สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

เซี่ยวกาง

ส. พลายน้อย
เซี่ยวกาง
      ตามประเพณีโบราณ สถานที่สำคัญจะมีคนรักษาประตู เช่น ประตูเมือง ประตูวัง เรียกว่านายทวาร ภายหลังเกิดความคิดว่าตามวัดวาอารามหรือศาสนสถาน ก็น่าจะมีผู้ดูแลรักษาบ้าง แต่แทนที่จะเป็นคนยืนเฝ้าก็ทำเป็นรูปเทวดาไว้แทน คือแกะสลักรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่ที่บานประตูโบสถ์หรือวิหาร มีหลักฐานจากบานประตูแกะสลักเป็นรูปเทวดาสมัยอยุธยา แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์กลับนิยมเขียนเป็นรูปสี หรือลงรักปิดทอง เรียกรูปเหล่านี้ว่า ทวารบาล คือผู้รักษาประตู
     ตามคติโบราณถือว่าพระอินทร์ เป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ฉะนั้นทวารบาลตามประตูวัด และโบสถ์วิหาร จึงเป็นเทวดาที่สมมุติว่ามายืนพิทักษ์พระพุทธเจ้า (พระประธาน) รูปเทวดาที่เป็นทวารบาล ตามประตูสมัยอยุธยาจึงเป็นรูปเทวดาแบบไทย ถือพระขรรค์ ยืนอยู่ที่บานประตูทั้งสองบาน
   ครั้นต่อมาภายหลังรูปแบบของทวารบาลได้เปลี่ยนไป เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๓ นิยมนำตัวสำคัญของงิ้ว มาเขียนเป็นภาพประดับตามบานประตู และบานหน้าต่างซึ่งพบที่วัดพระเชตุ-พนวิมลมังคลาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร มีภาพตัวละครสำคัญในเรื่อง สามก๊ก อยู่ที่บานประตูและบานหน้าต่างพระวิหารเก๋ง เข้าใจว่าในสมัยนั้นเรื่อง สามก๊ก เป็นเรื่องที่คนรู้จักกันมากที่สุด ในตำนานจีนมีเรื่องเล่าถึงต้นเหตุ ที่เขียนรูปทหารเอกไว้ที่ประตูว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้าซีหมิง ถูกปิศาจร้ายขว้างปาที่ประทับตลอดคืน จนไม่เป็นอันบรรทม เป็นเหตุให้ทรงพระประชวร บรรดาแพทย์ทั้งสี่มุมเมือง พยายามรักษาจนสุดความสามารถ พระอาการก็ไม่ดีขึ้น ในที่สุดได้ประกาศให้ประชาชน ทราบถึงเรื่องที่มีปิศาจร้ายมารบกวน ในครั้งนั้นมีทหารเอก ๒ คน คือ ชินชูเป้ากับฮูชิงเต้ รับอาสาเป็นยามยืนเฝ้าประตูพระราชวัง ปิศาจก็ไม่มารบกวน พระเจ้าซีหมิงบรรทมหลับตลอดคืน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระอาการก็ทุเลา แต่ทหารเอกทั้งสอง ก็ยังคงถืออาวุธเฝ้าประตูอยู่ตลอดเวลา จนพระเจ้าซีหมิงทรงทราบ มีพระราชดำริว่า เมื่อปิศาจเกรงกลัวคนทั้งสอง ถ้าเขียนรูปไว้แทนก็น่าจะได้ จึงโปรดให้เขียนรูปคนทั้งสอง สวมเกราะถืออาวุธไว้ที่บานประตูพระราชวังแทน เพื่อให้คนทั้งสองได้พักผ่อน กล่าวกันว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปิศาจร้ายก็มิได้กล้ำกรายมาอีกเลย จึงได้เขียนรูปคนทั้งสองไว้ที่บานประตู เพื่อป้องกันภูตผีปิศาจต่อมาจนทุกวันนี้
   ตามเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น จะเป็นต้นเรื่องของการเขียนรูปทวารบาล หรือที่เรียกกันว่า "เซี่ยวกาง" หรือเปล่าไม่ทราบ แต่เคยมีผู้เขียนอธิบายไว้ (เข้าใจว่าจะเป็นพระยาโกษากรวิจารณ์) คือท่านว่าจีนนับถือพระอินทร์ เป็นผู้คุ้มครองป้องกันพระพุทธศาสนา จึงได้สร้างรูปไว้ตามวัด รูปพระอินทร์นี้ทางจีนเรียกว่า "จิ๊นกางเสียว" หรือที่เรียกย่อว่า "กางเสียว" ที่เรามาเรียกว่า "เซี่ยวกาง" เรื่องมาตรงกับประวัติของพระอินทร์ตอนหนึ่ง คือเมื่อเทวดาทำสงครามกับพวกอสูร พวกเทวดาขวัญเสีย พระอินทร์จึงทำอุบายให้สร้างรูปพระอินทร์ ตั้งไว้ทุกประตูเมือง เมื่ออสูรยกทัพมาเห็นรูปพระอินทร์ ก็นึกว่าพระอินทร์ยกทัพมา ก็พากันหนีไป นี่ก็เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นต้นเรื่องที่ทำรูปเทวดา ไว้ตามประตูโบสถ์วิหารของไทย
   เหตุที่จะเรียก "ทวารบาล" ว่า "เซี่ยวกาง" นั้น สันนิษฐานว่าจะเกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อนิยมนำศิลปะแบบจีนมาประดับวัด รูปทวารบาลก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปทางจีนด้วย คือแต่งกายแบบไทย แต่ถืออาวุธแบบจีน เช่น ถือง้าว ถือสามง่าม และที่สำคัญก็คือมีหนวดเครายาว ซึ่งเป็นลักษณะของจีน บางทีจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่คนจีนพากันเรียกว่า "จิ๊นกางเสียว" หรือ
   "กางเสียว" แล้วกลายมาเป็น "เซี่ยวกาง" อย่างที่พระยาโกษากรวิจารณ์กล่าวไว้
   มีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่ยังมีหวย กข พวกเล่นหวย กข จะมาบนขอหวยกันมาก เมื่อสำเร็จผลตามประสงค์ก็จะเอาฝิ่นมาป้ายที่ปาก "เซี่ยวกาง" เป็นการแก้บน บางทีจะเป็นเพราะคนจีนสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ สูบฝิ่นกันมาก คงคิดว่าเซี่ยวกางก็คงชอบด้วย ที่ปากเซี่ยวกางจึงดำด้วยฝิ่น (ดูรูปเซี่ยวกางที่ประตูวัดบวรนิเวศวิหาร)