กลับไปหน้า สารบัญ
ดาวประดับผา ดาวดวงเด่นแห่งผาหินปูน
พุทธมนต์ สิทธิเคหภาค 
   เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสเดินทางล่องใต้ ลงไปสำรวจพรรณไม้ แถบหมู่เกาะในทะเลอันดามันกับเพื่อน ๆ กลุ่มหนึ่ง เราเช่าเรือเล็กของชาวบ้าน แล่นออกทะเลกันตลอดวัน และนับเป็นโชคดีที่ช่วงนั้นท้องฟ้าปลอดโปร่ง ปราศจากพายุ คลื่นลมสงบ เปลวแดดร้อนแรงที่ส่องต้องระลอกคลื่นเล็ก ๆ บนผืนน้ำสีเขียวคราม ก็ทำให้เราตัวดำกันถ้วนหน้า
คลิกดูภาพใหญ่
ลักษณะของต้นดาวประดับผา มีแผ่นใบแผ่เรียงออกเป็นรัศมี รูปดาวสวยงาม เป็นที่มาของชื่อ ที่ใช้เรียกขานกัน
    ชายฝั่งในทะเลอันดามันมีระดับน้ำค่อนข้างลึก เพราะเป็นชายฝั่งแบบยุบตัว ร่องรอยที่เหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นเขาหินปูน (Limestone Mountain) ซึ่งมีผาหินสูงชัน และเกาะแก่งน้อยใหญ่ผลุบ ๆ โผล่ ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ดูโดดเด่นแปลกตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
   บ่ายแก่วันหนึ่ง ขณะเรือหางยาวติดเครื่องยนต์ดีเซลของเรา แล่นวนเวียนอยู่ในน่านน้ำของจังหวัดกระบี่ พลันสายตาของผม ก็เห็นพืชชนิดหนึ่งบนผาหินปูนสีเทา  อยู่ในระดับสูงลิบ ขึ้นกระจายอยู่บนผาหินตั้งชันระดับ ๙๐ องศา อย่างงดงามลงตัว มีทั้งที่ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ และแยกออกไปเติบโตอยู่โดดเดี่ยว ราวกับต้องการเป็นอิสระ
คลิกดูภาพใหญ่
ดาวประดับผา มีรากแบบยึดเกาะที่เหนียวแน่น จึงเติบโตขึ้นได้ แม้บนผาหินปูนลาดเอียง หรือสูงชันปานใดก็ตาม
   "นั่น...ดาวประดับผา" เพื่อนผมคนหนึ่งตะโกนบอกแข่งกับเสียงเครื่องเรือ พร้อมกับชี้มือชี้ไม้ให้ดู 
   ในทางวิชาการ ดาวประดับผานับเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับมันน้อยมาก เรียกได้ว่าเราแทบไม่รู้จักมันเลยด้วยซ้ำ อาจเพราะดาวประดับผาเป็นพืชขนาดเล็ก ที่ขึ้นอยู่บนผาหินปูนสูงชันห่างไกลในทะเล จึงยาก และอันตรายต่อการศึกษาพืชที่สวยงามชนิดนี้ 
   ดาวประดับผา (Paraboea cf. lanata) เป็นไม้ล้มลุกหลายฤดู จัดอยู่ในวงศ์ Gesneriaceae (ไม้วงศ์ใบกำมะหยี่) แทบทุกส่วนของมัน จะมีขนอ่อนสีขาวละเอียดขึ้นปกคลุมเอาไว้ ทั้งบนราก ลำต้น ก้านช่อดอก แผ่นใบ โดยเฉพาะถ้าพลิกดูใต้ใบ จะเห็นขนกำมะหยี่สีขาวขึ้นคลุมไว้ทั่ว จนมีลักษณะคล้ายแผ่นสำลีเลยทีเดียว ทั้งนี้ขนดังกล่าว มีหน้าที่ปกคลุมพื้นผิวที่แท้จริงของพืชเอาไว้ เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำ ซึ่งมีอยู่เพียงน้อยนิดในสภาพแห้งแล้งกลางทะเล ดาวประดับผาจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีมาก
 คลิกดูภาพใหญ่
ในฤดูแล้ง อากาศแห้ง ปริมาณไอน้ำในอากาศน้อย ดาวประดับผาจะดูโทรมลง ใบของมันจะห่อเข้ามารวมกัน เพื่อรักษาความชุ่มชื้น ของลำต้นเอาไว้ 
   ลักษณะใบของดาวประดับผา จะออกเรียงเป็นรัศมีวงกลม เวียนรอบจากกระจุกกลางลำต้น ใบมีประมาณ ๑๔-๑๘ ใบ แผ่เรียงสลับกันสองสามชั้น ใบชุดในสุดมีขนาดเล็ก ใบชั้นรอบนอกจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ ต้นดาวประดับผา จึงมีลักษณะเหมือนรูปดาวแฉก หรือกลีบดอกไม้ที่เบ่งบานออกเต็มที่ มองเห็นเตะตาแม้ในระยะไกล จากตัวอย่างที่พบในธรรมชาติ ใบของต้นดาวประดับผา เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ ๒๑ เซนติเมตร (หรืออาจยาวกว่านี้ได้อีกเล็กน้อย) ใบสีเขียวอ่อนเป็นรูปขอบขนาน (oblong) ปลายใบแหลม และบริเวณขอบใบเป็นหยักซี่ฟันห่าง ส่วนลำต้นนั้นเป็นลำยาวกลม มีข้อห่าง ๆ กัน ซึ่งแต่ละข้ออาจต้องใช้เวลานานหลายปี ในการเจริญเติบโต เหตุเพราะสภาพอากาศอันร้อนแรงกลางทะเล ทำให้ดาวประดับผาเจริญเติบโตช้า เรียกว่ามันเป็นพืชที่กินอยู่อย่างประหยัด และอดทนค่อนข้างสูง
คลิกดูภาพใหญ่
ลักษณะการกระจายตัว และการเกาะอยู่บนหน้าผา ของต้นดาวประดับผา
    อย่างไรก็ตาม ใบที่เห็นแผ่เป็นรูปดาวสวยงามนี้ จะเห็นเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีความชื้นพอเพียง ย่างเข้าฤดูแล้งเมื่อใด ใบของต้นดาวประดับผา จะห่อเข้ามารวมกัน เพื่อรักษาความชื้นและชีวิตของตัวเองเอาไว้ และในที่สุด ใบก็จะเริ่มแห้งโทรมลง ขอบใบหงิกงอ รอสายฝนชุ่มฉ่ำ และกาลเวลาที่จะได้อวดความงามบนแผ่นผาในฤดูกาลถัดไป
   ดาวประดับผาออกดอกในช่วงระหว่าง เดือนสิงหาคม-กันยายน โดยดอกออกเป็นช่อกระจุก ก้านช่อดอกยาวสีน้ำตาลเข้ม ตัวดอกจริง ๆ มีสีเหลืองเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กราว ๆ ๓-๔ มิลลิเมตร ดอกจะออกเป็นจำนวนมากนับร้อย ๆ เพื่อให้ติดเมล็ดจำนวนมาก แล้วอาศัยลมพัดพา ไปตกให้เจริญงอกงาม ขึ้นเป็นต้นใหม่เพียงไม่กี่ต้น ยังบริเวณที่เหมาะสม คล้าย ๆ กับพวกกล้วยไม้ ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือ เมล็ด (seeds) ของพืชวงศ์ดาวประดับผา จะมีลักษณะผอมยาว และบิดเป็นเกลียวเหมือนเชือก ดาวประดับผากระจายพันธุ์อยู่ในบริเวณหมู่เกาะแถบทะเลอันดามันของประเทศไทย ส่วนในเขตอื่น ๆ ยังไม่มีการสำรวจกันอย่างจริงจัง จึงยังไม่อาจระบุชัดเจนลงไปได้
คลิกดูภาพใหญ่
ผาหินปูนสูงชัน ตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ ในทะเลอันดามัน คือถิ่นของดาวประดับผา ไม้งามหายากชนิดหนึ่งของไทย
   ผมก็ได้แต่หวังว่า ภาพและเรื่องราวของดาวประดับผาที่นำมาเสนอในที่นี้ จะจุดประกายให้มีการศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดนี้อย่างละเอียดต่อไป

   ขอขอบคุณ : คุณปราโมทย์ ไตรบุญ ที่ให้คำปรึกษาทางด้านข้อมูล