กลับไปหน้า สารบัญ
โ น ร า โ ร ง ค รู
พิธีกรรมผูกสายสัมพันธ์คนใต้
วันดี สันติวุฒิเมธี..เรื่อง
สกล เกษมพันธุ์ /วิจิตต์ แซ่เฮ้ง..ภาพ
   วันนี้บ้านนางหนูพัน คงเชื้อ หญิงวัยกลางคนในหมู่บ้านบ่ออิฐ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จะมีพิธีกรรมโนราโรงครู หรือ โนราลงครู ซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญของตระกูล พวกญาติ ๆ และเพื่อนบ้านผู้หญิงมาช่วยกันเตรียมอาหารตั้งแต่เช้า ส่วนพวกผู้ชายเตรียมสถานที่อยู่ที่หน้าบ้าน ตกบ่ายบรรดาญาติพี่น้องที่ไปทำงานต่างถิ่นทยอยกันกลับมาถึงบ้านแม่งาน ส่งเสียงทักทายกันดังขรม
คลิกดูภาพใหญ่    ในวัฒนธรรมถิ่นใต้ นอกจากงานบุญเดือนสิบแล้ว ก็มีงานโนราโรงครูนี่แหละ ที่ญาติพี่น้องจะได้กลับมาไหว้ผีบรรพบุรุษ แบบพร้อมหน้าพร้อมตา แต่งานนี้จำกัดวงผู้ร่วมพิธี เฉพาะลูกหลานของโนราเท่านั้น 
   ความพิเศษของพิธีกรรมนี้ก็คือ ลูกหลานจะได้พบปะพูดคุย กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วหลายชั่วคน ผ่านร่างทรงประจำตระกูล โดยมีโนราผู้เชี่ยวชาญทางการร่ายรำ และไสยศาสตร์เป็นผู้ประกอบพิธี 
   จุดมุ่งหมายหลักของการแสดงโนราในงานนี้ จึงมิได้อยู่ที่การให้ความบันเทิง เฉกเช่นมหรสพทั่วไป หากทำหน้าที่เชื่อมสายใย และผูกสัมพันธ์คนใต้ในโลกนี้ และโลกหน้าให้เป็นหนึ่งเดียว 

คลิกดูภาพใหญ่ ๑. เหตุแห่งโรงครู
   ล่วงเข้าบ่ายแก่ รถบรรทุกพร้อมคณะโนรากว่า ๒๐ ชีวิตค่อย ๆ เคลื่อนเข้ามาจอดใกล้โรงโนราหน้าบ้านนางหนูพัน หญิงเจ้าของบ้านรีบถือขันหมากออกมาต้อนรับตามธรรมเนียมโบราณ ด้วยถือกันว่าหากเจ้าบ้านไม่นำขันหมากมาต้อนรับ โนราจะเข้าไปประกอบพิธีข้างในโรงไม่ได้ โนราพนมศิลป์ นายโรงหัวหน้าคณะ เดินมารับขันหมาก และทักทายเจ้าของบ้าน ด้วยความคุ้นเคย เพราะรับขันหมากโรงครูครอบครัวนี้มานานหลายปี 
   คณะโนราทยอยขนเครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปวางบนเสื่อน้ำมันกลางโรงโนราเพื่อประกอบพิธีตั้งเครื่อง ขอความเป็นสิริมงคลให้พิธีกรรมนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี หลังจากนั้นนายโรงจึงเรียกสมาชิกในตระกูล ของเจ้าภาพทุกคนเข้ามานั่งรวมกันในโรง เพื่อทำพิธีชุมนุมครู เชิญ "ตายาย" หรือผีบรรพบุรุษมาสิงสถิตบนสาดคล้าที่ปูไว้กลางโรง โนราร้องเชิญตายายตามรายชื่อที่เจ้าภาพเขียนมา โดยมิให้ตกหล่น เพราะหากเอ่ยชื่อไม่ครบ ตายายจะโกรธ และมาลงโทษลูกหลานในภายหลัง 
   ในวัฒนธรรมโนรา ตายายมีทั้งที่ปรากฏในตำนาน และตายายที่เคยมีตัวตนจริงในโลกมนุษย์ ตายายที่ปรากฏในตำนานหรือที่เรียกกันว่าครูหมอโนรา เป็นตายายที่ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานกำเนิดโนรา ซึ่งลูกหลานโนราแต่ละตระกูล อาจนับถือครูหมอโนรา ต่างกันไปตามชุดตำนานที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่นนั้น อาทิ ตำนานนางนวลทองสำลี ตำนานตายายพราหมจันทร์ ตำนานเจ้าแม่อยู่หัว เป็นต้น
   แม้ว่าตำนานโนราจะมีหลายชุดหลายสำนวน  แต่นักวิชาการผู้สำรวจตำนานโนรา ต่างลงความเห็นว่า ตำนานทั้งหมดมีโครงเรื่องหลักเหมือนกัน แตกต่างกันเพียงชื่อบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์บางเหตุการณ์เท่านั้น เรื่องมีอยู่ว่า กษัตริย์เมืองหนึ่งมีพระธิดาที่โปรดการร่ายรำ ซึ่งเป็นของแปลกในสมัยนั้นมากเป็นพิเศษ วันหนึ่งพระธิดาตั้งครรภ์โดยไม่รู้สาเหตุ (บางตำนานว่าตั้งครรภ์ หลังจากกินดอกบัวทิพย์ของเทวดา) กษัตริย์ทรงอับอายจึงรับสั่งให้นำพระธิดาไปลอยแพ พระธิดาไปติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง และให้กำเนิดบุตรชาย ต่อมาเทวดาได้ถ่ายทอดท่ารำให้แก่บุตรพระธิดา ฝีมือการร่ายรำของบุตรพระธิดา เลื่องลือไปถึงในวัง เมื่อกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นก็รู้ว่าเป็นหลาน จึงพระราชทานเครื่องทรงกษัตริย์ มาให้หลานแต่งตัวและรับกลับวัง 
คลิกดูภาพใหญ่    ครูหมอโนราที่ลูกหลานเชิญมาร่วมพิธีมักมี ๑๒ องค์ ได้แก่ พระเทพสิงหรหรือพ่อเทพสิงหร ขุนศรีศรัทธาหรือขุนศรัทธา พระม่วงทองหรือตาม่วงทอง หม่อมรอง พระยาสายฟ้าฟาด พรานบุญ แม่ศรีมาลา แม่นวลทองสำลี แม่แขนอ่อนฝ่ายขวา แม่แขนอ่อนฝ่ายซ้าย แม่ศรีดอกไม้ และแม่คิ้วเหิน 
   ส่วนตายายอีกประเภทหนึ่งคือ ตายายที่เคยมีตัวตนจริง ๆ โดยผู้ที่จะเป็นตายาย และมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ลูกหลานได้ เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ จะต้องมีสถานภาพเป็นตายายโดยสมบูรณ์ ถ้าเสียชีวิตในขณะที่ยังไม่ทันมีหลานก็ไม่นับว่าเป็น "ตายาย" 
   มีผู้สันนิษฐานว่า แต่เดิมชาวบ้านน่าจะนับถือเฉพาะตายาย ที่เคยมีตัวตนในโลกมนุษย์ และทำพิธีไหว้ผี เข้าทรงตายายกันมาแต่โบร่ำโบราณ จนกระทั่งการร่ายรำโนรา- -นาฏศาสตร์สายอินเดีย เข้ามาถึงคาบสมุทรสทิงพระ เมืองท่าสำคัญของภาคใต้ในยุคอดีต จึงเกิดการผสมผสาน ระหว่างความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา และตายาย เนื่องจากโนราเองก็ต้องไหว้ครูหมอโนรา ส่วนชาวบ้านก็ต้องไหว้ตายาย เมื่อชาวบ้านหัดรำโนรา ก็เลยต้องไหว้ทั้งครูหมอ และตายาย ความเชื่อทั้งสองจึงผสมผสานกันเป็นพิธีโนราโรงครู ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นพิธีกรรมนี้มากเป็นพิเศษ
   แถวหมู่บ้านรอบทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดโนรา และมีคณะโนราอยู่หนาแน่นที่สุด 
   ตายายและครูหมอโนรา ในความรับรู้ของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่มีพลังอำนาจมาก มีฤทธิ์ทั้งให้คุณและโทษแก่ลูกหลาน สามารถติดต่อกับลูกหลานได้ โดยผ่านร่างกายของลูกหลานคนนั้น ถ้าลูกหลานประพฤติตัวดี ตายายก็จะดลบันดาลให้พบแต่สิ่งดี ๆ แต่ถ้าประพฤติตัวออกนอกลู่นอกทาง เช่น คบชู้สู่ชาย หรือมีนิสัยลักขโมย รวมทั้งกรณีที่ตายาย ต้องการให้ลูกหลานคนไหนสืบทอดเป็นโนรา หรือร่างทรง ลูกหลานคนนั้นก็จะมีอาการผิดปรกติ ขึ้นมาในร่างกาย เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า "ครูหมอย่าง" เช่น เมื่อได้ยินเสียงปี่เสียงกลอง จะต้องลุกขึ้นไปรำทันที ห้ามตัวเองไม่ได้ ต้องเป็นโนราถึงจะหาย หรือมีอาการจับไข้ไม่หาย จนกว่าจะยอมรับเป็นร่างทรงให้ตายาย เป็นต้น 
คลิกดูภาพใหญ่    ในวัฒนธรรมโนรา ลูกหลานจะต้องจัดพิธีโนราโรงครู เพื่อขอบคุณตายายที่ช่วยดูแลลูกหลาน ให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยพิธีจะมีขึ้นตามกำหนดเวลาที่ตกลงกับตายาย ผ่านร่างทรงในการตั้งโรงครูครั้งก่อน เช่น อีกสามปีหรือห้าปีถัดไป หรือถ้าใครบนบานศาลกล่าวเอาไว้แล้วได้ดังปรารถนา ก็จะต้องรีบแก้บนในทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงกำหนดที่ตกลงกันไว้ อย่างเช่นพิธีโรงครูครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะตายายไปเข้าฝันน้องสาวนางหนูพัน ที่ไปแต่งงานกับพ่อค้าชาวระยอง แล้วร้านค้าของเธอขายดีผิดหูผิดตา เธอจึงอยากจัดพิธีโรงครูเพื่อขอบคุณตายาย โดยให้นางหนูพันพี่สาว ช่วยติดต่อคณะโนรา และจัดเตรียมงานให้ 
   ตามปรกติ พิธีโรงครูจะมีทั้งหมดสามหรือสี่วัน แต่เนื่องจากการตั้งโรงครูแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลาเตรียมการนาน และใช้เงินมาก ทั้งในการปลูกสร้างโรง จ้างคณะโนรา เตรียมเครื่องเซ่นไหว้ และอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน บางครั้งเมื่อถึงกำหนดเวลา ที่ตกลงกันไว้กับตายายแล้วยังไม่พร้อม ลูกหลานจะตั้งโรงครูเล็กหรือพิธีค้ำครู (เป็นพิธีแบบย่นย่อโดยใช้เวลาเพียงหนึ่งคืนกับหนึ่งวัน) ให้ก่อน เพื่อไม่เป็นการผิดสัญญา อันเป็นเหตุให้ถูกตายายลงโทษ หลังจากนั้น พร้อมเมื่อไรจึงประกอบพิธีโนราโรงครูใหญ่ 
   ทั้งโรงครูใหญ่และโรงครูเล็กมีลำดับพิธีกรรมเหมือนกัน ต่างกันตรงที่โรงครูใหญ่ จะประกอบพิธีกรรมทุกขั้นตอนอย่างละเอียด แต่โรงครูเล็กจะประกอบอย่างย่นย่อ คือ โนราเข้าโรงหรือเหยียบโรงในตอนบ่ายวันพุธ ทำพิธีชุมนุมครู เชิญตายายมาชุมนุมภายในโรง ตกกลางคืนมีการร่ายรำโนราให้ตายายชม เช้ารุ่งขึ้น ทำพิธีไหว้ครู ตกบ่ายจึงเชิญตายายมาเข้าทรงพบปะลูกหลาน และรับเครื่องเซ่น หากเป็นโรงครูเล็ก จะส่งครูในบ่ายวันพฤหัสบดี ส่วนโรงครูใหญ่จะส่งครูในวันศุกร์ หรือเสาร์ แต่ถ้าวันส่งครูตรงกับวันพระพอดี ต้องเลื่อนไปอีกหนึ่งวัน เพราะเชื่อกันว่าตายายจะต้องไปวัด มาร่วมพิธีส่งครูไม่ได้ 
คลิกดูภาพใหญ่    นอกจากโรงครูที่จัดขึ้นเพื่อไหว้ตายายแล้ว ยังมีโรงครูอีกแบบหนึ่งที่จัดขึ้น เพื่อเปลี่ยนสถานภาพโนรารุ่นใหม่ ให้เป็นโนราเต็มตัว คือ พิธีครอบเทริด หรือพิธีผูกผ้าใหญ่ 
   พิธีกรรมนี้จะมีขึ้นหลังจากโนราฝึกร่ายรำจนชำนาญ ครูโนราจะทำพิธีครอบเทริด- -เครื่องประดับศีรษะ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความสำคัญที่สุด ให้แก่โนราใหม่ หากโนรายังไม่ผ่านพิธีกรรมนี้ จะถือว่าเป็นโนราที่ไม่สมบูรณ์ หรือโนราดิบ หรือถ้าโนราคนไหนชิงแต่งงานก่อนเข้าร่วมพิธีนี้ ก็จะถูกเรียกว่า โนราราชิก หรือ โนราปราชิก โนราทั้งสองแบบจะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ อย่างพิธีโนราโรงครูของชาวบ้านได้ 
   ด้วยเหตุที่เทริดเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ที่บ่งบอกสถานภาพโนรา ขั้นตอนการสวมเทริดในพิธีโรงครูจึง "ไม่ธรรมดา" และกลายเป็นจุดสำคัญของงานเลยก็ว่าได้ โดยโนราใหม่ จะต้องนั่งบนก้นขันเงินใบโต ซึ่งคว่ำอยู่กลางโรง ตรงกับเทริดที่ถูกผูกเชือก และชักขึ้นไปติดบนเพดาน หลังจากนั้นจึงมีคนค่อย ๆ ผ่อนเชือกให้เทริดลงครอบศีรษะโนราพอดิบพอดี เมื่อเสร็จขั้นตอน โนราใหม่ต้องร่ายรำด้วยท่าทางต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนมาต่อหน้าครูโนราอย่างน้อยเจ็ดคน คล้ายกับเป็นการแสดงความสามารถ เพื่อขอจบหลักสูตร 
   นอกจากพิธีครอบเทริด จะทำให้โนรารู้สึกว่า ตนเป็นโนราที่สมบูรณ์แล้ว พิธีกรรมนี้ยังมีผลต่อความรู้สึกของชาวบ้าน ที่ต้องการเชิญโนรามาประกอบพิธีโรงครู ให้แก่ครอบครัวของตนด้วย เพราะชาวบ้านเชื่อว่าร่างโนรา ที่ผ่านพิธีครอบเทริด เป็นร่างพิเศษเหนือมนุษย์ทั่วไป สามารถสื่อสารกับโลกวิญญาณได้ เพราะการร่ายรำโนรา เป็นความรู้ของเทพยดา ที่มาบังเกิดในร่างมนุษย์ เห็นได้จาก
   ตำนานกำเนิดโนรา ราชธิดาตั้งครรภ์ด้วยเทพยดา และเด็กน้อยที่เกิดมาก็ร่ายรำโนรา ได้อย่างสวยงาม กระบวนการหัดเป็นโนรา ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อนี้ เพราะท่ารำโนราต้องอาศัยพละกำลัง และความยืดหยุ่นของร่างกายสูงมาก
คลิกดูภาพใหญ่    ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความ "ร่างในละครชาวบ้าน" ว่า
   "...กระบวนการเป็นโนรา คือการรับเอาร่างของครูหมอโนรา เข้ามาไว้ในร่างของลูกหลาน ในเมื่อครูหมอโนรา เป็นร่างที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั่วไป โนราจึงสามารถทำสิ่งที่มนุษย์อื่นทำไม่ได้ เช่น สามารถขดตัวลงในถาด หรือแอ่นตัวไปด้านหลังม้วนเป็นวงกลม จนศีรษะที่สวมเทริด โผล่ออกมาระหว่างขาได้ นอกจากนั้นโนราในร่างครูหมอ หรือครูหมอในร่างโนรา ยังมีพลังที่จะสามารถจัดการ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายอื่นได้" 
   ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเกิดความไว้วางใจให้โนรา ที่ผ่านพิธีครอบเทริด ประกอบพิธีโรงครูให้ตน เพราะหากโนรา ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้ร่างกายมีลักษณะพิเศษ มีความสามารถในการร่ายรำท่ายาก ๆ และมีความรู้เชิงไสยศาสตร์ สำหรับเชิญวิญญาณฝ่ายดี กำจัดวิญญาณฝ่ายร้าย การแก้บนจะไม่ขาด ครอบครัวเจ้าภาพที่เชิญโนรามาประกอบพิธี จะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง และต้องเชิญโนราคณะอื่น ที่มีความสามารถมากกว่ามาทำพิธีให้อีกครั้ง การเลือกโนรามาประกอบพิธี จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะค่าใช้จ่ายในการตั้งโรงครูทุกวันนี้ราคาสูงมาก โรงครูเล็กต้องใช้เงินประมาณหมื่นกว่าบาท ส่วนโรงครูใหญ่ใช้เงินประมาณ ๓ หมื่นบาท 
   พิธีโรงครูครั้งนี้ นางหนูพันเลือกคณะโนราพนมศิลป์ ซึ่งเชิญมาประกอบพิธีแล้วหลายครั้ง ด้วยเป็นโนรารุ่นเก่า ที่มีความรู้ในการประกอบพิธีกรรมแบบดั้งเดิม หลังจากได้รับโทรศัพท์จากน้องสาวว่า ต้องการตั้งโรงครู นางหนูพันจึงนำขันหมากไปเชิญโนราพนมศิลป์ ที่บ้านในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อโนราพนมศิลป์รับขันหมากแล้ว นางหนูพันจึงตกลงค่าใช้จ่ายกับทางคณะ ซึ่งราคาจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะทาง จำนวนลูกคู่และนางรำ รวมทั้งการปลูกโรง หากต้องการให้คณะโนราปลูกโรงให้ ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้น โรงครูครั้งนี้ฝ่ายเจ้าภาพต้องการจัดโรงครูใหญ่ ใช้เวลาสามคืนสี่วัน โดยเจ้าภาพจะปลูกโรงเอง คณะโนราพนมศิลป์ จึงเรียกค่าทำพิธีเป็นเงิน ๓ หมื่นบาท เมื่อกำหนดวันเวลาเรียบร้อย นางหนูพันก็แจ้งข่าวไปยังเครือญาติทั้งที่อยู่ใกล้และไกลจนครบ ด้วยถือกันว่าตายาย อาจไม่พอใจ หากลูกหลานไม่อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา
   ก่อนถึงวันงานสองสามวัน นางหนูพันขอแรงพวกผู้ชายในหมู่บ้าน ช่วยกันหาไม้ไผ่มาปลูกโรงโนราบนลานดินหน้าบ้านของเธอ ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งโรงครูมาหลายสิบปี นับตั้งแต่นางได้รับเลือกเป็นร่างทรงประจำตระกูล บนลานดินไม่กี่ตารางเมตรแห่งนี้ ไม่เคยมีสิ่งปลูกสร้างถาวรใด ๆ ปรากฏเลย ยกเว้นโรงโนราที่ถูกสร้างขึ้นชั่วคราว เมื่อมีพิธีกรรมโรงครู ด้วยถือกันมาแต่โบราณว่า ผืนดินที่เคยผ่านการตั้งโรงครู คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ลูกหลานจะปลูกสร้างสิ่งใดทับลงไปไม่ได้ นอกจากโรงโนราเท่านั้น 

คลิกดูภาพใหญ่ ๒. พื้นที่และความหมายในโรงโนรา 
   อาจกล่าวได้ว่า ในพิธีโนราโรงครู พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร ภายในโรงโนราจัดเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ที่วิญญาณบรรพบุรุษ จากโลกหน้ากับลูกหลานในโลกนี้มาพบปะพูดคุยกันได้ ขั้นตอนต่าง ๆ ในการปลูกสร้างและตกแต่งโรง เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ที่สื่อความหมายถึงการเชื่อมต่อระหว่างโลกทั้งสอง 
   เริ่มจากที่ตั้งโรงจะต้องอยู่ใกล้บ้านเจ้าภาพ เพื่อเชื่อมสายสิญจน์จากหิ้งบูชาภายในบ้าน มายังโรงโนรา หน้าโรงควรหันไปทางทิศที่ไม่ใช่ทิศตะวันตก และต้องมีพื้นที่ว่างสำหรับให้ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านได้นั่งชม หากไม่มีพื้นที่ตามลักษณะดังกล่าว อาจขออาศัยพื้นที่ของเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ได้
   แม้ว่าปัจจุบันการปลูกโรงสำหรับแสดง เพื่อความบันเทิง จะวิวัฒนาการรูปแบบจากโรงติดพื้น เป็นยกพื้นสูง เพื่อให้คนดูมองเห็นผู้รำได้ในระยะไกล แต่สำหรับพิธีโรงครู การปลูกโรงยังคงมีรูปแบบและเนื้อหาแบบดั้งเดิม คือ เป็นโรงหลังคาหน้าจั่ว กว้าง ๔ คูณ ๕ เมตร ปลูกแบบไม่ยกพื้น ปูพื้นโรงด้วยเสื่อกระจูด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พื้นที่โรงแบ่งเป็นสองส่วน คือพื้นที่ด้านหน้าสำหรับประกอบพิธีกรรม และแสดง พื้นที่ด้านหลังใช้เป็นที่พักและแต่งตัว มีฉากท้องพระโรงเป็นม่านกั้นอาณาเขต
   พื้นที่ด้านหน้านั้น ด้านขวามือเป็นที่ตั้งของ "พาไล" หรือหิ้งยาวสูงระดับสายตา สานด้วยไม้ไผ่หรือปูด้วยไม้กระดานสำหรับวางเครื่องเซ่น ด้านซ้ายมือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพาไล มี "นัก" หรือ "พนัก" ทำจากเสาไม้ปักดิน ความสูงเหนือเข่าเล็กน้อย มีราวพาดด้านบนสำหรับให้ตัวแสดงนั่ง ความกว้างขนาดนั่งพร้อมกันได้ไม่เกินสองคน หันหน้าไปทางพาไลให้ตายายได้ชม 
   ส่วนด้านหลังม่านซึ่งเป็นที่พักผู้แสดง จะยกพื้นสูงขึ้นมาประมาณ ๒ ศอกสำหรับให้ผู้แสดงเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว และนอนพักในตอนกลางคืน ตามคติดั้งเดิม ถือกันว่าโรงโนราเปรียบเสมือนบ้านของโนรา หากไปแสดงโรงครูที่ไหน โนราทุกคนจะต้องนอนในโรง และนายโรงคือผู้มีอำนาจสูงสุด ในการควบคุมไม่ให้สมาชิก ในคณะทำอะไรผิดธรรมเนียม และกำจัดผีอื่น ไม่ให้เข้ามาสร้างความวุ่นวายตลอดพิธีกรรมนี้ 
คลิกดูภาพใหญ่    นอกจากนี้ ภายในโรงยังต้องมีสัญลักษณ์อีกมากมาย ที่ช่วยเชื่อมโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณเข้าด้วยกัน ซึ่งจะขาดไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว อาทิ "เพดาน" ผ้าขาวสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่กว่าผ้าเช็ดหน้าเล็กน้อย ห้อยลงมาจากเพดานจริง แล้วผูกสายสิญจน์โยงเข้าสู่หิ้งบูชาบรรพบุรุษบนบ้าน เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษ ไต่ลงมาร่วมพิธีภายในโรง หรือ "สาดคล้า" ทำหน้าที่แทนแผ่นดินของโลกวิญญาณ ซึ่งโนราจะทำพิธีเชิญมาชุมนุมในวันแรกและส่งกลับในวันสุดท้าย โนราจะต้องระมัดระวังไม่ให้สาดคล้าผืนนี้พลิกเปิดขึ้นมาเพราะจะทำให้วิญญาณตายายไม่มีที่อยู่ แม้ว่าปัจจุบันชาวบ้านจะนำเสื่อกระจูด มาใช้แทนสาดคล้าของจริง ที่สานจากต้นคล้า เนื่องจากต้นคล้าหายากขึ้น  แต่ถ้าเป็นไปได้ชาวบ้านก็ยังนิยมใช้ "สาดคล้า" เพื่อสื่อถึงความหมายเดิม เช่นเดียวกับ "กระแชง" ซึ่งนำต้นเตยมาเย็บติดกันเป็นผืนเล็ก ๆ สื่อความหมายถึงเรื่องราวในตำนานโนราฉากพระธิดาถูกลอยแพออกจากวัง ระหว่างล่องแพนางต้องใช้กระแชงบังแดด ชาวบ้านจึงนำกระแชง มาวางบนจั่วหลังคาเพื่อแสดงเรื่องราวในตำนาน ปัจจุบันกระแชงของแท้ที่เย็บจากต้นเตยหายาก ชาวบ้านจึงนำผ้าพลาสติกมาวางบนจั่วแทน  แต่ยังคงเรียกกระแชงเหมือนเดิม เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้กาลเวลาและสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด แต่ตำนานโนรา ความเชื่อเรื่องตายาย ยังคงถูกถ่ายทอด ผลิตซ้ำ สู่คนรุ่นใหม่ในความหมายเดิม 
   นอกจากพื้นที่ภายในโรงโนรา จะถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม ในเวลากลางวันแล้ว ตกกลางคืนพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรแห่งนี้ ยังถูกเนรมิตเป็นเวทีเปิดตัวโนรารุ่นใหม่ และเป็นเวทีเผยแพร่ศิลปะการแสดง ของโนรารุ่นใหญ่ให้เลื่องลือไกล 
   จวบจนพระจันทร์ลอยข้ามฟ้าล่วงเข้าวันใหม่ เสียงปี่ กลอง โหม่ง ทับ จึงราเสียง คณะโนราบอกลาคนดูและตายายไปพักผ่อน ก่อนจะตื่นขึ้นมาประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ ในเช้าวันถัดไป 

คลิกดูภาพใหญ่ ๓. แต่งพอกไปเชิญตายาย 
   รุ่งเช้า โนราพนมศิลป์รีบตื่นขึ้นมา "แต่งพอก" หรือ "แทงพอก" เพื่อไปเชิญตายายมาร่วมพิธี เครื่องแต่งกายโนราในวันนี้มีมากขึ้นกว่าที่ใช้ในการแสดงทั่วไป คือ หลังจากสวมผ้านุ่งธรรมดาแล้ว จะต้องมีผ้าพับและพอกไว้นอกผ้านุ่งธรรมดาอีกหนึ่งผืน และมี "ห่อพอก" ซึ่งทำจากผ้าสีหรือผ้ามีลวดลายขมวดปมสองข้างผูกไว้ข้างเอว ขนาดเท่ากับห่อทุเรียนกวน สว่าง สุวรรณโร สันนิษฐานไว้ใน
   สารานุกรมภาคใต้ ว่า "ห่อพอกน่าจะเป็นเครื่องแต่งตัว หรือที่เก็บเครื่องแต่งตัวสมัยก่อน แล้วจำลองลงมาให้เล็กลง เพื่อสะดวกในการผูกไว้กับเอว เพราะตามธรรมดาโนรา เมื่อออกโรงแสดงแล้วก็มักมี "ห่อพาย" เพราะเดินทางไป ณ ที่ไกล ๆ และต้องเดินทางไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการแต่งตัวพราน ซึ่งจะมีย่ามที่เรียกว่า "ห่อพาย" ในห่อพายนั้นมีกะปิ ขมิ้น พริกขี้หนู ข้าวสาร และเงินไปด้วย"
   ประมาณแปดโมงเช้า คณะดนตรีจึงเริ่มบรรเลงเพลงไหว้ครู นายโรง และโนราชายอีกสามคน ออกมารำไหว้ครูร่วมกัน 
      "คุณเอ๋ยคุณครู เหมือนฝั่งแม่น้ำพระคงคา คิ่นคิ่นจะแห้งไหลมา ยังไม่รู้สิ้นรู้สุด สิบนิ้วลูกยกขึ้นตำเหนิน สรรเสริญถึงคุณพระพุทธ พ่อจำศีลอยู่ยังไม่รู้สิ้นสุด ไหว้พระเสียก่อนต่อสวดมนต์..." 
   หลังจากนั้นจึงรำบทครูสอนด้วยการจำลองการสอนท่ารำพื้นฐาน ๑๒ ท่าให้ชม โดยนายโรงเป็นผู้รำก่อน มีโนราอีกคนรำตาม เพื่อรำลึกคุณครูและถือเป็นการถ่ายทอดการร่ายรำโนราสู่เด็กรุ่นใหม่อย่างแนบเนียน เพราะเด็ก ๆ ที่ยืนดูอยู่รอบ ๆ มักทำมือตามไปด้วยอย่างสนุกสนาน หากใครรักชอบการร่ายรำก็จะเข้ารับการฝึกฝนกลายเป็นโนรารุ่นใหม่ต่อไป 
   ล่วงเข้าสายของวัน ผู้คนเริ่มหนาตามากขึ้น โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่พากันจับจองเก้าอี้หน้าโรงจนเต็ม เพราะใกล้ถึงเวลาจับบทออกพราน การแสดงละคร ๑๒ เรื่องที่โนราตัดตอนมาให้ดูสั้น ๆ เน้นแก่นความคิดของแต่ละเรื่อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่สำคัญในสังคม
   เช่นเรื่องพระรถเมรี สอนให้เห็นแม่สำคัญกว่าเมีย เรื่องไกรทอง สอนให้รู้คุณครูบาอาจารย์ เรื่องพลายงาม สอนเรื่องบุญ-กรรมว่า ชีวิตเป็นผลจากกรรมแต่ชาติก่อน เรื่องที่นิยมเล่นคือ มโนห์รา พระรถเมรี ลักษณวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง คาวี พระอภัยมณี จันทโครบ สินนุราช สังข์ศิลป์ไชย มณีพิชัย หรือ ยอพระกลิ่น และไกรทอง 
คลิกดูภาพใหญ่    ละครแต่ละเรื่องใช้เวลาแสดงประมาณ ๑๕ นาที ถ้าเด็กคนไหนอยากรู้เรื่องราวต่อไปก็จะวิ่งไปถามตายายของตน หรือบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่นั่งชมอยู่แถวหน้า ยายเสี้ยง วัดชฤทธิ์ วัย ๗๒ ปี จากหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นคนหนึ่งที่ดูละครทั้ง ๑๒ เรื่องมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ว่าจะดูละครครั้งใด ความรู้สึกสนุกตื่นเต้น เพลิดเพลินใจ ก็ปรากฏในแววตาเสมอ เมื่อมีเด็กคนไหนวิ่งมาถามรายละเอียดของเรื่อง แกก็จะเล่าให้ฟังด้วยความกระตือรือร้น เฉกเช่นเดียวกับที่แกเคยได้ยินได้ฟังมาจากคนรุ่นก่อน วัฒนธรรมโนราจึงค่อย ๆ ซึมซับเข้าสู่ความทรงจำของหนูน้อยรุ่นใหม่ทีละน้อย 
   แม้ว่าหลายคนจะดูละครจนจำเรื่องราวได้ทุกบททุกตอน แต่ช่วงจับบทออกพรานก็ยังเป็นตอนที่มีผู้ชมแน่นขนัดอยู่เสมอ เพราะตัวพรานซึ่งเป็นตัวตลกของคณะจะคอยแทรกมุขตลกโดยเฉพาะบทพูดสองแง่สองง่าม เรียกเสียงฮาจากคนดูได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ท่ารำของพรานยังมีเอกลักษณ์ คือ เน้นการเคลื่อนไหวส่วนอก หลัง ไหล่ และหน้าท้อง ให้เข้ากับลีลาจังหวะของดนตรีที่กระชับหนักแน่น เช่น ย่อตัวงอไหล่ เล่นแขนชี้นิ้ว โยกหน้าท้องขึ้นลง หรือเวลาเดินจะต้องก้าวไปข้างหน้าสองก้าว แล้วถอยหลังหนึ่งก้าว และเนื่องจากชุดของพรานนั้นเปลือยอก นุ่งโจงกระเบนสีแดง จึงมองเห็นการเคลื่อนไหวบริเวณส่วนพุงได้ชัดเจน เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้มาก
เวลาพรานออกรำจะสวมหน้ากากที่เรียกว่า "หน้าพราน" หรือ "หัวพราน" เป็นหน้ากากครึ่งหน้า ไม่มีส่วนคาง จมูกยื่นยาว ปลายงุ้มเล็กน้อย เจาะรูตรงส่วนที่เป็นตาดำให้ผู้สวมมองเห็นได้ถนัด หน้าผากทาสีแดงทั้งหมด แต่ถ้าเป็นตัวตลกหญิงจะทาสีขาวหรือสีเนื้อ เรียกว่า "หน้าทาสี" 
   หน้าพรานมีความสำคัญและอำนาจในทางศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าเทริดของโนรา เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เห็นได้จากในช่วงเข้าทรงตายาย มักเรียกลูกหลานให้เข้ามารำพรานเพื่อความโชคดี มีผู้สันนิษฐานว่า สาเหตุที่หน้าพรานมีความสำคัญเทียบเท่ากับเทริดของโนรา ก็เนื่องมาจากในอดีต "พราน" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อสังคมยุคเก็บของป่าล่าสัตว์ และก่อนที่ชาวบ้านจะรับวัฒนธรรมโนราเข้ามา ชาวบ้านเคยรำพรานในพิธีโรงครูอยู่แล้ว พรานจึงเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเทียบเท่าโนรา เห็นได้จากตำแหน่งของ "หน้าพราน" หากยังไม่ได้นำมาสวม จะต้องวางบนพาไล ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับบูชาใกล้กับเทริดของโนราเท่านั้น
คลิกดูภาพใหญ่    ช่วงออกพรานเป็นช่วงเวลาที่โนราจะได้สื่อสารกับคนดูอย่างใกล้ชิด อาณาเขตของพื้นที่แสดงไม่ได้จำกัดเฉพาะภายในโรง แต่ขยายสู่พื้นที่ของชุมชน ในละแวกบ้านเจ้าภาพ ตัวละครบางตัวออกไปแสดงอยู่นอกโรง มีเด็ก ๆ ยืนส่งเสียงหัวเราะอยู่ใกล้ ๆ อย่างวันนี้ คณะโนราแสดงเรื่องเงาะป่า ตัวเอกแต่งกายด้วยใบไม้ ทาสีดำทั้งตัว นั่งก่อไฟปิ้งปลาอยู่ไม่ไกลจากโรง เด็กบางคนวิ่งไปจับมือจับไม้ผู้แสดงอย่างสนุกสนาน เส้นแบ่งระหว่างโลกละครกับโลกภายนอกหายไป ทำให้โนรากลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และชุมชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโนรา 
   โนราแสดงจับบทออกพรานจนครบ ๑๒ บทเมื่อเวลาล่วงเข้าบ่าย โนราพนมศิลป์สอบถามเจ้าภาพว่า มีใครมาแจ้งเอาไว้ว่าต้องการทำพิธีเหยียบเสนหรือไม่ เมื่อเจ้าภาพแจ้งว่ามียายคนหนึ่ง ในหมู่บ้านต้องการให้เหยียบเสนที่ก้นหลานชาย นายโรงจึงสั่งให้คนไปตามตัวมาเข้าพิธี 
   พิธีเหยียบเสนเป็นวิธีรักษาโรคแบบดั้งเดิม ตามความเชื่อของคนในสังคมโนรา เสนที่ว่านี้คือ ปานชนิดหนึ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ถ้ามีสีดำเรียกว่า เสนดำ ถ้ามีสีแดงเรียกว่า เสนทอง ชาวบ้านเชื่อว่า "ผีเจ้าเสน" เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น และต้องให้โนราทำพิธีรักษา โดยการใช้นิ้วเท้าเหยียบลงบนเสน หากเหยียบครั้งแรกยังไม่หายต้องมาให้โนราเหยียบซ้ำในโรงครูครั้งต่อไป จนกว่าเสนจะหาย 
   ในอดีตผู้เป็นเสนจะต้องคอยฟังข่าวว่า บ้านไหนมีพิธีโรงครู หลังจากนั้นจึงไปรอรักษา แต่ในยุคที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยเชื่อเรื่อง "ผีเจ้าเสน" จึงมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่จูงหลานตัวน้อยมาเข้าร่วมพิธี อย่างเช่นวันนี้ ยายคนหนึ่งในหมู่บ้านอุ้มหลานชายวัยไม่ถึงขวบกระหืดกระหอบเข้ามาในโรง พร้อมกับเครื่องประกอบพิธี ที่เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อเย็นวาน คือ ขันน้ำ หมาก พลู ธูป เทียน ดอกไม้ มีดโกน หินลับมีด เงินเหรียญ เครื่องทอง เครื่องเงิน หญ้าคา หญ้าเข็ดหมอนและรวงข้าว
คลิกดูภาพใหญ่    ในการปราบผีเจ้าเสนให้ราบคาบ โนราจะต้องรำเฆี่ยนพราย ซึ่งเป็นท่ารำที่มีอำนาจมาก จะใช้เมื่อต้องการปราบหรือกำจัดอำนาจอื่น เช่น ต้องการปราบผี "เจ้าเสน" หรือข่มโนราคู่ต่อสู้ในการแข่งประชันโนรา โนราจะนำใบตองหรือกระดาษมาม้วนแล้วมัดเป็นเปลาะ ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนคู่ต่อสู้ หลังจากนั้นจึงรำไปรอบ ๆ ม้วนใบตองด้วยท่าทางขึงขังประกอบเสียงดนตรีเร่งเร้า โนราใช้หวายตีม้วนใบตองสลับกับการร่ายรำ อยู่ประมาณสองสามรอบจึงเริ่มทำพิธีเหยียบเสน
   ผู้เป็นยายจับหลานชายตัวน้อยคว่ำหน้าไว้กับตัก หันส่วนก้นเด็กชายให้โนรา เพื่อให้โนราเหยียบเสนสีแดงเล็ก ๆ บนก้นได้ถนัด โนราจุ่มหัวแม่เท้าลงในขันที่เตรียมไว้ ยกขึ้นรมควันเทียน แล้วค่อย ๆ กดหัวแม่เท้าเบา ๆ บริเวณที่เป็นเสน สลับกับแตะใบมีดโกนเบา ๆ สามครั้ง ระหว่างนั้นโนราจะท่องคาถานะโม เพ่งจิตระลึกถึงคุณครู เพื่อให้พลังครูหมอส่งผ่านมายังร่างของตนและปราบผีเจ้าเสนได้สำเร็จ 
   เสร็จจากพิธีเหยียบเสน โนราพนมศิลป์เดินถือผ้าขาว เข้าไปที่หิ้งผีในบ้านเพื่อรับตายายลงมา พบปะลูกหลานในพิธีเข้าทรง หลังจากนั้นโนราจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วพักกินข้าวกลางวัน ก่อนจะทำพิธีเข้าทรงต่อไป 

คลิกดูภาพใหญ่ ๔. ทรงตายาย
   "ออออ...ได้ฤกษ์ยามดี ป่านนี้ชอบพระเวลา...ขอเชิญครูหมอตายาย ทุกฝ่ายมาโรงโนรา" 
   นายโรงเริ่มร้องบท "เชื้อ" ตายายทุกองค์มายังโรงโนราเพื่อเตรียม "จับลง" ที่ร่างนางหนูพัน ในวัฒนธรรมโนรา ทุกตระกูลต้องมีร่างทรงที่ตายายเลือก อย่างน้อยหนึ่งคน หากร่างทรงคนเก่าตายไป ตายายจะเลือกร่างทรงคนใหม่ด้วยวิธีมาเข้าฝัน หรือทำให้ผู้นั้นป่วยไข้ หรืออาจคัดเลือกในพิธีโรงครู โดยลูกหลานทุกคนจะเข้ามานั่งในโรงโนรา แล้วคลุมผ้าขาวทีละคน ถ้าตายายเลือกใคร คนนั้นจะมีอาการสั่นเหมือนผีเข้า และต้องรับเป็นร่างทรงประจำตระกูลไปตลอดชีวิต แต่ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่หรือคู่ชีวิตเสียก่อน 
   โนราวิรัตน์น้อย ส. เสน่ห์ศิลป์ โนรารุ่นเก่าจากหมู่บ้านบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงเหตุผลที่พ่อแม่บางคนไม่ต้องการให้ลูกเป็นร่างทรงว่า เนื่องจากคนที่เป็นร่างทรง เมื่อตายไปจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด วิญญาณต้องคอยวนเวียนดูแลลูกหลาน สำหรับผู้ที่มีคู่ครองแล้ว หากจะรับเป็นร่างทรง ต้องมีการจัดขันหมากไปขออนุญาตคู่ครองต่อหน้าโนรา หากคู่ครองไม่อนุญาตก็เป็นร่างทรงไม่ได้ 
คลิกดูภาพใหญ่    "ครูหมอเหอ..อ..อ..ได้เวลาแล้วหนา เชิญพ่อลงมา เชิญพ่อลงมาให้ไว ๆ พระเทพสิงหรของลูกเหอ..."
   เมื่อถึงเวลาเข้าทรง นายโรงจะกล่าวเชิญตายายโนราหรือตาหลวงทีละองค์ตามลำดับชื่อที่เจ้าภาพเขียนไว้ให้ โดยเริ่มจากตายายในตำนานมาจนถึงตายายที่เคยมีตัวตนจริง ๆ ทางฝ่ายนางหนูพันก็แต่งกายตามลักษณะเด่นของตายายทีละองค์ เช่น ตายายที่มีเชื้อจีน ร่างทรงจะนุ่งชุดกางเกงผ้าแพร ตายายที่เคยเป็นโนรา ร่างทรงจะใส่เครื่องประดับโนราบางชิ้นเป็นการบ่งบอก โดยมีพี่เลี้ยงคอยเตรียมชุดและช่วยดูแลความเรียบร้อย 
   ร่างทรงที่เปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จแล้วจะเดินบนผ้าสีขาวที่พี่เลี้ยงปู ให้ตลอดทางจากประตูบ้านสู่โรงโนรา เมื่อเข้ามานั่งบนเก้าอี้กลางโรง โนราพนมศิลป์จึงยื่นสายสิญจน์ซึ่งเชื่อมต่อมาจากหิ้งบรรพบุรุษบนบ้านให้ร่างทรงถือไว้ หลังจากนั้นจึงกล่าวเชิญตายายอีกครั้ง ระหว่างนั้นดนตรีจะบรรเลงเร่งเร้า ราวกับเร่งให้ตายายรีบไต่สายสิญจน์ จากบนบ้านมาเข้าร่างทรง เมื่อเห็นร่างนางหนูพันสั่นโยกไปมา เสียงร้องเสียงบรรเลงดนตรี จึงแผ่วลงเพื่อให้นายโรงได้ทำพิธี เชื่อมต่อโลกวิญญาณกับโลกมนุษย์ 
   ในช่วงเข้าทรงซึ่งเป็นภาวะคลุมเครือระหว่างโลกมนุษย์ กับโลกวิญญาณ สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้โลกทั้งสองกลายเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก็คือ แสงสว่างจากเทียนไข ชาวบ้านเชื่อว่าแสงสว่างจากเทียนไข จะทำให้ตายายมองเห็น และสามารถพูดคุยกับลูกหลานในโลกมนุษย์ รวมทั้งกินเครื่องเซ่นที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ได้ เมื่อเห็นร่างทรงอยู่ในอาการสงบ นายโรงจึงรีบจุดเทียนไข เพื่อให้วิญญาณตายาย ที่มาอาศัยร่างนางหนูพันมองเห็นสิ่งต่าง ๆ
คลิกดูภาพใหญ่    เมื่อตายายในร่างนางหนูพันมองเห็น ภารกิจแรกที่ตายายต้องทำ คือปีนขึ้นไปบนพาไลเพื่อสำรวจว่า เครื่องเซ่นครบหรือไม่ ถ้าไม่ครบตายายจะดุด่า ลูกหลานต้องรีบไปแก้ไขจนเป็นที่พอใจ จึงลงจากพาไลมานั่งบนเก้าอี้ตามเดิม หลังจากนั้นนายโรงจึงบอกให้ลูกหลานเข้าไปพบปะพูดคุยกับตายาย บางคนถามเรื่องโชคลาภ บางคนถามเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถามถึงตายายที่เสียชีวิตไปแล้วว่า ใครไปเกิดแล้วบ้าง ถ้าตายายองค์ไหนเพิ่งเสียชีวิตไม่นาน ลูกหลานบางคนยังพอจดจำได้ ว่าเมื่อมีชีวิตอยู่มีลักษณะเด่นอย่างไร ตายายที่เข้าทรงในร่างนางหนูพัน ก็จะแสดงลักษณะเด่นออกมา เช่น ลักษณะท่าทาง การพูดจา หรือนิสัยต่าง ๆ เช่น ชอบสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ลูกหลานที่เคยใกล้ชิดก็จะเข้าไปกอด หรือร้องไห้ด้วยความคิดถึง ก่อนจากกัน ตายายในร่างทรงมักขอให้ลูกหลานรำหน้าพรานให้ชม เพื่อความเป็นสิริมงคลของลูกหลานคนนั้น 
   ตอนแรกลูกหลานจะเขินอาย ไม่กล้ารำ แต่เมื่อโนรายื่นหน้าพรานให้ใส่จึงหายเขินอาย ร่ายรำยักย้ายยกไหล่โยกพุงได้ ราวกับตัวพรานที่ผ่านการฝึกปรือมาก่อน หน้าพรานทำหน้าที่เปลี่ยนผ่านจากสภาวะปรกติเข้าสู่ภาวะสมมุติ ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธี กลายเป็นอีกคนหนึ่ง และจะกลับเป็นคนเดิมเมื่อถอดหน้ากาก 
   เมื่อพบปะกันจนหายคิดถึงแล้ว ตายายก็จะกินเครื่องเซ่น หรือ กิน "หมรับ" (อ่านว่า "หมับ") ด้วยการใช้เทียนไขวนรอบเครื่องเซ่นและอมเปลวไฟจนดับ แล้วร่างก็ "บัด" จากไป โดยก่อนวิญญาณออกจากร่างทรง โนราจะร้องบทส่งครู คลอไปกับเสียงดนตรีซึ่งบรรเลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งร่างทรงสั่นโยกรุนแรงและเข้าสู่ภาวะหยุดนิ่ง จึงเป็นอันรู้กันว่า ตายายออกจากร่างนางหนูพันเรียบร้อยแล้ว 
   ในบางครั้งตายายอาจไม่ยอมออกจากร่างทรง หากลูกหลานหรือโนราทำสิ่งไม่ถูกต้องตามธรรมเนียม เช่น โนราแต่งเครื่องทรงไม่ครบ ตายายจะไม่ยอมออกจากร่างทรงจนถึงรุ่งเช้า ต้องไปตามโนราอีกคนหนึ่งมาช่วย พอสอบถามตายายจึงรู้สาเหตุ พอโนราแต่งกายใหม่ ตายายก็ยอมออกจากร่าง 
   หลังจากนั้นนางหนูพันจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ตามลักษณะครูหมอ หรือตายายองค์ถัดไปจนครบ เนื่องจากพิธีครั้งนี้เป็นโรงครูใหญ่ ช่วงเวลาเข้าทรงเริ่มตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสบดีจนเย็นวันศุกร์ หยุดพักเฉพาะช่วงกลางคืนเพื่อเปลี่ยนให้คณะโนราแสดงร่ายรำเพื่อความบันเทิง และในเช้าวันเสาร์ซึ่งป็นวันส่งครู นางหนูพันจะต้องกลับมาทำหน้าที่ร่างทรงอีกครั้ง เพื่อนัดแนะการทำพิธีครั้งต่อไป

คลิกดูภาพใหญ่ ๕. ส่งครูสู่โลกวิญญาณ
   ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันส่งครู โนราจะต้องใช้ความรู้ความเชิงไสยศาสตร์อย่างเต็มที่ เพื่อส่งวิญญาณตายายกลับสู่ภพหน้าอย่างสงบสุข และกำจัดวิญญาณฝ่ายร้ายไม่ให้วนเวียนอยู่ใกล้บ้านเจ้าภาพ เนื่องจากผีในวัฒนธรรมภาคใต้มีหลายพวก เมื่อทำพิธีชุมนุมครูในวันแรก จะมีทั้งผีที่ต้องการและไม่ต้องการให้มาร่วมงาน ผีที่ต้องการให้เข้าร่วมพิธีก็เช่น ผีเทวดา หรือผีตายาย จะสามารถเข้ามาอาศัยในโรงโนราได้ ส่วนผีที่ไม่ต้องการ เช่น ผีตายโหง ผีไม่มีญาติ จะอยู่ด้านนอก ในวันส่งครู โนราจะต้องส่งผีกลับสู่โลกวิญญาณ ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับมนุษย์ ถ้าเป็นผีฝ่ายดีอย่างผีครูหมอ ผีทิศ ก็พอจะขอร้องกันได้ ไม่ต้องตีต้องไล่ แต่ถ้าเป็นผีฝ่ายร้าย พวกผีตายพรายตายโหงจะเป็นพวกที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องและไม่ค่อยยอมไป บางครั้งต้องใช้ไม้หวายตีขับไล่ เพื่อให้มั่นใจว่าส่งกลับสู่โลกวิญญาณไปหมดแล้ว ถ้าโนรามีอาคมไม่เก่งพอ ไล่ผีไม่ไป ผีจะวนเวียนเกาะกินความสุขความเจริญ ของเจ้าบ้านจนล่มจมไปในที่สุด 
   หนทางแก้ไขมีทางเดียวคือ ต้องเชิญคณะโนราที่เก่งกว่ามาทำพิธีแก้ ด้วยเหตุนี้พิธีส่งครู จึงเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าภาพ 
   ช่วงเช้าโนราจะต้องเชิญตายายทั้งหมดมา "จับลง" ที่ร่างนางหนูพันอีกครั้ง แต่คราวนี้จะเชิญตายายทุกองค์พร้อมกันเพื่อมารับเครื่องเซ่นเป็นครั้งสุดท้าย และนัดหมายวันเวลาประกอบพิธีโรงครูครั้งต่อไป ร่างทรงในวันนี้จึงเป็นร่างของตายายรวม ๆ กัน เวลาจะกินเครื่องเซ่นหรือ "เหวยหมรับ" ร่างทรงจะต้องอมเทียน เท่ากับจำนวนตายายที่มาเข้าทรงพร้อมกัน 
   ต่อจากนั้น จึงถึงเวลารำส่งครู เริ่มจากแสดงละครสั้นประมาณ ๒๐ นาที และร่ายรำประกอบบทนางนกจอกซึ่งมีเนื้อหาเศร้าสะเทือนใจ ทำเอาลูกหลานบางคนถึงกับน้ำตาคลอและใจหายกับการลาจากครั้งนี้ 
คลิกดูภาพใหญ่    เธียรชัย อัครเดช นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ศึกษาพิธีกรรมโนราโรงครู วิเคราะห์ความหมายของพิธีกรรมนี้ว่า
   เป็นพิธีกรรมแห่งการผูกมัดและตัดขาด คือ พิธีจะค่อย ๆ สร้างความผูกมัดเป็นระยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และตัดขาดในวันสุดท้าย เริ่มตั้งแต่การปลูกโรง โครงสร้างต่าง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยการมัด ไม่ใช้การตอกตะปู เมื่อเข้าสู่พิธีกรรมวันแรกจนถึงวันที่ ๒ โนราจะกล่าวถึงความผูกพันกับพ่อแม่ครูอาจารย์ แทรกอยู่ในบทร้อง และบทรำ และเมื่อเข้าสู่วันส่งครู บทร้องก็จะมีเนื้อหาในเชิงลาจาก โนราจะต้องทำพิธีตัดโครงสร้างบางส่วนของโรงออก เพื่อแสดงถึงการตัดขาด ทว่าการตัดขาดไม่ได้หมายความว่าเลิกเคารพผีบรรพบุรุษ แต่เป็นการตัดขาดจากเรื่องที่บนบานไหว้ และตัดขาดจากความอาลัยอาวรณ์ เพื่อให้วิญญาณกลับไปอยู่ภพของตน ลูกหลานได้กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ 
   สัญลักษณ์ของการตัดขาดคือสับจีบหมากพลู และเทียนอันเป็นเครื่องบูชาบรรพบุรุษออก อย่างไร้เยื่อใย ปีนขึ้นไปบนพาไลเพื่อตัดจากบนหลังคาออกสามตับ และเปิดออกไปด้านนอกจนเห็นท้องฟ้าเพื่อส่งวิญญาณ หลังจากนั้นจึงกลับลงมาที่สาดคล้า ซึ่งเป็นตัวแทนของแผ่นดินที่ตายายสิงสถิต พลิกสาดกลับอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้โลกวิญญาณและโลกปัจจุบันหลุดขาดออกจากกัน ระหว่างนั้นนายโรงจะว่า "คาถาตัดหนวด" ซึ่งเป็นคาถาที่ใช้ในการแก้บนให้ขาด หากโนราไม่รู้คาถานี้จะทำพิธีโรงครูไม่ได้ เพราะจะทำให้พันธะสัญญา ระหว่างเจ้าบ้านกับตายายไม่ขาดจากกัน ตายายจะมาตามทวงสัญญาจนลูกหลานอยู่ไม่สงบ และต้องเสียเงินทำพิธีโรงครู เพื่อแก้บนให้ขาดอีกครั้ง
   เมื่อส่งวิญญาณตายายเรียบร้อยแล้ว นายโรงจะทำพิธีไล่ผีที่ไม่ต้องการ โดยตัดชิ้นส่วนเครื่องเซ่นโยนให้ผีที่อยู่ด้านใต้พาไล เพื่อให้ผีออกไปทางนั้น หากใครเผลอไปยืนใต้พาไลเข้าจะถูกโนราเอ็ดเสียงดังเพราะเป็นทางผีผ่าน เมื่อส่งวิญญาณและไล่ผีเรียบร้อยแล้ว นายโรงก็ดับเทียนไขทุกดวงเพื่อยุติการติดต่อกับโลกวิญญาณ ถือเป็นอันเสร็จพิธี
คลิกดูภาพใหญ่    นางหนูพันและญาติพี่น้องทุกคนต่างมีสีหน้าโล่งใจ ที่พิธีกรรมจบลงด้วยดี โดยไม่มีเหตุการณ์โกลาหลเกิดขึ้น เช่น ตายายไม่ยอมออกจากร่างทรง หรือมีผีมารบกวนจนพิธีกรรมปั่นป่วน ดังที่เคยเกิดขึ้นในบางงาน บรรดาญาติพี่น้องต่างเข้ามาช่วยกันเก็บของ และเตรียมตัวแยกย้ายกันกลับไปประกอบอาชีพของตนตามปรกติ ทางฝ่ายคณะโนราก็ทยอยขนของกลับขึ้นรถบรรทุกคันเดิม หลังจากนั้นต่างคนต่างก็แยกย้าย กลับไปพักผ่อนที่บ้านของตน ก่อนจะกลับมารวมกันใหม่ที่บ้านโนราพนมศิลป์ในวันพุธหน้า เพื่อไปเล่นโรงครูที่บ้านอื่นต่อไป 
   ทุกวันนี้ คณะโนราที่มีความสามารถในการประกอบพิธีโรงครูแบบดั้งเดิมเหลือน้อยลง โนรารุ่นเก่าอย่างโนราพนมศิลป์จึงได้รับความนิยมและจองคิวล่วงหน้าเอาไว้จนถึงปีหน้า วิถีชีวิตของพวกเขา คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานตราบเท่าที่พิธีกรรม ยังคงตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ของลูกหลานโนรา
   สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แม้ว่าความเชื่อเรื่องตายาย จะยังไม่จางหายไปจากจิตใจ ของลูกหลานโนรา แต่ความนิยมในการตั้งโรงครูแบบดั้งเดิมอาจลดน้อยลง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการนี้แต่ละครั้งค่อนข้างสูง ชาวบ้านหลายคนจึงหันไปประกอบพิธีกรรมรูปแบบอื่น ที่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ตามฐานะทางเศรษฐกิจของตนได้

คลิกดูภาพใหญ่ ๖. โรงครูยุคโลกาภิวัตน์
   ที่วัดท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ไม่ไกลจากหมู่บ้านบ่ออิฐ มีงานโนราโรงครูชาวบ้านอีกรูปแบบหนึ่ง ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการทำพิธีไม่แพง และไม่ต้องเตรียมงานเองให้วุ่นวาย เพราะทางวัดจัดเตรียมไว้ให้หมด ผู้เข้าร่วมพิธีเพียงแค่เสียเงินซื้อตั๋วในราคา ๒๐ บาทเท่านั้น 
   พิธีกรรมโนราโรงครูที่นี่ผูกพันกับชุดตำนาน ที่มีเจ้าแม่อยู่หัวเป็นนางเอก ภายในวัดมีพระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ชาวบ้านท่าคุระ และตำบลใกล้เคียงเรียกว่า "เจ้าแม่อยู่หัว" และเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเคารพเจ้าแม่อยู่หัวเช่นเดียวกับครูหมอโนรา ดังนั้นจึงต้องจัดโนราโรงครูมารำถวายทุกวันพุธแรกของข้างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี (ถ้าวันตรงกับวันพระ ให้เลื่อนเป็นพุธถัดไป) เรียกว่า "งานตายายย่าน" มีระยะเวลาสองวัน คือ เริ่มบ่ายวันพุธถึงบ่ายวันพฤหัสบดี โดยทางวัดรับหน้าที่เตรียมงาน 
   จุดมุ่งหมายของการรำโนราโรงครูของชาวบ้านท่าคุระ เพื่อรำถวายเจ้าแม่อยู่หัว และทำพิธีแก้บนให้แก่ชาวบ้าน หากใครบนด้วยการบวช ผู้บวชจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อคณะกรรมการวัดซึ่งได้จัดไว้เป็นแผนก ๆ และทำพิธีบวชในวันอังคารหรือเช้าวันพุธ ส่วนจะบวชกี่วันขึ้นอยู่กับเวลา และความต้องการของผู้บวช หากบนด้วยโนราโรงครูก็จะต้องรอแก้บนในวันพฤหัสบดี 
คลิกดูภาพใหญ่    พิธีกรรมในวันแรกมีการอัญเชิญ และสรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว โดยมีพราหมณ์หรือตาหมอ ผู้อาวุโสที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาวอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัว ออกจากผอบที่ประดิษฐานมายังมณฑป เพื่อทำพิธีสรงน้ำหน้าพระประธานในมณฑป น้ำที่สรงพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัวแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ หากใช้ผสมน้ำอาบ หรือประพรมศีรษะ จะเป็นสิริมงคล และช่วยรักษาอาการป่วยไข้ ช่วงเย็น คณะโนราจะเข้าโรงทำพิธีเบิกโรง ลงโรง กาศครู กราบครู โนราใหญ่รำถวายครู ปิดท้ายของวันด้วยการรำให้ชาวบ้านชม
   พิธีกรรมในวันที่ ๒ คือวันพฤหัสบดีเป็นพิธีใหญ่ เพราะถือกันว่าเป็นวันครู พิธีกรรมในวันนี้มีอยู่สองลักษณะ คือ พิธีกรรมเพื่อเซ่นไหว้ครูและแก้บนเจ้าแม่อยู่หัว ครูหมอโนรา หรือตายายโนรา และพิธีกรรมเพื่อการเหยียบเสน 
   การทำพิธีเซ่นไหว้ครูหมอโนราหรือตายายโนรา ชาวบ้านที่บนบานเอาไว้จะนำสิ่งของแก้บน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องใช้ เครื่องแต่งตัวโนรา ส่งให้โนราใหญ่พร้อมพานหมาก และเงินทำบุญที่เรียกว่า "เงินชาตายาย" ตามที่ได้บนไว้ตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน 
   ส่วนพิธีแก้บนเจ้าแม่อยู่หัว และครูหมอโนราด้วยการรำโนราถวาย หรือรำทรงเครื่อง และรำออกพราน จะมีชาวบ้านจำนวนมากทั้งที่เป็นชาวบ้านท่าคุระตำบลใกล้เคียง และต่างจังหวัดมาร่วมงาน และแก้บน 
   เนื่องจากงานตายายย่านเป็นงานที่จัดขึ้นทุกปี ทางวัดจึงสร้างโรงเป็นการถาวร มีคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ จัดเตรียมความพร้อม และบริหารงานอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแสงเสียง ฝ่ายพิธีกรรม ฝ่ายจำหน่ายบัตรแก้บน เมื่อชาวบ้านมาถึงงาน เพียงแค่เดินตรงไปที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตร เลือกชนิดรำแก้บนที่ต้องการ ถ้ารำทรงเครื่อง" คนละ ๒๐ บาท ส่วนรำออกพรานคนละ ๑๐ บาท 
คลิกดูภาพใหญ่    การรำทรงเครื่อง ชาวบ้านผู้ต้องการแก้บน จะต้องแต่งตัวด้วยเครื่องโนรา ซึ่งคณะกรรมการวัดคอยอำนวยความสะดวก เรื่องเครื่องแต่งกายให้ หลังจากนั้นจึงนำพานดอกไม้ธูปเทียน หมากพลู เงิน ๑๒ บาทไปมอบให้โนราใหญ่ โนราใหญ่จะรำนำแล้วให้ผู้แก้บนรำตามสั้น ๆ พอเป็นพิธี ส่วนการแก้บนด้วยการรำออกพรานหรือจับบทออกพราน ก็ทำเช่นเดียวกัน เพียงแต่ผู้แก้บนจะต้องแต่งชุดรำออกพรานและใช้บทรำต่างออกไป 
   โนราจะรำแก้บนจนถึงบ่ายวันพฤหัสบดี จึงหมดเวลาของพิธีกรรมนี้ หลังจากนั้นจึงถามผู้มาร่วมงานว่าใครต้องการทำพิธีเหยียบเสน หากไม่มี โนราใหญ่จะร้องบทชาครูหมอโนรา และเจ้าแม่อยู่หัว เพื่อให้ชาวบ้านนำเงินมาบูชาครูตามกำลังศรัทธา หลังจากนั้นโนราจะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ตายาย ร้องบทส่งครูหมอโนรา และพิธีตัดเหฺมฺรย หรือตัดพันธสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน
   ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตั้งโรงครูเป็นตัวเงินค่อนข้างสูง ลูกหลานโนราจึงหันมาแก้บนที่งานตายายย่านกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบพิธีกรรมดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แม้สังคมภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด ความเชื่อเรื่องตายาย ของลูกหลานโนรากลับยังดำรงอยู่ ในรูปแบบพิธีกรรมใหม่ ที่สอดคล้องกับสังคมยุคปัจจุบัน แม้ว่าการแก้บนจะเป็นไปอย่างรวบรัดมากขึ้น แต่ความหมายของพิธีกรรมก็ยังเหมือนเดิม คือ ขอบคุณตายายที่ดูแลทุกข์ของพวกเขาตลอดมา 
   แม้รูปแบบของพิธีกรรมจะเปลี่ยนแปลงไป หากความเชื่อเรื่องตายาย ยังคงทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ของชาวบ้านอยู่ไม่เปลี่ยนแปร นั่นหมายความว่า พิธีโนราโรงครู วัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวบ้าน รอบทะเลสาบสงขลา จะคงผูกสัมพันธ์ชาวใต้อยู่ต่อไป