เ รื่ อ ง ข อ ง เ ห ล้ า อ งุ่ น
ในเมืองไทย
ก่อนจะเกิดเหล้าองุ่นในเมืองไทย ก็จะต้องเล่าถึงว่า ทำไมเมืองไทยจึงมีองุ่นมากมาย พอให้ทำเหล้าองุ่นออกขาย และกินกันในปัจจุบันนี้ และไม่เพียงแต่เท่านั้น องุ่นสดของไทย ยังมีคุณภาพดีพอส่งออก ขายให้เพื่อนบ้านข้างเคียงได้กินด้วย
ท่านที่อ่านเรื่องนี้อาจอยากรู้ว่า มีเหตุอื่นใดที่เกิดมีองุ่นขึ้นในเมืองไทย ซึ่งก่อนเกิดไทยทีวีช่อง ๔ ที่บางขุนพรหมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น การปลูกองุ่นในเมืองไทยมีคนทดลองปลูกกันน้อยเต็มที ฉะนั้นใครที่ปลูกองุ่นจนมีลูกกินได้ จึงถือได้ว่าเป็นผู้วิเศษ
จำได้ดีว่าพ่อของผู้เขียน เคยพยายามปลูกต้นองุ่น พ่อเอาพันธุ์องุ่นมาจากไหนไม่ได้จำ แต่เมื่อท่านลงมือปลูกองุ่นเพียงหนึ่งต้น ผู้เขียนก็ฝันที่จะได้เห็นเถาองุ่นเลื้อยไปตามเรือนต้นไม้ แล้ววันดีคืนดี ก็จะมีพวงองุ่นห้อยระย้าลงมาใต้ร้าน เหมือนรูปภาพที่เคยเห็นในหนังสือ รสชาติจะเปรี้ยวหรือหวานยังไม่ได้คิด
นั่นคือเมื่อ ๖๕ ปีมาแล้ว พ่อพยายามเลี้ยงต้นองุ่นอย่างระมัดระวัง เถาองุ่นเติบโตและเลื้อยอย่างที่คิด เลี้ยงอยู่สองปี ต้นองุ่นมีแต่ใบ ไม่เคยเห็นพวงองุ่น หรือลูกองุ่นแม้แต่ลูกเดียว พ่อพยายามค้นคว้าหาความรู้ จนที่สุดก็ได้ความว่า เมื่อถึงเวลาต้องตัดแต่งใบทิ้งให้มาก แล้วเร่งด้วยปุ๋ยให้มันแตกใหม่ พ่อตัดแต่งอย่างตำราเขาบอก
แม้ว่าพ่อจะเป็นชาวนามาจากสระบุรี ชอบปลูกต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ แต่พ่อก็ไม่ใช่เกษตรกรที่เคยร่ำเรียนอะไรมา เพียงแต่พ่อสงสัยที่เขาว่ากันว่า องุ่นเป็นพืชเมืองหนาวปลูกกันในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน ฮังการี โปรตุเกส และประเทศในเขตหนาวอื่น ๆ พ่อรู้ดีว่าเหล้าองุ่นที่มาจากเมืองต่าง ๆ ในดินแดนเหล่านั้นมีรสชาติดี เพราะพ่อเคยลิ้มรสอยู่บ่อย ๆ เมื่อท่านเป็นหนุ่ม เหล้าองุ่นยังไม่แพงหูดับอย่างทุกวันนี้
วันหนึ่งพ่อไปอ่านตำราพบว่า ในเขตอบอุ่น และค่อนข้างร้อนในหลายประเทศก็ปลูกองุ่นได้ เช่นแถบเปอร์เซีย ซึ่งเดี๋ยวนี้คืออิหร่าน อิรัก ซึ่งแต่ก่อนคือดินแดนเมโสโปเตเมีย แถบลุ่มน้ำไทกริส และยูเฟรติส เป็นดินแดนที่ปลูกองุ่นกินกันมาเป็นพัน ๆ ปี และในดินแดนคานาอาน ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ที่นั่นก็ปลูกองุ่นกินกันมาตั้งแต่สมัยโมเสส แล้วทำไมเมืองไทยจะปลูกบ้างไม่ได้
การตัดแต่งต้นองุ่นของพ่อจะถูกหรือผิด เพราะตัดแต่งผิดฤดูกาล หรือตัดแต่งมากเกินไป ผลที่สุดก็คือ ต้นองุ่นเฉาและแห้งตายในที่สุด แต่นั้นมาความฝันที่จะเห็นพวงองุ่น ห้อยระย้าอยู่ใต้ร้านต้นไม้ก็เลือนหายไป พ่อก็ไม่พูดไม่จา และไม่ได้หาต้นองุ่นมาปลูกอีกเลย
มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ ผู้เขียนทำงานอยู่ที่ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม รับหน้าที่จัดรายการสารานุกรมทางอากาศ เป็นรายการสารคดี ซึ่งนำเอาเรื่องราวที่เคยมีผู้ทำสิ่งแปลกใหม่ และเป็นเรื่องน่ารู้ มาเล่าสู่ออกอากาศให้ผู้คนได้ชมกัน คราวละ ๓๐ นาที รายการสารานุกรมทางอากาศนี้ สมัยท่านศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ยังมีชีวิตอยู่ เคยเชิญท่านมาเล่าเรื่องการสะสมหนังสือเก่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝรั่งเขียนถึงเมืองไทยและคนไทย ท่านสะสมไว้มากมาย เช่นเดียวกันเมื่อท่านอาจารย์ขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) ยังมีชีวิตอยู่ ก็เคยเชิญท่านมาวิเคราะห์คำกลอนพระอภัยมณีของสุนทรภู่ และใครต่อใครอีกหลายสิบท่าน ก็เคยถูกเชิญมาบรรยายเรื่องต่าง ๆ ที่ท่านรอบรู้ รู้รอบ แม้นแต่ท่านที่ประดิษฐ์เครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยเครื่องแรก ซึ่งเดี๋ยวนี้จำชื่อท่านไม่ได้เสียแล้ว ก็เคยเชิญมาคุยในรายการ
ด้วยรายการสารานุกรมนี่เอง วันหนึ่งได้ทราบว่า คุณสมพงษ์ ตัณฑเศรษฐี ผู้มีอาวุโสในวงการประกันภัยประกันชีวิต ทำงานอยู่กับ คุณสุริยน ไรวา เป็นผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ในการปลูกองุ่น องุ่นของท่านหวานหอม ลูกใหญ่ขนาดเหรียญ ๕๐ สตางค์สมัยนั้น ผู้เขียนเชิญท่านมาออกอากาศทางไทยทีวี ช่อง ๔ ขอให้ท่านเปิดเผยว่าทำอย่างไร ท่านจึงได้รับความสำเร็จในการปลูกองุ่น จนได้กินลูก ที่เชิญท่านมา ก็เพราะผู้เขียนแอบทราบว่า ท่านรู้จักกับพ่อของผู้เขียน อาจเป็นท่านผู้นี้เองที่พ่อไปได้พันธุ์องุ่นมาปลูก พ่อคงเรียนจากท่านมาไม่จบจึงไม่ได้องุ่นกิน
ด้วยคำสัมภาษณ์จึงทราบว่า คุณสมพงศ์เรียนผิดเรียนถูก และเปิดตำราอยู่หลายปี จนที่สุดเพิ่งมาจับทางได้เมื่อราว พ.ศ. ๒๔๙๕ ท่านเล่าว่า ทดลองดูจนทราบว่า ถ้าจะให้ได้ลูกต้องตัดแต่งกิ่งพร้อมๆ กับประเทศที่เขาปลูกองุ่น ในแถบเหนือเส้นศูนย์สูตรเขาตัดแต่งกัน เมื่อได้เวลาที่ตรงกับฤดูใบไม้ผลิ เถาองุ่นที่ได้รับการตัดแต่งกิ่งใบให้ได้พักสักระยะหนึ่ง พอใกล้เวลาถึงใบไม้ผลิ ซึ่งบ้านเราก็คือฤดูร้อน ราวต้นเดือนพฤษภาคมก็เร่งปุ๋ยรดน้ำ คอยหน้าฝนตกตามฤดูกาล และเมื่อฝนลง ต้นองุ่นก็จะแตกใบอ่อน และออกดอก แล้วก็กลายเป็นช่อเป็นพวงเป็นผลองุ่น
คุณสมพงษ์ยังเล่าต่อไปอีกว่า เมื่อได้พวงองุ่นแล้ว ต้องคอยเฝ้าดู พอโตได้ขนาดสมควร ก็ต้องปลิดลูกองุ่นที่เบียดกันอยู่ ออกเสียบ้าง ลูกที่อยู่ก็จะโตเต็มที่ เพราะไม่ต้องแย่งอาหารกับลูกอื่น ๆ มากนัก
สมัยนั้นเรื่องการใช้ปุ๋ย หรือยาเร่งให้ออกดอก แม้แต่การใช้ยากำจัดศัตรูพืช ยังไม่แพร่หลาย มีครูบาอาจารย์ยังไม่มาก เพราะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพิ่งจะเลิกได้เพียงเจ็ดแปดปี ถึงแม้นบ้านเมืองจะไม่อัตคัด แต่ความรู้ใหม่ ๆ ทางการเกษตรยังไม่กว้างขวาง ที่ไทยทีวีช่อง ๔ มีนักวิชาการเกษตรท่านหนึ่ง มาพากเพียรแนะนำวิทยาการในการปลูกต้นกล้วยไม้ ท่านคือศาสตราจารย์ระพี สาคริก ต้องบอกกล่าวไว้เพื่อเป็นหลักฐาน เพราะผู้เขียนรู้เห็นมาตั้งแต่ต้นว่า ท่านอาจารย์ระพี เริ่มต้นตั้งแต่ไปช่วยคุณพี่ถนอม หงสนันทน์ ภริยาของท่านรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คุณประสงค์ หงสนันทน์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ในตอนแรกยังไม่เกิดทีวี เมื่ออยู่ในช่วงเตรียมการ ก็เปิดดำเนินการสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ขึ้นก่อน
ท่านอาจารย์ระพีไปช่วยทำรายการอบรม และแนะนำเรื่องการปลูกกล้วยไม้ ที่ห้องส่งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ของไทยทีวีที่สี่แยกคอกวัว ท่านแนะนำด้วยภาษาไทยง่าย ๆ ที่ใครก็ฟังรู้เรื่อง ท่านให้กำลังใจว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ถ้ามีใจรักกล้วยไม้ก็เป็นต่อแล้ว ผู้ที่ไปเข้าฟังการอบรมหลายท่าน อยากลองปลูกกล้วยไม้บ้าง แล้วก็มีผู้สนใจปลูกกันเป็นเรื่องเป็นราว จนบัดนี้ได้เป็นที่ยอมรับ และยกย่องว่าท่านอาจารย์ระพี เป็นบิดาของการปลูกกล้วยไม้ในเมืองไทย ท่านยังแข็งแรง และสอนให้คนไทยเกิดนิสัยรู้จักรักธรรมชาติมากขึ้น จนกระทั่งทุกวันนี้ ใครที่ปลูกกล้วยไม้ทำมาหากินอยู่ ถ้าไม่นึกถึงท่านผู้นี้ ก็จะเหมือนผู้ไม่มีกตัญญู
กลับมาเล่าต่อไปเรื่องการปลูกองุ่นในเมืองไทย หลังจากออกรายการทางโทรทัศน์ ที่ผู้เขียนเป็นผู้จัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ แล้ว คุณสมพงศ์ ตัณฑเศรษฐี ก็ช่วยให้ข้อมูลให้ข้อแนะนำ และขยายพันธุ์องุ่นให้ผู้คนไปปลูกกันหลายราย ทุกรายได้รับผลสำเร็จ ได้องุ่นกินจนอีกสิบกว่าปีต่อมา ไม่ต้องง้อองุ่นสั่งนอก สายพันธุ์องุ่นดี ๆ ได้รับการนำมาทดลองปลูกกัน ทั้งองุ่นขาวและองุ่นแดง ผู้ที่สนใจจริงจังถึงกับสั่งพันธ์องุ่น ที่อาจใช้ทำเหล้าองุ่นได้ ทั้งเหล้าองุ่นขาวและเหล้าองุ่นแดง มาทดลองปลูกคราวละมาก ๆ สวนองุ่นเริ่มเกิดที่ดำเนินสะดวก ที่ปากช่อง เชียงราย ปราจีนบุรี ดินดีน้ำดีที่ไหน ก็มีผู้ทดลองปลูก องุ่นพันธุ์ต่าง ๆ ขยายมาเติบโต เป็นสวนเป็นไร่อย่างกว้างขวาง
นี่เป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง และติดตามมาโดยตลอด เพราะเท่าที่ตั้งข้อสังเกตมาเป็นแรมปี มีความเชื่อมั่นว่า ด้วยที่ตั้งอันอุดมสมบูรณ์ ด้วยดินคุณภาพดี ลางแห่งดินมีกรดมาก ลางแห่งก็มีด่างมาก ใครรู้จักเลือกพันธุ์ไม้ รู้จักเลือกที่ปลูกให้เหมาะทั้งพื้นที่ ทั้งลมฟ้าอากาศ ที่แตกต่างกันในเมืองไทย มีทั้งเย็นจัดในฤดูหนาว ร้อนและแห้งในฤดูร้อน มีทั้งที่ราบสูง มีหุบเขาและภูเขา ที่ราบลุ่มน้ำ มีทั้งดินเหนียว ดินโคลน ดินทราบ ดินปนหินปูน ใครรู้จักเลือกที่ให้เหมาะ จะปลูกอะไรขึ้นได้คุณภาพดี และยิ่งวันยิ่งคืนมีผู้รู้ มีนักวิชาการ มีการวิจัย มีการแพร่หลายกระจายความรู้
เมืองไทยใครอยากจะปลูกอะไรก็ปลูกได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระประมุขของชาติ ทรงเป็นองค์ผู้นำการทดลองปลูกพืชเมืองหนาว และทรงทดลองด้วยพระองค์เอง ที่เมืองไทยบัดนี้ มีผลสตรอเบอรีสดกินกันทั่วไป ในระหว่างเดือนธันวาคม ถึงกุมภาพันธ์ทุก ๆ ปี ก็เป็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาพันธุ์สตรอเบอรี สายต่างๆ มาทดลองปลูกขึ้น เพื่อเป็นพืชทดแทนการปลูกฝิ่น ตามไหล่เขาทางภาคเหนือของประเทศไทย
ไม่เพียงแต่เท่านั้น ผลไม้เมืองหนาวอื่น ๆ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปทดลองปลูก ไม่ว่าจะเป็นกาแฟพันธุ์ดี ดอกไม้สีสวยต่าง ๆ ลูกพลับญี่ปุ่น สาลี่ แอปเปิล ลูกท้อจีน และลูกพีช
ทุกวันนี้ทั้งไม้ล้มลุก และยืนต้นมากมายหลายหลาก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาทดลองปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น กำลังเติบโต เบ่งบาน ออกดอก ออกผล ทำให้ชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่เคยเร่ร่อนถางป่า ต้นน้ำลำธารเพื่อปลูกฝิ่น พากันหยุดอยู่กับที่ คอยรับประโยชน์จากการปลูกพืชเมืองหนาว ที่ได้รับพระราชทาน พวกไทยภูเขา ถวายพระนามว่า "พ่อหลวง" ของเขา
ผู้เขียนเคยได้เห็นการทดลองปลูกเห็ดหอม ที่เชิงพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เห็นไร่ผักและถั่วแดงหลวงที่ขุนวาง ไร่กาแฟที่ช่างเคี่ยน ต้นแอปเปิล ไร่ดอกและหัวกราดิโอลัส และสวนตังกุยที่ดอยอ่างขาง และที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง ล้วนแล้วแต่เป็นโครงการหลวง อันมีกำเนิดขึ้นโดยพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น พระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ นี้เป็นเรื่องที่ครัวไทย จะในครัวหรือข้างครัว จะต้องระลึกถึงด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
องุ่นพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์รีสซิ่ง พันธุ์เมอร์ดอกซ์ คาบาเนต์ โซวิญญอง มุสคัท และอีกเป็นร้อยเป็นพันสายพันธุ์ คงได้รับการนำเอามาปลูกโดยคนไทยที่มีทุน มีความรัก และความสนใจ อุตสาหกรรมเหล้าองุ่นไทย ไม่ว่าจะเป็นไร่องุ่นที่จังหวัดเลย ของคุณหมอชัยยุทธ์ กรรณสูตร ของกลุ่มเบียร์ไทยตราสิงห์ที่เขาใหญ่ ของกลุ่มกระทิงแดง ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง ผู้เขียนได้ทดลองลิ้มรสแล้วพอสมควร ยอมรับว่าดีและจะดีขึ้นไปเรื่อย ๆ
ตอนนี้ให้องุ่นเกิดในเมืองไทยเสียก่อน แล้วต่อไปก็จะเอาองุ่นมาทำเหล้า แข่งกับชิลี แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ที่ แคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะทำได้ แต่ถ้าจะคิดแข่งกับฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี หรือสเปนละก็ เห็นจะต้องคิดหนัก เพราะแหล่งเหล่านั้น ทำเหล้าองุ่นกินกันมาตั้งแต่ครั้งโรมันเรืองอำนาจ ขยายอิทธิพลไปทั่วยุโรป เอาวิชาปลูกองุ่นทำเหล้า เข้าไปเผยแพร่ในดินแดนเหล่านั้นมากว่า ๒,๐๐๐ ปี องุ่นพันธุ์ดีมีอยู่ครบถ้วน ดินดีน้ำดีมีที่ไหนก็รู้กันหมดทุกซอกทุกมุม ความรู้ความชำนาญก็สั่งสมกันมาหลายสิบชั่วคน
ไวน์เมืองไทยนั้น เอากันว่าดีพอลดการนำเข้า จากต่างประเทศให้ได้เพียงสักครึ่งเดียว ก็น่าจะพอใจได้...สวัสดี