สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

มีอะไรในการ์ตูนญี่ปุ่น
งานวิจัยจากนักวิจารณ์การ์ตูนชื่อดัง

วันดี สันติวุฒิเมธี : รายงาน
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
      คงไม่มีเด็กคนไหนไม่รู้จักโดราเอมอน ดรากอนบอล ชินจัง หรืออิกคิวซัง การ์ตูนเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากประเทศเดียวกันคือ ญี่ปุ่น
 (คลิกดูภาพใหญ่)    เหตุใดการ์ตูนญี่ปุ่นจึงได้รับความนิยมไปทั่วโลกโดยเฉพาะทวีปเอเชีย คำถามนี้คาใจ ฟูซาโนะซูเกะ นัตซึเมะ (Fusanosuke Natsume) นักวาดและวิจารณ์การ์ตูนชาวญี่ปุ่นมานาน เมื่อแปดปีก่อนเขาจึงออกเริ่มต้นค้นหาคำตอบนี้ และพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจมากมายซ่อนอยู่ในการ์ตูนญี่ปุ่น
   เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่ ฟูซาโนะซูเกะ นัตซึเมะ เก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่น นับตั้งแต่กำเนิดการ์ตูนญี่ปุ่น ลักษณะเด่นของการ์ตูนญี่ปุ่น ความสนใจการ์ตูนของชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัย รวมถึงอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศอื่น ๆ ฯลฯ และได้ถ่ายทอดข้อมูลเรื่องราวที่ได้พบออกมาในรูปหนังสือ บทความ ตลอดจนเข้าร่วมสนทนาในรายการโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่น และเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล-ความคิดเห็น เกี่ยวกับอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่น เขาก็ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลว่าด้วยอิทธิพลของการ์ตูนญี่ปุ่นในบ้านเรา ในโอกาสนี้ทางทุนมูลนิธินิปปอน เพื่อปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเชีย (The Nippon Foundation Followships for Asian Public Intellectuals-API Fellowships) ได้เป็นเจ้าภาพจัดให้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับสื่อมวลชนไทย โดยมีอาจารย์ชมนาด ศีติสาร อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ล่ามในระหว่างการสนทนา
   ก่อนจะเริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นต่าง ๆ ฟูซาโนะซูเกะ นัตซึเมะ ได้กล่าวถึงศัพท์เฉพาะที่ใช้เกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่นว่า
   "ทุกวันนี้คำที่ใช้เรียกการ์ตูนมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ มังงะ (manga) เป็นคำที่เราใช้เรียกหนังสือและนิตยสารการ์ตูน ที่ผลิตขึ้นในญี่ปุ่นหลังสงครามโลก รวมทั้งหนังสือการ์ตูนที่ได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่น ในประเทศต่าง ๆ ด้วย ส่วน คอมมิก (commic) เราจะใช้เมื่อหมายถึงหนังสือการ์ตูนของประเทศในโลกตะวันตก เพราะการ์ตูนทั้งสองประเภท มีแนวทางการนำเสนอที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน"
   หลายคนคงไม่รู้ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรารู้จักกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้ถือกำเนิดที่ญี่ปุ่น แต่เริ่มต้นที่อเมริกาในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนหน้านี้การ์ตูนญี่ปุ่น มีเพียงการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ มีภาพประกอบเพียงภาพหรือสองภาพ กับมีคำบรรยายนอกรูปเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๘๖ หนังสือพิมพ์ The Yellow Kid ในกรุงนิวยอร์ก ก็นำเสนอการ์ตูนในกรอบสี่เหลี่ยม ที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันเป็นครั้งแรก อีก ๒๔ ปีต่อมา การ์ตูนแบบเดียวกัน จึงเริ่มปรากฏในญี่ปุ่น และฝรั่งเศสในเวลาใกล้เคียงกัน โดยการ์ตูนญี่ปุ่นได้พัฒนาต่อมา จนมีลักษณะเฉพาะตัวที่เรียกว่า มังงะ
   "จริง ๆ แล้วมังงะมีลักษณะทั้งร่วม และแตกต่างจากการ์ตูนในโลกตะวันตก ลักษณะร่วมคือ มีองค์ประกอบพื้นฐานสามอย่างเหมือนกัน คือ กรอบสี่เหลี่ยม ภาพลายเส้น และคำพูด ส่วนสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ ลักษณะภาพลายเส้น และเนื้อหาของการ์ตูน"
   ภาพลายเส้นของการ์ตูนญี่ปุ่น แตกต่างจากการ์ตูนตะวันตก ตรงที่ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นมักมีลักษณะเหนือจริง เช่น ขนาดหัวผิดสัดส่วนกับตัว ดวงตาของเด็กผู้หญิงมีขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยขนตาเส้นโต ๆ ดวงตามีประกายรูปดาว แสดงออกถึงบุคลิกแจ่มใสร่าเริง หรือถ้าเป็นดวงตาของตัวการ์ตูนที่อยู่ในมิติอื่น เช่น ปีศาจ ดวงตาจะว่างเปล่าเป็นสีขาว เป็นต้น ขณะที่การ์ตูนของตะวันตก จะเน้นที่ความเสมือนจริง
(คลิกดูภาพใหญ่)    เนื้อหาของการ์ตูนญี่ปุ่นและการ์ตูนตะวันตก ก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน การ์ตูนตะวันตกส่วนใหญ่สร้างขึ้นสำหรับเด็ก ขณะที่การ์ตูนญี่ปุ่น มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ บุคคลสำคัญผู้เริ่มต้นพัฒนาเนื้อหาการ์ตูนญี่ปุ่น ให้มีความหลากหลายขึ้น จนกลายมาเป็นต้นแบบของการ์ตูนญี่ปุ่นในปัจจุบัน และได้รับยกย่องให้เป็นบิดาของการ์ตูนญี่ปุ่น คือ โอซามุ เทสซึกะ ตัวการ์ตูนของเขาจะมีพัฒนาการทางอายุ จากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านสามารถติดตามอ่านไปได้เรื่อย ๆ
   "ขณะที่อายุของตัวการ์ตูนในโลกตะวันตกหยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ โอซามุ เทสซึกะ กลับทำให้ตัวการ์ตูนของเขาเติบโตขึ้น ทำให้คนอ่านสามารถติดตามอ่านได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอายุมากขึ้น และนี่เองเป็นเหตุให้ความคิดความเชื่อที่ว่าเด็ก ๆ ควรหยุดอ่านการ์ตูนหลังจากเรียนจบชั้นประถม ลดน้อยลง และกลุ่มคนอ่านการ์ตูน ก็มีความหลากหลายมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงศตวรรษ ๑๙๘๐ ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดคนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นผู้ใหญ่"
   จากความต่างในเนื้อหาของการ์ตูนญี่ปุ่น กับการ์ตูนในประเทศตะวันตก รวมถึงความรับรู้ของคนทั่วไป ที่ว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็ก ทำให้หลายคนเกิดอาการแปลกใจ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ชาวญี่ปุ่น ยังคงยืนอ่านการ์ตูนบนรถไฟใต้ดิน และในบางประเทศก็มีการเซ็นเซอร์ เนื้อหาภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น ที่นำเข้าไปฉายในประเทศของตน โดยใช้มาตรฐานเดียวกับภาพยนตร์สำหรับเด็ก ซึ่งนับเป็นความเข้าใจผิด
   "เราต้องเข้าใจก่อนว่าการ์ตูนญี่ปุ่น ก็เหมือนกับหนังสือ หรือภาพยนตร์ ซึ่งมีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ การที่คุณเห็นผู้ใหญ่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ได้หมายความว่า เขาอ่านเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับเด็ก แต่เขากำลังอ่านเรื่องที่เขียนขึ้นสำหรับผู้ใหญ่ต่างหาก ความเข้าใจผิดว่า การ์ตูนเป็นเรื่องสำหรับเด็ก ทำให้เกิดการกระทำที่ผิด ๆ ตามมา เช่นในประเทศฝรั่งเศสเคยมีการเซ็นเซอร์ฉากผู้ใหญ่เมาเหล้า ในการ์ตูนเรื่อง Maison Ikkoku ซึ่งจริง ๆ แล้วการ์ตูนเรื่องนี้ผลิตขึ้นสำหรับกลุ่มวัยรุ่นอายุ ๑๕ ถึง ๒๕ ปี แต่ทางฝรั่งเศสนำมาฉายในช่วงรายการสำหรับเด็ก โดยเปลี่ยนให้ตัวการ์ตูนดื่มน้ำมะนาวแทนดื่มเหล้า ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า คนญี่ปุ่นเมาน้ำมะนาว"
   ปัจจุบันมังงะแบ่งออกเป็นหลายประเภท ครอบคลุมกลุ่มคนตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยกลางคน มีทั้งที่เป็นหนังสือเล่ม และนิตยสารรายสัปดาห์ บางเล่มมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เช่น ไซเนน (Seinen) เป็นนิตยสารสำหรับกลุ่มวัยรุ่น โชโจ (Shojo) เป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงตั้งวัยรุ่นจนถึงวัยสาว หรือนิตยสารที่เจาะเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เล่นปาจิงโกะ กลุ่มผู้เล่นเกมคอมพิวเตอร์ บ้างก็มีกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่มอายุ เพราะในเล่มมีการ์ตูนตีพิมพ์กว่า ๒๐ เรื่อง อาทิ นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ชื่อ Shukan shonen Jampu ซึ่งได้รับความนิยมมาก ในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ มียอดขายสูงถึง ๖ ล้านฉบับต่อสัปดาห์ เหตุที่นิตยสารฉบับนี้ได้รับความนิยม ก็เนื่องมาจากมีเนื้อหาหลากหลาย ถูกใจคนอ่านหลายกลุ่ม ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ คือมีทั้งเรื่องผจญภัยสำหรับเด็ก เรื่องความรักโรแมนติกสำหรับเด็กสาว เรื่องการต่อสู้ของวีรบุรุษสำหรับเด็กหนุ่ม ไปจนถึงเรื่องเกมการแข่งขันบาสเกตบอล ที่ซับซ้อนสำหรับผู้ใหญ่ เป็นต้น
(คลิกดูภาพใหญ่)    นัตซึเมะวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ที่ชาวญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัยนิยมอ่านการ์ตูนว่า
   "การ์ตูนญี่ปุ่นมักนำเสนอเนื้อหาที่คนแต่ละกลุ่มต้องเผชิญ เช่น เด็กซึ่งอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น มักสนใจเรื่องการผจญภัย วัยรุ่นต้องเผชิญกับเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน เรื่องราวในโรงเรียน เรื่องเซ็กซ์ เรื่องความรุนแรง ผู้ใหญ่วัยทำงานก็ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องราว ที่ทุกคนต้องประสบพบเจอเมื่ออยู่ในช่วงวัยนั้น ๆ ถ้าการ์ตูนเรื่องไหน นำเสนอเนื้อหาที่ทำให้คนอ่านเข้าถึง หรือมีอารมณ์ร่วมไปได้ การ์ตูนเรื่องนั้นก็จะได้รับความนิยมมาก"
   ตัวอย่างการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๓-๑๙๙๒ ได้แก่ "Kacho Shima Kosaku" ของ Kenshi Hirokane ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ Shukan Morning เป็นเรื่องราวชีวิตของชายคนหนึ่ง เรื่องเริ่มต้นเมื่อตัวเอกอายุได้ ๓๔ ปี และเข้าทำงานในฐานะพนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง และจบลงที่ตำแหน่งผู้จัดการ เมื่ออายุ ๔๔ ปี ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีในการ์ตูนเรื่องนี้  ตัวเอกได้เผชิญกับปัญหา อุปสรรค ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่กลุ่มคนทำงานออฟฟิศ วัย ๓๐ ต้น ๆ ของญี่ปุ่นต้องเผชิญ และต่อสู้เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันของตน ด้วยเหตุนี้หนุ่มสาวออฟฟิศจำนวนมาก จึงนิยมอ่านการ์ตูนเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ เห็นได้จากยอดขายที่สูงถึง ๘ ล้านฉบับต่อสัปดาห์
   ตลอดระยะเวลาหลายปี ของการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการ์ตูนญี่ปุ่น นัตซึเมะได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การ์ตูนที่นำเสนอในช่วงเวลาต่าง ๆ สามารถสะท้อนความคิดของผู้คนในสังคมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี อาทิ ในช่วงทศวรรษแรกหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงคราม การ์ตูนเกี่ยวกับการสู้รบ แทบจะไม่ปรากฏอยู่ในท้องตลาดเลย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความทรงจำอันเจ็บปวดของชาวญี่ปุ่น ทศวรรษต่อมา จึงเริ่มมีการ์ตูนเกี่ยวกับผลกระทบของสงคราม เช่นเรื่อง "Chronicles" ตัวเอกเป็นทหารผ่านศึกที่พิการ และอีกทศวรรษต่อมา การ์ตูนที่สะท้อนถึงการต่อสู้ชีวิต ก็เริ่มปรากฏออกมา เช่น "Gorugo 13" เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักธุรกิจ ที่มุ่งมั่นทำงานจนประสบความสำเร็จ หรือในช่วงที่ผลกระทบจากสารพิษ ที่มินามาตะกำลังเป็นข่าวเกรียวกราว การ์ตูนเรื่อง "Space Battleship Yamato" ซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบของนิวเคลียร์  ก็เป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน
   สำหรับความนิยมการ์ตูนญี่ปุ่น ของผู้คนในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียนั้น จากการติดตามข้อมูล นัตซึเมะได้รับคำตอบว่า
   "ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่น ได้รับความสนใจจากทั่วโลก มาจากเนื้อหาที่ค่อนข้างเป็นสากล เด็ก ๆ ทั่วโลกมักชอบเรื่องผจญภัย เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ ก็สนใจเรื่องเซ็กซ์ ความรุนแรง หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนเหมือน ๆ กัน อีกเหตุผลหนึ่งมาจากการผลิตหนังการ์ตูนทางทีวี ส่งไปฉายยังประเทศต่าง ๆ ทำให้คนดูเริ่มสนใจ ติดตามอ่านหนังสือการ์ตูนควบคู่ไปด้วย เพราะหนังสือการ์ตูนกับหนังการ์ตูนในทีวี มักออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กัน"
     หนังการ์ตูนทางทีวีเริ่มออกอากาศในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. ๑๙๖๓ เรื่อง Tetsuwan Atomu ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ รวมทั้งสร้างเป็นภาพเคลื่อนไหวคือ โอซามุ เทสซึกะ บิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนังและหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกัน จำนวนนับไม่ถ้วนก็เริ่มออกสู่ตลาดพร้อม ๆ กัน รวมทั้งสินค้าต่อเนื่อง อาทิ ของเล่น เกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามมา และดูเหมือนจะไม่มีใครหยุดการเจริญเติบโต ของการ์ตูนญี่ปุ่นได้อีกต่อไป
   ปัจจุบันหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งในตลาดประมาณ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของสิ่งพิมพ์ในญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณารายได้ จากการขายหนังสือการ์ตูนแล้ว เรียกว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับรายได้จากการ์ตูนทีวี และสินค้าต่อเนื่องต่าง ๆ จากการ์ตูน เพราะหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นใช้กระดาษราคาถูกเพื่อให้ขายได้ในราคาไม่แพง ต่างจากการ์ตูนในประเทศตะวันตก ซึ่งเน้นกระดาษคุณภาพดี และภาพวาดสีสันสดใส
   จากงานวิจัยของนัตซึเมะ พบว่า การ์ตูนญี่ปุ่นที่แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ ๆ แก่วงการสิ่งพิมพ์ และนักวาดการ์ตูนหลายด้าน ระหว่างการเก็บข้อมูลที่ฮ่องกงในปี ๑๙๙๓ เขาพบว่าในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ มีการพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่น ออกจำหน่ายโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อนที่ตลาดผู้พิมพ์การ์ตูนจะเติบโต และเริ่มมีการขออนุญาตแปล และพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายในปี ๑๙๙๑ ต่อมาในปี ๑๙๙๓ ชาวฮ่องกงก็เริ่มผลิตการ์ตูนของตนเองออกสู่ตลาด ปัจจุบันตลาดการ์ตูนของฮ่องกง แบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน คือ การ์ตูนญี่ปุ่นและการ์ตูนท้องถิ่น ทั้งนี้นัตซึเมะได้พบว่าวงจรดังกล่าว ตั้งแต่การละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูน การขออนุญาตแปล และพิมพ์อย่างถูกกฎหมาย และการพัฒนาการ์ตูนท้องถิ่น ได้เกิดขึ้นเช่นกัน ในเกาหลีใต้และไต้หวัน และก็กำลังมีแนวโน้มไปในทางเดียวกันทั้งในจีน อินโดนีเซีย ไทย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
     แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่อง ได้รับความนิยมในประเทศแถบตะวันตก แต่จากการสำรวจของนักวิจารณ์การ์ตูนท่านนี้พบว่า การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย กลับไม่ได้รับความนิยม ในประเทศแถบตะวันตกเลย ความแตกต่างกันดังกล่าว ทำให้เขาพยายามค้นหาคำตอบ และได้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า
   "สาเหตุที่โดราเอมอน ได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชีย แต่ไม่ได้รับความนิยมในประเทศแถบตะวันตก เพราะภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน โดราเอมอน เป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องคอยพึ่งพาหุ่นยนต์ ที่สามารถเนรมิตเครื่องมือต่าง ๆ ได้ ซึ่งก็เหมือนกับคนเอเชีย ที่ต้องคอยพึ่งพาคนอื่น ๆ ไม่เป็นอิสระ ต่างจากประเทศทางตะวันตก ที่พึ่งพาตัวเอง และเป็นผู้นำของประเทศทางแถบเอเชีย"
   ก่อนจบการพูดคุยแลกเปลี่ยนในวันนี้ นัตซึเมะได้แสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาของการ์ตูน ที่นำเสนอเรื่องเซ็กซ์ และความรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสังคมว่า
   "จากการสำรวจในหลายประเทศ ผมพบว่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการควบคุมเนื้อหาในการ์ตูน หละหลวมมากที่สุด และดูเหมือนประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ ๒ รองจากญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยสนใจในเรื่องนี้ ผมคิดว่าทางออกในตอนนี้ คงต้องขอให้ศิลปินผู้สร้างงาน และผู้พิมพ์จำหน่ายมีจิตสำนึกในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น เพราะการสร้างงานที่ไม่ดีออกมามาก ๆ จะทำให้คนมองการ์ตูนในทางไม่ดียิ่งขึ้น"