กลับไปหน้า สารบัญ มาตรฐานสากล ISO 9002  เต็มใจให้ฝรั่งหลอก?
คั ด ค้ า น

รศ.ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร. ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ไม่ปฏิเสธว่า มนุษย์ต้องมีมาตรฐาน คำถามเชิงรัฐศาสตร์คือว่า ทำไมจึงเป็นมาตรฐาน ชุดนี้ชุดเดียว

  • ISO คือมายาคติในโลก ที่ถูกจัดระเบียบ โดยภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นระบบของอำนาจ ซึ่งปิดบังซ่อนเร้น สิ่งที่ต่างจากมาตรฐานเอาไว้

  • ขบวนการจัดมาตรฐาน จะทอนทุกอย่างลงมา เป็นเชิงปริมาณ ทำให้สูญเสียความละเอียดอ่อน และความสลับซับซ้อนไป เนื่องจากมีช่องว่าง ระหว่างตัวที่ต้องการวัด กับสิ่งที่ใช้วัด

  • เครื่องหมายมาตรฐานสากล ที่กำกับตัวสินค้า ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงิน เพราะไม่ได้ลดการบริโภค แต่กลับสร้างอุปสงค์เทียม ให้เกิดการบริโภค

   "ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับ ISO เข้าใจว่าเป็นระบบเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง ที่ช่วยสร้างมาตรฐานสากล วิธีคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดแบบสมัยใหม่ ที่มีมาตรฐานชุดเดียว มาตรฐานแบบเดียวกันที่สามารถพบได้ทุกแห่ง โดยมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เป็นวิธีคิดหลัก สามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้
   กระบวนการทำให้เป็นสากลถ้าพูดแบบภาษาหลังสมัยใหม่ (postmodernism) คือกระบวนการทำให้เป็นชายขอบ หรือทำให้เป็นอื่น ขณะเดียวกันกระบวนการมาตรฐานทุกชนิด จะเก็บกด ปิดกั้น สิ่งที่ไม่เหมือนกับมาตรฐาน เนื่องจากการกำหนดมาตรฐาน เป็นการแบ่งประเภท ระบบการจัดประเภททุกชนิด เป็นระบบของอำนาจ เราจะบอกว่าอะไรควรจะอยู่อะไรไม่ควร ยกตัวอย่างใกล้ ๆ ตัว เช่น ความเป็นไทย/อะไรที่ไม่ใช่ไทย... เป็นอะไรที่กำกวมมาก
   คำถามปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องมีมาตรฐานไหม เราไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์ต้องมีมาตรฐาน คำถามเชิงรัฐศาสตร์คือว่าทำไมเป็นมาตรฐานชุดนี้ ไม่ใช่ชุดนั้น เป็นชุดนี้แล้วใครได้ประโยชน์ เราจำเป็นต้องมองมาตรฐานสากล ให้เป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของอำนาจ เช่นอำนาจของวิทยาศาสตร์- การสร้างระเบียบ กฏเกณฑ์ว่าอะไรคือวิทยาศาสตร์ อะไรไม่ใช่ ดังที่เราแบ่งแยกผู้ชาย/ผู้หญิง ผู้ชายทำอะไรได้บ้าง ผู้หญิงทำอะไรได้บ้างและทำอะไรไม่ได้ อำนาจในที่นี้ จึงไม่ได้หมายถึงอำนาจของใครโดยเฉพาะ  แต่เป็นอำนาจของระบบ ระเบียบ
   ขอยกตัวอย่างจากแนวคิดของนักวิชาการชื่อ โรล็องด์ บาร์ตส์ ISO ก็คือมายาคติ หรือ myth อย่างหนึ่ง พูดให้ซับซ้อนน้อยที่สุด มายาคติคือภาษาชนิดหนึ่ง แต่เป็นภาษาที่วางอยู่เหนือภาษา เรียกว่า metalanguage อย่างเวลาเราได้ยินคำว่า ISO เลขอะไรผมก็ไม่รู้นะ ความหมายของภาษาคือ การประกันคุณภาพ ควบคุมคุณภาพ คือดีตลอด เหมือนเวลาได้ยินคำว่า การพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โลกาภิวัฒน์
   ส่วนภาษาชุดที่สอง หรือในระดับของมายาคติ คือสิ่งที่ ISO ปิดบังซ่อนเร้น เบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องของความแตกต่าง มาตรฐานชุดเดียวทำให้ ความแตกต่างกลายเป็นศัตรู ที่ชั่วร้ายต้องกำจัดออกไป เนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อ "มาตรฐานสากล"
   มาตรฐานชุดนี้ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ หรือแข่งขันจนชนะคนอื่น หากเป็นการใช้อำนาจเข้ามาครอบงำ ผ่านกระบวนการศึกษา ผ่านสื่อต่าง ๆ เราทำได้สองอย่าง คือสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง เขาให้ QC คุณก็ QC เขา good governent คุณก็ good governent แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีภูมิปัญญา ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมมีภูมิปัญญา แต่เราไม่มีอำนาจต่อรอง อีกอย่างหนึ่งคือเราไม่เคยถามว่า มายาคติชุดนี้มีปัญหาอย่างไร วิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบแยกขั้ว เป็นขั้วตรงข้าม ชาย/หญิง, ซ้าย/ขวา, ดี/เลว มันอันตรายตรงที่ว่า แยกข้างหนึ่ง ชูข้างหนึ่ง ระบบมาตรฐาน ISO ก็เหมือนกัน ถ้ามองแบบหลังสมัยใหม่ก็คือ ระบบของการปิดกั้นกีดกันนั่นเอง
   มองแบบการเมือง เราถูกทำให้มองว่ามาตรฐานสากลนั้น เป็นธรรมชาติ วิถีชีวิตแบบนี้เป็นธรรมชาติ โลกกาภิวัฒน์ก็เหมือนกัน เมื่อเป็นธรรมชาติแล้ว เราจะไม่ตั้งคำถาม ไม่สงสัย เช่นทำไมธรรมชาติผู้หญิงจะต้องยอมผู้ชาย เราไม่เคยถามเลยว่า นี่เป็นกรอบความคิดที่ผู้ชายสร้างขึ้นมา เพื่อกดผู้หญิง สิ่งนี้ไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่สัจธรรม แต่เป็นประดิษฐกรรมทางสังคม ตรงนี้สำคัญมาก
   เราจำเป็นต้องชี้ให้เห็นว่า ISO มีบทบาทหน้าที่ทำอะไร ? คือการจัดระเบียบโลกแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่าโลกหลังยุคสงครามเย็น กับยุคสงครามเย็นไม่เหมือนกัน ยุคสงครามเย็น การจัดระเบียบโลกคือ การเมืองที่แยกซ้าย/ขวา โลกหลังยุคสงครามเย็นที่เราใช้ว่ายุคโลกาภิวัฒน์ เงื่อนไขของการจัดระเบียบ ตกอยู่กับภาคธุรกิจอุตสากรรม จึงมี WTO, NAFTA อะไรมากมาย ซึ่งมาตรฐานสากลนี้ ท้าทายสิ่งที่เรียกกันว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐ เพราะมันเข้ามาเปลี่ยน เข้ามาจัดการกิจการภายในของรัฐ
   ซึ่งจริง ๆ แล้วโลกก็ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ ให้เกิดการจัดระเบียบ แต่มีขบวนการต่อต้าน มีชื่อแปลเป็นไทยว่า "ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัฒน์" ซึ่งผมไม่ชอบชื่อนี้ เพราะทำให้ถูกประณามว่า เป็นพวกขวางโลก แล้วพวกนั้นก็ชาญฉลาด ที่จะปิดฉลากพวกที่เคลื่อนไหวต่อต้านว่าขวางโลก เป็นพวกผู้ไม่หวังดี และไม่เห็นด้วยกับกระแสการเปลี่ยนแปลงโลก ที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ เป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์ผ่าน WTO
   ในความคิดของผม ISO ก็เป็นภาษาแบบหนึ่ง เวลาเข้าสู่โลกค้าขาย จะคุยกับใครให้รู้เรื่อง ก็ต้องคุยด้วยภาษานั้น แต่ภาษาไม่ได้เป็นเครื่องมือของการสื่อสาร แต่มาพร้อมกับวัฒนธรรม มองแบบหลังสมัยใหม่ คือภาษาของ ISO สร้างโลกเฉพาะแบบขึ้นมาเป็นระบบหนึ่ง รวมทั้งสร้างอาชีพใหม่ คือองค์กรรับปรึกษาเพื่อให้ได้ ISO ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
   เราอยู่ในโลกซึ่งเน้นวิทยาศาสตร์เชิงกายภาพ ที่ให้ความสำคัญกับตัวเลข ปริมาณที่วัดได้จับได้ เวลาเราจัดมาตรฐาน จะวัดเชิงปริมาณเป็นหลัก เราเอาคุณภาพของสินค้า ของสังคมมาทอนโดยใช้ดัชนีชั่งตวงวัด หรือทอนทุกอย่างให้เป็นเชิงปริมาณ ขบวนการเหล่านี้ทำให้สูญเสียความละเอียดอ่อน และความสลับซับซ้อนไปหมด ตัวอย่างเช่น การวัดประชาธิปไตยในเมืองไทย โดยดูจากตัวเลขประชาชน ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน หรืออย่างล่าสุด เอกสารระเบียบคณะกรรมการป้องกันทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตอบแทนผู้ทำคุณงามความดี ในการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.๒๕๔๓ แยกการทำคุณงามความดีเป็นชั้นดีเยี่ยม คือสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ระดับ ๑-๔ หรือเทียบเท่า ๑๐ คนขึ้นไป ระดับ ๕-๗ หรือเทียบเท่า ๓ คนขึ้นไป ถ้าเอาระบบนี้มาใช้กับมหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้อาจารย์ต้องเขียนตำราปีละ ๒ เล่ม ตำราแต่ละเล่มก็ไม่เหมือนกัน นี่เป็นข้ออ่อนของวิธีคิดแบบนี้ การทอนทำให้เราสูญเสียรายละเอียดหลายอย่าง เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างตัวที่เราต้องการวัดกับสิ่งที่ใช้วัด
   โดยส่วนตัวผมก็อยากให้องค์กรมีระเบียบ  แต่ต้องถามต่อว่า มีระบบระเบียบแล้วจะทำอะไรต่อไป ในกรณี ISO 9002 คือมีระเบียบแล้วผลิตได้มากขึ้น ผลิตมากขึ้นแล้วใครได้ประโยชน์ ผลประโยชน์ที่ได้กระจายอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ถามกัน กรณีบอกว่าถ้ามีมาตรฐาน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ได้บริโภคสินค้าตามที่มาตรฐานกำหนด คำถามก็คือ เป็นสินค้าประเภทไหน เราจำเป็นต้องบริโภคไหม ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่สร้างอุปสงค์เทียมด้วยการโฆษณา เราจำเป็นต้องมีโทรศัพท์มือถือ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องแสดงฐานะ หรือนาฬิกาข้อมือทุกเรือน ที่จะบอกความทันสมัย และสื่อความหมายถึงสำนึกเรื่องเวลา วัตถุเหล่านี้ไม่ใช่แค่เครื่องประดับ.. .แต่มากกว่า ครั้งหนึ่งบริษัทซิงเกอร์ คิดว่าจะทำอย่างไรจึงเปลี่ยนคอนเส็ปต์จักรเย็บผ้า จากเครื่องจักร เป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน สินค้าพอมี ISO เราก็ไม่คิดอย่างอื่น จะซื้อเครื่องไฟฟ้า มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ ๕ ก็รีบซื้อเลย เพราะเราเชื่อว่า เป็นการบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อประหยัดไฟ ผลคือไม่ได้ลดการบริโภค การบริโภคก็ยังเพิ่มอยู่ดี
   ฉลากพวกนี้กลับทำให้บริโภคง่ายขึ้น ตัดสินใจง่ายขึ้น ระหว่างของสองสิ่ง มีฉลากกับไม่มีฉลาก แต่สรุปคือเราก็ยังเสพ นี่เป็นเสน่ห์ของทุนนิยม คือต้องการให้เราเสพ ยิ่งเสพเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ที่จริงพวกโฆษณาเขาก็ใส่ ISO ไปในสินค้าเรียบร้อยแล้ว ด้วยฉลาก เช่น ปลอดสารพิษ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราชนชั้นกลางที่ถูกครอบงำ โดยมายาคติแบบหนึ่งก็จะรีบเสพ
   เรื่องการศึกษายิ่งไม่ควรต้องมี ISO เพราะไม่มีอะไรรับประกันว่าครูจำนวนเท่านี้ ต่อนักเรียนจำนวนเท่านี้ จะทำให้การศึกษามีคุณภาพ หรือคนไทยจะได้รับรางวัลโนเบล เรื่องระเบียบชั่วโมงสอนของครู ก็สามารถทำเองให้มีคุณภาพได้ไม่ต้องพึ่ง ISO ทุกวันนี้โรงเรียนต้องการ ISO เพื่อสร้างความชอบธรรมให้โรงเรียน อีกหน่อยวัดก็ต้องมี ISO ขณะนี้วงการมหาวิทยาลัยก็กำลังพูดถึง QA (การประกันคุณภาพ) กันใหญ่
   สรุปคือผมคิดว่าเรื่องมาตรฐานสากล เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ควรมีมาตรฐานแต่ไม่ควรเป็นมาตรฐานชุดเดียว ถ้าคุณบอกว่าระบบมาตรฐานมีการแข่งขันกันแล้ว ตัวนี้ชนะได้เป็นมาตรฐานสากล อย่างนี้ดี ถือว่า politicize แล้วก็อยู่เพียงชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องของสัจธรรม หรือเรื่องของธรรมชาติ
   ความคิดในเรื่องมาตรฐาน และต้องเป็นมาตรฐานแบบเดียวกัน สามารถพบเห็นได้ทุกสถานที่ทุกเวลา และทุกวัฒนธรรม คือความฝันสูงสุดของมนุษย์ เป็นความฝันที่ต้องการจัดระบบ ระเบียบ ควบคุม ขณะเดียวกันทุกยุคทุกสมัยของมนุษย์เช่นกัน ก็จะมีการต่อต้าน ขัดขืนระบบระเบียบนี้ และนี่คือ "ความเป็นจริง" ของโลกและสังคม
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
รศ.ดร.พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ
ผู้ว่าการสถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*