สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔ "สุริโยไท บทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างปัจจุบันกับอดีต"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๘ เดือน สิงหาคม ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

มือถือสังหารกอริลลา

เกษร สิทธิหนิ้ว : รายงาน 
คิดถึงพล นิกร กิมหงวน : คลิกเข้ามาที่ชมรมนักอ่านสามเกลอ     นับจากที่ ป. อินทรปาลิต สร้าง พล พัชราภรณ์ และ นิกร การุณวงศ์ ออกมาให้คนไทยได้รู้จักในหนังสือ "อายผู้หญิง" เป็นตอนแรก กว่า ๖๐ ปีก่อน ความกะล่อนเฮฮาของสองหนุ่มสร้างเสียงหัวเราะ และได้รับการตอบรับจากคนอ่านอย่างรวดเร็ว ไม่นานนัก กิมหงวน ไทยแท้ (นามสกุลเดิมคือ ไทยเทียม), ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์, ประไพ, ประภา, นันทา, เจ้าคุณปัจจนึก, คุณหญิงวาด, ศักดิ์แห้ว โหระพากุล, เจ้าคุณประสิทธิ์, เจ้าคุณวิจิตรบรรณาการ, ลุงเชย และใคร ๆ อีกมายมาย ก็ทยอยออกมาอาละวาดบนแผงหนังสือ สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้อ่านทั่วประเทศ กลุ่มคนอ่านสามเกลอแพร่ขยายออกไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ทั้งหญิง ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ทุกชนชั้นฐานะ เรียกได้ว่ายุคนั้นแทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก "พล นิกร กิมหงวน"
   แม้ขณะนี้จะล่วงเลยมาถึง ๖๓ ปีและเจ้าของบทประพันธ์ได้ล่วงลับไปถึง ๓๓ ปีแล้ว แต่งานเขียนของเขาไม่ได้ล่วงลับตามไปด้วย ตรงกันข้ามกลับได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคนอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ได้รับการพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่านับครั้งไม่ถ้วนมาจนปัจจุบัน กล่าวได้ว่า "พล นิกร กิมหงวน" นั้น มี "แฟน" อยู่ทั่วประเทศ
   นับเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน ในบรรดานักอ่านเหล่านั้น -- หลายคนบอกว่าเขา "คลั่งไคล้" "สามเกลอ" ขณะที่บางคนนิยามความชอบของตัวเองว่า "บ้า" เลยทีเดียว -- และความ "บ้า" นั้นเอง ที่ผลักดันให้คนคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของเว็บไซต์ ที่รวบรวมข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ หัสนิยายชุด "สามเกลอ" ไว้มากที่สุด ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้งยังดึงดูดบรรดา "แฟน" ตัวจริงทุกรุ่นทุกวัยของสามเกลอ ให้มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย
   อภินันท์ วัฒนชีวโกศล เจ้าของเว็บไซต์ "ชมรมนักอ่านสามเกลอ" (www.samgler.org) เล่าถึงจุดเริ่มต้น ในการก่อตั้งเว็บไซต์ให้ฟังว่า
 (คลิกดูภาพใหญ่)    "ตอนแรกผมพยายามค้นหาเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับสามเกลอ เพราะเห็นว่าฝรั่งยังมีเว็บไซต์เกี่ยวกับหนังสือที่เขาสนใจ แต่ก็ไม่พบ ก็เลยมาคิดดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ก็เห็นว่าน่าจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล เพราะแต่ละคนก็จะมีโอกาสในการรับรู้ข้อมูล เกี่ยวกับสามเกลอที่แตกต่างกัน ถ้าเอาความรู้ที่แต่ละคนมีมาแลกเปลี่ยนกัน เราก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับสามเกลอเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ตอนแรกเพียงแค่ทำไว้ดูเล่น ใครจะเข้ามาก็ได้ ไม่เข้ามาก็ไม่เป็นไร แต่คิดว่าคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันน่าจะคุยกันง่าย สนิทสนมกันเร็ว เพราะอย่างน้อยที่สุด เราก็มีสิ่งที่คล้ายกันอย่างหนึ่ง คือชอบสามเกลอเหมือนกัน"
   "ชมรมนักอ่านสามเกลอ" เปิดตัวครั้งแรกเมื่อต้นเดือนพฤษจิกายน ๒๕๔๐ หลังจากนั้นไม่นาน เว็บไซต์ที่เจ้าตัว คิดว่าจะทำไว้ "ดูเล่น" นี่ก็ได้กลายเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัสนิยายชุดนี้ ตลอดจนกลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ของบรรดาคนรัก สามเกลอ มากหน้าหลายตา ต่างรุ่น ต่างวัย ทุกวันนี้ แม้เนื้อหาในเว็บไซต์จะยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ที่นี่ก็นับเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับ สามเกลอ ที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็ได้มาจากบรรดาสมาชิก "ชมรมนักอ่านสามเกลอ" หรือ "Samgler Reading Society" ที่ช่วยกันนำข้อมูล เกล็ดความรู้ ต่างๆ เกี่ยวกับ สามเกลอ มาเล่าสู่แลกเปลี่ยนกัน
     "เว็บไซต์สามเกลอคือการรวมตัวของคนที่รัก สามเกลอ หรือชมรมสามเกลอนั่นเอง ตอนนี้มีสมาชิก ๑,๐๗๗ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย อายุตั้งแต่ ๘ ถึงมากกว่า ๖๐ ปี อยู่ในเมืองไทยประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นที่เหลืออยู่ต่างประเทศ คนที่เข้ามามีทั้งที่เป็นแฟนเก่าและที่ไม่เคยรู้จักสามเกลอมาก่อน เว็บไซต์สามเกลอ เป็นเหมือนขุมทรัพย์ในการการค้นหา สามเกลอ ตอนที่หายาก ๆ ที่ใครหลายคนยังไม่เคยได้อ่านมาก่อน หรือคิดว่าสาบสูญไปแล้ว แต่อาจจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นจากสมาชิกคนใดคนหนึ่ง การได้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ คงเป็นจุดที่ทำให้ทุกคน ยินดีกระโดดลงมาร่วมการผจญภัย เพื่อค้นหาเรื่องราวแต่หนหลังร่วมกัน
   "ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะทำให้เราค้นพบ ได้รับรู้เรื่องราว ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับสามเกลอเพิ่มขึ้นทุกอาทิตย์ ทำให้คนที่ชอบสามเกลอเหมือนกันได้รู้จักกัน ได้อ่านสามเกลอตอนที่หายาก ๆ ซึ่งถ้าไม่ทำเว็บไซต์นี้ คงไม่มีวันได้อ่าน เช่น สามเกลอ ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือ สามเกลอ ที่พิมพ์ด้วยภาษาวิบัติทั้งเล่ม ซึ่งไม่มีการพิมพ์ใหม่อีกเลย โอกาสที่จะเหลือมาจนปัจจุบันมีน้อยเต็มที แต่ก็มีให้อ่านในเว็บไซต์นี้ หรืออย่างมีคนบ่นเข้ามามากว่า หนังสือชุด "สามเกลอ" ที่ตัวเองหรือญาติพี่น้อง เก็บสะสมไว้สูญหายไป เพราะมีคนเอาไปบริจาคบ้าง ชั่งกิโลขายบ้าง น้ำท่วมหรือปลวกกินบ้าง หากเราสามารถเอา สามเกลอ ตอนที่หายาก ๆ มาเก็บไวบนเว็บไซต์ ข้อมูลหรือหนังสือชุด สามเกลอ ก็จะไม่มีวันสูญหายอีกเป็นอันขาด
 (คลิกดูภาพใหญ่)    ไม่เพียงเนื้อหาตอนต่าง ๆ ของ สามเกลอ ที่มีให้แลกเปลี่ยนกันอ่านจำนวนมากเท่านั้น หากที่นี่ยังตลอดจน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่าง ๆ ที่อยู่ในสามเกลอให้ค้นหามากมายเช่น ลูกมะอึกหน้าตาเป็นอย่างไร สามเกลอเกี่ยวข้องกับฮอลีวูดอย่างไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้อ่านสามเกลอได้อรรสยิ่งขึ้น" คุณอภินันท์กล่าว
   ในหน้าหนึ่งของเว็บไซต์มีรูปไก่หลายพันธุ์ พร้อมคำอธิบายสรุปใจความว่า สามเกลอตอน "สามเกลอเลี้ยงไก่" "รัฐนิยม" หรือ "ปราบเมีย" จะพบว่ามีไก่ที่ร้องกระต๊าก ๆ เป็นพระเอกอยู่หลายตัว แต่สมัยนี้หาดูไก่เหล่านั้นไมได้แล้ว แต่ด้วยความพยายามในที่สุด ก็มีคนค้นเจอรูปของไก่พวกนี้ และเรื่องราวที่เกี่ยวกับสังคมไทยสมัยนั้น จึงเอามาเผยแพร่ในเว็บไซต์ให้คนอื่น ๆ ได้เห็นด้วย อีกหน้าหนึ่ง มีเรื่องราวของสามเกลอตอน "ผู้ดีตกยาก" ซึ่งเป็นต้นฉบับเดิม ก่อนที่สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา จะพิมพ์ซ้ำและถูกตัดออกไป ๑๗ หน้า หลังจาก webmaster ได้รับต้นฉบับเดิมจากสมาชิกคนหนึ่ง ก็จัดการพิมพ์ลงในเว็บไซต์ ให้สมาชิกคนอื่นๆ ได้อ่านกันถ้วนหน้า - - ข้อมูลอีกจำนวนมากนอกเหนือจากตัวอย่างที่ยกมา เป็นสิ่งยืนยันคำกล่าวของ webmaster ที่ว่ามีข้อมูลน่าสนใจมากมาย ที่คนรักสามเกลอไม่ควรพลาด
   "อยากให้มีสมาชิกที่อายุเกิน ๕๐ ปีมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะท่านเหล่านั้นเกิดทันยุคที่สามเกลอรุ่งเรือง คงจะมีเรื่องราวของสามเกลอตอนหายาก ๆ หรือข้อมูลเกี่ยวกับสังคมไทยสมัย สามเกลอ มาบอกกล่าวให้พวกเรา คนรุ่นหลังที่เกิดไม่ทันได้รับรู้ และอยากให้เว็บไซต์เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะนั่นหมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสามเกลอก็จะเพิ่มขึ้นด้วย" อภินันท์ วัฒนชีวโกศลกล่าว
     หัสนิยายสามเกลอที่ ป.อินทรปาลิต มีด้วยกันทั้งหมดกว่า ๑,๐๐๐ ตอน เป็นผลงานที่เขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา ๓๐ กว่าปี ท่ามกลาง "แฟน" ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จนกระทั่ง ป. อินทรปาลิต ถึงแก่กรรมในปี ๒๕๑๑
   บทความหรือข้อเขียน ที่กล่าวถึงหัสนิยายชุดนี้ ต่างเห็นพ้องกันว่าเสน่ห์ของ สามเกลอ อยู่ที่ความสนุก ตลกขบขัน ผู้แต่งใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่หรูหรา อ่านแล้วมีความสุข ได้หัวเราะ คลายเครียด ที่สำคัญคือการเอาเหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่เป็นอยู่ในขณะนั้นมาเป็นฉาก ทำให้หัสนิยายเรื่องนี้กลายเป็นการบันทึกเหตุการณ์ สภาพสังคมในช่วงนั้นอย่างต่อเนื่อง บางคนบอกว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๕๑๑ เลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้สามเกลอจึงยังคงครองใจ "แฟนเก่า" ที่ผ่านยุคสมัยมาด้วยกันอย่างเหนียวแน่น เพราะการได้อ่านเรื่องราวของเหล่า สามเกลอ ทำให้พวกเขาระลึกถึงเรื่องราว ความสุขในวัยเด็ก ในวัยหนุ่มสาว ส่วน "แฟนใหม่" อ่านแล้วก็ได้ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต สภาพสังคมไทยสมัยก่อน ที่ตนเองไม่มีโอกาสได้สัมผัส
   ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่า "รู้ลึก" เกี่ยวกับหัสนิยายชุด สามเกลอ มากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยและรัก "สามเกลอ" มากขนาดที่ว่า ยังคงอ่านสามเกลอแทบจะทุกวัน กล่าวสนับสนุนถึงคุณค่าของเรื่องชุด สามเกลอ ในแง่นี้ว่า
  เจ้าคุณปัจจนึก (คลิกดูภาพใหญ่)พล พัชราภรณ์ (คลิกดูภาพใหญ่)นิกร การุณวงศ์ (คลิกดูภาพใหญ่)กิมหงวน ไทยแท้ (คลิกดูภาพใหญ่)ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ (คลิกดูภาพใหญ่)
     "พล นิกร กิมหงวนเป็นวรรณกรรมประเภทนิยาย ที่อาจเรียกว่า "หัสนิยาย" คือไม่ใช่เป็นวิชาการหรือสารคดี ไม่ใช่นวนิยายที่มีตอนต้น ตอนจบ หรือเรื่องสั้นที่จบในตัวเอง แต่เป็นเรื่องแต่งที่สะท้อนภาพชีวิตสังคม ของยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่างานเขียนชุดนี้ได้ป้อนรายละเอียด ในการลำดับภาพของสังคมไทยในช่วง ๓๐ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๕๑ อย่างละเอียด เพราะเป็นบันทึกที่สะท้อนเหตุการณ์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อม ในทุกด้านของสังคมไทย เกือบจะเรียกว่าทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือนและทุกปี ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"
   ดร.วิชิตวงศ์ แฟนตัวจริงของสามเกลอ กล้าฟันธงว่า ป.อินทรปาลิต เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด ไม่มีใครคนไหนเทียบได้ เพราะเขียนต่อเนื่องจนมีผู้ติดตามอ่านเป็นหมื่น ๆ คนตลอดเวลา ๓๐ ปี และก็ยังมีคนอ่านต่อเรื่อย ๆ หยุดชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนกระดาษ และอุปกรณ์การพิมพ์ทำให้งานเขียนชะงักไป ๓-๔ ปีเท่านั้น ดร.วิชิตวงศ์ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของ สามเกลอ และพูดถึงเหตุผลที่ทำให้อ่าน สามเกลอ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาจนทุกวันนี้ว่า
     "พล นิกร กิมหงวนเป็นเบ้าหลอมความคิดความอ่าน ทัศนคติและปรัญชาชีวิตของผม ตัวละครทุกคนเป็นคนดี มีคุณธรรม เห็นอกเห็นใจเพื่อมนุษย์ รักชาติบ้านเมือง เกลียดความอยุติธรรมทุกรูปแบบ สิ่งเหล่านี้เป็นแบบฉบับของ "ชายชาตรี" ที่ประทับใจคนอ่านทั่วไป "
   แม้ว่าปัจจุบันลิขสิทธิ์ของหัสนิยายเรื่องนี้ จะเป็นของสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่หากสำนักพิมพ์นี้หมดวาระการถือครองลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ คงจะมีการพิมพ์สามเกลอออกมาอีกจำนวนมาก พล นิกร กิมหงวนและผองเพื่อน คงได้ออกมาวาดลวดลายบนแผงหนังสือให้คนไทยได้อ่าน ได้หัวเราะกันอย่างเต็มที่อีกครั้ง
   แต่ในระหว่างนี้ เหล่าสามเกลอและผองเพื่อน ต่างมารวมตัวกันอยู่ที่ www.samgler.org ที่เดียวกับที่ ๆ สมาชิกชมรมนักอ่าน สามเกลอ ใช้เป็นแหล่งชุมนุมแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับหนังสือที่เขาชอบกันอย่างคึกคัก - - หากอยากรู้จัก สามเกลอ แล้วไม่รู้จะไปหาอ่านจากที่ไหน ที่นี่น่าจะเป็นประตูที่เปิดเข้าไปสู่ เรื่องราวหรรษาของพวกเขาได้ง่ายที่สุด และสำหรับนักอ่าน สามเกลอ ที่คิดว่ารู้จักหนังสือชุดนี้ดีแล้ว อาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เสียใหม่ เพราะทุก ๆ สัปดาห์จะมีเรื่องราวของสามเกลอ หรือเรื่องราวน่ารู้ที่บรรดาสมาชิก ชมรมนักอ่านสามเกลอ ได้ค้นพบมาแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา