กลับไปหน้า สารบัญ
จากบรรณาธิการ
    สองสามเดือนที่ผ่านมา ผมแวะไปอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร หลายครั้ง เพื่อพาเพื่อน ๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศไปดูหิ่งห้อยในป่าชายเลน
     ยุคนี้ หิ่งห้อยกลายเป็นสัตว์หาดูยากไปแล้ว สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน แถวบางขุนเทียนทีไร ตกเย็นก็มักจะชวนกันไปจับหิ่งห้อย ที่มีอยู่มากมายมาดูเล่นกัน ปัจจุบันบริเวณนั้น ก็เปลี่ยนเป็นโรงงาน และสวนอาหาร ไม่มีหิ่งห้อยให้เห็นอีกต่อไป
   เราออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น มุ่งหน้าไปสมุทรสาคร ตามถนนสายธนบุรี-ปากท่อ พอเลยทางเข้าตัวเมืองสมุทรสาครมาเล็กน้อย จะเห็นสะพานมีป้ายเลี้ยวขวา ไปอำเภอกระทุ่มแบน ขับไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นตลาดอยู่ทางซ้ายมือ มีสาวโรงงานจำนวนมากเดินมาจับจ่ายซื้อของ จากจุดนี้ให้คอยสังเกต ซอยที่มีป้ายเขียนไว้ว่า ทางเข้าวัดศรีเมือง ตรงเข้าไปอีกราว ๑๐ กิโลเมตรก็จะถึงตัววัด
   เราไปถึงวัดศรีเมืองยามที่ตะวันลาลับขอบฟ้าไปแล้ว จอดรถริมศาลาท่าน้ำ ที่มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน แล้วลงเดินต่อ ข้างวัดมีสะพานไม้ทอดตัวเป็นแนวยาว ขนานไปกับแม่น้ำ สะพานแห่งนี้ ทอดข้ามเรือกสวนริมน้ำ ไปสิ้นสุดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ระยะทางเกือบ ๑ กิโลเมตร สองข้างทางเป็นป่าชายเลน มีต้นจากขึ้นหนาแน่น เห็นต้นลำพูอยู่เป็นระยะ 
     ความมืดที่ปกคลุมในคืนเดือนมืด เส้นทางเปลี่ยวบนสะพานไม้ ที่แทบจะไม่มีผู้คนเดินผ่าน ประกอบกับทิวทัศน์สองข้างทาง ที่เป็นดงจากสลัวรางอยู่ในความมืด ชวนให้นึกถึงบรรยากาศในภาพยนตร์เรื่อง แม่นาก เป็นยิ่งนัก ทำให้พวกเราสี่ห้าคน พร้อมใจเดินเกาะกลุ่มกันไปโดยปริยาย แถมบางคนยังยึดแขนเพื่อนไว้แน่น ชนิดไม่ยอมให้คลาดกัน พลางมองหาแสงไฟวับ ๆ แวม ๆ ตามต้นไม้ข้างทาง
    "หวังว่าคงไม่เจออย่างอื่นนะ" ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมาขณะที่ลมเย็น ๆ พัดมาวูบหนึ่ง
    "นั่นไง" เพื่อนคนหนึ่งอุทานออกมาด้วยความยินดี เมื่อเห็นหิ่งห้อยไม่ต่ำกว่า ๕๐ ตัวกะพริบแสงอยู่รอบ ๆ ต้นลำพูต้นหนึ่ง แลดูคล้ายไฟราวประดับต้นคริสต์มาส
   เพื่อนบางคนพยายามเอามือไปจับหิ่งห้อย แต่ไม่ได้ผล 
    "อย่าไปรบกวนความสุขของหิ่งห้อยเลย เค้ากำลังจีบกันอยู่นะเธอ" อีกคนห้ามไว้
   ในช่วงเวลาผสมพันธุ์ หิ่งห้อยหนุ่มจะแข่งกันกะพริบแสง ให้โดดเด่น เป็นการดึงดูดหิ่งห้อยสาว ให้หันมาสนใจ ถ้าหิ่งห้อยสาวสนใจ ก็จะยกบั้นท้ายขึ้น กะพริบแสงด้วยความถี่เดียวกันกับหิ่งห้อยตัวผู้ เป็นการตอบรับรัก นี่เป็นคำตอบว่า ทำไมบางครั้งเราจึงเห็นหิ่งห้อยกะพริบแสงพร้อมกัน หลังจากนั้น หิ่งห้อยสาวก็จะหันก้นให้หิ่งห้อยหนุ่ม การผสมพันธุ์ได้เริ่มขึ้น และสัญญาณแสงก็จะค่อย ๆ ริบหรี่ลง อีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง หิ่งห้อยสาวก็จะวางไข่ และตายจากไป
ฉบับหน้า : ภูเก็ต ๒๐๐๑ (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ภูเก็ต ๒๐๐๑
    แต่การกะพริบแสงของหิ่งห้อยเพศเมีย ไม่ใช่แค่เป็นการตอบรับรักเท่านั้น เพราะหิ่งห้อยสาวบางชนิด กะพริบแสง เพื่อหลอกล่อหิ่งห้อยตัวผู้มาเป็นเหยื่อ หิ่งห้อยสาวสกุล Photuris จะกะพริบแสงเลียนสัญญาณแสง ของหิ่งห้อยหนุ่มชนิดอื่น ที่กำลังบินตามหาสาว เมื่อหิ่งห้อยหนุ่มโชคร้าย เห็นสัญญาณแสง ของหิ่งห้อยสาวสกุล Photuris แล้วหลงผิดคิดว่าเป็นแม่ยอดขมองอิ่ม ส่งสัญญาณรักมาให้ ก็จะบินเข้ามาใกล้หมายจะผสมพันธุ์ กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็สายเกินไป เพราะหิ่งห้อยสาว จะใช้ปากอันแหลมคม แทงร่างของหิ่งห้อยหนุ่มหน้ามืดอย่างรวดเร็ว แล้วปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกาย พิษนี้จะค่อย ๆ ย่อยอวัยวะภายในให้เป็นของเหลว จากนั้นหิ่งห้อยสาว ก็จะดูดกินเนื้อเยื่อที่เป็นของเหลว จากหิ่งห้อยหนุ่มจนแห้งเหลือแต่ซาก
   นับเป็นบทรักที่ดูดดื่มจริง ๆ สาวใดจะเลียนแบบก็ไม่ว่ากัน
   เราเดินไปเรื่อย ๆ ตามทางบนสะพานไม้ ต้นลำพูที่มีหิ่งห้อยส่องแสงระยิบระยับมีไม่ต่ำกว่าสิบต้น ดูไม่ต่างจากดาวพราวฟ้าในคืนเดือนมืด ที่บอกตำแหน่ง และทิศทางให้แก่ผู้คนบนโลกมาช้านาน ไม่น่าแปลกใจที่เล่ากันมาว่า คนโบราณจับหิ่งห้อยนับสิบนับร้อยตัว มาใส่ขวดแก้วใส เพื่อใช้เป็นตะเกียงส่องทางในยามค่ำคืน 
   กวีคนหนึ่งเคยเขียนไว้ว่า
   เมื่อยามฟ้ามืดดับ
   แสงเดือนลับเวหาหน
   หิ่งห้อยบินเวียนวน
   เพื่อให้คนเห็นเป็นความหวัง
   ดูชีวิตของหิ่งห้อยตัวน้อยนิดที่กะพริบแสง เรื่อเรืองแต่งแต้มโลก แล้วนึกย้อนดูชีวิตของคนเรา 
   มีอะไรที่พอจะส่องเป็นแสงนำทาง ให้คนรอบข้างบ้างไหม
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com