กลับไปหน้า สารบัญ
เหตุเกิดที่ประจวบคีรีขันธ์ :
วันที่ "โรงไฟฟ้า" มาเยือน
เรื่อง : กุลธิดา สามะพุทธิ 
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
    ถ้าใครสักคนคิดจะเอาเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนเล็ก ๆ สองแห่งนี้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ มันคงกินใจผู้คนไม่น้อยไปกว่า Local Hero แน่ ๆ
(คลิกดูภาพใหญ่)     เพียงแต่ต้องเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจากหมู่บ้านชายทะเลเล็ก ๆ ในสกอตแลนด์มาเป็นบ้านบ่อนอกกับบ้านกรูด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สมมุติให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอกชนทั้งสองแห่ง เป็นแมคอินไทร์ ตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่มาเจรจาขอซื้อที่ดินจากชาวบ้าน, บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นและยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอก จาก "KNOX" บริษัทน้ำมันเจ้าของอภิมหาโครงการ ต่างกันตรงที่กัลฟ์ฯ และยูเนียนฯ ไม่ได้วางแผนจะสร้างโรงกลั่นน้ำมันอย่างในหนัง สิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นเป็นรูปเป็นร่างบนชายหาดประจวบฯ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต ๗๓๔ เมกะวัตต์และ ๑,๔๐๐ เมกะวัตต์ มูลค่าแห่งละประมาณ ๔ หมื่นล้านบาทต่างหาก 
    ส่วนพวกชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อต้านโครงการ ก็คงเป็นเหมือนผู้เฒ่าเบ็น คนที่กอบทรายไว้ในกำมือแล้วพูดกับแมคอินไทร์ว่า "ถึงผมจะขายที่ดินให้คุณ คิดราคาทรายเม็ดละปอนด์ ผมก็ยังไม่อาจกำเงินได้มากเท่ากับจำนวนเม็ดทรายในมือ ผมไม่ต้องการหาดที่สวยกว่า เพราะไม่อยากเริ่มต้นทำความคุ้นเคย ผมฝันจะอยู่อย่างนี้ และไม่ปรารถนาอะไรมากไปกว่านี้เลย..." 
      เรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนเล็ก ๆ กับโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน หรือรัฐบาลอย่างนี้ช่าง "คลาสสิก" นักในยุคสมัยที่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นพระเจ้า จึงไม่แปลกเลย ถ้าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะมีจดหมายหลายฉบับถูกส่งมาถึงชาวบ้าน ที่ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งนี้ 
    "มันเป็นเรื่องตลกสิ้นดีที่ออสเตรเลียจะขาย "ถ่านหินสะอาด" ของตนให้แก่ประเทศไทย ทั้ง ๆ ที่โรงไฟฟ้าถ่านหินในออสเตรเลีย กำลังถูกต่อต้านมากขึ้นเรื่อย ๆ" จดหมายจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในออสเตรเลีย นำโดยองค์กร AID/WATCH ระบุ "ถูกแล้วที่พวกคุณต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะ "ถ่านหินที่สะอาด" ตามคำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลออสเตรเลียนั้น มิได้มีอยู่จริงเลย"
(คลิกดูภาพใหญ่)     ชาวฟิลิปปินส์ที่กำลังต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในเมืองพูลูปันดัน ส่งจดหมายมาเตือนว่า "นายกเทศมนตรีของเราวางแผนมาเยือนชุมชนของคุณ เพื่อที่จะบอกว่า ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนั่นไม่เป็นความจริง" 
    นอกจากที่พูลูปันดัน ชาวบ้านในเมืองบาทังกัส และมาซินล็อคซึ่งมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งอยู่ยังเล่าประสบการณ์ให้ตัวแทนชาวบ้านจากประจวบฯ ฟังอีกด้วยว่า "ในหน้าร้อน บ้านที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าจะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นสีดำ ถ้าหลังคาบ้านไหนรั่วก็ต้องรีบหาผ้าใบมาคลุม เพื่อไม่ให้ฝุ่นจากถ่านหิน และขี้เถ้าปลิวเข้าบ้าน เอาเสื้อผ้าออกมาตากนอกบ้านก็ไม่ได้ ถ้าเดินเข้าไปในสวนอ้อย เนื้อตัวจะสกปรกอย่างกับเดินเข้าไปในโรงถ่าน สมัยก่อนพวกเราถึงขั้นต้องกางมุ้งกินข้าวกันมาแล้ว" 
    "ถ้าทั้งโลกคิดจะสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ สุดท้ายจะไม่เหลืออะไรเลย" เป็นคำเตือนของป้าริกาย่า ชาวเมืองมาซินล็อค ซึ่งต้องสูญเสียทั้งบ้าน นาข้าว สวนมะม่วงและอาชีพประมงไป จากการมาถึงของโรงไฟฟ้า 
    ...หากว่าปลายทางของการต่อสู้เหล่านี้ จบลงอย่างภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คงดี -- เจ้าของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เปลี่ยนใจสร้างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ และนิเวศวิทยาทางทะเล แทนโรงกลั่นน้ำมันหลายสิบโรง แมคอินไทร์ ได้เรียนรู้บางอย่างจากผู้เฒ่าเบ็น และหลงรักวิถีชีวิตของชุมชนริมทะเล ถึงขนาดคิดที่จะทิ้งคอนโดหรูกลางใจเมือง รถปอร์เช่คันงามและเงินเดือนสูง ๆ มาใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านชาวประมงแห่งนั้น 
    ถึงตอนจบของเรื่อง "โรงไฟฟ้าประจวบฯ" จะไม่สวยขนาด Local Hero แต่เราก็ยังหวังว่ามันคงไม่เลวร้ายอย่างที่บาทังกัส และมาซินล็อค

(คลิกดูภาพใหญ่) IPP

    วันที่ชาวประจวบคีรีขันธ์หลายพันคนชุมนุมกันอยู่กลางถนนเพชรเกษม เพื่อขอให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อสองปีก่อน (ธันวาคม ๒๕๔๑) เชื่อได้เลยว่าพวกเขารู้น้อยมากเกี่ยวกับ IPP แต่รู้น้อยหรือมากจะสำคัญอะไรในตอนนั้น เพราะแค่คำว่า "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้คนในจังหวัดเล็ก ๆ นี้กังวลจนต้องปิดถนน เพื่อเรียกร้องคำสัญญาจากรัฐบาล ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่ปรากฏตัวขึ้น 
    แต่วันที่เรือประมงขนาดเล็กหลายพันลำ มาจอดที่อ่าวประจวบ เพื่อประท้วงและประณามการประชาพิจารณ์โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด ว่าเป็นเพียง "ลิเกโรงใหญ่" (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓) รวมทั้งวันที่ชาวบ้านบ่อ
    นอกจุดไฟเผาหุ่นโรงไฟฟ้าจำลอง เพื่อย้ำเจตนารมณ์ "มึงสร้าง กูเผา" (กรกฎาคม ๒๕๔๓) นั้น พวกเขาต้องรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับ IPP มากขึ้นแล้วแน่ ๆ 
    อย่างน้อยก็รู้ว่ามันเป็นที่มาของเรื่องราวความขัดแย้งที่รุนแรงจนคาดไม่ถึง ว่าจะเกิดขึ้นในชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา
    Independent Power Producer หรือโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ เกิดขึ้นตามคำแนะนำของธนาคารโลกที่ว่า การเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมาลงทุนผลิตไฟฟ้า ส่งขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แทนที่จะให้ กฟผ. ผูกขาดการผลิตเหมือนที่เป็นมาตลอด  จะช่วยลดภาระการลงทุน และแก้ปัญหาหนี้สิน ที่สะสมอยู่เป็นจำนวนมากของ กฟผ. ได้ 

 (คลิกดูภาพใหญ่)     ปี ๒๕๓๗, ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะชนะการประมูลโครงการ IPP และได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ. เป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี แต่กัลฟ์ฯ และยูเนี่ยนฯ ก็เป็นสองในเจ็ดบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ที่ทำสำเร็จมาแล้ว โดย กฟผ. เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้ารวม ๕,๘๐๐ เมกะวัตต์ กับ IPP ทั้งเจ็ดรายเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๐
    ถึงที่ตั้งโรงไฟฟ้าของทั้งสองบริษัท จะไม่ใช่  "พื้นที่ภาคกลางบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร" ที่กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) บอกว่าเหมาะสมจะสร้างโรงไฟฟ้ามากที่สุดในขณะนี้  แต่มันก็อยู่ในพื้นที่ที่ถูกเล็งเอาไว้เป็นอันดับสอง คือ "ชายฝั่งทะเลตะวันตก ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ขึ้นมาจนถึงสมุทรสาคร" ซึ่งคาดว่าจะทำให้กระแสไฟฟ้าในภาคใต้มั่นคงขึ้น 
    แต่เอาเข้าจริง "คะแนน" ของกัลฟ์ฯ และยูเนี่ยนฯ ไม่ได้มาจากเรื่องที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว 
    ใน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กฟผ. และ สพช. ให้น้ำหนักคะแนนกับที่ตั้งเพียง ๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยกฟผ. กำหนดโจทย์ไว้กว้าง ๆ ว่า "โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ๆ จะต้องกระจายอย่างเหมาะสม กับแหล่งพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง" ในขณะที่ราคาค่าไฟได้ไปถึง ๖๐ เปอร์เซ็นต์, ๑๑ เปอร์เซ็นต์ สำหรับระดับความพร้อมของโครงการ, ความน่าเชื่อถือ  และความสามารถในการจัดการทางการเงิน ๗ เปอร์เซ็นต์, ประสบการณ์ของกลุ่มผู้ลงทุน ๗ เปอร์เซ็นต์ และเชื้อเพลิง ๔ เปอร์เซ็นต์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     จึงน่าจะสรุปได้ว่า โรงไฟฟ้าบ่อนอก ของบริษัทกัลฟ์ฯ (ต. บ่อนอก อ. เมือง) และโรงไฟฟ้าหินกรูด ของบริษัทยูเนี่ยนฯ (ต. ธงชัย อ. บางสะพาน) ชนะคู่แข่งมาได้เพราะขายไฟให้ กฟผ. ถูกกว่าอีก ๕๐ บริษัทที่ร่วมประมูลในครั้งนั้นนั่นเอง 
    ถึงวันนี้ กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นและยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์จะยังยินดีกับชัยชนะที่ได้มาอยู่หรือไม่ ? ในเมื่อเกือบห้าปีผ่านไป พวกเขาทำได้แค่เพียงเตรียมที่ดินอันว่างเปล่าเอาไว้เท่านั้น  และเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ที่จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบในปี ๒๕๔๔ ตามคำมั่นสัญญาที่ให้แก่ กฟผ. ไว้ในตอนแรก
    เหมือนโชคเข้าข้าง -- ในขณะที่กัลฟ์ฯ และยูเนี่ยนฯ ไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผนการเดิม เนื่องจากถูกชาวบ้านต่อต้านอย่างหนัก กฟผ. เองก็เผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า "กำลังผลิตสำรองเกินความต้องการ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย" กฟผ. กับ IPP อีกห้าราย (รวมกัลฟ์ฯ และยูเนียนฯ) จึงตกลงร่วมกันว่า จะชะลอโครงการออกไปก่อน
      แต่หลังจากนั้นไม่นาน กัลฟ์ฯ, ยูเนี่ยนฯ และ กฟผ. ก็ประกาศแผนการใหม่ว่า โรงไฟฟ้าหินกรูดและโรงไฟฟ้าบ่อนอก จะจ่ายไฟเข้าระบบในปี ๒๕๔๖ นี้อย่างแน่นอน เอกสารชี้แจงโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก เขียนไว้แล้วด้วยซ้ำว่า "เริ่มก่อสร้าง ๑ ตุลาคม ๒๕๔๓" โดยไม่หวั่นไหวกับกระแส "ไม่เอาโรงไฟฟ้า" / "มึงสร้าง กูเผา" ที่ยังคงคุกรุ่นในพื้นที่, ธงเขียว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการคัดค้านโรงไฟฟ้า ที่ยังเกลื่อนตัวเมืองประจวบฯ  และข้อมูลของกลุ่มต้นกล้าเพื่อเศรษฐศาสตร์ทางเลือก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ว่า หากนำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประจวบฯ ทั้งสามแห่ง (โรงไฟฟ้าหินกรูด, โรงไฟฟ้าบ่อนอก และโรงไฟฟ้าทับสะแก ของกฟผ.ซึ่ง กฟผ. ประกาศเลื่อนการก่อสร้างไปก่อนหน้านี้แล้ว) ออกจากแผนผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทย ก็ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๐ ไปจนถึงปี ๒๕๕๔ อยู่ดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า ปานกลาง หรือเร็ว 
    แต่สำหรับ นที สิทธิประศาสน์ จากบริษัทยูเนี่ยนฯ การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรอได้ 
    "ปริมาณไฟฟ้าสำรองในวันนี้มีอยู่มากก็จริง แต่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการไฟฟ้าก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว แต่ต้องใช้เวลาถึงสี่ปี เราไม่สามารถรอให้ไฟฟ้าขาดแคลนเสียก่อน แล้วจึงสร้างโรงไฟฟ้าได้ ทุกคนรู้ดีว่าโรงไฟฟ้ามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร" 

(คลิกดูภาพใหญ่) GPG

    แดดไม่ร้อนมากเพราะบ่ายจัดแล้ว ตำบลบ่อนอกเงียบเชียบผิดปรกติ มีแต่สำนักงานของ Gulf Power Generation เท่านั้นที่ดูคึกคัก เพราะมีรถโฟร์วีลจอดอยู่หลายคัน 
    พระที่วัดสี่แยกบ่อนอก ซึ่งเป็นที่นัดหมายประจำของชาวบ้าน บอกอย่างเคยชินว่า พวกเขาไปดักพบ "คนของกัลฟ์" อยู่ตรงที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า
    วันนี้ชาวบ่อนอกได้ข่าวว่า จะมีวิศวกรมาสำรวจพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า จึงนัดกันไปซุ่มอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ แถวนั้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับ "ยุทธการปาหมามุ่ย" ซึ่งจะเริ่มต้นทันทีที่วิศวกรปรากฏตัวขึ้น 
    รออยู่ตั้งแต่บ่าย ไม่เห็นวิศวกร ชาวบ้านจึงทยอยกลับ 
    ถ้าเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ นับตั้งแต่วันที่บริษัทกัลฟ์ฯ ลงพื้นที่ไปชี้แจงเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกเป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี ๒๕๓๘ ยุทธการปาหมามุ่ยรวมทั้งการโวยวายกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท ขนาดที่ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า "ด่าจนไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาด่า" นี้ยังนับว่าธรรมดา ๆ 

      อีกทั้งเป็นวิธีท้าย ๆ ที่ถูกนำมาใช้ หลังจากได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง, ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัด, เข้าพบรองผู้ว่าการ กฟผ. จนกระทั่งถึงการปิดถนน ไม่ได้ทำให้พวกเขาได้รับความมั่นใจใด ๆ ว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอกจะไม่เกิดขึ้น 
    บริษัทกัลฟ์ฯ เองก็คาดไม่ถึงว่าการต่อต้านจะยืดเยื้อ และหนักหน่วงขนาดนี้ เพราะสำหรับพวกเขา การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บนที่ดิน ๒,๕๐๐ ไร่ชายฝั่งทะเล ห่างจากอำเภอกุยบุรีไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๓๑๐ กิโลเมตร ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาคารเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงผลิตไอน้ำ ปล่องระบายอากาศ สะพาน และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินยาว ๓.๕ กิโลเมตร ท่อดูด และปล่อยน้ำความยาว ๑.๕ กิโลเมตรที่ฝังไว้ใต้ทะเล ลานกองถ่านหิน และบ่อฝังขี้เถ้านั้น ไม่มีอะไรให้ตื่นกลัว หรือน่าต่อต้านเอาเสียเลย ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การเลือกใช้ถ่านหินชั้นดี, ติดตั้งเครื่องตรวจคุณภาพอากาศพร้อมทั้งถุงกรองฝุ่น ไว้ที่ปล่องระบายอากาศ, ปรับอุณหภูมิของน้ำที่จะปล่อยออกมา ให้ใกล้เคียงกับอุณหภูมิปรกติมากที่สุด รวมทั้งออกแบบท่าเทียบเรือ ให้สูงโปร่งพอที่เรือของชาวประมงชายฝั่ง จะลอดผ่านได้ 
    กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินก็ไม่ได้ลึกลับซับซ้อน เพียงแค่ลำเลียงถ่านหินจากท่าเรือของโรงไฟฟ้า มายังลานกองถ่านหิน นำถ่านหินไปบด และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำจนเดือด เพื่อให้เกิดไอน้ำที่มีแรงดันสูง ซึ่งจะไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 
(คลิกดูภาพใหญ่)     และนอกจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะเห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งของโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๔๑ แล้ว โรงไฟฟ้าขนาด ๗๓๔ เมกะวัตต์ ราคา ๓๒,๐๐๐ ล้านบาท บนผืนนากุ้งที่ถูกทิ้งร้างริมทะเลประจวบฯ แห่งนี้ยังนับว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับประสบการณ์การสร้างโรงไฟฟ้า ๕๙ แห่งทั่วโลก รวมกำลังการผลิต ๑๙,๔๐๐ เมกะวัตต์ของบริษัทเอดิสัน มิชชั่น เอ็นเนอร์จี แห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมทุนกับกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่นในการสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก
    สารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์ฯ พูดถึงหุ้นส่วนของเขาเพียงสั้น ๆ ว่า "บริษัทใหญ่ ๆ อย่างนี้ไม่กล้าเอาชื่อเสียงมาแขวนไว้กับโรงไฟฟ้าบ่อนอกแห่งเดียวหรอก"
    แต่สำหรับชาวบ้านบ่อนอก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรปลูกสับปะรดส่งขายโรงงานในท้องถิ่น คำพูดของสารัชถ์ และหลาย ๆ ข้อความที่บริษัทกัลฟ์ฯ ลงทุนโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพ้นจากความหวาดกลัว--
      "อย่าว่าแต่เศษละอองขี้เถ้าลอยอยู่ในอากาศเลย แม้แต่เศษละอองธุลีบนดิน คุณก็จะไม่ได้มีโอกาสเห็น"
    "เราจะจัดการอย่างไรกับกองขี้เถ้า ที่เกิดจากการเผาไหม้จำนวนมหาศาลเหล่านั้น ? ก็หลักการเดียวกับที่คุณตกแต่งสนามหญ้าหน้าบ้านคุณ"
    "เราจัดยามที่จมูกไวต่อก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่สุดในโลกห้านาย ยืนยาม ๒๔ ชั่วโมงตลอดอายุโรงไฟฟ้าของเรา" 
    "เราห่วงใยทุกชีวิตในชุมชน" ฯลฯ 
    ชาวบ่อนอกกลัวว่าการก่อสร้างท่าเรือ และการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อให้เรือขนส่งถ่านหินเดินทางได้สะดวก จะทำลายท้องทะเล กลัวว่าตัวอ่อนของสัตว์น้ำ จะถูกดูดเข้าไปในท่อที่โรงไฟฟ้าฝังไว้ใต้ทะเล เพื่อดูดน้ำไปใช้ กลัวว่าน้ำที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ ๓ องศาเซลเซียส และมีสารเคมีปะปน จะฆ่าสิ่งมีชีวิตในทะเล กลัวว่าการเผาไหม้ถ่านหินจะทำให้อากาศเป็นพิษ และกลัวว่าสารอันตรายในขี้เถ้าที่ถูกฝังกลบไว้ใต้ดิน จะปนเปื้อนในผืนดินและแหล่งน้ำ 
    พวกเขายังเป็นห่วงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าบ่อนอกไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๒๒ กิโลเมตรอีกด้วย เพราะ EIA ของโรงไฟฟ้าบ่อนอกระบุไว้ชัดเจนว่า "จุดที่ไวต่อการได้รับผลกระทบ ได้แก่ บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และภูเขาหินปูน บริเวณอื่นที่จะมีค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงสุด ได้แก่ทุ่งเขามะเม่า ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการ ๗ กิโลเมตร และบางส่วนของเขาสามร้อยยอด"
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐-๑๑ กันยายน ๒๕๔๒ ซึ่งนับว่าเป็นการจัดการกับความหวาดกลัว / ความขัดแย้งอย่างเป็นทางการ ครั้งล่าสุดของรัฐบาล ก็ไม่ได้ช่วยให้ความตึงเครียดนี้คลี่คลาย 
    คณะกรรมการประชาพิจารณ์ ซึ่งมี ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน ถูกโจมตีจากทั้งฝ่ายชาวบ้าน และบริษัทกัลฟ์ฯ เลยด้วยซ้ำ 
    ชาวบ้านบ่อนอกกลุ่มที่คัดค้านโรงไฟฟ้า ประกาศไม่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันถูกจัดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการ IPP ไปแล้ว ส่วนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็ผ่านความเห็นชอบจา กสผ. แล้ว การประชาพิจารณ์ครั้งนี้ จึงเป็นเพียงการ "สร้างความชอบธรรม" ให้แก่การสร้างโรงไฟฟ้า โดยอ้างว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วเท่านั้น
    ทางด้านกัลฟ์ฯ วิจารณ์ว่า นอกจากพวกเขาจะไม่ได้มีส่วนในการตั้งคณะกรรมการประชาพิจารณ์ด้วยแล้ว ความเห็นของคณะกรรมการประชาพิจารณ์ ยังไม่ชัดเจน และไม่เด็ดขาด อนาคตของโครงการ จึงยังคงคลุมเครืออยู่เช่นเดิม 
      "เสียดายที่คนไทยไม่ได้ใช้ไฟในราคาถูก" กรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์ฯ แสดงความรู้สึกต่อความชะงักงันที่เกิดขึ้น "ถ้าโรงไฟฟ้าบ่อนอก หรือบ้านกรูดส่งไฟเข้าไปในระบบ ตามกำหนดเดิม ค่าไฟคงไม่แพงขนาดนี้ เพราะช่วงนี้น้ำมันราคาแพง ในขณะที่ราคาของถ่านหินลดลงค่อนข้างมาก"
    สามปี คือระยะเวลาที่ล่าช้าไปจากแผนการเดิม ๔,๐๐๐ ล้านบาท คือเงินที่บริษัทลงทุนไปแล้วสำหรับโรงไฟฟ้าบ่อนอก 
    "ถ้าโครงการนี้ไม่เกิด เราก็ทำโครงการอื่นได้เยอะแยะไป ไม่ใช่ว่าสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอกไม่ได้แล้ว บริษัทต้องปิด" กรรมการผู้จัดการบริษัทกัลฟ์ฯ อาจพูดประโยคนี้ออกมาเพียงเพราะเหนื่อยใจ ที่โครงการไม่คืบหน้าไปไหนเสียที หรือเขาอาจไม่เดือดร้อนกับมันจริง ๆ ก็ได้ เพราะหาก กฟผ. ยกเลิกสัญญารับซื้อไฟฟ้าในตอนนี้ กฟผ. ก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัท หรือถึงโรงไฟฟ้าจะสร้างเสร็จแล้วแต่ กฟผ. ไม่ต้องการรับซื้อไฟฟ้า เนื่องจากมีปริมาณไฟฟ้าเกินความต้องการ กฟผ. ก็ต้องจ่ายเงินค่าค้ำประกันความเสี่ยง และค่าความพร้อมจ่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระอยู่ดี 

(คลิกดูภาพใหญ่) UPDC

    บ่ายวันนี้ชายหาดบ้านกรูดงดงามตามที่ควรเป็น รีสอร์ตเล็ก ๆ สิบกว่าแห่งเรียงรายอยู่อย่างเรียบง่าย ตรงปลายสุดของชายหาดด้านทิศเหนือ ผู้คนในหมู่บ้านชาวประมง ทำงานของตนอยู่เงียบ ๆ บ้างซ่อมอวน ซ่อมเรือ ตากปลาหมึก แกะเนื้อปูช่างกิโลขาย ฯลฯ 
    ทุกอย่างดูสงบและปรกติ แต่ลึกลงไป ชุมชนชายทะเลแห่งนี้กำลังปั่นป่วน และแตกร้าว
    วันที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในตำบลธงชัยนัดชุมนุม ยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูดต่อ อบต. ธงชัย (ตุลาคม ๒๕๔๐) เป็นวันแรกที่ Union Power Development Co.,Ltd. ได้รู้ว่าแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหิน
    กรูดของพวกเขาเจอปัญหาเข้าแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องราวจะบานปลายถึงขนาดที่ ครม. มีมติให้จัดทำประชาพิจารณ์ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าบ่อนอก รวมทั้งถูก สผ. สั่งให้ศึกษาผลกระทบของโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม เนื่องจากชาวประมง และนักวิชาการพบข้อผิดพลาดของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเรื่องผลกระทบต่อปะการัง และระบบนิเวศในทะเลได้อีกด้วย 

      ตามแผนการเดิม โรงไฟฟ้าหินกรูดต้องเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๒ แล้ว เพราะ สผ. มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการไปตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๑ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้า ให้ในปลายปีเดียวกัน และปีถัดมากรมเจ้าท่า ก็ออกใบอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับขนส่งถ่านหินให้ แต่ถึงวันนี้ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากร่วมทุนของ Union Energy (บริษัทในเครือสหยูเนี่ยน ประเทศไทย) กับบริษัทด้านพลังงานจากต่างประเทศอีก สามสี่แห่ง ก็ทำได้ไม่มากไปกว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอกของบริษัทกัลฟ์ฯ นัก นั่นคือ เตรียมที่ดินเปล่าเอาไว้ และทุ่มเทกับการชี้แจงถึงมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโรงไฟฟ้าต่อสาธารณชนอย่างหนักหน่วง
    โรงไฟฟ้าหินกรูดซึ่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่ ๑,๒๐๐ ไร่ริมทะเลแห่งนี้ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ตลอดสัญญา ๒๕ ปีที่ต้องผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟผ. โครงการประกอบด้วยท่าเทียบเรือน้ำลึก สะพานลำเลียงถ่านหิน ท่อดูดและปล่อยน้ำทะเล ลานกองถ่านหิน อาคารเครื่องกำเนิดไฟฟ้า บ่อทิ้งขี้เถ้า และปล่องระบายอากาศ เหมือนกับโรงไฟฟ้าบ่อนอกทุกอย่าง ต่างกันตรงที่โรงไฟฟ้าหินกรูดผลิตกระแสไฟฟ้า ๑,๔๐๐ เมกะวัตต์ มากกว่าโรงไฟฟ้าบ่อนอกเท่าตัว 
    เหตุผลในการต่อต้าน และความหวั่นวิตกถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าของชาวบ้านกรูด จึงไม่ต่างจากชาวบ่อนอก หรืออาจเข้มข้นกว่าด้วยซ้ำ เพราะบ้านของพวกเขาเป็นหนึ่งในสถานท่องเที่ยวชื่อดัง และไม่มีใครเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะไปด้วยกันได้กับวิถีการท่องเที่ยวของที่นี่ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     นอกจากความเงียบสงบของชายหาดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง ๓๘๒ กิโลเมตร ขับรถไปไม่เกินสี่ชั่วโมง ตำบลธงชัย หรือที่พวกนักเดินทางรู้จักกันว่า "บ้านกรูด" ยังมีสิ่งที่ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกว่า "สมบัติใต้ทะเลซึ่งถูกลืมมาแสนนาน" ซุกซ่อนอยู่อีกด้วย 
    "เหตุที่บ้านกรูดมีปลามากมาย เพราะห่างจากฝั่งเพียงแค่ ๑,๐๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของแนวปะการังกลางน้ำแห่งหนึ่งเรียกว่า "หินกรูด" เป็นแนวปะการังขนาดใหญ่อันดับสองของประจวบฯ (แนวปะการังใหญ่เป็นอันดับหนึ่งคือ เกาะจาน แต่อยู่ในเขตสัมปทานรังนก ยากแก่การไปท่องเที่ยว) และเป็นแนวปะการังกลางน้ำที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด หลายร้อยปีที่ธรรมชาติสร้างแนวปะการังแห่งนี้ขึ้นมา แต่แทบไม่มีใครรู้จักมัน ยกเว้นชาวประมงที่ไปจับปลาเป็นประจำ" 
    ดร. ธรณ์แปลกใจอย่างยิ่งกับการที่ EIA ของโรงไฟฟ้าหินกรูดไม่ได้กล่าวถึงปะการังแห่งนี้เลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้ามากกว่าแนวปะการังที่เกาะรำร่า ซึ่งมีรายงานใน EIA เสียอีก 
    "เป็นไปไม่ได้ที่จะสำรวจไม่พบแนวปะการังหินกรูด เนื่องจากแนวปะการังมีขนาดใหญ่ เพียงแค่ดูจากแผนที่ระวาง ๑ : ๕๐,๐๐๐ ก็ขับเรือยางไปถึงได้อย่างง่ายดาย เมื่อน้ำลงต่ำปะการังบางก้อนจะโผล่ปริ่มน้ำ สามารถมองเห็นได้จากบนเรือ" 
(คลิกดูภาพใหญ่)     สำหรับเขา แนวปะการังหินกรูดอาจไม่สวย หรือหลากหลายเหมือนแนวปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน น้ำทะเลอาจจะไม่ใสเท่าหมู่เกาะห่างไกลชายฝั่ง อย่างเกาะเต่า แต่แนวปะการังแห่งนี้เป็น "ห้องเรียนธรรมชาติที่น่ามาเยือนที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียงสั้น ๆ และค่าใช้จ่ายน้อยแสนน้อย"
    ผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังเดือดร้อนกับการที่ EIA ของโรงไฟฟ้าหินกรูด กำหนดให้ทิ้งตะกอนทรายจากการก่อสร้าง ลงไปบนแนวปะการังหินกรูดพอดี เขาบอกว่า หากบริษัทยูเนี่ยนฯ ปฏิบัติตาม EIA ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก สผ. ปะการังจะตายทั้งหมดอย่างแน่นอน และเมื่อปะการังตายปลาก็หายไปด้วย เพราะปะการังจะย่อยสลายไปจนหมด ไม่เหลือไว้แม้แต่กองหินให้ปลาอาศัยหลบซ่อน
    การสำรวจและให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาของ ดร. ธรณ์ ทำให้ สผ. สั่งให้มีการศึกษาผลกระทบต่อปะการังเพิ่มเติม และลงโทษบริษัทสร้างสรรค์ คอนซัลแทนส์ที่บริษัทยูเนี่ยนฯ จ้างมาทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโรงไฟฟ้าหินกรูด โดยพักใบอนุญาตเป็นเวลาแปดเดือน ในข้อหาประมาทเลินเล่อ ไม่นำเสนอข้อมูลการประเมินผลกระทบต่อแหล่งปะการัง 
    แต่ปัญหาใหญ่ของโรงไฟฟ้าหินกรูด ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องปะการังเท่านั้น และบริษัทยูเนียนฯ ก็ไม่ใช่ผู้ที่ต้องหนักใจกับโรงไฟฟ้าแห่งนี้อยู่ฝ่ายเดียว 
    สี่ปีแล้วที่ร่องรอยความกังวล หวาดระแวง และอึดอัดใจ ปรากฏบนใบหน้าของผู้คนที่บ้านกรูด เป็นสี่ ปีที่มีหลายเรื่องราวร้าย ๆ เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา -- บ้านของชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทมากในการต่อต้านโรงไฟฟ้า ถูกกระหน่ำยิง ต่อมาก็มีจดหมายขู่สั้น ๆ ว่าคราวหน้าจะยิงคน ไม่ยิงบ้าน ชาวบ้านอีกรายต้องเอาลูกไปฝากไว้บ้านญาติ เพราะกลัวความรุนแรงที่อาจตามมา จากการประกาศตัวเป็นศัตรูกับโรงไฟฟ้า 
(คลิกดูภาพใหญ่)     เสียงด่าทอพร้อมจะดังขึ้นเสมอ เมื่อชาวบ้านฝ่ายที่สนับสนุนโรงไฟฟ้า ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคนงาน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของบริษัทยูเนี่ยนฯ กับฝ่ายต่อต้านซึ่งรวมตัวกันเป็น "กลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด" มาเจอกัน, ชาวบ้านที่คัดค้านไม่ยอมเข้าวัดที่พระในวัดสนับสนุน, สัปเหร่อที่อยู่ฝ่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่รับทำศพของคนที่อยู่ฝ่ายโรงไฟฟ้า, ครอบครัวบาดหมางกันเพียงเพราะสมาชิกบางคน ไปเป็นลูกจ้างของโรงไฟฟ้า และเห็นว่ามันจะนำความเจริญมาให้ชุมชน, ที่ตลาด ไม่มีใครยอมซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้า ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน ฯลฯ 
    ยังไม่ต้องพูดถึงความไม่ปรกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าพบปะพูดคุยกันเป็นประจำทุกวันจันทร์ที่ "บ้านริมหาด" ของลุงสมคิด และพร้อมจะทิ้งการงานประจำวัน เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายสนับสนุนโรงไฟฟ้า และบริษัทยูเนี่ยนฯ ซึ่งปัจจุบันซื้อรีสอร์ตสองแห่งไว้เป็นสำนักงาน 
    ความขัดแย้งของผู้คนที่นี่ มีมากเสียจนไม่มีใครแน่ใจว่าจะกลับมามีความสามัคคีดังเดิมได้อีก ไม่ว่าโรงไฟฟ้าหินกรูดจะถูกสร้างขึ้นหรือไม่ก็ตาม คำโปรยบนหน้าปกจดหมายข่าวเล่มบาง ๆ ของกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าเขียนไว้ว่า "ความเป็นศัตรูกันของคนในชุมชน เป็นการทำลายที่เลวร้ายที่สุดจากโรงไฟฟ้า" 
    "ความแตกแยกของคนบ้านกรูด เป็นผลกระทบอันแรกที่เกิดขึ้น ผมถือว่าชุมชนนี้ได้ล่มสลายไปแล้ว" จีรวุฒิ แจวสกุล ประธานกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูดให้ความเห็น "บ้านกรูดเคยเป็นชุมชนที่มีความสามัคคีกันมากเป็นอันดับหนึ่ง ของประจวบฯ เราอยู่กันมาหลายร้อยปี มีกิจกรรมร่วมกันมาตลอด หล่อเทียนก็ยังทำกันอยู่ทุกปี... หนทางเดียวที่จะเยียวยาความแตกแยกในชุมชน คือ ต้องไม่สร้างโรงไฟฟ้า แต่ก็คงต้องใช้เวลานานมาก ๆ กว่าเราจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ถ้าสร้างได้ ก็คงบาดหมางกันตลอดไป"
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่ยูเนี่ยนฯ ก็ยังมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าของพวกเขาไม่ใช่ตัวการทำลายชุมชนแห่งนี้ รายงานสรุปโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูดเขียนไว้ว่า ชุมชนท้องถิ่นจะได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าในหลายด้านด้วยกัน เช่น ในระหว่างการก่อสร้างจะมีการจ้างคนงานถึงกว่า ๓,๐๐๐ คน, เกิดการสร้างงานทางอ้อม เช่น พนักงานทำความสะอาด - รักษาความปลอดภัย, เกิดธุรกิจสำหรับบริการพนักงานโรงไฟฟ้า และครอบครัว (ร้านค้า ร้านซักรีดและอื่น ๆ), ช่วยพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานสำหรับชุมชน, สร้างโอกาสในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม ตามนโยบายและแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันตก ที่กำหนดให้บางสะพานเป็นจุดยุทธศาสตร์
    "วิกฤตศรัทธา" คือสิ่งที่ นที สิทธิประศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์ของบริษัทยูเนียนฯ มองว่าเป็นสาเหตุของความหวาดกลัว และการคัดค้านของชาวบ้าน 
    "เพราะตัวอย่างที่ไม่ดีก็มีให้เห็นอยู่ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และที่ผ่านมาระบบราชการ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากโครงการประเภทนี้ ให้ชาวบ้านได้เลย" เพราะอย่างนี้ คำชี้แจงและคำรับประกันถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของบริษัทยูเนี่ยนฯ จึงแทบไม่ช่วยให้ชาวบ้านมองโรงไฟฟ้าในแง่ดีขึ้นเลย 
    ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ถึงกับสรุปว่า "วิกฤตศรัทธาเป็นเรื่องนอกเหนือความสามารถของบริษัท ที่จะอธิบายหรือแก้ไขได้" 
    ท่าทีของชาวประมงและชาวบ้านกรูด ในการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เป็นอีกรูปธรรมหนึ่ง ของวิกฤตศรัทธาที่ นที สิทธิประศาสน์ พูดถึง และไม่ต่างจากโรงไฟฟ้าบ่อนอกของบริษัทกัลฟ์ฯ ประชาพิจารณ์ครั้งนี้ คือการใส่ฟืนเข้าไปในกองไฟชัด ๆ 
    เป็นสองวันที่คนแปลกหน้า เกลื่อนตัวเมืองประจวบฯ กลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด และกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกหลายร้อยคน เดินขบวนประท้วงรอบ ๆ ศาลากลางจังหวัด ประกาศไม่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างภาพว่ารัฐบาล/บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่น มีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการ แถลงการณ์ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด ที่สื่อมวลชนได้รับแจกในวันนั้นเรียกมันว่า "โชว์จำอวด"
(คลิกดูภาพใหญ่)     เรือประมงขนาดเล็กนับพันลำจอดเรียงรายอยู่หน้าอ่าวประจวบฯ ประกาศต่อต้านโรงไฟฟ้าสุดตัวเช่นกัน "เราชาวประมงเดือดร้อนมากกว่าเพื่อน" เจ้าของเรือลำหนึ่งบอก เขาว่าชาวประมงรู้จักทะเลดี และมั่นใจว่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือ การสูบน้ำทะเลไปใช้ และการปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติออกมา จะทำให้สัตว์น้ำหายไปจากท้องทะเลแถบนี้แน่นอน
    ข้อมูลของบริษัทยูเนียนฯ เองก็ยอมรับว่า "การสูบน้ำทะเลมาใช้หล่อเย็น จะมีลูกปลา ไข่ปลา ลูกกุ้ง ลูกปู ลูกหอยติดมาด้วย ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมาก ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ ๓๐ ล้านบาทต่อปี" ซึ่งบริษัทลดความเสียหายโดยการติดตะแกรงไว้ที่ปากท่อ เพื่อกันไม่ให้สิ่งมีชีวิตติดเข้ามา
    ความจริง บริษัทยูเนียนฯ มีทางแก้ไข/มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นนี้กับทุก ๆ ปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แต่มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก เห็นได้จากคำถามง่าย ๆ ตรง ๆ ที่ตัวแทนชาวประมงคนหนึ่งเอ่ยถามกับ สิปนนท์ เกตุทัต ประธานคณะกรรมการประชาพิจารณ์ว่า "ประชาชนไม่ต้องการ ชาวบ้านไม่เอา จะดึงดันไปทำไม" 
    ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากรัฐบาล กฟผ. และบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ หลังจากการประชาพิจารณ์ของทั้งสองโรงไฟฟ้าจบลง 
    "รอผลการประชาพิจารณ์" คงจะเป็นประโยคที่ใช้อธิบายความคืบหน้าล่าสุดของโรงไฟฟ้าหินกรูด และโรงไฟฟ้าบ่อนอก ต่อไปได้เรื่อย ๆ ถ้าหาก สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแล กฟผ. ไม่ให้ข่าวว่า ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา จะนำผลประชาพิจารณ์ของโรงไฟฟ้าหินกรูด และบ่อนอกเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติเห็นชอบว่า จะให้มีการดำเนินการก่อสร้างหรือไม่ เนื่องจากล่าช้ามามากแล้ว (ฐานเศรษฐกิจ, ๖-๙ สิงหาคม ๒๕๔๓)

(คลิกดูภาพใหญ่) Ash, So2, Co, Nox

    อักษรลึกลับพวกนี้ตามหลอกหลอนทั้งชาวบ้าน และเจ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินมานานเต็มทีแล้ว 
ผลกระทบจาก Ash-ขี้เถ้า, So2-ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, Co-คาร์บอนมอนอกไซด์ และ Nox-ไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านหวาดกลัวมาก ถ้าโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นจริง ขี้เถ้า ๔ แสนตันต่อปี, ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ๔๘.๖ พันตันต่อปี คาร์บอนไดออกไซด์อีก ๒๓.๑ ล้านตัน/ปี ที่โรงไฟฟ้าหินกรูดจะผลิตออกมา หรือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ๑,๒๕๖ กรัม/วินาที คาร์บอนมอนนอกไซด์ ๗.๓ ล้านตัน/ปีที่ได้จากการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้าบ่อนอก รวมทั้งฝุ่นละออง และสสารที่เป็นพิษ เช่น สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม เซลีเนียม ปรอท และฟลูออร์รีนซึ่งปะปนอยู่ในขี้เถ้า ก็จะกลายเป็นสมาชิกใหม่ของชุมชนเล็ก ๆ ริมทะเลแห่งนี้ไปในทันที 
    ชาวบ้านกรูดคนหนึ่งพูดว่า "ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า จะมีผลกระทบกับสับปะรดหรือเปล่า มะพร้าวจะยังออกลูกได้เหมือนเดิมไหม เราพิสูจน์ไม่ได้ แต่ชาวบ้านก็มีสิทธิ์ที่จะกลัว" 
    ส่วนเจ้าของโรงไฟฟ้า ก็รู้ดีว่าโรงไฟฟ้าของพวกเขามีปัญหาแน่ หากว่าหาทางกำจัด หรือลดค่าความเป็นพิษของพวกมันได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลไทย หรือธนาคารโลกกำหนด

(คลิกดูภาพใหญ่)     เอกสารของโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า ให้ข้อมูลอันน่ากลัว เกี่ยวกับผลกระทบจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างถ่านหินไว้มากมาย ตั้งแต่เรื่องที่ได้ยินบ่อย ๆ เช่น ทำให้โลกร้อนขึ้น, เป็นสาเหตุของฝนกรด ซึ่งเกิดจากการที่ไนโตรเจนออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับความชื้นในชั้นบรรยากาศทำให้พืช-สัตว์ตายลงอย่างช้า ๆ ไปจนกระทั่งถึงเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครรู้มาก่อน เช่น สสารเป็นพิษในขี้เถ้า ซึ่งถูกฝังกลบในบ่ออาจปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน, ถ่านหินประกอบไปด้วยสารกัมมันตรังสี จำพวกยูเรเนียม และทอเรียมซึ่งจะถูกปล่อยออกมาทางปล่องควัน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินปล่อยสารกัมมันตภาพรังสี มากกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึงสองเท่า, โรงไฟฟ้าถ่านหิน จะปล่อยสารฟลูออไรด์ ซึ่งแม้ในระดับการกระจุกตัวที่ค่อนข้างต่ำ ก็สามารถทำให้ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และลดภาวะการเติบโตของพืชได้ และการสูดเอาฝุ่นผง เขม่า รวมทั้งมวลอนุภาคขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากเตาเผาถ่านหินติดต่อกันนาน ๆ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด โรคหัวใจ และทำให้อัตราการแท้งบุตรสูงขึ้นอีกด้วย
    ระบบเผาไหม้แบบพิเศษ เพื่อลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ บ่อฝังกลบขี้เถ้า ที่มีแผ่นรองกันซึม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดิน การฉีดพรมละอองน้ำลงบนกองถ่านหิน และกองขี้เถ้าเพื่อควบคุมฝุ่นละออง การติดแผ่นกรองขี้เถ้าไว้ที่ปากปล่องควัน รวมทั้งการติดตั้งเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) ของโรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด จึงเกิดขึ้นเพื่อรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากถ่านหิน
    และเพื่อที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกดีกับโรงไฟฟ้าถ่านหินของพวกเขามากขึ้น บริษัทกัลฟ์ฯ และยูเนียนฯ จึงพูดถึง "ซับบิทูมินัส" นับครั้งไม่ถ้วน
    ในบรรดาถ่านหินชนิดต่าง ๆ ที่ค้นพบใน ๑๐๐ ประเทศทั่วโลก ซับบิทูมินัสอาจมีคุณภาพไม่ดีเท่า ถ่านหินแอนทราไซด์ แต่ก็ยังดีกว่าถ่านหินลิกไนต์ ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้อยู่ในปัจจุบัน
(คลิกดูภาพใหญ่)     "คุณภาพดี" สำหรับถ่านหินวัดกันตรงที่ให้ค่าความร้อนสูง มีกำมะถันหรือซัลเฟอร์ต่ำ และเมื่อเผาไหม้แล้วมีขี้เถ้าน้อย
    วงการนักผลิตกระแสไฟฟ้ารู้ดีว่า แอนทราไซด์เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพสูงเกินไป เหมาะกับอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก มากกว่าเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เพราะไม่คุ้มทุน ส่วนลิกไนต์ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า สร้างมลพิษมาก ซับบิทูมินัสและบิทูมินัส จึงเป็นที่นิยมของโรงไฟฟ้ามากที่สุดในตอนนี้ 
    ไม่มีใครบังคับให้โรงไฟฟ้าบ่อนอก และหินกรูด ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รัฐบาลและ กฟผ. ต้องการเพียง "ให้มีการกระจายการใช้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่อิงกับแหล่งหรือชนิดของเชื้อเพลิงใดมากเกินไป" เท่านั้น ปรากฏว่าโรงไฟฟ้าสามในเจ็ดแห่ง ที่ชนะการประมูล IPP ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และอีกสี่แห่งใช้ก๊าซธรรมชาติ 
    ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกถ่านหิน เพราะมันเป็นเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือในโลก คาดว่ามีให้ใช้ไป อีก ๒๕๐ ปี ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลืออีกเพียง ๗๐ ปี และน้ำมัน ๔๕ ปี หรือเป็นเพราะถ่านหินราคาไม่แพง และค่อนข้างคงที่ ทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ต่ำกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมัน ฯลฯ แต่ทางเลือกนี้เอง ที่ทำให้เส้นทางของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่ง ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด และความเหน็ดเหนื่อยในการพยายามแยกมันออกมาจาก ภาพอันเลวร้ายของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ก็เป็นเหมือนต้นทุนที่บริษัทเอกชนทั้งสองแห่ง ต้องจ่ายสำหรับทางเลือกนี้ 
    ถ่านหินเป็นต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ชายทะเลบ่อนอก และบ้านกรูด ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า เพราะนอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จำเป็นต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อนำน้ำมาใช้ในกระบวนการหล่อเย็น ในปริมาณมากแล้ว โรงไฟฟ้าบ่อนอกและหินกรูด ยังจำเป็นต้องมีท่าเทียบเรือน้ำลึก สำหรับให้เรือเดินสมุทรขนถ่านหินจากเหมืองในต่างประเทศมาส่ง ประมาณเดือนละสามสี่เที่ยวอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีซับบิทูมินัสเป็นของตัวเอง
(คลิกดูภาพใหญ่)     โรงไฟฟ้าบ่อนอกใช้ถ่านหิน ๒.๘๗ ล้านตัน/ปี และโรงไฟฟ้าหินกรูดใช้ ๓.๗๕ ล้านตัน/ปี (วันละประมาณ ๑ หมื่นตัน) โดยถ่านหินซับบิทูมินัสที่โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งใช้ มีชื่อว่า Envirocoal จากเหมืองอดาโร ประเทศอินโดนีเซีย แต่โรงไฟฟ้าหินกรูด จะใช้ถ่านหินนิวแลนด์จากออสเตรเลีย และถ่านหินกู๊ดฮูปจากแอฟริกาใต้ผสมด้วย 
    ทั้งกัลฟ์ฯ และยูเนียนฯ มั่นใจในถ่านหินมาก แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง และความทันสมัย เหมือนในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกต่อไปแล้วก็ตาม พวกเขาไม่หวั่นไหวกับของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่บอกว่า การใช้ถ่านหินทั่วโลกกำลังลดลง เนื่องจากตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม การศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งหนึ่งในเยอรมนี พบว่า หากมีการรวมเอาต้นทุนในการเผาผลาญถ่านหินทั้งหมดเข้าด้วยกัน จะทำให้ราคากระแสไฟฟ้า ที่ผลิตได้สูงขึ้นถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
    "เราต้องการถ่านหินที่ดีที่สุดในโลก ไม่ว่าราคาเท่าไหร่ หรือต้องไปหาจากมุมไหนของโลก" บริษัทกัลฟ์ฯ ลงทุนโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ "หลังจากการเสาะแสวงหาวิเคราะห์ และวิจัยนานนับปี เราตัดสินใจเลือกถ่านหินจากเหมืองอดาโร ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินใกล้ภูเขาไฟ ให้ถ่านหินชนิดซับบิทูมินัส อันเป็นถ่านหินที่ได้รับการเรียกขาน จากผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกว่าเป็น "ถ่านหินเพื่อสิ่งแวดล้อม" (envirocoal) ซึ่งเกรดดีกว่าลิกไนต์ เพราะเป็นถ่านหินที่ใช้เวลาทับถม และบ่มตัวทางธรรมชาติ ในสภาพแวดล้อมพิเศษ ที่มีเฉพาะบริเวณนี้ จึงให้ค่ากำมะถันต่ำกว่าลิกไนต์ถึง ๓๐ เท่าตัว"
    ส่วนบริษัทยูเนียนฯ ยืนยันว่าถ่านหินบิทูมินัสที่โรงไฟฟ้าหินกรูดใช้ มีกำมะถันต่ำ และมีค่าความร้อนสูง จึงช่วยลดปริมาณถ่านหินที่ใช้ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลง ทำให้อากาศเสียที่ปล่อยออกจากปล่องโรงไฟฟ้าให้มีน้อยตามไปด้วย
(คลิกดูภาพใหญ่)     ความมั่นใจของพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างดี จากทูตออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่จะขายถ่านหิน ให้โรงไฟฟ้าหินกรูด ท่านทูตแถลงว่า "ถ่านหินบิทูมินัส และซับบิทูมินัสของออสเตรเลีย ที่จะสั่งซื้อมาใช้ในโรงไฟฟ้าหินกรูดของนั้น มีความชื้นน้อย ให้พลังงานมาก และมีกำมะถันต่ำเพียง ๐.๓-๐.๗ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ลิกไนต์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีกำมะถัน ๓ เปอร์เซ็นต์) เป็นผลทำให้โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ ปล่อยไดออกซินออกมาแค่ครึ่งหนึ่งของที่ไทย ได้รับอนุญาตให้ปล่อย 
    "ออสเตรเลียขอยืนยันกับผู้ที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะราคาถูก และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ถ่านหินของเราผ่านกระบวนการล้าง เพื่อให้มีขี้เถ้าในปริมาณต่ำ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องกากของเสียได้ ไฟฟ้าที่ใช้ในออสเตรเลีย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้มาจากถ่านหิน และไม่เคยมีปัญหาอะไรร้ายแรง
    "หุบเขาฮันเตอร์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ มีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่ง แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ไวน์ที่ดีที่สุดของออสเตรเลียก็มาจากภูมิภาคนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินของเรามีไร่องุ่นล้อมรอบ ริมทะเลสาบก็ยังคงมีบ้านพักตากอากาศกับโรงแรมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่มากมายแม้จะมีโรงไฟฟ้าอยู่ด้วยก็ตาม ภาพที่เห็นล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สภาพแวดล้อมรอบ ๆ โรงไฟฟ้า และเหมืองถ่านหินนั้นดีจริง ๆ" 
    ทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยสรุปว่า "เป็นเรื่องน่าละอายมาก ถ้าไทยปฏิเสธการใช้แหล่งเชื้อเพลิงที่ราคาถูก และมีประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างถ่านหิน" (บางกอกโพสต์ ๘ มีนาคม ๒๕๔๒)
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่คำพูดของท่านทูต กลับถูกโต้แย้งจากชาวออสเตรเลียเอง 
    เดอะเนชั่น ตีพิมพ์จดหมายของวิศวกรชาวออสเตรเลียคนหนึ่ง ซึ่งเรียกถ่านหินที่รัฐบาลของเขาเสนอขายให้ไทยว่า "เชื้อเพลิงที่สกปรกโสมมที่สุดในโลก" และบอกว่าอุตสาหกรรมถ่านหินในออสเตรเลีย ไม่ควรปฏิบัติต่อไทย โดยการเสนอขายเชื้อเพลิงที่ไร้คุณภาพเช่นนี้ พลังงานที่ไทยใช้ ควรได้มาจากกระบวนการผลิต และเชื้อเพลิงที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่ง "ไม่ใช่การเผาไหม้ถ่านหินจากประเทศของเราแน่ ๆ" 
    "ออสเตรเลียโชคดีที่มีถ่านหินอยู่มาก แต่โชคร้ายที่ถ่านหินที่สะอาด และปลอดภัยนั้นไม่มีอยู่จริง" ชาวออสเตรเลียอีกรายหนึ่ง เขียนจดหมายตอบโต้ "ถ่านหินเป็นสิ่งสกปรก เต็มไปด้วยขี้เถ้า, กำมะถัน, โลหะหนัก และสารกัมมันตภาพรังสี การล้างถ่านหิน เพื่อลดปริมาณกำมะถัน และขี้เถ้าเป็นเพียงความพยายามสร้างภาพ ให้คนมองถ่านหินในแง่ดี แต่วิธีการนี้ไม่มีทางกำจัดขี้เถ้า ที่มีอนุภาคเล็กที่สุด และมีผลต่อการเกิดมะเร็งมากที่สุด ให้หมดไปได้ ๑/๑,๐๐๐ ของถ่านหิน ที่ถูกเผาไหม้จะกลายเป็นขี้เถ้าขนาดเล็ก ที่สามารถทะลุผ่านแผ่นกรองขี้เถ้าในปล่องควันของโรงไฟฟ้าไปได้ ถ้ามีการเผาถ่านหิน ๑ พันล้านตัน นั่นหมายถึงว่าจะมีสารก่อมะเร็ง ๑ ล้านตัน ล่องลอยอยู่ในอากาศ"
    นอกจากชี้ให้เห็นถึงความชั่วร้ายของถ่านหิน เจ้าของจดหมายยังบอกอีกด้วยว่า ความขัดแย้ง และเรื่องราวอันซับซ้อนวุ่นวายของโรงไฟฟ้าที่ประจวบฯ นั้น มีผู้ประกอบการเกี่ยวกับถ่านหินโยงใยอยู่เบื้องหลัง 
    คำพูดง่าย ๆ ของเขาก็คือ "เจ้าของถ่านหินก็อยากขายถ่านหิน" 
    ไม่ว่าความเห็นนี้จะเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน  แต่มันก็ทำให้เกิดคำถามหนึ่งขึ้น -- ชะตากรรมและปลายทางในการต่อสู้ ของผู้คนในชุมชนเล็ก ๆ ทั้งสองแห่งจะเป็นอย่างไร  ในเมื่อคู่กรณี ที่พวกเขากำลังต่อสู้ทัดทาน แท้ที่จริงอาจไม่ใช่รัฐบาลไทย หรือบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่เป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมถ่านหินระดับโลก ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากการที่ลูกค้าในซีกโลกตะวันตก เริ่มปฏิเสธการใช้ถ่านหิน จึงจำเป็นต้องหาทางขยายตลาด มายังประเทศโลกที่สาม ?

(คลิกดูภาพใหญ่)     หมายเหตุ : ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๓ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า "ให้ยังคงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน ตามข้อผูกพันเดิม รวมทั้งกระจายประเภทของพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้า และการใช้พลังงานถ่านหิน แต่เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ จึงให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยประกอบไปด้วยผู้แทน ๓ ฝ่าย คือ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ และผู้แทนของบริษัทผู้ประกอบการ" โดยระหว่างที่คณะกรรมการทำการศึกษาผลกระทบ และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่  ทั้งสองบริษัทยังจะยังไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ แต่ดำเนินการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จได้ 
    กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด เห็นว่ามติที่ออกมา นับว่าเป็นความสำเร็จของการคัดค้านโครงการในระดับหนึ่ง เพราะสามารถยับยั้งการก่อสร้างไว้ได้ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มองว่า การที่รัฐบาลไม่มีมติที่ชัดเจนว่า ให้ระงับโครงการ แต่กลับแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม และทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เป็นเพียงการซื้อเวลา เพื่อให้บริษัทได้ทำงานมวลชน ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกในชุมชนมากขึ้น (คำสัมภาษณ์ของตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก, กรุงเทพธุรกิจ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๓)

  ขอขอบคุณ
    กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านกรูด, กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก, บริษัทกัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด, บริษัทยูเนียน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคตและ Margie Law โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า