กลับไปหน้า สารบัญ
จากบรรณาธิการ
    ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสติดตามพรรคพวก ไปเยี่ยมชมบ้านพักต่างจังหวัด ของอดีตนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง
     ผมขับรถล่วงหน้าไปถึงที่นั่นในตอนสาย เพื่อรอเจ้าของบ้านที่กำลังเดินทางมา
   อดีตนักการเมืองผู้นี้ แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยน่าชื่นชมนัก ในสายตาคนกรุงเทพฯ แต่ท่านก็เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนี้มาหลายสมัย
   และวันนี้ที่บ้านพักของท่าน ก็เต็มไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ฝ่ายปกครองประจำจังหวัด ที่มารอต้อนรับ และมีนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจสำคัญของจังหวัด พากันมาอย่างพร้อมหน้า ไม่ต่ำกว่าร้อยคน ทั้ง ๆ ที่นักการเมืองผู้นี้ไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง ที่จะให้คุณให้โทษใครอีกต่อไป 
   ขบวนรถของนักการเมืองผู้นี้ แล่นตะบึงมาจากกรุงเทพฯ ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า ๑๖๐ กม./ ชม. โดยมีรถตำรวจนำหน้ามาตลอดทาง จึงไม่เจอด่านตรวจจับความเร็วใด ๆ พอ "นาย" (คำที่ทุกคนในที่นั้น ใช้เรียกแทนนักการเมืองท่านนี้) ลงจากรถ ก็ทักทายไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกับบรรดาผู้ที่มาต้อนรับ นับตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้น้อย จนถึงชั้นผู้ใหญ่อย่างสนิทสนมเป็นกันเอง 
   ดูเหมือนว่าแม้ "นาย" จะหมดอำนาจไปแล้ว ทว่า "บารมี" ก็ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม นึกไม่ออกว่า หาก "นาย" ยังอยู่ในอำนาจ จะมีผู้คนสักกี่พันมาแห่แหนต้อนรับ
   แน่นอนว่านักการเมืองท่านนี้คง "ทำคุณ" อย่างใหญ่หลวงให้คนเหล่านี้มาช้านาน และวันนี้คนเหล่านี้ ก็คงจะรำลึกถึงบุญคุณ และผลประโยชน์ที่ท่านมีให้เมื่อครั้งก่อน จึงพากันมาเยี่ยมเยียนเพื่อบอกว่า "เราไม่ลืมท่าน"
   ร้านอาหารแห่งหนึ่งมาตั้งโต๊ะบริการอาหาร และเครื่องดื่มแก่แขกผู้มาเยือน ทุกคนรับประทานอาหารจากร้านนี้เหมือนกันหมด ตั้งแต่เจ้าของบ้าน ไปจนถึงคนขับรถของบรรดาแขกผู้ใหญ่ ที่มาเยี่ยมเยียน 
     ภายใต้อาณาจักรที่มีนักการเมืองท่านนี้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ดูเหมือนผู้มาร่วมงานทุกคน จะถอดหัวโขน และยศตำแหน่งต่าง ๆ ออก ทุกคนคือมิตรสหาย ไม่มีใครถือตัว เราจึงได้เห็นข้าราชการซี ๘ ซี ๙ ยกน้ำ เสิร์ฟอาหารให้แขกผู้มาร่วมงาน ได้อย่างเป็นกันเอง และได้เห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ยืนรอตักอาหารจากโต๊ะบุฟเฟต์มื้อกลางวัน ร่วมแถวกับพลตำรวจ ได้อย่างไม่เคอะเขิน 
   ภายใต้อาณาจักรของนักการเมืองท่านนี้ ดูเหมือนทุกคนที่มาร่วมงานจะกลายเป็น "พวกเดียวกัน" ไม่ว่าจะยากดีมีจนต่างชนชั้นฐานะ ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่หรือชาวไร่ ไม่ว่าจะเป็นนายพลหรือนายสิบ
   ดูเหมือนว่าภายใต้อาณาจักรแห่งนี้ ท่านสามารถหล่อหลอมให้คนที่มาจากหลากหลายอาชีพ ต่างฐานะ กลายเป็น "พวกเดียวกัน" ได้อย่างกลมกลืน
   จึงไม่น่าแปลกใจที่การพูดคุยระหว่างข้าราชการผู้รักษากฎหมาย กับผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัด เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย
   นักธุรกิจรายหนึ่งระบายให้ฟังในวงสนทนาว่า วันก่อนรถบรรทุกสิบล้อที่เขาเป็นเจ้าของ ถูกตำรวจทางหลวงตั้งด่านรีดไถ เพราะบรรทุกน้ำหนักเกิน ขณะที่ข้าราชการคนหนึ่ง ก็เปิดการบรรยาย ว่าด้วยวิธีการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ให้เพื่อนร่วมวงฟังอย่างครื้นเครง 
   พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ "นาย" ก็ปรารถว่าจะไปเยี่ยมชมไร่ ข้าราชการเหล่านั้น ก็พากันแห่แหนตามไปเป็นเพื่อนแก้เหงา โดยพร้อมเพรียง ดูท่าว่าทุกคนจะว่างตลอดวัน ทั้งที่วันนั้นไม่ใช่วันหยุดราชการ
ฉบับหน้า : ย้อนรอย เมืองโบราณ (คลิกดูภาพใหญ่)
ฉบับหน้า
ย้อนรอย เมืองโบราณ
   ขบวนรถของ "นาย" มีรถตามขบวนรวมแล้วสิบกว่าคัน ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยืนรักษาความปลอดภัยกลางแดดเปรี้ยงอยู่ตลอดเส้นทาง จนทำให้ชาวบ้านหลายคนเข้าใจผิดว่า มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาตรวจราชการ ...ก็ใครจะคิดว่าขบวนอันเอิกเกริกนี้ จัดขึ้นเพียงเพื่อต้อนรับอดีตนักการเมืองคนหนึ่ง ที่กลับมาเยี่ยมบ้านไร่ของตัวเอง 
   วันนั้นเองที่ผมได้เข้าใจชัดเจน และเห็นกับตาว่า "ระบบอุปถัมภ์" ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยมาช้านานนั้น หน้าตาเป็นอย่างไร 
   ในสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ หรือ "นาย" ไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่ยังมี "นาย" อีกจำนวนมากตามหัวเมืองต่างจังหวัด ที่มีบริวารมากมาย จากหลากหลายอาชีพ แต่รวมนับเป็น "พวกเดียวกัน" ภายใต้ร่มเงาและบารมีของ "นาย" คำพูดที่ว่า "ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" "น้ำมิตร ใจนักเลง" "บุญคุณต้องทดแทน" หรือ "ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม" ดูจะสำคัญต่อความเป็น "พวกเดียวกัน" มากกว่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ
   และหาก "นาย" หลาย ๆ คนประสานผลประโยชน์กันได้ลงตัว ก็สามารถมารวมกลุ่มกัน เพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง
   วันนี้เราคงต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่า รัฐบาลที่ประกาศว่า "คิดใหม่ทำใหม่" จะสามารถสรรหาคนที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ มาทำงานได้ตามที่เคยประกาศเอาไว้ หรือจะมีเพียง "นาย" ที่รักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เช่นที่เคยเป็น
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
Vanchai@Sarakadee.com
vanchait@hotmail.com