จดหมายจากอังกฤษ (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จดหมายปรัชญา) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้วอลแตร์นั้น เขียนในรูปจดหมายสมมุติ ๒๕ ฉบับ เนื้อหาเล่าถึงสังคมอังกฤษผ่านสายตาของผู้เขียน โดยที่วอลแตร์ใช้สังคมดังกล่าว เป็นเครื่องกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบกับสังคมฝรั่งเศส จึงเป็นธรรมดาที่ดินแดนอังกฤษ ตามบทพรรณนาในจดหมาย จะเลอเลิศไปด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา ความสมดุลย์ของอำนาจทางการเมือง สภาพปลอดอภิสิทธิในที่ดิน ความเสมอภาคในการเสียภาษี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตรงกันข้ามกับสภาวะที่เป็นอยู่ในฝรั่งเศส (และแน่นอนว่า ผู้เขียนจดหมายย่อมมองข้ามข้อบกพร่องทั้งหลาย ของสังคมอังกฤษ เพื่อขับเน้นแต่ด้านที่เป็นอุดมคติ) วอลแตร์ได้สอดแทรกการโจมตีการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ในระบอบศักดินาเอาไว้ไม่น้อย เราลองมาฟังตัวอย่างคารมของเขาดังต่อไปนี้ "สามัญชนอันเป็นคนจำนวนมากที่สุด มีคุณธรรมที่สุด และควรแก่การเคารพยกย่องที่สุด อันประกอบไปด้วยผู้ศึกษากฎหมาย และวิทยาศาสตร์ พ่อค้า ช่างฝีมือ และชาวนา ผู้ประกอบอาชีพอันสูงส่งแต่ไร้เกียรติ สามัญชนเหล่านี้ เคยได้รับการเหยียดหยามจากเจ้า และพระราวกับว่าเป็นสัตว์ (...) ต้องใช้เวลานับเป็นศตวรรษทีเดียว ที่จะสร้างความยุติธรรมให้แก่มนุษยชาติ ในอันที่จะทำให้ประจักษ์ว่า เป็นความสยดสยองยิ่ง ที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้หว่านไถ แต่คนส่วนน้อย เป็นผู้ชุบมือเปิบเอาพืชผลนั้นไป" จากตัวอย่างนี้ เราคงไม่ประหลาดใจนัก ที่ทราบว่า เมื่อหนังสือดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แผยแพร่ วอลแตร์ก็ถูกหมายจับทันที (แต่เขาไหวตัวหนีไปได้เสียก่อน) ศาลสูงฝรั่งเศส สั่งให้เผาหนังสือทั้งหมดด้วยข้อหา "ยุยงให้เสื่อมศีลธรรม เป็นอันตรายต่อศาสนา และสังคมอันเป็นระเบียบ"
ศตวรรษรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จัดได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของแนวการเขียนประวัติศาสตร์ ในโลกตะวันตก ก่อนหน้านั้น งานเขียนเกี่ยวกับอดีต เป็นเพียงพงศาวดารบันทึกเหตุการณ์ โดยปราศจากการตรวจสอบ และวิเคราะห์วิจารณ์ หรือไม่ก็เป็นประวัติศาสตร์ ที่มุ่งสาธิตของลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า แต่งานของวอลแตร์นั้น ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข้อเท็จจริง เคร่งครัดกับลำดับเหตุการณ์ มีการตีความข้อมูลอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ เนือ้หาประวัติศาตร์ ในทัศนะของวอลแตร์ ก็มิได้จำกัดกับสงครามและชีวิตของมหาบุรุษ อย่างที่เคยเป็ฯมา แต่ครอบคลุมนโยบายการปกครอง ระบบตุลาการ กฏหมาย ศาสนา การค้า และศิลปวิทยาการทั้งปวง วอลแตร์กล่าวในคำนำของหนังสือไว้ว่า "ข้าพเจ้ามิได้คิดที่จะบรรยายถึงชีวิตของพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ เท่านั้น หากแต่มีวัตถุประสงค์ที่กว้างกว่า กล่าวคือ จะพยายามวาดภาพให้เห็นความนึกคิด จิตใจของมนุษย์ในศตวรรษที่สว่างทางปัญญาที่สุดศตรวรรษหนึ่ง" โดยรวมแล้ว บททั้ง ๓๙ บทในหนังสือมีแนวโน้มที่จะเสนอภาพในทางบวก ของศตวรรษที่ ๑๗ ซึ่งเป็นสมัยที่หลุยที่ ๑๔ ครองราชย์อยู่ ยกเว้นในช่วงท้ายรัชกาล ที่เกิดความขัดแย้งทางลัทธิศาสนา เชื่อกันว่าผู้แต่งจงใจใช้ความรุ่งโรจน์ ในรัชกาลของหลุยส์ที่๑๔ เป็นเครือ่งมือโจมตีรัชกาลของหลุยส์ที่ ๑๕ วอลแตร์เชื่อว่า "ราชาผู้รู้แจ้ง" เท่านั้นจะนำมาซึ่งความสงบสุข ความผลิบานทางเศรษฐกิจ และความุร่งเรืองของศิลปวิทยาการ