กลับไปหน้า สารบัญ
ปีที่เจ็ดสิบสองของชีวิต: ประยูร อุลุชาฎะ
ปีที่เจ็ดสิบสองของชีวิต: ประยูร อุลุชาฎะ
    แม้ว่าจะล่วงเลยมาหลายปีแล้วก็ตาม จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัย ประยูร อุลุชาฎะ ก็ยังคงจำเหตุการณ์นั้นได้ดี ราวกับว่าเพิ่งผ่านพ้นมาเมื่อเช้าวันวานนี้เอง
    
เขายังจำได้ถึงความรู้สึกพิศวงต่อชายผู้หนึ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)     สงครามญี่ปุ่นเพิ่งเลิกไป บ้านเมืองยังอัตคัด ไฟฟ้าหรุบหรู่ น้ำประปาก็ไหลกะปริบกะปรอย นักศึกษาศิลปากรทั้งประยูรและรุ่นพี่รุ่นน้อง ยังต้องไปตักน้ำในท่อข้างสนามหลวง มาใช้พรมดินเหนียวในวิชาปั้น ยังดีที่น้ำนั้นท้นเอ่อขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สกปรกอะไรนัก
    ด้านใต้ของสนามหลวงมีส้วมสาธารณะหลังคากลมๆ เหมือนจานบินของมนุษย์ดาวพระอังคารตั้งอยู่ ก็ในย่านนั้นแหละ เป็นถิ่นของนักต้มมนุษย์ ถ้าปะเหมาะเคราะห์ร้าย มีเจ้าหนุ่มบ้านนอกหลงมาก็จะถูกแก๊งลวงโลกนั้นชักชวนให้เล่นพนันดึงเปีย เขาจะเอาไม้ปักบนดินเอาเปียพัน ให้ทายว่าดึงออกได้หรือไม่ ฝ่ายเจ้าพวกหน้าม้าที่ล้อมวงอยู่ ก็จะทำทีมาลองเล่นวางเงินลงไป หลุดก็มีไม่หลุดก็มี แต่ยังไงๆ ก็ทายถูกทุกที พอเหยื่อตายใจ เห็นว่าอ้ายการเล่นพรรค์อย่างนี้เป็นของกล้วยๆ ก็จะหลงเข้าไปเล่นด้วย ทายถูกครั้งหนึ่งเจ้ามือก็จะเซ้าซี้ให้เล่นต่อ ให้แทงอีกเต็มที่ โปะเงินลงไป หมดตัวกันมาเสียนักแล้ว ประยูรเองเมื่อเดินผ่านย่านนั้น ก็ยังเคยไปยืนดูกับเขาด้วย แต่ก็ไม่เห็นอัศจรรย์อะไร ด้วยมันเป็นแต่อุบายของนักพนัน
    ยังพวกขายยาอีก พวกนี้ถึงแก่ลงทุนเจ็บตัว ให้งูกัดจนเลือดไหล แล้วทำตาเหลือกถลน ฮึดฮัดหน้าแดงตัวเกร็งกำลังจะตาย อีกคนก็รีบส่งรากไม้วิเศษให้ รับมาเคี้ยวกลืนกินทั้งราก สักครู่ก็ทำท่าหายเกร็ง เดินไปเดินมาเป็นปกติ จากนั้นก็เอาว่านยายื่นขายคนดูที่ล้อมวง กลบ้าๆ อย่างนี้ไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ จะต้องเล่นกันสักกี่รอบ แล้วจะได้สักกี่อัฐฬส มิหนำซ้ำยังเจ็บฟรีๆ ไปเสียบ่อยๆ แต่ไอ้ที่จะด่าวดิ้นลงไปนั้นเป็นอันไม่มี ด้วยงูเหล่านั้นคงถูกรีดพิษไปหมดแล้ว
    กลอีกอย่างหนึ่งที่ยังมีให้เห็นต่อมาจนสมัยหลังๆ ก็คือจะมีคนไทยปลอมเป็นแขก ทำทีเป็นสะกดจิตเด็กให้นอนลงไปบนพื้นดิน แล้วเอาผ้าดำคลุมไว้ คนเล่นกลก็จะเรียกเด็กลูกคู่ ที่ลงไปนอนคลุมโปงอยู่ว่า "อับดุล..." แล้วก็ถามอะไรต่อมิอะไร เช่นนี่อะไร เด็กตอบว่าเสื้อ ถามว่าสีอะไร ตอบว่าสีเขียว นี่อะไร ตอบว่าแว่นตา ต่อไปอะไร ตอบว่าหนวด ไอ้เด็กนั่นตอบถูกทุกที กลเม็ดของกลอับดุลนี้ง่ายมาก คงต้องมีการซักซ้อมกันมาก่อน แล้วมีแง่มุมให้รู้ว่าจะต้องตอบว่ากระไร
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่มีชายคนหนึ่ง ประยูรเคยพบเขาที่ริมสนามหลวง หน้า "ตึกแดง" ที่เป็นหอสมุดแห่งชาติเดิม แต่งตัวเหมือนคนธรรมดานี่แหละ สะพายย่ามใบใหญ่ มีซิบรูดปิดปากย่ามได้ เขาเดินผิวปากมา (หรือจะมีเครื่องเป่าทำเสียงนกอยู่ในปาก?) สักพักเดียว นกหกที่โผบินในอากาศอยู่ดีๆ ร่อนลงมาเกาะที่มือ เขาก็จับนกใส่ย่าม 
    ดูเหมือนได้มากจนเต็มย่ามทีเดียว
    ผู้ชายคนนั้นไม่ได้อวดอ้างขายสินค้าอย่างใด เขาแค่มาจับนกของเขา-ก็เท่านั้น คนที่บังเอิญผ่านมาเห็นเข้าไปมุงดู เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร อยากเดินตามมาดูก็ดู เขาก็จับนกไป
    ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน จับนกได้ด้วยมนต์คาถา หรือ "เสียง" อะไร และไม่มีใครรู้ว่าเขาจับมันเอาไปทำไม 
    หากเป็นการเล่นกล ก็ไม่รู้จะเล่นทำไม เพราะแกไม่ได้เอาสตางค์ใคร จะเอาไปกินหรือ ก็ยังไงๆ อยู่ หรือจะเป็นคนจับนกเอาไปให้พรรคพวกใส่กรงให้คนปล่อยตามวัด ก็ดูไม่เหมาะอีก เพราะลงถ้าเรียกนกลงมาให้เกาะมือแล้วจับใส่ย่ามได้ โดยนกยอมให้จับไม่หนีไปไหน ก็น่าจะเป็นวิชาชั้นสูง
    หรือจะเป็นการลองวิชาของอาจารย์ผู้คลั่งไสยศาสตร์?
    เช้าวันนั้น ตอนเดินต่อเข้าศิลปากรไปเรียนวิชาอนาโตมี ประยูรก็ยังไม่เข้าใจ และคิดไม่ตกจนอีกกว่าห้าสิบปีให้หลัง
(คลิกดูภาพใหญ่)     บรรยากาศของมหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคนั้น เป็นโลกของการเรียนอย่างจริงจัง ชนิดที่ต้องมาเรียนกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด การสอบวิชาการแต่ละครั้ง มีแต่สอบปากเปล่า ไม่มีปรนัยอัตนัยอย่างใดทั้งสิ้น ทุกคนต้องแม่นยำในกล้ามเนื้อทุกส่วน ศิลปะทุกสมัย หัวเสาทุกแบบ เพราะครูจะจี้ถามเรื่องไหนอย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น และหากตกวิชาใดวิชาหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าต้องซ้ำชั้น 
    
ดังนั้น นักศึกษาคณะจิตรกรรมที่เข้าเรียนพร้อมกับประยูร อุลุชาฎะ ราวยี่สิบสามสิบคนในชั้นปีที่หนึ่ง จึงลดลงครึ่งหนึ่งในปีที่สอง และเมื่อถึงปีที่สาม ก็มีเหลืออยู่เพียงเจ็ดคน
    
ส่วนงานศิลปะปฏิบัติที่เรียนกัน ศาสตราจารย์เฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ได้ยกหลักสูตรอะคาเดมี เช่นที่ท่านเคยเรียนในอิตาลีมาทั้งกระบิ มิหนำซ้ำ ในแวดวงศิลปะตะวันตกสมัยนั้น แนวทางศิลปะผันแปรไปไม่หยุดหย่อน แต่ท่านก็ยังคงแน่วแน่ ในหลักสูตรจากศตวรรษก่อน ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการฝึกหัด "ศิลปิน"
    
ประยูรและพรรคพวกในรุ่น เคยเห็นหนังสือศิลปะของอาจารย์เฟโรจี ในนั้นแม้จะเป็นเพียงภาพที่ถ่ายถอนมาพิมพ์ลงบนกระดาษ แต่ก็ฟุ้งเฟื่องไปด้วยแสงสีอันเปล่งเสียงสรรพสังคีต ของนักวาดภาพชื่อกระฉ่อนในรุ่นอิมเพรสชันนิสม์ และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ คือคิวบิสม์ โฟเวอ เอ๊กซเพรสชั่นนิสม์ เซอเรียลลิสม์
    
บางครั้งบางหน ท่านอาจารย์ฝรั่ง ก็ยังเคยนำภาพเหล่านั้น มาอธิบายให้ลูกศิษย์ลูกหาฟัง แต่ท่านกลับไม่อนุญาตให้ทดลองหันเหไปจากแนวทางคลาสสิคของท่าน
    
ใครเลยจะไปห้ามใจเด็กหนุ่มวัยรุ่นได้...
(คลิกดูภาพใหญ่)     บรรดานักศึกษารุ่นเดียวกับประยูร อันมีอาทิ อังคาร กัลยาณพงศ์ และไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ต่างหลงใหลมนตร์สเน่ห์ของศิลปะใหม่ๆ นั้นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
    มิใยที่อาจาย์ฝรั่งจะห้ามปราม เหล่าศิษย์หัวดื้อก็ไม่ยอมเชื่อฟัง กลับดึงดันวาดภาพ ในแนวทางที่พวกเขาอยากเขียนเอาไปส่ง บางครั้ง จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน ที่บางคนเคยได้ขึ้นไปถึง ๑๐๐ + ๕ ยามเมื่อเขียนถูกใจครูบาอาจารย์ กลุ่มของประยูรกลับได้เพียง ๑๐ หรือ ๑๕ คะแนน
    พวกเขารู้สึกว่า ถูกอาจารย์ตัดหางปล่อยวัดเสียแล้ว!
    ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ประยูรและเพื่อนพ้องจึงขนานนามตัวเองว่าเป็นรุ่น "ก็อก" ตามนานจิตรกรชาวดัทช์ผู้อาภัพ - วินเซนต์ แวนก็อก 
    จากวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน พวก "ก็อก" ยังประกาศความมั่นคงในแนวทางของตนอยู่ค่อนปี จนเมื่อถึงเวลาสอบปลายภาค พวกเขาก็ยังคงส่งงานแบบเดิม ตามที่ตกลงตัดสินใจ ยอมกอดคอตายกันแล้ว ว่าตกเป็นตก
    ผิดคาด เมื่อท่านอาจารย์ได้เห็นความเด็ดเดี่ยว และเห็นแก่คุณค่าในงานศิลปะของพวกเขา คะแนนที่เคยได้ ๑๐ ได้ ๑๕ เป็นประจำนั้น กลับกลายเป็น ๑๐๐ + ๑๐ อันสูงสุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีมา 
    เป็นอันว่าในที่สุด ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็ยอมปล่อยให้นักศึกษาทำงานศิลปะ โดยอิสระมาตั้งแต่บัดนั้น
    นักศึกษาที่ทันเรียนกับอาจารย์ฝรั่งทุกคน รู้ดีถึงกิตติศัพท์ในด้านความดุ และความเฮี้ยบ ความเจ้าระเบียบ ท่านต้องการให้ทุกคนจริงจังกับศิลปะตลอดเวลา ถึงขนาดเด็กศิลปากรในยุคนั้น ไม่กล้าแม้แต่จะเตะตะกร้อหรือโขกหมากรุก เพราะถ้าขืนไปเล่นให้อาจารย์ฝรั่งเห็นเข้า เป็นต้องโดนเอ็ดว่า "ที่นี่ไม่มีชั่วโมงพลศึกษา ใครอยากเล่นกีฬา...ไปเรียนที่อื่น!" 
    แต่ถ้าอาจารย์เฟโรจีจะมีจุดอ่อนอยู่ ก็คือท่านเป็นคนชอบเสียงเพลง ชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ
(คลิกดูภาพใหญ่)     ท่านพยายามโน้มน้าวเด็กหนุ่มสาวชาวไทย ให้หันไปสนใจดนตรีสากล ด้วยการเปิดแผ่นเสียงเพลงคลาสสิค อันยิ่งใหญ่ของโลกกรอกหูพวกเขา บางวันที่อาจารย์ฝรั่งอารมณ์ดีเป็นพิเศษ นักศึกษาก็จะได้ยินท่านแผดเสียงเทเนอร์ ของท่านเป็นเพลงภาษาอิตาเลียนลั่นออกมานอกห้อง บางวันก็จะมีเสียงกระแทกคีย์เปียโน ของท่านศาสตราจารย์พระเจนดุริยางค์คลอด้วย ในยุคนั้น ทางมหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังมีดำริจะเป็นสถานศึกษาทางศิลปะ ที่สมบูรณ์ครบครัน ถึงแก่เตรียมจัดตั้งคณะดุริยางคศาสตร์ และเชื้อเชิญคุณพระเจนฯ นักดนตรีอาวุโสผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย มานั่งประจำไว้แล้ว แต่ต่อมา โครงการณ์นี้ก็มีอันต้องพับไป
    
พวกนักศึกษาจะรู้ดีว่า ถ้าบ่ายๆ วันไหนมีเสียงร้องเพลง และเสียงเปียโนของอาจารย์ฝรั่งทั้งสองท่านแล้วละก็ เป็นอันกระหยิ่มใจได้ว่าอาจารย์เฟโรจี จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เวลาที่มาเดินตรวจงานตอนเย็นๆ ก็จะไม่ถูกดุมากนัก
    
ประยูร อุลุชาฎะ ก็คุ้นเคยกับเพลงการมาแล้วตั้งแต่ยังเด็ก
    
สมัยเมื่อหนุ่มๆ พยนต์ อุลุชาฎะ พ่อของเขาเคยเป็นศุลการักษ์ที่ปากน้ำ หรือเมืองสมุทรปราการ ณ ที่นั้น บรรดาเรือสินค้าต่างประเทศ เมื่อจะแล่นเข้าไปยังท่าเรือกรุงเทพฯ พอผ่านด่านศุลกากรที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเยื้องกับศาลากลางจังหวัด ก็จะต้องชลอความเร็วลง บางลำก็จอด ปล่อยให้พวกศุลการักษ์ตรวจค้นจนทั่ว แล้วจึงปล่อยให้เข้ากรุงเทพฯได้
    
ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงใกล้ชิดกับพวกฝรั่งกัปตันเรือสินค้าจนคุ้นเคยกันดี ถึงแก่ได้ไปขลุกดูกุ๊กในเรือจนจดจำวิชาทำกับข้าวฝรั่งมาได้หลายอย่าง ภายหลังเมื่อออกจากราชการแล้ว เคยหาญเปิดร้านกุ๊กชอพในเมืองปากน้ำ ทำกันอย่างเต็มยศถึงขนาดมีเมนูตั้งไว้หน้าร้าน แต่บ้านนอกคอกนาอย่างนั้น จะหาใครมากินกับข้าวฝรั่งจำพวกสเต๊กสตูว์ได้ ผลที่สุดก็เจ๊ง
(คลิกดูภาพใหญ่)     ตั้งแต่เมื่อประยูรยังเด็กๆ ความทรงจำของเขาเกี่ยวกับพ่อ ก็คือเรื่องของดนตรี 
    ภาพของหีบเสียงเยอรมันเครื่องใหญ่ที่บ้านยังชัดเจนในความนึกคิด 
    เครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นนั้น ตัวตู้เป็นไม้มะฮอกกานีสีม่วงเข้มมันปลาบ ด้านหน้าเปิดประตูสองบานเป็นที่ให้เสียงออกจากลำโพง ตอนบนมีฝาเปิดวางแผ่นเสียง มีรูไขลานอยู่ข้างๆ แถมยังเป็นชนิดลานคู่ เผื่อลานตัวใดตัวหนึ่งขาดไป อีกตัวหนึ่งก็ยังจะใช้การได้
    แผ่นเสียงของพ่อมีเป็นกล่องๆ ส่วนใหญ่เป็นเพลงเครื่องสายไทยและเพลงมาร์ชเยอรมัน แต่ก็มีเพลงลำตัดและเพลงคลาสสิคอีกสองสามแผ่น
    ในวัยเด็ก ประยูรไปไขเล่นเสมอ ฟังเพลงกันบ่อยจนลานขาดไปทั้งสองลาน
    นอกจากนั้น พ่อพยนต์ยังเป็นนักดนตรีไทยคนหนึ่ง เล่ากันมาว่าพ่อเคยรวบรวมเพื่อนฝูงตั้งวงเครื่องสาย ฝีมือดีถึงขนาดได้ไปเล่นออกวิทยุ ตั้งแต่ที่ทั้งประเทศสยามมีสถานีวิทยุเพียงแห่งเดียวที่ศาลาแดง ที่เดี๋ยวนี้เป็นโรงเรียนเตรียมทหาร
    แต่เมื่อประยูรโตขึ้นมา พ่อก็ไม่ได้ทำงานแล้ว แต่กลับโหมกินเหล้าทั้งวัน ถึงจะยังสีซอด้วงให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็อ้อแอ้แบบคนเมาเสียมากกว่า 
    เมื่อเป็นดังนี้ ชีวิตของเขาและน้องๆ จึงเติบโตมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของแม่คำน้อย ผู้ซึ่งมีชีวิตตั้งแต่เช้าจนดึกดื่นอยู่หลังจักรเย็บผ้า รับจ้างออกแบบ ตัดเสื้อ เย็บปักต่างๆ 
    ประยูรยังจำได้ว่าเขาเคยเห็นแม่ร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ
    แต่เล็กมา เสื้อผ้าทุกตัวของพี่น้องในบ้าน ล้วนเป็นผลผลิตจากความรักของแม่ทั้งสิ้น 
    สมัยเป็นเด็กหนุ่มรุ่นๆ ประยูรเคยค่อนว่ากางเกงที่แม่ตัดให้นั้น ไม่สวย ไม่ทันสมัย จะขอสตางค์ไปตัดกางเกงแบบสมัยนิยม ให้ทัดหน้าเทียมตากับพวกเพื่อนๆ เขาบ้าง แต่แม่ไม่ยอม 
    วันหลังแม่ก็ตัดให้ใหม่จนเหมือนของร้านเจ๊ก โดยสังเกตจากเพื่อนๆ ที่แวะเวียนมาเที่ยวเล่นที่บ้าน หูกางเกงกับกระเป๋าหลังเป็นอย่างไร ท่านแอบดูไว้แล้วก็ตัดให้ลูกชายคนโตได้เหมือนหมด เล่นเอาเขาพูดไม่ออก
    ในช่วงก่อนสงครามญี่ปุ่นนั้น ชุดนักเรียนผู้ชายทั้งประเทศ ถูกกำหนดให้เป็น "ชุดยุวชนทหาร" หมดแล้ว คือมีเสื้อแขนยาวกับกางเกงขาสั้นสีกากีแกมเขียว ใส่กับหมวกทรงหม้อตาลสีเดียวกัน
(คลิกดูภาพใหญ่)     ชุดยุวชนทหารของประยูรแม่ก็เย็บให้ ในสมัยนั้น เริ่มเข้าสู่ภาวะสงคราม ผ้าลายสองที่ถือกันว่าเป็นของดีเริ่มหายาก ซื้อขายกันในตลาดมืดด้วยราคาแพง ชุดยุวชนทหารของเขาจึงเย็บด้วยผ้าฝ้ายขาวแล้วเอามาย้อมให้เป็นสีเขียว แรกใส่ใหม่ๆ ก็สวยดี แต่นานๆ เข้าผ้าก็ยุ่ยตะเข็บปริ แม่ต้องเย็บซ่อมให้บ่อยๆ 
    อาทิตย์ละหนึ่งวันจะมีครูฝึกที่ส่งมาจากกรมยุวชนทหาร เป็นนายสิบทหารบก มีรถบรรทุกปืนเล็กยาวและปืนกลจริงๆ มาให้ฝึก ทุกคนต้องเรียนการยิงปืน การฝึกแถว การขุดสนามเพลาะ การสำรวจวิถีกระสุน และการสอดแนม
    นอกจากนั้น ยุวชนทหารยังต้องเดินทางไกลแบกเครื่องหลัง ฝึกความอดทนเข้มแข็งและระเบียบวินัย
    ระหว่างเดินแถวยังต้องร้องเพลงด้วย
    "ยุวชนทหาร ยุวชนทหาร เราจะตายเพื่อไทย ในเมื่อใครรุกราน..."
    ประยูรเป็นเด็กตัวเล็ก เวลาเข้าแถวจะอยู่รั้งท้าย บางทีเมื่อเวลาเดินแถวผ่านตลาด เห็นแม่กับป้าและบรรดาญาติๆ ชี้ชวนกันดูเขาแล้วขำๆ กัน เขาก็ยังอายเสียแทบแย่
    สมัยสงครามเป็นสมัยที่มีการปลุกใจให้รักชาติ ทุกคนต้องเข้มแข็ง คำขวัญของรัฐบาลก็คือ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ทุกวันวิทยุกระจายเสียงจะเปิดแต่เพลงปลุกใจให้ฮึกเหิม 
    "เลือดไทยไหลริน ทาแผ่นดินไว้ชื่อ ให้โลกเขารู้ร่ำลือ ว่าเลือดไทยกล้าหาญ
    เลือดไทยไหลหลั่ง ดุจดังน้ำเต็มฝั่ง ไหลดั่งลำธาร..." หรือไม่ก็
    "ขอพระพุทธคุณ ปกป้องคุ้มครองไทย...ขอให้ไทยโชติช่วงดังดวงเพลิงอยู่ชั่วฟ้าดิน"
    ไม่มีใครคาดคิดว่า เพลงเหล่านี้เป็นเพลงมหาประลัย ที่จะแช่งชักให้เกิดกลียุค ผู้คนต้องหลั่งเลือดล้มตาย บ้านเมืองโชติช่วงด้วยเปลวเพลิง
(คลิกดูภาพใหญ่)

    เช้ามืดวันหนึ่งในฤดูหนาว ก่อนงานรัฐธรรมนูญไม่กี่วัน ประยูรตื่นขึ้นมา ได้ยินคนคุยกันข้างล่าง แม่มาปลุกว่าญี่ปุ่นขึ้นบกที่บางปูแล้ว
คำสั่งที่ยุวชนทหารทุกคนได้รับมาระหว่างการฝึกจนจำได้ขึ้นใจก็คือ ถ้าหากเกิดมีศัตรูผู้รุกราน ให้ทุกคนไปรวมพลที่โรงเรียนทันที
    ประยูรรีบแต่งชุดยุวชนทหาร สวมถุงเท้ารองเท้าหุ้มข้อ วิ่งตี๋อออกจากบ้านไปทันที โดยไม่ฟังเสียงห้ามของแม่และพี่ป้าน้าอา
    อากาศหนาวยะเยือก หมอกลงจัด ประยูรวิ่งตามถนนทางไปโรงเรียน มีต้นมะขามครึ้มสองข้าง เขาวิ่งจนเหนื่อยแล้วจึงหยุดยืนหอบ พักให้หายเหนื่อย
    ทหารในชุดพรางรุงรังคนหนึ่งหมอบอยู่ริมถนน หน้าแดงๆ เคราครึ้มนั้นยิ้มให้เขา
    เครื่องแบบของทหารคนนั้นดูไม่คุ้นตาเลย 
    ทุกอย่างเงียบกริบ
    ประยูรหันขวับไปทางที่ผ่านมา ใจหายวาบ ด้วยใต้ต้นไม้ริมถนนทุกต้นมีแต่ทหารญี่ปุ่น
    เขาวิ่งฝ่าแนวยิงของข้าศึกมาตลอด!
    โชคยังดี ที่ยุวชนทหารของสมุทรปราการไม่มีปืนอยู่ในมือ จึงไม่สามารถจะไปจับอาวุธ ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นได้ คงทำได้เพียงไปสอดแนมสืบข่าวตกน้ำตกท่าเท่านั้น ประยูรจึงยังรอดชีวิตผ่านวันญี่ปุ่นขึ้นมาได้ และมีโอกาสดำเนินชีวิตในเวลาต่อมา ได้อย่างที่ป้าธง พี่สาวของพ่อ และมารดาของศาสตราจารย์นายแพทย์ทองน่าน วิภาตะวนิช เคยดูลักษณะเขาแล้วออกปากว่า "ต่อไปจะได้เป็นใหญ่มีชื่อเสียง แต่ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ค่อยมีความสุขกับเขาเท่าไหร่นัก" 

(คลิกดูภาพใหญ่)     ที่บ้านตำบลมหาวงษ์ เมืองปากน้ำ นอกจากเด็กรุ่นประยูรและน้องๆ แล้ว ยังมีผู้ใหญ่อยู่กันอีกหลายคนหลายชั้น ทั้งปู่ ย่า พ่อ แม่ กับป้าๆ ที่ยังไม่ได้แต่งงานอีกหลายคน
    ปู่ฉัตรนั้นเคยทำอะไรมาบ้างเมื่อยังหนุ่ม เด็กๆ อย่างประยูรก็ไม่เคยกล้าแอะปากถาม เพราะท่านขึ้นชื่อนักหนาว่าเป็นคนดุ จะไปเซ้าซี้อะไรไม่ได้
    ห้องของปู่เป็นสถานที่ที่น่ากลัวสำหรับเด็กๆ ด้วยปู่เป็นหมอยาหมอคาถาอาคม ตามตัวมีแต่รอยสักดำพรืด ห้องของท่านค่อนข้างมืดทึบ บนโต๊ะใหญ่ตั้งรูปพระฤาษีตาวัว ฤาษีตาไฟ ฤาษีหน้าเนื้อ และฤาษีต่างๆ เรียงไว้จนเต็ม เวลาปู่อยู่ในห้องจะนั่งบดยาง่วนอยู่ ในอากาศอวลกลิ่นเครื่องยาไทยคลุ้งไปหมด ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งยังเคยมาเล่าว่าแอบเข้าไปในห้องตอนปู่ไม่อยู่ แล้วถูก "ใครก็ไม่รู้" เขกหัวเอาจนต้องเปิดแนบออกมาแทบไม่ทัน
    งานอดิเรกของปู่เมื่อสมัยหนุ่มๆ ที่เคยได้ยินมา ก็คือพอเมาได้ที่แล้วจะเอาขวานเหน็บติดหลังไปเล่มหนึ่ง ด้อมๆ ไปตามศาลาวัดที่พวกกุลีจีน ชอบไปพักนอนหลับอยู่ พอดูเห็นจังหวะเหมาะๆ ก็ฟันฉับ
    ผู้ชายจีนรุ่นเก่านั้น ถูกราชวงศ์แมนจูบังคับให้โกนศีรษะแล้วไว้หางเปียยาว ปู่ไปดอดฟันหางเปียพวกนี้มา พอรวมกันได้มากๆ ก็เอามาถักกระเป๋าเล่น
(คลิกดูภาพใหญ่)     เวลาตื่นมาตอนเช้า ในความสลัวรางของเรือนโบราณ จะมีเสียงปู่ลับมีดดายหญ้าอยู่ที่หัวบันได กับเสียงย่าตำหมาก ก๊อก ก๊อก อยู่อีกห้องหนึ่ง
    บ้านเก่าของประยูรเป็นบ้านเรือนไทย ที่ปู่ปลูกให้พ่อเป็นการรับขวัญหลานชายคนโต ซึ่งก็คือตัวประยูรเอง
    แต่แรกเมื่อแม่ตั้งท้อง พ่อนึกฝันเอาไว้มากว่าจะได้ลูกสาว ถึงขนาดตั้งชื่อเอาไว้ล่วงหน้าว่า รัชนี แต่เมื่อคลอดออกมาเป็นเด็กผู้ชายอ้วนจ้ำม่ำ ผิวขาว ผมแดงเหมือนเด็กฝรั่ง พ่อจึงต้องไปกราบท่านเจ้าคุณวัดกลาง ให้ตั้งชื่อให้ใหม่ ท่านตั้งให้ตามเกณฑ์ของเด็กผู้ชายวันพุธ คือใช้วรรคศรีกับวรรคเดชผสมกัน จึงได้ชื่อว่าประยูร
    ต่อมาอีกหลายสิบปี เมื่อเขาเริ่มหันมาเขียนหนังสือ ประยูรก็ยังเก็บเอาตัว น จากชื่อรัชนี อันเขาถือเป็นมงคลนามที่พ่อตั้งให้ มาผนวกรวมกับตำบลบ้านของเขาที่ปากน้ำ จึงถือกำเนิดขึ้นเป็น น. ณ ปากน้ำ
    แต่เหตุที่เขาจะได้ไปเขียนหนังสือหนังหานั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
    นักเรียนจิตรกรรมคนหนึ่งรุ่นหลังประยูรหลายสิบรุ่น เมื่อหันมาเขียนหนังสือ เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขาก็คือบันทึกความหลังสมัยเรียนศิลปะที่ศิลปากร ใช้ชื่อว่า "กลิ่นสีและกาวแป้ง" และทำให้คำนี้เป็นที่เกรียวกราวในหมู่สังคมภายนอก
    ที่จริงคำนี้มาจากประโยคที่ว่า "กลิ่นสี และกาวแป้ง ดุจดังแรงส่งเสริมใจ" อันเป็นท่อนหนึ่งในภาคภาษาไทยของเพลงอิตาเลียน - ซานตาลูเชีย Santa Lucia ที่อาจารย์เฟโรจีชอบร้องเวลาครึ้มอกครึ้มใจ
    ที่แปลกแต่จริงก็คือผู้แต่งเนื้อเพลงนี้ กลับกลายเป็นเสนีย์ อุษณีสาร นักร้องลูกแม่โดม ซึ่งมาขลุกอยู่กับพวกนักเรียนศิลปากร จนคุ้นชินกับทั้งกลิ่นสี และกาวแป้ง
    ความจริงนั้น สีฝุ่นก็ไม่ได้มีกลิ่นอะไร แต่เนื่องจากตั้งแต่ยุคสงครามโลกมาแล้ว อะไรก็ขาดแคลนไปเสียหมด อุปกรณ์เขียนรูปหาไม่ได้เลย ยังดีที่อาจารย์ฝรั่งเคยสั่งซื้อสีฝุ่นมาตุนไว้มาก ทำให้การเรียนเขียนรูปยังดำเนินต่อไปได้จนถึงหลังสงคราม 
    แต่เวลาเขียนสีฝุ่นต้องใช้น้ำผสมกับกาว 
    ในยามทุกข์เข็ญเช่นนั้น มีแต่กาวเป็นแผ่นๆ ทำจากหนังควายแห้ง ต้องเอามาทุบให้แหลก แล้วใส่น้ำใส่กระป๋องนมไปตั้งไฟให้ละลาย ระหว่างที่เคี่ยวนี้เอง ไอสาบสางของหนังสัตว์จะคลุ้งตลบไปทั่ว กลิ่นของมันนั้นร้ายกาจเสียจนจับจิตจับใจนักเรียนศิลปากรถ้วนทั่วทุกตัวคน
    ส่วนกาวแป้งนั้น ก็คือแป้งเปียกติดกระดาษนี่เอง ที่จริงก็ไม่ค่อยมีกลิ่นอะไรเหมือนกัน แต่ถ้าปล่อยทิ้งนานๆ มันก็บูดได้ คนแต่งเพลงนี้มีโอกาสมาดมกลิ่นกาวหนังควาย กลิ่นแป้งเปียกบูดทุกวี่ทุกวัน เพลงประจำมหาวิทยาลัยเลยออกมาในรูปนั้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่เหตุว่าทำไมจึงต้องใช้กาวแป้ง เรื่องนี้มีเหตุยืดยาวมาแต่ท่านศาสตราจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับไปแล้ว 
    หลังจากท่านกลับมาจากอินเดียใหม่ๆ ได้นำเอาวิธีการแบบพื้นเมืองอันท่านได้เรียนรู้จากสำนักศานตินิเกตันมาเผยแพร่
    นั่นก็คือหากหากระดาษวาดเขียนดีๆ เช่นกระดาษวอทแมนไม่ได้ ก็ให้เอากระดาษหนังสือพิมพ์ธรรมดาๆ นี่แหละ มาชุบน้ำให้ชุ่มโชก ปูบนพื้นกระดานเรียบ แล้วเอากาวแป้งละเลงปนไปกับน้ำจนทั่ว จากนั้นเอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ชุบน้ำไว้อีกแผ่นมาปิดทับ ถ้าต้องการหนามากก็ให้ปะทับซ้ำลงไปสักสามสี่ชั้น พอแห้งก็เอาสีฝุ่นขาวผสมกาวทาทับบนพื้นหน้าจนทั่ว เท่านี้ก็จะได้กระดาษวาดรูปเนื้อหนามาใช้ นักศึกษาครั้งกระโน้นทำตามท่านกันทั่วไป
    ในสมัยทุรยุคที่ของจากเมืองนอกยังขาดแคลน และที่ประยูรเป็นลูกศิษย์อาจารย์ฝรั่งอยู่นั้น ครั้งหนึ่ง ประยูรส่งงาน Composition ของเขาให้อาจารย์เฟโรจีตรวจ 
    "กระดาษอะไรนี่นาย...ดีมาก..." อาจารย์ยกขึ้นดูด้วยความแปลกใจ เพราะเนื้อกระดาษเป็นอย่างดีที่หาไม่ได้ในเมืองไทย แล้วพลิกกลับมาดูด้านหลัง 
    สีหน้าของท่านเปลี่ยนไปทันที ท่านโกรธ...โกรธมาก หันมาพูดกับเขาด้วยเสียงอันดังว่า
    "ทำไมนายทำอย่างนี้... สักวันนายจะต้องเสียใจ!"
    งาน Composition แผ่นนั้น อาจารย์ฝรั่งไม่ยอมตรวจให้คะแนน และยิ่งกว่านั้น คำพูดของท่าน มันคือคำสาป
    ก่อนหน้านั้น ประยูรไปได้หนังสือเล่มใหญ่ จากร้านหนังสือเก่า ย่านเวิ้งนาครเขษมมาในราคาไม่กี่บาท มันเป็นหนังสือศิลปะไทย พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ไม่มีใครรู้ว่ากรุแตกมาแต่วังไหนบ้านใด แต่เป็นหนังสืออย่างดีมาก พิมพ์ตัวรูปด้านเดียว อีกด้านเป็นกระดาษว่างๆ ประยูรจึงซื้อมาฉีกเอากระดาษเนื้อดีไว้ทำงานส่ง
    ภาพด้านหลังที่อาจารย์เฟโรจีพลิกขึ้นมาดูนั้น คือรอยพระพุทธบาท ศิลปะสุโขทัย อันเป็นศิลปะชั้นคลาสสิคของสยามประเทศ ซึ่งตอนนั้น ประยูรก็ไม่ได้สนใจใยดีอะไรนัก เพราะเขายังสนใจแต่ศิลปะสมัยใหม่ของฝรั่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)     ภาพหนึ่งที่ติดตาเขามา จนถึงเดี๋ยวนี้ก็คือ ปฏิทินฝรั่งที่แขวนอยู่บนฝาบ้านเมื่อเด็กๆ 
    ปฏิทินแผ่นนั้นเป็นกระดาษแข็ง โรยกากเพชรหรูหราตามสมัยนิยม พิมพ์ดุนนูนเป็นรูปกระท่อมน้อยริมลำธาร มีปล่องไฟพ่นควันเป็นทางยาวบางเบา เบื้องหน้ามีแหม่มสาว แก้มสีชมพู สวมกระโปรงฟูฟ่องยืนอยู่กับเด็กๆ 
    ภาพนั้นกระตุ้นเตือนให้เขาอยากเห็นฝรั่ง เห็นแหม่ม เห็นบ้านเมืองต่างๆ อันไกลโพ้นด้วยตาตนเอง และน้อมนำจินตภาพของเด็กบ้านสวนอย่างเขา ไปสู่โลกที่แปลกหูแปลกตา อันมีแสงสีพร่างพราย
    ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ประยูรมีชื่อเสียงในหมู่เพื่อนๆ ว่ามีฝีมือทางเขียนรูป มักถูกครูใช้ให้เขียนแผนที่ในกระดานดำ หรือเขียนรูปตับไตไส้พุง รูปเครื่องมือวิทยาศาสตร์ บ่อยครั้ง
    มีอยู่ปีหนึ่ง เมื่อยังเรียนมัธยมที่ปากน้ำ เขาเคยตามผู้ใหญ่เข้ามาเที่ยวงานรัฐธรรมนูญที่วังสราญรมย์ในพระนคร ร้านที่แสนจะน่าตะลึงตะลานใจสำหรับหนุ่มน้อยคนนี้ก็คือร้านของกรมศิลปากร หน้าร้านมีรูปชายร่างกำยำขนาดสองเท่าคนจริง เดินยืดอกผ่าเผย ข้างใต้เขียนว่า เดิน-เดิน-เดิน อันมาจากเพลงปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากรที่ว่า
    "เดิน เดิน เดิน อย่ายอมแพ้ใคร ชาติไทยจงเดิน
    เดิน เดิน เดิน ถ้าหวังก้าวหน้า เราต้องพากันเดิน"
    ยิ่งเข้าไปในร้าน ก็ยิ่งตื่นเต้นไปกับภาพปั้นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ของนักเรียนศิลปากร ภายใต้การอบรมสั่งสอนของศาสตราจารย์คอราโด เฟโรจี
    ตั้งแต่นั้นมา ศิลปากรจึงเป็นความใฝ่ฝันของประยูร เมื่อจบชั้นมัธยม ๖ จากโรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนนักเรียนใครต่อใครก็มุ่งจะไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ ไปเรียนเตรียมนายร้อยบ้าง หรือไม่ก็เตรียมจุฬาฯ เตรียมแพทย์ เขาเองอยากเรียนเขียนรูป อยากเข้าศิลปากร แต่ไม่มีใครพาไปฝาก แม่ก็ต้องทำมาหากินไม่มีเวลาว่าง ส่วนพ่อก็เมาอยู่ตลอดเวลา 
    วันหนึ่งเห็นมีประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ว่ามีครูสอนวาดเขียนทางไปรษณีย์ ให้ตำบลที่อยู่ไว้ว่าสมุทรสาคร ประยูรจึงรบเร้าแม่ให้พาไปสมัครเป็นลูกศิษย์ให้ได้ พูดง่ายๆ ก็คืออยากกวดวิชาเข้าศิลปากร
    แต่แรก แม่ก็ยังเฉยๆ ประยูรจึงยื่นคำขาดว่าถ้าไม่พาไป เขาจะเลิกเรียนหนังสือ
    ท้ายที่สุด แม่ต้องยอมพาเขาขึ้นรถลงเรือไปถึงมหาชัยซึ่งอยู่แสนไกลจากบ้าน 
    เมื่อคลำไปถึงบ้านครูตามที่อยู่ เขาก็เจอครูนุ่งกางเกงตัวเดียว เดินหัวกระเซิงเพิ่งตื่นนอนอยู่ในเล้าเป็ดใต้ถุน
    พอแจ้งความจำนงไป กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย ครูท่านนั้นบอกว่าเขารับสอนทางไปรษณีย์ตามที่ลงแจ้งความไว้เท่านั้น ไม่สอนให้ตัวต่อตัว
    ใจที่เคยเบิกบานลิงโลดเมื่อขาไป ก็แป้วลงจนเหือดแห้งในเที่ยวกลับ
(คลิกดูภาพใหญ่)     กลับมาบ้าน เห็นเพื่อนๆ เขาไปสมัครเรียนต่อกันเป็นแถว ประยูรจึงเข้ามากรุงเทพฯ บ้าง แต่เมื่อเข้ามาแล้ว เขาถึงได้รู้ว่าถ้าอยากไปเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ฝรั่งที่ศิลปากร ก็ต้องไปเรียนโรงเรียนเพาะช่างก่อน เพราะช่วงนั้น มีการเปลี่ยนแปลงระบบของมหาวิทยาลัย โรงเรียนเพาะช่าง กลายมามีฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมของศิลปากร ดังนั้น เขาจึงต้องไปตั้งต้นที่เพาะช่างเสียก่อน
    
ช่วงนั้นเป็นสมัยสงคราม อาคารโรงเรียนเพาะช่างพลอยถูกลูกระเบิดสัมพันธมิตร ที่ทิ้งกะถล่มโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพระพุทธยอดฟ้า จนเหลือแต่อิฐหักกากปูน โรงเรียนต้องย้ายไปอยู่ที่วัดนางนองกลางสวนฝั่งธนฯ จนเมื่อสงครามสงบ จึงได้ย้ายมาปลูกเป็นโรงไม้มุงจากอยู่ในที่เดิมไปพลางก่อน ซึ่งประยูรก็ได้เป็นนักเรียนรุ่นหลังคาจากนี้กับเขาด้วยคนหนึ่ง
    
จนเมื่อเขาเข้าศิลปากรได้แล้ว บ้านเมืองก็ยังไม่ฟื้นจากสภาพสงครามนัก ทุกเช้า ประยูรจะขึ้นรถไฟสายปากน้ำเที่ยวหกโมงเช้า มากับเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ทำงานธนาคารแถวเฉลิมกรุง
    
รถไฟสายปากน้ำนี้ หน้าตาไม่ได้เป็นรถไฟอย่างชื่อ แต่เป็นรถรางไฟฟ้าคันเขื่องๆ มากกว่า 
    
ทึ่จริงสถานีปลายทางของรถไฟสายปากน้ำนี้อยู่ตรงหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงนั่นเอง แต่ในระหว่างสมัยที่กรุงเทพฯ ถูกทิ้งระเบิดทุกคืนนั้น หัวลำโพงเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ต้องถูกทำลาย สถานีรถไฟปากน้ำจึงเหี้ยนเตียนราพณาสูรไปด้วย ปลายทางของมันจึงมาสุดสายอยู่แค่สถานีสามย่าน ปากทางถนนไปสี่พระยา
    
เพราะว่ารถมาถึงกรุงเทพฯ ค่อนข้างเช้า ราว ๗ โมงเศษ จากที่นั่น ประยูรจะเดินต่อไปเรียนถึงศิลปากรที่สนามหลวง
    
จากสามย่าน เดินลัดเลาะผ่านสะพานเหลือง หัวลำโพง ข้ามสะพานเสาดอริกแบบกรีกที่งามที่สุดในกรุงเทพฯ ที่เดี๋ยวนี้ถูกทุบทิ้งไปแล้วเพราะเขาขยายถนน ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงนั้นเป็นช่องกว้าง ลมโกรกเย็นสบาย
    
ข้ามไปแล้ว ถนนแยกไปหลายทางเหมือนเอานิ้วมือทาบกางออก ข้ามไปสู่แยกที่สาม พุ่งตรงไปสู่สามแยกหน้าโรงหนังเฉลิมบุรี
    
ตรงปากทางเข้าเฉลิมบุรี สองหนุ่มก็แวะกินน้ำขม ที่ร่ำลือกันว่ามีสรรพคุณวิเศษนัก แก้เมื่อยแก้กษัยสารพัด แต่ไปๆ มาๆ ก็กลับค้นพบว่าลอดช่องสิงคโปร์ที่อยู่เคียงกันนั้น อร่อยชวนกินกว่าเป็นไหนๆ ลอดช่องเขาเหนียว กะทิเข้มข้นจนติดใจ มีขนุนชิ้นเล็กๆ ลอยหน้า ใส่น้ำแข็งไส 
(คลิกดูภาพใหญ่)

    อีกร้านหนึ่งที่ประยูรกับเพื่อนชอบแวะหยุดดูระหว่างทางที่เดินกันไป ก็คือร้านเขียนรูปสีถ่าน ใกล้กับโรงหนังพัฒนากร ในสายตาของนักเรียนศิลปะมือใหม่ รูปเหมือนฝีมือช่างชาวจีน ที่เขียนขยายจากรูปถ่ายมาติดไว้เต็มหน้าร้านนั้น ดูจะเป็นงานสุดยอดฝีมือ เช่นรูปคนแก่ ผิวหนังเหี่ยวย่น เส้นเอ็นปูดโปน หรือเขียนผ้ามีรอยยับเหมือนของจริงมาก 
    ต่อภายหลัง เขาจึงตระหนักว่างานเช่นนั้น ใครๆ ก็ทำได้ เพราะเป็นแต่ความประณีตที่เกิดจากการฝึกฝนโดยสม่ำเสมอ นับเป็นของพื้นๆ ที่ไม่น่าอัศจรรย์อะไร แต่การเขียนให้เป็น"ศิลปะ" นั้น มันเป็นหนทางแสนไกลที่ยังคงต้องเดินทางกันไปอีกนานนัก
    เมื่อจบชั้นปีที่สามได้อนุปริญญาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม ก็พอดีถึงเกณฑ์ที่จะต้องเป็นทหาร ประยูรถูกเกณฑ์เป็นทหารเรือตามภูมิลำเนา แต่เนื่องจากเขาเคยเรียนจบหลักสูตรยุวชนนายสิบมาแล้ว จึงได้ลดหย่อนเหลือเวลารับราชการทหารเพียงสามเดือน แต่ก็เป็นสามเดือนแห่งความทรมานทรกรรมอย่างสาหัส
    ปลดจากทหารมา ประยูรกลับมาสมัครเรียนศิลปากรต่อในชั้นปริญญาอีกสองปี คราวนี้ ทั้งรุ่นเหลือเพียงเขากับไพบูลย์ สุวรรณกูฎ ทว่า หลังจากสองปีผ่านไป การณ์กลับกลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรยังไม่สามารถประสาทปริญญาให้ได้ ทุกคนจึงเรียนไปเสียเวลาเปล่า แต่ก็ได้รับความรู้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามหลักสูตรที่อาจารย์เฟโรจีได้วางไว้ทุกประการ 
    เมื่อยังเรียนอยู่ปีที่สี่ อังคาร กัลยาณพงศ์เกิดเบื่อโลก คิดจะบวชตลอดชีวิต จึงมีบิดาของเพื่อนบวชให้ที่วัดมหาธาตุ ข้างๆ ศิลปากร ไพบูลย์กับประยูรเลยพลอยไปสิงสู่อยู่กับพระอังคารที่กุฎิหอไตรคณะ ๓ ข้างโบสถ์ 
    อังคารบวชไปได้ไม่กี่มากน้อยก็สึก เพราะเกิดไปขัดใจกับเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน แต่ทั้งสามสหายยังคงสิงสู่อยู่ที่วัดมหาธาตุต่อมาอีกเป็นแรมปี ตอนหลังนี้ จะเป็นลูกศิษย์พระ กินข้าวก้นบาตรแต่ก่อนก็ไม่ได้เสียแล้ว ต้องไปขอข้าวมาจากกุฎิอื่น ส่วนกับข้าวนั้นอดกันบ่อยๆ ประทังชีวิตรอดมาได้ก็ด้วยกะปิใส่ช้อนปิ้งไฟ เอามาคลุกกินกับข้าว แล้วเด็ดพริกขี้หนูที่ขึ้นแถวๆ ข้างโบสถ์มากินแทนผัก
    อยู่อย่างนี้มาได้อีกปีหนึ่งก็แพแตก อังคารไปทำงานกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ คัดลอกลายเส้นจิตรกรรมโบราณที่อยุธยา ไพบูลย์ไปเขียนรูปลายเส้นแบบไทยขายฝรั่ง ส่วนประยูรก็ระหกระเหินไปหางานทำ

(คลิกดูภาพใหญ่)     งานแรกในชีวิตของเขา คือการเขียนป้ายโปสเตอร์โฆษณาให้ร้านริมถนนเจริญกรุง ตรงข้ามโรงหนังโอเดียน ทางร้านต้องการให้เขาเขียนลอกแบบจักรเย็บผ้ากับเขียนตัวหนังสือ เมื่อเขียนเสร็จ เขาดูๆ ไปแล้ว ก็ว่าฝีมือการก็อปปี้ของเขาก็ไม่แพ้รูปสีถ่านที่เคยชื่นชมเหมือนกัน
    
หลังจากนั้น ประยูรก็เข้าทำงานในร้านเฟอร์นิเจอร์พักหนึ่ง ต่อมาไปเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนศิริศาสตร์อีกปี จนอาจารย์เฟโรจีให้คนไปตามเขากลับมาช่วยสอนในโรงเรียนศิลปศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนช่างศิลป์
    
ภายในไม่กี่ปี ประยูร อุลุชาฎะ อาจารย์หนุ่มหล่อแต่งตัวทันสมัยคนนี้ ก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนั้น ด้วยตำแหน่งที่สูงขึ้น ทำให้เขาต้องมุทำงานอย่างหนัก ทั้งงานสอนและงานบริหาร แต่ก็เป็นช่วงนี้เช่นกัน ที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงในทางงานจิตรกรรม
    
การประกวดศิลปกรรมแห่งชาติที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงท้ายๆ ที่เขายังเรียนอยู่ กลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับบรรดาจิตรกร และประติมากรรุ่นเยาว์ของเมืองไทย ประยูรได้รางวัลเหรียญทองแดงจากงานนี้มาแล้วหลายครั้ง จนถึงภาพสีน้ำมัน จันทบุรี ที่เขียนขึ้นในระหว่างไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่เมืองจันท์
    
ในวัยที่เรี่ยวแรงกำลังยังเหลือเฟือ ทุกเช้าเขาจะเอาเฟรมสะพายหลัง ปั่นจักรยานขึ้นเขาไปหามุมวาดรูป จนเมื่อถึงเวลากลับ เขาก็มีผลงานที่พึงใจอยู่ราวสิบรูป
    
ต่อเมื่อลงจากรถเมล์สองแถวโกโรโกโสในขากลับ เขาจึงได้เห็นว่ารูปสีน้ำมันขนาดใหญ่ ที่มัดซ้อนๆ กันวางบนหลังคารถนั้น ถูกเด็กกระเป๋ารถที่ปีนขึ้นปีนลงเก็บหยิบสัมภาระของผู้โดยสาร เหยียบย่ำจนป่นปี้แทบทั้งหมด เหลือรอดมาเพียงรูปเดียว
    
ต่อมาอีกหลายสิบปี ประยูรก็ยังจำได้ว่าเคยมีรูปอื่นที่ดีกว่าชิ้นที่ได้รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง และแขวนแสดงอยูในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ อยู่ในบัดนี้
(คลิกดูภาพใหญ่)     ใครเลยจะนึกฝัน ว่าหลังจากเกียรติยศยิ่งใหญ่เพียงไม่ถึงสองปี จิตรกรคนเดียวกันนั้นจะต้องหนี-หนีไปไหนก็ได้ 
    ด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงานในโรงเรียนศิลปศึกษา ประยูรในวัยยังไม่เต็มสามสิบ ก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร 
    แต่แล้วทุกอย่างก็ดับวูบลง เมื่อเกิดความผิดพลาดทางด้านการเงินขึ้น แม้จะไม่ใช่ความผิดของเขาโดยตรง แต่ด้วยความรับผิดชอบในฐานะผู้บริหาร ประยูรก็ต้องลาออกจากราชการ มิหนำซ้ำยังจะถูกจับกุมดำเนินคดีอีกด้วย
    ในปีที่มีงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษกันอย่างมโหฬาร ประยูร อุลุชาฎะก็ต้องออกเดินทางไกลโดยไม่มีจุดหมาย
    ตลอดหลายปีต่อมา เขาตลุยเข้าป่าเข้าดง ตระเวนศึกษาศิลปะโบราณต่างๆ เพื่อให้ลืมเรื่องร้ายๆ เสีย เขาเดินตัดทุ่งไปถึงเมืองเสมาที่อำเภอสูงเนินคนเดียว ป่ายปีนยอดเขาหน่อที่นครสวรรค์ เพื่อไปดูรอยพระพุทธบาทโบราณ แม้จนถึงเมืองฟ้าแดดสูงยางในกาฬสินธุ์ ซึ่งยังรกร้าง และแทบไม่มีใครรู้จัก 
    ในระหว่างนั้น กรุภาพสีน้ำมันนับร้อยของเขา ที่เคยเก็บไว้ในห้องเก็บของที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ถึงแก่กาลอวสาน เมื่อมีการรื้อตึกเก่าลง ภาพเขียนที่แต่ละชิ้นใหญ่กว่าหนึ่งเมตรของเขา ตลอดถึงที่เคยได้รางวัลในงานศิลปกรรมแห่งชาติ กลายเป็นอุปกรณ์การศึกษาอย่างดีของนักศึกษารุ่นน้อง บ้างก็ถูกทาสีทับ บางรายก็ฉีกเลาะภาพเดิมทิ้ง เพื่อเอากรอบไม้ไปขึงผ้าใบใหม่ กว่าข่าวจะล่วงรู้ถึงเจ้าตัว ทุกอย่างก็ย่อยยับแตกทำลายเกินยิ่งกว่าที่จะเสียใจ
    เมื่อได้เดินทางมาก เห็นมาก ก็อดจะเปรียบเทียบกับความรู้ดั้งเดิมของตัวไม่ได้ ประยูร อุลุชาฎะจึงเริ่มชีวิตนักเขียนบทความทางศิลปะขึ้น เพื่อหาเงินเลี้ยงลูกเมีย แทนรายได้ที่ขาดไปจากการรับราชการ
    หนังสือรายเดือนที่โด่งดังมาตั้งแต่ก่อนกึ่งพุทธกาลก็ได้แก่ กะดึงทอง ในความควบคุมของสาทิส อินทรกำแหง ที่นี่เป็นแหล่งส้องสุมของนักเขียนตั้งแต่รุ่นลายคราม เช่นท่านกาญจนาคพันธ์ (ขุนวิจิตรมาตรา) กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมัคร บุราวาศ ลงมาจนถึงนักเขียนรุ่นหนุ่มๆ ที่จะมีชื่อเสียงต่อมา ได้แก่ ส. พลายน้อย (สมบัติ พลายน้อย) และประยูร อุลุชาฎะ
    ในยุคกะดึงทอง ประยูรยังรับราชการอยู่ จึงไม่มีเรื่องเร่งรัดจำเป็นอะไร เพียงแต่เขียนเพราะอยากเขียน เขาใช้ชื่อจริง คือประยูร อุลุชาฎะ ส่วนแนวทางของเรื่องมักเป็นการเขียนแนะนำศิลปะตะวันตก เช่นบางตอนก็เป็นเรื่องศิลปินระดับโลกบางคน หรือบางทีเขียนเรื่องเกี่ยวกับศิลปะเด็ก เป็นต้น 
(คลิกดูภาพใหญ่)     แต่เมื่อมาถึงสมัยที่เขาออกตระเวนบุกป่าฝ่าดงค้นคว้าศิลปะโบราณของไทย นิตยสารที่เป็นหลักในวงการหนังสือก็เปลี่ยนไปเป็น ชาวกรุง เสียแล้ว
    ณ ที่นี้เอง เป็นครรโภทรแห่งนามปากกา "น. ณ ปากน้ำ"ของประยูร ด้วยความสนับสนุนของประมูล อุณหธูป
    งานเขียนเรื่องศิลปะโบราณของไทย ในหนังสือชาวกรุง ที่เป็นเครื่องยังชีพเลี้ยงลูกเมียในยามยากนี้เอง ได้จุดประกายไฟแห่งศิลปะให้กับเด็ก และคนรุ่นหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย หลายคนเกิดแรงบันดาลใจ เริ่มต้นความสนใจในความเป็นมาของบ้านเมือง และได้เริ่มต้นความรักในศิลปะ ก็จากคอลัมน์ของเขานี่เอง
    ความผันผวนของชีวิตในครั้งนั้น ยังนำพาเขาเข้าสู่การหาความรู้ในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นก็คือโหราศาสตร์
    เมื่อชีวิตเข้าจุดอับ เขาตระเวนไปหาหมอดูดวงชะตาหลายคน หลายสำนัก ตามแต่จะว่ากันว่ามีชื่อเสียง แต่ผลก็คือผิดบ้างถูกบ้าง เช่นหมอว่าแล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่รอแล้วรอเล่าชีวิตก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จนในที่สุด ประยูรก็เกิดความคิดว่าควรค้นหาความจริงด้วยตัวเองดีกว่า เขาจึงเริ่มศึกษาโหราศาสตร์อย่างจริงจัง โดยมีพระมหาอุทัย คำคงแห่งวัดลาดบัวขาว ยานนาวาเป็นครูคนแรก หลังจากนั้น เขาก็ยังสนใจค้นคว้าต่อมา จนเรียกได้ว่าหนังสือตำรับตำราเท่าที่หาได้ในเมืองไทยนั้น ต้องผ่านตาเขาหมดทุกเล่ม ใช่แต่เท่านั้น เขายังค้นคว้าต่อไปจนจับหลักการได้ และเริ่มแผลงวิธีการผูกดวงใหม่
    และด้วยเหตุนั้น งานเขียนเกี่ยวกับโหราศาสตร์ด้วยนามปากกา "พลูหลวง" ของเขา จึงเป็นเรื่องแหวกแนวไปกว่าความรู้ทางโหราศาสตร์ไทยแบบเดิมๆ
(คลิกดูภาพใหญ่)     ช่วงเกือบสิบปีแรกหลังจากพ้นชีวิตข้าราชการ ประยูรเขียนบทความทางศิลปะจำนวนไม่น้อย แต่งานรุ่นแรกๆ เหล่านั้น ต่อไปเมื่อเขากลับมาดูอีกครั้ง ก็ต้องยอมรับว่ามีหลายอย่างหลายประเด็น ที่ยังผิวเผินหรือเป็นความเข้าใจผิด
    จนเมื่อลุถึงวาระที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าข้าศึกมาครบ ๒๐๐ ปี บรรดานักปราชญ์ นักคิด และนักวิชาการทั้งหลายได้มาประชุมพร้อมกัน มีดำริว่าสมควรที่จะได้จัดงานที่ระลึกขึ้นเนื่องในโอกาสนั้น
    ด้วยความสนับสนุนจากมิตรของเขา คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา จึงมอบทุนที่ได้รับจากมูลนิธิเอเซียให้ประยูรไปทำการค้นคว้าศิลปกรรมโบราณ ของอาณาจักรอยุธยา เพื่อนำผลงานที่ได้มาไปจัดนิทรรศการ 
    ประยูรและคณะผู้ร่วมสำรวจ อันมีอรรถทวี ศรีสวัสดิ์ และนิพนธ์ ขำวิไลเป็นกำลังหลัก กับอวบและวิสุตา สานะเสน เป็นทัพหนุน จึงไปปักหลักกันที่อยุธยาเป็นเวลาถึงห้าเดือนเต็ม กินอยู่หลับนอนกับซากกรุงเก่า เดินทางตะลุยกันไปจนแทบจะไม่มีวัดไหนรอดพ้นสายตา ถ่ายภาพ สเก็ตช์แผนผัง เขียนลายเส้น ทำการค้นคว้าอย่างละเอียด แม้จนกระทั่งมุดเข้าไปในโพรงเจดีย์ที่มืดมิด โดยไม่หวั่นกลัวสัตว์ร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ เพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในและวัดขนาดอิฐ 
    ถ้าใครได้ลองไปอ่านหนังสือ ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา อันเป็นหมายเหตุการทำงานในครั้งนั้นแล้ว ก็คงอัศจรรย์ใจว่าเพียงแค่อยุธยาที่ดูเหมือนจะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เท่านี้เอง แต่คณะสำรวจกลับต้องบุกป่าฝ่าดงอย่างไม่น่าเชื่อ 
    บางทีนึกว่าจะไปหาซื้ออาหารเอาข้างหน้า แต่ยิ่งเดินไปๆ ก็ยิ่งรกขึ้นๆ ไม่พบบ้านคนเลย หิวหนักๆ เข้าก็ต้องเด็ดยอดกระถินกินต่างข้าว
    อีกทีหนึ่ง ประยูรเข้าไปสำรวจวัดมเหยงคณ์ ซึ่งเดี๋ยวนี้บูรณะกันจนเอี่ยมอ่อง แถมมีถนนให้รถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แต่ในสมัยที่กล่าวถึงนี้ วัดมเหยงคณ์ยังปกคลุมด้วยป่ารก กว่าจะเดินลุยเข้าไปถึงกำแพงวัดได้ก็ต้องนั่งพักเหนื่อยกัน แต่แล้วได้ยินเพลงวิทยุดังแว่วออกมาจากข้างใน เข้าใจว่าจะมีคนอยู่ จึงแหวกพงไม้ไต่เถาวัลย์ปีนขึ้นไปบนกำแพงอันสูงท่วมหัว
    เพลงเงียบเสียงไปแล้วเมื่อขึ้นไปยืนบนสันกำแพง 
    ประยูรเสียวสันหลังวูบ มองเข้าไปมีแต่ดงทึบของต้นไม้หนามคมกับหมามุ่ยทอดพวงระย้า เห็นพระอุโบสถสูงใหญ่มหึมาโผล่ขึ้นมาตระหง่านอยู่เบื้องหน้า แต่ไม่เห็นวี่แววผู้คนเลยแม้แต่คนเดียว
    หลังจากเข้าไปผจญกับหนามไหน่และดงหมามุ่ยพักใหญ่ คณะสำรวจก็ต้องล่าถอยออกมา พยายามหาทางเข้าไปวัดช้างที่มองเห็นเจดีย์โผล่พ้นทิวไม้ขึ้นมาก็บุกดงหนามเข้าไปไม่ไหว
    ท้ายที่สุด ไปเจอชาวบ้านคนหนึ่งเก็บผักบุ้งอยู่ ประยูรขอแรงให้ช่วยนำทางตัดออกไปหาถนนใหญ่ให้ด้วย เพราะชาวคณะเข็ดขยาดกับป่าหนามเสียแล้ว แกก็ยังเฉยๆ เขาจึงเสนอว่าจะจ้าง ว่าแล้วชายนิรนามก็หันหลัง เอาผักบุ้งซุกในชายเฟือย พาลุยลงหนองน้ำลึกแค่เอว มีแต่เลนและกิ่งไม้ระเกะระกะ พอขึ้นบนเนินได้ กำลังโล่งใจ แกก็พาลงน้ำอีกแล้ว แถมยังจ้ำอ้าวทิ้งคณะสำรวจเสียไกลลิบ 
(คลิกดูภาพใหญ่)     ระหว่างทางผ่านวัดร้าง มีซากกองอิฐมหึมา แต่ไม่มีใครมีแก่ใจจะสนใจแล้ว ประยูรจำได้ดีว่าตอนนั้นทั้งเหนื่อย ทั้งหิว ทั้งโมโหตัวเองที่เดินตามคนนำทางไม่ทัน ถึงกับต้องครึ่งวิ่งครึ่งเดินลุยดงหนามตามเขาไป 
    จนถึงถนนใหญ่พอจะแยกย้ายกัน ประยูรก็เกิดงงงวยอย่างบอกไม่ถูก ควักเหรียญห้าสิบสตางค์ให้เขาไปเป็นค่าจ้าง ทั้งๆ ที่ควรต้องให้มากกว่านั้นมาก ส่วนคนนำทางผู้นั้นก็ไม่ว่าอะไรเช่นกัน รับสตางค์แล้วก็หันหลังเดินหายลับไป ไม่พูดจาอะไรเลย
    เมื่อลองมาคิดดูอีกที ตั้งแต่เพลงในวัดร้าง จนมาถึงคนนำทางนี้ ประยูรกับคณะจึงลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าถูกผีหลอกกลางวันเข้าให้เสียแล้ว 
    แต่แรกเมื่อคณะสำรวจเริ่มจับงานนี้ ความตั้งใจก็คือ จะใช้เวลาสำรวจหาแหล่งศิลปะแปลกๆ ของอยุธยา อันซ่อนเร้นไม่มีคนรู้จัก เมื่อพบก็จะคัดลอกหรือบันทึกภาพเก็บไว้
    ต่อมาเมื่อได้เรือยนต์มาลำหนึ่ง จึงเป็นช่องให้ได้ตระเวนไปยังอำเภอต่างๆ รอบนอกออกไป นอกจากนั้นยังได้เข้าไปตามคลองเล็กคลองน้อยที่มีปรากฏในแผนที่จนหมดสิ้น
    ในระหว่างนั้น เขาได้พบเจดีย์แบบหนึ่ง คือเจดีย์ทรงสูง ฐานแปดเหลี่ยมซ้อนเป็นชั้นๆ ด้วยประสบการณ์ในงานสนามก่อนหน้านี้ เขาคลับคล้ายว่าเคยเห็นเจดีย์แบบนี้มาก่อนแล้ว ทั้งในลพบุรีและสุพรรณบุรี
    การศึกษาศิลปะอยุธยาโบราณของจึงต้องพลอยขยายวงออกไปสู่เมืองอื่นๆ ที่แวดล้อม
    ผลจากการสำรวจก็คือเจดีย์แบบนี้ จะพบร่วมกับใบเสมาหินทรายแดงขนาดใหญ่ อันมีลวดลายเครือเถาแบบธรรมชาติ และมีอายุเก่าแก่ก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยาขึ้นไปอีก 
    ดังนั้น การศึกษาที่เริ่มต้นขึ้นจากงานในเวลาห้าเดือนนี้ ทำให้เขาได้ข้อสรุปที่ขัดแย้งกับความรู้ที่เคยเชื่อกันมากว่าสี่สิบห้าสิบปี นั่นคือดินแดนแถบสุพรรณบุรี อยุธยา และลพบุรีนี้ เป็นศูนย์กลางของอารยธรรมยิ่งใหญ่ มาตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา เขาเรียกมันว่า ศิลปะแบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ
    และวัดวาอารามจำนวนมากที่เคยเข้าใจกันว่าเป็นของสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น สำหรับประยูรแล้ว เป็นประจักษ์พยานสำคัญในการยืนยันความมีตัวตนของอาณาจักรอโยธยาที่มีมาก่อนหน้า
    และต่อจากนั้นมาอีกสามสิบปี ประยูรก็ยิ่งมั่นคงในสิ่งที่ค้นพบ ด้วยว่ายิ่งได้เห็นมากดูมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสอดรับกับความคิดของเขามากขึ้นเท่านั้น หากแต่เขาก็ต้องใช้ความพยายามและความอุตสาหะอย่างมหาศาล ด้วยหนังสืออีกหลายสิบเล่มและหลายร้อยเรื่อง ในอันที่จะยืนยันทฤษฎีศิลปะอโยธยา-สุพรรณภูมิ ท่ามกลางการสบประมาทและคำเย้ยหยันของนักวิชาการที่ยังยึดมั่นในทฤษฎีเดิม
(คลิกดูภาพใหญ่)     ผลพวงอีกประการหนึ่งจากการสำรวจครั้งห้าเดือนนั้น ก็คือประยูรได้ตระหนักว่า อุปสรรคสำคัญในการเสาะหาความรู้เกี่ยวกับอยุธยาก็คือ วัดร้างจำนวนมหาศาลที่เคยมีตำแหน่งระบุไว้ในแผนที่เก่า หรือในความทรงจำของชาวบ้าน มีอันต้องสาบสูญไป เนื่องจากทางราชการเคยให้มีการประมูลอิฐเก่าไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง
    แต่เมื่อแรกที่เปิดให้ประมูลกันนั้น ก็เป็นแค่การเก็บอิฐที่ตกหล่นอยู่กับพื้น แต่ไปๆ มาๆ หนักเข้าเมื่อไม่มีใครควบคุม ก็กลายเป็นการอนุญาตให้ถล่มวัดเก่ากันตามอำเภอใจไปโดยปริยาย
    หลายต่อหลายแห่ง เมื่อบุกบั่นเข้าไปถึงแล้ว กลับเป็นว่ามาช้าไป วัดโบราณใหญ่โตจำนวนมาก กลับเหลือเพียงเศษอิฐไม่กี่แผ่น 
    ตั้งแต่ในห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยาเป็นต้นไป ข้อเขียนของเขามักจึงเป็นการประกาศสงคราม กับทั้งหน่วยราชการ อันมีกรมการศาสนาและกรมศิลปากรเป็นสดมภ์หลัก กับบรรดาสมมติสงฆ์ที่มุ่งแสวงหาอามิสลาภสักการ
    มีหลายต่อหลายครั้ง ที่ประยูรต้องเสียใจ ช้ำใจ ที่ไม่มีใครใส่ใจจะรักษาพุทธศิลปะอันล้ำค่าที่เขาเคยเขียนถึง เจดีย์บางองค์ที่เขาเคยปลาบปลื้มในความยิ่งใหญ่ เมื่อย้อนกลับไปดูอีกครั้ง กลับเหลือเพียงลานโล่ง ตู้พระธรรมอันเลิศเลอด้วยลายรดน้ำฝีมือช่างชั้นครู สูญหายไปโดยไร้ร่องรอยและไม่ทันมีใครสังเกตเห็น โบสถ์เก่าแก่ซึ่งสะพรั่งพรึบด้วยภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ถูกทลายลงทันทีที่โบสถ์คอนกรีตสูงสามชั้นสร้างเสร็จ
    ซ้ำร้าย ในระยะหลังเมื่อกรมศิลปากรหันมาเอาดีทางบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถาน การณ์กลับยิ่งทำให้เขาต้องรันทดใจหนักขึ้นไปอีก เจดีย์ที่วัดพระแก้วเมืองสรรค์บุรี ชัยนาท ที่เขาเคยยกย่องให้เป็นราชินีแห่งสถูปเจดีย์ในเมืองไทย ด้วยความงามสง่าของทรวดทรง ภายหลังจากการบูรณะ กลับกลายเป็นเพียงแท่งอิฐอัปลักษณ์ที่เขาไม่ปรารถนาแม้แต่จะชำเลืองแล 
    ยิ่งเมื่อเขาเข้าร่วมงานกับวารสารเมืองโบราณ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อยิ่สิบกว่าปีก่อน ชื่อของ น. ณ ปากน้ำ ก็กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการอนุรักษ์โบราณสถานวัตถุ สาธารณชนก็จะรู้จักเขาในแง่นั้นกันมาก จนทำให้สถานะความเป็นจิตรกรความเป็นศิลปินที่ติดตัวเขามาแต่เดิมต้องพร่าเลือนไป
    อีกหลายปีต่อมา ในสูจิบัตรงานแสดงเดี่ยวครั้งแรกในชีวิตของเขา ประยูร อุลุชาฎะ ยังรำพึงไว้ว่า "บางคนระยะหลังนี้คบกันมาตั้ง ๑๐ ปี ยังไม่รู้ว่า ข้าพเจ้าเขียนรูปเป็น มันเป็นความผิดอย่างมหันต์ที่ข้าพเจ้าไม่ซื่อสัตย์ต่อธรรมชาติและวิญญานของตนเอง"
(คลิกดูภาพใหญ่)

    ภาพสีน้ำมันในยุคแรกของเขานั้น คงเหลืออยู่แต่ในความทรงจำ ส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เป็นงานยุคหลังจากปี ๒๕๐๐ ลงมา ซึ่งมีทั้งที่เป็นสีชอล์ค สีปาสเตล และที่มากที่สุดก็คือสีน้ำ 
    แม้ว่าเขาจะเคยเขียนรูปสีน้ำมันมามาก แม้แต่ภาพจันทบุรีที่เคยได้รางวัลเหรียญทองก็เป็นภาพสีน้ำมัน แต่ต่อมา ด้วยเหตุที่เขาทำงานหลายด้าน จะมีโอกาสเขียนรูปก็แต่ในยามว่าง จึงเขียนแต่สีน้ำ เพราะอุปกรณ์ต่างๆ ขนไปง่าย การเขียนก็สะดวกดี ไม่ยุ่งยากเหมือนสีน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อสูงอายุเข้า เริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนก่อน เขาจึงเขียนแต่สีน้ำเป็นหลัก
    งานสีน้ำของประยูรมีเอกลักษณ์คือลักษณะที่สด ฉับไวรวดเร็ว และสีสันที่สะอาดกระจ่างตา และจะไม่มีสีดำเลย ด้วยเขาเห็นว่าสีดำนั้นเหมาะสำหรับตัดเส้นหรือให้แสงเงาแบบเด็กนักเรียนเท่านั้น
    จนเมื่ออายุได้ ๖๔ ปี เขาก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ 
    ในระยะหลังมานี้ เนื่องจากปัญหาสุขภาพ ทำให้เขาแทบไม่ได้เขียนภาพที่เขารักยิ่งกว่าชีวิตจิตใจเลย เพิ่งมาได้เขียนรูปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพสีอะครีลิคขนาดใหญ่เกือบสองเมตร เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง
    หลักการหนึ่งที่ประยูรยึดถือมาตลอดในการทำงานก็คือ ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง...เหมือนหมาไล่เนื้อ คือถ้ามันกัดจมเขี้ยวแล้ว จะไม่มีวันยอมปล่อยเป็นอันขาด ไม่ว่าเรื่องไหน ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โหราศาสตร์ 
    หรือแม้แต่เรื่องหอย!
    สมัยเมื่อยังเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนศิลปศึกษา ประยูรเคยสนใจศึกษาหอยชนิดต่างๆ อย่างจริงจังมาก ในตู้ที่ห้องทำงานมีแต่ตัวอย่างหอยเต็มไปหมด เขา "บ้า" เรื่องนี้จนถึงขนาดสั่งซื้อตัวอย่างหอย และตำรับตำราชีววิทยาจากต่างประเทศ ความลุ่มหลงนำเขาออกสำรวจชายทะเล กางเต๊นท์ไปตลอดทั้งฝั่งตะวันออก จนไปพบหอยตัวหนึ่งที่ชายหาดจันทบุรี ชาวบ้านเรียกว่าหอยพระจันทร์ เปลือกบอบบาง สวยงามมาก มีสันกลีบเรียงกันเป็นเกล็ดไปตลอดตามอายุปี เขากลับมาค้นตำราดูแล้ว พบว่าเท่าที่เคยมีการบันทึกกันไว้ หอยชนิดนี้จะพบเฉพาะแถบไมอามี่และอ่าวเม็กซิโก ยังแปลกใจว่าทำไมมาผุดอยู่เมืองไทยได้
    แต่เรื่องแปลกใจของเขายังไม่หมด
    ครั้งหนึ่งเขาเคยพาลูกศิษย์โรงเรียนศิลปศึกษาไปกางเต๊นท์เก็บหอยที่แถบหาดเจ้าสำราญ ช่วงนั้นยังหลังสงครามโลกไม่นาน เสื้อผ้าและเครื่องสนามใช้แล้วของทหารอเมริกันมีขายกันเกลื่อนในราคาไม่แพง ประยูรจึงใส่ทั้งชุดผ้าเวสปอยท์ รองเท้าทหารที่เรียกกันว่าไอ้โอ๊บ แถมด้วยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เช่นแว่นตาประดาน้ำ เรียกว่าตั้งท่าไปเสียใหญ่โต 
    กางเต๊นท์กันอยู่ก็มีชาวบ้านมาแอบด้อมๆ มองๆ พักเดียวกลับมาอีกราวยี่สิบคน อาวุธครบมือ เอาปืนจี้ตัวเขากับลูกศิษย์อีกสองคนไปไปขังไว้ที่โรงแรมร้างคืนหนึ่ง รุ่งเช้าถึงปล่อยออกมา 
    ทีหลังประยูรถึงได้รู้ว่าชายหาดที่เขาไปตั้งเต๊นท์นั้น เป็นสถานที่ที่พวกเรือขนของเถื่อน จะขึ้นฝั่ง เมื่อเห็นคนแปลกหน้าแต่งเนื้อแต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านจึงนึกว่าเป็นสายตำรวจมาซุ่มจับ ยังดีที่เขาไม่ถูกนักเลงเมืองเพชร "เก็บ" ไปเสียแต่ครั้งนั้น

(คลิกดูภาพใหญ่)     เช้าวันหนึ่งนานมาแล้ว ประยูรนั่งรถไฟสายปากน้ำพร้อมเพื่อน มาลงที่สามย่าน แล้วเดินต่อไปเรียนที่ศิลปากร ระหว่างทาง เพื่อนที่ทำงานธนาคารชวนเขาแวะไปหาซินแสจีน ที่นั่งอยู่โคนต้นไม้ในรั้วของโรงพยาบาลกว๋องสิว
    
ซินแสชราดูโหงวเฮ้งของเพื่อนเขาแล้วก็เตือนว่าอายุจะสั้น ให้ระวังความเจ็บไข้เกี่ยวกับท้อง ส่วนประยูรที่ติดสอยห้อยตามไปเป็นเพื่อนนั้น หมอจีนถามว่าจะดูด้วยไหม
    
ประยูรสั่นหน้า ด้วยยังเป็นนักเรียน ไม่ค่อยมีเงิน
    
แต่หมอก็ยังสั่งให้หันหน้าให้ดูทั้งสองด้าน และว่าจะดูแถมให้ฟรี
    
เขาทายว่าต่อไปข้างหน้า เคราะห์ร้ายมาก ชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ แต่จะมีชื่อเสียงมาก ไม่ใช่แต่ในเมืองไทย แต่จะรู้จักกันไปถึงต่างประเทศ 
    
ประยูรกับเพื่อนฟังจบแล้วก็หัวเราะกัน จนถูกจีนซินแสสำทับเอาว่าอย่าทำเป็นเล่น คอยดูไปเถิด
    
ต่อมาไม่กี่ปี เพื่อนของเขาก็ล้มป่วยด้วยโรคกระเพาะ  และถึงแก่กรรมในระหว่างผ่าตัด
    
ส่วนของประยูรเอง ดูเหมือนจะเป็นไปตามที่ซินแสเคยทำนายทายทักไว้ครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะในยี่สิบปีต่อจากนั้น ชีวิตของเขาต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอด แต่อีกครึ่งที่เหลือ ประยูรก็ยังไม่ค่อยยอมรับนัก
    
"ที่ว่าจะมีชื่อเสียงร่ำลือข้ามโลกนั้น ยังไม่เห็นมี" เขาว่า
    
"แต่เราก็ยังไม่ตายนี่นะ...ใครจะรู้"
(คลิกดูภาพใหญ่) เอกสารอ้างอิง
    
กรมศิลปากร นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส พุทธศักราช ๒๕๓๗ ประยูร อุลุชาฎะ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง กรุงเทพฯ ๒๕๓๗
    
กาหลงดงลดา "บางเสี้ยวตอนของ ประยูร อุลุชาฎะ ในความเป็น "น. ณ ปากน้ำ" และ "พลูหลวง" สารคดี ฉบับที่ ๒๙ ปีที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๐ หน้า ๖๓-๖๘
    
น. ณ ปากน้ำ "บนเส้นทางไปมหา" ลัยศิลปากร และการสัมผัสกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี" ใน ๔๐ ปี ศิลปศึกษา-เพาะช่าง พ.ศ.๒๕๓๖ กรุงเทพฯ อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ ๒๕๓๖ หน้า ๖๔-๗๔
    
. "ประวัติพ่อและปากน้ำ" ใน ยาระบายหัวใจ พิมพ์แจกในงานศพ นายพยนต์ อุลุชาฎะ ก.ท. ศิราศรมการพิมพ์ ๒๕๑๔ 
    
. "ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ" ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ กรุงเทพฯ แอล.เอ. เอ็นเตอร์ไพรส์ ๒๕๒๖ หน้า ๒๓-๓๕
. "ย่ำต๊อกกรุงเทพฯ" (ต้นฉบับยังไม่ตีพิมพ์)
    
. "เรื่องราวของแม่กับปากน้ำ" ใน หนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจ นางคำน้อย อุลุชาฎะ เขษมบรรณกิจ ๒๕๒๓
    
. "สนามหลวงแต่อดีตถึงปัจจุบัน" วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับพิเศษ กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ปีที่ ๔-๕ ธันวาคม ๒๕๒๓-ธันวาคม ๒๕๒๕ หน้า ๑๖๕-๑๗๖
    
. "อาจารย์พูน เกษจำรัส" ใน อนุสรณ์ พูน เกษจำรัส บริษัทสำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง ๒๕๔๐ หน้า ๑๑๓-๑๑๘
    
"น. ณ ปากน้ำ ฟื้นความหลัง "ศิลปิน" ละแวกหน้าพระลาน" โลกหนังสือ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๗ เมษายน ๒๕๒๓ หน้า ๔๕-๕๖
    
นิทรรศการผลงานจิตรกรรมในรอบ ๓๐ ปี ของ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) ๒๕๒๗
    
นิพนธ์ ขำวิไล (บรรณาธิการ) อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี พิมพ์ครั้งที่ ๒ ๒๕๔๒
    
ประยูร อุลุชาฎะ (น. ณ ปากน้ำ) นิทรรศการภาพเขียนและผลงาน เนื่องในวันเกิด ๕ รอบนักษัตร โรงพิมพ์พิฆเณศ กทม. ๒๕๓๑
    
ประยูร อุลุชาฎะ. รวบรวมข้อเขียนของประยูร อุลุชาฎะ กทม. มติชน ๒๕๓๑
    
ปิยะพร กัญชนะ (บรรณาธิการ) ประยูร อุลุชาฎะ ปีที่ ๖๐ แห่งการเป็นศิลปิน กท. เมืองโบราณ ๒๕๓๑