สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

ทุ่นระเบิด กองทัพทหารใบ้ สงครามไม่รู้จบ

เรื่อง : นงลักษณ์ ไมตรีมิตร
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี
      เสียงระเบิดที่ดังกึกก้องขึ้นในหุบเขาพุโลน ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ในตอนบ่ายของวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ นอกจากจะไม่มีผู้ใดตื่นตระหนกและหวาดกลัวแล้ว ยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงปรบมือสรรเสริญ จากผู้คนที่ยืนสังเกตการณ์อยู่โดยรอบ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel) จำนวน ๑ หมื่นลูก ได้ถูกทำลายเกิดเสียงดังซ้อนกันครั้งแล้วครั้งเล่า นี่คือการปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวา ที่ว่าด้วยการกำจัดทุ่นระเบิดให้หมดไปจากโลก ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อปลายปี ๒๕๔๑
 (คลิกดูภาพใหญ่)    ได้มีการบันทึกไว้ว่า ในวันหนึ่ง ๆ จะมีเสียงระเบิดดังขึ้นถึง ๗๐ ครั้ง หรือประมาณว่าในทุก ๆ ๒๐ นาทีจะมีเสียงระเบิดดังขึ้นหนึ่งครั้ง เป็นเสียงระเบิดที่ดังขึ้นเพื่อตัดแขน ตัดขา ทำลายดวงตา และก่อให้เกิดการสูญเสียไปทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นในประเทศเยเมน โคโซโว แองโกลา อัฟกานิสถาน โมซัมบิก บอสเนีย ลาว กัมพูชา หรือแม้แต่ในประเทศไทย ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้เคราะห์ร้าย เป็นพลเรือนที่ไม่เคยมีส่วนรู้เห็นกับสงคราม และความขัดแย้ง อันเป็นที่มาของทุ่นระเบิดจำนวนหลายล้านลูกที่ฝังตัวเรียงรายอยู่ ทั้งในที่ดินทำกินและในป่าละเมาะใกล้บ้าน วันเวลาของสงครามจบสิ้นไปนานแล้ว แต่ทุ่นระเบิดเหล่านั้นยังฝังตัวอยู่เรี่ยผิวดินเพื่อรอคอยเหยื่อผู้โชคร้าย
   มีผู้กล่าวไว้ว่า ทุ่นระเบิดไม่รู้จักเจ้าของ มันไม่สามารถรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเท้าเด็กกับเท้าทหาร ทันทีที่มีน้ำหนักกดทับลงไปแม้เพียง ๑ กิโลกรัม เสียงระเบิดจะดังก้อง เหวี่ยงร่างผู้เคราะห์ร้ายลอยสูงขึ้นก่อนจะฟาดลงบนพื้นพร้อมท่อนขาที่แหลกยับ ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในอึดใจ ยังไม่ทันได้เจ็บปวด ถ้าเหยื่อเป็นผู้หญิงและเด็ก มักจะเสียชีวิตก่อนถึงมือแพทย์ และทั้งหมดต้องตัดขาทิ้งไป เพื่อแลกชีวิตใหม่กลับคืนมา เป็นชีวิตใหม่ที่ต้องอดทน ต่อความเจ็บปวดต่อเนื่องไปอีกหลายปี อดทนต่อการฝึกฝนการใช้อวัยวะเทียม ที่ต่อให้ราคาแพงและงดงามเพียงใด ก็ไม่อาจทดแทนอวัยวะเดิมที่สูญเสียไปได้
   การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของเจ้าหญิงไดอานาแห่งราชวงศ์อังกฤษ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี ค.ศ ๑๙๙๗ จุดประกายให้โครงการที่พระองค์ ทรงสนับสนุนก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น นานาประเทศทั่วโลกร่วมกันลงนามในอนุสัญญาออตตาวา รวมทั้งร่วมให้สัตยาบันต่ออนุสัญญานั้น อันเป็นผลให้แต่ละประเทศกลายเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาอย่างสมบูรณ์ มีสาระสำคัญที่จะไม่ผลิต ไม่พัฒนา ไม่สะสม ไม่โยกย้ายถ่ายโอน รวมทั้งพร้อมใจกันประณามกลุ่มประเทศที่ยังมีการผลิตทุ่นระเบิด
   การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมอยู่ในคลังของประเทศไทย จากวันเริ่มต้น ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ และทำลายต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้ (มิถุนายน ๒๕๔๔) รวมจำนวนแล้วเกือบแสนลูก เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า เรามีความจริงใจเพียงใดต่อการปฏิบัติตนตามอนุสัญญานั้น นั่นคือทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมอยู่ในคลังที่สามารถมองเห็นได้ แต่ทุ่นระเบิดอีกจำนวนหลายล้านลูก ที่นอนรอสงบนิ่งอยู่ในป่าชายแดนรอบประเทศไทย ทั้งบริเวณที่เป็นป่าทึบ ป่ารกร้างว่างเปล่า รวมทั้งในที่ดินทำกินของราษฎร ซึ่งไม่สามารถชี้ได้ชัดเจนว่าอยู่ในตำแหน่งใด ทุ่นระเบิดจำนวนมากมายเหล่านั้น เราคงจะต้องใช้เวลากำจัดอีกหลายสิบปี และบางครั้งอาจจะยาวนานถึงร้อยปี ยาวนานเกินกว่าช่วงชีวิตของคน ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสนามทุ่นระเบิดเหล่านั้น
 (คลิกดูภาพใหญ่) ระเบิด สนามทุ่นระเบิดและประวัติความเป็นมา

   ในช่วงเวลา ๒๕ ปีที่ผ่านมา นับจากปี พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๓๖ ประมาณการว่าทั่วทั้งโลก มีการผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลราว ๑๙๐ ล้านลูก ทั้งหมดถูกเก็บไว้ในคลังของประเทศต่าง ๆ แทบจะทั่วโลก ทุ่นระเบิดจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านั้นถูกจำหน่าย จ่าย และบางครั้งก็แจกฟรีไปยังแทบทุกภูมิภาคเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนในประเทศ ได้กลายเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุ่นระเบิดจะถูกใช้อย่างไม่จำกัดจำนวน และในช่วงหลังจะไร้ซึ่งรูปแบบ จนไม่มีใครพิสูจน์ทราบได้ว่า ทุ่นระเบิดที่มีอยู่จำนวนมากตามแนวเขตชายแดนในแต่ละประเทศนั้น ควรวางอยู่ในทิศทางใด ด้วยจำนวนมากน้อยเพียงใด จนกว่าจะมีใครสักคนที่โชคร้าย ไปเหยียบและสัมผัส
   ปัจจุบันในกลุ่มประเทศผู้ผลิตทุ่นระเบิด แม้จะลดจำนวนลงมากแล้ว แต่ทุ่นระเบิดที่ผลิตได้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะถูกเก็บซ่อนอย่างมิดชิด ทั้งเพื่อใช้เป็นแนวรั้วป้องกันตนเองเวลาเกิดศึกสงคราม และเก็บไว้จำหน่ายให้แก่กลุ่มประเทศที่ยังมีสงครามอยู่ ระเบิดเป็นสินค้าที่ส่วนมากไม่ได้แลกเปลี่ยนด้วยเงิน แต่จะแลกเปลี่ยนกันด้วยข้อตกลงลี้ลับบางประการ และส่วนมากผู้จ่ายเงินมักจะไม่ใช่ผู้ใช้ ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศจะผลิตทุ่นระเบิด เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนทางด้านการเมือง ส่วนบางประเทศที่อ้างว่าตัวเองเลิกผลิตทุ่นระเบิดแล้ว ก็อาจจะซื้อทุ่นระเบิดผ่านประเทศที่ยังผลิตอยู่ เพื่อส่งไปสนับสนุนประเทศด้อยพัฒนา มูลค่าของทุ่นระเบิด ถ้าคิดเป็นตัวเงินที่ส่งมาช่วยเหลือในแต่ละประเทศ จะมากกว่ามูลค่าของข้าวปลาอาหาร และยารักษาโรคที่ประเทศนั้น ๆ ต้องบริโภคทั้งประเทศ ไม่น่าเชื่อว่ามนุษยชาติที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายเหล่านั้น มองเห็นความสำคัญในการเข่นฆ่ากัน มากกว่าการที่จะยังชีพกันอยู่อย่างสงบสุข
   เหมือนเช่นประเทศเพื่อนบ้านเรา ไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริงเลยถ้าจะกล่าวว่า พื้นที่ชายแดนรอบประเทศไทย ด้านที่ติดกับประเทศกัมพูชา นับตั้งแต่จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ เรื่อยเลยมาจนถึงจังหวัดศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ทั้งหมดถูกปูพรมด้วยทุ่นระเบิดจำนวนนับล้าน ๆ ลูก ทั้งในพื้นที่ที่ถูกจัดสรรให้เป็นที่ดินทำกินของราษฎร ที่ดินเรือกสวนไร่นา ที่ดินป่ารกร้างว่างเปล่า รวมไปถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมป่าไม้ พยายามจะเข้าไปกันเขตเพื่อเก็บรักษาป่าไม้ไว้ ในพื้นที่จำนวนหลายแสนไร่เหล่านั้น ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นทั้งสนามรบ และที่ลี้ภัยการเมือง ทั้งของตัวผู้นำเองและของทหารกองเล็กกองน้อย การสู้รบระหว่างกลุ่มชนในประเทศกัมพูชา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เรื่อยมา เป็นการต่อสู้ที่ผลัดเปลี่ยนผู้แพ้และผู้ชนะมาตลอด และไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ผู้ที่แตกร่นเข้ามาในเขตประเทศไทย จะถูกผู้ที่ยึดครองแผ่นดิน วางทุ่นระเบิดเป็นแนวยาว ประหนึ่งกำแพงป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายย้อนกลับคืนสู่แผ่นดิน

 (คลิกดูภาพใหญ่)    ไม่นับรวมทุ่นระเบิดที่หน่วยย่อย ๆ วางป้องกันตัวเองในทุกฐานที่ปักหลักอยู่ ว่ากันว่าแม้เพียงทหารสองสามนายผูกเปลนอนเพื่อพักผ่อน เขาก็มีทุ่นระเบิดเหลือเฟือที่จะฝังปักรอบฐานเพื่อป้องกันการบุกรุก และเมื่อตื่นนอนเพื่อเดินทางต่อ คงไม่มีใครมาเสียเวลาเก็บกู้ เพราะเวลาในการวางนั้นง่ายดายเพียงไม่กี่อึดใจ แต่เวลาในการเก็บกู้ยาวนานเป็นชั่วโมง ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงถึง ๓๐๐-๑,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งลูก ทุ่นระเบิดนับสิบนับร้อยที่เหลืออยู่ จึงกลายเป็นกองร้อยทหารใบ้ที่ยืนเข้าแถวนิ่งเงียบ รอคอยผู้คนมากระตุ้นให้เขาคำรามแผดเสียงพ่นพิษใส่ และที่สำคัญ บางครั้งกระทั่งคนที่วางเองก็ลืมตำแหน่งแห่งหน และเครื่องหมายที่ตัวเองทำไว้ และกลายเป็นผู้โชคร้ายเสียเอง การสู้รบที่อยู่ชายขอบด้านทิศตะวันออกนั้น เป็นการสู้รบที่ไร้กฎเกณฑ์ ไร้รูปแบบ การวางแบบดาวล้อมเดือน วางแบบแนว K5 ที่บันทึกไว้ในตำรา ไม่สามารถยึดถือได้ สิ่งที่ฝ่ายวางยึดถือมีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ป้องกันตัวเองให้ได้มากที่สุด และทำลายฝ่ายตรงข้ามให้ได้มากที่สุดเช่นกัน
   นั่นคือสนามทุ่นระเบิดที่เกิดจากสงคราม และความขัดแย้งในประเทศอื่น ที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ยังมีสนามทุ่นระเบิดอีกจำนวนหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งของกลุ่มคนภายในประเทศ การสู้รบระหว่างทหารไทยกับผู้ฝักใฝ่ในลัทธิอื่น เริ่มต้นตั้งแต่วันเสียงปืนแตก* (*คือวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปะทะกับกองกำลังของรัฐบาลเป็นครั้งแรก) จนถึงวันเสียงปืนดับ (ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึงกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๕) ระยะเวลากว่า ๑๗ ปี อาวุธหนักและลูกปืนใหญ่ ที่คนไทยสาดใส่กันยิ่งกว่าสาดน้ำในวันสงกรานต์ ก่อให้เกิดสนามทุ่นระเบิดจำนวนมากมาย ว่ากันว่าจำนวนลูกปืนใหญ่และอาวุธหนักที่ยิงออกไป ในจำนวน ๑๐๐ ลูก จะมีลูกปืนที่ไม่ระเบิดอยู่มากกว่า ๕ ลูก ซึ่งเมื่อคำนวณจากการยิงในช่วงสิบกว่าปี สรรพาวุธหนักที่ยังไม่ระเบิด (unexploded ordnance - UXO) เหล่านั้นย่อมมีอยู่มากมาย
   ในพื้นที่การสู้รบ ทั้งในแนวแอลเล็กด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวแอลใหญ่ในภาคกลางและอีสานตอนเหนือ รวมทั้งในแนวเทือกดอย ผาหม่น ดอยยาว และดอยหลวงทางภาคเหนือ ที่ทหารไทยและผู้ที่ฝักใฝ่ในลัทธิอื่นสู้รบกัน มีสรรพาวุธหนักที่ยังไม่ระเบิด (UXO) หลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งใต้ดิน บนพื้นดิน ในป่าทึบ และในที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ปัจจุบันบางส่วนถูกจัดสรรให้เป็นที่ดินทำกินของราษฎร สรรพาวุธหนักที่ยังไม่ระเบิดเกือบทั้งหมดยังพร้อมที่จะระเบิดทำลายคนรอบข้างได้อยู่ตลอดเวลา
   นอกจากสนามทุ่นระเบิดตามแนวเขตชายแดนด้านทิศตะวันออก และภายในประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นสนามทุ่นระเบิด ที่สามารถกำหนดแนวเขตได้ชัดเจน ยังมีสนามทุ่นระเบิดอีกจำนวนหนึ่ง ในแนวเขตชายแดนด้านทิศตะวันตก ที่ติดต่อกับประเทศพม่า สนามทุ่นระเบิดในด้านนี้ยังไม่อาจกำหนดจำนวนและขนาดได้ เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีการสู้รบอยู่ ทุ่นระเบิดที่ฝังไว้บางส่วนมีมานานแล้ว และบางส่วนเพิ่งเกิด บางคนให้คำจำกัดความสนามทุ่นระเบิดในด้านนี้ว่า เป็นสนามทุ่นระเบิดที่เดินได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งคนและสัตว์ โดยเฉพาะช้าง
 (คลิกดูภาพใหญ่) สถานการณ์สนามทุ่นระเบิดในโลก

   ประมาณการว่าในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา มีประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสนามทุ่นระเบิดอยู่ถึง ๘๐ ประเทศ ในจำนวนประเทศทั้งหมดในโลก ๑๙๔ ประเทศ ซึ่งในจำนวน ๘๐ ประเทศนี้ มีอยู่ ๑๗ ประเทศที่องค์การสหประชาชาติ บันทึกให้เป็นประเทศที่มีปัญหาอย่างรุนแรง (serious mine problem) โดยเฉพาะประเทศแองโกลา จากการสำรวจในระดับที่ ๑ (mine impact survey level 1) ทำให้รู้ว่าประเทศที่มีจำนวนประชากร ๑๐ ล้านคน มีพื้นที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดอยู่ถึง ๙๑๕ ตารางกิโลเมตร ด้วยจำนวนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel) ๙-๑๕ ล้านลูก มีผู้ประสบภัยโดยเฉลี่ยเดือนละ ๑๕๐-๒๐๐ ราย ๓๕ เปอร์เซ็นต์ของผู้ประสบภัยเป็นเด็ก และกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้ประสบภัยจะเสียชีวิต ประมาณการว่า ๑ ใน ๔๗๐ คนของประชากรแองโกลาทั้งประเทศเป็นคนพิการเนื่องจากระเบิด ประเทศที่มีความรุนแรงลดหลั่นลงมาตามลำดับก็คือ อัฟกานิสถาน กัมพูชา และโมซัมบิก
   ในประเทศกัมพูชา ประชากร ๑ ใน ๒๓๐ คนเป็นคนพิการเนื่องจากระเบิด แม้ปัจจุบันจะได้รับการช่วยเหลือแล้ว จากต่างประเทศทั้งด้านสำรวจ แจ้งเตือน และการเก็บกู้ทำลาย แต่จำนวนสนามทุ่นระเบิดที่มีมากมายในช่วงสงคราม ทำให้ภาพรวมของประเทศ ยังมีอัตราความเสี่ยงสูงอยู่เช่นเดิม
   ในประเทศอัฟกานิสถานก็เช่นกัน มีพื้นที่สนามทุ่นระเบิดอยู่ถึง ๖ แสนสนาม ซึ่งในทุกสนามยังมีความพร้อมแทบทุกอึดใจ ที่จะระเบิดทำลายแขนขา เพิ่มจำนวนคนพิการให้แก่โลกได้อีก
   ปัจจุบันจำนวนทุ่นระเบิดที่สะสมอยู่ในคลังของประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๐๘ ประเทศ มีจำนวนมากถึง ๑๐๐ ล้านลูก ไม่นับรวมจำนวนที่ถูกวางเป็นสนามทุ่นระเบิดแล้วอีกกว่า ๑๑๐ ล้านลูก ถึงแม้จะมีการต่อต้าน และมีประเทศที่ประกาศตัวว่าเลิกผลิตทุ่นระเบิดไปแล้วหลายประเทศ แต่ทุ่นระเบิดก็ยังถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนถึงปีละ ๕-๑๕ ล้านลูก มีผู้คำนวณอย่างคร่าว ๆ ไว้ว่า ในอัตราการวางและความสามารถในการค้นหา และทำลายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โลกจะต้องใช้เวลายาวนานถึง ๑,๑๐๐ ปี ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ. ๓๖๔๔ โลกจึงจะปลอดจากทุ่นระเบิด (mine free) นั่นหมายความว่า จะต้องไม่มีการวางทุ่นระเบิดเพิ่มขึ้นอีก

(คลิกดูภาพใหญ่)    แต่ในความเป็นจริง ทั่วโลกมีการวางทุ่นระเบิดเพิ่มใหม่ถึงปีละ ๒.๕ ล้านลูก เมื่อเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะทำลายทุ่นระเบิดให้หมดไปจากผืนโลก จึงมีเพียงแค่ในความฝัน หรือในห้องประชุมที่กลุ่มประเทศที่ร่วมลงนาม พูดคุยกันเท่านั้น
   สิ่งที่แต่ละประเทศทำได้จึงเพียงแค่สำรวจ กำหนดขอบเขตที่แท้จริงถึงพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิด แล้วทำงานต่อเนื่องตามขั้นตอน และเงินที่มีอยู่ อาจจะเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน (mine awareness education) ให้รู้ถึงอันตราย และตระหนักว่ากำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิด การปักป้ายเตือน (marking) และสุดท้ายมีการค้นหาและทำลาย (searching and mines clearance) สำหรับการค้นหาและทำลาย ส่วนมากมักใช้ในพื้นที่จำเป็นจริง ๆ เพราะใช้เวลานานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
   สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะไม่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา แต่เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ที่มีอิทธิพลไปทั่วโลก การทำลายทุ่นระเบิดในคลังไปแล้วจำนวน ๓.๓ ล้านลูก ย่อมเป็นการก้าวนำที่ดี ในการนำสันติภาพมาสู่ประชาคมโลก ในรัสเซียก็เช่นกัน ทุ่นระเบิดในคลังจำนวน ๕ แสนลูกถูกทำลายไปแล้ว รวมทั้งประเทศเยอรมนีที่เคยเป็นผู้นำสำคัญ ในการทำสงครามโลกทั้งสองครั้ง ได้ให้สัตยาบันและทำลายทุ่นระเบิดในคลัง ไปจนหมดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วเช่นกัน
   องค์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดของสหประชาชาติ (UNMAS) ได้รณรงค์ให้มีการเก็บทำลายทุ่นระเบิดในประเทศต่าง ๆ การระดมเงินทุนทั้งจากประเทศเหล่านั้น และจากประเทศที่ร่ำรวย ทำให้เริ่มมีการทำงานสำรวจ และงานต่อเนื่องตามมาอย่างจริงจัง มีหลายประเทศได้สำรวจจำนวนทุ่นระเบิด และสนามทุ่นระเบิดไปแล้ว เช่น ลาว กัมพูชา แองโกลา โมซัมบิก บอสเนีย อิรัก ซาฮาราใต้ และเยเมน รวมทั้งประเทศไทย เมื่อสิ้นสุดเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๔ ประเทศไทยได้จบโครงการสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิด ที่มีต่อชุมชนในระดับที่ ๑ (mine impact survey level 1)
 (คลิกดูภาพใหญ่) สถานการณ์สนามทุ่นระเบิดในประเทศไทย

   ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการสำรวจผลกระทบ ของสนามทุ่นระเบิดที่มีต่อชุมชน ได้มีการรายงานในเบื้องต้นว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่สงสัยว่าจะปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิด (landmine / UXO contaminated sites) อยู่ ๗๙๖ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๕ แสนไร่ มีประชากรที่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่ระเบิดดังกล่าว จำนวนกว่า ๔ แสนคน ใน ๑๙ จังหวัด ๔๘ อำเภอ และ ๑๔๘ หมู่บ้าน แต่เมื่อสิ้นสุดการสำรวจดังกล่าว เมื่อปลายเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ผลของการสำรวจได้ตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีพื้นที่ที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดอยู่ถึง ๒,๕๐๐ ตารางกิโลเมตร มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ๕๓๐ หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบมากถึง ๕ แสนคน
   พื้นที่ที่มีสนามทุ่นระเบิดและมีจำนวนทุ่นระเบิดหนาแน่นที่สุด อยู่ในเขตชายแดนด้านประเทศกัมพูชา แม้ว่าในปัจจุบันการสู้รบจะจบสิ้นไปแล้ว แต่อุบัติเหตุเนื่องจากทุ่นระเบิดยังมีอยู่ พื้นที่ที่มีสนามทุ่นระเบิด และมีผลกระทบต่อชุมชนรองลงมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนพม่าและลาว ส่วนชายแดนด้านประเทศมาเลเซีย มีผลกระทบน้อยที่สุด ทั้ง ๆ ที่บางพื้นที่ยังมีข่าวคราวของผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตีอยู่เสมอ ในภาพรวมทั้งหมดจากการสำรวจครั้งสุดท้าย ประเทศไทยมีจำนวนสนามทุ่นระเบิด ๙๓๓ พื้นที่ ด้วยจำนวนทุ่นระเบิดที่คาดว่าจะมีหลงเหลืออยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เกินกว่าล้านลูก ส่วนมากจะเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (AP) รองลงมาคือสรรพาวุธหนักที่ยังไม่ระเบิด (UXO) และทุ่นระเบิดทำลายรถถัง (AT) ตามลำดับ
   ในประเทศไทย ชนิดของทุ่นระเบิดที่มีอยู่ในสนามทุ่นระเบิด จะมีให้เห็นซ้ำ ๆ กันอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ส่วนมากจะเป็นผลผลิตจากจีน รัสเซีย เวียดนาม เกาหลีเหนือ และสหรัฐอเมริกาซึ่งในอดีตเป็นประเทศที่ผลิต และส่งออกทุ่นระเบิดเป็นจำนวนมาก ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๙๒ ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งออกทุ่นระเบิดสังหารบุคคลจำนวนถึง ๔.๔ ล้านลูกไปยังประเทศต่าง ๆ ๓๒ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จำนวนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลกว่า ๔ แสนลูกที่ไทยได้รับจากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนอกจากเก็บไว้ในคลัง เพื่อรอการทำลายแล้ว อีกส่วนหนึ่งได้กลายเป็นสนามทุ่นระเบิดจำนวนกว่า ๙๓๓ พื้นที่ ไม่มีใครสามารถบอกจำนวนที่แท้จริงได้ว่า ในจำนวนพื้นที่สนามทุ่นระเบิดมากมายที่อยู่รอบประเทศไทย มีทุ่นระเบิดอยู่กี่ลูก แต่จากการพูดคุยกับราษฎร และเหยื่อของทุ่นระเบิดในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  ตัวเลขของจำนวนทุ่นระเบิดที่กล่าวถึง มักขึ้นต้นด้วยคำว่า "ล้าน ๆ ลูก" บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าแทบทุกก้าวย่างที่เหยื่อเหยียบย่ำลงไป มีอันตรายอยู่ทุกหย่อมหญ้า

 (คลิกดูภาพใหญ่)    เหยื่อทุ่นระเบิดคนหนึ่งเล่าถึงวันที่เขาประสบภัย เมื่อเขาถูกระเบิดเหวี่ยงขึ้นข้างบนก่อนจะหล่นลงกระแทกกับพื้นดิน รอบ ๆ ที่เขานั่งงงอยู่มีทุ่นระเบิดโผล่อยู่รอบตัว เขาต้องร้องบอกเพื่อนที่กำลังจะเข้ามาช่วยเหลือ ให้หยุดนิ่งอยู่ตรงนั้น หรือไม่ก็ออกไปตามทหารที่เชี่ยวชาญกว่ามาช่วยเหลือ บางคนเมื่อโดนระเบิดครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อก้าวเดินออกมา ก็โดนซ้ำอีกครั้ง คนที่เข้ามาช่วยเหลือก็เหมือนกัน ถ้าไม่ใช่ทหารที่รู้เรื่องการวางทุ่นระเบิด แค่แบกหามกันออกไปไม่กี่ก้าว ก็โดนซ้ำอีก คนที่โดนก่อนมักจะเสียชีวิต เพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว ส่วนคนที่เข้ามาช่วยเหลือจะกลายเป็นคนพิการ คอยเล่าเรื่องราวที่คล้ายกับเป็นตำนานนี้ให้ผู้คนและลูกหลานฟัง
   ในบริเวณที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่ง หรือแม้แต่พื้นที่อันสวยงามของหุบเขาในอำเภอเขาค้อ พื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นแหล่งสู้รบเก่า เคยเป็นสนามที่ทหารหว่านลูกปืน และอาวุธสงครามลงมาจำนวนนับไม่ถ้วน บางส่วนหลงเหลืออยู่กลายเป็นสนามทุ่นระเบิดที่พร้อมจะระเบิดอยู่ตลอดเวลา
   นี่คือเรื่องจริงที่คนทั้งประเทศแทบไม่รู้เลยว่า ประเทศไทยที่สงบแล้วจากสงคราม (ยกเว้นพื้นที่ชายแดนบางส่วนด้านตะวันตก) มีพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอันตรายอยู่รายรอบประเทศ พื้นที่บางแห่งมีทางหลวงแผ่นดิน เป็นถนนยางมะตอยอย่างดีเข้าถึง สองข้างทางเป็นป่าหญ้าคา ป่าไผ่ หรือแม้แต่ป่าไม้ รวมทั้งไร่ร้าง ที่ตรงนั้นมีอุบัติเหตุเนื่องจากทุ่นระเบิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นพื้นที่ที่คนภายนอกสามารถขับรถเข้าถึงได้ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีป้ายปักเตือน มีแต่คำบอกเล่าต่อ ๆ กัน
   เหยื่อของทุ่นระเบิดคนต่อไป อาจเป็นตัวเราเอง
 (คลิกดูภาพใหญ่) การสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิดที่มีต่อชุมชนในประเทศไทย

   หลังจากที่ประเทศไทยร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา มีผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐภาคี และต้องปฏิบัติตนตามอนุสัญญา นอกจากการทำลายทุ่นระเบิดในคลังกว่าแสนลูกภายในสิ้นปี ๒๕๔๔ นี้แล้ว ประเทศไทยมีภาระจะต้องทำลายทุ่นระเบิด ที่อยู่นอกคลัง และที่ฝังอยู่ในดินรายรอบประเทศให้หมดไปภายใน ๑๐ ปี ภารกิจแรกสุดที่จะต้องทำเพื่อกำจัดทุ่นระเบิด ที่อยู่นอกคลัง ก็คือการสำรวจหาจำนวนทุ่นระเบิด และสนามทุ่นระเบิด รวมทั้งกำหนดขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดอย่างเป็นรูปธรรม
   ในการสำรวจครั้งนี้ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์การปฏิบัติการทุ่นระเบิด ของสหประชาชาติ (United Nations Mine Action Service - UNMAS) ได้ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการสำรวจ ( Survey Action Center - SAC) มอบหมายให้องค์การช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid, NPA) เข้ามาทำการสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิด ที่มีต่อชุมชนซึ่งเป็นการสำรวจในระดับที่ ๑ (mine impact survey level 1) ในการสำรวจครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน และสิ่งของจากประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่นประเทศอังกฤษ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา รวมทั้งงบประมาณบางส่วนจากองค์การสหประชาชาติ และบริษัทฮอนด้าประเทศญี่ปุ่น
   องค์การ NPA ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี ๒๕๔๓ การสำรวจภาคสนามแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๔๔ ได้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับจำนวนสนามทุ่นระเบิด จำนวนผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และผลกระทบที่มีต่อชุมชน สรุปส่งรัฐบาลไทยผ่านศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mine Action Center - TMAC)
   ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้ทราบถึง พื้นที่ที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดอย่างละเอียดมากขึ้น และเริ่มต้นกำหนดขอบเขตด้วยวิธีการทางเทคนิค เพื่อปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปักป้ายเตือน การให้ความรู้ รวมถึงการค้นหาเพื่อทำลาย ซึ่งปฏิบัติการสุดท้ายนี้ เป็นปฏิบัติการที่เสี่ยงภัยและใช้งบประมาณมากที่สุด

 (คลิกดูภาพใหญ่)    ก่อนจะกำหนดขอบเขตเพื่อปฏิบัติการ จะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนเสียก่อน ซึ่งจากผลการสำรวจทำให้ทราบว่า ในพื้นที่ชายแดน และพื้นที่สู้รบเก่าในเขตประเทศไทย มีพื้นที่ที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิด ซึ่งเรียกเป็นทางการว่า สนามทุ่นระเบิด (landmines) เป็นจำนวนมากถึง ๙๓๓ พื้นที่ แน่นอนที่สุดว่า ย่อมมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของราษฎร บางแห่งมีผลกระทบมาก บางแห่งมีน้อย นอกจากมีผลกระทบต่อชุมชนแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหารและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ทำงานในพื้นที่อีกด้วย
   สำหรับผลกระทบที่มีต่อชุมชน พื้นที่ที่ควรกล่าวถึงมากที่สุดคือ พื้นที่สนามทุ่นระเบิดที่อยู่ชายแดนประเทศกัมพูชา นับตั้งแต่จังหวัดตราด จันทบุรี สระแก้ว เรื่อยมาจนถึงบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี มีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากถึง ๒๙๕ หมู่บ้าน ส่วนมากจะเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบสูง ประชากรมากกว่าพันคน กลายเป็นคนพิการเนื่องจากการเหยียบกับระเบิด และมากกว่าพันคนได้เสียชีวิตไปแล้ว
   ถ้าพูดถึงเรื่องทุ่นระเบิด จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เพราะมีหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบสูง อยู่เรียงรายตามแนวเขตชายแดน บางหมู่บ้านถูกจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นหมู่บ้านกันชน อย่างเช่นหมู่บ้านหนองหญ้าแก้ว ที่ขึ้นกับกิ่งอำเภอโคกสูง พื้นที่ดินทำกินเลียบถนนศรีเพ็ญที่อยู่ห่างจากตลาดโรงเกลือของอำเภออรัญประเทศไปเพียง ๓๐ กิโลเมตรนั้น คือสนามทุ่นระเบิด ที่มีผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ และกลายเป็นคนพิการจำนวนนับไม่ถ้วน
   หมู่บ้านอื่น ๆ ก็เช่นกัน ทั้งบ้านโนนหมากมุ่นและบ้านหนองเสม็ด ถึงจะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากเขตชายแดน แต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม ปี ๒๕๔๔ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึงสองราย หนึ่งในนั้นเหยียบทุ่นระเบิดทำลายรถถัง ที่เชื่อกันว่าจะต้องมีน้ำหนักกดทับมากกว่าน้ำหนักคน แต่ทุกอย่างย่อมมีสิ่งที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ สันนิษฐานกันว่าทุ่นระเบิดรถถังชิ้นนั้น น่าจะผุพังไปบ้างแล้ว ผุพังแต่เปลือกนอก ส่วนชนวนและดินระเบิดหลักยังมีอยู่เต็ม เพียงพอให้นายสัญญา สมหวัง กลายเป็นเหยื่ออีกคนหนึ่งที่ยังไม่ใช่คนสุดท้าย
   "ตั้งแต่ใต้หน้าอกลงไป ไม่มีชิ้นส่วนใดเหลือเลย" เพื่อนผู้ย้อนกลับไปเก็บศพเล่าให้ฟัง เขาเล่าเพิ่มเติมว่า นายสัญญาเข้าไปล่าสัตว์กับเพื่อนอีกสองคนในป่าติดเขตชายแดน ทุกคนรู้ ทุกคนเคยเห็นทุ่นระเบิด รวมทั้งเคยเห็นผู้พิการเนื่องจากทุ่นระเบิด แต่ก็ไม่มีใครกลัว
   "ไม่เข้าป่าหาของกิน ก็ไม่มีกิน" หลายคนพูดตรงกัน จริงบ้างเท็จบ้าง ความจริงน่าจะเป็นเพราะนิสัยคนไทยในชนบท ที่ชีวิตแวดล้อมด้วยป่า ด้วยทุ่งนา และคุ้นเคยกับการหาอยู่หากิน และเมื่อสถานที่ที่เข้าไปหาอยู่หากิน ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่ตั้งของกองกำลังทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ที่จำเป็นต้องวางทุ่นระเบิดไว้ป้องกันตนเอง ที่แห่งนั้นจึงกลายเป็นพื้นที่อันตรายในเวลาต่อมา
 (คลิกดูภาพใหญ่)    ผลกระทบมากที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลเรื่องสนามทุ่นระเบิด สำหรับประเทศไทย คือกระทบต่อการเข้าป่าหาอาหารและของป่า รองลงมาคือกระทบต่อพื้นที่ดินทำกิน ซึ่งผลกระทบที่มากมายดังกล่าว ยังไม่ได้รับการป่าวร้องอย่างจริงจัง ให้ราษฎรระมัดระวัง และหวาดกลัวต่อการเข้าไปในสนามทุ่นระเบิด
   "รู้ ทำไมเขาจะไม่รู้" เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่สนามทุ่นระเบิด กล่าวอย่างจริงจัง "คนพวกนั้นรู้พื้นที่มากกว่าเราเสียอีก รู้ด้วยว่าตรงไหนมีทุ่นระเบิดหรือไม่มี แต่เขาก็พลาด" อย่างที่บอก ทุ่นระเบิดไม่รู้จักเจ้าของ ไม่อาจจำแนกได้ว่าเท้าไหนเป็นเท้าทหาร คนงาน หรือชาวบ้านที่แค่เดินเก็บเห็ด
   นางแดง ตรีสถิตย์ ผู้สูญเสียสามีให้แก่ทุ่นระเบิด ลูกชายคนโตของนางเป็นคนขาพิการเนื่องจากทุ่นระเบิด ก่อนหน้าที่สามีนางจะตายเพราะทุ่นระเบิด เป็นที่น่าสังเกตว่า ครอบครัวไหนที่ได้รับความสูญเสีย เนื่องจากทุ่นระเบิด ก็จะเกิดซ้ำ ๆ กัน ทั้งลูก สามี พี่น้อง และคนใกล้ชิด
   นางกอบ รถกระโทก แห่งบ้านโนนหมากมุ่น กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว ก็เช่นกัน หลังจากนั่งฟังนางเล่าถึงจำนวนคนในครอบครัว ที่ล้มหายตายจากไปเพราะทุ่นระเบิดแล้ว ก็ได้แต่ทอดถอนใจ นั่งมองหญิงวัย ๕๘ ปี ที่วางร่างกายทั้งหมดอยู่บนต้นขากุด ๆ นางโดนระเบิดอะไรสักอย่าง ที่มีอานุภาพทำลายขาทั้งสองข้าง อดฉงนใจและอัศจรรย์ใจไม่ได้ว่า นางมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร กับความทุกข์โศกเหล่านั้น
   "ไม่กลัวนะ ไม่เคยกลัว เห็นมาตั้งแต่คราวสงคราม ต้องอุ้มลูกจูงหลานหนีภัย หนีเสียงปืนใหญ่ที่ยิงมา ลูกชายก็เหมือนกัน พอโตขึ้นก็ออกไปรับจ้างกู้ทุ่นระเบิด เจ็บบ้าง ตายบ้าง พี่ชายคนโตถูกเขมรยิงตายไปนานแล้ว พี่สะใภ้ถูกทุ่นระเบิดตาย ทั้งลูกทั้งหลาน เจ็บบ้าง ตายบ้าง ถึงคราวตัวเอง รู้สึกตัวตอนหล่นตุ้บลงมาในหลุมระเบิด ฝุ่นฟุ้งกระจาย ตอนนั้นได้แต่บอกตัวเองว่าจะต้องไม่ตาย ก่อนจะร้องตะโกนให้คนมาช่วย"
   ผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ ผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่า รวมทั้งช้าง ไม่น่าเชื่อว่าจากการพูดคุยกับราษฎรในพื้นที่สนามทุ่นระเบิด ที่เป็นเขตป่าไม้ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีหมูป่าถูกระเบิดตายหลายครั้ง ราษฎรจะไปพบเศษชิ้นส่วนที่แหลกเละ บางคนพูดว่า เขมรมาวางกับดักสัตว์ ซึ่งคำนึงตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทุ่นระเบิดที่วาง ทำลายสัตว์ป่าตัวเล็กให้แหลกเละ เกินกว่าจะนำกลับไปเป็นอาหารได้
   แต่นั่นแหละ ไม่มีใครรู้ความจริงได้เท่ากับคนที่กระทำ บางทีอาจมีทุ่นระเบิดลูกเล็ก ๆ หลงเหลืออยู่ในป่าลึกเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เดินสำรวจป่าเป็นประจำเล่าว่า  เขาเคยเจอรอยตีนกวางสามขา บางทีกวางตัวนั้นอาจจะโชคดีกว่าหมูป่า ที่พลาดไปเหยียบทุ่นระเบิดลูกที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า
 (คลิกดูภาพใหญ่) ปิ่นโต ฝักข้าวโพด กระปุกครีม กบกระโดด ฯลฯ
นิกเนมพื้นบ้าน มหันตภัยร้ายในชายป่า

   ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งเลวร้ายที่เกิดกับชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านชายป่า ที่เป็นเขตอันตรายของสนามทุ่นระเบิด จะกลายมาเป็นเรื่องพูดคุยกันอย่างสนุกสนานในเวลาต่อมา ทุกคนที่ผ่านเหตุการณ์สยองขวัญนั้น ต่างก็จดจำและพร้อมที่จะเล่าถึงความพยายามที่จะช่วยตัวเองออกจาก "พื้นที่อันตราย" เขาเรียกอาวุธร้ายต่าง ๆ เหล่านั้นตามภาพที่มองเห็น--เจ้าปิ่นโต อาวุธตัวร้ายที่สุดที่มีกลาดเกลื่อนตามเขตชายแดนเขมร มันคือปิ่นโตเถาร้ายที่ทำลายผู้คนให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือทันที
   ชื่อเรียกเป็นทางการ คือ PMN และ PMN2 รวมทั้ง Type72A และ B ซึ่งมีรูปทรงคล้าย ๆ กัน ลักษณะทางกายภาพคล้ายปิ่นโตที่ใส่อาหารทั่ว ๆ ไป เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย สำหรับ PMN จะมีเปลือกนอกเป็นพลาสติกแข็งสีน้ำตาล มีฝาครอบเป็นยางสีดำ ส่วน PMN2 สีเปลือกนอกจะเป็นสีเขียว ฝาครอบเป็นยางรูปกากบาทสีดำ ทั้งสองแบบจะมีขนาดเท่ากัน คือเป็นรูปทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒๕ มิลลิเมตร ความสูง ๕๔ มิลลิเมตร น้ำหนักรวม ๔๕๐-๕๐๐ กรัม มีหูจับด้านข้างคล้ายหูปิ่นโต ภายในปิ่นโตเถาร้ายมีกลไกและดินระเบิดแบบ TNT อยู่ถึง ๒๔๐ กรัม เวลามีเหยื่อไปจุดระเบิด ด้วยการเหยียบหรือกดทับ มันจะระเบิดด้วยเสียงดังสะท้านดีดเหยื่อให้ลอยสูงขึ้นไปในอากาศ ส่วนมากเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จะถูกตัดขาทิ้งสูงเหนือเข่า บางคนอาจได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้งสองข้าง ให้แพทย์เลือกตัดสินใจว่า จะเก็บและตัดข้างไหนทิ้ง บางคนโชคร้ายต้องตัดขาทิ้งทั้งสองข้าง สำหรับเหยื่อที่เป็นทหาร หรือสวมรองเท้าทหารที่หุ้มข้อไปถึงหัวเข่า เจ้าปิ่นโตจะทำหน้าที่เป็นเลื่อยคมตัดเท้าและขาส่วนที่ถูกหุ้มอยู่ทั้งหมดให้ขาดหายไปในพริบตา อย่างไม่ทันได้เจ็บปวด
   ทุ่นระเบิดตัวที่ร้ายพอ ๆ กับเจ้าปิ่นโต ก็คือ ฝักข้าวโพด ความจริงไม่ว่าใครก็ตามที่เห็นอาวุธร้ายตัวนี้แล้ว ก็คงเรียกชื่อเหมือน ๆ กัน เพราะมีลักษณะและขนาดเท่าข้าวโพดฝักย่อม ที่ปอกเปลือกออกแล้ว มีด้ามจับเป็นไม้ขนาดเหมาะมือสำหรับเสียบลงไปในพื้นดิน ตรงที่มีเม็ดเรียงคล้ายเมล็ดข้าวโพด ทำด้วยเหล็กหล่อเป็นตาตาราง เมื่อถูกจุดระเบิด จะแตกแยกออกจากกันเป็นเม็ด ๆ พุ่งเข้าใส่เหยื่อ เหมือนลูกปืนที่ถูกยิงออกจากกระบอกปืน การวางจะปักเจ้าฝักข้าวโพดนี้ลงบนพื้นดิน ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ในเขตชายแดน และรู้ถึงภัยร้าย ก็คงเดินเข้าไปหยิบ และเก็บมาพิจารณา ว่าใครช่างมาปักอะไรรูปร่างเหมาะมือไว้บนพื้น คนที่โดนระเบิดเป็นคนแรกก็คงคิดเช่นนั้น สะเก็ดเหล็กที่สาดเข้าใส่เขาหลังจากหยิบมาได้เพียงอึดใจ คงทำให้เหยื่อคนนั้นจดจำไปชั่วชีวิต
   ฝักข้าวโพดมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า POMZ-2 และ POMZ-2 M ผลิตจากประเทศโซเวียตรัสเซีย (เดิม) เยอรมนีตะวันออก (เดิม) เกาหลีเหนือ และมีของเลียนแบบผลิตในจีน มีชื่อเรียกว่า Type58 ทั้งหมดมีขนาดใกล้เคียงกัน ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๑๐ มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๐ มิลลิเมตร ชนวนเป็นแบบ MUV หรือ UPF วัตถุระเบิด TNT ๗๕ กรัม น้ำหนักรวมประมาณ ๑.๗๗ กิโลกรัมสำหรับ POMZ-2 M และ ๒.๓ กิโลกรัมสำหรับ POMZ-2 วางดักด้วยการขึงลวดสะดุด (tripwire) เพียงมีแรงกระทบ ๑-๕ กิโลกรัม จะจุดระเบิดทันที ส่วนที่เป็นเหล็กจะถูกขับให้ลอยสูงขึ้นแล้วเปลือกนอกจะแตกออก สาดสะเก็ดไปไกลได้ถึง ๔ เมตร

 (คลิกดูภาพใหญ่)    กระปุกครีม หนึ่งในทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ในการสัมภาษณ์คนพิการตามแนวเขตชายแดน เป็นกระปุกพลาสติกขนาดเล็ก เบา บางครั้งจะลอยตามน้ำมา เพียงใช้เท้าเขี่ยก็แตกฟู่กระจาย นั่นคือคำกล่าวสำหรับผู้ที่ยังไม่เหยียบทุ่นระเบิดอย่างจัง เพราะผู้ที่เหยียบลงบนทุ่นระเบิด ที่ฝังเรี่ยอยู่บนพื้นดิน ดินระเบิดแบบ Tetryl ๓๑ กรัม มีอำนาจพอที่จะทำให้กระดูกปลายเท้าที่เหยียบแตกละเอียด แน่นอน ถ้าไม่สามารถนำออกจากป่าส่งโรงพยาบาลได้ทันที เนื้อปลายเท้าจะเน่า ลามขึ้นไปจนหมดข้อเท้า ซึ่งทำให้เหยื่อถูกตัดขาใต้เข่าแทบทุกราย
   กระปุกครีมมีชื่อเรียกในหมู่ทหารว่า M14 และ M14A1 ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกาและอินเดีย มีของผลิตเลียนแบบจากจีน ในชื่อ MN79 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแรงระเบิด เปลือกนอกเป็นพลาสติกสีเขียวทึบ ๆ มีลูกศรสีเหลืองประทับอยู่ส่วนบน จุดระเบิดด้วยการกด (pressure) รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๖ มิลลิเมตร ความสูง ๔๐ มิลลิเมตร วัตถุระเบิดเป็นแบบ Tetryl นำหนัก ๓๑ กรัม น้ำหนักรวม ๑๕๘ กรัม เนื่องจากน้ำหนักเบา เวลาวางส่วนมากจะมีสมอบกยึดที่ห่วงเชือกตรึงไว้กับพื้นดิน
   กบกระโดด เป็นชื่อพื้นบ้านเรียกทุ่นระเบิดที่เมื่อได้รับการจุดระเบิดแล้ว จะลอยสูงขึ้นมาในระดับหน้าอก แล้วส่วนประกอบจะแตกออกสาดสะเก็ดไปรอบตัว ส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายกระป๋องนม บางคนเรียกตะเกียงน้ำมัน เพราะมีส่วนที่เป็นชนวนโผล่ขึ้นมาคล้ายตะเกียง มีมากแถบชายแดนด้านอรัญประเทศ ทุ่นระเบิดที่กระโดดขึ้นมาแล้วจึงแตกออกทำร้ายสิ่งที่อยู่รอบตัวนี้ ที่พบเห็นในประเทศไทยมีสามแบบ คือ M16A1 ของอเมริกา Type69 ที่ผลิตในประเทศจีน, และตระกูล OZM ของโซเวียตรัสเซีย (เดิม) ขนาดของ T-69 และ OZM จะใกล้เคียงกัน คือ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๑ และ ๗๕ มิลลิเมตร ส่วน M16A1 จะใหญ่กว่าด้วยเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐๓ มิลลิเมตร นอกจากนั้นยังมีดินระเบิดมากถึง ๕๑๓ กรัม ในขณะที่ OZM และ T-69 มีเพียง ๗๕ และ ๑๐๕ กรัมตามลำดับ
   ด้วยจำนวนดินระเบิดหลักที่มากถึง ๕๑๓ กรัม จึงทำให้ M16A1 กลายเป็นกบกระโดดตัวโต ที่เมื่อสลัดเปลือกกระป๋องออก และลอยสูงขึ้นถึงระดับอกแล้ว ก็สามารถยิงสะเก็ดเหล็กออกไปรอบตัวได้ไกลถึง ๒๗ เมตร สามารถทำลายผู้คน หรือกองกำลังได้เป็นกลุ่มใหญ่ เพียงเพราะเดินเข้าไปสะดุดลวดที่ขึงไว้
   ทุ่นระเบิดในตระกูลกบกระโดด เป็นทุ่นระเบิดที่ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าสะเก็ดโดนอวัยวะที่สำคัญและไม่สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา บางคนตาบอด และทั้งหมดมีบาดแผลฉกรรจ์เป็นรอยตามตัว เพื่อให้ระลึกถึงวันอันเจ็บปวด
   จอหนัง เป็นชื่อหนึ่งของทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง อาจเพราะเป็นชื่อง่าย ๆ ที่ไม่น่าจะใช่อาวุธร้าย แต่จอหนังก็เป็นอาวุธร้าย ที่ขึงกลางแปลงสาดสะเก็ดลูกปืน (ลูกปราย) กว่า ๗๐๐ ลูก เข้าใส่เหยื่อในทิศทางที่ตั้งไว้ เป็นระเบิดที่บังคับจุดระเบิดนอกพื้นที่ได้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เคลโม (Claymore) ชื่อเป็นทางการของระเบิดแบบจอหนังนี้คือ M18A1 เป็นสินค้าออกที่สำคัญของอเมริกา ที่ยอมรับในอนุสัญญาออตตาวาว่า ไม่รวมอยู่ในระเบิดสังหารบุคคล ที่ต้องกำจัดให้หมดไป ถ้าไม่ได้ติดตั้งดักเหยื่อแบบลวดสะดุด
 (คลิกดูภาพใหญ่)    นอกจากผลิตในอเมริกาแล้ว ยังมีผลิตในชิลีและเกาหลีใต้ รูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมโค้งเล็กน้อยแบบจอหนัง ความยาว ๒๓๐ มิลลิเมตร สูง ๙๐ มิลลิเมตร กว้าง (หนา) ๕๐ มิลลิเมตร เปลือกนอกเป็นพลาสติกเสริมใยแก้วสีเขียวทึม ๆ ภายในบรรจุวัตถุระเบิดแบบ C-4 หนัก ๖๘๒ กรัม น้ำหนักรวม ๑.๕๘ กิโลกรัม เวลาจุดระเบิด สะเก็ดลูกปืนจะถูกสาดออกไปในทิศทางที่ตั้งไว้ เป็นมุมกว้าง ๖๐ องศา สูงจากพื้นดิน ๒.๐๐ เมตร ไกลถึง ๕๐ เมตร ระยะที่ทำอันตรายได้มากที่สุด คือภายในระยะ ๑๖ เมตร นอกจากจุดระเบิดได้ด้วยคันบังคับจุดระเบิดแล้ว ยังสามารถจุดระเบิดได้ด้วยการขึงลวดสะดุด (tripwire)
   ทุ่นระเบิดตัวสุดท้ายที่ถูกกล่าวถึงในชื่อพื้นบ้านคือ โลงผี PMD-6 สินค้าส่งออกที่สำคัญของโซเวียตรัสเซีย (เดิม) ทำด้วยไม้คล้ายกล่องขนาดเล็ก คนที่ตั้งชื่อว่าโลงผี คงมีจินตนาการลึกซึ้ง เพราะความกว้าง ยาว และสูง ได้สัดส่วนแบบโลงอะไรสักอย่าง ที่สามารถทำให้คนเหยียบเสียชีวิตได้ เป็นทุ่นระเบิดเก่าแก่ ที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ พบครั้งแรกในปี ๑๙๓๙ ในสงครามระหว่างโซเวียตกับฟินแลนด์ ในเขตชายแดนประเทศไทย ระหว่างการสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิด ได้เห็นเศษชิ้นส่วนไม้หลงเหลืออยู่ เป็นทุ่นระเบิดที่มีอายุการใช้งานจำกัด เพราะเป็นไม้ ผุพังง่าย ช่วงหลังเมื่อนำมาวางในเขตชายแดนไทย มีปลวกกินเนื้อไม้ จึงมีการดัดแปลงทาน้ำมันเคลือบกันปลวก ขนาดโดยประมาณกว้าง ๘๕ มิลลิเมตร ยาว ๑๙๘ มิลลิเมตร สูง ๖๕ มิลลิเมตร น้ำหนักรวม ๔๐๐ กรัม ดินระเบิดเป็นแบบ TNT หนัก ๒๐๐ กรัม เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ดินระเบิดแรงสูงแบบแรงระเบิด จุดระเบิดได้ด้วยการกดด้วยชนวน MUV หรือ MYB2 น้ำหนักต่ำสุดของการจุดระเบิดประมาณ ๖-๒๘ กิโลกรัม
   ทั้งหมดคือทุ่นระเบิดที่พบเห็นกลาดเกลื่อนในเขตชายแดนไทย โดยเฉพาะชายแดนด้านประเทศกัมพูชา ที่เป็นอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยป่า เป็นที่ทำมาหากิน บางครั้งด้วยความยากจน บางครั้งด้วยความคุ้นเคย และบางครั้ง เพราะผืนแผ่นดินตรงนั้น คือแผ่นดินเกิด ที่เคยอยู่เคยอาศัย แต่ต้องถูกกันเขตออกไป เพราะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยระเบิด เขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้เลย
 (คลิกดูภาพใหญ่) การเก็บกู้ทุ่นระเบิด (mines clearance)

   ตามข้อตกลงของประชาคมโลกกว่า ๑๔๐ ประเทศ ที่ได้ร่วมลงนามกันในอนุสัญญาออตตาวา ณ ประเทศแคนาดา ในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ ได้ยืนยันว่า สำหรับทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel) ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงต่อพลเรือน จะไม่มีการเก็บกู้ ทั้งเก็บกู้เพื่อนำมาใช้ใหม่ และเก็บกู้มาเก็บไว้ในคลัง แต่ให้ใช้วิธีทำลายทิ้งในพื้นที่เลย เนื่องจากเป็นทุ่นระเบิดที่มีอำนาจทำลายรุนแรง และมีความเสี่ยงสูงในการเก็บกู้ ทว่าในความเป็นจริง ในหลายพื้นที่ยังมีการเก็บกู้ระเบิดเหล่านั้นอยู่ สำหรับประเทศไทย ในช่วงเสร็จสิ้นสงครามในประเทศกัมพูชาใหม่ ๆ ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๗ ราษฎรเริ่มกลับเข้าทำกินในที่ดินเดิม หลายพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิด จะมีการเก็บกู้ด้วยตัวราษฎรเอง เนื่องจากกำลังของทหารที่จะเข้าเคลียร์พื้นที่มีไม่เพียงพอ และส่วนมากผู้ที่เข้าเก็บกู้ มักจะเคยเป็นทหารอาสา ที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องทุ่นระเบิดมาก่อน ราษฎรในหมู่บ้านชายแดนหลายคน แม้แต่เด็กหนุ่มที่มีความคึกคะนอง ก็สามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดเหล่านั้นได้ และแน่นอนที่สุด ส่วนมากของผู้เก็บกู้มักลงท้ายด้วยอุบัติเหตุ หลายคนตาบอด หลายคนแขนขาด บางคนพิการ และที่เสียชีวิตไปก็มีไม่ใช่น้อย
   จากการสัมภาษณ์ราษฎรในแนวเขตชายแดนกัมพูชา โดยเฉพาะด้านที่ติดกับจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ตามช่องทางผ่านเข้าสู่ประเทศกัมพูชา จำนวนร้อยกว่าช่องทาง จะเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด ราษฎรเคยเก็บกู้ใส่ถุงปุ๋ยหาบออกมาขายให้แก่ทหารเป็นจำนวนมาก ในช่องทางบางช่องทางที่มีทางน้ำไหลผ่าน เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ทุ่นระเบิดที่ส่วนมากเป็นพลาสติก จะลอยตามน้ำมาเกาะติดกิ่งไม้ "เขียวเต็มไปหมด" นี่คือคำบอกเล่าของทหารที่ตระเวนอยู่ในบริเวณนั้น เขาไม่มีภารกิจจะต้องเก็บกู้ จึงทำได้แค่เดินเลี่ยงไม่เข้าใกล้ เพราะสีเขียวที่เต็มพรืดไปหมดนั่นคือ PMN2 ที่มากด้วยอันตราย เนื่องจากเป็นทุ่นระเบิดที่ใช้ดินนำระเบิดและดินขยายการระเบิดเป็นชนวน รวมทั้งยังมีจอกกระทบแตก ซึ่งไวต่อการระเบิดอยู่ด้วย การเก็บกู้ค่อนข้างอันตราย ไม่มีใครอยากเข้าใกล้
   แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบางอย่างที่เก็บกู้ได้ M14A1 และ MN79 ถึงจะเป็นทุ่นระเบิดที่ค้นหาลำบาก เพราะน้ำหนักเบาไหลตามน้ำได้ง่าย และมักฝังจมดิน แต่ถ้าพบเห็นลอยอยู่ในน้ำ หรือเรี่ยอยู่บนผิวดิน จะเก็บกู้ได้ไม่ยาก เพียงแค่ถอดชนวนออกจากทุ่นที่มีวัตถุระเบิด แล้วหมุนแป้นรับน้ำหนักกดให้ลูกศรชี้ไปในตำแหน่งที่ปลอดภัย อาจจะมีอักษร S สำหรับ M14 และ K สำหรับ MN79 โดยไม่ลืมใส่คลิปนิรภัยเข้าไปกันที่แป้นรับน้ำหนักกดเสียก่อน และที่สำคัญ ทุกขั้นตอนจะต้องทำอย่างเบามือที่สุด เพราะทุ่นระเบิดตระกูลนี้ต้องการน้ำหนักกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
   หลักทั่ว ๆ ไปในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดก็คือ การปฏิบัติการแยกชนวนออกจากทุ่นระเบิดหลัก แล้วจึงแยกเชื้อปะทุชนวนออกจากชนวน ความยากของการเก็บกู้ก็คือ ทุ่นระเบิดทุกชนิดถูกออกแบบมา เพื่อให้เกิดการระเบิดด้วยการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการกด ดึง เอียง สั่นสะเทือน บางอย่างติดตั้ง anti lift ซึ่งหมายถึงตัวป้องกันการยก หรือเขยื้อน ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเก็บกู้ทุ่นระเบิด จะต้องรู้จักทุ่นระเบิดอย่างเชี่ยวชาญ ทั้งรูปร่างหน้าตา ขนาด ประเทศผู้ผลิต และกลไกทั้งหมดที่มีอยู่ในนั้น ในโลกนี้มีทุ่นระเบิดทำลายบุคคลอยู่ถึง ๓๖๐ ชนิด ทุ่นระเบิดเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในสงครามแต่ละแห่งแต่ละสถานที่ต่างกันไป การศึกษาถึงภูมิหลังของสงครามในแต่ละพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้รู้ว่าทุ่นระเบิดที่ถูกวางในพื้นที่นั้น เป็นทุ่นระเบิดที่ได้รับการสนับสนุนจากใคร ผลิตจากประเทศใด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติการ

 (คลิกดูภาพใหญ่)    ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ในประเทศไทยมีทุ่นระเบิดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เมื่อเทียบกับที่มีทั้งหมดในโลก ซึ่งส่วนมากเป็นทุ่นระเบิดที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย เวียดนาม เชโกสโลวะเกีย (เดิม) เกาหลีเหนือ มีบางส่วนผลิตในประเทศพม่า (พื้นที่สนามทุ่นระเบิดด้านพรมแดนตะวันตก) และส่วนน้อยเกิดจากการดัดแปลงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยหลักการง่าย ๆ ของการทำทุ่นระเบิดก็คือ มีชนวนและตัวเชื้อปะทุชนวน เพื่อจุดระเบิดทุ่นระเบิดหลักที่มีวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่ง
   ในปฏิบัติการที่กลับกัน การกู้ทุ่นระเบิด จึงหมายถึงการแยกทั้งสามส่วนออกจากกัน ตัววัตถุระเบิดหลัก ซึ่งส่วนมากจะใช้วัตถุระเบิด C-4 และ TNT เมื่ออยู่โดยตัวเดียวโดด ๆ จะไม่มีอันตรายใด ๆ จนกว่าจะมีการจุดระเบิดเกิดขึ้น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ผลิตขาย ไม่ว่าจะเป็น M14, M14A1, PMN, PMN2, POMZ-2M หรือตัวอื่น ๆ เมื่อมีการขนส่ง จะจัดเรียงตัววัตถุระเบิดหลัก แยกห่างออกจากตัวจุดระเบิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การขนส่งนั้นจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะวัตถุระเบิดแทบทุกชนิดย่อมหมายถึงสิ่งที่มีอันตราย เป็นวัตถุไวไฟที่เมื่อมีประกายไฟใด ๆ เกิดขึ้นก็พร้อมที่จะระเบิด นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ให้แก่สิ่งที่อยู่รอบบริเวณได้
   ในระเบิดแสวงเครื่องที่มีการออกแบบ และการวางที่ซับซ้อน ผู้กู้ระเบิดจะต้องระมัดระวังในการแยกชิ้นส่วนทั้งสาม ออกจากกัน ทุ่นระเบิดหลายแบบมีเครื่องจุดระเบิดที่ออกแบบ ให้มีเครื่องถ่วงเวลาติดตั้งอยู่ด้วย เมื่อจะทำให้พร้อมระเบิด หลังจากติดตั้งในพื้นที่ที่ต้องการแล้ว จะปฏิบัติการเพื่อให้ทุ่นระเบิดพร้อมทำงาน บางอย่างมีหลอดสารเคมีอยู่ภายในที่ต้องบีบให้แตก เพื่อให้สารเคมีไปกัดลวดโลหะทำให้เข็มชนวนเป็นอิสระ บางอย่างต้องดึงสลักขัดเข็มแทงชนวนออก เพื่อให้เส้นลวดที่ตั้งไว้ยุบตัวลงตัดแผ่นตะกั่วอ่อน ช่วงที่ลวดตัดแผ่นตะกั่วอ่อนหรือช่วงที่สารเคมีกัดเส้นโลหะนี้ อาจใช้เวลายาวนานต่างกันระหว่าง ๗-๒๕ นาที หลังจากนั้นเข็มแทงชนวนก็พร้อมที่จะอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมระเบิด เมื่อมีแรงกด ดึง สั่นสะเทือนด้วยน้ำหนักเท่าที่ออกแบบไว้ เข็มแทงชนวนก็จะกระทบเข้ากับจอกกระทบแตก เพื่อให้เกิดประกายไฟจุดเชื้อปะทุ เพื่อไปจุดทุ่นระเบิดหลักอีกทีหนึ่ง การเก็บกู้ทุ่นระเบิดที่มีเครื่องจุดระเบิดลักษณะนี้ค่อนข้างอันตราย ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แล้ว จะไม่มีการเก็บกู้ มักจะใช้วิธีทำลายในพื้นที่ โดยใช้วัตถุระเบิด TNT เข้าช่วย
   โดยความเป็นจริง ทุ่นระเบิดแต่ละตัวที่ออกแบบมา จะมีส่วนควบคุมความปลอดภัยติดตั้งมาด้วย แต่เนื่องจากทุ่นระเบิดมักถูกวางและติดตั้ง ในพื้นที่ที่ไม่มีคนมีความรู้เรื่องระเบิด การแตะต้องหรือสัมผัสในแต่ละครั้ง จึงหมายถึงอุบัติเหตุที่บางครั้งเลวร้ายถึงกับเสียชีวิต เนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงภัย ประกอบกับบริษัทผู้ผลิตทุ่นระเบิด ต่างก็พยายามออกแบบกลไกต่าง ๆ ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อให้มีผลในการทำลายมากขึ้นและยากต่อการเก็บกู้ ในแต่ละประเทศจึงมีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับทุ่นระเบิดน้อยมาก แทบจะนับจำนวนคนได้
   ด้วยเหตุนี้สำหรับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่กระจัดกระจายอยู่ตามแนวเขตชายแดน ประชาคมโลก จึงได้ตกลงร่วมกันเป็นเหมือนสัญญาว่า จะต้องทำลายทิ้งในพื้นที่ไปเลย แต่เนื่องจากทุ่นระเบิดเหล่านั้น บางพื้นที่ถูกวางทิ้งไว้นานแล้ว มีบางส่วนไหลไปตามน้ำ และจมดิน ภารกิจที่จะต้องทำก่อนการทำลายระเบิดก็คือ การสำรวจกำหนดขอบเขตเพื่อค้นหาและทำลาย
(คลิกดูภาพใหญ่) การกำหนดขอบเขตพื้นที่ระเบิด การค้นหาและทำลาย

   ในการสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิดที่มีต่อชุมชนขึ้นในประเทศไทย โดยองค์การช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (NPA) ได้มีการกำหนดขอบเขตอย่างกว้าง ๆ ของพื้นที่สนามทุ่นระเบิด โดยการสัมภาษณ์ราษฎรในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการสำรวจขั้นแรก (level one impact survey) ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดได้นำมาจัดลำดับความเร่งด่วน เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป อันได้แก่
   การสำรวจในระดับที่ ๒ เป็นการสำรวจทางเทคนิค เพื่อลดขนาดของพื้นที่สงสัยลง (level two technical survey and area reduction)
   และการสำรวจในระดับที่ ๓ คือการค้นหาและทำลายทุ่นระเบิด (clearance survey)
   ในการทำพื้นที่ให้ปลอดจากทุ่นระเบิด จะต้องอยู่ในมาตรฐานของสหประชาชาติ คือยินยอมให้มีความเสี่ยงภัยเพียงแค่ ๐.๐๔ เปอร์เซ็นต์ เพื่อส่งมอบพื้นที่นั้นคืนแก่เจ้าของพื้นที่เดิม
   ทั้งการสำรวจทางเทคนิคและการค้นหาทุ่นระเบิด เป็นการสำรวจที่จะต้องใช้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทั้งสามแห่ง ในสามจังหวัดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) ทำให้ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ทำงานด้านทุ่นระเบิด เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังขาดแคลน เนื่องจากการทำงานกับระเบิดเป็นงานที่เสี่ยงภัย ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ยาวนานเหมือนงานประเภทอื่น
   ในหลายประเทศหลายบริษัทจึงได้ผลิตเครื่องจักรทั้งหนักและเบา มาเพื่อใช้งานเกี่ยวข้องกับการค้นหา และทำลายทุ่นระเบิด เครื่องจักรบางชิ้นต้องควบคุมด้วยคน และบางตัวใช้การควบคุมในระยะไกล (remote control) แต่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรชนิดใด เมื่อทำงานเกี่ยวข้องกับระเบิด ย่อมมีทั้งจุดดีและจุดบกพร่อง
   ในการกำหนดขอบเขตของสนามทุ่นระเบิดนั้น หลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นมาแล้วว่า พื้นที่สงสัยนั้นมีทุ่นระเบิด ก็จะคำนวณใส่หน่วยเป็นตารางเมตร ปรกติในการสำรวจ ถ้าพื้นที่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางเมตร ถือว่าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่ค้นหา และทำลายได้ง่าย (easy tasks) ส่วนพื้นที่มากกว่า ๑๐๐ ตารางเมตร แต่ไม่เกิน ๑ หมื่นตารางเมตร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความยากระดับกลาง (moderate tasks) และพื้นที่ที่มากกว่า ๑ หมื่นตารางเมตร ถือเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการค้นหาและทำลาย (difficult tasks) แต่ทั้งหมดย่อมมีองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นพื้นที่เขาสูง ป่าทึบ เข้าถึงยาก และไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนว่าทุ่นระเบิดอยู่ที่ใด
   การสำรวจในระดับที่ ๑ ที่เพิ่งแล้วเสร็จ ได้พื้นที่ที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดหลากหลายพื้นที่ ทั้งเล็ก ใหญ่ และเป็นจุด (spot task) กรณีที่เป็นจุด มักได้แก่ทุ่นระเบิดที่ถูกนำมากองไว้แล้ว หรือ UXO ที่มองเห็นได้ชัดเจน ในกรณีนี้มักจะมีการทำลายอย่างเร่งด่วน ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ใหญ่มาก เช่นพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดบุรีรัมย์จนถึงอุบลราชธานี จำนวนพื้นที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิด ว่ากันเป็นล้าน ๆ ตารางเมตร ซึ่งคงใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะทำลายได้หมด
   นอกเสียจากว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่จำเป็นอย่างมาก ที่ต้องเข้าจัดการ (sensitive area) เนื่องจากเป็นพื้นที่ดินทำกินของชาวบ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามแนวเขตชายแดน อย่างเช่นบ้านหนองหญ้าแก้ว
   การค้นหาและทำลายทุ่นระเบิด  ในพื้นที่ดินทำกินของราษฎรบ้านหนองหญ้าแก้ว เป็นการปฏิบัติงานแรกเริ่มของ นปท. ๑ โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างชาติ มีผู้เชี่ยวชาญด้านค้นหา และทำลายวัตถุระเบิดเข้ามาดูแล และให้คำปรึกษาในพื้นที่ เพื่อให้ผลของการปฏิบัติการเป็นไปตามมาตรฐานสากล

 (คลิกดูภาพใหญ่)    ในการสำรวจระดับที่ ๒ เพื่อลดขนาดพื้นที่สงสัยลง จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วยในการสำรวจ ซึ่งเครื่องมือสำรวจเหล่านั้นแบ่งตามชนิดของการใช้งานออกเป็นสามอย่างคือ
   ๑. เครื่องมือขนาดเล็กที่ใช้คนเข้าทำงานร่วมด้วย (manual deminers) เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่เครื่องตรวจจับ
   ระเบิด (mines detector) รวมทั้งอุปกรณ์ขนาดย่อม จำพวกเหล็กแหลม เสียมเล็ก เสียมใหญ่ เครื่องมือที่จัดการด้วยคนนี้มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป ข้อดีคือ สามารถตรวจสอบพื้นที่ได้ละเอียดกว่า รวมทั้งทำให้ทหารมีงานพิเศษทำ เพิ่มขึ้นหลังจากสงครามสิ้นสุดลงแล้ว ส่วนข้อเสียก็คือ ทำงานได้ช้ามาก เมื่อเทียบกับการตรวจจับแบบอื่น การตรวจจับในเนื้อที่ ๑ เลน ความกว้าง ๑ เมตร ปรกติตามมาตรฐานจะต้องทำงานตรวจจับได้อย่างน้อย ๖ เมตร ต่อ ๑ ชั่วโมง แต่จากการปฏิบัติการในเขตสนามทุ่นระเบิดพื้นที่บ้านหนองหญ้าแก้ว บางวันทำงานได้เพียงชั่วโมงละ ๑ เมตร ในช่วงเวลาสองเดือนของการทำงาน สามารถกวาดล้างและทำลายได้เพียง ๗๐ ตารางเมตร ทำให้ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากในการปฏิบัติการ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และที่สำคัญไม่สามารถตรวจจับได้ถูกต้องกรณีที่มีแร่เหล็กปะปนอยู่ในเนื้อดิน
   ๒. ตรวจจับด้วยเครื่องกลขนาดใหญ่ (machanical demining) ออกแบบมาในรูปของยานยนต์ขนาดใหญ่ ที่ติดตั้งเครื่องตัดหญ้า ตัดพุ่มไม้ หรือแม้กระทั่งสามารถทำลายทุ่นระเบิดได้ เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่ รถหุ้มเกราะพรวนดิน รถหุ้มเกราะโซ่ตีดิน ซึ่งส่วนมากประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือมาจากต่างชาติ ทั้ง The Tempest ซึ่งเป็นยานยนต์ตัดพุ่มไม้โดยระบบบังคับระยะไกล และ The Pearson รถแทร็กเตอร์สำหรับตัดพุ่มไม้ ทั้งสองอย่างได้รับความช่วยเหลือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้นำมาทดลองใช้ในพื้นที่สนามทุ่นระเบิด และเมื่อเดือนพฤษภาคมนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๔) รัฐบาลแคนาดาได้ส่งเครื่องมือ Pearson BDM48 ที่เป็นเครื่องมืออเนกประสงค์ ทั้งตัดพุ่มไม้ และทำลายทุ่นระเบิด มาให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ทดลองใช้ เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้ส่วนมากอยู่ในขั้นทดลองใช้ จะต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหลายอย่าง
   ๓. การตรวจจับวิธีสุดท้ายที่เป็นที่นิยมคือ การตรวจจับวัตถุระเบิดด้วยสุนัข (mines detection dogs) มีหน่วยฝึกสุนัขและฝึกคนบังคับสุนัข สุนัขจะถูกฝึกให้ดมกลิ่นสารที่ใช้ทำดินระเบิด แล้วออกตรวจจับในพื้นที่สงสัย การใช้สุนัขในการค้นหาทุ่นระเบิดมีข้อดีหลายอย่าง นอกจากจะทำงานได้เร็วรวมทั้งใช้คน และทีมงานไม่มากแล้ว ยังสามารถตรวจจับทุ่นระเบิด ที่มีเปลือกเป็นพลาสติก หรือแม้แต่ตรวจในพื้นที่ที่ดินมีสารเหล็กปะปน แต่ข้อเสียของสุนัขก็คือ ใช้เวลาในการฝึกหัดค่อนข้างนาน ไม่สามารถค้นหาทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่เป็นป่ารก และที่มีทุ่นระเบิดแบบลวดสะดุด นอกจากนั้นสุนัขที่ใช้ฝึกมักเป็นสุนัขที่คุ้นเคยกับอากาศหนาวเย็น เมื่อมาทำงานในพื้นที่อากาศร้อนเช่นในประเทศไทย จึงมีปัญหาในเรื่องอากาศ อาหาร และความเป็นอยู่
   ปัจจุบันการค้นหาและทำลายจึงยังใช้ทั้งสามแบบปะปนกัน ตามสภาพพื้นที่และความเหมาะสม ในมาตรฐานการทำงานค้นหา และลดขนาดพื้นที่ของสหประชาชาติ จะตีแปลงแบ่งพื้นที่ออกเป็นเลนย่อย ๆ ความกว้าง ๑ เมตร ยาวประมาณ ๗๐ เมตร เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน แต่ละเลนจะห่างกัน ๒๕ เมตร ในชุดกวาดล้างหนึ่งชุด จะมีสี่ทีมใหญ่ และในหนึ่งทีมจะมีเจ้าหน้าที่อยู่แปดคน แบ่งเข้าทำงานเลนละสองคน ก่อนจะทำงานจะต้องสวมหน้ากากและชุดนิรภัยเสียก่อน ในพื้นที่ที่ตรวจค้น ถ้ามีหญ้าสูงหรือต้นไม้พุ่มเล็ก จะต้องตัดด้วยการตัดจากข้างบนลงมาทีละ ๒๐ เซนติเมตรจนชิดพื้นดิน หลังจากนั้นจึงใช้เครื่องส่าย เพื่อตรวจจับ ทุกครั้งที่เครื่องส่งเสียงร้อง เจ้าหน้าที่จะต้องพิสูจน์ทราบทันที และสิ่งแรกที่จะต้องเตือนตัวเองก็คือ สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้ดินนั้นคือวัตถุระเบิด การพิสูจน์ทราบทุกครั้ง จะต้องทำอย่างระมัดระวังด้วยเหล็กแหลม และอุปกรณ์ขุดดิน รวมทั้งแปรงคอยปัดเศษหินเศษดินออกจากวัตถุสงสัย ทุกอย่างต้องทำอย่างเบามือ จนกว่าจะพบสิ่งที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเสียงร้อง จากการทำงานในพื้นที่สนามทุ่นระเบิด เป็นที่น่าสังเกตว่า เสียงที่ร้องมักไม่ใช่ระเบิด แต่เป็นเศษเหล็ก เศษตะปูที่มีมากเป็นพัน ๆ ชิ้น แต่ไม่ว่าเสียงที่ร้องจะดังเพราะอะไร หัวใจของคนทำงานตรวจจับจะระทึกขึ้นมาทุกครั้ง เพราะไม่มีใครรู้ว่า สุดปลายเหล็กแหลมที่แทงลงไปนั้น อาจเป็นทุ่นระเบิดที่ผุพัง และมีเครื่องกลไกอ่อนไหว ที่เพียงปลายเหล็กสัมผัส ก็พร้อมที่จะระเบิดตูมขึ้นมา
 (คลิกดูภาพใหญ่)    การทำงานของทีมค้นหาจึงต้องเปลี่ยนกะเปลี่ยนเวรกันอยู่เสมอ เพื่อลดความเครียด และความกดดัน และเมื่อพิสูจน์ทราบแน่ชัดแล้วว่า เป็นวัตถุระเบิด เสียงนกหวีดจะดังขึ้น เพื่อให้ทุกทีมหยุดทำงาน ทีมค้นหาจะถอนกำลังออกนอกเลน มอบหมายหน้าที่ให้ชุดกวาดล้างทำลายเข้าทำงานต่อไป
ปัจจุบันหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมที่ ๑ (HMAU1) ได้ส่งมอบพื้นที่ที่ปลอดภัย ๙๙.๙๖ เปอร์เซ็นต์ คืนให้แก่เจ้าของที่ดินทำกินไปบ้างแล้ว แต่ภารกิจของเจ้าหน้าที่ยังดำเนินอยู่ ในแต่ละวัน การค้นหาก้าวหน้าไปช้า ๆ อย่างระมัดระวัง บางวันแต่ละทีมทำงานได้เพียง ๖-๒๐ ตารางเมตร ถ้าทำงานไม่หยุดเลย ภายใน ๑ ปีจะเคลียร์พื้นที่ได้ประมาณ ๒,๑๙๐-๗,๒๐๐ ตารางเมตร ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดมากถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร (สองพันห้าร้อยล้านตารางเมตร) นั่นหมายถึงว่า เราคงต้องใช้เวลายาวนานนับศตวรรษ จึงจะสามารถทำให้พื้นที่ในประเทศไทย ปลอดจากทุ่นระเบิดได้อย่างแท้จริง
   เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำก่อนสิ่งอื่นใด คือการปักป้ายเตือน (marking) รวมทั้งให้ความรู้ทั้งแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และประชาชนทั่วไปให้รู้ว่า ในเขตชายแดนที่มีความยาวกว่า ๕,๐๐๐ กิโลเมตร รวมทั้งพื้นที่สู้รบเก่าตามหุบเขาต่าง ๆ ที่ปัจจุบันเกือบทั้งหมดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ตรงนั้นยังมีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่ ถนนบางสายควรติดป้ายเตือนว่า เป็นถนนที่นำสู่สนามทุ่นระเบิด ผู้คนจากต่างถิ่นเมื่อขับรถเข้าไปในพื้นที่จะได้ระมัดระวัง ไม่ก้าวลงไปยังป่ารกโดยไม่สอบถามคนในบริเวณนั้นให้แน่ใจเสียก่อน

   เมื่อถึงวันนี้ ถึงแม้เราไม่อาจทำให้เสียงระเบิดที่ดังขึ้นทุก ๆ ๒๐ นาทีหมดไปได้ แต่เราสามารถจะล้อมรั้วกั้นเขตแดนให้เขาเหล่านั้น กลายเป็นกองทัพทหารใบ้ที่ยืนตายซาก รอให้ลูกหลานชี้ชวนกันชมผลงานอัปยศ ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เกิดมาเพื่อประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ ในการฆ่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่ถูกฆ่าคือใคร เมื่อถึงวันนี้ วันที่ประชาคมโลกหันหน้าเข้าหากัน ประณามการใช้ทุ่นระเบิดประหัตประหารกัน สำหรับประเทศไทยที่เป็นรัฐภาคีรัฐหนึ่ง เป็นรัฐที่มีพื้นที่ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดมากเป็นล้าน ๆ ลูก เรามีความจริงใจมากน้อยเพียงใด ต่อการตอบรับการทำงานดังกล่าว หรือได้แต่นั่งมอง และคอยคำนวณตัวเลขของความช่วยเหลือจากคนต่างชาติ ซึ่งแน่นอนที่สุด เขาเข้ามากวาดต้อนเหยื่อผู้พิการของเรา รวบรวมเป็นสินค้าออกไปเร่ขาย เร่ขอ โดยแบ่งปันส่วนราคาสินค้ากลับคืนมาให้ในราคาต่ำสุด ต่ำจนน้ำตาที่แห้งผากไปนานแล้ว เต็มตื้นขึ้นมาอีก
   เมื่อถึงวันนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะรวบรวมกำลังคน กำลังความคิด และรวบรวมตัวสินค้า ออกไป "เร่ขาย" ด้วยตัวของเราเอง เพื่อผลประโยชน์จะได้ตกถึงมือของ "เจ้าของสินค้า" โดยตรง
(คลิกดูภาพใหญ่) ระเบิด ระเบิด ระเบิด

   ทุ่นระเบิด (mines) คืออาวุธชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในสงคราม แบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ ๆ ตามการใช้งาน คือ ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel, AP) และทุ่นระเบิดทำลายยานพาหนะ (anti-tank, AT) สำหรับทุ่นระเบิดสังหารบุคคลยังสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เช่น ทุ่นระเบิดที่ต้องการทำลายเฉพาะคนคนเดียวที่เข้าไปเหยียบทุ่นระเบิด โดยคนที่อยู่ใกล้หรือในบริเวณไม่ได้รับบาดเจ็บด้วย และทุ่นระเบิดที่ต้องการทำลายบุคคลเป็นกลุ่ม ซึ่งมีทั้งชนิดสาดเศษเหล็กที่แตกออกเป็นสะเก็ดไปรอบตัว และแบบบังคับทิศทาง ทุ่นระเบิดทุกชนิดจะมีโครงสร้างหลักเหมือนกัน ตรงที่มีดินระเบิดหลักจำนวนหนึ่งมากน้อยตามวัตถุประสงค์ในการผลิต เพื่อใช้ทำลายเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป นอกจากดินระเบิดหลักแล้ว ยังมีชนวนที่ทำหน้าที่ในการจุดระเบิด ในชนวนนั้นจะมีกลไกการจุดระเบิดเพื่อให้เกิดประกายไฟจุดเชื้อปะทุที่ประกอบอยู่ในชนวน ซึ่งเชื้อปะทุนั้นจะบรรจุดินระเบิดที่มีอำนาจในการทำลายสูงกว่าดินระเบิดหลัก แต่จะมีจำนวนดินระเบิดน้อยกว่า เมื่อชนวนถูกทำให้ระเบิดด้วยวิธีใด ๆ ตามการออกแบบและการใช้งาน ไม่ว่าจะด้วยการกด แรงดึง การเอียง สั่นสะเทือน หรือกระแทก แรงระเบิดจากชนวนจะทำให้ดินระเบิดหลักระเบิดเกิดปฏิกิริยาเคมีต่อเนื่องในเวลาสั้นที่สุด ทำให้อากาศในบริเวณนั้นเกิดแรงอัดอย่างรุนแรง เพื่อทำลายเป้าหมาย หรือทำให้เปลือกของทุ่นระเบิดแตกเป็นสะเก็ดพุ่งออกรอบบริเวณหรือบังคับทิศทาง ใกล้ ไกล ตามการออกแบบของทุ่นระเบิดแต่ละชนิด


 (คลิกดูภาพใหญ่) ประเทศไทยกับอนุสัญญาออตตาวา

   ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต โอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (The 1997 treaty banning the use, stockpiling, production and transfer of anti-personel landmines) หรือที่เรียกว่า อนุสัญญาออตตาวา ร่วมกับอีก ๑๔๐ ประเทศ ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ เป็นอันดับที่ ๓๓ และได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ นั้นเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ อันเป็นผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาฯ อย่างสมบูรณ์ นับเป็นประเทศอันดับที่ ๕๓ ของโลกและเป็นประเทศแรกของเอเชีย อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ในวันแรกของ ๖ เดือนถัดไป คือวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ในวันนั้นประเทศไทยได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personel) ที่เก็บไว้ในคลังจำนวน ๑ หมื่นลูก เป็นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาออตตาวาซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
   -รัฐภาคีของอนุสัญญาออตตาวา (ปัจจุบันมีอยู่ ๑๑๗ ประเทศ) ขอรับรองว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม จะไม่ใช้ ไม่พัฒนา ไม่ผลิต ไม่สะสม ไม่โยกย้ายถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือช่วยเหลือผู้อื่นกระทำกิจการดังกล่าว
   -ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล คือทุ่นระเบิดที่ผลิตขึ้นใช้สำหรับฝังใต้ดิน ฝังเรี่ยผิวดิน วางไว้บนดิน หรือเหนือพื้นดิน จะระเบิดเมื่อมีการกด เหยียบ ดึง สัมผัส ชนลวดสะดุด คำจำกัดความนี้หมายรวมถึง ทุ่นระเบิดแสวงเครื่องต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นเอง โดยใช้วัตถุระเบิดชนิดต่าง ๆ และทำให้ระเบิดโดยใช้วิธีเดียวกันกับทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ทั้งนี้ไม่นับรวมทุ่นระเบิดดักยานยนต์ และทุ่นระเบิดดักรถถัง นอกเสียจากว่าทุ่นระเบิดทั้งสองติดอุปกรณ์กันขยับ จึงให้ถือว่าเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลเช่นกัน
   -ในอนุสัญญาออตตาวาไม่ถือว่าระเบิดเคลโม (M18) เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ต้องกำจัด ถ้าระเบิดเคลโมนั้นใช้การจุดระเบิดโดยวิธีควบคุมสัญญาณระเบิด (command detonation )
   -รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในคลังให้หมดสิ้นไปภายในระยะเวลา ๔ ปี นับแต่อนุสัญญามีผลบังคับใช้สำหรับรัฐภาคีนั้น ๆ โดยอนุญาตให้เก็บไว้ได้จำนวนเล็กน้อย สำหรับการพัฒนาเพื่อการฝึกอบรมการตรวจค้น การกวาดล้างและการทำลาย
   -รัฐภาคีจะต้องทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่วางไว้แล้ว หรือที่อยู่นอกคลัง ให้หมดไปภายใน ๑๐ ปี และจะต้องมีมาตรการคุ้มครองประชากรที่ได้รับผลกระทบจากสนามทุ่นระเบิด ในระหว่างที่การกวาดล้างทุ่นระเบิดยังไม่แล้วเสร็จ สำหรับรัฐภาคีที่มีปัญหาระเบิดร้ายแรง อาจร้องขอต่อที่ประชุมฯ เพื่อขอขยายเวลาการทำลายระเบิดออกไปอีกคราวละ ๑๐ ปี
   -เป็นพันธะผูกพันที่รัฐภาคีจะต้องให้ความช่วยเหลือร่วมกันในด้านการกวาดล้างทุ่นระเบิด (mine clearance) การแจ้งเตือนให้ความรู้ประชาชน (mine awareness education) และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด (victim assistance) ทั้งการรักษาพยาบาล การบำบัดฟื้นฟู การปรับสภาพแวดล้อมด้านสังคมและเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทุ่นระเบิดในพื้นที่ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยดังกล่าว รัฐภาคีอาจร้องขอผ่านคณะกรรมการกาชาดสากล
   (ICRC) หรือร้องขอการช่วยเหลือแบบทวิภาคีจากองค์กรอื่น ๆ


 (คลิกดูภาพใหญ่) ปากคำจากทหารพรานผู้หนึ่ง

   "ผมใช้ De-mining ด้วยคน ราคามันถูกกว่าอย่างอื่น" จ่าหนุ่ม ทหารพรานผู้ฝังตัวเองอยู่ชายแดนตลอดชีวิตกล่าวถึงเครื่องมือในการตรวจจับทุ่นระเบิดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ "ก่อนที่พวกเราจะออกเดินตรวจพื้นที่ ที่ไหนที่ผมไม่มั่นใจว่ามีทุ่นระเบิดหลงเหลืออยู่ ผมจะให้ลูกน้องเดินนำหน้าไปก่อนหนึ่งคน แล้วพวกเราทั้งหมดก็ก้าวเท้าตาม รอยเท้าต่อรอยเท้า ถ้าพลาด เราจะสูญเสียคนเพียงคนเดียว เพื่อบอกให้รู้ว่าเส้นทางนั้นไม่ปลอดภัย"
   นั่นคือความจริงที่ได้รับรู้ และเมื่อเราถามถึงเครื่องมือทันสมัยในการตรวจจับ
   "มันราคาแพงเกินไป และไม่ฉลาดสมราคา" จ่าให้คำตอบ "แล้วทุ่นระเบิดบางอย่างก็ตรวจจับไม่ได้ โดยเฉพาะที่เป็นพลาสติก คนนั่นแหละดีที่สุด แล้วนี่" จ่ายกมีดปลายแหลมให้ดู มันเป็นเครื่องมือที่ใช้กู้ทุ่นระเบิด "เราต้องกู้ แม้ว่าประชาคมโลกจะตกลงกันว่าจะไม่มีการเก็บกู้นอกจากทำลาย แต่เราก็ต้องกู้ ทุ่นระเบิดเหล่านั้นบางครั้งอาจมีประโยชน์สำหรับเรา ในช่วงที่รัฐบาลยุบหน่วยงานและตัดงบประมาณของทหาร ไม่มีใครยืนยันกับเราได้ว่า เพื่อนบ้านเราสงบแล้ว เขาสู้รบกัน แต่ร้อยทั้งร้อย แตกร่นเข้ามาในบ้านเรา เจ้าพวกนี้จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง"
   จ่ายืนยันความคิดของทหาร เขาไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับโครงการสำรวจและทำลายทุ่นระเบิดที่อยู่ตามแนวเขตชายแดน เพราะนั่นคือแนวรั้วที่เราไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง เป็นแนวรั้วที่ทำให้ทหารไทยนอนหลับสนิทได้ในระดับหนึ่ง


 (คลิกดูภาพใหญ่) ทุ่นระเบิดที่พบในประเทศไทย

   ในจำนวนทุ่นระเบิดทั้งหมดกว่า ๓๖๐ ชนิดที่ถูกผลิตขึ้นมาในโลกนี้ มีทุ่นระเบิดอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่พบเห็นในประเทศไทย ส่วนมากจะเป็นทุ่นระเบิดที่ผลิตในประเทศจีน เวียดนาม โซเวียตรัสเซีย (เดิม) เกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกา ทุ่นระเบิดที่พบเห็นบ่อยที่สุดและทำลายทรัพยากรบุคคลมากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่
   M14 และ M14 A1 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล แบบแรงระเบิด (AP, Blast) ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอินเดีย รูปร่างทรงกลม เปลือกนอกเป็นพลาสติกสีเขียวทึม ๆ ขนาดไม่ใหญ่นัก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๖ มม. สูง ๔๐ มม. จุดระเบิดด้วยการกดบนแป้น (pressure) ชนวนเป็นแบบ integral, pressure วัตถุระเบิดเป็นแบบ Tetryl ๒๙-๓๑ ก. น้ำหนักรวม ๑๕๘ ก. สามารถจุดระเบิดได้ด้วยแรงกดเพียง ๙-๑๖ กก. มีของผลิตเลียนแบบจากแอฟริกาใต้ สีออกน้ำตาล แป้นกดแตกต่างกันเล็กน้อย
   MN79 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล แบบแรงระเบิด (AP, Blast) ที่ผลิตจากเวียดนาม เลียนแบบ M14 เปลือกนอกทำด้วยพลาสติกเช่นเดียวกับ M14 มีน้ำหนักเบากว่าเล็กน้อย คือหนักเพียง ๙๙ ก. ด้วยวัตถุระเบิด TNT หนัก ๒๙ ก. ชนวนระเบิดเป็นแบบ integral pressure จุดระเบิดด้วยน้ำหนักกด ๙-๑๖ กก.
   PMN เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแรงระเบิด (AP Blast) ผลิตจากโซเวียตรัสเซีย(เดิม) เปลือกนอกเป็นพลาสติกหนาสีน้ำตาล ฝาครอบเป็นยางสีดำ หรือน้ำตาล รูปร่างทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๑๒ มม. สูง ๕๖ มม. ชนวนใช้ ดินนำระเบิด (initiator) และดินขยายการระเบิด (tetryl) เป็นส่วนประกอบ วัตถุระเบิด TNT ๒๔๐ ก. น้ำหนักรวม ๕๕๐-๖๐๐ ก. จุดระเบิดด้วยการกด (pressure) น้ำหนักกด ๕-๘ กก.

 (คลิกดูภาพใหญ่)    PMN2 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแรงระเบิด ที่ออกแบบมาแทน PMN แบบเก่า ขนาดใกล้เคียงกัน เป็นระเบิดรูปทรงกลม สูง ๕๔ มม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๒๕ มม. ชนวนเป็นแบบ Integral cocked striker with delay armed วัตถุระเบิด Cast TNT ๑๑๕ ก. น้ำหนักรวม ๔๕๐ ก. เปลือกนอกเป็นพลาสติกสีเขียวฝาครอบเป็นยางสีดำทำเป็นรูปกากบาท จุดระเบิดด้วยการกด (pressure) ด้วยน้ำหนักกดเพียง ๖ กก.
   Type72A และ Type72B เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแรงระเบิด (AP Blast) ผลิตในประเทศจีนและแอฟริกาใต้ ทั้งสองแบบมีเปลือกนอกเป็นพลาสติกสีเขียว ลักษณะคล้ายตลับพลาสติกที่มีฝาบนใหญ่กว่าด้านล่างเล็กน้อย เป็นระเบิดแบบกันน้ำด้วยการผนึกยางสีดำปิดรอยต่อ ขนาดประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๖ มม. สูง ๔๐-๕๑ มม. ชนวนเป็นแบบ Integral pressure สำหรับแบบ A และเพิ่ม Anti-lift สำหรับแบบ B บรรจุวัตถุ ระเบิด TNT ๒๘-๓๔ ก. น้ำหนักรวม ๑๕๐ ก. แบบ A จุดระเบิดด้วยการกด ด้วยน้ำหนักกด ๓-๗ กก. ส่วนแบบ B จุดระเบิดด้วยการสั่นสะเทือน การกด และระบบสัมผัสด้วยไฟฟ้า (Electric contact) ถ้าเอียงเกินกว่า ๑๕ องศาจะจุดระเบิดทันที
   PMD-6 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลแบบแรงระเบิด (AP-Blast) ดินระเบิดแรงสูง (HE) ผลิตจากประเทศโซเวียตรัสเซีย (เดิม) เปลือกนอกเป็นไม้ รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความยาว ๑๙๖ มม. กว้าง ๘๗ มม. สูง ๕๐ มม. ชนวนระเบิดเป็นแบบ MUV วัตถุระเบิด TNT ๒๐๐ ก. น้ำหนักรวม ๔๐๐ ก. จุดระเบิดด้วยการกด (pressure) ด้วยน้ำหนักกด ๖-๒๘ กก.
   M16A1 เป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคล กระโดดระเบิดแบบมีสะเก็ด (AP Bounding Fragmentation) ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปลือกนอกเป็นโลหะสีเขียวมะกอก รูปร่างทรงกระบอกคล้ายกระป๋องนม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐๓ มม. ความสูงรวมชนวน ๒๐๓ มม.. ชนวนเป็นแบบ M605 (ผสม) บรรจุวัตถุระเบิด TNT ๕๑๓ ก. น้ำหนักรวม ๓.๕๗ กก. จุดระเบิดด้วยการดึง และการกด (pull / pressure) เมื่อถูกจุดระเบิด เปลือกนอกจะถูกผลักออกแล้วลอยขึ้นสูง ๑.๒๐ ม. ระเบิดสาดเศษสะเก็ดเหล็กจำนวนมากออกไปรอบตัวด้วยรัศมี ประมาณ ๒๗ ม. ส่วนมากจะวางดักด้วยลวดสะดุด (tripwire)
   Type69 ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล กระโดดระเบิดแบบมีสะเก็ด (AP Bounding Fragmentation) ผลิตจากประเทศจีน เปลือกนอกเป็นเหล็กหล่อสีเขียวมะกอก รูปร่างทรงกระบอกเหมือน M16A1 แต่เล็กกว่า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 มม. ความสูง (รวมชนวน) ๑๑๔ มม. ชนวนเป็นแบบ T-69 บรรจุวัตถุระเบิด TNT ๑๐๕ ก. น้ำหนักรวม ๑.๓๕ กก. จุดระเบิดด้วยการ ดึงและกด (pull / pressure) ด้วยแรงดึง ๑.๕-๕.๔ กก. / น้ำหนักกด ๗-๒๐ กก. เมื่อชนวนถูกจุดระเบิด เปลือกนอกจะถูกผลักออกแล้วลอยขึ้นสูง ๑.๕ ม. ระเบิดสาดสะเก็ดเหล็ก (ลูกปราย) กว่า ๒๔๐ ชิ้น ไปรอบ ๆ ด้วยรัศมีประมาณ ๑๑ เมตร ส่วนมากจะวางดักแบบลวดสะดุด (tripwire)
   M18A1 (Claymore) ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล สะเก็ดระเบิดแบบบังคับทิศทาง (AP Directional Fragmentation) ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปลือกนอกเป็นพลาสติกสีเขียวหรือสีทราย เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านหน้าโค้งเล็กน้อยคล้ายจอหนัง ขนาดความยาว ๒๓๐ มม. สูง ๙๐ มม. กว้าง ๕๐ มม. ชนวนเป็นแบบ M57, M6 , L5A1 บรรจุวัตถุระเบิด C-4 ๖๘๐-๙๐๐ ก. น้ำหนักรวม ๑.๖ กก. วางปรับทิศทางบนดิน จุดระเบิดได้ทั้งแบบลวดสะดุด และบังคับจุดระเบิด (command detonation) เมื่อระเบิดจะสาดกระสุนขนาดเล็ก (ลูกปราย) จำนวนกว่า ๗๐๐ ลูก ไปในทิศทางเดียวเป็นวงกว้าง ๖๐ องศาสูงจากพื้นดิน ๒ ม. ไกลประมาณ ๒๕๐ ม. ระยะหวังผล ๕๐ ม. สำหรับระเบิดแบบเคลโมร์นี้ ถ้าใช้แบบบังคับจุดระเบิด จะไม่นับเป็นกับระเบิดที่ต้องกำจัดทิ้งตามอนุสัญญาออตตาวา
 (คลิกดูภาพใหญ่)    POMZ-2 M ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล สะเก็ดระเบิด (AP Fragmentation) ผลิตจากประเทศโซเวียตรัสเซีย (เดิม) และประเทศจีน รูปร่างเป็นแท่งยาว แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนบนเป็นเหล็กทำเป็นร่อง จำนวน ๕-๖ แถวที่พร้อมจะแตกออกจากกันได้ และส่วนล่างเป็นไม้สำหรับเสียบลงบนพื้นดินคล้ายสมอบก ขนาดความสูง (ยาว) ๑๐๗-๑๑๑ มม. เส้นผ่าศูนย์กลางส่วนที่เป็นเหล็ก ๖๐ มม. ชนวนเป็นแบบ MUV หรือ UPF บรรจุวัตถุระเบิด TNT ๗๕ ก. น้ำหนักรวม ๒ กก. เปลือกนอกที่เป็นร่องทำด้วยเหล็กหล่อ เมื่อเกิดแรงระเบิด จะแตกกระจายออกรอบตัวในรัศมี ๒๐ ม. (ระยะหวังผล ๔ ม.) จุดระเบิดได้ทั้งแบบลวดสะดุดด้วยแรงดึง ๑-๕ กก. และเลิกดึง (tripwire/tention)
   MDH-10 เป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องคล้าย M18A1 ใช้สังหารบุคคล ด้วยสะเก็ดระเบิดแบบบังคับทิศทาง (AP-Directional Fragmentatin) ผลิตจากประเทศเวียดนาม เลียนแบบ MON-100 ของรัสเซีย มีของเลียนแบบทำในประเทศ
   กัมพูชา คือ KN10 เปลือกเป็นโลหะรูปทรงกลม ด้านหน้าเว้า เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๒๐ มม. ความหนา ๘๐ มม. ชนวนเป็นแบบ MUV -2, 3, 4 VPF. บรรจุวัตถุระเบิด TNT ๒ กก. น้ำหนักรวม ๕ กก. จุดระเบิดด้วยลวดสะดุด ติดตั้งโดยการแขวนตามกิ่งไม้คล้ายรอก หรือตั้งบนพื้นดิน หันด้านเว้าไปทางฝ่ายตรงข้าม เมื่อจุดระเบิด เศษเหล็กขนาด ๒ หุน (ลูกปราย) จำนวนกว่า ๔๕๐ ชิ้น จะสาดสะเก็ดออกไปตามทิศทางที่ตั้งไว้ในระยะ ๑๐๐ ม. (ระยะหวังผล ๕๐ ม.)
   OZM, OZM-3, OZM-4 ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล สะเก็ดระเบิด (AP-Fragmentation) ผลิตจากประเทศ
   โซเวียตรัสเซีย (เดิม) เปลือกเป็นโลหะรูปร่างทรงกระบอกสีเขียวมะกอก เส้นผ่าศูนย์กลาง ๗๕ มม. สูง ๑๒๐ มม. ชนวนเป็นแบบ MUV series, วัตถุระเบิด TNT ๗๕ ก. น้ำหนักรวม ๓ กก. จุดระเบิดได้ทั้งแบบ ลวดสะดุด กด และบังคับจุดระเบิดด้วยไฟฟ้า (tripwire/ presure/ command detonation) เมื่อชนวนถูกจุดเปลือกนอกจะถูกผลักออก ตัวระเบิดจะลอยสูงขึ้นจากพื้นดิน ๑.๕ ม. แล้วยิงสะเก็ดเหล็กออกไปในรัศมี ๑๐ ม. วางดักด้วยการวางเหนือผิวดิน หรือฝังเรี่ยดิน
M-6A2 ทุ่นระเบิดทำลายรถถัง แบบแรงระเบิด (AT-Blast) ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปลือกนอกเป็นโลหะรูปทรงกลมสีเขียวมะกอก เส้นผ่าศูนย์กกลาง ๓๓๐ มม. ความสูง ๘๐ มม. ชนวนเป็นแบบ M603 Belleville springวัตถุระเบิด TNT ๕.๕ กก. น้ำหนักรวม ๙ กก. จุดระเบิดด้วยการกด น้ำหนักอย่างน้อย ๑๓๕ กก.
   M-7A2 ทุ่นระเบิดดักทำลายรถถัง แบบแรงระเบิด (AT-Blast) ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา เปลือกนอกเป็นโลหะรูปร่าง สี่เหลี่ยมผืนผ้า สีเขียวมะกอก ยาว ๑๗๘ มม. กว้าง ๑๑๔ มม. สูง ๖๔ มม. ชนวนเป็นแบบ M603 Belleville spring วัตถุระเบิด Tetryl ๑.๗ กก. น้ำหนักรวม ๒.๒๕ กก. จุดระเบิดด้วยน้ำหนักกด ประมาณ ๕๒-๙๐ กก.
(คลิกดูภาพใหญ่) ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ

   ประเทศไทยโดยคำสั่งของนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thailand Mines Action Center - TMAC) ขึ้นในวันที่ ๑๘ มกราคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติงานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม และเพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ โดยความช่วยเหลือของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมขึ้นสามแห่ง เพื่ออบรมบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับระเบิดและสนามทุ่นระเบิด คือ

   ๑. ศูนย์ฝึกอบรมการตรวจค้นและทำลายทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม (The humanitarian demining training center) จัดตั้งที่จังหวัดราชบุรี
   ๒. ศูนย์ฝึกอบรมการแจ้งเตือนให้ความรู้และหาข่าว (The mines awareness training center) จัดตั้งที่จังหวัดลพบุรี
   ๓. ศูนย์ฝึกสุนัขตรวจค้นระเบิดและผู้บังคับสุนัข (The mines searching dog and dog handler training) จัดตั้งที่จังหวัดนครราชสีมา

   นอกจากนั้นยังได้จัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Mines Action Units -Hmau) ขึ้นเจ็ดหน่วยเพื่อรับผิดชอบพื้นที่ ปฏิบัติการเจ็ดเขตปฏิบัติการคือ
   นปท. ๑ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดสระแก้ว
   นปท. ๒ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดจันทบุรีและตราด
   นปท. ๓ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดบุรีรัมย์ และสุรินทร์
   นปท. ๔ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
   นปท. ๕ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ด้านจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน พะเยา และเชียงราย
   นปท. ๖ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัด เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี
   นปท. ๗ รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และไทย-พม่า ด้านจังหวัดนราธิวาส ยะลา สงขลาและชุมพร
   นอกจากนั้นยังมี นปท. พิเศษ โดยตำรวจตระเวนชายแดน รับผิดชอบพื้นที่สนามทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน เพื่อให้กรมแผนที่ทหารทำงานเกี่ยวข้องกับแผนที่ประเทศไทย


(คลิกดูภาพใหญ่)
สรุปผลการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมไว้ในคลัง
ประเทศไทยมีทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บไว้ในคลัง จำนวน ๓๔๒,๖๙๕ ทุ่น
เก็บไว้เพื่อการศึกษาวิจัยในการทำลายทุ่นระเบิด จำนวน ๔,๙๗๐ ทุ่น
คงเหลือทุ่นระเบิดที่จะต้องทำลาย ตามอนุสัญญาออตตาวา จำนวน ๓๓๗,๗๒๕ ทุ่น
การทำลายและแผนการทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บสะสมในคลัง
ทำลายเมื่อวันที่ ๑ พ.ค. ๒๕๔๒ ที่สนามฝึกยิงอาวุธใหญ่ เขาพุโลน จ. ลพบุรี จำนวน ๑๐,๐๐๐ ทุ่น
ทำลายเมื่อวันที่ ๕ เม.ย. ๒๕๔๔ จำนวน ๒๐,๐๐๐ ทุ่น
ทำลายในช่วงวันที่ ๑๔ พ.ค. - ๑๑ มิ.ย. ๒๕๔๔ โดยกองทัพบกที่ จ. นครสวรรค์ จำนวน ๒๐,๐๐๐ ทุ่น
ทำลายในช่วงวันที่ ๑๗ พ.ค. - ๑๕ มิ.ย. ๒๕๔๔ โดยกองทัพบก ที่ค่ายฝึกการรบพิเศษ ปากช่อง จำนวน ๒๒,๐๐๐ ทุ่น
ทำลายในช่วงวันที่ ๒๑ พ.ค. - ๒ มิ.ย. ๒๕๔๔ โดยสำนักงานตำรวจฯ ที่ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี
จำนวน ๗,๓๔๖ ทุ่น
รวมทุ่นระเบิดที่ทำลายไปแล้วจนถึงสิ้นเดือน มิถุนายน ๒๕๔๔ จำนวน ๗๙,๓๔๖ ทุ่น
คงเหลือทุ่นระเบิดที่จะต้องวางแผนทำลายต่อไป จำนวน ๒๕๘,๓๗๙ ทุ่น
แผนการทำลายทุ่นระเบิดที่เหลือในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. ๒๕๔๔
แผนการทำลายในช่วง ๑๗ ก.ค. - ๓ ส.ค. ๒๕๔๔ โดยกองทัพบก จำนวน ๑๓,๙๘๒ ทุ่น
แผนการทำลายในช่วง ๖ ส.ค. - ๓ ก.ย. ๒๕๔๔ โดยกองทัพบก จำนวน ๒๐,๐๐๐ ทุ่น
แผนการทำลายในช่วง ๒๓ ก.ค. - ๒๗ ก.ค. ๒๕๔๔ โดยกองทัพอากาศ จำนวน ๒,๖๑๘ ทุ่น
แผนการทำลายในช่วง ๒๓ ก.ค. - ๑๐ ส.ค. ๒๕๔๔ โดย ตชด. จำนวน ๑,๖๑๑ ทุ่น
แผนการทำลายในช่วงเดือน สิงหาคม ๒๕๔๔ โดยกองทัพเรือ จำนวน ๔,๔๒๔ ทุ่น
รวมจำนวนแผนการทำลายในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม จำนวน ๔๒,๖๓๕ ทุ่น
   ถ้าการทำลายเป็นไปตามแผน ประเทศไทยจะเหลือทุ่นระเบิดเพื่อวางแผนทำลายครั้งต่อไปอีกจำนวน ๒๑๕,๗๔๔ ทุ่น การทำลายทุ่นระเบิด เป็นการทำลายแบบหลุมเปิด หลุมละไม่เกิน ๒๐๐ ทุ่น เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะทำลายวันละไม่เกิน ๑,๐๐๐ ลูก ด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทุ่นละ ๙.๔๖ บาท
 (คลิกดูภาพใหญ่) ขอขอบคุณ :

   ขอบคุณทหารพรานหน่วยย่อย ๆ ที่ฝังตัวอยู่ตามแนวชายแดน ที่พาเดินเท้าเข้าไปในพื้นที่ทุ่นระเบิด เท่าที่ไปได้ และให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์
   ขอบคุณราษฎรในหมู่บ้านชายแดนกว่าร้อยหมู่บ้าน (เฉพาะที่ผู้เขียนได้เข้าสัมภาษณ์ )ที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับพื้นที่ระเบิด ทุ่นระเบิด รวมทั้งอาสาพาเดินเข้าไปในพื้นที่โดยไม่เห็นแก่อันตรายและความเหน็ดเหนื่อย
   ขอบคุณผู้จัดทำเว็บไซต์แต่ละเว็บไซต์ ที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะข้อมูลจำเพาะเรื่องทุ่นระเบิด วัตถุระเบิด และตัวเลขความสูญเสีย
   และสุดท้าย ขอบคุณองค์การช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่คัดเลือกให้ผู้เขียนได้เข้าร่วมทำงานระดับชาติในครั้งนี้ โดยเฉพาะ Dr. Rune Engeset รองผู้อำนวยการโครงการฯ และคุณอมรชัย ศิริไสย์ ผู้อำนวยการภาคสนาม ที่กรุณาคัดเลือกให้ผู้เขียนได้ทำงานหลากหลาย โดยเฉพาะงานในตำแหน่งสุดท้าย มีโอกาสได้ใช้ความสามารถในการเขียน ทำงาน case study เล่าเรื่องราวในแต่ละพื้นที่ทุ่นระเบิดและความทุกข์ยากของเหยื่อระเบิดในหลายหมู่บ้าน เผยแพร่ออกสู่โลกภายนอก
   และที่ขาดไม่ได้ที่ต้องกล่าวขอบคุณก็คือ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และรัฐบาลไทย ที่ทำให้เกิดโครงการ สำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิดที่มีต่อชุมชนขึ้นในประเทศไทย


 (คลิกดูภาพใหญ่) เกี่ยวกับผู้เขียน

   นงลักษณ์ ไมตรีมิตร จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของนามปากกา "ปางบุญ" ปัจจุบันมีผลงานพิมพ์รวมเล่มแล้ว ๙ เล่ม ทั้งเรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดี และวรรณกรรมเยาวชน
    ประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับทุ่นระเบิด
   ผ่านการอบรมหลักสูตร The Level One Lanemine Impact Survey Certificate by NPA and TMAC พร้อมทั้งฝึกภาคสนามในพื้นที่สนามทุ่นระเบิด จังหวัดสระแก้ว
   ทำงานสำรวจผลกระทบของสนามทุ่นระเบิดที่มีต่อชุมชนในประเทศไทย ให้แก่องค์กรช่วยเหลือแห่งชาวนอร์เวย์ (NPA) ที่ร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) มีโอกาสได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ชายแดนที่เป็นสนามทุ่นระเบิด ทั้งชายแดนประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า เพื่อทำงานทั้งในตำแหน่งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น (expert opinion) ตำแหน่งผู้เก็บรวบรวมข้อมูล (data collector) สนามทุ่นระเบิด (landmine) เหยื่อผู้ประสบภัย (mine victim) และผลกระทบที่มีต่อชุมชน ด้วยงานในหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้มีโอกาสสัมภาษณ์ราษฎรในหมู่บ้านชายแดน ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า ๑๐๐ หมู่บ้าน ได้เดินทางเข้าไปเห็นทุ่นระเบิด สนามทุ่นระเบิด และสรรพวุธหนักที่ยังไม่ระเบิด ในพื้นที่ชายแดนรอบประเทศไทยถึงสามครั้ง คิดเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้นกว่า ๕ หมื่นกิโลเมตร ในระยะเวลาทำงานภาคสนาม ๙ เดือน