สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๖ เดือน มิถุนายน ๒๕๔๔ "สุภาพบุรุษ-มนุษยภาพ"ศรีบูรพา"-กุหลาบ สายประดิษฐ์"

กลับไปหน้า สารบัญ ตัดกำลังบิ๊กค้าปลีก : พื้นที่และโอกาสของโชห่วย
คั ด ค้ า น

ธนภณ ตังคณานันท์  ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา คาร์ฟูร์
ธนภณ ตังคณานันท์
ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา คาร์ฟูร์
  • โชห่วยอยู่ไม่ได้เพราะ ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

  • ธุรกิจของเรา ช่วยเกื้อหนุนโชห่วย ให้สามารถซื้อราคาถูก ไปขายต่อ

  • ขายต่ำกว่าทุน เพราะต้นทุนต่ำกว่า ไม่มีนโยบายผูกขาดการค้า

  • ธุรกิจขนาดใหญ่มีมาตรฐาน ทำให้เกิดการจ้างงาน รัฐได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย

     "ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ใช่บริษัทค้าปลีกต่างชาติ แม้บริษัทแม่อยู่ฝรั่งเศส แต่โครงสร้างเป็นบริษัทไทย มีผู้ถือหุ้นไทย ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจนี้เรียกว่า hypermarket หรือธุรกิจใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่าซูเปอร์มาร์เก็ต ขายทั้งอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร มีสาขาใน ๒๘ ประเทศทั่วโลก ญี่ปุ่นที่ว่ากีดกันค้าปลีกต่างชาตินั้น เราเพิ่งเปิดสาขาแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีและกำลังจะขยายต่อไปโดยเขาไม่ได้กีดกัน
     "จริง ๆ ทุกวันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าร้านโชห่วยปิดตัวไปกี่ร้าน เปิดใหม่กี่ร้าน ซึ่งเราเห็นว่ามีร้านโชห่วยเปิดใหม่มากกว่าที่ปิด ไม่รวมร้านเซเว่นเอเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ต หรือร้านสะดวกซื้อในสถานบริการน้ำมัน ที่โชห่วยอยู่ไม่ได้เพราะเขาเองไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พอหมดรุ่นหนึ่งก็อาจไม่มีคนดูแลต่อก็ได้ และสินค้าในร้านโชห่วยไม่มีการปิดราคา คนซื้อสองคนราคาอาจไม่เท่ากัน และไม่รู้วันผลิตหรือวันหมดอายุของสินค้า
     "เมื่อผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีกว่าเขาย่อมชอบเป็นธรรมดา เพราะคอนเส็ปต์ของเราคือที่จอดรถต้องมากและฟรี เข้าออกง่าย และมีทุกอย่างในหลังคาเดียว ซึ่งโดยตัวคอนเส็ปต์ของธุรกิจตอบสนองผู้บริโภค มิหนำซ้ำราคายังถูกกว่าที่อื่น
     "ผมต้องขอเรียนว่าการขายต่ำกว่าทุนไม่ใช่นโยบายของเรา เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็อยู่ไม่ได้ เพียงแต่ต้นทุนอาจถูกกว่าคนอื่น เนื่องจากเราเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป และขายจำนวนมาก การบริหารการจัดการใช้พนักงานอย่างเหมาะสมกับองค์กร และมีประสิทธิภาพ บางครั้งเราอาจมีโปรโมชั่น สินค้าบางตัวที่สั่งปริมาณพิเศษจะขายในราคาพิเศษ จริง ๆ อาจคิดมุมกลับได้ว่า เมื่อซื้อถูกเราก็ขายถูก ซื้อแพงก็ขายแพง จะไม่มีนโยบายซื้อถูกขายแพงเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องขึ้นราคาหลังจากคู่แข่งล้มไปหมดนั้น ไม่ใช่นโยบายของเราอย่างแน่นอน เพราะในต่างประเทศเราทำมา ๓๐ กว่าปี ถ้าเราทำแบบนั้นคงอยู่ถาวรไม่ได้ เรายินดีจะคืนส่วนกำไรให้ลูกค้าตลอดเวลา และพยายามขายสินค้าผลิตในประเทศ สินค้ากว่า ๙๘ เปอร์เซ็นต์ผลิตในประเทศไทย
     "การเข้ามาเปิดสาขาในไทย บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าจะเปิดสาขาที่ใดบ้าง ไม่ใช่เข้ามาเปิดแบบเฉพาะการณ์ว่าช่วงเศรษฐกิจในเอเชียไม่ดี ที่ดินราคาถูก คนตกงานก็เข้ามา ธุรกิจ modern trade ไม่มีข้อจำกัดว่าจะเข้าไปเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัท และคนที่จะตอบคำถามว่าธุรกิจนี้เหมาะหรือไม่ก็คือผู้บริโภค ช่วงปี ๑๙๙๔ ที่เราก่อตั้งในประเทศไทยเศรษฐกิจยังดีอยู่ เศรษฐกิจเริ่มพังปี ๑๙๙๗ ตอนนั้นเราเปิดแล้วหกหรือเจ็ดสาขา ซึ่งเราก็ชะลอการเปิดสาขาไปด้วยเหมือนกันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ 
     "ที่ว่าธุรกิจ SME ในรูปแบบธุรกิจค้าปลีกรายย่อยเหมาะสมที่สุดสำหรับยุคนี้ อาจจะจริงหรืออาจไม่จริง เพียงแต่ว่าถ้าเราคิดจะทำอะไรจะต้องรู้วงจรธุรกิจ ศึกษาตลาดว่าผลิตแล้วจะขายใคร ผมคิดว่าธุรกิจโชห่วยถ้าจะทำกันตอนนี้ก็ยังทำได้ อย่างร้านสะดวกซื้อก็ถือว่าเป็นโชห่วยสมัยใหม่ ร้านริมถนนบางร้านมีการจัดชั้นวางของเป็นระเบียบ ติดราคาสินค้า กั้นกระจกเพื่อติดแอร์ ผมเชื่อว่าถ้าเขาปรับตัวก็จะอยู่ได้ อีกอย่างที่อยากพูด คือจริง ๆ แล้วธุรกิจอย่างเราช่วยเกื้อหนุนร้านโชห่วยเหมือนกัน เพราะเขาสามารถมาซื้อในราคาถูกเพื่อไปขายต่อได้ ซึ่งแต่เดิมเขาจะต้องสั่งจำนวนมาก ถามว่าเครดิตได้ไหม ถ้าเขามีบัตรเครดิตเราก็เปิดรับโดยไม่ได้ชาร์จเพิ่ม ตรงนั้นก็เป็นภาระของบริษัทไป
     "มาตรการจำกัดโซน จำกัดเวลาขายให้ modern trade หรือนโยบายอะไรก็ตามที่รัฐจะออก ผมเชื่อว่าต้องมีความเป็นธรรม รัฐคงต้องศึกษาแล้วว่าออกมาแล้วว่าคนปฏิบัติได้ อาจต้องไปถามผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ว่ามีความสุขกับธุรกิจแบบนี้หรือเปล่า 
     "เรื่องแบ่งโซน ทุกวันนี้มีการบังคับอยู่แล้วโดยกฎหมายผังเมืองในแต่ละจังหวัด ว่าจะสร้างอะไรได้หรือไม่ กรณีปัญหากับซัพพลายเออร์ ผมต้องเรียนว่า ในวงจรธุรกิจค้าปลีกนั้นมีหลายส่วนเกี่ยวข้องจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค การที่เราซื้อตรงจากผู้ผลิตเองแล้วขายตรงกับผู้บริโภคทำให้ขั้นตอนลดลง 
     "ซัพพลายเออร์อาจเป็นพ่อค้าหรือผู้ผลิตก็ตาม เราต่างก็เป็นพ่อค้าด้วยกัน และแน่นอนการต่อรองบางทีมีเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ซัพพลายเออร์รายเล็ก ๆ บางรายอาจไม่คุ้นเคยกับเงื่อนไขการค้าสมัยใหม่ แต่ถ้ารายใหญ่ ๆ ทั่วโลก เช่น เนสต์เล่, เป๊บซี่, P&G จะคุ้นเคยดี เราก็ชี้แจงให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยรู้ว่า เรามีเงื่อนไขอย่างไรในเรื่องราคา เทอมการชำระเงิน ซัพพลายเออร์ที่ติดต่อค้าขายกับเราเกือบทั้งหมดรู้ว่าถึงเวลาชำระเงินเขาได้เงินแน่นอน ไม่มีขอเลื่อน ซึ่งเขาสามารถวางแผนการเงินของตัวได้ 
     "แต่ละสาขาเรามีพนักงานประมาณ ๓๐๐-๓๕๐ คน เท่ากับตอนนี้เรามีพนักงาน ๓,๕๐๐ คน รวมทั้งฝ่ายบริหาร สำนักงานใหญ่ และบวกกับอีกสี่สาขาที่กำลังจะเปิด เท่ากับเรามีพนักงาน ๕,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งแต่ละคนมีครอบครัวต้องดูแล คนที่เกี่ยวข้องกับเรายังมีซัพพลายเออร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย นอกจากนี้ในพื้นที่ห้างส่วนหนึ่งก็เป็นพื้นที่ให้คนเช่าทำธุรกิจ และบางสาขาจะมี car-booth sale พื้นที่ว่างด้านหน้าให้คนตกงานเช่าในราคาถูกเพื่อเปิดท้ายขายของ ซึ่งไอเดียนี้ผมมีส่วนพัฒนาขึ้นมาด้วย
     "ทุกวันนี้เรามีแต่ลงทุน ยังไม่ได้เอาเงินออกนอกประเทศสักบาทเลย ผมอาจให้เป็นตัวเลขก็ได้ จากเริ่มต้นลงทุน ๘๐๐ ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น ๑,๒๐๐ ล้าน ขยายเพิ่มเรื่อย ๆ จน ณ วันนี้ทุนจดทะเบียนของเรา ๘,๐๐๐ ล้านบาท แล้วยังมีแนวโน้มจะลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เปิดสาขาหนึ่งลงทุน ๕๐๐ ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่แรงงานก่อสร้าง ผู้รับเหมา วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นของในประเทศทั้งหมด แม้แต่ระบบคอมพิวเตอร์ก็ซื้อจากในนี้
     "ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานแบบนี้กลับดีเสียอีก เราซื้อมาขายไป มีการลงบัญชีถูกต้อง ภาษีที่รัฐจะได้ก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย"
  อ่านฝ่ายสนับสนุน คลิกที่นี่
ณรงค์ โชควัฒนา
นักธุรกิจอิสระ

click hereอ่าน (ฝ่ายสนับสนุน) คลิกที่นี่

แล้วคุณล่ะ สนับสนุน หรือ คัดค้าน !


แ ส ด ง ค ว า ม คิ ด เ ห็ น เ พิ่ ม เ ติ ม

ชื่อ-สกุล: *
E-Mail:
แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม: *
*