กลับไปหน้า สารบัญ
เรื่อง 'ต้องห้าม' และ 'ห้ามเข้า'
ในอุษาคเนย์
อัมพร จิรัฐติกร
ampornfa@yahoo.com

    เมื่อไมเคิล คริชตัน นักเขียนชาวอเมริกันชื่อดัง เจ้าของนวนิยายที่ถูกนำไปสร้างเป็นหนังฮอลลีวู้ดอย่าง "Jurassic Park" และ "The Lost World" มาเที่ยวเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อน เขาได้รับคำเตือนถึงเรื่อง "ต้องห้าม" ที่ต้องจำไว้ให้แม่น 4 ข้อด้วยกันคือ
    
หนึ่ง เมื่ออยู่ในวัด ห้ามปีนป่ายพระพุทธรูป 
    
สอง รักษาระดับให้หัวให้ต่ำกว่าเศียรพระพุทธรูปตลอดเวลา
    
สาม ห้ามจับหัวคนไทยเด็ดขาด
    
สี่ ถ้าต้องยกเท้าขึ้นจากพื้น ห้ามให้ปลายเท้านั้นชี้ไปที่คนไทย
    
เพราะถือเป็นการกระทำที่แสดงความลบหลู่ดูหมิ่นอย่างยิ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)
ในภาวะที่เอดส์ กำลังระบาดหนัก เรื่องต้องห้าม ที่สำคัญที่สุดในเขมร คือ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ด้วยวิธีไม่ปลอดภัย
    ไมเคิล คริชตัน เล่าไว้ในหนังสือของเขาอย่างตื่นเต้นลุ้นระทึก ราวกับกำลังเล่าถึงนิยายเรื่องใหม่ว่า เขาพยายามแล้วที่จะทำตามกฏข้อห้ามเหล่านี้ แต่ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาที่อยู่เมืองไทย เขาได้แหกกฏต้องห้ามไปทั้งสิ้น 3 ข้อ มีข้อเดียวที่ยังรักษาไว้ได้ ก็คือ เขาไม่ได้ปีนป่ายพระพุทธรูป
    เรื่องอย่างนี้สำหรับคนไทยแล้ว เราก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมฝรั่งถึงช่างไม่มีคอมมอนเซ็นส์เอาเสียเลย  ของอย่างนี้ก็น่าจะรู้กันอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องมาบอก เหมือนเราไปเมืองฝรั่ง ใครเลยจะไปปีนป่ายรูปปั้นพระเยซู หรือพระแม่มารี ใครเลยจะกล้าไปจับหัวฝรั่งเล่นๆ และใครเลยจะเอาบาทาไปชี้คนอื่นมั่วซั่ว
    
แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว เรื่องต้องห้าม หรือกฏข้อบังคับเหล่านี้ ฟังดูเป็นเรื่องแปลกประหลาด เป็นคนละโลก ราวกับว่าวิถีชีวิตในเอเชียนั้น ช่างแตกต่างกันลิบลับกับวัฒนธรรมฝรั่ง ในหนังสือคู่มือท่องเที่ยวอย่าง Lonely Planet หรือ Insight Guide จึงมักจะมีการระบุถึงข้อห้ามประเภท Do&Don't ไว้สำหรับเตือนนักท่องเที่ยว ที่กำลังจะก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมว่า อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำบ้าง
    อย่างในประเทศเขมรนั้น Lonely Planet ระบุถึงเรื่อง "ต้องห้าม" ไว้ว่า
    "ห้ามโกรธและแสดงความโกรธ โดยการตะคอก หรือด่าทออย่างหยาบคาย ถ้าสิ่งใดไม่เป็นไปตามที่คุณต้องการ หรือตามที่มันควรจะเป็น จงจำไว้ว่าประเทศแห่งนี้ ขาดแคลนคนที่ได้รับการอบรม เพราะสงครามทำให้คนที่ได้รับการศึกษา ถูกฆ่าตาย หรือไม่ก็ต้องหลบหนีออกนอกประเทศไปจนหมด
    และเหมือนๆ กับในประเทศไทย การจับหัวเด็ก เพื่อแสดงความเอ็นดู เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง
    และถ้าคุณต้องการจะเรียกใครให้เข้ามาหา อย่าใช้นิ้วชี้เรียก ในขณะที่มือหงายชี้ขึ้นฟ้า เพราะมันส่อความหมาย ไปในทางเพศอย่างชัดเจน"
    เรื่องต้องห้ามที่ยกมาข้างต้นนี้ ฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แบบที่เรียกว่า ใช้สามัญสำนึกก็คงจะรู้กันอยู่ แต่แท้จริงแล้วในสังคมอุษาคเนย์นั้น มีเรื่องต้องห้ามเฉพาะสังคม ที่น่าสนใจอยู่อีกมาก และการรู้จักเรื่องต้องห้ามในสังคมใดก็ตาม ก็อาจทำให้เราเข้าใจสังคมนั้นดีขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย
(คลิกดูภาพใหญ่)
การ์ตูนชุด Holiday in Singapore ของ แลรี เฟน นักวาดการ์ตูนชาวฮ่องกง สะท้อน "ชีวิตต้องห้าม" ในสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี เฟนวาดให้หนุ่มฮ่องกงคนหนึ่ง พักร้อนไปเที่ยวสิงคโปร์ เมื่อเครื่องบินใกล้จะลงจอด กัปตันก็ประกาศว่า "ขณะนี้เรากำลังจะลงจอด ที่สนามบินชางฮีแล้ว ขอให้ผู้โดยสารทุกท่าน หยุดเคี้ยวหมากฝรั่ง ตัดผมให้สั้น มีลูกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน (เน้นเฉพาะที่ไอคิวสูงเท่านั้น) ยืดไหล่ให้ตรง ยิ้มให้เพื่อนบ้าน และกินผักมาก ๆ" การ์ตูนชิ้นนี้ "ล้อ" รัฐบาลสิงคโปร์ที่ยุ่งกับชีวิตประชาชน ไปเสียทุกเรื่องได้อย่างเจ็บแสบ
    พูดถึงเรื่องต้องห้ามของชาติต่างๆ ในอุษาคเนย์แล้ว ประเทศที่เรานึกถึงก่อนอื่น ก็คงหนีไม่พ้นสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ประเทศนี้ ดูจะมีเรื่องต้องห้ามให้พูดถึงมากมาย นับตั้งแต่การห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ห้ามเขี่ยบุหรี่ลงพื้น ห้ามเป็นกะเทย ห้ามไว้ผมยาว ห้ามผู้หญิงอายุไม่เกิน 40 ปี ที่ยังไม่มีผัวซื้อแฟลตอยู่ และห้ามพูดเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ
    เรื่องห้ามเคี้ยวหมากฝรั่งนั้น ดูจะเป็นที่เลื่องลือกันเลยทีเดียวว่า ใครนำหมากฝรั่งเข้าประเทศสิงคโปร์จะถูกปรับ ใครเผลอเคี้ยวหมากฝรั่ง ในประเทศสิงคโปร์จะโดนจับ แท้จริงแล้วการเคี้ยวหมากฝรั่งในสิงคโปร์นั้น ถือเป็นเรื่องพึงกระทำได้ แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครหาซื้อหมากฝรั่งในประเทศสิงคโปร์ได้
    เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ก็ยังยืนยันที่จะ "ต้องห้าม" หมากฝรั่ง ไม่ให้เข้าประเทศ ในการประชุม AFTA ครั้งที่ผ่านมา มีการคุยกันว่าจะแต่ละชาติ ยกเลิกสินค้าต้องห้ามอะไรบ้าง สิงคโปร์ก็ยังยืนยันอย่างแข็งขัน ที่จะห้ามนำหมากฝรั่งเข้าประเทศสิงคโปร์
    นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็ยังเอาจริงเอาจังกับเรื่องความสะอาดอย่างมาก ใครทิ้งขยะลงพื้น ใครเขี่ยบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง รับรองถูกปรับอย่างหนัก และถ้าใครอาจหาญ ทิ้งขยะลงมาจากอพารทเมนท์ หรือแฟลต ซึ่งถือได้ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลักของคนสิงคโปร์ คนๆ นั้นก็แน่ใจได้เลยว่า จะถูกตัดสิทธิ์ ในการใช้อพารทเมนท์แห่งนั้นทันที โดยรัฐไม่จำเป็นจะต้องแยแส ว่าคุณจะมีที่อยู่อาศัยต่อไปในอนาคตข้างหน้าหรือไม่
    ส่วนเรื่องการห้ามเป็นกะเทย และห้ามไว้ผมยาวนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้ระบุเป็นกฏต้องห้ามเอาไว้ แต่ดูเหมือนกฏเหล่านี้ จะถูกปลูกฝั่งสั่งสอนอบรมกันมา ผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา เพื่อดูแลพลเมืองของสิงคโปร์ไม่ให้เป็นกะเทย ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
    เราจึงแทบไม่มีโอกาสพบเห็นเกย์ กะเทย หรือสาวประเภทสองในสิงคโปร์เอาเลย แต่ปีสองปีที่ผ่านมา ดูเหมือนสังคมสิงคโปร์เปิดกว้างมากขึ้น การจะหากะเทยสักคนในสิงคโปร์ จึงคงจะพอหาดูได้บ้าง
    กล่าวไปแล้วจะเห็นว่าสิงคโปร์นั้น ห้ามอะไรจุกจิก หยุมหยิมเต็มไปหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นข้อห้ามต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นไป เพื่อให้สังคมสิงคโปร์สมบูรณ์แบบ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บ้านเมืองสกปรกเลอะเทอะ ห้ามเป็นกะเทย ก็เพื่อมิให้เสียประชากร อันจะสามารถผลิตลูกเพื่ออนาคตของชาติสิงคโปร์ไปฟรีๆ ห้ามผู้หญิงโสดอายุต่ำกว่า 40 ปีซื้อแฟลตอยู่ ก็เป็นไปตามนโยบายการจัดสรรที่อยู่อาศัย ให้พลเมืองทุกคน ได้มีที่อยู่ และนโยบายสร้างครอบครัว ของประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นใครที่เป็นโสดก็จงรีบหาสามีเสีย 
      ความที่เรื่องต้องห้ามในสิงคโปร์นั้น มีหลากหลาย การลงโทษคนที่ฝ่าฝืนเรื่องต้องห้ามในสิงคโปร์จึงมีหลายระดับ ตั้งแต่การลงโทษจากสังคม พ่อแม่ โรงเรียน ที่ทำงาน และระดับของการลงโทษจากรัฐ 
    มีเรื่องต้องห้ามอย่างหนึ่งในสิงคโปร์ ที่หากไม่ปฏิบัติตามแล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว นั่นก็คือ หากคิดจะเล่นการเมืองแล้ว ห้ามเป็นฝ่ายค้าน!
    เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นจากชีวิตของชายคนหนึ่ง ที่ฝ่าฝืนกฏข้อนี้ จนกระทั่งชีวิตมีอันต้องเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ 
ชี ซูน จวน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และได้ชื่อว่าจ่ายค่าตอบแทน ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างงามทีเดียว เขามีบ้าน มีชีวิตที่ดีมาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งชีก็ต้องสูญเสียทุกอย่าง เพียงเพราะเขาฝ่าฝืนกฏข้อห้ามในสิงคโปร์
    ในปี พ.ศ. 2540 ชีตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทน สังกัดพรรค Singapore Democratic Party (SDP) น่าสงสารที่พรรคที่เขาสังกัดพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ไม่มีสส.ได้รับเลือกตั้งเข้าไปมีที่นั่งในสภาเลยสักคน หลังจากพ่ายแพ้ในเลือกตั้งได้ไม่นาน ชีก็ถูกบีบให้ออกจากมหาวิทยาลัย เมื่อชีกล่าวหาว่าการไล่เขาออกนั้น เป็นเรื่องทางการเมือง ชีก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาท
    และเมื่อเขาแพ้คดี ถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย ชีก็ต้องขายบ้านเพื่อนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหาย
    พอถึงปี พ.ศ. 2542 ชีละเมิดข้อห้ามอีกอย่าง ของการดำรงชีวิตในสิงคโปร์ นั่นคือการห้ามพูดในที่สาธารณะ ชีไปถือโทรโข่ง พูดอยู่ในย่านธุรกิจกลางใจเมือง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ผลจากการละเมิกกฏข้อห้ามครั้งนั้น ส่งผลให้เขาถูกปรับเป็นเงิน 800 เหรียญสหรัฐ และเมื่อเขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับ ชีก็ถูกจับขังคุกเป็นเวลา 7 วัน
    ออกมาจากคุกไม่กี่วัน ชีก็ออกมาไฮด์ปาร์คอีกรอบ หนนี้เขาถูกจับเป็นโทษขังคุก 12 วัน หรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าปรับ 1,470 เหรียญ การถูกจับถึงสองครั้งนับเป็นเหตุผลเพียงพอ ที่ทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองไปถึง5 ปี
 (คลิกดูภาพใหญ่)
การ์ตูนล้อความไม่มีเสรีภาพ ในการพูด และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสิงคโปร์ โดยให้หนุ่มสาวฮ่องกงคู่หนึ่ง เผลอพูดออกมาว่า "สิงคโปร์ก็ดีอยู่หรอก แต่ฉันคงทนอยู่ ในประเทศที่ไม่มีเสรีภาพ ในการแสดงออกอย่างนี้ไม่ได้แน่" คนสิงคโปร์โต๊ะข้าง ๆ ได้ยินเข้าจึงหันมาบอกว่า "ขอโทษเถอะ แต่พวกเรา- ชาวสิงคโปร์มีความสุขดี กับเสรีภาพในการแสดงออก อันกว้างขวางมากมาย... คิดดูสิ เราสามารถที่จะยกยอปอปั้น รัฐบาลได้ตั้งหลายภาษา ทั้งอังกฤษ แมนดาริน กวางตุ้ง มาเลย์ ฮินดี" ...บางทีคำว่า เสรีภาพ ในประเทศสิงคโปร์ คงจะมีความหมายเช่นนี้ก็เป็นได้ 
    คนอย่างชีนั้น นับว่ามีอุดมการณ์แรงกล้า ในการที่ยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาล ที่เขาเห็นว่าไม่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนอย่างพอเพียง ความพยายามครั้งต่อมาของชี คือการเขียนหนังสือออกมาอีกเล่มหนึ่งชื่อว่า....
    หนังสือเล่มนี้ไม่ถูกแบน  แต่ร้านหนังสือส่วนใหญ่ในสิงคโปร์ ก็ปฏิเสธที่จะวางหนังสือของชี ทำให้ชี ต้องออกมายืนขายหนังสือของตัวเองบนท้องถนน
    ท้ายที่สุดเขาก็ถูกจับอีกครั้ง ด้วยข้อหาขายหนังสือโดยไม่มีใบอนุญาติ
    เรื่องของชี ซูน จวน คงยังไม่จบลงแค่นี้ แต่แค่ที่ผ่านมา มันก็บอกให้เรารู้ได้ไม่ยากว่า การฝ่าฝืนเรื่องต้องห้ามในสิงคโปร์นั้น ต้องจ่ายค่าตอบแทนราคาแพงไม่น้อยเลยทีเดียว
    แม้ว่าสิงคโปร์จะมีเรื่องต้องห้ามมากมาย ที่จำกัดขอบเขตการดำรงชีวิต ของประชาชนในประเทศ แต่ประเทศที่เหมาะสมกับนิยามคำว่า "ต้องห้าม" (banned) และ "ปิด"(Closed) มากที่สุดในอุษาคเนย์ กลับเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีพรมแดนติดต่อกับเรายาวที่สุด คือประเทศพม่านั่นเอง
    ในพม่านั้น ทุกอย่างดูเหมือนจะต้องห้ามไปเสียทั้งหมด การแสดงออกทางการเมือง การชุมนุม การ ประท้วง การพูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งสิ้น 
    เป็นที่รู้กันอยู่ว่าคนพม่านั้นชอบกินกาแฟ เช้าสายบ่ายเย็น เราก็มักจะเห็นคนพม่านั่งอยู่ตามร้านกาแฟ บางครั้งก็สนทนากันด้วยเรื่องอนาคตของตัวเอง เรื่องของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการเมืองนั้น เป็นหัวข้อที่วงกาแฟนิยมเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ขึ้นครองอำนาจได้ไม่นาน ในปี พ.ศ.2534 รัฐบาลพม่าก็ประกาศข้อบังคับใหม่ออกมาว่า เจ้าของร้านน้ำชากาแฟทั้งหลาย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากพบว่าร้านกาแฟของเขา ถูกใช้เป็นที่พูดคุยทางการเมือง โดยบทสนทนานั้น มีข้อความที่ส่อไปในทางแอนตี้รัฐบาล
    เรื่องนี้สรุปได้ว่า สภากาแฟก็เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมพม่า
    การเป็นครูในมหาวิทยาลัยนั้น ก็ต้องห้ามที่จะสอนเรื่องการเมืองพม่า ห้ามพูดคุยการเมือง ห้ามเข้าร่วมพรรคการเมือง และรวมถึงห้ามพบปะชาวต่างชาติ
    คอมพิวเตอร์ก็ต้องห้ามในพม่า การสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ทุกชนิด จะต้องได้รับอนุญาติพิเศษจากรัฐ  ซึ่งแน่นอนว่า ใบอนุญาตินั้นยากที่จะผ่านการอนุมัติ
      การรับหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับบุคคลทั่วไปในพม่า ยกเว้นบางโรงแรมใหญ่ๆ ในตัวเมืองร่างกุ้งเท่านั้น ที่พอจะมีหนังสือพิมพ์ต่างประเทศบางฉบับ ไว้บริการแขกที่เข้าพัก
    อารมณ์ขันก็เป็นสิ่งต้องห้ามในพม่า นักเล่าเรื่องตลกในพม่า ที่ชื่อ ซาร์กานาร์ (Zarganar) ต้องถูกจับขังคุกเป็นเวลายาวนาน เพราะอารมณ์ขันที่คมคายของเขา และนักวาดการ์ตูนหลายคนก็ถูกจับขังคุก เพราะบังอาจไปวาดการ์ตูน ที่ขำเกินกว่ารัฐบาลจะรับได้
    เล่ากันว่า มีโจ๊กเรื่องหนึ่งที่ถูกใจคนพม่าเป็นอย่างมาก เรื่องของชาวอังกฤษ ผู้เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศพม่า วันแรกที่มาถึงพม่าเขาใช้บริการโทรศัพท์ 2 ครั้ง ครั้งแรกโทรไปลอนดอน ครั้งที่สองโทรไปนรก ปรากฏว่าค่าบริการโทรศัพท์ไปลอนดอนนั้น แพงกว่าโทรไปนรกมาก ชาวอังกฤษคนนั้นรู้สึกประหลาดใจมาก จึงถามว่าเป็นเพราะอะไร คนต่อโทรศัพท์จึงเฉลยว่า 
    ก็เพราะการโทรไปนรกนั้น ถือเป็น local call !
      โจ๊กเรื่องนี้ล้อการดำรงชีวิตในพม่าว่า เหมือนตกอยู่ในนรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นใครจะโทรไปนรก ก็ย่อมถือเป็นการใช้โทรศัพท์ภายในประเทศไปโดยปริยาย ว่ากันว่าคนที่เล่าโจ๊กเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็ถูกจับขังคุกให้ไปตกนรกทั้งเป็น ที่อาจบางทีเลวร้ายกว่านรกในจินตนาการ ขุมที่ลึกที่สุดก็เป็นได้
    นอกจากนี้แล้ว การเดินทางข้ามเขตเมือง หรือแขวงในประเทศพม่า ก็เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนจีน คนอาระกัน คนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในพม่า จะเดินทางได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับใบอนุญาติพิเศษเท่านั้น
    ในเรื่องของศาสนา เมื่อไม่นานมานี้เอง พม่าได้สั่งต้องห้ามคัมภีร์ไบเบิล ฉบับแปลเป็นภาษาท้องถิ่นในพม่าทุกภาษา ซึ่งก็คงเป็นด้วยเหตุผลที่รัฐบาลทหารพม่า ไม่ต้องการให้ศาสนาคริสต์  หรือศาสนาอื่นๆ เข้ามามีอิทธิพลต่อประชาชน มากไปกว่าศาสนาพุทธ ที่รัฐหยิบฉวยมาใช้ ในฐานะเป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง
    ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่ชาวคริสเตียน หรือชาวมุสลิมในพม่า จะขออนุญาติสร้างโบสถ์ หรือมัสยิดแห่งใหม่ขึ้น
    การส่งหรือรับจดหมายจากต่างประเทศก็ต้องห้าม มันอาจจะถูกเปิดดูโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ทุกเมื่อ เมื่อดูเสร็จ หากไม่มีข้อความอาจจะที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จึงจะถูกปิดผนึกอีกครั้งและส่งไปตามที่จ่าหน้า
    การพิมพ์หนังสือในพม่านั้น มีสภาพน่าสงสารที่สุด ในกรณีที่มันถูก "ต้องห้าม" นักเขียนคนใดที่ถูกรัฐบาลขึ้นบัญชีดำ ในฐานะเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งผลงานและชื่อของเขา จะไม่ได้รับอนุญาติให้ตีพิมพ์อย่างเด็ดขาด ซึ่งมันหมายถึง การห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพเลยทีเดียว
      กรณีที่ถือเป็นการทำลายวงวรรณศิลป์ของพม่าอย่างรุนแรงที่สุดคือ การรวมงานคัดสรรของนักเขียนพม่า เพื่อระลึกถึง "โมโม" นักเขียนหญิงชื่อดังของพม่า ซึ่งเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันในปี พ.ศ.2533 หนังสือเล่มดังกล่าวชื่อ "รวมผลงานเรื่องสั้นดีเด่นของทศวรรษ 1980" หนังสือเล่มนี้ บรรจุผลงานที่เคยได้รับการตีพิมพ์มาก่อน อันประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด 37 เรื่อง
    ในระหว่างการคัดเลือกเรื่อง ตีพิมพ์ และส่งให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลพิจารณานั้น ปรากฏว่านักเขียน 3 คนในจำนวนนั้นถูกจับ ผลก็คือสำนักพิมพ์ถูกบังคับให้ "ฉีก" เรื่องสั้น 3 เรื่อง (ซึ่งอันที่จริงก็เคยตีพิมพ์มาแล้ว) ออกจากหนังสือที่พิมพ์ และเย็บเล่มเสร็จแล้ว ชื่อคนแต่งทั้ง 3 คนก็ต้องถูกทำให้หายไป โดยใช้หมึกลบออกจากหน้าสารบัญ 
    น่าสงสารหนักไปกว่านั้นคือ ตลอดทั้งเล่ม ไม่ว่าที่ไหนก็ตามที่มีการระบุว่า เรื่องสั้นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เคยตีพิมพ์มาก่อนในหนังสือชื่อ Pe - hpu - hlwa นิตยสารที่ถูกปิดไปโดยรัฐบาลสลอร์ค ชื่อของเรื่องสั้นเรื่องนั้น และชื่อของนิตยสารดังกล่าว ก็ต้องถูกลบออกไปเช่นกัน
    สุดท้ายก่อนที่จะได้รับอนุญาติให้หนังสือเล่มนี้ออกสู่ตลาดได้ สิ่งที่ถูกแก้ไขคือหน้าปก เพราะออกแบบให้เป็นหน้าของโมโม นักเขียนหญิงที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมา เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ โดยปั้มนูนเป็นรูปเหรียญเงินทับลงบนใบหน้า ส่วนนี้ก็ต้องถูกเอาหมึกปิดทับเช่นกัน เพราะความกลัวของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ว่า จะทำให้นักอ่านชาวพม่าประหวัดไปถึงอองซาน ซู จี กับรางวัลโนเบล!
    ไม่รู้ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากที่ถูกสั่งให้ฉีกออกไปหลายบท ถูกเอาหมึกป้ายทับเต็มไปหมดทั้งเล่ม และแม้กระทั่งหน้าปกก็ถูกแก้ แต่ที่แน่ๆ สำนักพิมพ์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ อันเกิดจากการเซ็นเซอร์อย่างหนัก ของรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว
    ฟังเรื่องต้องห้ามต่างๆ ในพม่าแล้วไม่อยากจะเชื่อเลยว่า สังคมต้องห้ามอย่างพม่านั้น ดำรงอยู่เช่นนี้มายาวนานกว่าสิบปีได้อย่างไร ในท่ามกลางโลกรอบบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ
      หันมามองสังคมอินโดนีเซียกันบ้าง ในอินโดนีเซียนั้นเคยมีการต้องห้ามครั้งประวัติศาสตร์ ที่หากหยิบมาเล่าวันนี้ หลายคนคงจะต้องร้องอ๋อ และคงจะอดขำไม่ได้กับความ "เซ็นซิทีฟ" ของรัฐบาลอินโดนีเซีย และที่สำคัญเรื่องต้องห้ามเรื่องนี้ ควรจะต้องเล่าด้วยเกมคำถาม "อะไรเอ่ย"... ที่ถามว่า
    อะไรเอ่ย เมื่อมันถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 อินโดนีเซียสั่งแบน ให้เป็นสิ่งต้องห้าม โดยระบุว่า "สิ่งนี้อาจกระตุ้นให้เกิดตัณหาราคะ" ญี่ปุ่นไม่อนุญาติให้มันปรากฏบนท้องถนน คนจีนเรียกมันว่า "สิ่งที่น่าคลื่นเหียนอาเจียน" และสหภาพโซเวียตประนามว่า "เป็นสัญลักษณ์ของความว่างเปล่าแห่งวัฒนธรรมอเมริกัน"
    คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้คนอายุ 30 กว่าขึ้นไปคงร้องอ๋อ เพราะว่ามันคือ "ฮูลาฮูบ" นั่นเอง เครื่องเล่นที่ไม่มีอะไรมากไปกว่า ห่วงกลมๆ ใหญ่ๆ ทำด้วยพลาสติก ไว้สำหรับหมุนรอบเอว ส่ายไปส่ายมาให้นานที่สุด โดยไม่ให้หล่นลงพื้น ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 เจ้าห่วงฮูลาฮูบส่งอิทธิพลสะเทือนไปทั่วโลกเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
    ความที่การเล่นเจ้าเครื่องเล่นชนิดนี้ ต้องยักย้ายเคลื่อนไหวร่างกายเป็นอย่างมาก อินโดนีเซียในฐานะประเทศที่ประชากร นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก จึงต้องสั่งแบนอุปกรณ์ชนิดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า มันอาจกระตุ้นให้เกิดตัณหาระคะขึ้นมา หากว่าสาวๆ นำไปเล่นยักย้ายส่ายสะโพกกันทั้งเมือง
      มีนักเขียนอินโดนีเซียคนหนึ่ง ที่งานเขียนของเขาถูก "ต้องห้าม" มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย นักเขียนคนนั้นก็คือ ปราโมทยา อานันตา ตูร์ (Pramoedya Ananta Toer) นวนิยายทั้ง 30 เรื่องของเขา ถูกสั่งต้องห้ามในอินโดนีเซียทุกเรื่อง ชีวิตส่วนตัวของปราโมทยาเองก็ "ต้องห้าม" เขาถูกจับขังคุกมาโดยตลอด ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะห่างไกลเสีย 14 ปี หลังจากนั้นก็ถูกต้องห้าม ให้อยู่แต่ในบ้านตลอดมา ในช่วงที่รัฐบาลซูฮาร์โตปกครองประเทศ รวมทั้งถูกห้ามออกนอกประเทศ 
    นอกจากนี้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ รวมทั้งนิตยสารทุกฉบับ ก็ถูกเตือนมิให้เอ่ยอ้างชื่อของปราโมทยา ให้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือแมกกาซีนเล่มใดๆ ทั้งสิ้น
    เรื่องของเรื่องนั้น ก็เป็นเพราะว่า ปราโมทยาเขียนหนังสือที่ทุกรัฐบาลของอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะปกครองโดยดัชท์ โดยรัฐบาลซูการ์โน หรือซูฮาร์โต ล้วนมองเห็นว่า มันจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล
    เปรียบไปแล้ว ปราโมทยานั้นถือได้ว่าเป็น "บรมครู" ทีเดียวในการถูกสั่งต้องห้าม ทั้งหนังสือที่เขาเขียน และตัวของเขาเอง ในขณะที่นักเขียนที่สะท้อนความจริง เพื่อสังคมรายอื่นๆ อาจจะมีหนังสือที่ถูกสั่งต้องห้าม โดยรัฐบาลเพียงไม่กี่เล่ม
      พูดถึงเรื่องต้องห้ามแล้ว มีกรณีต้องห้ามในอินโดนีเซียที่น่าสนใจอย่างมากกรณีหนึ่ง นั่นคือ การกำหนดเขต "ห้ามเข้า" อันเป็นการกำหนดพื้นที่ เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง และเพื่อการกีดกันคนต่างกลุ่มต่างพวกออกไป การกำหนดเขตห้ามเข้านั้น ถูกนำมาใช้โดยตลอด ในห้วงประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย
    ในยุคที่อินโดนีเซียยังถูกปกครองโดยชาวดัชท์นั้น อดีตประธานาธิบดีซูการ์โน เคยเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยเดินผ่านสระว่ายน้ำของคนดัชท์ แต่แล้วก็ต้องชะงัก เมื่อเหลือบไปเห็นป้ายที่ประตูรั้วติดไว้ว่า
    "ห้ามสุนัข หรือชาวพื้นเมือง เข้ามาในบริเวณนี้"
    ป้ายห้ามเข้าป้ายนี้ นับว่ามีส่วนปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยม และต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี รวมถึงตัวซูการ์โน ที่ต่อมาได้กลายเป็นแกนนำ ในการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพ จากประเทศอาณานิคมอย่างเนเธอร์แลนด์ 
    เรื่องการแขวนป้าย "ห้ามเข้า" นี้ แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน ก็ยังถูกนำมาใช้ เพื่อจุดหมายทางการเมืองอยู่ อย่างในจังหวัดอะเจห์ จังหวัดหนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา เมื่อคนอะเจห์พยายามเรียกร้องการแยกตัวเป็นเอกราช  หลังจากที่ติมอร์ตะวันออก ได้รับเอกราชไปไม่นาน ที่หน้าที่ทำการรัฐบาลของจังหวัดอะเจห์ ก็มีการนำป้ายมาแขวนติดไว้ว่า
      "คนพูดภาษาอะเจห์ห้ามเข้า"
    ป้ายนี้แสดงความพยายามของรัฐ ที่จะแบ่งแยกระหว่างคนอะเจห์ที่พูดภาษาอะเจห์ กับคนชวาที่พูดภาษาบาฮาซา อินโดนีเซียออกจากกันอย่างชัดเจน และเป็นความพยายามของรัฐ ที่จะบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการจะแยกตัวเป็นอิสระ ไม่เห็นด้วย ที่จะให้คนอะเจห์พูดภาษาของตัวเอง ดังนั้นเมื่อมาติดต่อราชการ ก็ต้องพูดภาษากลาง (หมายถึงภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย) ใครพูดอะเจห์ห้ามเข้า !
    ฟังดูแล้วก็นึกถึงที่ทำการอำเภอ หรือสถานที่ราชการบางแห่งในเมืองไทย ที่ชอบติดป้าย "ติดต่อราชการ โปรดแต่งกายให้สุภาพ" หรือ "ไม่มีกิจห้ามเข้า!" ขึ้นมาทันที
    สำหรับมาเลเซีย เรื่องต้องห้ามที่โด่งดังและอื้อฉาวที่สุด คือกรณีการตัดสินจำคุกอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในข้อหา "ผิดเพศ" และ "ผิดธรรมชาติ" อันวาร์ถูกตัดสินจำคุกถึง 9 ปี จากข้อหามีสัมพันธ์ทางเพศ กับคนเพศเดียวกัน ในขณะที่ประเด็นเรื่องคอรัปชั่น และใช้อำนาจในทางมิชอบนั้น ถูกตัดสินลงโทษเพียง 6 ปีเท่านั้น 
    เทียบกันแล้ว โทษฐานผิดทางเพศนั้น รุนแรงกว่าโทษฐานคอรับชั่นเสียอีก
      อันที่จริง แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องการเมือง ที่ไม่มีใครเชื่อว่าอันวาร์ผิดจริง แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงการ 'เลือก' ของฝ่ายรัฐบาลมหาเธร์ ที่เลือกให้ประเด็นการผิดเพศนั้น เป็นประเด็นการกล่าวหาที่รุนแรงกว่า
    เมื่อสองปีก่อน มาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันกีฬาในเครือจักรภพอังกฤษ ในชื่อ "กัวลาลัมเปอร์เกมส์" สองเดือนก่อนหน้าที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น รัฐบาลมาเลเซีย ก็ตัดสินใจตัดบริษัทคาร์ลสเบิร์ก ออกจากการเป็นสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬา ด้วยข้ออ้างที่ว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากถึงร้อยละ 40 ซึ่งคนมุสลิมนั้น มีข้อห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ดังนั้นการที่คาร์ลสเบิร์ก จะมาเป็นสปอนเซอร์ให้กัวลาลัมเปอร์เกมส์ จึงเป็นเรื่องไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดปัญหาสังคมขึ้น ในมาเลเซียมากขึ้นไปอีก
    งานนี้ป้ายคาร์ลสเบิร์ก ที่ถูกติดตั้งไปทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์ เลยถูกปลดลงแทบไม่ทัน
    ฟังดูก็เป็นเรื่องตลกที่มาเลเซียต้องห้ามเครื่องดื่มประเภทเบียร์ ในการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนกีฬา ในขณะที่สถิติระบุว่า มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ด้วยยอดจำหน่ายถึง 300 ล้านริงกิตต่อปี
      ปิดท้ายเรื่องต้องห้ามของประเทศลาว ที่บอกว่าเวลาเพื่อนมาเยี่ยม ห้ามกินเป็ด ! ห้ามทำอาหารด้วยเป็ดเลี้ยงกัน เพราะเป็ดนั้นชอบส่งเสียงดัง เหมือนทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา การเลี้ยงกันด้วยเป็ด จึงอาจจะทำให้เพื่อนฝูงทะเลาะกันได้ 
    ฟังเรื่องต้องห้ามทั้งหลายในอุษาคเนย์แล้ว ก็ให้รู้สึกแปลกดี ที่สังคมอุษาคเนย์นั้นช่างแตกต่างหลากหลาย ช่างมีทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ ผสมผสานกันอยู่ในตัว
    บนความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในท่ามกลางกระแสโลกานุวัฒน์ของภูมิภาคนี้  ไม่มีใครรู้ว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เรื่องต้องห้ามเหล่านี้จะหมดไป หรือมีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้น 
    เรื่องนี้ต้องติดตาม.