สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔ "สุริโยไท บทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันกับอดีต"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ชีวิตในโลกแมลง
ของนักอนุกรมวิธาน ดร. องุ่น ลิ่ววานิช

วันดี สันติวุฒิเมธี : เรื่อง
ชัยชนะ จารุวรรณากร : ภาพ
 (คลิกดูภาพใหญ่)     ตะวันลับขอบฟ้าไปนานแล้ว แต่ภายในพิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ผู้หญิงคนหนึ่งยังคงนั่งส่องกล้องจุลทรรศน์อยู่อย่างขะมักเขม้น สลับกับเปิดตำราเล่มหนาดูเป็นระยะ ๆ มองผ่านจอภาพ ผีเสื้อตัวเล็กซึ่งถูกตรึงอยู่บนแผ่นไม้คอร์ก ถูกขยายจนเห็นส่วนสัดชัดเจน เธอเปรียบเทียบภาพที่เห็นจากกล้องจุลทรรศน์ กับภาพในหนังสือ พอพลิกเจอภาพที่ตรงกัน ก็อ่านคำบรรยายลักษณะของแมลงอย่างละเอียด เมื่อแน่ใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน จึงเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ของผีเสื้อตัวนั้น ลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ปักแนบไว้ใต้ตัวผีเสื้อ จากนั้นนำไปเก็บรวมกับผีเสื้อชนิดเดียวกัน ที่ชั้นไม้เก็บตัวอย่างแมลง ที่มุมหนึ่งของห้อง
   เวลาผ่านไปหลายชั่วโมง ตัวอย่างผีเสื้อที่เก็บมาจากป่า ในจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อหลายเดือนก่อน ถูกหยิบมาจำแนกชื่อชนิดตามหลักอนุกรมวิธานตัวแล้วตัวเล่า ดูเหมือนว่าใจที่จดจ่ออยู่กับงานอย่างมีสมาธิ จะทำให้เธอหลงลืมเวลาเสียสนิท
    ตลอดเวลากว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงคนนี้ทำงานด้วยความสนุกเพลิดเพลิน ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่นึกเบื่อหรือทดท้อ แม้ในวันนี้เธอจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังมาทำงานที่พิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏและสัตววิทยาทุกวัน เพราะตระหนักดีว่า งานอนุกรมวิธานแมลงที่ตนทำอยู่นั้น ยังประโยชน์แก่ผู้คนมากมายเพียงใด
 (คลิกดูภาพใหญ่)

ชื่อนั้นสำคัญไฉน ? 

    แมลงเป็นสัตว์ที่มีปริมาณและจำนวนชนิดมากที่สุดในโลก ตัวเลขต่ำสุดที่มีคนประเมินไว้คือ ๑.๕ ล้านชนิด สูงสุดคือ ๕๐ ล้านชนิด บางชนิดมีคุณ บางชนิดมีโทษ ทั้งต่อพืช สัตว์ และตัวมนุษย์เอง การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับแมลงให้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรู้จักใช้แมลงให้เป็นประโยชน์ หรือในทางกลับกัน เพื่อรับมือได้อย่างทันท่วงทีกับปัญหาที่แมลงก่อขึ้น 
    และจุดเริ่มต้นของความรู้เหล่านี้ก็คือ การจำแนกชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง
    "การสำรวจหาชื่อแมลงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ด้านต่าง ๆ และการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช หากเราไม่รู้ว่าแมลงตัวนั้นเป็นแมลงชนิดไหน แล้วฉีดยาฆ่าแมลงแบบสุ่มสี่สุ่มห้า การกำจัดก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแมลงแต่ละชนิด มีรูปร่างหน้าตา และพฤติกรรมการดำรงชีวิตต่างกัน บางชนิดมีปากแบบเจาะดูด ต้องใช้ยาซึมเข้าไปในต้นพืช บางชนิดมีปากแบบกัดกิน ต้องใช้ยาพ่นตามใบตามกิ่งใบ หรือบางชนิดในเวลากลางวันจะหลบอยู่ที่อื่น จะบินมาที่แปลงพืช ก็ต่อเมื่อถึงเวลาหากินในตอนกลางคืนเท่านั้น หากเราฉีดยาไม่ถูกที่ถูกเวลาก็เสียเงินเปล่า แต่ถ้าเรารู้ว่าแมลงตัวนั้นเป็นแมลงชนิดไหน มีพฤติกรรมการดำรงชีวิตอย่างไร ศัตรูธรรมชาติของมันคืออะไร เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงให้สิ้นเปลือง ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม หรือกรณีแมลงระบาดมาก ๆ จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง ถ้าเราเลือกใช้ยาที่เหมาะสม การกำจัดแมลงก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือถ้าเราต้องการอนุรักษ์แมลงที่กำลังจะสูญพันธุ์ อันดับแรกเราต้องรู้ว่าแมลงชนิดนั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าอะไร มีพฤติกรรมการดำรงชีวิตเป็นอย่างไร เราจึงอนุรักษ์อนุรักษ์แมลงชนิดนั้นได้"
    ดร. องุ่น ลิ่ววานิช กล่าวถึงความสำคัญของงานอนุกรมวิธานแมลง ที่เธอทุ่มเทเวลาเกือบทั้งชีวิตให้ งานของเธอเริ่มต้นด้วยการออกไปเก็บตัวอย่างแมลง จากพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่าทั่วประเทศ นำกลับมาจำแนกชื่อทางวิทยาศาสตร์ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ยามเมื่อแมลงสร้างปัญหาให้แก่ชาวบ้านและเกษตรกร เธอและเพื่อนนักอนุกรมวิธาน ก็จะช่วยกันหาชื่อที่ถูกต้องของแมลงตัวนั้น แล้วส่งให้กลุ่มงานอื่น ๆ ดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป งานอนุกรมวิธาน จึงเป็นงานพื้นฐานให้กลุ่มงานอื่นนำไปต่อยอดความรู้ หากนักอนุกรมวิธาน สำรวจชื่อแมลงผิดพลาดกลุ่มงานอื่น ๆ จะได้รับผลกระทบต่อกันไปเป็นลูกโซ่ หลายต่อหลายครั้ง เงินจำนวนมหาศาลต้องสูญไปในชั่วพริบตา เพียงเพราะการจำแนกชื่อแมลงผิด ดังเช่นเหตุการณ์ที่ ดร. องุ่นประสบมาด้วยตนเองเมื่อหลายสิบปีก่อน 

(คลิกดูภาพใหญ่)    "ผีเสื้อหนอนกอเป็นศัตรูสำคัญของพืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ ผีเสื้อกลุ่มนี้หน้าตาจะเหมือน ๆ กัน อย่างผีเสื้อหนอนกอข้าว กับผีเสื้อหนอนกออ้อย รูปร่างหน้าตาภายนอกเหมือนกันทุกอย่าง จนเมื่อก่อนเข้าใจผิดว่า ผีเสื้อหนอนกออ้อยเป็นผีเสื้อหนอนกอข้าว แต่หลังจากผ่าตัดดูอวัยวะภายใน กลับพบว่าไม่เหมือนกัน และเมื่อดูพฤติกรรมต่อไปก็พบว่า ผีเสื้อตัวหนึ่งชอบกินข้าว ตัวหนึ่งชอบกินอ้อย เมื่อศึกษาโดยละเอียด พบว่าตัวที่ชอบกินอ้อยเป็นผีเสื้อชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่ง ที่เดิมจำแนกชื่อไว้ไม่ถูกต้อง อาจารย์ก็เลยแก้ไขชื่อให้ถูกต้อง นำลงตีพิมพ์ในวารสารที่ทั่วโลกยอมรับ การค้นพบครั้งนั้นทำให้งานวิจัยเกี่ยวกับผีเสื้อหนอนกอข้าว ที่เคยทำไว้ทั่วโลกเป็นอันสูญเปล่า ต้องเริ่มทำการวิจัยกันใหม่หมด เพราะไม่แน่ใจว่าผีเสื้อที่เคยทำการวิจัยนั้น เป็นผีเสื้อชนิดใดกันแน่" 
    ความรู้ด้านอนุกรมวิธานแมลง ไม่เพียงช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยไขปริศนาเรื่องบางเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง เช่น การพิสูจน์ว่าศพเสียชีวิตมาแล้วกี่วัน โดยดูจากชนิดของแมลงที่มาเกาะกินศพ แมลงแต่ละชนิดมีพฤติกรรมกินอาหารต่างกัน บางชนิดชอบกินศพที่เสียชีวิตใหม่ ๆ บางชนิดชอบกินศพเน่าค้างวัน หรือช่วยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ค้นหาแหล่งนำเข้าใบยาสูบเถื่อน โดยนำแมลงที่ติดมากับใบยาสูบไปตรวจสอบชนิด หลังจากนั้นจึงดูว่าแมลงชนิดนั้น มีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ทางแถบไหนมากเป็นพิเศษ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ตั้งด่านตรวจจับ ตามเส้นทางนั้น ๆ เป็นต้น 
    ตลอดชีวิตการทำงานกว่า ๓๐ ปีของ ดร. องุ่น เธอต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องวุ่น ๆ หลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ อย่างเช่นเหตุการณ์ฝนเหลือง ที่สร้างความหวาดวิตกให้แก่ชาวบ้านจังหวัดอุดรธานี เมื่อหลายสิบปีก่อน 
(คลิกดูภาพใหญ่)    "หลังสงครามเวียดนามจบลงหมาด ๆ ชาวบ้านแถวอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี ร้องเรียนมายังหน่วยราชการ และสื่อมวลชนว่า มีวัตถุแข็งเป็นเม็ดกลมตกลงมาจากฟ้า ชาวบ้านสันนิษฐานว่า เป็นฝนเหลืองที่ตกค้างมาจากสงครามเวียดนาม ลักษณะของฝนเหลืองที่ว่านี้ ก่อนตกถึงพื้นจะเป็นเม็ดกลมค่อนข้างรี สีน้ำตาล มีสัญลักษณ์รูปตัววาย (Y) เป็นรอยลึกลงไป พอตกถึงพื้นก็แตกเป็นสีเหลือง ชาวบ้านคาดว่า ตัววายคงเป็นโค้ดลับทางทหารอะไรสักอย่างแน่ ๆ พวกเขาจึงเก็บเม็ดกลมแข็งที่ยังไม่แตกไว้ ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยราชการ ให้มาตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาให้ที
    "ตอนนั้นหน่วยงานแรก ๆ ที่ถูกขอให้ไปช่วยตรวจสอบ คือหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่พอไปตรวจแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร เรื่องจึงถูกส่งมาที่กองกีฏและสัตววิทยา อาจารย์เป็นคนไปตรวจสอบ พอไปถึง ชาวบ้านก็เอาเม็ดกลม ๆ ที่บอกว่าเป็นฝนเหลืองมาให้ดู เราก็สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นไข่ของตั๊กแตนกิ่งไม้ ตั๊กแตนชนิดนี้ตัวใหญ่ มีขนาดตัวยาวเกือบครึ่งแขนเห็นจะได้ อาจารย์เลยถามว่าแถวนี้มีตั๊กแตนตัวโต ๆ หรือเปล่า พอพูดจบ เด็ก ๆ ก็วิ่งไปจับตั๊กแตนกิ่งไม้มาให้สี่ห้าตัว เราก็บอกว่าน่าจะเป็นไข่ของตั๊กแตนกิ่งไม้นะ ชาวบ้านก็เถียงว่าไม่ใช่หรอก เพราะพวกเขาเคยจับตั๊กแตนมาปิ้งกินทั้งตัวทั้งไข่ ไข่ของมันหน้าตาไม่ได้เป็นแบบนี้"
    ระหว่างที่เถียงกันอยู่นั้น เจ้าตั๊กแตนตัวโตก็ออกไข่พรวดต่อหน้า ดร. องุ่นและชาวบ้าน ข้อสงสัยจึงเป็นอันยุติ
    "ไข่ที่ออกมาหน้าตาเหมือนกับฝนเหลืองของชาวบ้านยังไงยังงั้น สาเหตุที่ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นฝนเหลือง ก็เพราะว่าเปลือกไข่ตั๊กแตนชนิดนี้ค่อนข้างแข็ง เวลาตั๊กแตนเกาะอยู่บนต้นไม้ เหนือหลังคาบ้านแล้วไข่ลงมาถูกหลังคาสังกะสี ก็จะดังเปาะแปะเหมือนเสียงฝนตก ทีนี้เวลาแตกออกก็มีน้ำสีเหลืองเหมือนไข่ทั่วไป ชาวบ้านก็เลยเข้าใจผิด ส่วนสัญลักษณ์รูปตัววาย เป็นลักษณะทางธรรมชาติของไข่ตั๊กแตนชนิดนี้ และไข่ที่ชาวบ้านบอกว่า เคยกินนั้นเป็นไข่ที่ยังอยู่ในท้องตั๊กแตนตัวเมีย ส่วนไข่ที่ว่าเป็นฝนเหลืองเป็นไข่ที่เพิ่งคลอดออกมา รูปร่างลักษณะจึงไม่เหมือนกับไข่ที่ชาวบ้านเคยกิน นี่ถ้าตั๊กแตนไม่ออกไข่มาตรงหน้า คงต้องเถียงกันอีกนาน" 
(คลิกดูภาพใหญ่)    หรือกรณีลูกค้ามีปัญหากับไก่ทอดของบริษัทฟาสต์ฟูดชื่อดัง
    "เรื่องมีอยู่ว่า หญิงสาวคนหนึ่ง ซื้อไก่ทอดจากร้านฟาสต์ฟูดร้านหนึ่ง กลับไปกินที่คอนโดฯ แล้วเปิดกล่องทิ้งไว้ สองสามชั่วโมงต่อมา เมื่อจะนำไก่ทอดมากิน ก็พบหนอนแมลงวันตัวอวบอ้วนหลายตัวอยู่ที่ชิ้นไก่ หญิงสาวจึงรีบนำไก่ทอดกลับไปที่ร้าน และฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่าบริษัทฟาสต์ฟูดดังกล่าว นำไก่ค้างวันมาขายให้ลูกค้า
    "เรารู้กันดีว่าแมลงวันต้องออกลูกเป็นไข่ก่อนแล้วจึงฟักเป็นตัว ดังนั้นแม่แมลงวันจึงน่าจะไข่ทิ้งไว้ ในชิ้นไก่หลายวันแล้ว คราวนี้การจะตัดสินว่า บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องร้องหรือไม่ จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ตัวหนอนเหล่านั้นมาอยู่ในไก่ทอดตั้งแต่เมื่อไหร่ 
    "การพิสูจน์จะทำได้ก็ต่อเมื่อ เรารู้ว่าตัวหนอนเหล่านั้น เป็นหนอนแมลงวันชนิดไหน มีวงจรชีวิตอย่างไร เราจึงเอาตัวหนอนชุดนั้นมาเลี้ยง จนกลายเป็นตัวเต็มวัย แล้วก็ตรวจสอบชื่อวิทยาศาสตร์ พอได้ชื่อแล้วเราก็ไปเปิดตำราดูว่า มันมีวงจรชีวิต มีพฤติกรรมอย่างไร ปรากฏว่าแมลงวันชนิดนี้ มีช่วงชีวิตหนึ่งที่ออกลูกเป็นตัวหนอนได้ ทีนี้เราก็ต้องมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร ไก่ทอดที่ซื้อกลับไปนั้น เป็นไก่ที่เพิ่งทอดเสร็จ ถ้ามีตัวหนอนแมลงวันอยู่ในชิ้นไก่ ตัวหนอนจะต้องตายแน่นอน แต่ตัวอ่อนที่พบยังมีชีวิต จึงเป็นไปได้มากว่าเป็นตัวหนอนที่แม่แมลงวัน เพิ่งมาออกลูกทิ้งไว้ในชิ้นไก่ หลังจากซื้อมาจากร้านแล้ว"
    อีกกรณีหนึ่ง เป็นเรื่องระหว่างผู้ส่งออกผลไม้กระป๋องของไทย กับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น 
    "เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทผลไม้กระป๋องของไทย ส่งผลไม้กระป๋องไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นที่ซื้อผลไม้ไปกิน ร้องเรียนว่า มีซากแมลงอยู่ในกระป๋องผลไม้ ประเทศญี่ปุ่นตำหนิสินค้านำเข้าจากประเทศไทยว่า ไม่ถูกหลักอนามัย และต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย จากบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งส่งสินค้าทั้งหมดคืน ทางบริษัทจึงขอความช่วยเหลือมาที่นี่ ให้ช่วยพิสูจน์ว่าเป็นแมลงจากไหนกันแน่
(คลิกดูภาพใหญ่)    "ทางญี่ปุ่นส่งชื่อแมลงตัวนั้นกลับมาให้ เราก็ไปตรวจสอบดูว่าแมลงชนิดนั้น มีถิ่นอาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง ปรากฏว่าเป็นแมลงที่พบเฉพาะในเมืองหนาวเท่านั้น จึงสรุปได้ว่า แมลงที่พบในกระป๋อง ไม่ได้ติดไปในกระบวนการผลิต แต่น่าจะเป็นแมลงในประเทศเขาเอง ผู้บริโภคอาจเปิดผลไม้กระป๋องทิ้งไว้ แล้วแมลงบินตกลงไป เราถ่ายสำเนาข้อมูล จากตำราที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกส่งไปให้ทางญี่ปุ่น เรื่องก็เลยเงียบไป"
    กรณีสุดท้ายเกิดขึ้นในประเทศคู่แข่งของไทย
    "บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มบำรุงร่างกายรายหนึ่ง นำเรื่องมาปรึกษาว่า เขาได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคในสิงคโปร์ว่า มีมดอยู่ในขวดเครื่องดื่ม บริษัทได้นำตัวมด และฝาขวดเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอะลูมิเนียมแท้ มีซีลยางที่มีรอยมดเจาะมาให้ดูด้วย ในครั้งแรกได้ทำการจำแนกชนิดมดว่า เป็นมดอะไร มีชื่อวิทยาศาสตร์อย่างไร เมื่อได้ชื่อแล้ว จึงศึกษาเขตการกระจายพันธุ์ของมดชนิดนี้ว่า พบได้ในประเทศใดบ้าง ผลปรากฏว่า พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย ดังนั้นจึงมีโอกาสครึ่งต่อครึ่ง ที่มดในขวดเครื่องดื่มนั้นจะเป็นมดของ  ไทยหรือสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยส่งเครื่องดื่มนี้ ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก ไม่เคยมีประเทศไหนร้องเรียนมา นอกจากสิงคโปร์ แสดงว่าร้านค้าในสิงคโปร์ คงเก็บขวดเครื่องดื่มนี้ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มดขึ้นได้"
    ตัวอย่างที่ยกมาสะท้อนให้เห็นว่า งานอนุกรมวิธาน ไม่ใช่งานที่เกี่ยวข้องกับคนเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ข้อมูลอนุกรมวิธานแมลงที่ได้ ก็มิใช่ข้อมูลวิชาการที่จะนำไปเก็บไว้บนหิ้ง แต่เป็นงานที่เกี่ยวข้อง และให้ประโยชน์แก่คนจำนวนมาก ความรู้ของนักอนุกรมวิธาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานมากมาย การทำความรู้จักแมลงให้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น
    และภารกิจแรก ๆ ที่นักอนุกรมวิธานแมลงจะต้องทำก็คือ ออกเดินทางไปเก็บตัวอย่างแมลงทั่วประเทศไทย
(คลิกดูภาพใหญ่)

ตามล่าหาแมลง

    ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เรามีโอกาสติดตาม ดร. องุ่นและเจ้าหน้าที่จากกองกีฏและสัตววิทยา ไปเก็บตัวอย่างแมลงในป่า ใกล้อุทยานแห่งชาติป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พอรถผ่านลำธารเล็ก ๆ มองเห็นผีเสื้อหลายสิบตัวบินลงกินดินโป่งอยู่ริมน้ำ ทีมนักวิจัยก็รีบลงจากรถ มีสวิงติดมือไปคนละอัน บางคนจับผีเสื้อที่เกาะอยู่บนพื้นริมลำธาร บางคนจับด้วงหรือแมลงตามกิ่งไม้ พอจับได้แล้วก็ "จัดการ" ให้ทุกชีวิตไปสู่สุคติด้วยวิธีที่คาดว่ามันทรมานน้อยที่สุด 
    หากเป็นแมลงตัวเล็กจะถูกจับใส่ขวดที่มีตัวยาสลบเอทิลอะซิเทต วิธีนี้จะทำให้ผีเสื้อตายในเวลาไม่ถึงนาที ถ้าเป็นผีเสื้อขนาดกลางก็บีบอกให้ตาย ส่วนผีเสื้อตัวใหญ่ ต้องใช้เข็มฉีดยาที่บรรจุเอทิลอะซิเทต ฉีดลงบนส่วนอก ซึ่งจะทำให้มันตายอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นจึงบรรจุผีเสื้อในซองกระดาษลอกลาย ที่พับเป็นสามเหลี่ยม โดยจับปีกผีเสื้อทั้งสองข้างแนบกันหันลำตัวออกด้านนอก บันทึกวัน เวลา และสถานที่ที่พบไว้บนกระดาษ เมื่อกลับถึงพิพิธภัณฑ์ ข้อมูลเหล่านี้ จะถูกนำไปบันทึกไว้ในสมุด Lot ซึ่งเป็นสมุดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแมลงที่จับมาได้
    ในกรณีที่เจอตัวหนอนของแมลง ทีมนักวิจัยก็จะเก็บมาเลี้ยงในห้องวิจัย โดยนำพืชอาหารของมันกลับมาด้วย ระหว่างการเลี้ยงตัวหนอน นักวิจัยจะคอยจดบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของมันอย่างละเอียดไว้ในสมุด BL หรือ Breeding Lot ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นกุญแจสำคัญ ที่ช่วยไขปริศนาต่าง ๆ เกี่ยวกับแมลงได้เป็นอย่างดี เป็นต้นว่าเมื่อ เกิดเหตุการณ์แมลงศัตรูพืชระบาด หากเรารู้พฤติกรรมของแมลงชนิดนั้นโดยละเอียด การแก้ปัญหาจะกระทำได้ทันที โดยการตัดวงจรพืชอาหารของแมลงชนิดนั้น หรือควบคุมด้วยศัตรูธรรมชาติ โดยใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน เป็นต้น 

(คลิกดูภาพใหญ่)    ดร. องุ่นกล่าวถึงความสำคัญของแมลงที่จับมาว่า
    "เมื่อเขาตายเพราะเรา เราจึงต้องเห็นคุณค่าของเขาให้มากที่สุด ต้องยกให้เขาเป็นครู เรียนรู้จากเขาให้มากที่สุด
    "ในทางวิชาการ ตัวอย่างยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งทำให้เรามีข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น แมลงทุกตัวจึงมีความสำคัญ และสามารถให้ข้อมูลแก่เราได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเขตกระจายพันธุ์ ปริมาณ ความหลากหลาย ถ้าเราให้แมลงตัวใดตัวหนึ่งแก่ใครไป ความถูกต้องทางวิชาการจะลดลงทันที ยกตัวอย่างเช่น เรามีแมลงซ้ำกันสามตัว ตัวหนึ่งได้มาจากกรุงเทพฯ ตัวหนึ่งจากประจวบคีรีขันธ์ อีกตัวหนึ่งจากสงขลา ทั้งสามตัวสามารถบอกเขตการแพร่กระจายของแมลงชนิดนี้ได้ว่า มีตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงสงขลา ถ้าเราให้ตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ให้ตัวจากสงขลาไป เวลาเราเขียนรายงานเขตกระจายพันธุ์ เราก็บอกแต่ว่าแมลงชนิดนี้พบเฉพาะกรุงเทพฯ ถึงประจวบคีรีขันธ์เท่านั้น หรือถ้าแมลงสามตัวนี้ จับมาจากพื้นที่เดียวกัน แต่วันเวลาต่างกัน เราก็นำมาวิเคราะห์ได้ว่า แมลงชนิดนี้ยังคงไม่สูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัยเดิม" 
    เราตระเวนเก็บตัวอย่างแมลงตามลำธารจนใกล้ค่ำ จึงกลับไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าที่รีสอร์ตใกล้อุทยาน แล้วออกมาจับแมลงรอบดึกกันอีกครั้ง 
    "แมลงมีทั้งพวกที่ใช้ชีวิตในตอนกลางวันและกลางคืน การเก็บตัวอย่างจึงต้องทำทั้งสองช่วงเวลา ตอนกลางวันเราจะเก็บตัวอย่างแมลงตามลำธาร และต้นพืช ใช้สวิงเป็นอุปกรณ์จับ ส่วนกลางคืนเราจะใช้กับดักแสงไฟเป็นเครื่องล่อแมลงให้มาเล่นไฟ" 
(คลิกดูภาพใหญ่)    กับดักแสงไฟ หรือ light trap ทำจากผ้าขาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๔-๖ ตารางเมตร ผูกติดกับท่อพลาสติกที่ประกอบเป็นกรอบสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากับผืนผ้า ด้านบนติดหลอดไฟนีออนและหลอดแบล็กไลท์ (black light) เวลาใช้งานก็ตั้งจอผ้าขาวขึ้นให้หลอดไฟอยู่ด้านบน ดูคล้ายจอหนังกลางแปลงขนาดย่อม 
    ตกค่ำ ปฏิบัติการล่อแมลงก็เริ่มต้นขึ้น แสงไฟนีออนที่กระจายออกไป เป็นเสมือนมนต์เรียกแมลงน้อยใหญ่ ให้บินตรงมายังที่เดียวกัน ผีเสื้อกลางคืนหน้าตาคล้ายกันสามสี่ตัว เกาะนิ่งอยู่บนจอผ้าขาว 
    "เดี๋ยวนี้ผีเสื้อและแมลงสวย ๆ ไม่ค่อยมีให้เห็นนักหรอกค่ะ เพราะแมลงสวย ๆ นั้นชอบอยู่ตามป่าสมบูรณ์ แต่เดี๋ยวนี้พื้นที่ป่าเหลือน้อยลง แมลงก็เลยน้อยลงตามไปด้วย และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ แมลงสวย ๆ ถูกจับไปขายต่างประเทศเยอะมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เราจึงไม่ค่อยพบแมลงสวย ๆ เท่าไหร่ อย่างด้วงกว่างดาว เมื่อก่อนขึ้นไปดอยปุยทีไรก็เห็นเต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้หาดูยาก นาน ๆ จะพบสักตัว" 
    อาจารย์องุ่นชวนเราคุยระหว่างนั่งรอแมลงมาเล่นแสงไฟ และยังเล่าต่อไปถึงวิธีการซื้อขายแมลงว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีนายทุนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น นำอุปกรณ์จับแมลง มาแจกจ่ายชาวบ้านทางภาคเหนือ พร้อมภาพแมลงที่ต้องการ มีราคาระบุมาใต้ภาพเสร็จสรรพ ชาวบ้านเห็นว่าเป็นงานที่รายได้ดี จึงหันมายึดอาชีพจับแมลงจากป่ามาขาย 
    การค้าแมลงมีทั้งแมลงที่ยังมีชีวิต เช่น ด้วงคีม ด้วงปีกแข็งที่มีเขี้ยวยื่นไปด้านหน้าคล้ายคีม เป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมของเด็กญี่ปุ่น ราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น ส่วนแมลงที่ตายแล้ว อย่างผีเสื้อ และด้วงชนิดอื่น ๆ ราคาขายจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความสวยงามและความหายาก 
    ชาวญี่ปุ่นนั้นคลั่งไคล้การสะสมแมลงมาก แต่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีป่าอุดมสมบูรณ์เหมือนเมืองไทย ชาวญี่ปุ่นจึงมากว้านซื้อแมลงสวยงามของประเทศไทยไปจำนวนมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า แมลงจากเมืองไทยที่ถูกชาวต่างชาติซื้อไปนั้น อยู่ที่ญี่ปุ่นเสียเกือบครึ่ง
(คลิกดูภาพใหญ่)    สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ ดร. องุ่นตัดสินใจที่จะเริ่มต้นงานอนุรักษ์แมลงอย่างจริงจัง
    "ได้ไปคุยกับชาวบ้านแถวป่าอุทยานทางภาคเหนือ เห็นเขาจับแมลงเก็บไว้เป็นลัง ๆ รอให้พ่อค้ามารับซื้อ ก็ตกใจมาก จึงคิดว่าเราคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว ถ้าแมลงถูกจับไปมากขนาดนี้ อีกหน่อยจะต้องสูญพันธุ์แน่ ๆ และถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยก็จะสูญเสียอะไรอีกมากมายตามมา เพราะแมลงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะแมลงสวยงามมักพบในป่าที่สมบูรณ์ บางชนิดเป็นตัวห้ำ บางชนิดช่วยพรวนดิน บางชนิดช่วยผสมเกสรดอกไม้ ถ้าแมลงเหล่านี้สูญพันธุ์ไป ป่าก็จะเสียสมดุลแน่ ๆ" 
    ทว่าในเวลานั้นความคิดดังกล่าว กลับไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องพบเจออุปสรรคมากมาย 
    "หลายคนมองว่าชีวิตแมลงสั้นมาก ถ้าไม่ถูกจับไปก็ต้องตายอยู่แล้ว ไปอนุรักษ์ทำไมกัน แต่อาจารย์กลับมีความเห็นว่า แมลงที่สวยงามและหายากบางชนิด มีอายุได้ถึงสามสี่ปี และแมลงแต่ละชนิด ก็มีบทบาทหน้าที่ต่อธรรมชาติ ถ้าเราจับไปตอนที่มันยังไม่ได้ผสมพันธุ์ แมลงชนิดนั้นก็อาจสูญพันธุ์ได้ ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศ ที่สิ่งมีชีวิตต่างเกื้อกูลกันและกัน เมื่อไปปรึกษากรมป่าไม้ กรมป่าไม้ก็บอกว่าอนุรักษ์ไม่ได้ เพราะในสมัยนั้นแมลงไม่ได้จัดเป็นสัตว์ป่าใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า" 
ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์  (คลิกดูภาพใหญ่)     แต่จากความพยายาม ไม่ย่อท้อ ท้ายที่สุด ดร. องุ่นก็สามารถผลักดันให้แมลงถูกผนวกเข้าไว้ใน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้ในที่สุด 
    "พอทางกรมป่าไม้บอกว่า พ.ร.บ. เก่าไม่นับแมลงอยู่ในสัตว์ป่า เลยอนุรักษ์ไม่ได้ เราก็เลยบอกว่าถ้าอย่างงั้นก็เพิ่มเข้าไปสิ กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้นมา เราสามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ ถ้ามันจำเป็นจริง ๆ เราพยายามเล่าสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ฟัง ในที่สุด พ.ร.บ. ฉบับใหม่จึงรวมแมลง เข้าไว้ในความหมายของคำว่าสัตว์ป่าด้วย หลังจากนั้นก็ให้เรากำหนดชนิดแมลงที่ต้องการอนุรักษ์" 
   ปัจจุบัน พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ มีรายชื่อแมลงอนุรักษ์รวมอยู่ด้วย ๑๓ รายการ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) และในอนาคต หลังจากตรวจพบว่าแมลงชนิดไหนใกล้สูญพันธุ์ ก็สามารถเพิ่มรายชื่อเข้าไปได้อีก โดยแมลงเหล่านี้ จะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับสัตว์ป่าขนาดใหญ่ อย่างช้าง กระทิง เก้ง กวาง ฯลฯ
    เวลาผ่านไปจนใกล้ห้าทุ่ม แมลงที่ติดบนจอผ้าขาวมีอยู่เพียงไม่กี่สิบตัว อาจารย์องุ่นจึงบอกให้ทีมงานเลือกเก็บตัวอย่างแมลง ชนิดที่ไม่ซ้ำกัน และเก็บข้าวของกลับที่พัก เช้าวันรุ่งขึ้นก็นำแมลงทั้งหมด กลับพิพิธภัณฑ์แมลงที่เก่าแก่ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 
ผีเสื้อไกเซอร์ (คลิกดูภาพใหญ่)

พิพิธภัณฑ์แมลงแห่งแรกของไทย

    เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีก่อน กลุ่มชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวยุโรป ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ความสนใจกับการศึกษาแมลงในเมืองไทยเป็นอย่างมาก ในยามว่าง พวกเขาจะเดินทางออกไปเก็บตัวอย่างแมลงจากที่ต่าง ๆ และนำมาศึกษาตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ งานศึกษาแมลงของไทยในอดีต ผู้ค้นพบแมลง จึงเป็นชาวต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ในปี ๒๔๕๙ เรื่องราวเกี่ยวกับแมลงเมืองไทย ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของไทยเป็นครั้งแรก เป็นผลงานของ Mr. E.J. Godfrey ชาวอังกฤษผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบราชวิทยาลัย ชายผู้นี้เก็บสะสมผีเสื้อเป็นงานอดิเรก จนมีคอลเล็กชันผีเสื้อเมืองไทยนับร้อยชนิด ก่อนกลับบ้านเกิดในอีกหลายปีต่อมา เขาได้ขายคอลเล็กชันดังกล่าวให้แก่พิพิธภัณฑ์แมลง กรมวิชาการเกษตร คอลเล็กชันของ Godfrey ถือเป็นคอลเล็กชันผีเสื้อที่เก่าที่สุดในเมืองไทย 
    งานกีฏวิทยาของเมืองไทย เริ่มต้นอย่างจริงจังในยุคของ Mr. W.R.S. Ladell ชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการ ในกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อปี ๒๔๖๙ ชายผู้นี้ให้ความสนใจ กับการเก็บรวบรวมตัวอย่างแมลงในเมืองไทยอย่างจริงจัง เขาเป็นคนขอซื้อคอลเล็กชันผีเสื้อจาก Godfrey และนำมารวมกับแมลงที่เขาสะสมไว้ทั้งหมด จัดตั้งพิพิธภัณฑ์แมลงแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น
    จนกระทั่งปี ๒๔๗๘ งานศึกษาแมลงโดยคนไทยจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ หนึ่งในสองคนไทยรุ่นแรก (อีกท่านหนึ่งคือ ดร. คลุ้ม วัชโรบล) ที่เดินทางไปเรียนกีฏวิทยา ในต่างประเทศเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย และสานต่องานด้านกีฏวิทยาต่อจาก Ladell จนงานกีฏวิทยาพัฒนาไปไกลทัดเทียมนานาประเทศ 

(คลิกดูภาพใหญ่)    ความมุ่งหมายเริ่มแรกของการตั้งแผนกกีฏวิทยาขึ้นมา ก็คือ ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อรวบรวมตัวอย่างแมลงในประเทศไทย ให้เป็นแหล่งความรู้ของคนไทย และในเวลาต่อมาพบว่า แค่การเก็บรวบรวมแมลงนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จำเป็นต้องทำงานป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชควบคู่ไปด้วย  งานของแผนกกีฏวิทยา จึงแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ งานด้านพิพิธภัณฑ์ และงานด้านป้องกันกำจัด 
    ม.ร.ว. จักรทองเห็นว่า การเก็บตัวอย่างแมลงไว้ในพิพิธภัณฑ์ ๆ เป็นสิ่งที่ดี เพราะเวลาเกิดโรคแมลงระบาด เราจะได้รู้ทันทีว่าแมลงชนิดนั้นเป็นชนิดใด การป้องกันกำจัดก็จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่านจึงเริ่มออกเก็บตัวอย่างแมลง จากสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย นำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แม้ว่าการเดินทางจะยากลำบากเพียงใด ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ในหนังสือที่ระลึก พิธีเปิดตึกจักรทอง กองกีฏและสัตววิทยา ท่านได้เล่าประสบการณ์การเดินทางไปเก็บตัวอย่างแมลงไว้ว่า 
    "สมัยก่อนการเดินทางแต่ละครั้งใช้เวลาเป็นเดือน และเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผ่านท้องที่ทุรกันดาร ต้องเดินทางทั้งรถ เรือ ช้าง ม้า หรือเกวียน เช่น การเดินทางไปเก็บตัวอย่างแมลง แถวเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี ต้องเดินทางโดยเรือไปตามลำน้ำแควน้อย คอยระวังภัยจากจระเข้ในแม่น้ำ และขี่ช้างไปจนถึงพระเจดีย์สามองค์ การเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางครั้งไม่มีน้ำดื่ม ผู้ร่วมคณะบางคน ต้องดื่มน้ำที่ขังอยู่ตามรอยเท้าวัว และควายโดยใช้ผ้าเช็ดหน้าปูแล้วดูดน้ำกิน"
    ม.ร.ว. จักรทองให้ความสำคัญกับพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างมาก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านเกรงว่าพิพิธภัณฑ์จะถูกระเบิดเสียหาย จึงจัดการขนย้ายตู้เก็บแมลง ไปไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยอยู่หลายครั้ง และทุกครั้ง ท่านจะต้องมองหาทางหนีทีไล่เอาไว้เสมอ เช่นตอนย้ายพิพิธภัณฑ์ไปหลบลูกระเบิด ที่สถานีทดลองพืชสวนบางกอกน้อย ท่านเลือกตั้งพิพิธภัณฑ์ไว้ที่ศาลาริมน้ำ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้ย้ายของในพิพิธภัณฑ์ลงเรือได้ทันเวลา
(คลิกดูภาพใหญ่)    หลังจากเหตุการณ์บ้านเมืองสงบ ม.ร.ว. จักรทอง ได้ริเริ่มพัฒนางานกีฏวิทยาต่อไปอีกหลายสาขา โดยเฉพาะงานอนุกรมวิธานแมลง ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นงานพื้นฐานที่สำคัญ ของการศึกษาด้านแมลง โดยตัวท่านเองก็เป็นนักอนุกรมวิธาน ที่ศึกษาแมลงทับทั้งไทยและต่างประเทศ จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก 
    ผลจากการทุ่มเทแรงกายแรงใจ ให้แก่งานด้านอนุกรมวิธานมาตลอด นักกีฏวิทยารุ่นหลัง จึงยกย่องให้ท่านเป็น "บิดาแห่งอนุกรมวิธานแมลง" ของเมืองไทย นอกจากนี้ในปี ๒๕๑๒ ท่านยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านพัฒนางานด้านกีฏวิทยาต่อไป จนกระทั่งสิ้นอายุขัย
    ด้วยเหตุว่างานอนุกรมวิธานเป็นงานสำคัญที่ ม.ร.ว. จักรทองและผู้บริหารรุ่นบุกเบิก ให้ความสำคัญมาก เมื่อ ดร. อนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เข้ามาสืบทอดงานในเวลาต่อมา จึงสนับสนุนให้มีการวิจัยทางอนุกรมวิธาน และจัดหาทุนให้นักวิชาการรุ่นใหม่ ได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนางานด้านนี้ ให้ก้าวหน้าขึ้น และหนึ่งในนักวิชาการที่ได้ทุน ไปเรียนด้านกีฏวิทยาในเวลานั้นก็คือ ดร. องุ่น ลิ่ววานิช นักอนุกรมวิธานด้านผีเสื้อคนเดียวของประเทศไทย 
    "เหตุที่ ดร. อนุวรรตน์ส่งไปเรียนด้านผีเสื้อ เพราะเห็นว่าศัตรูพืชในเมืองไทย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นหนอนผีเสื้อ และบ้านเรายังไม่มีใครเรียนจบด้านนี้โดยตรง ถ้ามีนักอนุกรมวิธานด้านนี้ในเมืองไทย ก็จะช่วยเหลือเกษตรกรได้มาก แต่ใจจริงอาจารย์ไม่อยากเรียนผีเสื้อ เพราะผีเสื้อมีหลายชนิด แต่ละชนิดหน้าตาเหมือน ๆ กัน ต้องผ่าตัดดูอวัยวะภายใน ถึงจะรู้ว่าเป็นคนละชนิดกัน จำแนกยากมาก ๆ"
(คลิกดูภาพใหญ่)    แต่หลังจากได้ศึกษาด้านผีเสื้อที่ Imperial College of Science and Technology, London University และได้ฝึกงานที่ Natural History Museum ประเทศอังกฤษ ดร. องุ่น ก็เริ่มเห็นความสำคัญของงาน อนุกรมวิธานผีเสื้อมากขึ้น โดยเฉพาะผีเสื้อหนอนกอสกุล Scirpophaga ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจ ของหลายประเทศ เมื่อกลับถึงเมืองไทย จึงทุ่มเทชีวิตให้แก่งานอนุกรมวิธานผีเสื้อ รวมทั้งออกเก็บตัวอย่างแมลง เข้ามาเพิ่มเติมในพิพิธภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ จากการทำงานของบุคลากร ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคปัจจุบัน ทำให้พิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีจำนวนแมลงมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นอันดับสอง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รองจากอินโดนีเซีย) คือมีแมลงที่ทราบชื่อแล้ว ๘,๐๗๑ ชนิด และที่รอการจำแนกชื่ออีกนับแสนชนิด
    ปัจจุบันงานของกองกีฏและสัตววิทยา ยังคงแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คืองานพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำหน้าที่เก็บตัวอย่าง และจำแนกชนิดแมลง และงานป้องกันกำจัด ที่ผ่านมา ตัวอย่างแมลงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เก็บไว้เพื่อให้นักวิจัยศึกษาเท่านั้น แต่อีกไม่นานจะเปิดให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ โดยจะนำแมลงบางส่วน ออกมาจัดแสดงในห้องนิทรรศการชั้นล่าง ตึกจักรทอง กรมวิชาการเกษตร (ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) 
    สำหรับ ดร. องุ่น แม้ว่าจะเกษียณราชการตั้งแต่ปีก่อน ท่านกลับไม่เคยคิดจะวางมือจากการทำงาน ตรงกันข้าม ไฟในการทำงานของหญิงวัยเกษียณท่านนี้กลับยิ่งคุโชน ด้วยต้องการนำความรู้ และประสบการณ์ที่สั่งมายาวนานกว่า ๓๐ ปีมาทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ
(คลิกดูภาพใหญ่)

ความปรารถนาของนักอนุกรมวิธานวัยเกษียณ 

    แม้ตลอดเวลากว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แมลง งานวิจัยด้านกีฏวิทยาจะขยายงานออกไปหลายสาขา และให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ทว่าจำนวนบุคลากรทางด้านอนุกรมวิธานแมลง กลับยังไม่เพียงพอต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง การส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก ซึ่งใช้ความรู้ทางอนุกรมวิธานแมลง มาเป็นเครื่องมือในการกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ 
    ดร. องุ่นอธิบายรูปแบบการกีดกันสินค้าเกษตร ในตลาดโลกเสรีให้ฟังว่า
    "ปัจจุบันประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO จะมีข้อตกลงร่วมกันว่า ประเทศในกลุ่มสมาชิก จะต้องเปิดเสรีการค้า โดยไม่นำภาษี มาเป็นกำแพงกีดกันสินค้า นโยบายนี้ช่วยให้ประเทศในกลุ่มสมาชิก ส่งสินค้าไปขายได้สะดวกขึ้น แต่เนื่องจากทุกประเทศ ต่างต้องการแต่ส่งออก ไม่ต้องการนำเข้า แต่ละประเทศจึงพยายามหามาตรการ กีดกันสินค้ารูปแบบต่าง ๆ มาใช้ และมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้ คือ มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช หรือเรียกย่อ ๆ ว่า SPS (Sanitary and Phytosanitary Measures) ซึ่งเป็นมาตรการกีดกันการค้า ที่อาศัยความรู้ทางด้านอนุกรมวิธานแมลง มาเป็นเครื่องมือ ในการสร้างกำแพงกีดกันทางการค้า" 
    มาตรการดังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตร ส่งบัญชีรายชื่อแมลงศัตรูพืช (pest list) ของพืชชนิดนั้นแนบไปด้วย เพื่อที่ประเทศปลายทาง จะได้นำรายชื่อแมลงเหล่านั้น ไปวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช (pest risk analysis) ว่าเป็นแมลงที่เป็นอันตรายต่อพืช ในประเทศตนหรือไม่ เพราะสินค้าเกษตรมักมีแมลงศัตรูพืชติดไปด้วย ถ้าประเทศนั้นมีแมลงชนิดนั้นอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มี และเห็นว่าแมลงศัตรูพืชชนิดนั้น อาจเป็นอันตรายต่อพืชในประเทศตน ประเทศปลายทางก็สามารถปฏิเสธสินค้าจากประเทศต้นทางได้ 

(คลิกดูภาพใหญ่)    "ตอนนี้สินค้าเกษตรหลายชนิดของไทยไม่สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะในประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรป เนื่องจากเราไม่ได้เตรียมความพร้อม ในเรื่องการทำบัญชีรายชื่อศัตรูพืชมาก่อน แต่ในเวลาเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ กลับส่งสินค้าเกษตรเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้อย่างง่ายดาย จะเห็นได้ว่ามีผัก และผลไม้สดจากต่างประเทศ วางขายเกลื่อนตามท้องตลาด ซึ่งเป็นการแย่งตลาดสินค้าจากเกษตรกรไทย" ดร. องุ่น กล่าวถึงปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
    สาเหตุที่ไทยไม่มีบัญชีรายชื่อศัตรูพืช ก็เนื่องมาจากเรายังขาดข้อมูลความรู้ ทางวิชาการด้านอนุกรมวิธานแมลง ทั้งแมลงของไทย และต่างประเทศ เราจึงไม่มีข้อมูล ที่จะตอบโต้ประเทศที่กีดกันสินค้าของเราได้ 
    บุคคลสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ ก็คือนักอนุกรมวิธานแมลง ซึ่งต้องทำหน้าที่เตรียมบัญชีรายชื่อ ศัตรูพืชส่งออกทุกชนิดให้พร้อม เมื่อผู้ส่งออกต้องการส่งสินค้าชนิดใด ไปขายยังต่างประเทศ ก็สามารถแนบบัญชีรายชื่อที่ถูกต้องไปได้ทันที ไม่ต้องเสี่ยงว่าสินค้าจะถูกตีกลับ ดังเช่นทุเรียนไทย ที่ส่งไปขายยังออสเตรเลีย แต่ถูกตีสินค้ากลับอยู่บ่อย ๆ เพียงเพราะเราจัดทำบัญชีรายชื่อแมลงไม่ถูกต้อง เช่น ส่งรายชื่อแมลงศัตรูพืชบางชนิด ที่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยตั้งนานแล้วไปให้ จำแนกชื่อชนิดแมลงผิด กว่าจะสำรวจรายชื่อแมลงที่ถูกต้องจริง ๆ และแก้ปัญหานี้ได้ก็กินเวลานานนับสิบปี การสร้างนักอนุกรมวิธาน และองค์ความรู้ด้านแมลง ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้ส่งออกนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ เป็นทางออกของปัญหา แต่ที่น่าหนักใจก็คือ แมลงมีมากมายหลายชนิด หากแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ก็มีจำนวนถึง ๒๐ กว่ากลุ่ม ขณะที่บ้านเรามีนักอนุกรมวิธานแมลงทั่วประเทศไม่ถึง ๑๐ คน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านแมลงเพียงแค่ ๙ กลุ่ม คือ ผีเสื้อกลางวัน ด้วงปีกแข็ง ตัวชีปะขาว เพลี้ยไฟ จักจั่น ผึ้ง แมลงวัน แมลงติดหิน และหนอนปลอกน้ำ ยังเหลือแมลงอีกหลายกลุ่ม เช่น ตั๊กแตน ปลวก มวน และเพลี้ยต่าง ๆ อีกมาก ฯลฯ ที่ต้องการนักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญ การจัดทำบัญชีรายชื่อแมลงจึงไม่ครบถ้วน และแมลงแต่ละกลุ่ม มีจำนวนชนิดแมลงมหาศาล ผู้เชี่ยวชาญคนเดียว ไม่สามารถรับผิดชอบได้ทั้งหมด
(คลิกดูภาพใหญ่)    "สมมุติว่าเราต้องการสำรวจแมลงศัตรูส้มโอ ถึงเราจะจับแมลงมาได้ทั้งหมด แต่เราก็ไม่สามารถจำแนกชนิดได้อยู่ดี เพราะแมลงศัตรูส้มโอ มีหลายอย่าง ทั้งจักจั่น เพลี้ยไฟ ด้วงปีกแข็ง แต่ผู้เชี่ยวชาญของเราไม่ครบ และเอกสารวิชาการต่าง ๆ ก็ไม่มีให้ตรวจสอบ อย่างอาจารย์เรียนจบด้านผีเสื้อก็จริง แต่ผีเสื้อมีตั้งหลายร้อยสกุล (Genus) บางสกุลไม่สามารถตรวจสอบได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสกุลนั้น ๆ จากต่างประเทศมาช่วย หรือต้องส่งไปจำแนกที่บริทิชมิวเซียม ซึ่งเสียเงินค่าจำแนกชื่อชนิดละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท บางครั้งถึงส่งไปเขาก็ไม่สามารถจำแนกได้ เพราะไม่มีนักอนุกรมวิธานด้านนั้นโดยเฉพาะ ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างนักอนุกรมวิธานขึ้นมาเอง"
    ทว่าระบบราชการของไทย กลับไม่สนับสนุนเรื่องนี้เท่าใดนัก เมื่อนักอนุกรมวิธานคนไหนเกษียณ ตำแหน่งนั้นมักถูกยุบทิ้ง ทำให้นักอนุกรมวิธานที่มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งน้อยลงไปอีก ปัจจุบันกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร จึงมีนักอนุกรมวิธานอยู่เพียงห้าคน (ไม่รวมอาจารย์องุ่นที่เพิ่งเกษียณเมื่อปี ๒๕๔๓) ทำให้ขณะนี้ไม่มีนักอนุกรมวิธาน ที่รับผิดชอบในการจำแนกชนิดผีเสื้อ
    ผิดกับประเทศญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนชนิดแมลงน้อยกว่าประเทศไทยมาก กลับให้ความสำคัญกับนักอนุกรมวิธาน และสถาบันด้านแมลงมากเป็นพิเศษ กล่าวคือมีนักอนุกรมวิธานแมลง มากถึง ๑๔๕ คน ครอบคลุมอันดับแมลงเกือบทุกอันดับ (Order) บางอันดับมีนักอนุกรมวิธานมากกว่า ๒๐ คน อาทิ ด้วงปีกแข็งมีถึง ๓๗ คน แมลงวัน ๓๕ คน ผีเสื้อและผึ้ง ๒๑ คน นอกจากนี้ยังมีสถาบันจัดทำบัญชีรายชื่อแมลง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Museum) ซึ่งรวมสิ่งมีชีวิตประเภทต่าง ๆ เอาไว้ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังมีพิพิธภัณฑ์แมลงของตนเอง รวมทั้งมีหน่วยงานที่คอยตอบคำถามด้านแมลงโดยเฉพาะ ที่สำคัญ ประเทศญี่ปุ่นมีงบประมาณสนับสนุน ให้นักอนุกรมวิธานของตน เดินทางไปดูแมลงต้นแบบ (type specimen) ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการทำการวิจัยทางอนุกรมวิธานแมลง ชาวญี่ปุ่นจึงมักเป็นผู้ค้นพบ และตั้งชื่อให้แมลงชนิดใหม่ของโลกอยู่เสมอ และญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีมาตรการการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างเข้มงวด
(คลิกดูภาพใหญ่)    "ในการจัดแนกชนิดแมลง เริ่มต้นเราต้องนำแมลงที่พบมาเทียบเคียงกับตำราต่าง ๆ ที่มีอยู่ว่าตรงกับชนิดที่มีคนเคยศึกษามาก่อนหรือไม่ ถ้าค้นตำราจนครบทุกเล่มแล้ว เห็นว่าไม่มีแมลงตัวไหนเหมือนกับตัวนี้เลย เราก็เริ่มตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ก่อนว่า น่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลก แต่เราจะไม่สามารถประกาศว่า เป็นแมลงชนิดใหม่ได้ จนกว่าเราจะได้เดินทางไปดูแมลงต้นแบบ ที่เก็บไว้ตามประเทศต่าง ๆ เสียก่อน เช่นอาจารย์ศึกษาผีเสื้อสกุล Scirpophaga ในสกุลนี้มีคนเคยจำแนกไว้แล้วประมาณ ๔๐ ชนิด เราก็ดูว่ามีใครจำแนกไว้บ้าง เป็นชาวอะไร คอลเล็กชันอยู่ที่ไหนบ้าง หลังจากนั้นก็ตามไปดูคอลเล็กชันของเขา เพราะถ้าไม่ไปดูแมลงต้นแบบ ดูแต่ภาพในตำรา โอกาสผิดพลาดมีสูงมาก ถ้าเห็นว่าแมลงของเรา ไม่เหมือนกับแมลงต้นแบบเลย เราก็ประกาศตั้งชื่อใหม่ บรรยายลักษณะแมลงของเราอย่างละเอียด แล้วส่งไปตีพิมพ์ในวารสารที่ทั่วโลกยอมรับ ถ้าไม่มีใครโต้แย้ง ก็แสดงว่าแมลงของเราเป็นแมลงชนิดใหม่ แมลงตัวแรกที่ได้รับการตั้งชื่อนี้ จะถูกเรียกว่าแมลงต้นแบบ ส่วนใหญ่จะเก็บไว้ที่ประเทศแม่ของผู้ทำการวิจัย ประเทศเจ้าอาณานิคม หรือพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดเก็บดี เพราะแมลงต้นแบบ ถือเป็นแมลงที่มีคุณค่ามาก ในประเทศญี่ปุ่นจะเก็บไว้ในห้องนิรภัย ที่ป้องกันแผ่นดินไหวและไฟไหม้"
    ที่ผ่านมา ดร. องุ่น เป็นนักอนุกรมวิธานด้านผีเสื้อเพียงคนเดียว ที่มีโอกาสได้ตั้งชื่อผีเสื้อชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด เช่น ผีเสื้อหนอนกอทองใหญ่ หรือ Scirpophaga tongyaii Lewvanich ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ม.ร.ว. จักรทอง ทองใหญ่ ผู้บุกเบิกงานอนุกรมวิธานแมลงของไทย 
(คลิกดูภาพใหญ่)    "ตอนที่สำรวจพบว่าเป็นชนิดใหม่ อาจารย์ฝึกงานอยู่ที่ Natural History Museum พอดี ตอนนั้นได้ทุนเดินทางไปดูแมลงต้นแบบ ในประเทศยุโรปจนครบ ทำให้สามารถประกาศว่า เป็นแมลงชนิดใหม่ได้ หลังจากกลับมาเมืองไทย ก็ไม่เคยประกาศพบแมลงชนิดใหม่ได้อีกเลย เพราะไม่มีทุนเดินทางไปดูแมลงต้นแบบ บางคนอาจมองว่า เราอยากไปเที่ยว แต่จริง ๆ เราอยากได้ความรู้ด้านแมลง และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศมากกว่า" 
    วันนี้ แม้ ดร. องุ่นจะเกณียณอายุราชการมาแล้วเกือบปี แต่นักอนุกรมวิธานท่านนี้ ยังพร้อมจะทุ่มเทความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ให้แก่งานอนุกรมวิธานแมลงต่อไป โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนใด ๆ 
    "จิตใจของพวกอนุกรมวิธานที่แท้จริง จะสนุกกับการทำงานเสมอ ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไร ความถูกต้องในการจำแนกชนิดแมลง ยิ่งมากเท่านั้น อย่างที่ Natural History Museum นักอนุกรมวิธานอายุ ๘๐ ปีก็ยังมาทำงาน ด้วยความเพลิดเพลิน โดยไม่หวังผลตอบแทนทางด้านเงินทอง เราเกษียณอายุแล้ว มีเงินพอกินพอใช้ เราต้องการอุทิศเวลา ความรู้ที่เราคิดว่ามีประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ผลตอบแทนที่เราต้องการ คือให้ประเทศไทยส่งออกสินค้าทางการเกษตรได้ ผลตอบแทนนี้ไม่ได้เกิดกับเราโดยตรง แต่เกิดกับประเทศชาติมากกว่า"

(คลิกดูภาพใหญ่)

แมลงอนุรักษ์

รายชื่อแมลงอนุรักษ์

    รายชื่อแมลงอนุรักษ์ ๑๓ รายการ ที่ประกาศอยู่ในบัญชีท้ายกฎกระทรวงฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๓๑ ก ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ (ในอนาคตอาจมีจำนวนมากขึ้น หากตรวจพบว่ามีแมลง อยู่ในเกณฑ์การกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์) 
    ๑. ด้วงกว่างดาว 
    เป็นด้วงขนาดใหญ่ ตัวผู้มีขาหน้ายาวสวยงาม ตัวเมียขาหน้าสั้น ด้วงชนิดนี้พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออก
    ๒. ด้วงคีมยีราฟ
    พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออก ด้วงคีมหรือด้วงเขี้ยวกางในประเทศไทยมีหลายชนิด และมีรูปร่างแปลกสวยงาม จึงมีการล่าจับกันมาก
    ๓. ด้วงดินขอบทองแดง
    ด้วงดินที่มีขนาดใหญ่ ตัวสีดำ แต่ขอบบริเวณส่วนอกมีเหลือบเป็นสีทองแดง พบในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
    ๔. ด้วงดินปีกแผ่น 
    ด้วงดินที่มีปีกหน้าแบนบางเป็นแผ่นทำให้ดูสวยและแปลก เป็นแมลงที่หายาก พบเฉพาะทางภาคใต้
    ๕. ผีเสื้อกลางคืนค้างคาว 
    ผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ บินเร็วคล้ายค้างคาว พบทุกภาค 

(คลิกดูภาพใหญ่)     ๖. ผีเสื้อกลางคืนหางยาว
    ผีเสื้อขนาดใหญ่ปลายปีกหลังยาวลงมา ส่วนใหญ่มีสีเหลือง
    ๗. ผีเสื้อไกเซอร์
    เป็นแมลงอนุรักษ์ที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข ๒ ของอนุสัญญา CITES* ในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ ผีเสื้อไกเซอร์ 
    ๘. ผีเสื้อถุงทอง
    เป็นแมลงอนุรักษ์ที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข ๒ ของอนุสัญญา CITES ในประเทศไทยที่พบแล้วมีอยู่หลายชนิด เช่น ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้ ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ถึงแม้ว่าผีเสื้อถุงทองบางชนิดสามารถนำมาเลี้ยงได้ แต่ไม่ได้ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในเชิงธุรกิจ 
    ๙. ผีเสื้อนางพญา 
    เป็นผีเสื้อกลางวันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบ ๓ ชนิด คือ ผีเสื้อนางพญาพ่า ผีเสื้อนางพญาเขมร และผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ 
    ๑๐. ผีเสื้อภูฏาน
    เป็นแมลงอนุรักษ์ที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข ๒ ของอนุสัญญา CITES ในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ ผีเสื้อภูฏานหรือผีเสื้อเชียงดาว พบเฉพาะบนยอดดอยเชียงดาว แต่ในปัจจุบันไม่เคยพบอีกสันนิษฐานว่าคงสูญพันธุ์ไปจากประเทศแล้ว 
    ๑๑. ผีเสื้อรักแร้ขาว
    เป็นผีเสื้อหายากอีกชนิดหนึ่ง บริเวณขอบปีกหลังมีสีขาว พบในแถบภาคกลาง
    ๑๒. ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้
    พบในภาคเหนือและภาคใต้ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะแตกต่างกัน
    ๑๓. ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว
    มีสีสวยงาม พบในภาคกลางและภาคใต้ 
  *Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการค้า ซึ่งพืชป่า และสัตว์ป่าที่กำลังสูญพันธุ์ 
(คลิกดูภาพใหญ่)

หลักเกณฑ์ในการกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์ 

    ๑. เป็นแมลงในกลุ่มที่มีการจับเพื่อการค้ามาก ซึ่งได้แก่พวกด้วงและผีเสื้อ
    ๒. เป็นแมลงหายาก โดยพิจารณาดูว่า แมลงพวกด้วงและผีเสื้อที่มีตัวอย่างเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตรนั้น ชนิดใดเป็นชนิดที่หายาก โดยเป็นชนิดที่จับได้เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีมาแล้ว แต่ต่อมาสำรวจไม่พบแมลงชนิดนั้นอีก หรือพบแต่มีปริมาณน้อยมาก จัดว่าเป็นแมลงที่หายาก
    ๓. เป็นแมลงที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อในอนุสัญญา CITES ในบัญชีหมายเลข ๒ ของอนุสัญญานี้มีรายชื่อแมลงที่พบในประเทศไทยด้วยสามรายการ คือ ผีเสื้อภูฏาน (Bhutanitis spp.) ผีเสื้อไกเซอร์ (Teinopalpus spp.) และผีเสื้อถุงทอง (Troides spp.) ดังนั้นจึงได้กำหนดแมลงทั้งสามชนิดนี้เข้าไว้ในรายชื่อแมลงอนุรักษ์ด้วย 


(คลิกดูภาพใหญ่)

แนวทางการอนุรักษ์แมลง

    ๑. กำหนดชนิดของแมลงให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองเพิ่มเติม
    ๒. ป้องกันการลักลอบจับแมลงในเขตป่าอนุรักษ์
    ๓. ควบคุมการส่งแมลงออกไปต่างประเทศ
    ๔. ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แมลงที่อนุรักษ์
    ๕. สร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์