กลับไปหน้า สารบัญ
น ก อ้ า ย งั่ ว ที่ ส ร ะ แ ก้ ว
และข้อเสนอแนะบางประการ
รุ่งโรจน์ จุกมงคล : รายงาน / ปณต ไกรโรจนานันท์ : ภาพ
    เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งรายงานว่า พบแหล่งสร้างรังวางไข่ของนกอ้ายงั่วที่ จ. สระแก้ว นับเป็นข่าวที่น่ายินดียิ่งสำหรับวงการปักษีวิทยาเมืองไทย เพราะนี่คือ การยืนยันถึงแหล่งขยายพันธุ์ของนกชนิดนี้ อย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ ๒๐ ปี และที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าก็คือ มีนกอ้ายงั่วมาอาศัยรวมกันมากกว่า ๕๐ ตัว และทำรังอยู่ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รัง
(คลิกดูภาพใหญ่)    เหตุที่ทำให้ข่าวนี้ฮือฮาในหมู่นักดูนก และผู้รักธรรมชาติ ก็เพราะปัจจุบันนกอ้ายงั่ว มีสถานภาพเป็นนกที่หายากมาก ตลอดช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ระบุการพบในพื้นที่เพียงไม่กี่แห่ง โดยมีแหล่งที่พบเป็นประจำอยู่เพียงแห่งเดียว คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ. ชัยภูมิ จำนวนที่พบแต่ละแห่ง ก็มีแค่ครั้งละหนึ่งถึงสองตัวเท่านั้น และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ไม่เคยมีใครพบรังของนกชนิดนี้มานาน ๒๐ ปีแล้ว หลังจากการพบครั้งสุดท้ายที่วัดตาลเอน อ. บางปะหัน จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี ๒๕๒๓ ก็ไม่มีรายงานการพบรังของนกอ้ายงั่วในประเทศไทย อย่างเป็นทางการอีกเลย จนเป็นเหตุให้นักปักษีวิทยาพากันวิตกว่า นกชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยได้ในไม่ช้า
   นกอ้ายงั่วเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนกน้ำขนาดใหญ่ ที่ถูกคุกคามด้วยภัยจากการล่า และทำลายถิ่นอาศัย แม้ว่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ นกอ้ายงั่วเคยเป็นนกประจำถิ่น ที่พบได้บ่อยตามแหล่งน้ำทั่วประเทศ ตามที่ นพ. บุญส่ง เลขะกุลระบุไว้ในหนังสือ Bird Guide of Thailand เมื่อปี ๒๕๑๗ และย้อนหลังไปในปี ๒๔๙๑ ก็เคยมีรายงานว่า พบนกอ้ายงั่วทำรังอยู่ในสวน ริมถนนวิทยุด้วยซ้ำไป แต่เมื่อบ้านเมืองพัฒนาขึ้น ส่งผลให้แหล่งน้ำที่นกใช้หากิน ถูกเปลี่ยนสภาพไปมากมาย พร้อมกับต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่นกทำรังถูกโค่นทิ้ง อีกทั้งชาวบ้านก็ชอบล่านกขนาดใหญ่อย่างนี้กันมาก ภัยคุกคามเหล่านี้เอง ที่ทำให้นกอ้ายงั่วลดจำนวนลง จนแทบสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ก่อนหน้าที่จะพบนกอ้ายงั่วที่สระแก้ว เคยมีข่าวว่า มีนกอ้ายงั่วทำรังรวมกันอยู่นับสิบรัง ในไร่ของเอกชนรายหนึ่งที่ จ. เพชรบูรณ์มานานแล้ว แต่เจ้าของไม่ต้องการเปิดเผยเรื่องนี้ เพราะเกรงว่าอาจมีคนมารบกวน จนนกละทิ้งพื้นที่ไปได้ แต่กรณีนี้ยังขาดข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ ต่างจากที่ จ. สระแก้ว ที่มีรังนกอ้ายงั่วจำนวนมากเป็นหลักฐานชัดเจน
   แหล่งทำรังนกอ้ายงั่วแห่งนี้ อยู่ที่บ้านคลองมะละกอใต้ ต. สระขวัญ อ. เมือง จ. สระแก้ว ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสระแก้วประมาณ ๒๐ กม. โดยฝูงนกพากันทำรังอยู่กลางป่าหย่อมเล็ก ๆ ท่ามกลางไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง และสวนป่ายูคาลิปตัสในบริเวณที่ดินของลุงสนและป้าสมควร สอนจันแดง 
    ลุงสนเป็นชาวไร่ที่ยึดอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก พร้อมกับเลี้ยงเป็ด และปลูกถั่วงาเป็นอาชีพเสริม ลุงสนเล่าว่า มาบุกเบิกที่ดินตั้งแต่มื่อ ๒๐ กว่าปีก่อน สมัยที่แถบนี้ยังเป็นป่ารกทึบ หลังจากนั้นผู้คนก็พากันอพยพเข้ามา หักล้างถางพง จนผืนป่าเตียนโล่งกลายเป็นชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรมสุดลูกหูลูกตา เหลือเพียงป่าในเนื้อที่ ๘ ไร่ หลังบ้านลุงสน เป็นหลักฐานยืนยันถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ เมื่อครั้งอดีต ลุงสนคงเหลือป่าผืนนี้ ไว้เพื่ออาศัยเก็บฟืนมาก่อไฟ สมัยที่ไฟฟ้ายังเข้ามาไม่ถึง โดยไม่คาดคิดมาก่อนว่า มันจะกลายเป็นแหล่งอาศัยของฝูงนกน้ำนานาชนิด ในเวลาต่อมา
     ราวเจ็ดแปดปีมาแล้ว ที่นกกลุ่มแรกเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ สร้างรังในป่าของลุงสน มีทั้งนกยางเปีย นกยางควาย นกแขวก และนกกาน้ำ ลุงสนก็เมตตาให้นกเหล่านี้ได้ทำรัง เลี้ยงลูก และอาศัยอยู่อย่างเป็นสุข นอกจากนี้ในบางปี ก็มีนกกาบบัว หรือนกปากห่างแวะเวียนมาพัก รวมทั้งนกกระสาแดง ที่มาสร้างรังอยู่ด้วยในภายหลัง
    จนกระทั่งราวเดือนพฤษภาคมปีนี้ เริ่มมีนกตัวใหญ่สีดำ ทยอยเข้ามาจับจองพื้นที่ สร้างรังบนต้นไม้ใหญ่ในป่าของลุงสน  แม้จะเห็นความแตกต่างของขนาด และสีสัน แต่ลุงสนก็ไม่ได้ใส่ใจกับพวกมัน คิดเพียงว่าเป็นนกอีกพวกหนึ่ง ที่มาอาศัยหลบภัยอยู่ในที่ดินของแก จนกระทั่งเมื่อเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติ ปางสีดา และกลุ่มรักษ์ปางสีดามาพบเข้า ข่าวนกอ้ายงั่วมาทำรังที่บ้านลุงสน จึงได้แพร่ออกไป และเมื่อได้รับการยืนยัน จากตัวแทนของสมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย ที่เดินทางมาดูในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๓ เรื่องราวของนกอ้ายงั่วที่สระแก้ว จึงถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชน เป็นเหตุให้บ้านลุงสนคึกคักไปด้วยนักดูนก และผู้สนใจจำนวนมาก ที่เดินทางมาเที่ยวชมฝูงนก 
      ที่ป่าของลุงสน นกอ้ายงั่วใช้กิ่งไม้สานเป็นรังอยู่บนต้นดีหมี และต้นเกดขนาดใหญ่สี่ห้าต้น บริเวณกลางป่า มีบางรังยังคงกกไข่อยู่ แต่ส่วนใหญ่ฟักออกเป็นตัวแล้ว แต่ละรังมีลูกนกอยู่สองสามตัว ลูกนกอ้ายงั่วมีขนอุยสีขาวทั่วตัว ต่างจากพ่อแม่อย่างชัดเจน บางตัวก็มีขนสีน้ำตาลคล้ายพ่อแม่แล้ว  แต่หัวและคอยังเป็นสีขาวอยู่ พ่อแม่นกจะผลัดกันบินออกไปหาอาหารมาเลี้ยงลูก ตัวที่ยังอยู่ก็จะคอยดูแลลูก อยู่บนกิ่งไม้ไม่ห่างจากรัง ต้นไม้ที่อยู่ต่ำลงมา มีนกกระสาแดงทำรังอยู่หลายรัง ลูกนกทั้งหมดมีขนขึ้นเต็มตัวแล้ว สำหรับนกยาง และนกแขวกจะทำรังอยู่บนต้นไม้เตี้ย ๆ ในพื้นที่รอบนอก ส่วนใหญ่ลูกนกก็มีขนขึ้นเต็มตัว จนดูคล้ายพ่อแม่แล้วเช่นกัน
    จากการสังเกตรังนกที่บ้านลุงสนพบว่า นกอ้ายงั่วเลือกทำรังอยู่ตามต้นไม้ใหญ ่ในระดับสูงกว่าพวกนกยางที่มีขนาดเล็ก แสดงว่านกขนาดใหญ่ย่อมมีความระแวงภัยสูง อีกทั้งยังต้องการกิ่งไม้ที่แข็งแรง พอจะรองรับน้ำหนักของรัง และลูกนกได้ และนอกจากเหตุผลด้านความปลอดภัย การที่นกมาทำรังรวมกันมากเช่นนี้ น่าจะหมายความว่า พื้นที่แถบนั้นต้องมีอาหารสำหรับเลี้ยงดูลูกนก อย่างพอเพียง 
      หากมีผู้สงสัยว่า นกพวกนี้เคยทำรังอยู่ที่ไหนมาก่อน คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะค้นหาที่มาของพวกมัน ต่างจากคำถามที่ว่า ทำไมนกถึงเลือกมาทำรังที่บ้านลุงสน เพราะความปลอดภัย และปัจจัยที่เหมาะสมดังกล่าว คงเป็นคำตอบได้อย่างดี แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้พวกมันขาดแคลนแหล่งขยายพันธุ์มากเพียงใด จึงทำให้ต้องมารวมกันอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ เช่นนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญ ที่จะตามมาหลังการพบครั้งนี้ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้นก ได้อาศัยทำรังอยู่ที่นี่ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานและองค์กรในพื้นที่ ก็มีแผนจะเสนอให้ที่นี่เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
   การประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ คงช่วยยับยั้งการลักลอบล่านกได้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่หลักประกันว่า ฝูงนกจะยังคงอยู่ที่นี่ตลอดไป หากไม่มีดูแลรักษาพื้นที่ ให้เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของพวกมัน นั่นคือการดูแลป่าผืนนี้ ให้คงความสมบูรณ์เพียงพอ พร้อมทั้งปลูกต้นไม้เสริม เพื่อรองรับจำนวนนกที่เพิ่มขึ้น และทดแทนต้นเดิมที่ตายลง ขณะเดียวกันการเชิญชวนนักดูนก และประชาชนให้มาเที่ยวชม ก็เป็นหนทางที่ช่วยปลูกจิตสำนึก ให้ทุกคนหันมาร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ  และยังเป็นการสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้นกมีคุณค่าขึ้นมาในสายตาชาวบ้าน
     ทว่าการดำเนินการดังกล่าวต้องไม่เป็นการรบกวนนก เพราะที่นี่เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของนก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกมันอ่อนไหวที่สุด โดยเฉพาะนกน้ำขนาดใหญ่ อย่างนกอ้ายงั่ว และเรายังมีข้อมูลของมันน้อยมาก ดังนั้นหากนกคิดว่า ที่นี่ไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ก็อาจทิ้งรังและลูกไปได้ หรืออาจไม่กลับมาอีกเลยในปีต่อไป ดังนั้นพึงตระหนักว่า แม้จะอยู่ห่างจากนกพอแล้ว แต่นกอาจไม่คิดอย่างเราก็ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำสถานที่เข้าชมให้มิดชิด ในระยะห่างที่สุด การใช้อาคารบังไพรที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เข้าช่วยเป็นวิธีที่ดีที่สุด  และควรหลีกเลี่ยงการสร้างหอสูงเพื่อดูนก เพราะมันอาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับนก และเราจำเป็นต้องสนองตอบความต้องการ ของนักท่องเที่ยวกันถึงขนาดนั้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องป้องกัน ไม่ให้มีการเข้าไปรบกวนนก ในพื้นที่ด้านอื่นอย่างเคร่งครัด
     และเรื่องสำคัญที่จะหลงลืมไปไม่ได้เลยคือ สวัสดิการสำหรับลุงสนและครอบครัว เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็เพื่อทดแทนประโยชน์ที่ลุงสนเสียไป จากการอยู่อาศัยของนก และตอบแทนการเสียสละ ในการดูแลนกเหล่านี้ แทนชาวไทยทุกคน
   การได้พบนกอ้ายงั่วที่บ้านลุงสน ย่อมสร้างความปลาบปลื้มแก่ผู้รักนก ยิ่งถ้าเราสามารถทำให้นกเหล่านี้ดำรงชีวิต และขยายเผ่าพันธุ์อยู่ที่นี่ได้ตลอดไป มันจะไม่เป็นเพียงผลงานชิ้นโบแดงสำหรับผู้เกี่ยวข้อง แต่จะเป็นตัวอย่างของการจัดการถิ่นอาศัย ของนกน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่อื่นต่อไป