สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

พาไปเที่ยวดวงจันทร์ (ตอนที่ ๒)

ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
      ในตอนนี้เราจะพาไปดูดวงจันทร์ ในระยะที่ใกล้ขึ้นเกินกว่าที่จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยอาศัยกล้องดูดาวที่มีกำลังขยายสูง เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจบนดวงจันทร์ (กล้องสองตาธรรมดา ๆ ก็สามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากพอสมควร)  แต่ก่อนที่จะเริ่มการเดินทาง เรามารู้จักกับดวงจันทร์เพิ่มเติมอีกสักเล็กน้อยก่อน
 (คลิกดูภาพใหญ่)    ดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกสักเท่าไร ? ในตอนที่แล้วเราได้กล่าวแล้วว่า ระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์จะอยู่ในช่วงระหว่าง ๓๕๖,๔๐๐-๔๐๖,๗๐๐ กิโลเมตร เนื่องจากวงโคจรรอบโลกเป็นวงรี โดยมีระยะห่างเฉลี่ย ๓๘๔,๔๐๐ กิโลเมตร ถ้าเราเอาโลกมาเรียงต่อกันสัก ๓๐ ลูก นั่นคือระยะโดยประมาณที่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก ถ้าวัดระยะทางจากความเร็วของแสง จะพบว่าแสงใช้เวลาเดินทางจากดวงจันทร์ถึงโลกในเวลาเพียง ๑.๓ วินาที ดังนั้นถ้ามีปรากฏการณ์อะไรสักอย่างเกิดขึ้นบนดวงจันทร์ในขณะนี้ ในเวลาเพียงพริบตาเดียวเราก็จะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์นั้นจากบนโลกได้
   ดวงจันทร์มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓,๔๗๖ กิโลเมตร หรือประมาณหนึ่งในสี่ของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก ซึ่งถือว่าเป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์ที่มันเป็นบริวาร ในบรรดาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มีเพียงโลกกับดาวพลูโตเท่านั้นที่มีดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์อื่น ๆ นั้นมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของดาวเคราะห์ ส่วนดาวพุธกับดาวศุกร์นั้นไม่มีดวงจันทร์เป็นบริวาร
   เราคงได้ยินกันมาบ้างว่าดวงจันทร์จะหันด้านเดียวเข้าหาโลกเสมอ อีกด้านหนึ่งนั้นจะมองไม่เห็นนอกเสียจากจะใช้ยานอวกาศอ้อมไปสังเกต เรื่องนี้ทำให้มีคนเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ย่อมหมายความว่าดวงจันทร์ไม่ได้หมุนรอบตัวเองเลย
   ตามจริงแล้วดวงจันทร์นั้นหมุนรอบตัวเอง เพราะถ้าดวงจันทร์ไม่หมุนรอบตัวเองก็จะทำให้เราสามารถมองเห็นด้านอื่น ๆ ของดวงจันทร์ได้ ลองสมมุติดูว่า ถ้าตัวเราคือโลกและเพื่อนของเราคือดวงจันทร์ ถ้าเรายืนอยู่นิ่ง ๆ จะหันได้ก็แต่เพียงศีรษะเท่านั้น แล้วให้เพื่อนของเรายืนหันหน้าเข้าหาเราอยู่ ถ้าเพื่อนย้ายมาอยู่ด้านซ้ายมือของเราโดยที่ไม่หมุนตัวเลย เราย่อมมองเห็นเฉพาะซีกหน้าด้านซ้ายของเพื่อน และถ้าเขาไปอยู่ที่ด้านหลังของเราโดยไม่หมุนตัวเลย เราก็ย่อมเห็นด้านหลังของเขา และเมื่อเขามาอยู่ทางขวามือ เราก็ย่อมเห็นซีกหน้าด้านขวาของเขา แต่ถ้าเพื่อนของเราหันหน้าตรงเข้าหาเราเสมอไม่ว่าจะอยู่ตรงมุมไหน เขาก็ย่อมต้องบิดตัวด้วยทุกครั้งที่เขาเคลื่อนไปรอบ ๆ ตัวเรา ดวงจันทร์ก็เช่นเดียวกัน การจะหันด้านเดียวเข้าหาโลกได้ ดวงจันทร์ก็ต้องหมุนรอบตัวเองอย่างช้า ๆ ในขณะที่มันโคจรไปรอบโลก และการหมุนรอบตัวเองของมันจะกินเวลาเท่ากับเวลาที่มันใช้ในการโคจรรอบโลกด้วย
     แล้วดวงจันทร์ใช้เวลาเท่าไรในการโคจรรอบโลกครบรอบ ? ดวงจันทร์จะใช้เวลา ๒๗ วัน ๗ ชั่วโมง ๔๓ นาที ๑๑.๕ วินาที จึงจะโคจรไปรอบโลกได้หนึ่งรอบหรือครบ ๓๖๐ องศา เทียบได้กับการที่เพื่อนของเราค่อย ๆ เดินวนไปทางซ้ายมืออ้อมตัวเราแล้วกลับมาอยู่ที่เดิมโดยที่เราไม่ได้ขยับเขยื้อนไปไหนเลย อย่างไรก็ตาม เสี้ยวของดวงจันทร์เมื่อเวลาผ่านไป ๒๗ วันเศษจะไม่เหมือนเสี้ยวแบบเดิมตอนเริ่มต้น เนื่องจากในช่วงเวลาเกือบ ๆ เดือนนั้นโลกของเราไม่ได้อยู่นิ่ง แต่กำลังเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์คิดเป็นมุมกว้างราว ๆ ๓๐ องศา ตำแหน่งของโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เมื่อเวลาผ่านไปเกือบหนึ่งเดือนจึงไม่กลับมาเรียงตัวอยู่ในตำแหน่งแบบเดิม ถ้าจะให้มาอยู่ในตำแหน่งแบบเดิม ดวงจันทร์จะต้องใช้เวลาเคลื่อนที่มากขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อชดเชยกับการที่โลกเปลี่ยนตำแหน่งไป ซึ่งหมายความว่าดวงจันทร์ต้องเคลื่อนที่มากกว่า ๓๖๐ องศาเล็กน้อยจึงจะทำให้มันกลับมาอยู่ในแนวเดิมได้ ดังนั้นกว่าที่ดวงจันทร์จะกลับมามีเสี้ยวเหมือนเมื่อตอนเริ่มต้น มันจะต้องใช้เวลาเคลื่อนที่นานขึ้นเป็น ๒๙ วัน ๑๒ ชั่วโมง ๔๔ นาที ๒.๘ วินาที
   ในตอนนี้จะขอพาไปเที่ยวชมจุดที่น่าสนใจบนดวงจันทร์พอสังเขปในช่วงดวงจันทร์ข้างขึ้น ส่วนจุดที่น่าสนใจในบริเวณอื่น ๆ จะขอพาไปเที่ยวชมในโอกาสต่อไป
   เราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์ข้างขึ้นได้ชัดเจนทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับฟ้า ในช่วงข้างขึ้นใหม่ ๆ ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้กับตำแหน่งของดวงอาทิตย์มาก จึงเห็นมันอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก และเสี้ยวบางมากจนมองเห็นได้ยาก แต่ในทุก ๆ วันเมื่อดวงจันทร์โคจรไปรอบโลก เราจะเห็นดวงจันทร์ขยับสูงขึ้นจากขอบฟ้าประมาณวันละ ๑๒ องศา ซึ่งจะทำให้เห็นดวงจันทร์ได้ง่ายขึ้น นานขึ้น และเสี้ยวของดวงจันทร์ก็จะค่อย ๆ หนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน จนกระทั่งเป็นดวงจันทร์เต็มดวง ซึ่งเราจะเห็นมันอยู่ในแนวกลางฟ้าในเวลาเที่ยงคืน ส่วนที่จะเริ่มปรากฏเป็นเสี้ยวสว่างในยามข้างขึ้น จะเริ่มต้นมาจากบริเวณส่วนหางของกระต่ายบนดวงจันทร์ ที่ได้กล่าวถึงในตอนก่อน
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๑
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๒
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๓
     (p1) เป็นภาพบริเวณทิศเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือของดวงจันทร์ หลุมอุกกาบาตที่ใหญ่ที่สุดด้านบนของภาพมีชื่อว่า Endymion มีความกว้าง ๑๒๕ กิโลเมตร บริเวณพื้นหลุมถูกลาวาไหลท่วมจนกลายเป็นที่ราบ แต่ขอบหลุมยังคงรูปร่างเดิมไว้ หลุมขนาดใหญ่รองลงมาสองหลุมทางด้านล่างของภาพจากซ้ายไปขวา มีชื่อว่า Hercules และ Atlas มีความกว้าง ๖๙ และ ๘๗ กิโลเมตรตามลำดับ ในภาพยังคงเห็นหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ที่ถูกลาวาไหลท่วมตัวหลุมเกือบหมดสิ้น มองเห็นได้เพียงราง ๆ อยู่หลายแห่ง
     (p2) หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่มีขอบสูงชัน มีชื่อว่า Posidonius มีความกว้าง ๙๕ กิโลเมตร หุบเขารอบหลุมดังกล่าวมีความสูงประมาณ ๒,๓๐๐ เมตร ภายในหลุมยังมีเนินเขาเป็นแนวยาวหลายแห่ง และมีหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในยุคหลังอยู่ภายใน ที่ราบขนาดใหญ่ทางซ้ายของ Posidonius คือ Mare Serenitatis หรือทะเลแห่งความราบรื่น ส่วนทางด้านบนคือที่ราบชื่อ Lacus Somniorum หรือทะเลสาบแห่งความฝัน ส่วนหลุมอุกกาบาตทางด้านล่างของภาพที่ถูกลาวาไหลท่วมขอบหลุมไปบางส่วน มีชื่อว่า Le Monnier ทางขอบด้านทิศใต้ของหลุมนี้เป็นบริเวณที่ยาน Luna 21 ของรัสเซียเคยลงจอดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๓
     (p3) ที่ราบทางตอนเหนือขนาดเล็กที่เกิดจากลาวาไหลท่วม มองเห็นร่องรอยของหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ได้ราง ๆ มีชื่อว่า Sinus Amoris หรืออ่าวแห่งความรัก อยู่บริเวณส่วนกลางของภาพ ส่วนหลุมอุกกาบาตขนาดไม่ใหญ่นักแต่มีขอบคมชัดทางตอนบนของภาพ มีชื่อว่า Romer มีความกว้าง ๔๐ กิโลเมตร แสงอาทิตย์สาดส่องเข้าไปเห็นยอดเขาที่อยู่ตรงกลางหลุมอย่างชัดเจน ส่วนบริเวณกลางภาพด้านซ้ายเหนือหลุมอุกกาบาตด้านล่างซ้ายขึ้นมาเล็กน้อย คือบริเวณที่ยาน Apollo 17 เคยลงจอดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๒
 
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๔
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๕
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๖
(คลิกดูภาพใหญ่)
ภาพที่ ๗
      (p4) พื้นที่ราบขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกของดวงจันทร์ซึ่งมองเห็นเป็นส่วนของหางกระต่ายบนดวงจันทร์ มีชื่อว่า Mare Crisium มีความกว้าง ๕๗๐ กิโลเมตร และมีพื้นที่พอ ๆ กับเกาะอังกฤษ แต่เดิมคือหลุมอุกกาบาตเก่าแก่ที่ถูกลาวาสีคล้ำไหลท่วมเมื่อราว ๔,๐๐๐ ล้านปีมาแล้ว บริเวณขอบหลุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เคยเป็นที่ลงจอดของยาน Luna 24 ของรัสเซียเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๖
      (p5) ที่ราบตรงบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ทางทิศตะวันออก มีชื่อว่า Mare Fecunditatis หรือทะเลแห่งความสมบูรณ์ บริเวณที่เป็นส่วนขาหลังของกระต่ายบนดวงจันทร์ จะเห็นหลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นในยุคหลังบนพื้นผิวลาวาสีคล้ำหลายแห่ง รวมทั้งหลุมสองหลุมคู่กันที่ชื่อว่า Messier ซึ่งจะเห็นแสงเรืองสว่างกว่าพื้นลาวากระจายตัวออกเป็นทางยาว เรียกว่า Rays เกิดจากเศษฝุ่นจากการตกกระแทกของลูกอุกกาบาตแล้วกระจายออกไปทางทิศตะวันตก ความกว้างของหลุมนี้ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เลยขอบด้านขวามือของภาพออกไปเล็กน้อยเป็นบริเวณที่ยาน Luna 16 ของรัสเซียเคยลงจอดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๐
      (p6) ที่ราบบริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรของดวงจันทร์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อว่า Mare Nectaris มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๕๐ กิโลเมตร ซึ่งเกิดจากลาวาสีคล้ำที่ไหลท่วมพื้นผิวเช่นเดียวกับที่ราบอื่น ๆ และลาวานี้ยังไหลท่วมเข้าไปในหลุมอุกกาบาตทางด้านใต้ที่ชื่อว่า Fracastorius จนขอบของหลุมส่วนหนึ่งหายไป นั่นย่อมแสดงว่าหลุมอุกกาบาตนี้มีอายุเก่าแก่และเกิดมาก่อนที่ลาวาจะไหลท่วม บน Mare Nectaris จะมองเห็นหลุมอุกกาบาตขนาดเล็กบนพื้นลาวา ซึ่งแสดงว่ามันเกิดขึ้นในยุคหลัง จึงยังมีความคมชัดของหลุมและเกิดอยู่เหนือผิวลาวาที่แข็งตัวไปนานแล้ว
      (p7) บริเวณทิศใต้ของดวงจันทร์จะเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตมากมาย และมากกว่าที่ปรากฏอยู่ทางทิศเหนือ ที่น่าสนใจในภาพนอกจากหลุมอุกกาบาตขนาดกลาง ที่เรียงตัวกันเป็นแถวหลายแห่งแล้ว จะสังเกตเห็นแนวร่องเป็นทางยาว ใกล้กับหลุมอุกกาบาตหลุมหนึ่ง บริเวณมุมบนขวาของภาพ นี่คือหุบเหวที่ยาวที่สุดบนดวงจันทร์ด้านที่หันเข้าหาโลก มีความยาว ๕๐๐ กิโลเมตร มีชื่อว่า Vallis Rheita
      ภาพดวงจันทร์ทุกภาพยกเว้นภาพดวงจันทร์เกิดเสี้ยวข้างขึ้น ถ่ายโดยผู้เขียน ด้วยกล้อง SBIG-ST-7E CCD Camera ผ่านกล้องดูดาวขนาดหน้ากล้อง ๘ นิ้วที่ความยาวโฟกัส ๔,๐๐๐ มิลลิเมตร