาคำอธิบายได้ยาก
    หากจะมองหาคน "วงใน" ที่เข้าใจว่า ทำไมความต่ำต้อยไร้รสนิยมจึงกลายเป็นของทันสมัย และคนที่สามารถอธิบายกลไก ในการเอาวัฒนธรรมของชาวบ้าน และคนชั้นต่ำมายกย่อง หรือนำเอาความถ่อยมา "ฟอก" ให้กลายเป็นของสะอาดได้ คงไม่มีใครเหมาะไปกว่า จอห์น วอเตอรส์
    หนังเรื่อง Pecker ซึ่งวอเตอรส์สร้างขึ้นมาเมื่อสองปีที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของเขาเอง ในเรื่องนี้ นอกจากจะหันไปมองวิถีทางการก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ของตัวเอง อย่างเสียดสี และมีอารมณ์ขันแล้ว เขายังหยิบยกเอาความวิปริตในโลกศิลปะ หรืออีกนัยหนึ่งกระบวนการ "การทำความถ่อย ให้เป็นความเท่" มาเป็นเนื้อหาสาระที่สำคัญอีกด้วย 
      ตัวเอกของเรื่องซึ่งมีชื่อว่า เพกเกอร์ (เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง) ทำงานในร้านแฮมเบอร์เกอร์เล็ก ๆ ในบัลติมอร์ เขาเป็นเด็กหนุ่มที่รักการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ ทุกวัน เพกเกอร์จะออกไปจับภาพคนในละแวกบ้าน ซึ่งเต็มไปด้วยคนชั้นต่ำ และวัฒนธรรมที่เรียกกันอย่างสุภาพว่า "นอกกระแส" ชาวบ้านเหล่านี้เป็นพวก "ไวท์แทรช" หรืออเมริกันผิวขาวระดับล่าง ที่ยากจน และไร้การศึกษา วัฒนธรรมชุมชนของเขาไม่ได้สวยงาม หรือเรียบร้อยน่ารัก ตรงกันข้าม มีแต่ความซ้ำซากจำเจของชีวิตในเมือง และเรื่องไม่เอาไหนของผู้คน
    เมื่อมองผ่านสายตาอันอ่อนวัยไร้เดียงสาของเพกเกอร์ บัลติมอร์ เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ ช่างภาพหนุ่มน้อยของเรา มองเห็นความเป็นศิลปะ ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรอยคราบฝังลึกบนกางเกงใน เศษอ้วกและน้ำตาลบนแก้มเด็ก เนื้อบดบนเตาแฮมเบอร์เกอร์ เรื่องไสยศาสตร์เหลว ๆ ไหล ๆ ของย่า (ผู้เชื่อว่ารูปปั้นพระแม่มารีพูดได้) ใบหน้าของเพื่อนบ้าน ที่กำลังหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต บัลติมอร์ไม่ใช่สรวงสวรรค์ แต่ก็มีชีวิตชีวาในแบบฉบับของตัวเอง ไม่มีอะไรน่าเบื่อ หรือน่าเกลียดน่ากลัวในสายตาของเขา ขนในที่ลับของสาวเลสเบี้ยน นักเต้นระบำโป๊ อาจกลายเป็นองค์ประกอบทางศิลปะ บาร์เกย์ใกล้บ้านอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ "ชุมชน" ที่อบอุ่น หรือหนูสกปรกที่กำลังปี้กันในถังขยะ ก็อาจเจือปนด้วยความน่ารัก ความจริงดิบ ๆ ที่ใคร ๆ ก็มองข้ามนั้น เต็มไปด้วยความงามที่เพกเกอร์หลงใหล
     อยู่มาวันหนึ่ง รอรี่ (ลิลี่ เทย์เลอร์) นักค้าศิลปะชื่อดังจากนิวยอร์ก บังเอิญมาเห็นรูปเหล่านั้นเข้า เธอชอบรูปถ่ายชุดนี้ และจัดการนำไปแสดงที่นิวยอร์กในทันที ผลงานได้รับการต้อนรับจากคนในวงการศิลปะอย่างดียิ่ง มันสร้างความตื่นเต้น และตกตะลึงไปทั่วแมนฮัตตัน และในชั่วพริบตาเดียว ใคร ๆ ก็หันมาคลั่งไคล้เพกเกอร์ เขาถูกนำไปเทียบกับช่างภาพระดับ ไดแอน อาร์บัส นักวิจารณ์จากระดับยักษ์ใหญ่ และศิลปินชื่อดัง (ซินดี้ เชอร์แมน มาปรากฏตัวและเล่นเป็นตัวเอง) พากันชื่นชม พิพิธภัณฑ์ใหญ่ระดับวิทนี่ย์ ต้องการงานของเขาไปแสดง นิตยสารชื่อดังเช่น นิวยอร์กแมกกาซีน โว้ก และ อาร์ตฟอรัม พากันเอารูปเขาขึ้นปก
    พ่อและแม่ซึ่งปรกติก็ภูมิใจในตัวลูกชายอยู่แล้ว มีแต่ความตื่นเต้นยินดีที่รูปเหล่านี้ขายได้ พี่สาวซึ่งทำงานในบาร์เกย์ ได้ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ เพื่อนสนิทของเขาเริ่มมีสาว ๆ มาติดพัน จะมียกเว้นก็แต่แฟนของเพกเกอร์ (คริสติน่า ริชชี่) ซึ่งไม่พอใจ เพราะหมั่นไส้สังคมไฮโซของนิวยอร์ก อีกทั้งการมาร่วมงานแสดงรูปถ่าย ทำให้เธอต้องลางานที่ร้านซักรีด
     อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงและเงินทองที่ได้มากลับทำให้ชีวิต และชุมชนของเพกเกอร์ปั่นป่วนวุ่นวาย เมื่อกลับมาบัลติมอร์ เขาพบว่าทุกอย่างในเมืองเปลี่ยนแปลงไปหมด ตั้งแต่บ้านถูกยกเค้า นักสังคมสงเคราะห์ บุกเข้ามาบังคับให้น้องสาวเลิกกินขนมหวาน เพื่อนบ้านพยายามฟ้องเรียกค่าเสียหาย พระแม่มารีของยายเลิกแสดงปาฏิหาริย์ โรงระบำโป๊ถูกปิด เพื่อนของเขาถูกตำรวจจับ บาร์เกย์ของพี่สาว ถูกรุกรานโดยนักท่องเที่ยวจากเมืองกรุง
    ทั้งหมดนี้ก็เพราะความดังของเพกเกอร์ หรือถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น เพราะรูปถ่ายของเพกเกอร์ ที่ปรากฏหราอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ กลายมาเป็นหลักฐาน ที่ปรักปรำพี่น้องเพื่อนฝูงของเขาเอง
    จะว่าไปแล้ว คำว่าวัฒนธรรม ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของชาวบัลติมอร์เลย การ "กินขี้ปี้นอน" เป็นสิ่งที่คนแถวบ้านเขาทำกันแต่เช้ายันค่ำ ไม่มีใครมานั่งคิดว่ามันต่ำหรือสูง ควรปกปิดหรือเปิดเผย รวมทั้งคิดจับมันไปเทียบกับบรรทัดฐานของใคร ๆ
    ขณะที่เพกเกอร์คิดว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำกันในบัลติมอร์ เป็นเรื่องปรกติธรรมดา ส่วนรูปถ่ายของเขา ก็เป็นเสมือนอนุทินบันทึกชีวิตประจำวัน คนในวงการศิลปะ กลับมองว่าพฤติกรรมของชาวบัลติมอร์ เป็นเรื่องท้าทายต่อกฎหมาย และศีลธรรม ส่วนรูปถ่ายของเพกเกอร์นั้น เป็นการเปิดเผยมุมมืดของชีวิตดังกล่าวออกมา
     สำหรับชาวไฮโซในนิวยอร์ก culture ของชาวบัลติมอร์มีสถานะเป็น sub-culture หรือวัฒนธรรมขั้นต่ำของชาวนิวยอร์ก เบื้องหลังอาการใจกว้าง แบบเสรีนิยมของชาวไฮโซก็คือ ทัศนคติที่ดูถูกเหยียดหยามคนท้องถิ่นว่าถ่อยและต่ำช้ากว่าของตัวเอง แต่ความเหยียดหยามนี้มีม่านของคำว่าศิลปะ และสีหน้าที่แสดงความเอ็นดูมาปิดบัง ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้มันจะเป็น "ความถ่อย" ที่สร้างความตระหนกตกใจ ชาวไฮโซก็มีวิธีกลบเกลื่อนความรู้สึกนั้น เช่นส่งเสียงตะเบ็งเซ็งแซ่ว่า มันคือ "ความเท่" และพยายามทำให้มันมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของตน
    มาถึงตรงนี้ เราคงเห็นแล้วว่า สิ่งที่หนังพยายามจะบอกก็คือ ถึงแม้ความถ่อยในศิลปะ จะมีนัยว่าทำไปเพื่อสั่นคลอนสถานะอันสูงส่ง ของวงการ แต่ในความเป็นจริง มันมักจะถูกดูดกลืน ให้กลายเป็นสิ่งที่รับใช้อุดมการณ์ของศิลปะจนได้ ถ้าเปรียบงานที่จงใจจะช็อกคนดูว่าเป็นสัตว์ป่า อุดมการณ์ที่ว่าก็เอาศิลปะแบบถ่อย ๆ นั้นมาฝึกให้กลายเป็นสัตว์เชื่องๆ ได้ ไม่ว่ามันจะดุร้ายสักแค่ไหน 
     กลวิธีการทำความถ่อยให้เป็นความเท่มีหลายอย่าง ได้แก่การเอา "บริบท" เข้าไปสวมให้ตัวงาน การเอามันไปวางไว้ในแกลเลอรีชื่อดัง การมีนักวิจารณ์มาร่ายคาถา ใส่ถ้อยคำให้แลดูขรึมขลัง รวมทั้งการเอาช่างภาพมือดีมา "สร้างภาพ" ศิลปินและผลงานให้แลดูน่าเลื่อมใส หนังจะย้ำเน้นว่า ภาษาอันแสนดัดจริตดีดดิ้นของนักวิจารณ์ ที่ใช้ยกย่องเพกเกอร์ (เช่นไม่เรียกชาวบ้านว่าคนชั้นต่ำ แต่ใช้คำว่า culturally challenged บรรยายภาพอุจาดตาว่า มีอารมณ์ขันอันร้ายกาจ หรือสรรเสริญศิลปินว่า มีความจริงใจเป็นที่ตั้ง) เป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งทำให้รูปถ่ายของเพกเกอร์ กลายเป็นสุนทรียะขั้นสูง หรือไม่ก็ผลงานของศิลปินปัญญาชนไปเลย
    ที่น่าขบขันที่สุดก็คือ การพยายามบอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านทำนั้นมีความแท้ (authenticity) อยู่ในตัวเอง ทั้ง ๆ ที่การกระทำนั้นเป็นปรกติวิสัยของชุมชน ไม่ได้มีมโนทัศน์เรื่องความแท้ หรือจริงใจเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย ชาวบ้านในบัลติมอร์ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การทำ tea bag หรือแกว่งไข่ใส่หน้าลูกค้า ของหนุ่มนักเต้นระบำโป๊ เป็นวัฒนธรรมที่มีความแท้แฝงอยู่ 
     ในตอนท้ายเรื่อง เพกเกอร์ตัดสินใจ ไม่ยอมเอางานชุดใหม่ไปแสดงที่นิวยอร์ก เขาจัดงานแสดงศิลปะขึ้นที่บัลติมอร์ แต่คราวนี้ แทนที่จะเปิดโปงมุมมืดของชีวิตชาวบ้าน เขาหันกล้องเข้าไปหาชาวนิวยอร์ก และใช้รูปถ่ายของเขาเปิดโปงความเน่าเฟะของชุมชนศิลปะ 
    หนังจบลงอย่างน้ำเน่าอยู่ไม่น้อย เพราะหลังจากสอนให้ชาวนิวยอร์ก รู้ซึ้งถึงรสชาติของการถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน และปรับความเข้าใจกันได้ ชุมชนก็กลับมามีชีวิตที่สงบผาสุกดังเดิม 
    อย่างไรก็ตาม เพื่อบอกคนดูว่า เขาก็รู้ว่านี่เป็นการจบแบบเพ้อฝัน วอเตอรส์เลยให้มีใครคนหนึ่ง ตะโกนว่า "End of irony" ขึ้นมาในฉากสุดท้ายอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย irony หรืออาการ "เหยียดหยามก็ไม่ใช่ ยกย่องก็ไม่เชิง" นั้น เป็นบุคลิกสำคัญของศิลปะยุคใหม่ที่ถูก Pecker เยาะเย้ยอย่างรุนแรงมาตลอดทั้งเรื่อง การบอกว่า อาการนี้สิ้นสุดลงแล้วจึงถือได้ว่า เป็นการประชดประชันที่ซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง
     หากเชื่อว่าศิลปะในยุคโพสต์โมเดิร์นต้องมี irony หรือความคลุมเครือของเนื้อหา อารมณ์ และอุดมการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่วนการปะทะสังสรรค์ระหว่างคู่ตรงข้าม (อันได้แก่ ถ่อยกับเท่ ต่ำกับสูง นอกกับใน โทรมกับสวย ชังกับชอบ เหยียดหยามกับยกย่อง) เป็นแก่นแท้ของสุนทรียะ หนังของ จอห์น วอเตอรส์ ซึ่งเล่นกับความ "ถ่อยกับเท่" ก็ต้องถือว่าเป็นตัวอย่างที่เด่นที่สุดของศิลปะในยุคนี้
    สำหรับ Pecker ศิลปะที่ไม่ได้มีด้านเดียว แต่ประกอบด้วยด้านตรงข้ามที่ขัดแย้ง และต่อสู้กันเอง โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่บริบท และสถานภาพของมัน ยากนักที่ศิลปะแบบนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ดี เช่นจุดประกายทางปัญญา หรือแง่ร้าย เช่นสร้างความตระหนกตกใจให้แก่คนดู ดังนั้น ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าไปทำลายความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคุณค่าทั้งสอง แต่ถึงที่สุดแล้ว กลับเป็นเพียงกลวิธี ในการดำรงความแตกต่างอันนั้นไว้
     สังคมไทยอาจจะไม่ใช่นิวยอร์ก เพราะยังไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นที่มีแต่ความถ่อยอย่างสุดขั้ว ส่วนการแสวงหาความเท่และความแท้ ก็ยังไม่ถึงกับไปขุดคุ้ยกันในกองอาจมทางวัฒนธรรม เช่นในหนังของ จอห์น วอเตอรส์ แต่ถ้ามองในแง่ที่มีการพยายามพลิกฐานะของต่ำ ให้กลายเป็นของสูง หรือนำเอาสิ่งสกปรก มาผ่านการ "ฟอก" ทางวัฒนธรรม เราจะเห็นตัวอย่างที่คล้ายกัน
    ในวงการศิลปะ มีการนำเอาวิถีชีวิตชาวบ้านร้านตลาด รวมทั้งสัญญะของสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุบูชา ข้าวปลาอาหารหรือยานพาหนะ (ใบเซียมซี ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย หรือรถแท็กซี่) มาทำเป็นมหรสพสำหรับนักเสพศิลป์ ในวงการภาพยนตร์ มีการนำเอาขนบหนังแบบ "ไทย ๆ" ที่ผู้คนเคยหัวเราเยาะ มาฟอกใหม่จนกลายเป็นเนื้อแท้ของความเป็น "ไทย" ที่ใคร ๆ ก็ภูมิใจ ในวงการวรรณกรรม มีการนำเอานิยายที่เกี่ยวกับชีวิตชาวบ้าน ที่ถือกันว่า "นอกกระแส" (เช่นคนอีสาน) มาเปลี่ยนแปรสถานะ เริ่มตั้งแต่เป็นเรื่องอ่านเล่น ไปเป็นนิยายขายดี เป็นตำราเรียน จวบจนปัจจุบันก้าวไปถึงขั้นวรรณกรรมชั้นสูง (ซึ่งจะว่าไปแล้ว บางเล่มล้ำยุคกว่านิยายแนว "ทดลอง" ที่แถมบทความเสียอีก เพราะเป็นนิยายที่แถมตำราทำกับข้าวมาด้วย)
    กล่าวได้ว่า ศิลปะแบบนี้มีความเป็น "โพสต์โมเดิร์น" ไม่น้อยไปกว่าศิลปะภาพถ่าย ในหนังเรื่อง Pecker เพราะมีถ่อยกับเท่ ต่ำกับสูง เหยียดหยามกับยกย่อง เป็นคู่ตรงข้ามที่ต่อสู้กัน และทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา