สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔ "ทุ่นระเบิด นักฆ่าผู้ซื่อสัตย์"
นิตยสารสารคดี Feature Magazine
นิตยสารสำหรับครอบครัว
www.sarakadee.com
ISSN 0857-1538
  ฉบับที่ ๑๙๙ เดือน กันยายน ๒๕๔๔
 กลับไปหน้า สารบัญ

รอดตายเพราะเข้าคิว

รอดตายเพราะเข้าคิว
      เคยไหมครับ
    อุตส่าห์ไม่แตกแถวยอมเสียเวลาเข้าคิวซื้อของ แต่จู่ ๆ มีคิวเถื่อนโผล่เป็นแถวใหม่ แทรกขึ้นมาแซงคิวเดิมอย่างน่าเจ็บใจ
    แต่รับรองเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในอังกฤษ เพราะวัฒนธรรมการเข้าคิว ได้ฝังอยู่ในสายเลือดของชาวผู้ดีไปแล้ว
    คนที่เคยไปเที่ยวอังกฤษคงเห็นกับตามาแล้วว่า คนอังกฤษเคร่งครัดกับการเข้าคิวเพียงใด ไม่ว่าการเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ เพื่อรอรถประจำทางที่ป้ายรถเมล์ หรือการเข้าคิวซื้อของในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ
    "รูปแบบการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งที่น่าทึ่งมาก" ศาสตราจารย์โจเซฟ ไฮน์ริช นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันกล่าว
    เขาอธิบายว่า การเข้าคิวเป็นรูปแบบขั้นสูงสุด ของความร่วมมือระหว่างคนแปลกหน้าด้วยกันอย่างสมัครใจ
    นอกจากนี้ประเพณีในการเข้าคิว แม้ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีสอนตามชั้นเรียน แต่ชาวอังกฤษก็จะรู้วิธีการเข้าคิวที่ถูกต้อง
    อาทิ การรักษาระยะห่างที่เหมาะสมจากคนที่อยู่ข้างหน้าเรา เพราะการเข้าใกล้จนเกินไป อาจกลายเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น แต่การทิ้งระยะห่างมากเกินไป อาจทำให้คนที่ยืนต่อจากเรา หงุดหงิดและถามเราว่า
      "คุณเข้าคิวอยู่ด้วยหรือเปล่า ?" ซึ่งแม้จะเป็นคำถามที่ฟังดูสุภาพ แต่จริง ๆ แล้วเขากำลังด่าคุณว่า "ปัญญาอ่อนจริง ๆ ยืนเข้าคิวให้มันดี ๆ อย่างคนอื่นไม่เป็นหรือไง"
    ชาวอังกฤษที่มาถึงป้ายรถประจำทางเป็นคนแรก จะไม่ยืนเข้าคิว แต่เขาจะถือว่ามีสิทธิ์อย่างถูกต้องในการยืนอยู่เป็นคนแรกของแถวหากมีคนอื่น ๆ เดินมารอรถโดยสารในภายหลัง
    การสำรวจล่าสุดจากคนจำนวน ๑,๒๐๐ คนที่กำลังยืนเข้าคิว ระบุว่า พวกผู้ชายจะใช้เวลาขณะยืนเข้าคิว ในการมองผู้หญิง อ่านหนังสือพิมพ์ หรือคิดถึงการแข่งขันฟุตบอล ส่วนผู้หญิงจะคิดเรื่องการทำครัว ชอปปิง และโปรแกรมในวันหยุดสุดสัปดาห์
    ที่น่าสนใจคือ ชาวอังกฤษส่วนใหญ่เชื่อว่า เมื่อพวกเขายืนเข้าคิวในที่ทำการไปรษณีย์ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาจะรู้สึกว่าเลือกเข้าแถวที่ไม่ดี ช้ากว่าแถวอื่น ๆ ทำให้พวกเขาต้องยืนรอนานกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่คิวอื่น ๆ เลื่อนไปเร็วกว่า
    แต่ความรู้สึกนี้ดูเหมือนจะเป็นกันทั้งโลก เพราะทุกคนที่อยู่ในคิว มักจะคิดว่าแถวของตัวเองช้ากว่าแถวทางซ้าย และขวาเสมอ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง โอกาสที่แถวอื่น ๆ จะเร็วกว่านั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
    แต่จำไว้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเข้าคิว คือ มันสามารถช่วยชีวิตคนในสถานการณ์อันตรายได้
    ใน ค.ศ. ๑๙๙๙ เกิดเหตุการณ์รถไฟตกรางที่ลอนดอน ผู้โดยสารที่บาดเจ็บ ยังคงไม่ลืมที่จะเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่พยายามพาตัวเองออกจากซากตู้รถไฟ นักเขียนหญิงคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นยังจำได้ว่า ชายท่าทางสุภาพคนหนึ่ง หลีกทางให้เธอออกมาก่อน พร้อมกับกล่าวด้วยเสียงอ้อมแอ้มว่า "เชิญคุณก่อนครับ"
    หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ในช่วงเกิดเหตุร้าย การเข้าคิวช่วยทำให้คนมีสติ ไม่ตื่นตระหนก ไม่แตกแถว เหยียบกันตาย
    คราวหน้าอย่าลืมเข้าคิว