กลับไปหน้า สารบัญ
ภูเก็ต  : บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัย
เรื่อง: กุลธิดา สามะพุทธิ / ภาพ: วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ประเวช ตันตราภิรมย์
   ๑.
   อาการของบังพจน์-- แกนนำชาวบ้านที่ต่อต้านนายทุนบุกรุกป่าชายเลน ยังอยู่ในขั้นเป็นตายเท่ากัน (เขาถูกรถชนแล้ววนกลับมาทับซ้ำ) ชุมชนบ้านป่าคลอกเสียขวัญกันมาก นายตำรวจที่โรงพักถลาง กำลังสอบสวนผู้ต้องหาอย่างเคร่งเครียด
คลิกดูภาพใหญ่    คืนนี้เป็นคืนสุดท้ายของประเพณีกินผัก ที่ริมทะเลจะมีพิธีใหญ่ เพื่อส่งเสด็จดวงวิญญาณของยกอ๋องและกิ้วอ๋อง-- องค์เทพผู้เป็นประธานในงานกินผัก เล่ากันว่า ทั้งเมืองจะถูกปกคลุมไปด้วยควันสีขาว ชาวภูเก็ตมาร่วมงานกันเป็นหมื่น เสียงปะทัดดังครึกโครมตลอดคืน... 
    "ไม่น่ากลับตอนนี้" จามร นักข่าว เสียงใต้รายวันบอก 
   แต่รถกำลังจะออกแล้ว ฉันคงต้องพลาดพิธีกรรมสุดท้าย อันยิ่งใหญ่ของประเพณีกินผักภูเก็ต ทั้งยังไม่อาจรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป กับบังพจน์และชุมชนบ้านป่าคลอก 
   ฉันเริ่มไม่แน่ใจนักว่าอยากจะจากมา
 คลิกดูภาพใหญ่    ๒.
   แต่ไม่อยากหลับและตื่นขึ้นมาคนเดียวในห้องแคบ ๆ ของเกสต์เฮาส์เล็ก ๆ กลางเมืองภูเก็ตเหมือนเจ็ดวันที่ผ่านมาอีกแล้ว และแม้ว่าการติดตามความเป็นไปของภูเก็ตจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น, การพูดคุยหรือออกตระเวนไปกับนักข่าวช่อง ๙, ช่อง ๑๑, หนังสือพิมพ์อันดามันโพสต์, เสียงใต้รายวัน, ข่าวสด, มติชน, ผู้จัดการ และเจ้าถิ่นอีกสองสามคนจะช่วยให้คนนอกอย่างฉัน มองเห็นความเป็นไป และสัมผัสกับเรื่องราวแห่งยุคสมัยของ "ไข่มุกอันดามัน" ในวันนี้ได้ดีขึ้น แต่การพัวพันอยู่กับเรื่องราวของภูเก็ต มากเสียจนมันกลายเป็นทั้งความคิดสุดท้ายก่อนหลับ และความคิดแรกเมื่อยามตื่น ทำให้ฉันเหนื่อยล้าเกินกว่าจะลุยต่อ
คลิกดูภาพใหญ่    ชน-ขยี้ซ้ำ อบต.คนดัง ปางตาย 
   (เสียงใต้รายวัน, ๖ ตุลาคม ๒๕๔๓) 

   พวกนักข่าวพากันไปเยี่ยม "อบต.คนดัง" ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเมื่อตอนสาย เขายังไม่พ้นขีดอันตราย เลือดออกในสมอง แขนหัก ขาหักและมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ขาซ้าย จามรแวะเอาฟิล์มที่โรงพิมพ์เสียงใต้ฯ ก่อนจะซิ่งรถเครื่องไปทำข่าวต่อที่อ.ถลาง (สถานที่เกิดเหตุ) โดยมีฉันซ้อนท้ายไปด้วย
   เราเจอบุญรัตน์ วัชระ โกเอก ยะโกบและนักข่าวคนอื่น ๆ ที่โรงพักถลาง พวกเขารายงานว่าตำรวจจับผู้ต้องหาได้แล้ว จามรรีบวิ่งขึ้นไปที่ห้องขัง 
   "มาเจอเรื่องนี้พอดี" วัชระ นักข่าวอันดามันโพสต์พูดยิ้ม ๆ ไม่รู้ว่าเขายินดีที่ฉันได้เจอ "เรื่อง" ในภูเก็ตเข้าแล้ว หรือต้องการบอกเป็นนัยว่า เขาไม่ว่างพอจะพาไปตระเวนดูแคมป์แรงงานชาวพม่า อย่างที่สัญญาไว้ในตอนแรกได้อีก เพราะบังพจน์ หรือศิริพจน์ ชีช้าง ซึ่งถูกรถกระบะพุ่งชน แล้ววนกลับมาทับซ้ำ ขณะขี่มอเตอร์ไซต์ไปทำงาน ไม่ได้เป็นแค่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอกเท่านั้น แต่เขายังเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา อันดามันโพสต์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของภูเก็ต ที่วัชระทำงานอยู่อีกด้วย 
   ความจริง ฉันได้ยินเรื่องการต่อสู้ของชุมชนมุสลิมบ้านป่าคลอก เพื่อขับไล่นายทุนที่บุกรุกเข้าไปทำนากุ้ง ในเขตป่าชายเลน จากคำบอกเล่าของโกเอก นักข่าวช่อง ๙ ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มาถึง แต่เราไม่คิดว่าเรื่องมันจะรุนแรง 
คลิกดูภาพใหญ่    ป่าสงวนแห่งชาติป่าเลนคลองบางโรง ที่บังพจน์และพวกชาวบ้านเคยช่วยกันปลูกต้นโกงกาง เพื่อฟื้นฟูสภาพ และปกป้องดูแลมันมาตลอดนี้ เป็น ๑ ในป่าชายเลน ๗ แห่งที่เหลืออยู่ในภูเก็ต ต่อมามีนายทุนคนหนึ่งบุกรุกเข้าไปขุดบ่อทำนากุ้ง (โกเอกบอกว่า "วิธีการบุกรุกป่าชายเลน จะเริ่มด้วยบ่อกุ้งบ่อเดียวก่อนแล้วค่อย ๆ ขยาย") บังพจน์จึงพาสื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปตรวจสอบพื้นที่ หลังจากนั้นมีโทรศัพท์ลึกลับมาข่มขู่ แล้วไม่นาน เขาก็ถูกรถชน-ขยี้ซ้ำ 
   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พวกนักข่าวภูเก็ต ซึ่งรู้จักกับบังพจน์เป็นอย่างดี ต่างก็คิดเหมือน ๆ กันว่า "เป็นเพราะเขาไปขวางนายทุน" 
   โกเอกทำข่าวรุกที่สาธารณะในภูเก็ตมานับร้อยข่าวแล้ว "ข่าวประเภทนี้มีมากกว่าข่าวอื่น ๆ" เขาพูดด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่าย แต่พอถามว่าอยากขุดคุ้ย- ชอบทำข่าวอะไรมากที่สุดในภูเก็ต โกเอกก็ตอบแบบไม่คิด "บุกรุกที่สาธารณะ" 
   ดูเหมือนมันจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่ขาดไม่ได้ ของคนที่คิดจะเล่าเรื่องภูเก็ตไปเสียแล้ว เมื่อสิบปีก่อนหลานเสรีไทย (๑๓๖) ก็เขียนไว้อย่างดุเดือดในข้างหลังโปสการ์ด ถึงการที่คลับเมด (โรงแรมคลับเมดิเตอเรเนียน) ปิดถนน ปิดหาดไม่ให้ชาวบ้านลงทะเลที่หาดกะตะ เพราะจะเป็นการรบกวนนักท่องเที่ยว, ภูเก็ตยอต์ชคลับสร้างโรงแรมคร่อมทางสาธารณะ ที่หาดในหาน ปิดทางเข้าออกของชาวบ้าน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำสั่งให้รื้อถอนแล้ว แต่เจ้าของโรงแรมไม่ยอมทำตาม 
   ก็คงถึงเวลาของมัน เพราะแต่ละยุคในภูเก็ตต่างก็มี "เรื่องเล่าแห่งยุคสมัย" เป็นของตัวเองทั้งนั้น-- เรื่องของคุณหญิงจันคุณหญิงมุก กับชาวถลางร่วมกันต้านพม่าในศึกถลางครั้งที่ ๑ (๒๓๒๘),การซื้อขายแร่ดีบุกและกิจการทำเหมืองที่เฟื่องฟู (๒๓๖๗), คนจีนรวมเป็นกลุ่มอั้งยี่ ทะเลาะฆ่าฟันกันเรื่องแย่งสายน้ำล้างแร่ จนเกิดจราจล (๒๔๑๐), ชาวภูเก็ตคัดค้านการทำเหมืองแร่ทางทะเลของบ. เทมโก้ (๒๕๑๑), บุกเผาโรงงานสกัดแร่แทนทาลัม ซึ่งนับว่าเป็นการปิดฉากการทำเหมืองแร่ และเปิดยุคการท่องเที่ยวภูเก็ต (๒๕๒๙), ส่งเสริมการท่องเที่ยวภูเก็ตครั้งใหญ่ ในช่วงปีการท่องเที่ยวไทย (๒๕๓๐), ภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองนีซ เมืองตากอากาศระดับโลกในฝรั่งเศส (๒๕๓๒)... 
คลิกดูภาพใหญ่    เกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ ๕๔๓.๓ ตารางกิโลเมตร และมีเกาะบริวาร ๓๒ เกาะมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่ามันจะผ่านการเป็นดินแดน "ครึ่งเกาะครึ่งแหลม" ซึ่งยังเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อน, เป็นเกาะ "จังซีลอน" ที่ถูกกล่าวถึงในแผนที่ของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก, เป็นเมือง "ฉลาง" ของคนไทยเมื่อร่วมร้อยปีก่อน, เป็นหัวเมืองที่ขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ, เป็น "มณฑลตะวันตก" เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จนกระทั่งกลายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มี ๓ อำเภอ (กะทู้, ถลาง, เมือง) ๑๐๓ หมู่บ้านในปัจจุบัน แต่ผู้คนที่มาอาศัย- ต้องการใช้ผืนแผ่นดินของเกาะภูเก็ตเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ชาวจีนโพ้นทะเล เริ่มอพยพเข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองแร่ ลงทุนทำเหมือง และกิจการค้าขายต่าง ๆ จนกระทั่งกลายเป็น ๒๔๗,๓๖๙ คนในปี ๒๕๔๓
   ผู้ศึกษาพัฒนาการของภูเก็ตอธิบายว่า การยึดที่สาธารณะเกิดขึ้นหลังการสิ้นสุดของยุคการทำเหมือง เมื่อบรรดานายหัว ยื่นขอเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ที่เคยเป็นเหมืองแร่เก่า โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และกลุ่มข้าราชการที่เอื้อโอกาสให้ สำนักงานจังหวัดภูเก็ตสรุปปัญหาว่า การยึดครองที่สาธารณะในภูเก็ต เกิดขึ้นเพราะการท่องเที่ยวทำให้ที่ดินมีราคาสูง คนจึงบุกรุกที่สาธารณะเพื่อจะได้ยื่นขอเอกสารสิทธิ์ 
   ส่วนโกเอกอธิบายด้วยตรรกะง่าย ๆ ว่า "ภูเก็ตมีที่น้อย คนก็เลยแย่งกันมาก" 
   ป่า หาด เกาะ ภูเขาและที่ราบของภูเก็ตซึ่งสำนักงานจังหวัดฯ สรุปไว้เป็นทางการว่า "พื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๗๗ ของภูเก็ตเป็นภูเขา ร้อยละ ๓๐ เป็นที่ราบอยู่ตอนกลางและตะวันออก พื้นที่ชายฝั่งด้านตะวันออกเป็นดินเลนและป่าชายเลน สำหรับฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นภูเขาและหาดทรายที่สวยงาม" ล้วนเคยตกเป็นข่าวว่าถูกรุกล้ำ หรือมีเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมายมาแล้วทั้งนั้น : สนามกอล์ฟบลูแคนยอน สร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ, สำนักงานที่ดินจังหวัด ออกโฉนดทับที่สาธารณะบริเวณหาดแสนสุข ให้บริษัทงานทวีฯ, เอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมายบนที่ดินพันกว่าไรบนหาดบางเทา และหาดเลพังของบริษัทไทวาฯ (เจ้าของกลุ่มโรงแรมลากูน่าภูเก็ต), สร้างที่พักตากอากาศ-โรงแรมห้าดาว บริเวณหาดไม้ขาว, เอกสารสิทธิ์ ๒ แปลงบนเกาะราชาใหญ่ของบริษัทราชาใหญ่ ไอซ์แลนด์ รีสอร์ต และบริษัทราชาใหญ่เอสเตท จำกัด ซึ่งกรมป่าไม้ ยืนยันว่ากรมที่ดินไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ เพราะเป็นที่เกาะ มีความลาดชัน และเป็นป่าสมบูรณ์ แม้แต่รัฐบาลชวน หลีกภัย ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังถูกโค่นลงในปี ๒๕๓๗ เพราะความฉ้อฉลในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินบนภูเขา ที่เกาะภูเก็ตให้กับผู้มีอันจะกิน ในนามของการปฏิรูปที่ดิน เพื่อการเกษตรกรรม หรือสปก.๔-๐๑
คลิกดูภาพใหญ่    ที่มุมหนึ่งของโรงพักถลาง ชาวมุสลิมบ้านป่าคลอกล้อมวงปรึกษาหารือกันเคร่งเครียด "ตนต้องยืนยัน ถ้าไม่สู้ตอนนี้ ต่อไปมันจะทำกับเรามากกว่านี้" หญิงสาวคนหนึ่งพูดกับลุงแก่ ๆ ที่ยืนฟังด้วยสีหน้ากังวล ลุงคนนี้เป็นผู้เห็นเหตุการณ ที่รถกระบะคันนั้นพุ่งเข้าชน แล้ววนรถกลับมาทับซ้ำ ลุงเห็นว่าคนขับเป็นใคร แต่เขาไม่กล้าเป็นพยาน ไม่กล้าชี้ตัว กลัวโดนเก็บอีกคน 
   ก่อนมาที่นี่ ฉันก็พอรู้อยู่บ้างว่าผลกระทบจากการท่องเที่ยว ปัญหาที่ดินและการบุกรุกยึดครองที่สาธารณะ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็เตรียมใจไว้แค่ว่า จะได้มาฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับมันเท่านั้น ไม่คิดว่าจะต้องมาเจอเหตุการณ์จริง ทำให้ต้องกลายเป็นเหมือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไกล ๘๖๒ กิโลเมตร เพื่อมาดูสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่ามันดำรงอยู่ที่นั่น 
   ความจริง ก่อนจะเกิดเรื่องบังพจน์ ที่ภูเก็ตก็มีเรื่องวุ่น ๆ เกี่ยวกับที่ดินเกิดขึ้น แม้เป็นกรณีเล็ก ๆ แต่ก็น่าสนใจเพราะสะท้อนให้เห็นปัญหาการแย่งใช้ที่ดินบนเกาะแห่งนี้ได้ดี : กรณี "ศพล้นเกาะ"
   เสียงใต้รายวัน (๒๘ กันยายน ๒๕๔๓) รายงานว่ามูลนิธิกุศลธรรมซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่เก็บศพในภูเก็ต นำศพไปทิ้งไว้ที่หน้าโรงพัก เพื่อเป็นการประท้วงกรณีที่อบต.วิชิต (อ.เมืองภูเก็ต) ไม่ยอมให้ใช้ที่สาธารณะ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยประกาศให้เป็น "ที่สุสาน" เนื่องจากชาวบ้านต้องการใช้เป็นสวนสาธารณะ และสนามเด็กเล่น ก่อนหน้านี้มูลนิธิฯ มีที่ดินสำหรับฝังศพอยู่ ๓ แห่งบนเกาะภูเก็ต แต่ปัจจุบันสุสานทั้งสามแห่ง เต็มหมดแล้วจึงจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ของอบต.วิชิต แต่พวกชาวบ้านไม่ยอม 
คลิกดูภาพใหญ่    บ่ายวันที่รถบัสคันใหญ่ของภูเก็ตแฟนตาซี-- สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหญ่แห่งใหม่บนหาดกะรน ซึ่งพาสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ มาเยี่ยมชมกิจการปล่อยลงตรงอนุสาวรีย์วีรสตรีที่อ.ถลาง ฉันถามภูเก็ตเล่น ๆ ว่าเมื่อได้อยู่กันตามลำพังอย่างนี้ ภูเก็ตจะเผยตัวตนด้านไหนมาให้รู้จัก ภูเก็ตจะเล่าอะไรให้ฟังบ้าง 
   ...เศษเนื้อของบังพจน์ที่ติดอยู่ใต้ท้องรถ เลือดที่หยดปนกับสายฝนลงมานองกับพื้น ใบหน้าอันเรียบเฉยของผู้ต้องหาเจตนาฆ่า "อบต.คนดัง" ร่องรอยความหวาดหวั่นของชาวบ้านป่าคลอก ที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อรักษาป่าชายเลน ความคับแค้นของวัชระ โกเอกและนักข่าวคนอื่น ๆ ต่อการกระทำของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
   ภูเก็ตกำลังเผยตัวตนด้านไหนของมันออกมา ? 
   จากถลาง ฉันซ้อนท้ายรถเครื่องคันเดิมของจามรกลับเข้าเมือง เราแวะเยี่ยมบังพจน์ที่โรงพยาบาลอีกครั้ง พบแต่เพียงเตียงที่ว่างเปล่า
   พยาบาลบอกว่าเขาไปผ่าตัดสมอง ยังไม่กลับมา
คลิกดูภาพใหญ่    ต่างชาติยึดเมือง กระจายแย่งงานทั่วเกาะ
   (ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจ ๒๘ กุมภาพันธ์- ๕ มีนาคม ๒๕๔๓) 

   ต่อไปนี้ คือ อีกหนึ่งฉากบู๊ของภูเก็ต 
   "ตม.พบแหล่งกบดานต่างชาติในภูเก็ตกว่า ๑๐๐ แห่ง นับหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วเมือง ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมกำลังผลักดันออก... ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกำชับให้อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวของแรงงานต่างด้าว และชาวตะวันตกที่เข้ามาท่องเที่ยว ทำงาน หรือแฝงตัวเข้ามา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลด้านยุทธศาสตร์ของจ.ภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง เพราะกองทัพเรือได้มาตั้งกองบัญชาการกองเรือภาคที่ ๓ กองเรือยุทธการขึ้นที่แหลมพันวา จ.ภูเก็ต
   "ปัจจุบันมีสถิติชาวตะวันตกเข้ามาทำงาน และเป็นเจ้าของกิจการด้านบันเทิง ร้านอาหาร บริษัทดำน้ำหรือแม้แต่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสประมาณ ๕,๐๐๐ กว่าราย ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปต่อวีซ่าในพม่า มาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่ออยู่ทำงานในภูเก็ตไม่ต่ำกว่า ๒๐,๐๐๐ คน โดยทางจังหวัดให้ความสนใจแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่ทำงานในแพปลา หรืออยู่ในเรือประมงเป็นพิเศษ เพราะมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา  และในช่วงเดือนหงายที่ไม่ได้ออกจับปลา มักจะขึ้นมาหาข่าวหรือส่งข่าว โดยใช้รหัสหรือใช้ภาษาของพวกเขา ผ่านเครื่องมือสื่อสาร"
   ฉันอ่านข่าวนี้ด้วยความตื่นเต้นราวกับอ่านนิยายระทึกขวัญ 
คลิกดูภาพใหญ่    ใกล้กับวันที่ข่าวนี้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภูเก็ต คือ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ข่าวอีกชิ้นหนึ่งรายงานว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ในภูเก็ต เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบกองเรือยอตช์ และเรือสำราญที่เข้ามาในน่านน้ำไทย เพราะอาจมีมิจฉาชีพข้ามชาติ ฉวยโอกาสลักลอบเข้าเมืองทางทะเล 
   "...จังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะ การเข้าออกประเทศไทยทางภูเก็ต จึงทำได้โดยง่าย ทั้งกลุ่มลักลอบสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ตลอดจนกลุ่มการเมืองระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศแถบเอเชียใต้ ที่จะใช้ภูเก็ตเป็นฐานซ่องสุมกำลังยุทธปัจจัยต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสั่งให้ติดตามความเคลื่อนไหว ของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติชาวตะวันตก ที่หลบหนีคดีเข้ามากบดานในภูเก็ต และเริ่มเข้าไปอยู่ในธุรกิจบันเทิงย่านหาดป่าตอง กะตะและกะรนเพิ่มมากขึ้น"
   เท่านั้นยังไม่พอ 
   "...มีชนกลุ่มน้อยชาวมอญและกะเหรี่ยง ที่หลบหนีจากการปราบปรามของทางการพม่าบริเวณชายแดนไทย เข้ามาปักหลักในภูเก็ต เพื่อสะสมกำลังพล และเสบียงอาหารรวมทั้งยุทธปัจจัยอื่น ๆ เพื่อใช้สำหรับส่งให้กับชนกลุ่มน้อย ที่มีกองกำลังอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า"
   ข่าว "ผวา "โรคพม่า" แคมป์ทั่วเกาะ ผิดหลักสาธารณสุข" ในอันดามันโพสต์ที่ฉันซื้ออ่าน เมื่อวันแรกที่พาตัวเองมาติดเกาะ ทำให้ฉันหลงคิดว่า ปัญหาเรื่อง "คนต่างด้าว" ในภูเก็ต คงไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า เรื่องที่ภูเก็ตเป็น ๑ ใน ๓๗ จังหวัดที่ได้รับการผ่อนผัน ให้จ้างแรงงานต่างด้าวต่อไปได้ ในกิจการประมงทะเล, ต่อเนื่องประมงทะเล, สวนยางพารา และกิจการก่อสร้าง ซึ่งนำมาสู่ความกังวลของคนภูเก็ต ในเรื่องโรคติดต่อร้ายแรง ที่แพร่ระบาดจากแคมป์พักคนงาน คือ มาเลเรีย เท้าช้าง ไข้เลือดออก ท้องร่วง อันดามันโพสต์รายงานว่า "เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เกิดโรคติอต่อร้ายแรงอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่พบในภูเก็ตมากว่า ๕๐ ปีแล้ว คือ ไข้กาฬหลังแอ่น" 
คลิกดูภาพใหญ่    แต่จากการพูดคุยกับคุณประเสริฐ นักข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและ ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจ-- หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกฉบับหนึ่งของภูเก็ต ทำให้ฉันได้รู้ว่าเรื่องราวของภูเก็ตกับคนต่างชาติในยุคนี้นั้น ซับซ้อน/หลากหลายกว่าที่คิด 
   ประเสริฐเล่าว่าทุกวันนี้มีชาวต่างชาติที่หลบเลี่ยงกฎหมาย ลักลอบเข้ามาทำงาน ในธุรกิจที่ล่อแหลมต่อกฎหมายเป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาพบว่ามีชาวต่างประเทศเสียชีวิตผิดปรกติ หรือถูกฆาตกรรมในภูเก็ตเป็นประจำ ยังไม่รวมถึงกรณีที่ตรวจสอบพบว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น ตกไปอยู่ในมือของคนต่างชาติจำนวนมาก เช่น เป็นเจ้าของโรงแรมใหญ่ และธุรกิจดำน้ำ ซึ่งขณะนี้เป็นของชาวต่างชาติถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์
   ความจริงภูเก็ตน่าจะชินเสียแล้วกับเรื่อง "คนต่างชาติ"-- การที่นักธุรกิจต่างด้าวผนึกกำลังตั้งเป็นชมรม "ธุรกิจนานาชาติภูเก็ต" เมื่อปลายปี ๒๕๔๓ โดยมีเจ้าของธุรกิจจาก ๑๕ ชาติซึ่งทำกิจการโรงแรม ภัตตาคาร ดำน้ำ อสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัทส่งออก-นำเข้า คอมพิวเตอร์ หนังสือพิมพ์ นำเที่ยว เรือแคนู เรือสำราญ โรงพยาบาลและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เป็นสมาชิกนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นจนเกินไปนัก เมื่อเทียบกับตอนที่โปรตุเกสเข้ามาตั้งห้างค้าแร่ดีบุก ในถลางเมื่อปี ๒๑๒๖ , ดัตช์เข้ามาในปี ๒๑๖๙ เพื่อผูกขาดการซื้อแร่ดีบุก, ๒๒๑๐ ชาวถลางลุกขึ้นสู้การกดขี่ของพวกดัตช์ และขับไล่ออกไปจากเกาะ, ๒๓๑๕ กัปตันฟรานซิส ไลท์ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งสถานีการค้าที่บ้านท่าเรือ, ๒๓๖๘ ชาวจีนอพยพเข้ามาทำเหมือง, ๒๔๑๙ คนจีนที่แบ่งเป็นกลุ่มอั้งยี่ก่อจราจล ฆ่าฟันคนไทย... 
คลิกดูภาพใหญ่    หนังสือ ภูเก็ต ของสำนักพิมพ์สารคดีเขียนถึงการที่เกาะแห่งนี้ มีผู้คนเข้ามาหลากหลายว่า เป็นเพราะ "ดินแดนแถบนี้เป็นทางผ่านของเส้นทางเดินเรือ ระหว่างสองซีกโลก ผู้คนต่างชาติต่างภาษา และวัฒนธรรมจึงหลั่งไหลเข้ามายังดินแดนแถบนี้ อย่างไม่ขาดสาย" 
   ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สรุปสั้น ๆ "ภูเก็ตเป็นเกาะ การเข้าออกประเทศไทยจึงทำได้ง่าย" 
   ยังมีอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่คล้ายกับกรณี "ต่างชาติยึดเมือง" คือ เรื่องที่คนภูเก็ตบางพวก ไม่พอใจการรวมกลุ่มของ "คนต่างถิ่น" ในภูเก็ต (ชมรมชาวเหนือภูเก็ต-อันดามัน, ชมรมชาวอิสานภูเก็ต, ชมรมชาวนครศรีธรรมราช จ.ภูเก็ต ฯลฯ) 
   เจ้าถิ่นคนหนึ่งกล่าวกับกรรมการชมรมชาวเหนือฯ ว่า "อยู่ภูเก็ตไม่สุขสบายหรืออย่างไร เที่ยวก่อตั้งชมรมโน่นชมรมนี่ แม้แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดยังก่อตั้งชมรมชาวอิสาน" 
   คนต่างถิ่นตอบโต้ "คนภูเก็ตที่พูดไม่น่าใจแคบ... เราพยายามจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมภูเก็ตรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น ชมรมชาวอิสานจัดกิจกรรมหาเงิน สนับสนุนโครงการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ซึ่งย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย" 

คลิกดูภาพใหญ่    เตือนชาวภูเก็ตจับตา ใช้ประเพณีกินผักบังหน้าหาผลประโยชน์ 
   "เหลือบประเพณี" แฝงมาในคราบ "ผู้สนับสนุน"
   (อันดามันโพสต์ ๑๑-๒๐ กันยายน ๒๕๔๓) 
   ไม่คิดมาก่อนว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่ภูเก็ตในช่วงประเพณีกินผัก ซึ่งกินเวลานานเก้าวันเก้าคืน ในแต่ละปี จะกลายเป็นความทุกข์ทรมานไปได้ ทั้งที่หนังสือแนะนำจังหวัดภูเก็ต เขียนไว้อย่างน่ารื่นรมย์ว่า "ราวเดือนตุลาคมของทุกปี สีสันของภูเก็ตจะย้ายจากท้องทะเลสีคราม มาสู่ตัวเมืองที่เป็นย่านตลาดและตึกเก่า" ทว่าทุกเช้า เวลาเดินออกไปหาอะไรกิน อย่างโรตีจิ้มแกงที่ร้านบังหมีดใกล้ ๆ แยกแถวน้ำ หรือขนมจีนกับปลาหมกปิ้งที่ร้านขวัญ บนถนนทุ่งคา (ซึ่งเป็นอาหารเช้ายอดนิยมของคนในตัวเมืองภูเก็ต ตามที่คู่มือท่องเที่ยวแนะนำ) ฉันได้แต่ก้มหน้าก้มตาเดินหนีขบวนแห่พระรอบเมือง ของแต่ละศาลเจ้า เพราะภาพของเหล็กแหลมและวัสดุพิศดารอื่น ๆ ที่เสียบแทงเนื้อหนังของผู้ที่เป็นม้าทรง กลิ่นคาวเลือดที่ปนมากับควันธูปฉุน ๆ และเสียงอึกทึกครึกโครมของประทัด ทำให้ฉันรู้สึกไม่สบาย และเสียขวัญ
    งานแห่พระที่ศาลเจ้ากะทู้ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกนี้ ฉันตามพวกนักข่าวช่อง ๑๑ ไปทำข่าวพิธีแห่พระที่นั่น แดดร้อนเปรี้ยง ฉันตกอยู่ท่ามกลางม้าทรงและปะทัดนับพัน ๆ ดอก ในขบวนแห่พระไปตามถนนของอ.กะทู้ ภายในอ๊าม (ศาลเจ้า) อากาศแสนอบอ้าว แต่พิธีกรรมตอนที่ม้าทรงเตรียมปลดเหล็กแหลมออกจากร่างกาย และขณะทำพิธีให้เจ้าออกจากร่าง ยังคงดำเนินต่อไป คนแล้วคนเล่า ฉันรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
คลิกดูภาพใหญ่     แต่ถ้าไม่มาภูเก็ตช่วงนี้ ฉันอาจไม่ได้เห็นใบหน้า และตัวตนของคนภูเก็ตได้ชัดเจนอย่างนี้ และมันก็เป็นความเพลิดเพลินไปอีกแบบสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างฉัน ที่ได้ตื่นมาพบกับความคึกคักยามเช้าตรู่ของท้องถนนในเมือง ผู้คนนำโต๊ะบูชามาตั้งไว้หน้าบ้าน ปูด้วยผ้าฉาย (ผ้าคลุมโต๊ะไหว้เจ้า) ที่ปักลวดลายเป็นรูปแปดเซียน ผลไม้มงคล ถ้วยน้ำชา และเตาเผาไม้หอมถูกลำเลียงมาวาง เพื่อรอรับขบวนแห่พระ ซึ่งจะเดินจากอ๊ามไปตามถนนที่เข้าสู่ตัวเมือง จนมาถึงสระน้ำที่สะพานหิน เพื่อรำลึกถึงการอัญเชิญกระถางธูป และขี้ธูปจากเมืองจีนมาขึ้นท่าที่นี่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีเจียะฉ่าย (กินผัก) ของภูเก็ตในอดีต
    ทั้งเมืองมีแต่คนสวมชุดขาว ตกดึกร้านอาหารเจที่เรียงรายอยู่รอบ ๆ ศาลเจ้าพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่าย บ้างก็เตร็ดเตร่ รอชมการแสดงอภินิหารของเทพในร่างของม้าทรง ในพิธีลุยไฟ ปีนบันไดมีด เดินสะพานตะปูหรืออาบน้ำมันร้อน 
    หลัง ๆ มานี้หลายคนพูดถึงประเพณีกินผักภูเก็ต ไปในทางที่ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเรื่องการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรง ที่พิศดาร น่าหวาดเสียว และมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่น่าเชื่อถือ-ศรัทธา ทั้งที่เมื่อก่อนนี้ ศาลเจ้าใหญ่ ๆ เช่น กะทู้หรือจุ้ยตุ่ยมีม้าทรงเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น เมื่อเทพมาลงทรงแล้ว ก็รักษาคนเจ็บไข้ ไม่มีการแสดงอภินิหาร 
   คนเก่าคนแก่ในภูเก็ตฟันธงว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา 
คลิกดูภาพใหญ่    ความสนใจของฉันที่มีต่อประเพณีกินผัก ซึ่งเชื่อกันว่าจัดขึ้นที่ภูเก็ตเป็นครั้งแรกของภาคใต้ ไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนอันละเอียดซับซ้อน และชวนตีความของ "งานบุญ" ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเนิ่นนาน สำหรับฉัน ปรากฏการณ์แปลกปลอมที่เกิดขึ้นกับมันในระยะหลัง ดูเหมือนจะน่าสนใจกว่า
    ปี ๒๕๔๓ สาธารณสุขจังหวัดออกแถลงการณ์แสดง "ความห่วงใยถึงพิธีกรรมบางอย่าง ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ปฏิบัติ" โดยขอให้ศาลเจ้า และม้าทรงปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้-- ม้าทรงต้องไม่เป็นโรคติดต่อ เช่น เอดส์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ หากไม่แน่ใจว่าตนติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่ ก็ควรงดเว้นการเป็นม้าทรง, ไม่ใช้อาวุธ/วัตถุโลดโผนในพิธีกรรม เช่น เสาโทรทัศน์ ใบพัดเรือ ลวดหนาม และเพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเอดส์ วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ ม้าทรงทุกคนไม่ควรใช้ของมีคมร่วมกับคนอื่น ไม่ใช้เหล็กแหลมของมีคมแทงทะลุผ่านร่วมกันหลาย ๆ คน ไม่ส่งน้ำชา หรือของกินที่เปื้อนเลือด ให้ประชาชนที่ชมอยู่ดื่มกิน 
    ปรากฏการณ์แปลก ๆ ของประเพณีกินผักยุค ๒๐๐๐ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ 
    ระหว่างนั่งคุยกับบุญรัตน์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดและช่อง ๕ ที่บ้านของเขาซึ่งดัดแปลงเป็นสตูดิโอขนาดย่อม สำหรับตัดต่อภาพข่าว โทรทัศน์ช่อง ๕ ก็รายงานข่าวภาคเที่ยงเรื่อง แก๊งวัยรุ่นออกปล้นในช่วงเทศกาลกินเจ
    บุญรัตน์หยุดคุยแล้วตั้งใจดู หันมาบอกว่าเขาเป็นคนส่งข่าวนี้ไปเอง 
    "แก๊งวัยรุ่นสวมรอยแต่งชุดขาว เป็นผู้ร่วมถือศีลกินผักออกโจรกรรม จี้ชิงทรัพย์ ลักรถจักรยานยนต์ ตำรวจจับได้ทั้งแก๊งเมื่อวานนี้" บุญรัตน์สรุปให้ฟังสั้น ๆ แล้วบ่นว่าม้าทรงในงานกินผักภูเก็ตยุคนี้ ส่วนมากเป็น "ม้าทรงตัวปลอม มีแต่พวกเด็กวัยรุ่นที่ซ่า อยากโชว์ คิดว่าการมีแผลเป็นที่หน้าก็เหมือนมีรอยสักนั่นเอง" 
คลิกดูภาพใหญ่    โจรในชุดขาวกับม้าทรงตัวปลอม อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของ "เหลือบประเพณี" ที่อันดามันโพสต์ใช้เรียกผู้ที่หาประโยชน์ในทางมิชอบ จากประเพณีกินผัก ซึ่งคนภูเก็ตเลื่อมใสศรัทธา ปฏิบัติสืบต่อกันมา ๑๐๙ ปีแล้ว
    แต่เหลือบประเพณีในงานกินผักปีนี้ ไม่ได้มีแต่โจรชุดขาวกับม้าทรงตัวปลอมเท่านั้น 
    ใกล้ ๆ วงเวียนหอนาฬิกา มีป้ายโฆษณาแผ่นใหญ่เขียนไว้ว่า "จังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เทศบาลเมืองภูเก็ต ขอเชิญร่วมงานผัดหมี่จานใหญ่ที่สุดในโลก...สนับสนุนโดย โค้ก, ภูเขาทอง, ไวตามิลค์, (น้ำมันพืช) องุ่น และ ไวไว" ใกล้กันนั้น ป้ายผ้าอีกผืนหนึ่งขึงอยู่ข้างตึกสูง "งานผัดหมี่ร้อยกะทะ ตะหลิว...พร้อม, กะทะ...พร้อม, คนผัด...พร้อม คนชิมไม่พร้อมไม่ได้แล้ว" งานนี้ หยั่น หว่อ หยุ่น , น้ำมันทิพ, น้ำดื่มตราสิงห์และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เป็นผู้สนับสนุน
   ป้ายโฆษณาที่ติดประชันกันอยู่นี้ บ่งบอกถึงความไม่ปรกติบางอย่าง ในงานกินผักภูเก็ต และนอกจากจะทำให้คิดถึงคำถาม ของกรรมการศาลเจ้าคนหนึ่งที่ว่า "คนกลุ่มนี้เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลืองานประเพณีกินผักภูเก็ตด้วยบริสุทธ์ใจ หรือว่าหวังใช้ประเพณีของจังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งหากินกันแน่" แล้ว ยังทำให้เห็นภาพตามที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่งเขียนไว้ว่า "ปีนี้ชาวภูเก็ตคงได้เห็นโฆษณาประชันกัน อย่างเอิกเกริก ชนิดแบรนด์ชนแบรนด์" อีกด้วย
    "ปีที่แล้วไม่แข่งกันจัดงาน หรือหาสปอนเซอร์กันดุเดือดขนาดนี้ เพราะมีบริษัทวิชั่นโซนดำเนินการแต่ผู้เดียว" นักข่าวภูเก็ตอธิบาย "ปีนี้มีบริษัทภูเก็ตครีเอชั่น มาแย่งผู้สนับสนุนหลักรายเดิมไป วิชั่นโซนก็เลยสู้โดยการดึงสินค้าที่เป็นคู่แข่งมาเป็นผู้สนับสนุนชนกัน...คุณเอาไวไว ผมเอามาม่า คุณเอาน้ำมันพืชทิพ ผมเอาน้ำมันองุ่น คุณจัดผัดหมี่จานใหญ่ที่สุดในโลก ผมจัดผัดหมี่ร้อยกะทะ"
คลิกดูภาพใหญ่    แต่สิ่งที่คนภูเก็ตไม่พอใจมากที่สุดก็คือ การที่บริษัทภูเก็ตครีเอชั่น ต้องการจดลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นเจ้าของข้อมูล และเป็นผู้ควบคุมการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีกินผัก คนภูเก็ต และสื่อมวลชนจึงประท้วงใหญ่ เพราะเห็นว่าประเพณีนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ชาวภูเก็ตเป็นเจ้าของร่วมกัน ส่วนกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในงานกินผักแต่ละป ีเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันระหว่างกรรมการศาลเจ้าแต่ละแห่ง ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทเจ้าของสินค้าที่ให้การสนับสนุน 
    ที่อ๊ามเต่งก้องต๋อง (ศาลเจ้าแสงธรรม) บนถ.พังงาซึ่งฉันชอบหลบมานั่งพักอยู่เสมอในช่วงท้าย ๆ ของวัน ฉันชวนคุณป้าคนหนึ่งคุยเรื่องนี้ แกตอบยาวเหยียด "พวกเอกชนแย่งกันเข้ามาควบคุม -จดลิขสิทธิ์เป็นเจ้าของประเพณีกินผัก เพราะรู้ว่าเรากินผักกันทั้งเมือง ถ้าใครได้เข้ามาคุม ก็ย่อมมีช่องทางทำกำไร เหมือนกับผูกสัมปทานเหมืองแร่นั่นละ จ่ายเงินให้เจ้าเมืองแล้วก็ขุดแร่หาผลประโยชน์ ...ประเพณีของเราเกิดมาก่อนบริษัทพวกนี้เสียอีก เราทำกันมาได้โดยไม่ต้องมีใครมาสนับสนุน หรือโฆษณาให้หรอก ถ้าผู้ว่าฯ ปล่อยให้มีการจดลิขสิทธิ์งานกินผักจริง คนภูเก็ตจะต่อต้านกันเป็นแทนทาลั่มรอบสอง หรืออาจจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ " 
    ฉันแลกเปลี่ยนกับคุณป้าด้วยเรื่องราวที่เจ้าถิ่นคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า บริษัทจัดหาสปอนเซอร์รายหนึ่ง เคยติดต่อรายการสารคดีทางโทรทัศน์ มาถ่ายทำประเพณีกินผัก โดยทีมงานเสนอว่า ในพิธีปีนบันไดมีดนั้น เมื่อองค์พระในร่างของม้าทรงขึ้นไปถึงขั้นบนสุดแล้ว ให้ม้าทรงเหาะลงมาตามลวดสลิงค์แทนที่จะปีนบันไดลงมาเฉย ๆ เพราะดูน่าตื่นเต้น/มีอภินิหารกว่า
    "นี่เป็นการจาบจ้วงเทพเจ้า" คุณป้าพูดเสียงดัง "ประเพณีของเราไม่ใช่การเล่นกล เราปฏิบัติตามที่องค์เทพเห็นว่าสมควรเท่านั้น"
คุณป้าลุกไปไม่นานหลังจากนั้น แต่ฉันยังนั่งอยู่ต่อ 
คลิกดูภาพใหญ่    แม้ว่าเสียงอึกทึกครึกโครม และความน่ากลัวของม้าทรงจะทำให้ฉันอยู่ร่วมกับประเพณีกินผักภูเก็ตอย่างไม่เป็นสุขนัก และไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ศาลเจ้าสักเท่าไหร่ แต่ฉันกลับพาตัวเองมาที่อ๊ามแห่งนี้เกือบทุกเย็น 
   อาจเพราะเป็นศาลเจ้าเล็ก ๆ ที่นี่จึงสงบ อบอุ่น ผู้คนก็ไม่พลุกพล่าน มีเพียงเสียงระฆังที่ผู้มาเยือนเคาะสามครั้ง หลังหย่อนเงินลงกล่องบริจาคดังลอยมาเบา ๆ เท่านั้น
   ฉันรู้จักการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบชาวจีนที่นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต โดยมีผู้ดูแลศาลเจ้าเป็นพี่เลี้ยง เขาจัดแจงหาธูปกำใหญ่มาให้ จุดแรกไหว้เทวดา ตามด้วยเทพองค์ต่าง ๆ ภายในอ๊าม เช่น อ๋องซุนต่ายส่าย ตันเสงอ๋อง กวนอู และเจ้าแม่กวนอิม รวมทั้งมึ่งสิน (ทวารบาล) ขั้นตอนสุดท้าย คือ หย่อนกระดาษเงินกระดาษทองลงบนกองไฟ
   ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นเหมือนที่พักใจของฉันระหว่างอยู่ลำพังในภูเก็ต พักจากการเป็นคนแปลกหน้าในต่างถิ่น พักจากเรื่องลอบฆ่าแกนนำชาวบ้าน พักจากเรื่อง "เหลือบประเพณี" 
   ...โทรศัพท์มือถือแผดเสียงขึ้น ขณะที่ฉันกำลังเอ่ยขอบคุณผู้ดูแลศาลเจ้า ซึ่งส่งถุงพลาสติกที่มีสับประรดภูเก็ต แอ๊ปเปิ้ลและส้มอย่างละหนึ่งมาให้ 
   หลังจบบทสนทนาทางโทรศัพท์ ชายหนุ่มหันมาบอกแหม่มสาวที่มาไหว้เจ้าด้วยกัน "มีแขกเข้ามาพักที่โรงแรมของผมเพิ่มอีกวันนี้"
   "โชคดีจริง" แหม่มตอบกลับ
   "เทพเจ้าได้ยินคำอธิษฐานของผม บอกแล้วใช่ไหมว่ามาไหว้เจ้าที่นี่แล้วคุณจะโชคดี" 

คลิกดูภาพใหญ่    รถเศรษฐีโต ๕๐ เปอร์เซนต์ เบนซ์บุกภูเก็ตเป็นทางการ
   (อันดามันโพสต์ ๑๑-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๓) 

    หลังจากเปิดกิจการได้ ๙ เดือน บริษัท เบนซ์ ภูเก็ต จำกัด ขายรถเบนซ์ในภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ ๕๐-๖๐ คัน ยังไม่รวมรถตู้เอนกประสงค์ ๑๕ ที่นั่งรุ่น V-Class ราคาคันละ ๕ ล้านเศษ ซึ่งเหมาะกับงานรับแขกวีไอพีของธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวอีก ๓๒ คัน 
    ลูกค้า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของเบนซ์มีภูมิลำเนาอยู่ในภูเก็ต 
    ล่าสุด เดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) ส่ง The New C-Class พวงมาลัยขวาคันแรกของโลก มาเปิดตัวที่โชว์รูมเบนซ์ภูเก็ตเป็นครั้งแรก เพราะว่าที่นี่ "มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และเจ้าของกิจการที่มีศักยภาพในการซื้อ" 
    ในเวลาใกล้ ๆ กัน ตัวแทนจำหน่ายฮอนด้าก็ประกาศว่า บริษัทฯ ทำยอดจำหน่ายเฉพาะในภูเก็ตได้ทะลุเป้า คือ ขายได้ ๔๐ คันภายในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๔๓ 
    เบนซ์และฮอนด้าคงไม่ได้โม้ เพราะข้อมูลจากสำนักงานขนส่งภูเก็ตบอกว่า ปี ๒๕๔๓ มีการจดทะเบียนรถใหม่ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน ๙๙๔ คัน
เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ ๔๔.๗ 
   ไม่ใช่แค่เพียงรถเบนซ์ และฮอนด้าเท่านั้นที่ขายดีบนเกาะภูเก็ต 
   บริษัทซิงเกอร์สาขาภูเก็ต ก็ครองยอดขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ (สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า) 
คลิกดูภาพใหญ่     ห้าง Watson เปิดตัวสาขาที่ ๕๕ ในภูเก็ต เพราะเล็งเห็นว่าภูเก็ต "เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการลงทุน"  Watson มั่นใจว่าร้านค้าที่นี่จะติด ๑ ใน ๑๐ สาขาที่ทำยอดจำหน่ายได้สูงสุดในประเทศ
    ถึงตรงนี้ ฉันน่าจะสรุปได้เสียทีว่า คนภูเก็ตรวย/มีกำลังซื้อสูง แต่ต่อให้มีข้อมูลของทางราชการมาสนับสนุนว่า "ปี ๒๕๔๐ ประชากรภูเก็ตมีรายได้เฉลี่ยคนละ ๑๗๓,๐๒๖ บาทต่อปี สูงเป็นอันดับ ๑ ในภาคใต้ และเป็นอันดับ ๗ ของประเทศ" และ "ยอดเงินฝากจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ปี ๒๕๔๒ มียอดเงินฝากสูงสุด ๓ หมื่นกว่าล้าน ซึ่งเป็นยอดเงินฝากที่สูงเป็นอันดับที่ ๑๕ ของประเทศ" ฉันก็ไม่คิดว่าควรสรุปง่าย ๆ เช่นนั้น
    ถ้าจะมีประโยชน์อะไรอยู่บ้าง ข้อมูลพวกนี้น่าจะเป็นเพียงตัวช่วย ให้เราเห็นสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตได้ดีขึ้นเท่านั้น
   ผู้รู้เรื่องพัฒนาการของภูเก็ต แบ่งการพลิกผันของเมืองนี้เป็น ๓ ครั้ง--ครั้งแรก สมัยรัชกาลที่ ๓ และ ๔ เมื่อมีการทำสนธิสัญญากับต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจการค้าแร่ดีบุกขยายตัว คนจีนหลั่งไหลมาทำเหมือง จนกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของภูเก็ตในปัจจุบัน ครั้งที่ ๒ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ทำให้มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค และครั้งที่ ๓ คือ เมื่อธุรกิจเหมืองแร่เริ่มถดถอย นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ และเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการท่องเที่ยว 
    สภาพเศรษฐกิจของภูเก็ตในวันนี้เกี่ยวข้องกับการพลิกผันครั้งที่ ๓ อย่างไม่ต้องสงสัย
    สำนักงานจังหวัดชี้แจงว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวปี ๒๕๔๒ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ประมาณ ๕๕,๐๐๐ ล้านบาท นักท่องเที่ยวเข้าพักโดยเฉลี่ย ๕.๐๗ วัน ใช้จ่ายวันละประมาณ ๓,๗๐๐ บาทต่อคน การลงทุนภาคก่อสร้างก็ขยายตัวในอัตราสูง มีการก่อสร้างในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๔๑ ถึง ๙ เท่าตัว เนื่องจากมีการก่อสร้างโรงแรมที่ป่าตองมาก และปัจจุบันนี้รายได้หลัก ๘๐ เปอร์เซนต์ของภูเก็ต มาจากธุรกิจการท่องเที่ยว 
คลิกดูภาพใหญ่     นักข่าวภูเก็ตเล่าให้ฟังว่า แม้ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด การท่องเที่ยวของภูเก็ตก็ยังคึกคัก ฝรั่งแห่กันมาเที่ยวมาก เพราะค่าเงินบาทอ่อนตัว เขาสรุปว่า ภูเก็ตอยู่ได้เพราะการท่องเที่ยว
    แต่ความจริงภูเก็ต "อยู่ได้" เพราะอย่างอื่นอีก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของภูเก็ตในปัจจุบัน คือ สัตว์น้ำมูลค่าสูงจำนวนมากที่มาขึ้นฝั่งที่ท่าเทียบเรือภูเก็ต และดีบุกซึ่งผลิตมาต่อเนื่องตลอด ๔๐๐ ปี และยังคงผลิตได้ราว ๆ ๑ พันเมตริกตันในปี ๒๕๔๒ ทำรายได้ให้ภูเก็ตประมาณ ๑๕๓ ล้านบาท 
   แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยของภูเก็ต ก็ทำให้ต้องนึกถึง "ความไม่ร่ำรวย" ของภูเก็ตด้วยเช่นกัน 
    บนรถสองแถวที่วิ่งระหว่าง "วงเวียนน้ำพุ -แหลมพันวา" ผู้หญิงสองคนบ่นให้กันฟังเรื่องค่าโดยสาร รถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่แพงเกินเหตุ มีคนเคยร้องเรียนถึงอบจ.ว่า ระยะทางแค่ ๑-๒ กม. เรียกค่าโดยสารตั้ง ๒๐-๓๐ บาท ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ภูเก็ตกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงไปเสียแล้ว 
    มีคนบอกว่าค่าครองชีพในภูเก็ตสูงยุ่งกว่าจังหวัดใด ๆ ในประเทศไทย แม้กระทั่งกรุงเทพฯ 
    "คนภูเก็ตที่รวยจากการท่องเที่ยวมีไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ คนรวยในภูเก็ตส่วนมากเป็นคนต่างถิ่น เป็นชาวต่างชาติ คนภูเก็ตแท้ ๆ กลับเดือดร้อน ...เราต้องอยู่แบบนักท่องเที่ยว กินแบบนักท่องเที่ยว จ่ายแพงเหมือนนักท่องเที่ยว" โกเอก ซึ่งเกิดและโตในภูเก็ตบ่นให้ฟัง 
คลิกดูภาพใหญ่    หนังสือชุดเพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน ภูเก็ต อธิบายว่าคนภูเก็ตที่เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ และสังคมของภูเก็ตในปัจจุบัน คือ ลูกหลานของชาวจีนผู้มั่งคั่งที่อพยพมา ในยุคทองของเหมืองแร่แล้วก่อร่างสร้างตัว จนร่ำรวยเป็นนายเหมือง ได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระ คุณหลวงหรือท่านขุน คนกลุ่มนี้น่าจะเป็น "คนภูเก็ตที่รวย" ที่โกเอกพูดถึง 
   ส่วน "คนภูเก็ตแท้ ๆ ที่ต้องเดือดร้อน" นั้นเห็นจะเป็นคนพื้นเมือง เช่น ลูกหลานของกุลีจีน ที่มาทำงานในเหมืองเมื่อประมาณร้อยปีก่อน, ชาวไทยมุสลิมที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง และทำสวนสมรม ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบนอกตัวเมือง หรือบริเวณชายฝั่งรอบเกาะ รวมทั้งชาวเลที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ริมทะเล เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ แทงปลา งมหอย จับกุ้งหรือปูด้วยมือเปล่า ทำประมงชายฝั่งเป็นอาชีพหลัก ยามว่างหรือหน้ามรสุมพวกเขาก็จะรับจ้างคนในหมู่บ้านใกล้ ๆ ดายหญ้า เก็บมะพร้าวเป็นครั้งคราว ชาวเลรุ่นหลัง ๆ ผันตัวไปเป็นลูกจ้างกันก็มาก 
   พวกเขาอาจจะไม่ใช่เจ้าของเบนซ์รุ่น C-Class, V-Class หรือรถเก๋งฮอนด้า ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของห้างขายเครื่องสำอางค์อย่าง Watson และอาจมีรายได้ต่ำกว่า "รายได้เฉลี่ยของประชากรต่อหัวต่อปี" ที่ทางจังหวัดคำนวณออกมามากนัก
   ฉันได้แต่หวังว่าคนเหล่านี้จะมีความสุข ตามวิถีทางของเขา และไม่ถูกผลพวงของความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของภูเก็ต ทำร้ายมากจนเกินไป 

คลิกดูภาพใหญ่    นายก อบจ.ฝันหวาน วางแผนใช้เงินภาษีโรงแรม
   (ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจ ๑๕-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓) 

   เรื่องของเรื่องเล่าแห่งยุคสมัยในภูเก็ตคงไม่สมบูรณ์แน่ หากว่าไม่มีเรื่องของการท่องเที่ยว 
    มีหลักฐานตั้งมากมายที่บ่งชี้ว่าภูเก็ตวุ่นวายอยู่กับการท่องเที่ยวมากแค่ไหน ตั้งแต่ในข่าวเล็ก ๆ อย่างเช่น โรงแรมภูเก็ตอาเคเดีย เอาเค้กไปเซอร์ไพรส์วันเกิดมิสซิสฮาร์ดิ้ง นักท่องเที่ยวออสซี่วัย ๖๘ ที่เดินทางมาเยือนภูเก็ตเป็นประจำทุกปี, โรงแรมใหญ่ถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนเรื่อง ขายน้ำดื่มขวดละ ๒๕๐ บาท, นายแพทย์สาธารณสุขภูเก็ต เป็นประธานเปิดประชุม "โครงการพัฒนาระบบทันตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว" ไปจนกระทั่งถึงข้อมูลน่ารู้อย่าง ภูเก็ตมีโรงแรม ๓๕๓ แห่ง มีห้องพัก ๒ หมื่นห้อง โดยเป็นห้องพักที่หาดป่าตองถึงร้อยละ ๓๐ ในตัวเมืองร้อยละ ๑๙ และที่หาดกะรนร้อยละ ๑๓, นักท่องเที่ยวมาภูเก็ตปีละไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านคนและจะเพิ่มเป็น ๕ ล้านคนในอนาคต หรือในช่วง ๒ ปีอะเมซิ่งไทยแลนด์ ภูเก็ตดูดเงินนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้ถึงแสนล้านบาท, ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากกรุงเทพฯ และมีเที่ยวบินทั้งแบบประจำ และเช่าเหมาลำจากใน และต่างประเทศเข้ามาสัปดาห์ละกว่า ๑๐๐ เที่ยวบิน 
   จึงไม่แปลกเลยถ้านโยบายของจังหวัดนี้ จะมุ่งไปที่การท่องเที่ยวเป็นหลัก ("การพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด จะต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ เพื่อสร้างสรรค์ให้จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวตลอดกาล" ) แต่ก็แปลกดีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดของภูเก็ต ซึ่งต้องการเป็น "เมืองท่องเที่ยวตลอดกาล" แห่งนี้ กลับไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่นจากนักท่องเที่ยวผู้เข้าพักในโรงแรม 
คลิกดูภาพใหญ่    กรณีนี้เป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเกือบทุกฉบับ ช่วงที่ฉันไปเป็นนักท่องเที่ยวอยู่ที่ภูเก็ต (ตุลาคม ๒๕๔๓) เจ้าของโรงแรมคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจว่า ที่พวกเขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก ก็เพราะว่า "ภูเก็ตเป็นจังหวัดใหญ่ในเรื่องของการท่องเที่ยว โรงแรมทั่วประเทศจับตามองอยู่ว่าเราจะทำอย่างไร" 
    "กระทรวงมหาดไทยให้อำนาจองค์การบริหารส่วนจังหวัด จัดหารายได้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง" บุญรัตน์อธิบาย "อบจ.ภูเก็ตจึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว ที่เข้ามาพักที่โรงแรมในภูเก็ตเป็นเงิน ๐.๕ เปอร์เซนต์ของค่าห้องพัก แต่ทางโรงแรมมีปฏิกิริยาต่อต้าน บอกว่าเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยว เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวรู้ว่าต้องจ่ายเพิ่มก็ไม่อยากมา และกลุ่มเจ้าของโรงแรมไม่ไว้ใจว่า อบจ.จะนำเงินไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นจริงหรือไม่" 
    เมื่อถามความเห็นส่วนตัว นักข่าวข่าวสดบอกว่า "เจ้าของโรงแรมไม่ควรคัดค้าน เพราะมันเป็นเงินจำนวนไม่มาก ที่สำคัญคือนักท่องเที่ยวเป็นคนจ่าย ไม่ใช่เจ้าของโรงแรม ...ผู้ประกอบการโรงแรมมาหาประโยชน์จากภูเก็ต ก็น่าจะตอบแทนให้ท้องถิ่นบ้าง ถ้าไม่ไว้ใจอบจ. ก็เป็นหน้าที่ของคนภูเก็ต ที่จะต้องคอยตรวจสอบต่อไป"
   เรื่องนี้ลงเอยด้วยการที่ อบจ.ยอมเลื่อนกำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมออกไปก่อน 
คลิกดูภาพใหญ่    แต่ถึงแม้ว่า อบจ.จะไม่ได้เงินมาพัฒนาท้องถิ่น จากบรรดาเจ้าของโรงแรม ทุกวันนี้ ภูเก็ตก็ได้รับการพัฒนาอยู่แล้ว หากว่า "การพัฒนา" นั้นหมายถึงถนนสี่เลน, การขยายสนามบิน, ท่าเรือน้ำลึกสำหรับจอดเรือสำราญ, ตึกสวย-โรงแรมหรู หรือโครงการขุดเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาเข้าป่าตอง 
   ส่วน ททท.ก็ทุ่มเทกับภูเก็ตอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่ปีท่องเที่ยวไทย ๒๕๓๐ จนมาถึงอะเมซิ่งไทยแลนด์ สำนักงาน ททท.ภูเก็ต ซึ่งที่จริงแล้ว คือ "สำนักงานภาคใต้เขต ๔" นั้นมีหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในภูเก็ต พังงาและกระบี่ แต่กลับถูกคนพังงาร้องเรียนว่าสนใจแต่ภูเก็ตมากเกินไป จนลืมจังหวัดอื่น
    ไม่นานมานี้สุมณฑา นาครทรรพ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการตลาด ททท.เดินทางมาเปิดสำนักงานสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต ก็เลยถือโอกาส เตือนภูเก็ตว่า ความโดดเด่นของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนใน ภูเก็ตยังโดดเด่น "เป็นรอง" วิถีชีวิต/วัฒนธรรมของคนบนเกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย และเกาะลังกาวีของมาเลเซียอยู่ ถ้าพัฒนาตรงจุดนี้ได้ ภูเก็ตจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีกำลังซื้อ และเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยถึงปีละ ๑.๑ ล้านคนได้มากขึ้น (ปัจจุบันนี้มีชาวญี่ปุ่นมาเที่ยวภูเก็ตเพียงปีละ ๑ แสนคนเท่านั้น) ทั้งนี้เนื่องจากอุปนิสัยของชาวญี่ปุ่น สนใจในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีของต่างชาติ จึงนิยมไปเที่ยวจังหวัดที่มีโบราณสถานอยู่ เช่น สุโขทัย อยุธยา ลพบุรี มากกว่า
    การบ้านข้อสุดท้ายที่ผอ.ฝ่ายตลาดของ ททท.ฝากให้ภูเก็ตทำก็คือ ต้องคิดค้น/ผลิตสินค้าของที่ระลึก ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของตนเองที่ชัดเจน และเป็นของที่ไม่อาจจะหาซื้อจากที่อื่นขึ้นมาให้ได้ เพราะปัจจุบันนี้ภูเก็ตยังไม่มีของที่ระลึกเฉพาะตัว...
คลิกดูภาพใหญ่    ถึงจะไม่มีสินค้าที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ หรือวัฒนธรรมยังไม่โดดเด่นพออย่างที่ ททท.ต้องการ แต่ก็เป็น ททท.เองนั่นละที่แถลงผลการสำรวจอย่างภาคภูมิใจว่า "โอกาสตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะมาภูเก็ตมีมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจกลับมาอีก"
    ไม่รู้ว่าคนภูเก็ตส่วนใหญ่จะดีใจหรือเสียใจกับข้อมูลนี้ แต่อย่างน้อย ในแง่ของการเสนอข่าว พวกนักข่าวที่ภูเก็ต ก็โกรธแค้นการท่องเที่ยวกันมาก เพราะ "การท่องเที่ยว" เป็นเงื่อนไขที่ทำให้แหล่งข่าวในภูเก็ต ไม่ค่อยจะยอมปริปากให้ข้อมูล และหลายครั้งที่พวกเขาถูกขอร้องจากข้าราชการระดับสูงในจังหวัด ให้ยุติการเสนอข่าวบางข่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า "...มันกระทบการท่องเที่ยว" เช่น ข่าวคลื่นยักษ์ซูนามิ, ข่าวโรคติดต่อที่แพร่ระบาด จากที่พักแรงงานต่างด้าว, ข่าวโรงแรมที่สร้างไม่ถูกแบบแผน (ไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์, ไม่มีบันไดหนีไฟ), ข่าวจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์, ข่าวเรื่องน้ำดื่ม และอาหารสกปรกฯลฯ 
คลิกดูภาพใหญ่     ชัยวุฒิ นักข่าวของมติชนเล่าว่า เขาเคยแอบซุ่มเก็บข้อมูล และถ่ายภาพ เด็กชายที่รับจ้างสำเร็จความใคร่ ให้ฝรั่งที่หาดป่าตองอยู่หลายคืน เมื่อมติชนเสนอเป็นข่าวหน้าหนึ่ง เขาก็ถูกตำรวจท่องเที่ยวคุกคาม เพราะทำให้เจ้าหน้าที่เสียหน้า นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองตอบโต้ว่า เป็นการซ้อนภาพ ส่วนตำรวจภูธรตอบสนองต่อข่าวชิ้นนี้ ด้วยการไล่กวาดเด็ก ๆ ออกไปจากหาดทุก ๆ คืน 
   ยังไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่การท่องเที่ยวกระทำกับภูเก็ตโดยตรง...
    ถ้อยคำของคนในท้องถิ่นที่หนังสือ ภูเก็ต บันทึกไว้เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๓ มีอยู่ว่า "หาปลาก็ห้าม เขาไล่เรือเรานะ เขาอยากให้ฝรั่งสบาย ...ฝรั่งต้องเที่ยวสบาย ๆ แต่คนหากินไม่ได้ ต้องไล่เพราะยุ่ง คนมาเที่ยวสำคัญ แต่คนจะหากินยังไง เขาไม่สนใจ"

   "ปีหนึ่งเราจัดงานวัดแค่หนเดียว เขายังมาต่อว่าว่าเสียงดังรบกวนแขกเขา พวกมุสลิมนี่โดนเหมือนกัน ...วันศุกร์ไง ที่มีสวด เขาว่าเสียงมันดัง แขกจะพักผ่อน"
   "ไม่เหลือหาดสวย ๆ ให้เที่ยวแล้ว โรงแรม ฝรั่งมันยึดเอาไปหมด เหลือแต่อุทยานฯ และหาดสุรินทร์ที่เขากันไว้ กับหาดเล็ก ๆ อีกไม่กี่หาด พอให้คนบ้านเราได้เที่ยว"
   ฉันว่า ไม่มีใครพูดถึงความเจ็บปวดจากการท่องเที่ยว ได้เจ็บปวดเท่าคนภูเก็ตอีกแล้ว

คลิกดูภาพใหญ่    แผนภูเก็ตเมืองนานาชาติ ผ่านโลด ๖ พันกว่าล้าน
   (ข่าวเศรษฐกิจธุรกิจ ๒๕ กันยายน-๑ ตุลาคม ๒๕๔๓) 

    เมืองนานาชาติ = "แผนปฏิบัติการภูเก็ตเมืองนานาชาติ" ซึ่งเป็นแนวคิดเดิมของ ททท.ที่เคยเสนอให้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา พัฒนาภูเก็ตเป็นเมืองท่าปลอดภาษี ปรับปรุงถนนรอบเกาะ สร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ ฯลฯ มีผู้วิเคราะห์ว่า เบื้องลึกของการทำแผนปฏิบัติการเมืองนานาชาติ คือ แผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นแบบเดิม ไปเป็นการจัดระเบียบการปกครองแบบใหม่ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นเป็นศูนย์รวมอำนาจใหม่ เป็นกลไกระดับจังหวัด ที่สามารถรวบอำนาจในการตัดสินใจ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมภูเก็ตได้อย่างเด็ดขาด
    ไซเบอร์พอร์ต/เมืองไอที = เป็นส่วนหนึ่งของแผนฯ เมืองนานาชาติ ที่ต้องการพัฒนาเมืองภูเก็ต ให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ ให้ทัดเทียมสิงคโปร์ มาเลเซีย และเมืองบังกาลอร์ของอินเดีย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการผลิตสินค้า และทรัพยากรมนุษย์ด้านไอที ี
   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนปฏิบัติการเมืองนานาชาติ ไปเมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ แผนนี้กินระยะเวลายาวนาน ๑๒ ปี (๑๙๙๙-๒๐๑๑) และคณะกรรมการพัฒนาจังหวัดอนุมัติเงินไปแล้ว ๖ พันกว่าล้านบาท สำหรับ ๖๑ โครงการแรก ส่วนไซเบอร์พอร์ตนั้น กระทรวงวิทย์ฯ คาดว่ารัฐบาลไทยจะสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นให้ ๑,๐๐๐ ล้านบาทเร็ว ๆ นี้ 
คลิกดูภาพใหญ่    บางที ภูเก็ตอาจจะชินกับความเป็นเมืองนานาชาติ ที่กำลังคืบคลานมาถึง เหมือนอย่างที่ฉันสันนิษฐานว่า พวกเขาจะชินกับการอยู่ร่วมกับคนต่างชาติต่างถิ่นก็ได้ ฉันเห็นด้วยกับคำพูดของสาวิตต์ โพธิวิหค ที่พูดไว้เมื่อตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ยกทัพมาพบกับสื่อมวลชนภาคใต้ เมื่อปลายปี ๒๕๔๓ ว่า "ขณะนี้ภูเก็ตก็เป็นเมืองนานาชาติในระดับหนึ่งแล้ว" 
   สิ่งที่สนับสนุนคำพูดของสาวิตต์ นอกจากจะเป็นการเดินทางมาเยือนของผู้นำระดับชาติ ของประเทศต่าง ๆ ไม่ขาดสายแล้ว อีกกิจกรรมยอดนิยมที่น่าจะนำมาเสริมความเป็น "อินเตอร์/นานาชาติ" ของภูเก็ตได้ก็คืองานประเภท "สถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง" ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในช่วงที่ผ่านมา (๒๕๓๒ : ผูกไมตรีบ้านพี่เมืองน้องกับเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส, ๒๕๔๑ : คณะผู้แทนเมืองเอียนไถ สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนภูเก็ต และร่วมลงนามในข้อตกลงการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้อง โดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเมืองนี้เป็นแหล่งซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดของไทย, ๒๕๔๓ : ที่ปรึกษาพิเศษทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมผู้ว่าฯ ภูเก็ต เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการสถาปนาเมืองพี่เมืองน้อง ระหว่างภูเก็ตกับเมืองโอกินาว่าของญี่ปุ่น) และล่าสุดภูเก็ตถูกเสนอให้เป็นที่ประชุมสุดยอดกลุ่มเอเปค ในปี ๒๐๐๓ เพราะมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พักซึ่งต้องใช้ห้องพักระดับ ๔-๕ ดาวประมาณ ๔,๐๐๐ ห้องโดยภูเก็ตมีห้องพักที่อยู่ในข่ายนี้ถึง ๗,๐๐๐ ห้อง ที่สำคัญ ภูเก็ตไม่มีปัญหาจราจรติดขัดและ "ไม่มีปัญหามวลชนมากเหมือนที่อื่น" 
   สำหรับเรื่องแผนปฏิบัติการเมืองนานาชาตินั้น คนภูเก็ตมีทั้งที่หนักใจ และเห็นดีด้วย 
คลิกดูภาพใหญ่    ที่เห็นดีด้วยบอกว่า จะทำให้มีคนเข้ามาลงทุนที่เกาะภูเก็ตเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะด้านคอมพิวเตอร์ ทำให้เศรษฐกิจของเกาะเฟื่องฟู ทั้งยังได้รับการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ที่ได้มาตรฐานในระดับสากลอีกด้วย พวกเขาเชื่อมั่นว่าแผนฯ นี้จะดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และมรดกทางประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมเป็นอย่างดี 
    พวกที่หนักใจให้เหตุผลว่าแผนฯ นี้จะมีผลทำให้การปกครองท้องถิ่นของภูเก็ต มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง เพราะมีแนวทางที่จะให้อำนาจตัดสินใจแก่ฝ่ายบริหาร ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อกำหนดนโยบายพัฒนาจังหวัดมากเกินไป เท่ากับลดอำนาจของประชาชนซึ่งย่อมส่งผลกระทบรุนแรงมากในอนาคต 
    น่าแปลกตรงที่ภราเดช พยัฆวิเชียร ผู้ว่าการการ ททท.ออกมาตั้งคำถามต่อโครงการไซเบอร์พอร์ตด้วยเช่นกัน (เพราะททท.เองก็กำลังมีแผนการจะสร้างศูนย์ประชุม และแสดงสินค้านานาชาติในภูเก็ต) เขาให้สัมภาษณ์นักข่าวภูเก็ตว่า "ไม่มีใครรับรองได้ว่า จะไม่มีกิจกรรมแอบแฝงเข้ามาทำให้เมืองเสียหาย จากการที่ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางไอที ...เจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมดูแลการก่อสร้างอาคาร เพื่อไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อมได้ทั่วถึงหรือไม่" 
    ส่วนพวกที่คิดเห็นเป็นกลาง ๆ ก็ตั้งคำถามง่าย ๆ แต่น่าคิด เช่น ภูเก็ตจะเป็นเมืองนานาชาติ หรือศูนย์กลางไอทีของโลกได้อย่างไร ในเมื่อ "ระบบขนส่งมวลชนยังย่ำแย่ มีแต่รถตุ๊กตุ๊กกับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ที่ขูดรีดค่าโดยสาร" หรือยังมีข่าวประเภท "กรรมการคมนาคม สำรวจพบถนนภูเก็ตยอดแย่ อบจ.ภูเก็ตออกสำรวจถนนทุกสาย พบมีแต่ชำรุด อันตราย และมีสิทธิ์ตายได้ทุกเส้นทาง" 

คลิกดูภาพใหญ่    หนังสือประกอบการเขียน
สำนักพิมพ์สารคดี. ภูเก็ต. ๒๕๔๓
สำนักงานจังหวัดภูเก็ต. ข้อมูลสถิติจังหวัดภูเก็ต ประจำปี ๒๕๔๓. 

   ขอขอบคุณ
คุณนันทพงษ์ แก้วกล้า, คุณวัชระ มะลิแก้ว, คุณบุญรัตน์ อภิวันทนากร, คุณประเสริฐ เฟื่องฟู, คุณวิเชียร อุตส่าห์, คุณจามร สมพงษ์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ตทุกท่าน