|
|
|
วันดี สันติวุฒิเมธี : รายงาน / อภินันท์ บัวหภักดี : ภาพ
|
เทศกาลลอยกระทงปีนี้ นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาเชิญชวนให้ประชาชนใช้กระทงโฟม
ด้วยเหตุผลที่ว่ากระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ
เช่นหยวกกล้วยและใบตอง จะจมน้ำทำให้น้ำเน่าเสีย แต่กระทงโฟมจะลอยน้ำ ทำให้ตามเก็บทำความสะอาดได้สะดวก
อีกทั้งกระทงโฟม
ยังเป็นขยะที่นำมารีไซเคิล
ใช้ในขั้นตอนการถมถนน
และสร้างตอม่อได้ รวมทั้งใช้ทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วย
การใช้โฟมจึงไม่น่าจะสร้างปัญหาแก่สิ่งแวดล้อม
อย่างที่หลายคนวิตก
|
|
|
ทว่าข้อมูลของผู้ว่าฯ กทม. น่าเชื่อถือหรือไม่ ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย
เมื่อพิจารณาสถิติขยะโฟมในประเทศไทย
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีขยะโฟมมากถึง ๑๕,๐๐๐ ตัน หรือประมาณ ๒,๙๐๐ ล้านชิ้น
ในจำนวนนี้
เป็นโฟมที่สามารถนำมารีไซเคิลได้
เพียง ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เหตุใดการรีไซเคิลโฟมในประเทศไทย
จึงทำได้เพียงน้อยนิด
แล้วขยะโฟมหลายพันล้านชิ้นที่เหลือ
ถูกจัดการอย่างไร
รวมถึงถ้าเราหันมาใช้กระทงโฟมกันอีก
หลังจากที่ประชาชนเคยเปลี่ยนทัศนคติ
หันมาใช้วัสดุธรรมชาติกันแล้ว เราจะต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรอีกบ้าง เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ต้องเร่งหาคำตอบ
|
|
|
รังสรรค์ ปิ่นทอง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจากกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงอุปสรรคของการรีไซเคิลโฟมว่า
"ปัญหาสำคัญมาจากเรื่องความสะอาด เนื่องจากโฟมที่นำมารีไซเคิลต้องมีความสะอาดสูง
แต่โฟมส่วนใหญ่ในบ้านเราอยู่ในรูปภาชนะบรรจุอาหาร
ที่เปื้อนคราบน้ำมัน
และคราบสกปรกอื่น ๆ
ถ้าต้องการนำมารีไซเคิล
จะต้องมีกระบวนการคัดแยก
และทำความสะอาดโฟมจนสะอาด ไม่มีคราบสกปรก หรือเปียกชื้น ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครทำแม้แต่ซาเล้ง ทำแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปขายให้ใคร เพราะไม่มีใครรับซื้อนั่นเอง โฟมที่นำมารีไซเคิลในบ้านเราทุกวันนี้
จึงมีแต่โฟมจากโรงงาน
ที่นำออกจำหน่ายไม่ได้
เพราะไม่ได้มาตรฐาน กับโฟมกันกระแทกในบรรจุภัณฑ์เช่นเครื่องไฟฟ้า เป็นต้น
ซึ่งล้วนแต่เป็นโฟมที่สะอาด
และยังไม่ถูกทิ้งอยู่ในกองขยะ"
ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจทำธุรกิจรีไซเคิลโฟม
โฟมนั้นมีลักษณะเบา
และกินพื้นที่ในการจัดเก็บมาก รถบรรทุกหนึ่งคันสามารถบรรทุกโฟมได้เพียง ๒๐๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อหนึ่งเที่ยว เทียบกับการบรรทุกกระดาษ ขวดแก้ว หรือขยะอื่น ๆ ซึ่งจะได้อย่างน้อย ๓ ถึง ๖ ตันต่อเที่ยว
ดังนั้นการขนขยะโฟมไปโรงงานรีไซเคิล
จึงเสียค่าน้ำมัน
และค่าแรงคนงาน
มากกว่าขยะชนิดอื่นหลายเท่า ต้นทุนการรับซื้อขยะโฟมก็จะต้องสูงขึ้น
เมื่อบวกกับต้นทุนเทคโนโลยีรีไซเคิลโฟม
ซึ่งมีราคาหลายสิบล้าน จึงไม่มีนักธุรกิจคนไหนกล้าลงทุน หากจะตั้งราคาสินค้าจากโฟมรีไซเคิลไว้สูงตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ก็คงไม่มีใครซื้อ โฟมจึงกลายเป็นขยะไร้ค่ามาจนทุกวันนี้
|
|
|
รังสรรค์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
"การรีไซเคิลโฟมในบ้านเราทุกวันนี้อยู่ในวงจำกัด ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจเหมือนในต่างประเทศ เช่น
บางสถาบันการศึกษา
เคยนำเม็ดโฟมมาบดให้เล็ก ผสมกับดินเพื่อใช้ปรับสภาพดิน
หรือนำเม็ดโฟมมาผสมกับทินเนอร์ละลายให้เข้ากัน
ใช้สำหรับทำงานศิลปะ
หรือนำมาเผาในเตาเผา
เพื่อใช้เป็นพลังงานแทนน้ำมัน ในเมืองไทยมีเตาเผาขยะที่เกาะสมุยกับภูเก็ต แต่ไม่ค่อยมีใครนำขยะโฟมไปเผา เพราะนอกจากการเปิดเครื่องเผาแต่ครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ขยะโฟมยังต้องแห้งสนิท แต่ในเมืองไทยยังไม่มีการคัดแยกขยะที่ดี ก็เลยไม่ค่อยมีใครใช้วิธีนี้"
อย่างไรก็ตาม
มีบริษัทผู้ผลิตโฟมในหลายประเทศ
โดยเฉพาะแถบยุโรปและอเมริกา ทำธุรกิจนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงน่าศึกษาว่าบริษัทเหล่านั้นทำได้อย่างไร
มัธนา ถนอมพันธุ์ เลขาธิการสมาคมสร้างสรรค์ไทยหรือตาวิเศษ
ผู้ทำงานรณรงค์
เรื่องการงดใช้โฟมมานานนับสิบปี กล่าวถึงกลไกดังกล่าวว่า
|
|
|
"หลายประเทศเขาทำได้
เพราะได้รับการผลักดัน
และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้บริโภค รัฐ และผู้ผลิต เริ่มต้นจากผู้บริโภคของเขาที่คิดว่า รัฐต้องให้บริการจัดเก็บขยะโฟมแก่ประชาชน ส่วนรัฐก็ถือว่าถ้าผู้บริโภคทำให้เกิดขยะ
ผู้บริโภคก็ต้องเสียภาษีในราคาแพง
เพื่อให้รัฐใช้เป็นค่าใช้จ่าย
ในการจัดการขยะเหล่านั้น
ส่วนผู้ผลิตที่ผลิตโฟมออกมาจำหน่าย
ก็ต้องรับผิดชอบขยะที่ตัวเองผลิตขึ้นมา ด้วยการรับขยะกลับไปรีไซเคิลใหม่
โดยผู้บริโภคที่ต้องการใช้โฟม
ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
ในการรีไซเคิลซึ่งบวกอยู่ในราคาสินค้าเรียบร้อยแล้ว ในบางประเทศ
สินค้าในบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม
จะมีราคาแพงกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นถึง ๑๖ เท่า
ใครไม่อยากซื้อสินค้าราคาแพง
ก็จะต้องเลือกบรรจุภัณฑ์อย่างอื่นแทน ดังนั้นขยะโฟมของเขาจึงน้อยมาก และในจำนวนที่น้อย เขาก็มีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ขยะโฟมจึงไม่สร้างปัญหาให้เขา แต่ในบ้านเรา ทั้งรัฐ ผู้ผลิต และผู้บริโภคไม่เคยมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้เลย ผู้ผลิตก็ผลิตอย่างเดียว ไม่เคยรับผิดชอบขยะที่ตัวเองผลิต ผู้บริโภคก็บริโภคโดยใช้ความสะดวกเป็นที่ตั้ง รัฐก็ไม่เข้ามาควบคุม การรีไซเคิลขยะโฟมจึงเป็นไปได้ยาก
"ถ้าเราอยากให้กลไกตรงนี้เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่น
รัฐต้องเริ่มให้ทุนสนับสนุนกับผู้ผลิต
ที่ต้องการตั้งโรงงานรีไซเคิลโฟม
และทำให้เกิดกระบวนการรับซื้อโฟม
เช่นเดียวกับวัสดุอื่น ๆ
ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการใช้โฟม
ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบภาระตรงนี้มากขึ้น รวมทั้งต้องช่วยกันอุดหนุนสินค้าโฟมรีไซเคิลด้วย แม้สินค้านั้นจะแพงกว่าปรกติ เพื่อให้ตลาดโฟมรีไซเคิลอยู่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะมีโรงงานรีไซเคิลโฟมหรือไม่ก็ตาม
เราก็ไม่ควรใช้โฟมอย่างฟุ่มเฟือย
เพราะในกระบวนการผลิตและรีไซเคิลโฟมแต่ละชิ้น
ต้องใช้พลังงานมากมายมหาศาล
การใช้โฟมและวัสดุทุกชนิดเท่าที่จำเป็น
จึงน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากที่สุด"
..............................
|
|
|
เช้าวันรุ่งขึ้น หลังวันลอยกระทงปีก่อน สำนักรักษาความสะอาด กทม. เก็บกระทงที่ลอยในแม่น้ำได้ ๗๗๕,๕๕๒ ใบ ในจำนวนนี้มีกระทงโฟมเพียง ๑๐,๕๒๘ ใบหรือร้อยละ ๑.๔ ของกระทงทั้งหมด
กระทงโฟมดังกล่าวถูกนำไปฝังกลบ
อยู่ในหลุมขยะบางพลี
และกำแพงแสน ปล่อยให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลานานนับน้อยปี
ลอยกระทงที่ผ่านมา ยังไม่มีสถิติว่ามีผู้ใช้กระทงโฟมตามคำเชิญของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เท่าไร แต่แน่นอนว่าพื้นที่ในหลุมขยะคงจะเหลือน้อยเข้าทุกที เมื่อรวมกับการใช้โฟมในรูปข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้น ขยะโฟมจะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
...ในสภาพการณ์ที่การรีไซเคิลขยะโฟมยังไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
|
|
|
ขอขอบคุณ : สมาคมสร้างสรรค์ไทยที่เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล
|