สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

จากบรรณาธิการ

    ๑ กันยายน ๒๕๔๔ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานรำลึกครบรอบ ๑๑ ปีการเสียชีวิตของคุณสืบ นาคะเสถียร ณ บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
    พิธีรำลึกเป็นไปอย่างเรียบง่าย คืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ผู้มาร่วมงานราว ๒๐๐ คนที่มากางเต็นท์ค้างแรม ได้มารวมกันที่หน้าอนุสาวรีย์คุณสืบ แล้วจุดเทียนที่แต่ละเอาติดตัวมา นำไปปักไว้รอบ ๆ อนุสาวรีย์ แสงเทียนน้อย ๆ จากใจกลุ่มคนในคืนนั้น ทำให้อนุสาวรีย์คุณสืบสว่างไสวในป่าลึกยามรัตติกาล
    เมื่อ ๑๑ ปีก่อน เทียนเล่มหนึ่งได้ดับวูบลงในป่าแห่งนี้ แต่คืนวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ เทียนนับร้อยเล่มได้จุดขึ้นมาใหม่ คล้ายกับจะบอกกล่าวว่า การเสียชีวิตของคุณสืบไม่ได้ไร้ความหมาย แต่ปลุกคนจำนวนมากในสังคมให้หันมาสนใจและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่าไม้ในบ้านเรา
     เช้าวันต่อมา มีพิธีวางพวงหรีด (ทำจากผ้าขาวม้า เพื่อให้คนในพื้นที่นำไปใช้ต่อได้หลังเสร็จพิธีแล้ว) ท่ามกลางผู้มาร่วมงานประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน มีทั้งญาติของคุณสืบ เพื่อนพ้อง กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติจากหลายจังหวัด ข้าราชการในจังหวัดอุทัยธานี ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้
   ปีนี้ดูเหมือนจะมีนักเรียนมาร่วมงานมากกว่าทุกครั้ง เยาวชนหนุ่มสาวเหล่านี้มาจากโรงเรียนต่าง ๆ รอบป่าห้วยขาแข้ง
   "ลุงสืบเป็นวีรบุรุษของพวกเราครับ" เด็ก ม. ๖ คนหนึ่งที่ร่วมคัดค้านปิดถนนไม่ยอมให้ขบวนรถออฟโรดจำนวน ๒๐ กว่าคัน ขับรถขึ้นไปบนเขาบันได กล่าวกับเรา
   "สิ่งที่พวกผมทำวันนั้น คือการสืบทอดเจตนารมณ์ของคุณลุงสืบที่ยอมตายเพื่อปกป้องป่า" เด็กคนเดิมกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
   ก่อนหน้านี้เพียงอาทิตย์เดียว เยาวชนในจังหวัดอุทัยธานีได้รวมตัวกันปิดถนนทางเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได เมื่อทราบข่าวว่าจะมีขบวนรถออฟโรดมุ่งหน้ามาที่เขาบันได ในโครงการนำเป็ดก่ามาปล่อยที่เขาบันได ซึ่งจัดร่วมกับกรมป่าไม้
   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ ไร่ ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครร่วมสองเท่า อนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียร ตั้งอยู่ตรงชายป่าห้วยขาแข้งซึ่งเป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ไม่มาก เปรียบกับกรุงเทพฯ ก็ประมาณรังสิต ขณะที่เขาบันไดคือย่านถนนสีลมของป่าห้วยขาแข้ง
คลิกดูภาพใหญ่
ฉบับหน้า
กรุงเทพฯ ๒๐๐๑
   เขาบันไดนั้นอยู่ใจกลางป่าห้วยขาแข้ง มีลำห้วยขาแข้งไหลผ่าน ไม่ค่อยมีใครบุกรุกเข้าไปถึง จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น นกยูง เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง วัวแดง ควายป่า ฯลฯ ที่ผ่านมาเขาบันไดถูกจัดให้เป็นบริเวณพื้นที่เปราะบาง ด้วยต้องการให้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจริง ๆ จึงไม่อนุญาตให้ผู้คนเข้าไปหากไม่มีความจำเป็นใด ๆ
   เยาวชนที่ถือป้ายประท้วงไม่ให้รถออฟโรดเข้าไปนั้น เกือบทั้งหมด เกิด โต และเรียนหนังสือในโรงเรียนที่อยู่รอบป่าห้วยขาแข้ง อาจจะเคยเข้าป่าห้วยขาแข้งในบางพื้นที่ แต่ไม่เคยเดินลึกเข้าไปถึงเขาบันได เพราะกรมป่าไม้ไม่อนุญาต และพวกเขาก็เข้าใจด้วยว่า เราควรจะเก็บป่าบางแห่งไว้เป็นบ้านของสัตว์ป่าจริง ๆ ไม่ควรจะไปรบกวนพวกเขาหากไม่จำเป็น
   แต่มาวันนี้เมื่อกรมป่าไม้เลือกปฏิบัติ ร่วมมือกับบริษัทที่จัดพาคนเที่ยวป่าแบบออฟโรด จัดโครงการปล่อยเป็ดก่าที่เขาบันได โดยเก็บเงินค่าเข้าพื้นที่คันละ ๗,๖๐๐ บาท อ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงอนุญาตให้ประชาชน (บางกลุ่มที่มีกำลังซื้อ) ขึ้นเขาบันไดได้
   ขณะที่ชาวบ้านตาสีตาสาและเยาวชนรอบป่าห้วยขาแข้งหมดสิทธิ์ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาบันไดเป็นพื้นที่เปราะบาง ไม่อนุญาตให้เข้าไปรบกวนสัตว์ป่า
   การประท้วงไม่ให้คนบางกลุ่มใช้ความเป็นอภิสิทธิ์แห่กันมาที่เขาบันไดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเชื่อเหลือเกินว่า หากคุณสืบยังมีชีวิตอยู่ ก็คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่คุณสืบจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้
   เยาวชนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ยืนปิดถนนชูป้ายประท้วงนั้น มีนายตำรวจระดับสารวัตรคนหนึ่ง เข้ามาบริภาษพวกเขาด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ และถามว่าใครเป็นแกนนำ ใครอยู่เบื้องหลังม็อบ
   เขาและเพื่อน ๆ พยายามชี้แจงว่า พวกเขาอยู่ในชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติของโรงเรียน เมื่อทราบข่าวนี้ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ก็อยากออกมาแสดงจุดยืนของคนในท้องถิ่น จึงช่วยกันเขียนป้ายและชักชวนกันมาประท้วงเอง ไม่มีใครอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
   แต่ข้าราชการเหล่านั้นไม่เชื่อ เพราะยังมีทัศนคติเดิม ๆ ที่ว่า เด็กนักเรียนในโรงเรียนไกลปืนเที่ยงไม่มีทางคิดอ่านวางแผนกันเองได้ นอกเสียจากว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังคอยปลุกระดมเด็กเหล่านี้
   จะว่าไปแล้ว ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงก็คือ "ลุงสืบ" ของเด็ก ๆ นั่นเอง ที่ปลุกให้เยาวชนรอบป่าห้วยขาแข้งหันมาปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างจริงจัง
 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com