กลับไปหน้า สารบัญ
นกชายเลนในอ่าวไทยตอนใน
วัฏจักรและชะตาชีวิตบนหาดเลน
เรื่อง : รุ่งโรจน์ จุกมงคล
ภาพ : ปณต ไกรโรจนานันท์

   "สัตว์ทั้งปวงล้วนมีสัญชาตญาณรับรู้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
   เช่นเดียวกับที่มนุษย์หลบฤดูหนาวอยู่ในที่พัก
   หรือดังพวกเศรษฐีย้ายไปพำนัก ณ ถิ่นอันเย็นสบายในฤดูร้อน และถิ่นอันอุ่นแดดในฤดูหนาว
   
ฉันใดก็ฉันนั้น สัตว์ทั้งปวงก็ย่อมย้ายถิ่นตามฤดูกาลเช่นกัน หากทำได้"
      Aristotle, History of Animals
คลิกดูภาพใหญ่    ฝูงนกชายเลนที่บินมาถึงอ่าวไทยในช่วงฤดูหนาว เปรียบดังนาฬิกาที่ร้องเตือนว่า ถึงเวลาที่ผมจะต้องออกเดินทางไปเยือนชายฝั่งทะเลอีกครั้ง ถือเป็นกิจกรรมประจำทุกปีที่ผม และเพื่อน ๆ จะตระเวนดูนกเหล่านี้ด้วยความเพลิดเพลิน 
   คราวนี้ก็เช่นกัน ราวปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูนกแถบชายฝั่งของโคกขาม ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับเพื่อนผู้รักนกกลุ่มหนึ่ง การเดินทางครั้งนี้พิเศษอยู่สักหน่อย ตรงที่พวกเรามีโอกาสนั่งเรือชมหาดเลน ชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน ตลอดทางที่เรือแล่นผ่านคลองเล็ก ๆ พวกเราได้พบนกหลายชนิดทั้งบนต้นไม้ และริมฝั่งคลอง แต่ไม่มีตัวไหนโดดเด่นนัก จนกระทั่งเรือพ้นปากคลองแล้วเลี้ยวเลาะเลียบไปตามแนวชายฝั่งได้ไม่นาน พวกเราก็สังเกตเห็นนกชายเลนขนาดใหญ่ ยืนเรียงรายอยู่บนพื้นเลนชายน้ำ เมื่อเข้าไปใกล้จนมองเห็นนกเหล่านั้นได้ชัดเจน พวกเราก็ทราบได้ทันทีว่า นั่นคือ ฝูงนกซ่อมทะเลอกแดง ! 
   ถึงตอนนี้ทุกคนบนเรือต่างดีใจกันถ้วนหน้า เพราะนี่เป็นนกชายเลนที่หายากมากชนิดหนึ่ง ทั่วโลกมีอยู่ไม่ถึง ๕,๐๐๐ ตัว และสถานที่ที่พวกมันกำลังหากินอยู่นั้น อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร
 คลิกดูภาพใหญ่    ทุกปีในช่วงฤดูหนาว แนวชายฝั่งของอ่าวไทยตอนใน คลาคล่ำไปด้วยนกชายเลนนานาชนิดนับแสนตัว ที่บินย้ายถิ่นจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชีย ผ่านลงมาอาศัยทางตอนใต้ ฝูงนกเหล่านี้มีทั้งที่อาศัยหากินอยู่ในบ้านเราตลอดฤดูหนาว และที่เลือกแวะพักอยู่ชั่วคราว ก่อนจะพากันบินเลยต่อไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เรื่อยไปจนถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จนกระทั่งฤดูหนาวผ่านพ้นไป พวกมันจึงทยอยบินกลับไปจับคู่ผสมพันธุ์ และสร้างรังวางไข่ทางถิ่นอาศัยทางตอนเหนือ ซึ่งอากาศเริ่มอบอุ่น และมีอาหารอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ต่อเมื่อเลี้ยงลูกนกน้อยจนโต อันเป็นช่วงเวลาก่อนที่ความหนาวเย็นมาเยือน ฝูงนกนักเดินทางก็จะพากันบินกลับลงใต้ ...วัฏจักรชีวิตเป็นเช่นนี้ปีแล้วปีเล่า
   ด้วยพฤติกรรมชอบเดินท่องน้ำหากินอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือริมตลิ่งที่มีระดับน้ำไม่สูงนัก บางชนิดก็พบได้บนพื้นเลนแฉะ ๆ เราจึงเรียกขานนกเหล่านี้ว่า นกชายเลน (Shorebird) พวกมันจะเที่ยวใช้ปากจิกกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเล็ก ๆ ที่มีอยู่มากมายทั้งบนและใต้พื้นเลน ในน้ำหรือตามผิวน้ำ แม้กระทั่งตามพงหญ้าใกล้น้ำ ด้วยเหตุที่พวกมันมีถิ่นอาศัย และแหล่งหากินกว้างไกลครอบคลุมทั้งแหล่งน้ำจืด และชายฝั่งทะเลน้ำเค็ม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น และยังสามารถบินย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกล เราจึงพบนกชายเลนกระจายพันธุ์อยู่ทุกภูมิภาคทั่วโลก 
   แม้ว่าจะอาศัยอยู่ในแหล่งธรรมชาติใกล้เคียงกัน แต่นกชายเลนแต่ละชนิดกลับมีขนาด และรูปร่างต่างกันไป เพื่อให้สะดวกสำหรับพฤติกรรมการหากิน และเหมาะสมต่อถิ่นอาศัย พวกมันมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงสูงใหญ่ มีทั้งพวกขาสั้นสำหรับเดินหากินบนพื้นเลนได้คล่องแคล่ว และพวกที่มีขายาวโดดเด่น ช่วยให้ลุยท่องน้ำหากินได้สะดวก รูปทรงของปากก็ต่างกันไปหลายรูปแบบเช่นเดียวกับขา นกขนาดเล็กส่วนใหญ่มีปากสั้น นกขนาดใหญ่มักมีปากแหลมยาว บางชนิดมีปากเรียวยาวไปตรง ๆ บางชนิดโค้งลง แต่บางชนิดแอ่นขึ้น ขณะที่บางชนิด กลับแผ่แบนออกราวกับช้อน รูปทรงของปากที่มีหลากหลายรูปแบบนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุด ของพวกนกชายเลนก็ว่าได้ 
   สิ่งหนึ่งที่นกชายเลนแทบทุกชนิด มีคล้ายคลึงกันคือสีสัน ในช่วงฤดูหนาวนกชายเลนส่วนใหญ่มักมีสีเทา หรือน้ำตาล มองดูคล้ายกันไปหมด แต่สีหม่น ๆ แบบนี้ก็ช่วยพรางตัวนกให้กลมกลืนไปกับสภาพธรรมชาติ ในถิ่นอาศัยได้เป็นอย่างดี ครั้นย่างเข้าสู่ฤดูร้อน พวกมันจะพากันเปลี่ยนสีขนชุดใหม่ให้สดใสสะดุดตา เตรียมพร้อมสำหรับดึงดูดเพศตรงข้าม ให้มาจับคู่ผสมพันธุ์ 
   บรรดานกชายเลนที่พบกระจายพันธุ์ครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก ส่วนใหญ่มีแหล่งขยายพันธุ์อยู่บริเวณเขตหนาวทางตอนเหนือ สำหรับในทวีปเอเชีย พวกมันสร้างรังวางไข่อยู่แถบเขตทุนดราในไซบีเรีย ทางตอนกลาง และด้านตะวันออกของรัสเซีย ทุ่งหญ้าสเตปป์หรือทะเลทรายในมองโกเลีย รวมทั้งตอนเหนือสุดของประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนเดินทางไกลมาจากรัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา ในทวีปอเมริกาเหนือ ธรรมชาติของพื้นที่เหล่านี้เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เต็มไปด้วยหนองบึง และพื้นที่ลุ่มน้ำชื้นแฉะ เหมาะสำหรับเป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลน บางแห่งเป็นหาดเลนริมทะเลสาบขนาดใหญ่ และปากแม่น้ำที่มีทุ่งหญ้า และไม้พุ่มขึ้นท่ามกลางน้ำท่วมขังเป็นปลักเลน 
คลิกดูภาพใหญ่    พวกนกชายเลนขนาดใหญ่ มีพื้นที่สร้างรังวางไข่อยู่แถบตอนกลางของทวีปเอเชีย ส่วนนกชายเลนขนาดเล็ก เลือกทำรังถัดขึ้นไปทางตอนบนสุด บริเวณเขตทุนดราในไซบีเรีย เรื่อยไปจนถึงชายฝั่งด้านตะวันออกสุด ขณะที่แหล่งขยายพันธุ์ของนกหัวโต อยู่ทางตอนเหนือของจีน และมองโกเลีย นกเหล่านี้ทยอยบินกลับไปถึงแหล่งขยายพันธุ์ราวเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่กลางวันเริ่มยาวนานขึ้น ส่งผลให้อากาศอบอุ่น และน้ำแข็งละลายไปจนหมด ตลอดฤดูร้อนเช่นนี้ ตามพื้นเลนจะมีแมลงและสัตว์เล็ก ๆ เกิดขึ้นมามากมาย กลายเป็นอาหารให้นกชายเลนจับกินได้อย่างเหลือเฟือ ฝูงนกจึงเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์กันตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม
   จนเมื่อย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน นกชายเลนแต่ละคู่ ก็จะเลือกทำเลสร้างรังอยู่ตามพื้นดิน หรือพงหญ้าแห้ง ๆ พวกมันสร้างรังขึ้นมาอย่างง่าย ๆ มีลักษณะเป็นแอ่งเล็ก ๆ บางรังอาจรองพื้นด้วยใบไม้และหญ้า แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการวางไข่ 
   นกชายเลนส่วนใหญ่วางไข่ครั้งละ ๓ ฟองและใช้เวลากกไข่นานประมาณ ๓ สัปดาห์ หลังจากลูกนกฟักออกมาแล้ว ก็ต้องใช้เวลาเลี้ยงดูอีกราว ๑ เดือน ลูกนกจึงโตเต็มที่ พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งจะตกอยู่ในราวเดือนสิงหาคม ถึงเวลานี้อากาศทางตอนเหนือ จะกลับเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง กลางวันเริ่มสั้นลง อุณหภูมิลดต่ำ อาหารขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ สภาพแวดล้อมที่เลวลงเช่นนี้ เป็นสัญญาณเตือนให้ฝูงนกชายเลนรู้ว่า ฤดูหนาวอันโหดร้ายกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว และหลังจากเร่งกินอาหาร เพื่อสะสมพลังงานจนแข็งแรง พร้อมกับผลัดขนชุดใหม่ที่สมบูรณ์เพียงพอ สำหรับการบินเป็นระยะทางไกล ก็ถึงเวลาของการอพยพย้ายถิ่นเพื่อความอยู่อีกครั้ง 
   ในการอพยพย้ายถิ่นลงใต้ นกชายเลนต้องใช้เวลารอนแรมนานนับเดือน บินเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร ดังนั้นพวกมันจำเป็นต้องเลือกเส้นทางบิน ที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ ให้แวะลงหากินได้ตลอดการเดินทาง เส้นทางบินของนก จึงต้องผ่านไปตามแนวชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อาศัยแวะเติมพลังงาน และพักผ่อนตามจุดต่างๆ จนกว่าจะถึงที่หมายทางตอนใต้ นกชายเลนในทวีปเอเชีย เลือกใช้เส้นทางบินย้ายถิ่นสองเส้นทาง โดยนกที่มีแหล่งขยายพันธุ์อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย จีน และอลาสกา บินย้ายถิ่นลงมาตาม เส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย (The East Asia-Australian Flyway) เส้นทางนี้ทอดตัวยาวจากเขตอาร์กติก ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ นกที่ใช้เส้นทางนี้ยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่บินเลียบแผ่นดินใหญ่ จะบินลัดเลาะ พร้อมกับแวะพักตามชายฝั่งของทวีปเอเชีย มาทางประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกบินตัดมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านไปตามเกาะต่าง ๆ จากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ไปจนถึงออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังมีบางส่วนใช้เส้นทางบินนี้ ย้ายถิ่นผ่านมาตามแหล่งน้ำบนผืนแผ่นดินใหญ่ด้วย
คลิกดูภาพใหญ่    สำหรับนกที่มีแหล่งผสมพันธุ์อยู่ทางตอนกลางของไซบีเรีย จะใช้ เส้นทางบินอินโดเอเชีย (The Indo-Asian Flyway) โดยบินย้ายถิ่นจากไซบีเรีย และมองโกเลีย ลงมาตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ระหว่างทางฝูงนกจะแวะพัก และหากินตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทั้งแม่น้ำและทะเลสาบ จนกระทั่งมาถึงชายฝั่งทะเลของปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา
   และแม้ว่าการศึกษาการอพยพของนกชายเลน โดยการใส่ห่วงขาจะยืนยันข้อมูลว่า นกใช้เส้นทางเดิมในการย้ายถิ่นเป็นประจำทุกปี แต่ก็มีบางครั้งที่นกบินผิดไปจากเส้นทางเดิมของมัน (cross-overs) เช่นครั้งหนึ่งเคยมีนกชายเลน ถูกจับใส่ห่วงขาที่รัฐเซลังงอ ทางตะวันตกของมาเลเซีย ภายหลังปรากฏว่านกตัวนั้นถูกจับได้อีกครั้งที่ประเทศคาซัคสถาน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของทวีปเอเชีย จากรายงานดังกล่าวแสดงว่า นกตัวนี้คงใช้เส้นทางบินอพยพลงมาตามเส้นทางเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย แต่ตอนขากลับ นกกลับบินผิดไปทางเส้นทางอินโดเอเชีย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นกที่ย้ายถิ่นไปทางทวีปอเมริกาเหนือ มักบินผิดมาทางด้านเส้นทางเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลียอยู่เสมอ ๆ การบินผิดเส้นทางนี้เรียกกันว่า การผลัดหลง (vagrancy) และนกที่บินผิดเส้นทาง จะเป็นพวกนกที่ผลัดหลงเข้ามา (vagrant)
   แม้แต่ในประเทศไทย ก็มีรายงานการพบนกชายเลนหลายชนิด บินผลัดหลงเข้ามาอยู่หลายครั้ง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พบนกชนิดใหม่ในบ้านเราด้วย อย่างกรณีของ นกซ่อมทะเลปากยาว (Long-billed Dowitcher/Limnodromus scolopaceus) ที่มีแหล่งสร้างรังวางไข่อยู่ทางด้านตะวันออกสุดของทวีปเอเชีย และอะแลสกา ปรกติพอถึงฤดูหนาว พวกมันจะบินย้ายถิ่นลงไปอาศัยอยู่ตามชายฝั่งตอนใต้ ของอเมริกาเหนือ จนถึงตอนบนของอเมริกากลาง  แต่นกชนิดนี้เคยมีรายงานผลัดหลงเข้ามาในประเทศไทย ครั้งแรกที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๖ หลังจากนั้นต้องรออีกถึง ๑๖ ปี นกซ่อมทะเลปากยาวจึงหลงเข้ามาอีกครั้ง คราวนี้พบในนาเกลือที่บ้านกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร ในปี ๒๕๔๒ 
   นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป นกชายเลนต่างพากันบินอพยพลงใต้ มาตามเส้นทางบินทั้งสองเส้นเป็นประจำทุกปี โดยอาศัยแวะพักเติมพลังงานตามหาดเลน และแหล่งน้ำที่อุดมไปด้วยอาหารตลอดทาง  แล้วจึงทยอยมาถึงจุดหมายในราวเดือนกันยายน อาจมีส่วนน้อยที่มาก่อนตั้งแต่เดือนสิงหาคม ขณะที่นกส่วนใหญ่จะมาถึงในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นไป นอกจากจะอาศัยอยู่ที่บริเวณอ่าวไทยตอนในตลอดฤดูหนาวแล้ว ยังมีนกบางส่วนบินย้ายถิ่นเลยลงไปทางอินโดนีเซีย จนถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดังนั้นช่วงเวลาที่สามารถพบนกชายเลน ในประเทศไทยได้มากที่สุด อยู่ในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน  และอีกครั้งหนึ่งเมื่อนกเหล่านี้ ย้ายถิ่นกลับราวเดือนมีนาคม-เมษายน
   หากเราดูตามเส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย ที่ผ่านมาทางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าฝูงนกบางส่วน ต้องอาศัยเส้นทางบินเลียบมาตามชายฝั่งผืนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นแนวชายฝั่งของประเทศไทย จึงมีความสำคัญต่อนกชายเลนจำนวนมาก ที่บินย้ายถิ่นมาตามเส้นทางบินนี้ เพราะตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของเส้นทางบิน จากแหล่งขยายพันธุ์ในไซบีเรีย กับปลายทางที่อินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย อีกทั้งยังเป็นแนวรอยต่อของแผ่นดินใหญ่ ที่ต่อเชื่อมกับหมู่เกาะทางตอนใต้ 
   ฝูงนกที่บินเลียบมาตามชายฝั่งของแผ่นดินใหญ่นั้น ส่วนใหญ่เลือกพักอาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนใน ตลอดช่วงฤดูหนาว ส่วนพวกนกที่บินผ่านเลยต่อไปทางใต้ ก็จำเป็นต้องพึ่งพาแนวชายฝั่งของประเทศไทย ที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ตลอดปี เป็นจุดแวะพักเติมพลังงาน ให้เพียงพอสำหรับใช้บินต่อไปจนถึงปลายทางตอนใต้ ยิ่งในช่วงย้ายถิ่นกลับไปยังแหล่งขยายพันธุ์ทางตอนเหนือ นกเหล่านี้ไม่เพียงต้องสะสมไขมันและโปรตีน เพื่อใช้ในการเดินทางเท่านั้น แต่พวกมันยังต้องเก็บสำรองพลังงานไว้ใช้ ในช่วงต้นของฤดูผสมพันธุ์ด้วย 
คลิกดูภาพใหญ่    "เป็นเวลาหลายหมื่นปีมาแล้ว ที่นกชายเลนพัฒนาพฤติกรรมให้เหมาะสมว่า ควรจะย้ายถิ่นไปที่ไหนและแวะพักที่ไหน อาจพูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ในสมองของนกมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ตั้งเวลามาแล้วนับหมื่นปี สำหรับที่หมายในการย้ายถิ่น นกชายเลนที่บินย้ายถิ่นมาจากไซบีเรีย จึงเลือกแวะเข้ามาเติมพลังงานที่ประเทศไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนใน เพราะเป็นพื้นที่หาดเลนที่กว้างที่สุดในประเทศ  และถ้าเทียบกับพื้นที่อื่น คงมีไม่กี่แห่งในเอเชียที่มีพื้นที่แบบนี้" ฟิลลิป ดี ราวด์ นักปักษีวิทยาคนสำคัญของเมืองไทย และเป็นผู้ศึกษาเกี่ยวกับนกชายเลนมายาวนาน ได้ไขปริศนา ในการเลือกเส้นทางย้ายถิ่น ของพวกมันให้ทราบ
   เมื่อประเทศไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความอยู่รอดของนกชายเลน ที่บินเลียบชายฝั่ง มาตามเส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย อ่าวไทยตอนในจึงนับได้ว่า เป็นแหล่งอาศัยหากิน ที่สำคัญต่อนกชายเลนมากที่สุด เพราะมีชายฝั่งเป็นแนวยาวถึง ๑๙๕ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ถึงเจ็ดจังหวัด เริ่มจากจังหวัดชลบุรีทางด้านตะวันออก ผ่านฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จนมาถึงด้านตะวันตกสุดที่จังหวัดเพชรบุรี แนวหาดเลนน้ำท่วมถึงอาณาเขตกว้างใหญ่กว่า ๒๓๕ ตารางกิโลเมตรนี้ ได้รวมเอาพื้นที่ปากแม่น้ำของแม่น้ำสายหลักสี่สาย คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลองไว้ด้วยกัน แม่น้ำเหล่านี้ ต่างพัดพาตะกอน และธาตุอาหารจากพื้นที่ราบลุ่มตอนบน ไหลลงสู่อ่าวไทยตอนใน ส่งผลให้หาดเลนตลอดแนวชายฝั่ง อุดมไปด้วยสัตว์หน้าดินจำนวนมหาศาล กลายเป็นอาหารให้นกชายเลนจับกินตลอดฤดูหนาว นอกจากนี้ตามแนวชายฝั่งของอ่าวไทยตอนใน ยังเต็มไปด้วยบ่อเลี้ยงกุ้ง นาเกลือ ตลอดจนแหล่งน้ำจืดลึกเข้าไปในแผ่นดิน พื้นที่เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งหากินที่นกชายเลนนานาชนิดชื่นชอบ 
   "ถ้าไม่มีอ่าวไทย นกคงต้องไปหากินที่อื่น เราไม่มีข้อมูลว่า ถ้าไม่มีอ่าวไทยนกจะไปที่ไหน แต่คิดว่าคงไม่มี บางแห่งอย่างแถวจันทบุรี หรือตราดมีหาดเลนเหมือนกัน  แต่นกน้อยมาก อาจเป็นว่าพื้นที่ สภาพธรรมชาติ หรืออาหารไม่เหมาะสม สามร้อยยอดเองก็มีพื้นที่หาดเลน ให้นกหากินไม่กว้างเท่าไร แม้เราจะพบนกที่นี่หลายชนิด แต่จำนวนไม่มาก พิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้แล้ว นับว่าอ่าวไทยตอนใน มีนกชายเลนรวมอยู่มากที่สุด" ฟิลให้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่อ่าวไทยตอนใน
   ด้วยที่ตั้ง ที่อำนวยประโยชน์สำหรับการบินย้ายถิ่น และความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมอ่าวไทยตอนใน จึงมีความสำคัญต่อนกชายเลน ที่บินย้ายถิ่นผ่านมา จนถูกยกให้เป็นแหล่งอาศัยของนก ที่มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ ควบคู่ไปกับการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญในระดับโลก
   ดังนั้นตลอดช่วงฤดูย้ายถิ่นแต่ละปี นกชายเลนหลายแสนตัว จะพากันบินผ่านพื้นที่อ่าวไทยตอนใน เพื่อย้ายถิ่นลงใต้ และพวกมันจำเป็นใช้พื้นที่นี้ เพื่อแวะพัก และเติมพลังงาน สำหรับใช้ในการบินทางไกลต่อไป ขณะเดียวกันมีข้อมูลจากการสำรวจระบุว่า นกชายเลนอีกไม่ต่ำกว่า ๔ หมื่นตัว เข้ามาใช้ที่นี้เป็นแหล่งอาศัยตลอดช่วงฤดูหนาว โดยพบนกรวมทั้งสิ้น ๔๒ ชนิด แบ่งออกได้หลายกลุ่มหลายจำพวก มีทั้งนกหัวโต (Plover) นกอีก๋อย (Curlew) นกปากแอ่น (Godwit) นกซ่อมทะเล (Dowitcher) นกทะเลขาแดง (Redshank) นกทะเลขาเขียว (Greenshank) นกชายเลน (Sandpiper) นกพลิกหิน (Turnstone) นกลอยทะเล (Phalarope) นกสติ๊นท์ (Stint) นกน็อท (Knot) นกรัฟ (Ruff) และนกปากซ่อม (Snipe) ในจำนวนนี้รวมนกที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ ในระดับโลกด้วยถึงสามชนิดคือ นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher/Limnodromus semipalmatus) นกชายเลนปากช้อน (Spoon-billed Sandpiper/Eurynorhynchus pygmaeus) และนกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann's Greenshank/Tringa guttifer) ทั้งสามชนิด เป็นนกที่พบได้เฉพาะในทวีปเอเชีย พวกมันมีถิ่นกระจายพันธุ์ค่อนข้างจำกัด จึงส่งผลให้มีประชากรค่อนข้างน้อย แต่ก็พบได้ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในเป็นประจำทุกปี 
คลิกดูภาพใหญ่    นอกจากนี้พื้นที่อ่าวไทยตอนใน ยังเป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลน ที่หายากในประเทศไทยอีกหลายชนิด คือ นกรัฟ นกลอยทะเลคอแดง นกสติ๊นท์เล็ก นกชายเลนปากงอน นกน็อตใหญ่ นกน็อตเล็ก นกซ่อมทะเลปากยาว นกตีนเหลือง นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล นกอีก๋อยจิ๋ว และนกชายเลนกระหม่อมแดง ในจำนวนนี้มีหลายชนิดพบที่นี่เป็นครั้งแรก
   สำหรับนกชายเลนชนิดที่พบเห็นได้ไม่ยากในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน คือ นกหัวโตสีเทา นกหัวโตหลังจุดสีทอง นกหัวโตเล็กขาเหลือง นกหัวโตขาดำ นกหัวโตทรายเล็ก นกหัวโตทรายใหญ่ นกอีก๋อยใหญ่ นกอีก๋อยเล็ก นกปากแอ่นหางดำ นกปากแอ่นหางลาย นกทะเลขาแดงลายจุด นกทะเลขาแดงธรรมดา นกทะเลขาเขียว นกชายเลนบึง นกชายเลนน้ำจืด นกเด้าดิน นกชายเลนปากแอ่น นกชายเลนปากโค้ง นกชายเลนปากกว้าง นกพลิกหิน นกสติ๊นท์คอแดง นกสติ๊นท์อกเทา นกสติ๊นท์นิ้วยาว และนกคอสั้นตีนไว รวมทั้งพวกนกปากซ่อมอีกสองชนิด คือ นกปากซ่อมหางเข็มและนกปากซ่อมหางพัด
   ถึงแม้นกชายเลนส่วนใหญ่ จะพากันย้ายถิ่นมาในช่วงฤดูหนาว และบินจากไปเมื่อย่างเข้าสู่หน้าร้อน แต่ใช่ว่าพื้นที่อ่าวไทยตอนใน จะถูกปล่อยให้เงียบเหงาเมื่อปราศจากนกเหล่านี้ เพราะยังมีนกชายเลนอีกสองชนิด ที่คอยสร้างชีวิตชีวาให้แก่ที่นี่อยู่ตลอดปี 
   ในบรรดานกชายเลนทั้งหมดในเมืองไทย นกตีนเทียน (Black-winged Stilt/Himantopus himantopus) คงเป็นชนิดที่คุ้นเคย และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด นอกจากจะพบเห็นนกชนิดนี้ได้ทุกฤดูกาลแล้ว พวกมันยังมีสีสันสวยงาม และรูปลักษณ์โดดเด่น ดึงดูดความสนใจผู้พบเห็นได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะขายาวสีแดงสะดุดตา เหมาะสำหรับเดินลุยท่องน้ำหากิน ยังแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของนกชายเลนอย่างชัดเจน ส่วนปากยาวเรียวแหลม ก็ช่วยให้จิ้มจิกกินสัตว์น้ำเล็ก ๆ ได้ทั้งบนผิวน้ำ ในน้ำ และบนพื้นเลน นกตีนเทียนอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำได้ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็ม เราจึงพบเห็นนกตีนเทียนได้ไม่ยาก บริเวณอ่าวไทยตอนใน ไม่เพียงมีนกตีนเทียนอาศัยอยู่ชุกชุมที่สุด แต่ยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์ที่สำคัญของพวกมันด้วย
   นกหัวโตมลายู (Malaysian Plover/Charadrius peronii) เป็นนกชายเลนอีกชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ประจำถิ่นในบ้านเรา แต่มีจำนวนน้อย และหาดูได้ยากขึ้นทุกที นกชนิดนี้ต่างจากนกหัวโตอื่น ๆ ตรงที่ชอบอาศัยอยู่ตามหาดทรายมากกว่าชายเลน แต่ถิ่นอาศัยของพวกมันกำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้หาดทรายสงบเงียบที่นกหัวโตเคยใช้หากิน และเป็นพื้นที่สร้างรังวางไข่ ล้วนเต็มไปด้วยผู้คน ส่งผลให้นกหัวโตมลายู ต้องสูญหายไปจากถิ่นอาศัยเกือบทุกแห่ง จนมีสถานภาพเป็นนกหายาก จากรายงานเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน นกหัวโตมลายูเหลือแหล่งขยายพันธุ์เพียงสองสามแห่งเท่านั้น ซึ่งรวมถึงแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีเอาไว้ด้วย 
   พื้นที่อ่าวไทยตอนในยังเป็นถิ่นอาศัยของพวกนกน้ำหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นพวกนกยาง รวมทั้งนกนางนวล และนกนางนวลแกลบที่ย้ายถิ่นเข้ามา มีเพียงนกนางนวลแกลบเล็ก เพียงชนิดเดียวที่ทำรังวางไข่ในประเทศไทย
   เมื่อไม่นานมานี้ หาดเลนสีคล้ำที่ทอดตัวยาวอยู่เบื้องหน้าแห่งนี้ ยังคงว่างเปล่า มีเพียงนกขายาวสองสามชนิดเท่านั้น ที่เดินหากินอย่างสงบ
   ต่างจากวันนี้ที่ชายฝั่งทะเลที่โคกขาม กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง บนพื้นเลนเต็มไปด้วยฝูงนกชายเลนนานาชนิด ราวกับกำลังมีงานเลี้ยงรื่นเริง พวกมันต่างสาละวนกับการเดินหากินอย่างคึกคัก ท่ามกลางธรรมชาติ ที่เปรียบได้กับบ้านแสนสุขสำหรับนกเหล่านี้ 
   ชีวิตบนหาดเลนที่คึกคักเช่นนี้ ยังคงดำเนินต่อไปอีกนานหลายเดือน ก่อนที่พวกมันจะจากไป... 
....................
คลิกดูภาพใหญ่    ทันทีที่บินมาถึงอ่าวไทยตอนใน นกชายเลนต่างแยกย้ายกันไปหากิน ตามพื้นที่ที่มีอาหารสมบูรณ์ และมีสภาพเหมาะสมกับรูปร่างของมัน หาดเลนชายฝั่งนับเป็นพื้นที่ที่ฝูงนกชายเลนชื่นชอบมากที่สุด เพราะเป็นแหล่งรวมอินทรียวัตถุ ที่ไหลมากับตะกอนที่ผ่านมาตามปากแม่น้ำ ป่าชายเลน รวมทั้งบ่อเลี้ยงกุ้ง อินทรียวัตถุเหล่านี้เป็นธาตุอาหารของสัตว์เล็ก ๆ จำนวนมหาศาล ส่งผลให้ตามหน้าดินบนหาดเลน เต็มไปด้วยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังนานาชนิด อาทิ หนอนปล้อง ปู หอย สัตว์จำพวกกุ้ง และลูกปลาเล็ก ๆ แทบไม่ต้องสงสัยว่า หาดเลนเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญมากเพียงใดสำหรับนกชายเลน 
   ดังนั้นยามที่น้ำทะเลลดต่ำลง เผยให้เห็นหาดเลนทอดตัวยาวไกลออกไปหลายร้อยเมตร จนกลายเป็นอาณาบริเวณกว้างใหญ่ ที่เต็มไปด้วยอาหารสำหรับนกชายเลน ฝูงนกจะกระจายกันไปหากินตามพื้นที่ที่พึงพอใจ นกแต่ละชนิดจะชอบพื้นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปร่างลักษณะ และพฤติกรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชนิด และขนาดของอาหารที่พวกมันกิน สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ เพื่อให้นกแต่ละชนิด มีอาหารกินอย่างพอเพียง และไม่ต้องแก่งแย่งกัน กรณีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในเวลาที่หาดเลนเพิ่งเริ่มพ้นน้ำ หรือยามที่น้ำทะเลขึ้นสูงท่วมหาดเลน จนเหลือเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ให้ฝูงนกหากิน
   สำหรับนกชายเลนขนาดเล็ก ที่มีขาสั้นอย่างพวกนกสติ๊นท์ จะเดินหากินตามบริเวณชายฝั่ง ที่อยู่ต่อเนื่องกับแผ่นดิน ดินบริเวณนี้ค่อนข้างแข็ง เหมาะสำหรับนกขาสั้น ที่จะเดินได้โดยไม่จมลงไปในเลนหรือน้ำลึก ส่วนพวกนกขายาว สามารถเดินย่ำเลนห่างไกลออกไป จนถึงบริเวณชายน้ำ ขายาวอันเป็นลักษณะเด่น จะช่วยให้พวกมันเดินลุยน้ำหากินได้สะดวก 
   ลักษณะปากของนกชายเลนแต่ละชนิด ก็ได้รับการวิวัฒนาการมาให้เหมาะสม สำหรับการหากินในพื้นที่ต่างกันเช่นเดียวกับขา เราจึงพบนกเล็ก ๆ ที่มีปากสั้น จิกกินสัตว์อยู่ตามหน้าดินด้านในของชายหาด โดยเฉพาะนกพลิกหิน (Ruddy Turnstone/Arenaria interpres) ที่มีปากสั้นหนาแข็งแรง จะเที่ยวใช้ปากเดินพลิกหินหรือกรวดก้อนเล็ก ๆ เพื่อจิกกินสัตว์เล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ด้านใต้อย่างคล่องแคล่ว
   ส่วนพวกปากยาวได้เปรียบกว่า ตรงที่สามารถใช้ปากล้วงลึกลงไปใต้พื้นเลน จึงมักพบตามพื้นเลนอ่อนนุ่ม ห่างไกลออกไป จนถึงบริเวณที่มีระดับน้ำสูง และแต่ละชนิดยังมีปากสั้นยาวไม่เท่ากัน เพื่อช่วยให้ล้วงลึกลงไปใต้พื้นเลนได้หลายระดับ แม้กระทั่งนกชายเลนที่มีปากแหลมยาว ก็ยังมีรูปทรงต่างกันอีกด้วย เพื่อให้เหมาะสำหรับใช้ล้วงลงไปจับเหยื่อได้ทุกรูปแบบ มีทั้งโค้งลงอย่างนกอีก๋อย ขณะที่ปากของนกปากแอ่น จะแอ่นขึ้นด้านบนเล็กน้อย 
   นกชายเลนปากงอน (Pied Avocet/Recurvirostra avosetta) คงเป็นนกชายเลนที่มีปากรูปทรงแปลกมากที่สุด นกชนิดนี้เป็นนกจำพวกเดียวกับนกตีนเทียน ที่แม้จะมีปากยาวเรียวแหลมคล้ายกัน แต่ปากของนกชายเลนปากงอน จะแอ่นงอนขึ้นด้านบนจนดูเหมือนผิดปรกติ แต่ลักษณะที่แปลกเช่นนี้ กลับเหมาะสำหรับไซ้จับเหยื่อไปตามผิวน้ำ ส่วนนกลอยทะเลคอแดง (Red-necked Phalarope/Phalaropus lobatus) จะมีปากแหลมเรียวบางราวกับเข็ม สำหรับจิกกินสัตว์เล็ก ๆ ตามผิวน้ำได้คล่องแคล่ว มันจึงใช้วิธีลอยตัวว่ายวนเหนือน้ำเพื่อจิกกินเหยื่อที่อยู่รอบตัว แทนที่จะเดินหากินแบบพวกพ้อง
   นกซ่อมทะเลอกแดง นอกจากมีปากยาวมากแล้ว ปลายปากยังอวบหนา เพราะมีระบบประสาทสัมผัสอยู่บริเวณนั้น เช่นเดียวกับนกปากซ่อม นกซ่อมทะเลอกแดงสามารถใช้ปากจิ้มสักไปตามพื้นเลนลึก ๆ ได้รวดเร็ว ดูคล้ายกับเข็มของจักรเย็บผ้ากำลังทำงาน ประสาทสัมผัสที่ปลายปาก จะสั่งให้นกจับเหยื่อทันทีที่สัมผัสถูก
   แม้เมื่อน้ำทะเลขึ้นท่วมหาดเลนจนมิด ฝูงนกชายเลนก็ยังมีทางเลือกในการดำรงชีพ โดยพากันบินขึ้นมาหากินตามนาเกลือ และบ่อเลี้ยงกุ้ง ที่อยู่เลยจากชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดิน
คลิกดูภาพใหญ่    ในอดีตพื้นที่อ่าวไทยตอนใน เคยมีป่าชายเลนอยู่หนาแน่นตลอดแนวชายฝั่ง แต่ช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา ผืนป่าถูกบุกเบิกเปลี่ยนสภาพเป็นชุมชน พื้นที่ทางการเกษตร และแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไปถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าว แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนกชายเลนโดยตรง เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัย หรือหากินในป่า และนกยังสามารถปรับตัว เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ที่เปลี่ยนไปเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง และนาเกลือได้ ต่างจากนกประจำถิ่นอย่างพวกนกยาง นกกาน้ำ นกกะเต็น ฯลฯ ที่ต้องพึ่งพาป่าชายเลน ในการพักอาศัย และสร้างรังวางไข่ ดังนั้นเมื่อป่าชายเลนหมดไป ย่อมส่งผลให้นกเหล่านี้ลดจำนวนลงไปด้วย ขณะเดียวกันป่าชายเลน ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของหาดเลนที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งยังเป็นแนวป้องกันการพังทลาย ของแนวชายฝั่งอีกด้วย ดังนั้นการสูญเสียป่าชายเลน ย่อมส่งผลถึงความสมดุลของระบบนิเวศ ในถิ่นอาศัยของนกชายเลนในระยะยาว แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่า พวกมันจะเป็นฝ่ายรับประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงนี้มากกว่า
   เมื่อนกชายเลนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาหากินตามนาเกลือ และบ่อเลี้ยงกุ้ง ความจำเพาะต่อแหล่งอาหาร ก็ยังมีผลมาถึงพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นมานี้ด้วย พวกนกขายาวยังคงชอบเดินท่องน้ำ หากินในบ่อเลี้ยงกุ้งที่มีน้ำลึก ส่วนนกที่มีขาสั้น ก็ต้องอาศัยตามพื้นเลน หรือบริเวณที่มีน้ำตื้น ดังนั้นนาเกลือที่มีระดับน้ำไม่ลึกนักจึงเป็นสวรรค์สำหรับนกสติ๊นท์ นกหัวโต และนกชายเลนขนาดเล็กอื่น ๆ
   การทำนาเกลือแบบพื้นบ้านนั้น จำเป็นต้องแบ่งพื้นที่นาออกเป็นหลายแปลง ใช้เป็นที่เก็บกักน้ำและให้เกลือตกผลึก เริ่มจากชักน้ำทะเลเข้ามาเก็บไว้ในนาตากน้ำ ก่อนปล่อยออกสู่นาเชื้อ เพื่อกักน้ำไว้จนเกลือพร้อมที่จะตกผลึก จึงไขน้ำเข้าสู่นาแปลงสุดท้ายที่เรียกว่า นาปลง ที่ปรับพื้นนาให้แน่นและเรียบ สำหรับให้เกลือได้ตกผลึก น้ำในนาปลงจึงมีความเค็มจัด จนยากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ต่างจากนาตากน้ำ และนาเชื้อทางตอนบนยังคงอุดมไปด้วยสัตว์ตามหน้าดินจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกหนอนปล้อง และสัตว์จำพวกกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารโปรดปรานของนกชายเลนขนาดเล็ก ลักษณะทางกายภาพ และความสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ในนาเกลือที่เอื้อประโยชน์ต่อนกชายเลนเช่นนี้ ยิ่งเพิ่มคุณค่าให้แก่พื้นที่อ่าวไทยตอนใน เพราะตลอดชายฝั่งทะเลของประเทศไทย มีเพียงชุมชนในแถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรีเท่านั้น ที่ประกอบอาชีพทำนาเกลือ อย่างเป็นล่ำเป็นสันบนพื้นที่หลายหมื่นไร่ พื้นที่แถบนี้จึงเป็นแหล่งอาศัย และหากินที่สำคัญมากที่สุด สำหรับนกชายเลนขนาดเล็ก รวมทั้งนกชายเลนปากช้อนด้วย และนี่เป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเราถึงพบนกชนิดนี้บริเวณอ่าวไทยตอนในอยู่เสมอ
   นกชายเลนปากช้อนมีแหล่งขยายพันธุ์ จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณชายฝั่ง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือสุดของไซบีเรีย พอถึงฤดูหนาว จึงบินย้ายถิ่นลงใต้ แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า นกกลุ่มใหญ่มีที่หมายในช่วงฤดูหนาวอยู่ที่ใด แม้จะมีรายงานพบนกทั้งพม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ บังกลาเทศ และตอนใต้ของอินเดีย แต่น้อยครั้งมาก และมีจำนวนเพียงเล็กน้อย เดิมเคยประมาณว่า มีนกชายเลนปากช้อนเหลืออยู่ราว ๒,๐๐๐-๒,๘๐๐ คู่ แต่ข้อมูลล่าสุด จากการสำรวจแหล่งสร้างรังวางไข่ของนกชนิดนี้ พบว่านกส่วนใหญ่ได้สูญหายไปจากพื้นที่ พวกมันเคยใช้สร้างรัง จึงทำให้นักอนุรักษ์พากันวิตกว่า ประชากรของนกชายเลนปากช้อน ในปัจจุบันอาจเหลืออยู่ไม่ถึงพันคู่ก็ได้
   ในประเทศไทย มีรายงานการพบนกชายเลนปากช้อนครั้งแรก ที่เขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๒๗ และพบอีก ๒๐ ตัวในปีเดียวกันที่อ่าวปัตตานี ต่อมาจึงพบอีกครั้งที่โคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร ในเดือนมกราคม ๒๕๓๘ หลังจากนั้นก็มีรายงานจากที่นี่เป็นประจำทุกปี 
   นอกจากใช้เป็นแหล่งหากิน นกชายเลนส่วนใหญ่ยังอาศัยคันดินนาเกลือ และขอบบ่อเลี้ยงกุ้งเป็นที่พักผ่อนและไซ้ตกแต่งขน รวมทั้งหลับนอนตอนกลางคืน สำหรับนกเด้าดิน (Common Sandpiper/Actitis hypoleucos) พื้นดินแห้ง ๆ แบบนี้ยังเป็นแหล่งหากินของมันด้วย นกเด้าดินมีพฤติกรรมแปลกไปจากนกชายเลนชนิดอื่น มันชอบกระดกตัว และขยับหางขึ้นลงตลอดเวลา ไม่ค่อยอยู่นิ่ง และยังชอบเดินใช้ปากจิกอาหารกินอยู่บนคันดินแห้ง ๆ ตามลำพัง แทนที่จะลงไปหากินบนพื้นเลน แบบเดียวกับนกชายเลนทั่วไป
คลิกดูภาพใหญ่    หลังจากอาศัยหากินอยู่ในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ตลอดช่วงฤดูหนาว จนกระทั่งราวปลายเดือนมีนาคม นกชายเลนจึงเริ่มทยอยบินกลับไปสร้างรังวางไข่ ยังถิ่นอาศัยตอนเหนือ โดยมีเพื่อนพ้องย้ายถิ่นจากตอนใต้ขึ้นมาสมทบ ช่วงต้นฤดูร้อนนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จะมีนกนับแสนตัวบินผ่าน และแวะพักใช้พื้นที่อ่าวไทยตอนใน เพื่อเติมพลังงานสำหรับการบินระยะทางไกล ในช่วงเดียวกันนี้ นกบางตัวจะผลัดขนเส้นใหม่ในชุดฤดูผสมพันธุ์จนมีสีสันสวยงาม พลอยแต่งเติมให้หาดเลนสดใสตามไปด้วย 
   กระทั่งเดือนพฤษภาคมผ่านไป ฝูงนกชายเลนต่างก็พากันบินอพยพกลับสู่แหล่งขยายพันธุ์จนหมดสิ้น ปล่อยทิ้งให้นกตีนเทียนเดินหากินอย่างเงียบเหงา ปะปนกับฝูงนกยางตามหาดเลน และบ่อเลี้ยงกุ้ง 
   เรือยนต์ลำเล็ก ๆ กำลังมุ่งหน้าออกจากชายฝั่งไปยังหาดเลน พร้อมกับนำชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ ออกไปเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากท้องทะเล
   เสียงเครื่องยนต์ที่ดังก้องตลอดทางที่เรือแล่นผ่านไป ทำให้ฝูงนกชายเลนบินแตกฮือ แต่นี่คงเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความเคยชินมากกว่า อาการตกใจจากสิ่งแปลกปลอมที่เห็น เพราะเพียงครู่เดียวหลังจากเรือผ่านเลยไป พวกมันก็บินย้อนกลับลงมาหากินบนพื้นเลนดังเดิม ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น มิหนำซ้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะตื่นกลัวกลุ่มชาวบ้าน ที่กำลังช่วยกันงมหอยในหาดเลน 
...........................
คลิกดูภาพใหญ่    ตลอดแนวชายฝั่งของอ่าวไทยตอนใน ไม่เพียงนกเท่านั้น ที่อาศัยหาดเลนเป็นแหล่งหากิน แต่ชาวบ้านจำนวนมากตามชุมชนตลอดแนวชายฝั่ง ก็ดำรงชีพ ด้วยการพึ่งพาทรัพยากรจากอ่าวไทยตอนในเช่นกัน นอกจากกุ้งปลาจากทะเล การเก็บหอยหลายชนิดจากหาดเลน ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่พวกเขาไม่น้อยในแต่ละปี 
   หอยแครง หอยหลอด และหอยพิมพ์ มีชุกชุมอยู่ตามพื้นเลนในอ่าวไทยตอนใน ให้ชาวบ้านจับกิน และจำหน่าย ส่วนใหญ่ชาวบ้านยังคงใช้วิธีเก็บหอยแบบดั้งเดิม คือรอให้น้ำทะเลลดแห้งจนหาดเลนโผล่ขึ้นมา แล้วจึงนั่งเรือออกไปงมหอยแครงหรือหอยพิมพ์ หรือเดินออกไปหยอดปูนขาวจับหอยหลอด วิธีเก็บหอยตามธรรมชาติแบบนี้ นอกจากจะไม่เป็นอันตรายต่อนก หรือส่งผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของพวกมันแล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการแบ่งปันทรัพยากร และแหล่งอาหารระหว่างนกกับมนุษย์อีกด้วย
   "แม้ว่าชาวบ้านจะไม่เห็นความสำคัญของนกก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของเขา ในการหากิน หาหอย หาเคย ชาวประมงพื้นบ้านก็สามารถหากินร่วมกับนกได้ ที่นี่น่าสนใจมาก เรามักมองว่าชาวบ้านทำลายป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ในกรณีของป่าบนบก คงไปด้วยกันยากสำหรับชาวบ้านที่ทำการเกษตร แต่ถ้าเรามองชาวประมงพื้นบ้านในอ่าวไทย การหากินของชาวบ้านไม่ทำลายธรรมชาติ และยังไม่ส่งผลกระทบต่อนกด้วย"
   นี่เป็นมุมมองของฟิลในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนกกับชาวบ้าน
   แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติ และการอยู่ร่วมกันระหว่างนกกับมนุษย์ คงเกิดขึ้นได้เฉพาะกับวิธีประมงพื้นบ้าน หากยากที่จะเป็นไปได้สำหรับธุรกิจประมงขนาดใหญ่ การทำฟาร์มหอยขนาดใหญ่ ทั้งฟาร์มหอยนางรมที่จังหวัดชลบุรี และฟาร์มหอยแครงที่จังหวัดเพชรบุรีนั้น ได้สร้างผลกระทบแก่นกชายเลน เพราะเจ้าของฟาร์มปักหลักไม้ล้อมรั้วเลี้ยงหอยตามหาดเลน ทำให้พื้นที่หากินของนกมีน้อยลง
   เมื่อมีการใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ อย่างการใช้เรืออวนรุนจับสัตว์น้ำใกล้ชายฝั่ง ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของหาดเลนอย่างรุนแรง เรือเหล่านี้จะใช้ตาข่ายที่มีตาถี่ปล่อยจากด้านข้างของเรือ ให้ลงไปถึงก้นทะเล แล้วใช้ไม้หรือท่อนเหล็กขนาดยาวสองอัน ที่มีเหล็กแบน ๆ ติดอยู่ตรงส่วนปลาย ดันให้ตาข่ายที่ผูกติดอยู่คราดไปตามหน้าดิน เพื่อจับปลาและกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จับได้เพียงปลาเล็กปลาน้อยส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ แต่มันส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อนิเวศของหาดเลนชายฝั่ง และล้างผลาญสัตว์ตามหน้าดิน ที่เป็นอาหารของนกชายเลนไปอย่างมหาศาล 
   การพัฒนารูปแบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของนกด้วยเช่นกัน สมัยที่ชาวบ้านยังคงเลี้ยงกุ้งตามแบบธรรมชาติ บ่อเลี้ยงกุ้งจะถูกขุดให้มีแนวคูน้ำลึกโดยรอบ ปล่อยพื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นลานกว้างที่มีระดับน้ำไม่ลึกนัก เพื่อให้กุ้งขึ้นมาหากินอาหารตามธรรมชาติ นกชายเลนจึงอาศัยเดินหากินในบ่อเลี้ยงกุ้งแบบเก่าได้สะดวก แต่หลังจากที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำด้วยระบบพัฒนา บ่อเลี้ยงกุ้งถูกขุดให้มีระดับน้ำลึกเป็นเมตรตลอดทั้งบ่อ ยากที่นกชายเลน จะเข้ามาเดินหากินได้สะดวกเหมือนเดิม
   ทว่าธุรกิจเลี้ยงกุ้งกุลาดำในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน รุ่งเรืองอยู่ได้ไม่นานก็ต้องหยุดชะงักลง หลังจากประสบปัญหาโรคไวรัสกุ้งระบาด และน้ำเสียรุนแรง ที่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงกุ้งอย่างหนาแน่นเกินควร อีกทั้งยังขาดการควบคุม และจัดการที่ดี น้ำเสียจากบ่อเลี้ยงกุ้งก่อผลเสียต่อคุณภาพน้ำ และระบบนิเวศตามแนวชายฝั่ง จนไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้เลี้ยงกุ้งได้อีกต่อไป หลังจากผู้เลี้ยงต้องเผชิญกับสภาวะขาดทุน บ่อเลี้ยงกุ้งนับแสนไร่จึงถูกปล่อยทิ้งร้าง และในที่สุดมันก็กลับมาเป็นแหล่งหากิน และหลับนอนของนกชายเลนอีกครั้ง
คลิกดูภาพใหญ่    แต่ปัญหาการคุกคามถิ่นอาศัยของนกชายเลนใช่ว่าจะยุติอย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากไม่สามารถใช้พื้นที่เลี้ยงกุ้งได้อีก เจ้าของก็หาประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้นใหม่ ด้วยการขายหรือพัฒนาเป็นบ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาครนั้น มีความพยายามที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นหลายแห่ง ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน การปฏิรูปที่ดิน และเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวนี้ นับเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงที่สุด ที่นกชายเลนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เมื่อการพัฒนานำไปสู่การถมที่ดิน เพื่อสร้างถนน และโรงงานอุตสาหกรรม ตามมาด้วยการพัฒนาสาธารณูปโภคอื่น ๆ ซึ่งล้วนส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อแหล่งอาศัยของนก จนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีก เช่นเดียวกับปัญหาน้ำเสีย ที่ถูกปล่อยออกมาทั้งจากชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลกระทบต่อหาดเลนชายฝั่ง และทำให้แหล่งอาหารของนกลดน้อยลงไป
   "สมุทรสาครยังมีธรรมชาติดีอยู่ ตามชายฝั่งยังมีชาวประมงอยู่มาก และยังไม่มีปัญหาน้ำเสียมากนัก แต่ถ้ามีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยไม่มีการแบ่งโซน หรือหาทางแก้ปัญหาให้ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ดูตัวอย่างจากสมุทรปราการก็ได้ ๒๐ ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมขยายตัวโดยไม่มีการแบ่งโซน ทุกวันนี้มีแต่โรงงาน และน้ำเสียเต็มไปหมด แม้แต่ริมถนนก็ยังได้กลิ่นเหม็น พื้นที่ต้องถูกทำลายไป เพราะการพัฒนาที่ไม่มีการวางแผน เมื่อก่อนแถวนั้นมีนกอยู่ทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้เหลือนกน้อยมาก" ฟิลแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบจากการพัฒนา ที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้า
   การเสื่อมโทรมและสูญเสียถิ่นอาศัย จนไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิมได้นั้น ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงยิ่งกว่าการล่า ซึ่งยังคงเกิดขึ้นในบริเวณอ่าวไทยตอนใน หากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไร้การควบคุม และตระหนักถึงผลเสียต่อระบบนิเวศ และนกชายเลน ก็คงคาดคะเนได้ไม่ยากว่า ฝูงนกชายเลนบริเวณอ่าวไทยตอนใน คงจะสาบสูญไปในไม่ช้า
   สายลมหนาวใกล้พัดผ่านไปแล้ว ขณะที่ฝูงนกชายเลน กำลังผลัดเปลี่ยนขนชุดใหม่เพื่อต้อนรับฤดูร้อน ก่อนจะพากันทยอยบินกลับสู่ถิ่นเหนือ และรอจนกว่าฤดูหนาวมาเยือนคราวต่อไป พวกมันจึงพากันเดินทางกลับมายังหาดเลนอีกครั้ง
   ลูกนกคงได้รู้จักกับการเดินทางไกลครั้งแรก แต่ไม่มีใครรู้ว่า นกตัวเดิมจะมีโอกาสย้อนกลับมาที่นี่อีกหรือไม่ 
.............................
คลิกดูภาพใหญ่    แม้อ่าวไทยตอนในยังคงมีธรรมชาติ และแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์รอรับพวกมัน แต่ปีแล้วปีเล่าที่นกชายเลนนับล้านตัว บินย้ายถิ่นลงมาทางใต้ ใช่ว่านกเหล่านี้จะมีโอกาสกลับไปยังแหล่งขยายพันธุ์ครบทุกตัว แน่นอนว่านกต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวน ท่ามกลางอุปสรรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จนทำให้นกบางส่วนต้องตายลง แต่นั่นยังไม่ร้ายแรงเท่ากับภัยคุกคาม ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการล่าและคุกคามถิ่นอาศัย ล้วนส่งผลให้นกชายเลนอพยพกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่มีโอกาสกลับสู่บ้านเกิดทางเหนืออีกเลย
   ท่ามกลางปัญหานานัปการ ที่คุกคามต่อการดำรงชีวิตของนกชายเลนในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน การคงและรักษาขอบเขต และคุณภาพของระบบนิเวศ ตามแหล่งอาศัยบริเวณชายฝั่ง นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ประชากรของนกชายเลน ตลอดจนนกน้ำอื่น ๆ ในขณะนี้ 
   ที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินนโยบาย และออกกฎหมายมากมายในระดับประเทศ เพื่อปกป้องนกเหล่านี้ ทั้งห้ามการล่า ป้องกันการทำลายถิ่นอาศัย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็มีการร่วมมือระหว่างประเทศ ในการอนุรักษ์นกน้ำ และนกชายเลนอพยพ รวมทั้งถิ่นอาศัยของพวกมัน ด้วยการร่วมลงนามเป็นภาคีอนุสัญญา ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของอนุสัญญาแรมซาร์ (RAMSAR) ในปี ๒๕๔๑ อนุสัญญานี้มีจุดมุ่งหมายให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำ และนกชายเลนอพยพจำนวนมาก 
   อนุสัญญาแรมซาร์เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกมากกว่า ๑๑๔ ประเทศทั่วโลก โดยแต่ละประเทศต้องกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความเหมาะสมของตน เพื่อเสนอ และรวบรวมไว้ในทำเนียบพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (RAMSAR SITE) รวมทั้งจัดทำแผน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากพื้นที่ชุ่มน้ำ และการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกที่อาศัยอยู่ โดยการสร้างพื้นที่สงวนทางธรรมชาติ ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำของตน
   การเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ ประเทศไทยได้เสนอให้ควนขี้เสี้ยน ในบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ขึ้นทะเบียนเป็น RAMSAR SITE เป็นลำดับแรก และในอนาคตหากพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ได้รับการเสนอ และขึ้นทะเบียนเป็น RAMSAR SITE เพิ่มเติม ในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ อันเป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลนอพยพจำนวนมาก ก็น่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับการกำหนดแผน และนโยบายในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้อย่างยั่งยืนต่อไป
   เครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย ก็เป็นอีกความร่วมมือหนึ่งในระดับนานาชาติ เพื่อการอนุรักษ์นกชายเลนในเอเชีย โดยเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๓๗ มี Shorebird Flyway Officer เป็นผู้ประสานงาน ภายใต้การสนับสนุนขององค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ (Wetlands International) โดยได้รูปแบบมาจาก เครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนในซีกโลกตะวันตก ที่ดำเนินการจนประสบความสำเร็จในทวีปอเมริกาเหนือ และใต้เมื่อประมาณ ๑๕ ปีที่แล้ว ทั้งนี้เครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึง ความสำคัญระดับสากล ของแหล่งอาศัยของนกชายเลน และการจัดการเครือข่ายแหล่งอาศัยนกชายเลนที่สำคัญในระดับนานาชาติ โดยมีการประสาน และชักนำหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการ และชุมชนท้องถิ่นเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อันเป็นถิ่นอาศัยของนกชายเลนอพยพ ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 
คลิกดูภาพใหญ่     ขณะนี้มีการจัดตั้งเครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนอพยพในหลายแห่ง ตลอดเส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย แม้จะยังไม่มีพื้นที่อ่าวไทยตอนในรวมอยู่ด้วย แต่ที่ผ่านมาได้มีการประสานความร่วมมือ เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของ เครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย โดยสมาคมอนุรักษ์นก และธรรมชาติแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับองค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติประจำประเทศไทย จัดพิมพ์โปสเตอร์ออกเผยแพร่ อธิบายการอพยพของนกชายเลน และแผนที่แสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเส้นทางบิน และพื้นที่เครือข่ายระหว่างทาง พร้อมกันนี้ทั้งสององค์กร ยังได้ร่วมกันสำรวจการอพยพย้ายถิ่นของนกชายเลน และถิ่นอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยตอนในเมื่อปี ๒๕๔๒ โดยได้รับการช่วยเหลือจากชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
   "ผมเชื่อว่า ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ อยู่ที่ว่าเขาอยากรักษาไว้หรือไม่ เขาอยากจะได้เงินเร็ว ๆ หรืออยากมีชีวิตดี ๆ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าชาวบ้านมีส่วนร่วมอนุรักษ์จะดีมาก โดยเฉพาะนกชายเลน ทุกแห่งควรมีชาวบ้านเข้าร่วม เป็นกรรมการอนุรักษ์พื้นที่ร่วมกัน" เป็นทัศนะของฟิลที่แสดงถึงความสำคัญ ในการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
   ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม อาจเป็นตัวอย่างแรกขององค์กรท้องถิ่นที่มีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์นกชายเลน และถิ่นอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และมีพื้นที่บางส่วนอยู่ติดแนวชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย ชาวบ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำนาเกลือ และเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ย่อมเป็นแหล่งอาศัยของนกชายเลนนานาชนิดในช่วงฤดูหนาว และที่นี่ยังมีรายงาน การพบนกชายเลนหายากหลายชนิด ทั้งนกซ่อมทะเลอกแดง นกชายเลนปากช้อน นกชายเลนกระหม่อมแดง ฯลฯ โดยเฉพาะนกชายเลนปากช้อน สามารถพบได้ที่โคกขามเป็นประจำ เพราะที่นี่ยังคงมีนาเกลือที่นกชอบใช้เป็นพื้นที่หากิน เหลืออยู่เป็นบริเวณกว้างนั่นเอง
   แต่โคกขามก็เหมือนพื้นที่ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยตอนในอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาถูกคุกคามจากมลพิษ ชาวบ้านบางส่วนขาดทุนจากการเลี้ยงกุ้ง ต้องปล่อยให้บ่อเลี้ยงกุ้งทิ้งร้าง และหันไปประกอบอาชีพอื่น จนกระทั่งไม่นานมานี้ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ได้ริเริ่มตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติขึ้น โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติในท้องถิ่น ให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์อีกครั้ง
   "หลายปีที่ผ่านมาธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไป จากการพัฒนา ป่าชายเลนก็เหลือน้อยเต็มที ต้องยอมรับว่าชาวบ้านเองก็มีส่วนด้วย เลยพลอยให้หากินยากลำบากขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัด พวกเราก็เลยคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังเสียที เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในวันข้างหน้า โดยเฉพาะลูกหลานของเรา" ศักดิ์ชัย เนตรล้อมวงศ์ ประธานชมรมฯ บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้น ของการก่อตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม 
   แม้จะเป็นองค์กรท้องถิ่นที่ยังขาดประสบการณ์ และปราศจากเงินทุนสนับสนุน แต่สมาชิกของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการเผยแพร่ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับคุณค่าของระบบนิเวศตามแนวชายฝั่ง ตลอดจนประโยชน์ของป่าชายเลน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนกชายเลนอพยพ และความสำคัญที่มีต่อห่วงโซ่ธรรมชาติ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนมา และยับยั้งการล่า และทำลายถิ่นอาศัยของนก และสัตว์ป่าอื่น ๆ ขณะเดียวกันพวกเขายังให้ความร่วมมือแก่นักวิชาการ ในการสำรวจนก และถิ่นอาศัย เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของผู้คนและนกชายเลนต่อไป
  คลิกดูภาพใหญ่
     "ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มเห็นความสำคัญของที่นี่ที่มีต่อนก เมื่อมีคนมาดูนกในพื้นที่ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือ พาไปดู มีฝรั่งมาก็ยิ่งภูมิใจ หลายคนเริ่มรู้จักนกหายากในที่ดินของตน เราเอาป้ายอนุรักษ์ไปติด ชาวบ้านก็ยินดี ปรกติชาวบ้านก็ไม่ทำอะไรนกอยู่แล้ว เมื่อก่อนอาจมีการยิงนกอยู่บ้าง ก็เป็นพวกวัยรุ่นที่คึกคะนอง แต่ตอนนี้แทบไม่มีแล้ว" นี่คือผลจากการดำเนินงานของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ที่ศักดิ์ชัยเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ
   ทุกวันนี้เสียงปืนที่เงียบหายไป พร้อมกับสัตว์น้ำหลายชนิด ที่เริ่มกลับคืนมาตามธรรมชาติ เป็นสัญญาณที่สื่อถึงความสำเร็จในการดำเนินงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ในท้องถิ่นของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม และในขณะที่เครือข่ายการอนุรักษ์นกชายเลนเอเชียตะวันออก-ออสเตรเลีย เป็นกระบวนการพัฒนาแนวคิดของการอนุรักษ์นกชายเลนอพยพ ด้วยความร่วมมือในระดับประเทศ ตามเส้นทางที่นกบินผ่าน จุดเริ่มต้นของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติโคกขาม ย่อมแสดงถึงกระแสความตื่นตัว สำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่น อันเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของนกชายเลน 
   การดำเนินกิจกรรมขององค์กรเล็ก ๆ แห่งนี้ จึงนับเป็นก้าวแรกที่ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน และนกชายเลนที่เดินทางไกลมาพักพิงที่นี่ แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่อีกไม่ช้า เมื่อพวกเขาเข้มแข็งขึ้น คงเป็นตัวอย่างให้ชุมชนในท้องถิ่นอื่นได้ก้าวไปด้วยกัน อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ในระดับนานาชาติต่อไป และผลสำเร็จที่ตามมาคงเป็นเช่นเดียวกับบทสรุปที่ฟิลกล่าวไว้ว่า 
   "หาดเลนเป็นพื้นที่เหมาะสม สำหรับให้นกดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคน เมื่อนกอยู่ได้ คนก็อยู่ได้ แต่ถ้าเราทำพื้นที่เสียหายจนนกอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน" 

     เอกสารอ้างอิง
   พอล แอล. เอ. อัฟเตอร์เมเยอร์ และ รุ่งโรจน์ จุกมงคล. การอพยพย้ายถิ่นของนกชายเลนและถิ่น อาศัยบริเวณอ่าวไทยตอนใน. องค์การพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติและสมาคมอนุรักษ์นกและ ธรรมชาติแห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ : ๒๕๔๒.
   Hayman, Peter, John Marchant and Tony Prater, Shorebirds : an Identification Guide to the Waders of the World. Christopher Helm. London : 1986. 
   Howes, John and David Backwell. Shorebirds Studies Mannual. Asian Wetland Bureau. Khala Lumpur : 1989.
   Lekagul, Boonsong and Philip D. Round, A Guide to the Birds of Thailand. Saha Kaen Bhaet. Bangkok : 1991. 

     (ภาคผนวก) 
ชนิดของนกชายเลนที่พบในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน
ชื่อภาษาไทย  ชื่อสามัญ  ชื่อวิทยาศาสตร์
นกหัวโตสีเทา  Grey Plover  Pluvialis squatarola
นกหัวโตหลังจุดสีทอง  Pacific Golden Plover  Pluvialis fulva
นกหัวโตเล็กขาเหลือง  Little Ringed Plover  Charadrius dubius
นกหัวโตขาดำ  Kentish Plover  Charadrius alexandrinus
นกหัวโตมลายู  Malaysian Plover  Charadrius peronii
นกหัวโตทรายเล็ก  Lesser Sand Plover  Charadrius mongolus
นกหัวโตทรายใหญ่  Greater Sand Plover  Charadrius leschenaulti
นกอีก๋อยใหญ่  Eurasian Curlew  Numenius arquata
นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล  Eastern Curlew  Numenius madagascariensis
นกอีก๋อยเล็ก  Whimbrel  Numenius phaeopus
นกอีก๋อยจิ๋ว  Little Curlew  Numenius minutus
นกปากแอ่นหางดำ  Black-tailed Godwit  Limosa limosa
นกปากแอ่นหางลาย  Bar-tailed Godwit  Limosa lapponica
นกซ่อมทะเลอกแดง  Asian Dowitcher  Limnodromus semipalmatus
นกซ่อมทะเลปากยาว  Long-billed Dowitcher  Limnodromus scolopaceus
นกทะเลขาแดงลายจุด  Spotted Redshank  Tringa erythropus
นกทะเลขาแดงธรรมดา  Common Redshank  Tringa totanus
นกทะเลขาเขียวลายจุด  Nordmann's Greenshank  Tringa guttifer
นกทะเลขาเขียว  Common Greenshank  Tringa nebularia
นกชายเลนบึง  Marsh Sandpiper  Tringa stagnatilis
นกชายเลนน้ำจืด  Wood Sandpiper  Tringa glareola
นกเด้าดิน  Common Sandpiper  Actitis hypoleucos
นกชายเลนปากแอ่น  Terek Sandpiper  Xenus cinereus
นกตีนเหลือง  Grey-tailed Tattler  Heteroscelus brevipes
นกลอยทะเลคอแดง  Red-necked Phalarope  Phalaropus lobatus
นกชายเลนกระหม่อมแดง  Sharp-tailed Sandpiper  Calidris acuminata
นกชายเลนปากโค้ง  Curlew Sandpiper  Calidris ferruginea
นกสติ๊นท์คอแดง  Rufous-necked Stint  Calidris ruficollis
นกสติ๊นท์อกเทา  Temminck's Stint  Calidris temminckii
นกสติ๊นท์นิ้วยาว  Long-toed Stint  Calidris subminuta
นกสติ๊นท์เล็ก  Little Stint  Calidris minuta
นกคอสั้นตีนไว  Sanderling  Calidris alba
นกน็อตใหญ่  Great Knot  Calidris tenuirostris
นกน็อตเล็ก  Red Knot  Calidris canutus
นกชายเลนปากกว้าง  Broad-billed  Sandpiper Limicola falcinellus
นกชายเลนปากช้อน  Spoon-billed Sandpiper  Eurynorhynchus pygmaeus
นกพลิกหิน  Ruddy  Turnstone Arenaria interpres
นกรัฟ  Ruff  Philomachus pugnax
นกตีนเทียน  Black-winged  Stilt Himantopus himantopus
นกชายเลนปากงอน  Pied Avocet  Recurvirostra avosett
นกปากซ่อมหางเข็ม  Pintail Snipe  Gallinago stenura
นกปากซ่อมหางพัด  Common Snipe  Gallinago gallinago